ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1775


    ตอนที่ ๑๗๗๕

    สนทนาธรรมที่ บ้านนายแพทย์ทวีป และคุณพรทิพย์ ถูกจิตร

    วันที่ ๑๓ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๕


    ท่านอาจารย์ ทรงแสดงไว้แม้เหตุของการฟังเข้าใจ และไม่เข้าใจว่ามาจากไหน ทุกคนอยากจะเข้าใจมากๆ แต่ก็เป็นอย่างนั้นไม่ได้ ตามเหตุตามปัจจัย เพราะฉะนั้นทรงแสดงเหตุที่ไม่เข้าใจ และเหตุที่เข้าใจมากน้อยต่างกันด้วย นี่คือพระปัญญาคุณของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ทรงบำเพ็ญบารมีมาเพื่อที่จะรู้ความจริงทุกอย่างทุกประการ และก็ทรงแสดงความจริงให้คนที่สามารถเข้าใจได้เท่าที่เขาจะเข้าใจได้ เพราะฉะนั้นคำพูดก็ยังต้องพอประมาณ ถ้าเกินประมาณเขาก็ไม่เข้าใจ เพราะฉะนั้นสามารถที่จะเข้าใจได้แค่ไหน ก็ให้บุคคลนั้นได้รับฟังสิ่งที่เขาสามารถจะเข้าใจได้ เช่น ขณะนี้ถ้าใครจะรู้ว่า ขณะนี้ สิ่งที่มีจริงมีแล้ว ปรากฏแล้ว แต่ไม่รู้ ไม่เข้าใจ นี่ก็ทำให้คนนั้นเริ่มมีแล้วใช่ไหมว่าควรไหมที่จะรู้สิ่งที่มีจริงๆ ตั้งหน้าตั้งตาไปรู้อย่างอื่นถูกต้องไหม ในเมื่อสิ่งที่มีจริงขณะนี้จริงเพียงชั่วคราวไม่ยั่งยืนเลย เกิดมาเป็นคนนี้แล้วก็จะหมดสิ้นความเป็นบุคคลนี้แล้วก็จะเป็นคนอื่น เพราะฉะนั้นที่พระอรหันต์ท่านกล่าวว่า ท่านเป็นผู้ไม่เลี้ยงดูคนอื่นเพราะไม่ต้องเกิดอีก ถ้าเกิดอีกไม่ใช่คนนี้แล้ว เป็นคนอื่น และก็เลี้ยงดูคนนั้นต่อไปอีก ต่อไปอีกทุกชาติไป นี่ก็แสดงเห็นว่าพระธรรมที่ทรงแสดงไว้ เราสามารถที่จะไตร่ตรองแล้วก็เข้าใจได้ ละความไม่รู้ นี่คือหัวใจของพระพุทธศาสนา พุทธะคือปัญญาความรู้ถูก ความเห็นถูก จึงสามารถที่ละความไม่รู้ เพราะฉะนั้นถ้าเรายังอยาก ยังหวัง ไม่ว่าอะไรทั้งนั้น ขณะนั้นเพราะไม่รู้ ถ้ารู้แล้วจะต้องหวังอะไรไหม เกิดแล้วทั้งนั้น ไม่ได้ทำให้เกิดขึ้นมาสักนิดเดียว และเปลี่ยนให้เป็นอย่างอื่นก็ไม่ได้ด้วย ต้องเป็นอย่างนี้แหละ เพราะเกิดเป็นอย่างนี้แล้ว ยังไม่ทันจะไปทำอะไรก็ดับไปแล้ว นี่คือความจริง ซึ่งทำให้เราสามารถที่จะรู้ว่า ไม่เกิดก็ไม่ได้ เกิดแล้วเป็นอย่างนี้ ไม่ตายก็ไม่ได้ ตายแล้ว แต่จะไปไหน นี่เป็นสิ่งที่ไม่รู้ แต่สามารถที่จะรู้ว่าเหตุว่า ถ้าเหตุดีก็เกิดดี ถ้าเหตุไม่ดีก็เกิดในภพภูมิที่ไม่ดี อับปายะ ที่ที่ไม่เจริญ ที่นี่อาจจะมีจิ้งจก มีนก มีอะไรก็ได้ ได้ยินอย่างนี้ แต่ไม่สามารถที่จะเข้าใจ ไม่สามารถที่จะไตร่ตรองอะไรได้เลยทั้งสิ้น ทุกสิ่งทุกอย่างก็เป็นธรรมะหมด ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชา เพียงเข้าใจอย่างนี้ ก็ละความคิดว่าเป็นเราที่สามารถจะบันดาลให้สิ่งนั้นสิ่งนี้เกิดก็ได้ แต่เป็นผู้ที่ไม่หวั่นไหว เพราะว่าเกิดแล้วตามเหตุตามปัจจัย ไม่มีใครไปทำ ถ้าหวั่นไหวเดือดร้อนขาดทุนเป็นอกุศล แล้วก็หวั่นไหวไปทำไม ในเมื่อเป็นอย่างนั้นแล้ว

    เพราะฉะนั้นพระธรรมทำให้พ้นภัย เราคิดถึงไฟไหม้ น้ำท่วม ข้าวยากหมากแพงว่าเป็นภัย แต่ไม่เห็นภัยเดี๋ยวนี้คือความไม่รู้ เพราะฉะนั้นกำลังประสบภัยที่คนอื่นเขาหวาดกลัวทางโลกเป็นภัยภายนอก แต่ถ้ามีปัญญาขณะนั้นพ้นภัยทันที ไม่ว่าจะอยู่กลางทะเล บนยอดเขา หรือที่ไหนก็ตาม ปัญญาเกิดรู้ความจริงขณะนั้น เพียงปรากฏแล้วก็หมดไป ละความเป็นตัวตน ละความเดือดร้อน ละทุกสิ่งทุกอย่างได้ เพราะรู้ความจริง เพราะฉะนั้นปัญญาประเสริฐสุด ทุกคนจะต้องมีภัยแน่ๆ ในสังสารวัฎ เดี๋ยวก็จะต้องมีสงกรานต์ ก็ไม่รู้ใครจะได้รับภัยอะไร ทางไหนก็หวังแต่ว่าจะได้มีความสุข ปีใหม่ สงกรานต์ แต่คนที่ได้รับภัยก็มาก เพราะฉะนั้นก็ต้องรู้ว่าถ้าไม่มีเหตุที่ได้กระทำไว้ ภัยนั้นก็เกิดไม่ได้ ไม่มีอะไรที่จะเกิดโดยไม่มีเหตุที่สมควรที่สิ่งนั้นจะเกิด แต่เมื่อเกิดแล้วไม่รู้ ก็เป็นผู้เดือดร้อน แต่ถ้ามีปัญญาขณะนั้นพ้นภัย ภัยภายนอกก็ทำอะไรไม่ได้เพราะขณะนั้นปัญญารู้ความจริง และก็ไม่เดือดร้อนด้วย เพราะว่าภัยภายนอกทำให้เดือดร้อนเพียงคิดว่าเป็นอันตรายใช่ไหม อยากจะพ้นเฉพาะอันตรายนั้น แต่ลืมว่าอย่างไรก็ไม่มีวันพ้น ตราบใดที่มีการเกิด เพียงแต่ว่าอันตรายนั้นจะมาถึงวันไหนเท่านั้นเอง แต่ถ้าเป็นปัญญาเมื่อไหร่ พ้นภัยทันที ทั้งภายนอก และภายในด้วย ก็ไม่เดือดร้อน ไม่หวั่นไหว และก็เบิกบาน แต่ว่าจะมีโอกาสได้ฟังพระธรรมอีกมากน้อยแค่ไหน และจะเข้าใจแค่ไหน นี่ก็คือว่าไม่ประมาทในการฟัง ฟังเพื่อเข้าใจปลอดภัยที่สุดเพราะขณะนั้นไม่มีความโลกด้วยความต้องการที่อยากจะได้รู้ความจริง อยากจะเป็นพระอริยเจ้า อยากจะประจักษ์การเกิดดับ นั่นคือฝัน ไม่มีเหตุที่สมควรเลย แม้ขณะนี้ยังไม่รู้เลย แล้วจะไปละอะไรได้ เพราะว่าที่กั้นอยู่ขณะนี้ก็คือความไม่รู้ และความติดข้อง อวิชา และโลภะเป็นเครื่องกั้น ละความต้องการบ้างหรือยัง เวลาที่ฟังแล้ว

    ผู้ฟัง บางคนก็เป็นตัณหาจริต และบางคนก็เป็นทิฏฐิจริต การที่สามารถเรียนรู้สภาพธรรมที่เกิดอยู่ในขณะนี้ ควรที่จะศึกษาของทั้ง ๒ จริตนี้ได้เลยหรือไม่

    ท่านอาจารย์ ธรรมะเป็นเรื่องที่ค่อยๆ ฟังค่อยๆ เข้าใจขึ้นทีละเล็กทีละน้อย จะให้จริตตะ จริต ขอเชิญคุณคำปั่นให้ความหมายด้วย

    อ.คำปั่น คำว่า จริตตะ ในภาษาบาลี ภาษาไทยก็อ่านว่าจริต หมายถึงความประพฤติเป็นไป แปลสั้นๆ ก็ได้เท่านี้ ว่าเป็นความประพฤติเป็นไป ขึ้นอยู่กับว่าจะเป็นไปอย่างใด อย่างเช่นที่ผู้ฟังได้กล่าวถึงตัณหาจริต คือความประพฤติเป็นไปของธรรมะที่เป็นความติดข้องยินดีพอใจ และทิฏฐิจริต เป็นความประพฤติเป็นไปของความเห็นซึ่งไม่ตรง เป็นความเห็นที่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง ซึ่งโดยปกติของผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่ ความประพฤติเป็นไปที่เป็นธรรมมฝ่ายอกุศลธรรม ก็ย่อมมีมากเป็นธรรมดา ไม่ว่าจะเป็นโลภะก็ดี หรือแม้กระทั่งความเห็นผิดก็ดี ก็ยังมีอยู่ เพราะเหตุว่ายังไม่สามารถที่จะดับได้อย่างเด็ดขาด

    ท่านอาจารย์ ทราบแล้ว ว่าจริตต หรือที่ภาษาไทยใช้คำว่า จริต ก็คือความประพฤติเป็นไป ใครรู้ สนใจที่จะรู้ของคนอื่น แล้วรู้จริงๆ หรือไม่ เพราะว่าตั้งแต่เช้าวันนี้ความประพฤติเป็นไปของเขาเป็นอย่างไร แต่ถ้าจะรู้จริงๆ ก็คือขณะนี้เป็นอะไรที่กำลังปรากฏจะรู้เลย โกรธบ่อยไหม ไม่รู้มากแค่ไหน ถ้าจะใช้คำภาษาบาลีก็คือโมหะจริต เพราะฉะนั้นใครจะรู้ดียิ่งกว่าตัวเอง โดยเฉพาะ ถ้าปัญญาไม่เกิด ก็ไม่รู้จริงๆ เดาว่าเราเป็นอย่างนั้น เราเป็นอย่างนี้ เพราะฉะนั้นมีคำมากมายในพระไตรปิฎก คำว่าโพชฌงค์ก็มี โพธิปักขิยธรรมก็มี มีหมดเลยทุกคำๆ เข้าใจคำนั้นหรือไม่ว่าหมายความถึงขณะไหน เดี๋ยวนี้หรือไม่

    เพราะฉะนั้นการศึกษาธรรมจริงๆ คือมีธรรมซึ่งยังไม่รู้ แต่มี เพราะฉะนั้นก็ฟังเพื่อให้รู้ความจริงของธรรมที่มี เพื่อที่จะได้ไม่เป็นเรา ไม่ต้องแสวงหาพรหมจรรย์ที่ผิด าเพราะเหตุว่าโลภะนี่ เมื่อมีความต้องการ และก็ไม่รู้เลยว่าสิ่งนั้น ถูกหรือผิด แต่ก็ต้องการ เช่น บางคนที่ต้องการที่จะไม่มีกิเลส ก็ไปทำสิ่งที่เต็มไปด้วยกิเลส เพราะไม่รู้ว่าขณะนั้นเป็นกิเลส นี่คือ ปัญญาเท่านั้นพุทธปัญญา พุทธศาสนาคือคำสอนที่จะให้ผู้ฟังเกิดปัญญา เพราะฉะนั้นใครจะพูดเรื่อง โลภะ หรือ ตัณหาจริต หรือทิฏฐิจริตโทสะจริต โมหะจริต หรืออะไรก็ตามแต่ สิ่งนั้นมีจริงๆ เกิดขึ้นเป็นไปมากหรือน้อยพอที่จะปรากฏให้เห็นได้ว่าได้สะสมมาในทางใด เพราะฉะนั้นการที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง บุคคลที่เป็นโลภะ หรือตัณหาจริต จะพิจารณาอะไรในสติปัฎฐาน ๔ หรือว่าทิฏฐิจริตจะพิจารณาอะไร คนที่ไม่เข้าใจก็เลยทำ ก็ผิดแล้ว เพราะยังไม่รู้จักจริตเลย แต่ทำ ก็คิดว่าเป็นอย่างนั้น แต่จะรู้จริงๆ เมื่อใด เมื่อปัญญาเกิด แล้วไม่ต้องเลือกเลย ไม่รู้ทั้งนั้น โลภะก็มี โทสะก็มี โมหะก็มี จริตทุกอย่างมีหมดเลย วิตกจริตก็มี พุทธจริต ทุกอย่าง เมื่อเกิด ถ้าเกิดบ่อย ก็รู้ว่าสะสมจริตใดมามากหรือน้อย แต่ทั้งหมดต้องไม่ลืมว่า เพื่อละ มิฉะนั้นติดทันที เพราะไม่รู้ และต้องการ เพราะฉะนั้นถ้ามีความเข้าใจจริงๆ ว่าจะละความติดข้อง และความไม่รู้ได้ด้วยปัญญาเท่านั้น ก็จะไม่สนใจ นอกจากมีความเข้าใจจากการฟังละเอียดขึ้นว่าทั้งหมดนี่เป็นไปเพื่อละ ไม่ใช่เพื่อเป็นเรา เมื่อไรจะรู้ นั่นก็ผิดอีก ฟังแล้วก็เป็นอย่างนี้ เราก็เป็นอย่างนั้น ก็เลยกลายเป็นธรรมเป็นเรา ไม่ใช่ธรรมเป็นธรรม เพราะฉะนั้น ฟังเพื่อให้ละความที่เคยเข้าใจว่าธรรมเป็นเรา ให้รู้ตามความเป็นจริงว่าธรรมเป็นธรรม เพราะฉะนั้นไม่ต้องไปสนใจเลยที่จะเลือกเพราะโลภะอยู่ที่นั่น โลภะไม่เคยห่างไปเลย ทรงอุปมาว่าเหมือนกับอากาศธาตุที่แทรกอยู่ทุกกลาปะ คิดดู ว่ากระจกนี่เหมือนไม่มีทางที่จะแตกออกได้เลย ติดกันแน่น แต่โลภะหก็อยู่ที่นั่นแหละ แทรกอยู่ทุกกลาปะของรูปที่มีรูปเพียง ๘รูป คือ ธาตุดิน น้ำไฟ ลม และ สี กลิ่น รส โอชา ละเอียดยิบ โลภะไม่เคยขาด และตามไปเสมอ เพราะฉะนั้นถ้าไม่เห็นโลภะ ละโลภะไม่ได้ แต่ที่เห็นคือปัญญา เพราะฉะนั้นกว่าปัญญาจะเห็นโลภะ ก็ต้องรู้ตามความเป็นจริง ในลักษณะของธรรมะแต่ละหนึ่งมั่นคงขึ้น ถ้าเป็นธรรม ทางนี้ก็จะทำให้ค่อยๆ คลายการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ไม่ใช่แต่เฉพาะเป็นเรา แม้แต่เป็นโต๊ะ เป็นเก้าอี้ เป็นอะไรก็คือเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ไม่ได้ดับไป

    เพราะฉะนั้นการฟังธรรมจึงละเอียด และเป็นไปเพื่อการละ แล้วจะปลอดภัย คือไม่มีภัยใดๆ ทั้งสิ้น ขณะนี้กำลังเห็น

    ผู้ฟัง ใช่ครับ

    ท่านอาจารย์ และก็บอกว่าเห็นมีจริงๆ

    ผู้ฟัง ใช่ครับ

    ท่านอาจารย์ แต่ก็ยังไม่รู้ว่าเห็นลักษณะที่เห็นคือธรรมดาอย่างนี้เอง แต่กำลังเห็น ไม่ใช่สิ่งที่ปรากฏให้เห็น ขณะที่กำลังฟังอย่างนี้กำลังเริ่มเข้าใจเห็นเดี๋ยวนี้หรือไม่ หรือว่าไปหาเห็นที่อื่น หรือไปคิดเรื่องอื่น แต่ว่าเห็นธรรมดา ก็ธรรมดาอย่างนี้ แล้วก็เริ่มเข้าใจโดยไม่ต้องพูดอะไรเลยด้วย เพราะนี่คือเห็น เพราะขณะกำลังรู้ที่เห็น ไม่ต้องใช้คำว่าสติ ไม่ต้องใช้คำว่าสติปัฎฐาน เพราะฉะนั้นเวลาที่ขณะนี้เห็น คนอื่นก็ไม่สามารถที่จะรู้ได้ว่าขณะนั้น มีการเข้าใจลักษณะที่กำลังเห็นหรือไม่ หรือเพียงแต่ฟังเรื่องเห็น แต่ก็ยังไม่เข้าใจลักษณะของเห็นที่กำลังเห็นแค่รู้ อย่างนี้ว่ายังไม่ได้เข้าใจลักษณะของเห็นที่กำลังเห็น ถูกต้องไหม ถ้ากำลังเห็นเดี๋ยวนี้ และรู้ว่ายังไม่ได้เข้าใจลักษณะที่เห็น เพียงแต่ว่าได้ยินได้ฟังว่าเห็นมีจริงๆ เดี๋ยวนี้ แต่เห็นเดี๋ยวนี้เกิดขึ้น และดับไปแล้ว ก็เป็นปกติอย่างนี้เอง ไม่ต้องไปหาเห็นอื่นมาพยายามจะรู้ ถ้ามีความเข้าใจว่ายังไม่ได้รู้เห็นตามความเป็นจริง และก็ยังไม่รู้เฉพาะเห็นด้วย เพราะมีสิ่งที่ปรากฏให้เห็น ยังมีความสงสัย ในสิ่งที่ปรากฏให้เห็น และในเห็น ถ้าเข้าใจอย่างนี้ว่ายังมีความสงสัยอยู่ ยังมีความไม่รู้อยู่ เนี่ยถูกไหม

    ผู้ฟัง ถูกครับ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นนี่คือปัญญา ไปเอาปัญญาอื่นมาทำไม ยังไม่ถึงเลย อีกตั้งไกล แต่เพียงแต่จะรู้ความจริงว่า ยังไม่ได้รู้เห็นตามความเป็นจริง ก็เริ่มเข้าใจถูกต้องว่า ต้องฟังอีก จนกว่าเริ่มรู้เห็นในขณะที่กำลังเห็น ไม่คิดถึงอย่างอื่น ไม่ไปอยู่ที่อย่างอื่นแต่กำลังปกติอย่างนี้เอง แล้วก็ฟัง แล้วก็มีเห็น ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่ปรากฏ แค่นี้ยังต้องอาศัยการเวลาที่นานมาก นี่คือถ้ารู้จริงๆ อย่างนี้ นี่คือปัญญา ไม่ต้องไปหาปัญญาอื่นว่า ทำอย่างไรจะได้มากกว่านี้ เข้าใจมากกว่านี้ นั่นคือผิด แต่ที่รู้ตามความเป็นจริงว่าแค่นี้เอง ก็ยังไม่ถึง แต่ว่าสามารถจะรู้ได้แน่ๆ ถ้าฟังอีก เพราะว่าได้ยินคำว่าสังขารขันธ์ ไม่ใช่เรา จิตเป็นวิญญาณขันธ์ เจตสิตที่ไม่ใช่เวทนา สัญญา ก็เป็นสังขารขันธ์ เขาทำหน้าที่อยู่เดี๋ยวนี้ ขณะนี้จิต เจตสิกกำลังเกิด พร้อมทั้ง ๕ ขันธ์เลย รูปก็เกิดดับ ความรู้สึกก็เกิดดับ ความจำก็เกิดดับ เจตสิกอื่นก็กำลังเกิดขึ้นทำหน้าที่ และจิตก็เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งสิ่งที่กำลังปรากฏ นี่คือฟังจนกระทั่งมีความเข้าใจที่มั่นคงว่าเป็นธรรม อย่าให้เราฟังธรรมะ เราเข้าใจธรรม แล้วเมื่อไหร่เราจะรู้ธรรม นั่นคือผิด แต่ฟังจนกระทั่งธรรมเป็นธรรม เพราะฉะนั้นถ้าเข้าใจอย่างนี้จริงๆ นั่นคือปัญญา จุดเริ่มต้นของการที่จะค่อยๆ มั่นคงจนกระทั่งขณะนี้ก็จะรู้ความต่างของคำว่า รู้ชัด กับเพียงรู้ อย่างไรก็ไม่ลืมว่าฟังธรรมหรือฟังเพื่อเข้าใจสิ่งที่กำลังมีในขณะนี้ แม้ว่าจะได้ยินอย่างนี้บ่อยๆ ก็ยังไม่ได้เข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏจริงๆ นี่ก็แสดงถึงความลึกซึ้ง และความละเอียด ซึ่งก็จะต้องฟังต่อไปอีกจนกระทั่งสามารถที่จะเข้าใจได้ว่า ฟังเพื่อเข้าใจสิ่งที่มีจริงที่กำลังปรากฏคือเดี๋ยวนี้ และอย่างนี้ ก็อย่างปกติอย่างนี้เลย แต่กว่าจะถึงเวลานั้น ก็ต้องอาศัยการฟังแล้วก็เข้าใจ และรู้ว่าไม่มีอย่างอื่นอีกแล้วที่จะเข้าใจนอกจากสิ่งที่มีจริงๆ ที่กำลังปรากฏเท่านั้น เพราะฉะนั้นเมื่อเป็นอย่างนี้ และยังไม่เข้าใจ ก็มีหนทางเดียวคือฟังเพื่อความเป็นปกติ ไม่ใช่หวังที่จะได้รู้ความจริงโดยรวดเร็ว แต่ฟังเพราะรู้ว่าอย่างไรๆ ก็ไม่ใช่ว่าจะรู้ได้ทันทีที่ฟัง หรือว่าฟังบ่อยๆ แล้วก็ฟังไปหวังไปว่าจะรู้ก็ไม่ใช่ นั่นก็คือเครื่องกั้น เพราะฉะนั้นฟังแล้วก็เข้าใจสิ่งที่กำลังฟังเท่านั้น แล้วก็มีสภาพธรรมะอื่นเพราะปัจจัยที่มีในขณะนั้นทำให้เกิดขึ้น เพราะฉะนั้นตามความเป็นจริงก็คือไม่มีสักขณะเดียวที่ไม่จริงเมื่อเกิด จริงเป็นอย่างนั้นไม่เป็นอย่างอื่น โลภะก็จริง โทสะก็จริง ปัญญาก็จริง ทุกอย่างมีจริง แต่ยังไม่ถึงกาลที่จะเข้าใจจริงๆ ว่าเป็นสิ่งที่เพียงปรากฏเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เพราะฉะนั้นก็เท่านี้ แต่ว่านานแสนนานกว่าจะรู้ได้ แต่รู้ว่าไม่มีอย่างอื่นอีกแล้วที่จะรู้ นอกจากสิ่งที่กำลังปรากฏ

    อ.อรรณพ สภาพธรรมะก็เกิดตามปัจจัยแล้วก็ดับอย่างรวดเร็วจนเป็นอดีต เป็นอนาคต เป็นปัจจุบัน แต่ด้วยความที่เราไม่เข้าใจในความเล็กน้อยของความจริง แล้วก็ถูกความติดข้องโลภะก็เหมือนมาร้อยมาผูกสิ่งที่เกิดแล้วดับไปแล้ว ไม่เหลือรูปแต่ละทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็ดับไปแล้ว แต่โลภะเนี่ยก็เหมือนกับมาผูกโยงไว้ให้เป็นกลุ่มเป็นก้อนว่าเป็นคนเป็นเราเป็นอะไรอย่างนี่

    ท่านอาจารย์ ความเข้าใจต้องมั่นคงจริงๆ ทั้งๆ ที่เราได้ยินได้ฟังอย่างนี้ แต่ว่าถ้าเราคิดอย่างอื่น ขณะนั้นก็ลืมว่าทุกอย่างเป็นธรรม ลืมว่าอย่างอื่นที่คิดก็เป็นธรรม นี่คือ เราจะมีความไม่รู้สึกสะสมมานานมาก แสนโกฎกัปไม่รู้สักอย่าง เหมือนกับที่แล้วมาที่ยังไม่ได้ฟังพระธรรมเลย ก็ไม่รู้เลยว่าแท้ที่จริงแล้ว สิ่งที่มีจริงก็คือแต่ละขณะซึ่งเห็นบ้าง ได้ยินบ้าง แม้ฟังอย่างนี้ก็ยังไม่รู้อีก ก็แสดงให้เห็นว่าความไม่รู้ หนาแน่น เหนียวแน่น และลึกขนาดไหน เพราะฉะนั้นก็เป็นธรรมดา ธรรมดาคือไม่รู้ แล้วก็ค่อยๆ ฟังจนรู้ขึ้น นั่นคือธรรมดา แต่ถ้าเคยสะสมความไม่รู้มานานมาก แล้วได้ฟังแล้วรู้ทันทีเป็นไปได้ไหม ปกติหรือไม่ ธรรมดาหรือเปล่า ถ้าไม่มีเหตุพอที่จะรู้ และเข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏจนละความติดข้อง ไม่ใช่รู้เฉยๆ กว่าจะฟังรู้ว่าไม่มีคุณพรทิพย์ที่เราเชื่อว่ามีคนเกิดมาเป็นอย่างนี้ อยู่ตรงนี้ แต่ว่าตามความเป็นจริงก็คือฟังด้วยความเข้าใจว่าสิ่งที่มี ปรากฏได้มีอย่างเดียวคือสิ่งที่กำลังปรากฏ เป็นสิ่งที่มีจริงอย่างหนึ่งไม่ต้องเรียกอะไร คือสิ่งที่มีจริงเราก็ต้องรับว่าสิ่งนั้นมีจริง มีจริง มีจริง แต่ว่าลักษณะไม่เหมือนกันเลยสักอย่าง เช่น เสียงมีจริง เป็นเสียง สิ่งที่มองเห็นได้มีจริงๆ เป็นสิ่งที่มองเห็นได้ รสมีจริง เพราะฉะนั้น รสก็เป็นสิ่งที่สามารถที่จะลิ้มรู้ได้ว่าหวาน เค็ม ประการใด สิ่งที่มีจริงก็เป็นสิ่งที่มีจริงแต่ละหนึ่ง

    เพราะฉะนั้นตามความเป็นจริง จะเป็นคุณพรทิพย์หรือว่าจะเป็นดอกไม้ก็ต้องมีสีซึ่งเป็นที่ตั้งของสิ่งที่ปรากฏให้เห็นได้ นี่คือความจริง สิ่งที่กำลังปรากฏขณะนี้ต้องอยู่กับสิ่งหนึ่งสิ่งใดซึ่งเป็นธาตุดินน้ำไฟลม เพราะฉะนั้นถ้าย้อนเอาสีสันวรรณะออกหมดคิดถึงแหล่งที่ตั้งของสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ซึ่งแข็งบ้าง ร้อนบ้าง นั่นหรือคุณพรทิพย์ เห็นไหมว่าเริ่มรู้แล้วว่าแท้ที่จริงนี่ไม่ใช่ แข็งเป็นแข็ง อ่อนเป็นอ่อน สิ่งที่ปรากฏทางตาก็เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏให้เห็นได้ เหมือนกันหมด ไม่ว่าใคร ไม่ใช่เฉพาะ ที่เราเรียกว่าคน สัตว์สิ่งของ ทุกอย่างที่มีธาตุแข็งต้องมีสิ่งที่สามารถกระทบตา และมองเห็นได้ แล้วก็มีความจำว่าสิ่งนั้นเป็นเ พราะฉะนั้นจริงๆ แล้วในห้องนี้ก็มีธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง ไหว แล้วก็มีสิ่งที่สามารถกระทบตาอยู่ที่ธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม ด้วย เท่านั้นเอง ตามความเป็นจริง แต่ว่าสภาพที่สามารถเห็น สามารถรู้เสียง คือได้ยินเสียง ต้องมี และก็ยังคิดตามเสียงที่ได้ยินได้ฟัง นี่เป็นการที่เรียกว่า ขอย้อนไปว่าเกิดเป็นมนุษย์เนี่ยดีที่สามารถได้เข้าใจพระธรรม เมื่อได้ยินได้ฟัง ซึ่งสัตว์เดรัจฉาน จะเป็นนก เป็นไก่ก็ได้ยินเสียงอย่างนี้แหละ แต่ไม่มีความสามารถที่จะเข้าใจสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง นี่คือความต่างกันของการเกิดเป็นมนุษย์ ดีที่เป็นมนุษย์เพราะสามารถเข้าใจพระธรรม เข้าใจสิ่งที่ได้ยินได้ฟังได้ แต่สัตว์อื่นที่ไม่ใช่มนุษย์ก็ได้ยิน แต่ไม่สามารถที่จะเข้าใจได้

    เพราะฉะนั้นนี่คือประโยชน์ของการที่เป็นมนุษย์ ดีตรงไหน ดีกว่าสัตว์เดรัจฉาน งู นก ก็เห็นเหมือนกัน เห็นก็เป็นเห็น แต่นั้นเรียกว่าเป็นนก หรือเป็นงู ให้เห็นว่าแม้ได้ยินเสียงธรรมะด้วยเสียงอะไรก็ตามก็ไม่สามารถที่จะเข้าใจเรื่องราวของเสียงนั้นได้ เพราะฉะนั้นการที่ได้มีโอกาสได้ฟังสิ่งซึ่งหาฟังได้ยากกว่าจะได้เกิดเป็นมนุษย์ แล้วก็ยังมีโอกาสได้ฟังพระธรรม ก็ฟังด้วยความเข้าใจ สำคัญที่สุด ฟังด้วยความเข้าใจว่าแท้ที่จริงแล้ว สิ่งที่มีจริงเป็นลักษณะของนามธรรม และรูปธรรม รูปธรรมมีจริงแต่ละหนึ่งปนกันไม่ได้เลย อย่างธาตุดินจะเป็นธาตุไฟไม่ได้ จะเป็นสิ่งที่กระทบตาก็ไม่ได้ แต่เมื่อรวมกันอยู่ที่ว่าเป็นคุณพรทิพย์นี่ ถ้าไม่มีการกระทบที่ศีรษะ ที่แขน ที่มือ ก็จะไม่รู้ว่ามีแข็ง นี่หรือคุณพรทิพย์ ลองหลับตา แข็งก็เป็นแข็ง ถึงเห็น และได้ยินชื่อแต่ก็เปลี่ยนแข็งไม่ได้ ก็ยังคงเป็นแข็ง แต่ที่ตรงแข็งนั่นแหละ มีรูปที่สามารถจะปรากฏให้เห็นได้ เท่านี้ ไม่ต้องมาก ฟัง ไตร่ตรอง จริงหรือเปล่า ถ้าจริงก็เข้าใจให้มั่นคงเลยว่า นี่คือธรรม คือสิ่งที่มีจริงแต่ละหนึ่ง กว่าความเข้าใจเช่นนี้จะมั่นคง ก็ต้องฟัง ฟังแล้วเมื่อเช้านี้ใช่ไหม จำได้ไหมว่า เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏให้เห็นได้ ลืมไปเลย เห็นหอยทอดเห็นขนม เห็นอะไร ก็ไม่รู้เลยว่าเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏให้เห็นได้ แล้วที่นั่นต้องมีธาตุ ดิน น้ำ ไฟ ลม มีกลิ่นด้วย มีรสด้วย มีโอชา ซึ่งเมื่อบริโภคเข้าไปในร่างกายก็เป็นเหตุให้รูปนี้สืบต่อไปได้

    เพราะฉะนั้นที่มีผู้ถามเรื่องอาหารปัจจัย อาหารที่เรารับประทานเป็นคำๆ เป็นปัจจัยที่ทำให้รูปภายในสามารถที่จะเกิดสืบต่อ เพราะว่าอย่างต้นไม้ใบหญ้า ไม่ใช่รูปภายใน ไม่มีจิต เป็นรูปภายนอก เอาอาหารไปให้กินดีไหม เอาข้าวเหนียวมะม่วงไปให้ต้นไม้กินก็ไม่มีประโยชน์อะไรใช่ไหม เพราะว่าเป็นรูปภายนอก ไม่ใช่รูปภายในซึ่งจำเป็นต้องมีอาหารซึ่งมีโอชารูปรวมอยู่ด้วยในธาตุดินน้ำไฟลม ซึ่งเมื่อเข้าไปในร่างกายแล้ว ก็สามารถที่จะทำให้เกิดรูปที่จะดำรงรูปที่เกิดเพราะจิต รูปที่เกิดเพราะกรรม รูปที่เกิดเพราะอุตุ ให้สืบต่อไปได้

    เพราะฉะนั้นแม้แต่ทุกวันๆ ก็มีสิ่งซึ่งทำให้แต่ละขณะเป็นไป โดยที่ว่าเราไม่สามารถที่จะคิดเองได้เลยในความละเอียด ในความลึกซึ้งของพระธรรมที่ทรงแสดง เพื่อให้เห็นถูกต้องว่า สิ่งที่มีจริงเป็นสิ่งที่มีจริงแต่ละหนึ่ง ไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตนใดๆ เลยทั้งสิ้น ฟังเพื่ออย่างนี้เท่านั้น ให้เข้าใจเพิ่มขึ้น มั่นคงขึ้น ก็ยังคงเป็นคุณพรทืพย์ จนกว่ามั่นคงจริงๆ ว่าทุกอย่างที่ปรากฏต่างๆ ก็เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏให้เห็นได้ แล้วดับไปแล้วด้วย ข้อสำคัญลึกลงไปอีกก็คือ สิ่งที่ปรากฏให้เห็นได้นี้ ก็เกิดดับด้วย

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 198
    18 มี.ค. 2567