ปกิณณกธรรม ตอนที่ 781


    ตอนที่ ๗๘๑

    สนทนาธรรม ที่ บ้านใบแก้ว จ.ประจวบคีรีขันธ์

    วันที่ ๑๔ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๘


    ท่านอาจารย์ สิ่งใดก็ตามทั้งหมดที่ไม่น่ายินดี ไม่น่าพอใจ ขณะนั้นความรู้สึกจะไม่ชอบ เป็นทุกข์ เพราะฉะนั้นเวลาเจ็บ มีใครอยากเจ็บบ้าง อยากป่วยไข้ไหมคะ ไม่อยาก เพราะฉะนั้นเห็นทุกข์ ของการเจ็บป่วยไหมคะ มาจากไหนต้องมีกาย เคยเจ็บตาไหมเคยเจ็บหูไหม จมูกล่ะ ใช่ไหมคะ ท้องอีก หัวใจอีก ตับ ปอดทั้งหมดที่เกิดเป็นทุกข์ขึ้น ขณะนั้นเราก็รู้ว่า ไม่มีใครไม่รู้จักทุกข์ ทำไมเด็กร้องไห้ ร้องไห้นี่เค้าสุขสบายสนุกสนานหรือเปล่าคะไม่ใช่ เพราะฉะนั้นในขณะนั้น เพราะทุกข์กายก็ได้ หรือเพราะทุกข์ใจก็ได้ เพราะฉะนั้นความทุกข์นี่ค่ะ ไม่ใช่สิ่งที่ใครไม่รู้จัก แต่ไม่รู้ว่าไม่ใช่เรา เป็นธรรม ต้องไม่ลืมคำแรกเลยนะคะ ศึกษาพระธรรมนี่จะลืมคำแรกไม่ได้เลย ทุกคำต้องสอดคล้องกันหมด ไม่ว่าจะกล่าวถึงต่อไปข้างหน้า ทาน ศีล ภาวนา หรือปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธอะไรทั้งหมด ทุกคำต้องสอดคล้อง คือต้องเป็นความจริง ลืมไม่ได้

    เพราะฉะนั้นเกิดมาเนี่ย มีสุขบ้างแล้วก็มีทุกข์บ้าง แล้วมีใครบ้างไม่รู้จักทุกข์ ต้องรู้จักทุกข์กาย และทุกข์ใจเป็นธรรมดา เพราะฉะนั้นทุกข์อย่างนี้อ่ะค่ะ ใครๆ ก็รู้จึงเรียกว่าทุกขทุกข เห็นคนร้องไห้ รู้เลยทุกข์ใจ คนไข้ตามโรงพยาบาลเจ็บป่วย ถูกฉีดยา และก็รู้แล้วว่าขณะนั้นทุกข์กาย เพราะฉะนั้นทุกข์ประเภทนี้ ทุกคนเข้าใจ ทุกคนรู้ได้

    แต่ว่าพระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ทุกข์ยิ่งกว่านี้ มีสภาพธรรมที่ตรงกันข้ามคือทุกข์กับสุข สุขนี่ เพลิดเพลินสนุกสนาน ยิ้มแย้มแจ่มใส หัวเราะรื่นเริง ก็ตรงกันข้ามกับทุกข์ตั้งแต่เริ่มหม่นหมอง จนกระทั่งน้ำตาคลอ จนกระทั่งร้องไห้ ก็เป็นเรื่องของความทุกข์โทมนัส เพราะเหตุว่า ใครๆ ก็หนีไม่พ้น แต่ว่าในชีวิตประจำวัน วันนี้มีทุกข์หรือยัง ถ้าไม่รู้ก็เห็น ไม่เดือดร้อนนี่คะ ตื่นมาทุกอย่างก็เป็นไปตามปกติ รับประทานอาหารอะไรทุกอย่าง แต่ว่าขณะที่กำลังรับประทานอาหารเนี่ย มีความพอใจในรสอาหารเดียว หรือว่าหลายรส เห็นไหมคะ จากสิ่งนี้ที่พอใจ ไปหาอีกสิ่งหนึ่งที่พอใจ ไปหาอีกสิ่งหนึ่งที่พอใจ เพียงชั่วขณะที่รับประทานอาหาร ก็ไม่รู้ว่า ทำไมล่ะ ก็อย่างนี้ก็อร่อยแล้วนี่ ก้อทำไมไม่รับประทานสิ่งที่อร่อยตลอดไปล่ะใช่ไหม

    แต่เพราะเหตุว่า มีความยินดีพอใจในสิ่งอื่นที่เป็นสุข เพราะฉะนั้นการที่ติดข้อง แม้ในสุขก็ทำให้ต้องเปลี่ยนไป จากสุขนี้ไปสู่สุขนั้น เพราะฉะนั้นก็เป็นทุกข์ของความสุข ที่แปรปรวนไม่เที่ยงชื่อว่าวิปริณามทุกข์ บางคนพอเห็นภาษาบาลี ก็เริ่มไม่เอาแล้วค่ะ แต่ความจริงไม่มีใครไปบังคับ ให้ต้องใช้ภาษาไหน แต่ว่าความเข้าใจเนี่ย ก็ทำให้เริ่มรู้ว่าอ้อ มีทุกขทุกขรู้แล้วนี่ทั้งกายทั้งใจ แต่อีกอย่างหนึ่งซึ่งมองไม่เห็น ว่าทุกวันนี้เป็นสุขจริงๆ หรือ ถ้าสุขจริงๆ ไม่ต้องขวนขวายไปไหน ใช่ค่ะอยู่ที่สุขนั่นแหละ แต่สุขที่แปรปรวนจากสิ่งหนึ่ง ไปอีกสิ่งหนึ่ง ไปอีกสิ่งหนึ่ง นั่นก็เป็นวิปริณามทุกข

    ทุกข์อีกอย่างหนึ่งก็คือว่าสังขารทุกข์ หมายความว่าทุกสิ่งทุกอย่างไม่ยั่งยืน ร่างกายเจ็บรักษาได้ หายได้ ใจเจ็บหายได้เหมือนกัน รักษาได้เหมือนกันใช่ไหมคะ เพราะฉะนั้นสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่มี จะสุขจะทุกข์หรืออะไรก็ตาม เพียงชั่วคราวแล้วหมดไป อันนั้นเป็นสังขารทุกข์ ทุกอย่างที่มีการปรุงแต่งให้เกิดขึ้น และดับไป ดีตรงไหน ขณะนี้เราไม่รู้เลยนะคะ เกิดมาก็ดี มีพ่อมีแม่ มีพี่มีน้อง มีเพื่อนมีฝูงที่โรงเรียน ต่อไปอีกก็ดีอีกสนุกสนานไปอีก แต่ว่าถ้ารู้ความจริงว่าไม่มีเรา แต่เป็นธรรมแต่ละหนึ่งจริงๆ ค่ะ รวมกันไม่ได้เลย เห็นอย่างหนึ่ง ได้ยินอย่างหนึ่ง คิดอย่างหนึ่ง ชอบอย่างหนึ่ง เป็นแต่ละหนึ่ง ซึ่งมีปัจจัยเกิดขึ้นแล้วดับไป แล้วไม่กลับมาอีกเลย นานแสนนานมาแล้ว

    แม้แต่พระโพธิสัตว์ กว่าจะได้บำเพ็ญพระบารมีถึงการตรัสรู้ เมื่อทรงตรัสรู้แล้ว ยามที่๑ก่อนที่จะตรัสรู้ทรงระลึกชาติ นับไม่ถ้วนเป็นอย่างนี้มาแล้ว แต่ถ้าไม่ประจักษ์จริงๆ ก็ไม่มีทางที่จะเห็นว่า สุขหรือที่ต้องเป็นอย่างนี้ แล้วๆ เล่าๆ ทุกวันช้ำไปซ้ำมา เห็นก็เห็นอย่างงี้อ่ะค่ะ เห็นแล้วก็ดับ ได้ยินก็ได้ยินแล้วก็ดับ ได้กลิ่นแล้วก็ดับ ทุกอย่างแล้วก็ดับ แต่ว่าหลงยึดถือว่าเป็นเรา ยิ่งเพิ่มความทุกข์ขึ้นใช่ไหมคะ ญาติพี่น้องคนอื่นเขาตายไม่เห็นโศกเศร้า พอญาติพี่น้องของเราทำไมเดือดร้อน เพราะฉะนั้นถ้าเป็นตัวเราล่ะ รักยิ่งกว่าใครทั้งหมด จะเดือดร้อนสักแค่ไหน

    เพราะฉะนั้นพระธรรมที่ทรงแสดงนะคะ ทรงแสดงให้รู้ความจริง จะถึงเมื่อไหร่ จะรู้เมื่อไหร่ ไม่ใช่ตัวเรา ไปพากเพียรที่จะพยายาม แต่ต้องเป็นไปตามเหตุปัจจัย เพราะว่าเราสะสมกิเลสมากมายมหาศาลค่ะ มองไม่เห็นเลย เพราะเป็นนามธรรมยิ่งกว่าจักรวาล เพราะอะไรคะ เห็นขณะนี้ก็ไม่รู้ละ ติดข้องละ ทั้งวันก็มีแต่สิ่งที่ปรากฏให้ไม่รู้ และติดข้อง ก็เพิ่มความไม่รู้ และติดข้องไป จนกว่าจะได้ฟังพระธรรม ฟังแล้วจนกว่าจะเข้าใจ เข้าใจแล้ว จนกว่าสามารถที่จะรู้สิ่งที่กำลังปรากฏ ทีละ๑ก่อน แล้วค่อยๆ เข้าใจขึ้น จนกระทั่งละคลายการยึดถือ ซึ่งยึดถือไว้นาน สามารถประจักษ์การเกิดดับ คิดดูปัญญาระดับไหน

    เดี๋ยวนี่เองค่ะ สภาพธรรมกำลังเกิดดับ ไปบังคับให้รู้ก็ไม่ได้ จนกว่าจะฟังแล้วค่อยๆ เข้าใจ ค่อยๆ ละคลายการยึดถือ สภาพธรรมจึงปรากฏตามความเป็นจริงได้ เพราะว่าขณะนี้สภาพธรรมกำลังเกิดดับ แต่ถูกอวิชชาความไม่รู้ปิดบัง หุ้มห่อไว้ด้วยโลภะความติดข้อง แล้วเมื่อไหร่ล่ะคะ จะเข้าไปถึงตัวอวิชชา ทีละเล็กละน้อย จนอวิชชาค่อยๆ บางเบาลงไป เพราะฉะนั้นการที่จะอบรมเจริญปัญญา ที่จะรู้ความจริงนี่นะคะ จึงต้องอาศัยกาลเวลานาน และบารมี ๑๐ คือคุณความดีเท่านั้น ที่สามารถที่จะทำให้ละคลายความไม่ดี และความไม่รู้ได้ เพราะไม่รู้จึงไม่ดี และไม่ดีก็เพิ่มขึ้น ติดข้องมากขึ้นหลายอย่าง ทั้งมานะทั้งสำคัญตนต่างๆ เพราะฉะนั้นกว่าจะรู้ความจริงได้ ต้องเป็นเรื่องปัญญาที่รู้แล้วละ ไม่ใช่ติดข้อง ถ้าติดข้องนั่นไม่ใช่เรื่องของปัญญาเลยค่ะ ปัญญารู้ความจริงอย่างนี้แล้วจะติดข้องได้ยังไง แต่เพราะไม่รู้ความจริงอย่างนี้จึงติดข้อง

    ด้วยเหตุนี้การฟังธรรมเพื่อเข้าใจ ไม่ใช่เพื่อเราจะไปทำอะไร เพื่อที่จะไปรู้อะไรนั้นไม่ถูกต้องเลยค่ะ เพราะฉะนั้นจึงมีคำถามว่า ใครในโลกนี้ที่นับถือพระพุทธศาสนาบ้างตอบเอง เมื่อรู้เมื่อเข้าใจ มีใครในโลกนี้เอาเฉพาะโลกนี้ ที่นับถือพระพุทธศาสนา ต้องเป็นผู้ที่ตรง เราจะนับถืออะไรที่เราไม่รู้จักได้ไหม ไม่ได้ค่ะ ต้องนับถือในคุณความดี คุณความดีนะคะ คือพระปัญญาคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทำให้เราได้ยินได้ฟังสิ่งซึ่งเราไม่เคยได้ยินได้ฟังมาก่อน แม้มีมานานแสนนาน และเดี๋ยวนี้ก็กำลังมีด้วย เพราะฉะนั้นการที่มีโอกาสได้ยินได้ฟังแต่ละคำ แม้เพราะเหตุนี้พระผู้มีพระภาคทรงเป็นพระอรหันต์สัมมาสัมพุทธเจ้า ตามคำภาษาบาลี อิติปิโส ภะคะวา อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ ไม่อย่างงั้นก็พูดไป โดยไม่ได้เข้าใจอะไรเลย แต่พอเข้าใจอย่างนี้นับถือไหมคะ รู้จักพระพุทธเจ้าไหมคะ เริ่มเข้าไปนั่งใกล้เพื่อที่จะรู้ ยิ่งกว่านี้เข้าใจยิ่งกว่านี้ ในความเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพระเจ้า ข้อความในพระไตรปิฎก ผู้นั้นเมื่อได้ฟังพระธรรมแล้ว ขอถึงพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง เพราะรู้ว่าคนอื่นไม่ใช่ที่พึ่งที่แท้จริง

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์ครับปัจจุบันผมไปเรียนพระอภิธรรมเนี่ย การเรียนนั้นน่ะจะได้ประโยชน์อย่างแท้จริงในชีวิต เราจะเห็นตามลักษณะใดครับ

    ท่านอาจารย์ ค่ะ พระอภิธรรมคืออะไรคะ

    ผู้ฟัง คือปรมัตถธรรม ธรรมที่มีอยู่จริงครับ

    ท่านอาจารย์ แล้วทำไมเป็นอภิธรรม เมื่อกี้นี้เป็นธรรม และธรรมนั่นแหละเป็นปรมัตถธรรม

    ผู้ฟัง ครับ

    ท่านอาจารย์ มีจริงๆ ไม่มีใครสามารถเปลี่ยนได้ แล้วก็ยังเป็นอภิธรรมด้วยเพราะอะไร

    ผู้ฟัง ตรงนี้ยังไม่ทราบครับ

    ท่านอาจารย์ แต่เรียนแล้วใช่ไหมคะ เพราะฉะนั้นการเรียนต้องเข้าใจจริงๆ ค่ะลึกซึ้งไหมคะธรรม

    ผู้ฟัง ลึกซึ้งมากครับ

    ท่านอาจารย์ ละเอียดไหม

    ผู้ฟัง ละเอียดครับ

    ท่านอาจารย์ นั่นคืออภิธรรม

    ผู้ฟัง เพราะว่าปัจจุบันเนี้ย ผมเพิ่งเรียนได้ ๕ -๖ เดือนครับ ก็ค่อยๆ เรียนตามอาจารย์ไป

    ท่านอาจารย์ เดี๋ยวก่อนค่ะ อภิธรรมอยู่ที่ไหน

    ผู้ฟัง อยู่ที่สิ่งที่มีอยู่จริงครับ

    ท่านอาจารย์ เดี๋ยวนี้มีไหม

    ผู้ฟัง มีครับ

    ท่านอาจารย์ กำลังเรียนฟังอภิธรรมรึเปล่าเดี๋ยวนี้

    ผู้ฟัง ใช่ครับ

    ท่านอาจารย์ กำลังเรียนฟังตัวธรรมซึ่งเป็นอภิธรรม ไม่ใช่ชื่อ ไม่ใช่ตำราหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ครับ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นเดี๋ยวนี้นะคะ ฟังเรื่องเห็น เห็นนี่แหละเป็นธรรม เป็นปรมัตถธรรม เป็นอภิธรรม เพราะฉะนั้นศึกษาธรรมคือ กำลังฟังเรื่องสิ่งที่มีจริง ซึ่งกำลังมีจริงๆ จึงชื่อว่าปริยัติ ฟังพระพุทธพจน์ซึ่งกล่าวถึง สิ่งที่มีเดี๋ยวนี้ด้วยให้เข้าใจ เพราะฉะนั้นอภิธรรมไม่ใช่ให้ไปนั่งอ่านหนังสือ จำจำนวนนะคะ แต่รู้ว่าเดี๋ยวนี้แหละเป็นอภิธรรม พูดเรื่องจิตเห็นต้องในขณะนี้ ที่เราไม่รู้ความจริงของจิตเห็น ว่าธาตุรู้เกิดขึ้นเห็นแล้วดับ

    ท่านอาจารย์ กำลังฟังพระอภิธรรมหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ครับ

    ท่านอาจารย์ กุสลา ธมฺมา อกุสลา ธมฺมา อพฺยากตา ธมฺมา เป็นอภิธรรมหรือเปล่า

    ผู้ฟัง เป็นครับ

    ท่านอาจารย์ แต่ยังไม่ถึงใช่ไหมคะ

    ผู้ฟัง ใช่ครับ

    ท่านอาจารย์ เพราะเราเพิ่งถึงคำว่าธรรม ปรมัตธรรม และอภิธรรม นามธรรม รูปธรรม จิต เจตสิก รูป ค่อยๆ ฟังให้เข้าใจค่ะว่า เดี๋ยวนี้เรากำลังเริ่มเข้าใจสิ่งที่มีจริง

    ผู้ฟัง ก็คงต้องฟังไปเรื่อยๆ เพื่อให้ความรู้เกิดขึ้นเรื่อยๆ ครับ

    ท่านอาจารย์ ค่ะ เพราะฉะนั้นก็เข้าใจด้วยนะคะ ว่ากำลังฟังเรื่องสิ่งที่มีจริง แม้อ่านก็เรื่องสิ่งที่มีจริง

    ผู้ฟัง ตั้งแต่เกิดมานะคะ ก็จำความได้ว่า ถ้าเราอยากรู้เรื่องพระพุทธศาสนาใช่ไหมคะ เราต้องไปวัดไปศึกษากับพระ พระท่านก็สอนให้เราสวดมนต์ ให้นั่งสมาธิ ทำมานานมาก จนกระทั่งลูกชาย เริ่มฟังท่านอาจารย์สุจินต์ ก็ได้ฟังกับลูกชายตลอดประมาณ ๑๐ ปีได้นะคะ มีความเข้าใจว่าที่เราไปทำเนี่ยมันผิด มันไม่ใช่ แต่เขาสอนว่านั่งๆ ไปเถอะเดี๋ยวก็ถึงเอง แต่มันขัดกับที่เราเริ่มเข้าใจแล้วว่า ธรรมไม่ใช่สัตว์บุคคล ก็มีแค่เพียงจิต เจตสิก รูป แล้วก็นิพพาน แต่นิพพานยังไม่ต้องพูดถึง เพราะเป็นเรื่องไกลมาก พอเริ่มฟังไปก็มีความเข้าใจในเรื่อยๆ จนกระทั่งเลิกไปปฏิบัติค่ะ

    ท่านอาจารย์ ยุคนี้เป็นยุคปฏิบัติใช่ไหมคะ แล้วปฏิบัติคืออะไรไม่รู้ เพราะฉะนั้นยุคนี้เป็นยุคไม่รู้ แน่นอนนะคะ เพราะฉะนั้นพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงนะคะ ลึกซึ้งไหม ลึกซึ้งนะคะ แล้วก็ถ้าไม่มีการฟังให้เข้าใจ จะทำอะไรหรือเปล่า เพราะไม่เข้าใจก็ทำไปด้วยความไม่รู้ แต่ว่าตามความเป็นจริงนะคะ ทรงแสดงธรรมนี่ค่ะ ทีละคำทีละคำ เพราะว่าถ้าไม่รู้จักคำนั้นข้ามไปคำอื่น เราก็ไม่สามารถที่จะเข้าใจได้ เช่นเขาชวนไปปฏิบัติ หรือเขาบอกให้ปฏิบัติ เขาให้เราทำอะไร หรือให้เข้าใจอะไรหรือเปล่า มีอะไรให้เข้าใจหรือเปล่าคะ หรือไม่มีเลย แต่พระอรหันตสัมมาสัมเจ้าตรัสทุกคำเป็นคำจริงเพื่อให้คนฟังนี่ค่ะ เกิดความเห็นถูก ความเข้าใจถูกของตนเอง ไม่ใช่ความเห็นผิด หรือไม่ใช่สิ่งที่ไม่จริง หรือไม่ใช่เป็นการบอกให้ ไปทำอย่างหนึ่งอย่างใดเลย เพราะทรงแสดงไว้แล้วว่าธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา เพราะฉะนั้นไม่มีตัวตนแต่มีธรรม เพราะฉะนั้นธรรมนี่หลากหลายมากนะคะ มีธรรมทั้งฝ่ายที่เป็นกุศลธรรม และธรรมฝ่ายดีงาม และฝ่ายที่เป็นอกุศลธรรม มีทั้งความเห็นถูกต้องตามความเป็นจริง แล้วก็มีความเห็นผิดด้วย เห็นผิดก็เป็นธรรม ทุกอย่างที่มีจริงเป็นธรรมทั้งหมด ถ้าเป็นผู้ที่ได้สะสมมาแล้ว จากการฟังในชาติก่อนๆ ก็จะรู้ได้ค่ะว่าต้องเข้าใจ ถ้าคำใดไม่ทำให้เกิดความเข้าใจ คำนั้นไม่ใช่คำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เช่นบอกว่าให้ไปปฏิบัติ ปฏิบัติคืออะไรต้องรู้ก่อน ถ้าไม่รู้ไปทำไมคะ

    ค่ะ เพราะฉะนั้นก็เป็นยุคไม่รู้ เพราะเหตุว่าไม่ได้ศึกษาพระธรรมให้เข้าใจ ซึ่งคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะคะ มี ๓ ระดับ ปริยัติ ปฏิปัติ ปฏิเวธ ปริยัติคือฟังพระพุทธพจน์ บางคนบอกว่าไปเรียนอภิธรรมเป็นปริยัติ แต่ถ้าไม่เข้าใจไม่ใช่ปริยัติ ไม่ใช่ว่าจำคำแล้วก็พูดตาม ใครก็จำได้ ใครก็ท่องได้ ใครก็พูดได้ เด็กๆ พูดได้ไหมคะ เอามาท่องพระพุทธพจน์ เข้าใจอะไรรึเปล่าสักคำ นั่นไม่ใช่คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไร้ประโยชน์ เพราะเหตุว่าไม่เข้าใจแล้วทำทำไม แล้วพูดทำไมใช่ไหมคะ เพราะฉะนั้นแต่ละคำ เป็นคำที่มีความหมายที่ลึกซึ้งนะคะ ซึ่งผู้นั้นจะต้องไตร่ตรอง เพื่ออะไรคะ เพื่อเข้าใจถูก เพื่อเห็นถูกตามความเป็นจริง และไม่เปลี่ยนแปลง ธรรมเป็นสิ่งที่มีจริง เดี๋ยวนี้มีจริงธรรมแต่ละอย่าง ก็เป็นแต่ละหนึ่ง เห็นเป็นเห็น ได้ยินเป็นได้ยิน โกรธเป็นโกรธ ติดข้องเป็นติดข้อง เพราะฉะนั้นธรรมทั้งหมดเลย ไม่มีอะไรที่ไม่ใช่ธรรม แล้วธรรมทั้งหมดเป็นอนัตตา คือไม่มีใครสามารถที่จะไปบังคับบัญชา หรือไปทำให้เกิดขึ้นมาได้เลยทั้งสิ้น เกิดแล้วจะไม่ให้ดับไปหมดไปก็ไม่ได้ค่ะ นี่คือธรรมตาในภาษาบาลีนะคะ ความเป็นไปของธรรม แต่คนไทยก็พูดคำนี้ถูกนะคะ ธรรมดา แต่ไม่เข้าใจว่าหมายความถึงว่าธรรมนี่ต่างหากไม่ใช่ใคร ที่ความเป็นไปของธรรม ต้องเป็นอย่างนี้ คือเห็นก็ต้องเกิดขึ้นเห็น ได้ยินก็ต้องเกิดขึ้นได้ยิน คิดก็ต้องเกิดขึ้นคิด นี่เป็นธรรม

    เพราะฉะนั้นถ้ามีความเข้าใจธรรม ทีละเล็กทีละน้อยเพิ่มขึ้น ที่เคยยึดถือว่าเป็นเราเห็นก็รู้ว่าเห็นเป็นเห็น เป็นธรรมซึ่งเกิดแล้วดับ ได้ยินขณะนี้ก็ไม่ใช่เราที่ได้ยิน และได้ยินนั้นก็ไม่ใช่เป็นเรา เพราะได้ยินเกิดตามเหตุตามปัจจัย ได้ยินแล้วก็ดับไปแล้วไม่กลับมาได้ยินอีกเลย เพราะฉะนั้นธรรมเป็นธรรมทุกอย่าง ถ้ามีความเข้าใจอย่างนี้อย่างมั่นคงเป็นสัจจญาณ แล้วเป็นการรอบรู้ในคำแต่ละคำที่ได้ยิน ซึ่งไม่สับสนแล้วก็ไม่เปลี่ยนแปลง เพราะฉะนั้นถ้ามีใครชวนไปปฏิบัติ มีตัวตนหรือเปล่ามีความไม่รู้หรือเปล่า และไปปฏิบัติอะไรก็ไม่รู้ และปฏิบัติเพื่ออะไรก็ไม่รู้ ปฏิบัติแล้วรู้อะไรก็ไม่รู้ เพราะฉะนั้นชวนไปเพื่อไม่รู้ จะไปมั้ย ชวนไปเพื่อไม่รู้ ถ้าใครไปก็คือว่าไม่รู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่มีพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง เคยไป ค่ะ เคยไปแล้วไม่รู้ เมื่อไปแล้วไม่รู้จะไปอีกมั้ย ต้องคิดด้วยเหรอคะ ไปแล้วไม่รู้แล้วจะไปไหม ชัดเจนไม่มีใครบังคับ ธรรมไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใคร ต้องเป็นผู้ที่ตรงค่ะ ถ้ามีความเห็นที่ถูกต้อง จะทิ้งความเห็นผิด แต่ถ้ายังมีความเห็นไม่ถูกต้อง ก็ยังคงเป็นไปตามความเห็นผิด

    เพราะฉะนั้นการศึกษาธรรมที่เป็นที่พึ่ง คือไม่ทำให้เห็นผิด ไม่ทำให้เข้าใจผิด เพราะฉะนั้นก่อนอื่นต้องมีความเข้าใจที่มั่นคง ว่าธรรมไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวตนไม่ใช่ของใครธรรมแต่ละหนึ่ง ก็เป็นธรรมแต่ละหนึ่ง เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ถ้าเห็นสิ่งที่สวยๆ งามๆ อาหารอร่อย เสียงเพราะๆ จะโกรธมั้ย จะไม่พอใจมั้ย ตามเหตุตามปัจจัยค่ะ และเห็นสิ่งที่น่าเกลียดนะคะ ชอบไหม ก็เป็นไปตามเหตุตามปัจจัย ไม่ใช่ว่าเราจะสามารถไปเปลี่ยนแปลงธรรมได้ เพราะฉะนั้นนะคะ เมื่อได้ฟังธรรมแล้วมั่นคงแค่ไหน นี่คือสัจจญาณ ถ้าไม่มีสัจจญาณ ไม่มีความมั่นคง ไปปฏิบัติแน่ เพราะไม่มั่นคงคิดว่าไปแล้วจะได้รู้อะไร จะได้ไปทำอะไร จะได้เห็นอะไร แต่ไม่รู้ไม่เข้าใจ แม้แต่ว่าปฏิบัติคืออะไรก็ไม่รู้ เมื่อไม่รู้ตั้งแต่ต้น ต่อไปจะรู้ไหมคะ

    เพราะฉะนั้นปฏิปัติ ไม่ใช่ปริยัติ ไม่มีการฟังธรรมให้เข้าใจ ไม่มีปัญญาอีกระดับหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่เพียงฟังเข้าใจ แต่กำลังเริ่มเข้าใจลักษณะจริงๆ ของธรรมแต่ละหนึ่ง ค่อยๆ ชัดเจนขึ้น จนค่อยๆ รู้ว่าไม่ใช่เรา เป็นแต่เพียงธรรมซึ่งเกิดขึ้น และดับไปด้วยนะคะ เพราะฉะนั้นปริยัตินำไปสู่การปฏิปัติ ธัมมานุธัมมปฏิปัติไม่ใช่เราเลยค่ะ แม้แต่ธรรมก็ปฏิบัติกิจของธรรมแต่ละอย่าง ปัญญาไม่ได้ปฏิบัติกิจของโลภะ และอวิชชา ปัญญาก็ปฏิบัติกิจของปัญญา อวิชชาก็ปฏิบัติกิจของอวิชชา เพราะฉะนั้นเมื่อมีความรู้จะไปทำตามที่ไม่รู้ คนที่ไม่รู้ได้ไหม เพราะว่าเมื่อมีปริยัติความเข้าใจแล้วในความไม่ใช่เรา ไม่มีเราจะไปทำอะไร ที่จะให้เกิดความรู้ขึ้น นี่เพียงแค่ขั้นต้นนะคะ ถ้ามั่นคงก็คือว่าไม่มีทางเลย ซึ่งจะมีความเห็นผิดแม้เพียงเล็กๆ น้อยๆ ต้องมั่นคงขึ้น ถ้าไม่มีการรู้เฉพาะลักษณะของสภาพธรรมเดี๋ยวนี้ทีละหนึ่ง จะประจักษ์การเกิดดับของสภาพธรรมนั้น หนึ่ง ที่เกิดดับได้ไหมก็ไม่ได้ ด้วยเหตุนี้นะคะ เมื่อมีปริยัติจึง มีปฏิปัติ และมีปฏิเวธ คือการประจักษ์แจ้งตรงตามที่ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ประจักษ์แจ้งแล้ว จึงเป็นผู้ที่มีสาวก เพราะฟังเข้าใจอบรมเจริญปัญญา จนกระทั่งสามารถรู้ เมื่อไหร่ที่ไหน แล้วแต่เหตุปัจจัย ที่นี่ก็ได้ กลางถนนก็ได้

    ท่านพระสารีบุตรก่อนนั้น ยังไม่ได้เป็นพระสารีบุตร ที่ได้รู้แจ้งอริยสัจธรรม ก็ได้ฟังท่านพระอัสสชิ ก็สามารถเข้าใจได้ เมื่อปัญญาพร้อม เพราะมีความเข้าใจที่มั่นคง และมีการสะสมการรู้ลักษณะของสภาพธรรมเดี๋ยวนี้ด้วย โดยไม่ใช่เรา แต่เพราะสภาพธรรมที่เป็นสติสัมปชัญญะ ซึ่งเป็นจิตหรือเจตสิกคะ สติสัมปชัญญะต้องเป็นเจตสิก จิตเป็นธาตุรู้ค่ะ แต่เจตสิกมี ๕๒ ประเภท ที่เป็นฝ่ายอกุศลก็มีกุศลก็มี

    เพราะฉะนั้นขั้นต้น ธรรมแล้วก็ จิตแล้วก็เจตสิก และก็เริ่มเข้าใจถูกต้องนะคะ ว่าอะไรเป็นอะไร แต่เราต้องเรียกชื่อมั้ยคะ พอโกรธเกิดขึ้นก็เป็นเจตสิกต้องเรียกไหมคะ ไม่เรียก แม้แต่ลักษณะของสภาพธรรม ก็ไม่จำเป็นต้องกล่าว เช่นจิตเป็นธาตุรู้ เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้ เพราะเดี๋ยวนี้จิตกำลังรู้ เกิดขึ้นแล้วดับ เจตสิกก็เป็นเจตสิกซึ่งเกิดกับจิตหลายประเภท เกิดขึ้นแล้วก็ดับไปพร้อมกับจิต นี่คือปริยัติ แต่ถ้าเป็นปฏิปัติ ความเข้าใจอย่างมั่นคงนี่ค่ะเป็นอนัตตา เป็นปัจจัยให้สามารถเข้าถึงลักษณะของสภาพธรรมโดยไม่ใช่เรา แต่เริ่มรู้ลักษณะที่กำลังรู้เฉพาะขณะนั้น และภายหลังได้ยินคำว่าสติสัมปชัญญะ ก็สามารถที่จะรู้ว่า ขณะไหนเป็นสติสัมปชัญญะ เมื่อสติสัมปชัญญะเกิดแล้ว มีใครไปทำสติสัมปชัญญะได้ไหม ต้องมั่นคงค่ะ มีใครทำได้ไหมไม่ได้เลย ต้องไม่ลืมอนัตตา ค่ะ

    ผู้ฟัง อีกคำหนึ่ง ที่อยากจะให้ท่านอาจารย์ หรือคณะวิทยากรอธิบายก็คือส่วนใหญ่คนที่คิดว่าจะไปปฏิบัติ ก็คือต้องการบุญครับ ผมอยากให้ท่านอาจารย์ขยายความคำว่าบุญครับ เพราะว่าทุกคนไปเพื่อหวังบุญ แค่ขอเชิญคุณคำปั่นค่ะ

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 177
    27 มี.ค. 2567