พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 729


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๗๒๙

    ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๒๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๔


    ผู้ฟัง พอศึกษาธรรม ความเข้าใจลักษณะของรูปารมณ์ นับว่า เป็นสิ่งสำคัญ

    ท่านอาจารย์ เปลี่ยนจากรูปารมณ์ทางตามาเป็นแข็ง

    ผู้ฟัง เข้าใจได้

    ท่านอาจารย์ แล้วสิ่งที่ปรากฏทางตาก็เหมือนกัน เพียงแต่ว่า ขณะนั้นไม่ได้รู้แข็ง แต่รู้สิ่งที่กำลังปรากฏ จะใช้คำว่า ทางตาหรือไม่ทางตาก็ได้ แต่มีสิ่งที่ปรากฏที่จิตกำลังรู้ จิตกำลังรู้แข็งๆ ปรากฏฉันใด จิตกำลังเห็นก็มีสิ่งที่ปรากฏให้เห็น คือ เดี๋ยวนี้ เป็นรูปอย่างหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่แข็ง เวลารู้แข็งๆ ก็ไม่ใช่สิ่งที่ปรากฏให้เห็นได้ ก็เป็นแต่เพียงธรรมดาๆ

    ผู้ฟัง เรียนถามว่า นิมิตนี้ เฉพาะรูปธรรมอย่างเดียว หรือนามธรรมก็ได้

    ท่านอาจารย์ รวมหมด คือ สังขารนิมิต

    ผู้ฟัง รวมหมดทั้งสังขารนิมิต

    ท่านอาจารย์ คือทุกอย่างที่เกิดดับสืบต่อ ปรากฏ เพราะเป็นนิมิต ไม่ใช่หนึ่งที่เกิดดับไป แล้วเรารู้สิ่งนั้นหรือไม่ เพราะแสนเร็ว จนกระทั่งปรากฏนิมิตให้รู้ว่า จิตเป็นจิต เจตสิกแต่ละอย่างก็เป็นเจตสิกแต่ละอย่าง เพราะฉะนั้น “สังขาร” คือ สภาพธรรมที่เกิดมีปัจจัยปรุงแต่ง เกิดแล้วเป็น “สังขตธรรม” เพียงหนึ่งนิดเดียว ไม่สามารถที่จะรู้ได้แต่เมื่อปรากฏมากๆ ในอาการนั้นก็ปรากฏว่าเป็นธรรมอย่างนั้น เช่น เห็นอย่างนี้ ชั่วขณะ ๑ ลองคิดดู จะรู้ไหม กับเดี๋ยวนี้เห็น ก็เห็นจนสามารถที่จะเริ่มรู้ว่า เห็นขณะนี้เป็น “ธาตุรู้” ที่กำลังเห็น

    ผู้ฟัง ทุกอย่างที่เห็น หรือได้ยิน ก็จะจำหมด

    อ.ธิดารัตน์ สัญญาเจตสิกเป็นสภาพที่จำ และเกิดกับจิตทุกประเภท แต่เวลาที่เราคิดถึงสิ่งที่จำ ก็จะหมายถึงเจตสิกที่มีการตรึกถึงคือวิตกเจตสิกที่ตรึกถึงสิ่งที่เคยจำ แต่ในขณะที่ตรึกถึงสิ่งที่เคยจำก็มีสัญญาเจตสิกที่จำพร้อมกับวิตกเจตสิกด้วย เวลาที่คิดไม่ออก คิดไม่ได้ ไม่ใช่ว่าสัญญาเจตสิกไม่ดี เพียงแต่ว่า การตรึกยังไม่สามารถที่จะไปตรึกถึงสิ่งที่เคยจำได้ เช่น เวลาที่เราวางของแล้วเราก็บอกว่าเราลืม แต่จริงๆ ขณะที่วางก็มีสัญญาเจตสิกที่จำพร้อมกับการที่วางของ แล้วขณะที่หาของไม่เจอก็คือ จิตก็มีอื่นๆ เป็นอารมณ์ มีสัญญาที่จำธรรมอื่นๆ หรือว่าเรื่องราวอื่นๆ แต่ขณะที่จำได้ เราใช้คำว่าจำได้ แต่จริงๆ ก็คือ การที่ “วิตกเจตสิก” หรือสภาพของวิตกเจตสิกที่ตรึกถึงสิ่งที่เคยจำไว้เกิดร่วมกับสัญญาเจตสิกใหม่

    อ.คำปั่น เป็นการฟังในสิ่งที่เป็นประโยชน์มาก คือ การฟังความจริง ฟังในสิ่งที่มีจริงที่สามารถที่จะศึกษา และสามารถที่จะเข้าใจได้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งก็คือ สิ่งที่กำลังมี กำลังปรากฏในขณะนี้ ไม่ว่าจะฟังเรื่องอะไร ก็ไม่พ้นไปจากสิ่งที่มีจริงในขณะนี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสิ่งที่ปรากฏทางตา หรือสภาพที่จำซึ่งเป็นสัญญาเจตสิก ก็คือขณะนี้ แต่ว่า เป็นสิ่งที่เข้าใจยากเพราะว่าสะสมความไม่รู้มาอย่างเนิ่นนาน ซึ่งก็จะต้องอาศัยการฟัง การศึกษาต่อไป

    ซึ่งจะเห็นได้ว่า ในสมัยที่พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์ทรงพระชนม์อยู่ มีการแสดงพระธรรม พุทธบริษัทก็มีการติดตามฟังพระธรรมที่พระองค์ทรงแสดง เพื่อเข้าใจความจริง เข้าใจสิ่งที่มีจริง ซึ่งเป็นปรมัตถธรรมในขณะนี้นั่นเอง เพราะฉะนั้น ถึงแม้ว่า ความรู้ ความเข้าใจ จะเจริญขึ้นช้า แต่ถ้าหากว่า ไม่ขาดการฟัง ไม่ขาดการศึกษา ก็จะเป็นเหตุให้ความรู้ ความเข้าใจค่อยๆ เจริญขึ้นไปตามลำดับ วันนี้เข้าใจแค่นี้ พรุ่งนี้ได้ฟังอีก วันต่อๆ ไปได้ฟังอีก ความรู้ ความเข้าใจ ก็จะค่อยๆ เพิ่มขึ้น เนื่องจากว่า ปัญญาเป็นพืชที่โตช้า จึงไม่ควรที่จะขาดการให้อาหารของปัญญา ด้วยการฟังพระธรรม ฟังสิ่งที่มีจริง

    อ.วิชัย พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า ขันธ์ ๕ เป็นภาระอย่างยิ่ง ถ้าในส่วนของรูปขันธ์ก็พอจะทราบ คือ ต้องมีการบำรุง ดูแลรักษา ไม่ว่าจะเป็นการรับประทานอาหาร การต้องรักษายามเจ็บไข้ได้ป่วย แต่ว่า ส่วนของนามขันธ์ ๔ คือ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ และวิญญาณขันธ์ จะเป็นภาระอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ภาระที่ต้องเกิด และก็ต้องเห็น ไม่เห็นเสียก็จะดีกว่า ถ้าลองคิดดูว่า ไม่เห็นเลย ไม่ได้ยินเลย ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ไม่คิดนึก แสนสุขสบาย คุณวิชัย เกิดมาแล้วก็ต้องมานั่งร้องไห้ เสียใจ บ่นโน่น บ่นนี่ เป็นภาระหรือเปล่า ต้องมานั่งเสียใจ คิดดู ถ้าไม่เกิดจะต้องเป็นอย่างนี้ไหม

    อ.วิชัย แต่ยามที่สุขโสมนัสก็ดีใจ

    ท่านอาจารย์ ดีใจแล้วก็หมดไป

    อ.วิชัย ก็ต้องหมดไป

    ท่านอาจารย์ มีใครในโลก โลกไหนก็ตามที่จะดีใจตลอด จิตเห็นเกิดก็ไม่มีโสมนัสเวทนา เกิดร่วมด้วยแล้ว ภาระไหม ต้องมานั่งร้องไห้ อยู่ดีๆ แท้ๆ ต้องมานั่งร้องไห้

    อ.กุลวิไล สภาพธรรมที่เป็นตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ที่ว่า โดยความเป็นอนัตตา เพราะว่า ไม่ใช่ของเรา ไม่เป็นเรา ไม่ใช่ตัวตนของเรา

    ท่านอาจารย์ ต้องรู้ว่า ขณะนี้มีตาเกิด จึงได้ปรากฏว่า เป็นตา อะไรก็ตามที่ปรากฏขณะนี้ หมายความว่า ต้องเกิด และจะเกิดเองโดยไม่มีเหตุปัจจัยไม่ได้ เช่น ได้ยิน ถ้าไม่มีโสตปสาท และไม่มีเสียง จิตได้ยินก็เกิดไม่ได้ เพราะฉะนั้น ตลอดเวลาทั้งหมดที่เป็นธรรมที่เกิดปรากฏ ก็ต้องเป็นธรรมซึ่งมีปัจจัยจึงได้เกิดขึ้น ฟังธรรมนี้ต้องค่อยๆ พิจารณาเพราะว่า ธรรมเป็นสิ่งซึ่งแม้มีปรากฏ ถ้าไม่พิจารณาให้เข้าใจก็ไม่สามารถที่จะรู้ความจริง แม้เพียงคำที่ว่า ขณะนี้สิ่งหนึ่งสิ่งใดก็ตามที่กำลังปรากฏว่า มีจริงๆ เพราะสิ่งนั้นเกิด ถ้าสิ่งนั้นไม่เกิด จะมีสิ่งนั้นไม่ได้เลย

    เพราะฉะนั้น ละเอียดจนกระทั่งถึงเห็นขณะนี้ ก็ต้องเกิด ได้ยินขณะที่เสียงปรากฏ ได้ยินก็ต้องเกิด ขณะที่กำลังคิดนึกๆ จริงๆ เกิดคิดเรื่องอะไร ขณะนั้นก็เพราะเกิดขึ้นคิด ด้วยเหตุนี้ ทุกสิ่งทุกอย่างที่กำลังปรากฏ ความจริงก็คือว่า สิ่งนั้นเกิดเพราะเหตุปัจจัย แต่ที่ไม่รู้คือ เกิดแล้วดับอย่างเร็วมาก

    อ.กุลวิไล อย่างเห็นขณะนี้ เห็นไม่ใช่เราอย่างไร

    ท่านอาจารย์ เห็นเกิด เพราะเราต้องการให้เห็นหรือเปล่า

    กุล. ไม่ได้ต้องการให้เห็น

    ท่านอาจารย์ และถ้าไม่อยากจะเห็น แต่เห็นได้ไหม

    อ.กุลวิไล ก็ได้

    ท่านอาจารย์ ก็ได้ นั่นก็แสดงว่า ธรรมนั้นไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใคร

    อ.กุลวิไล เพราะว่า หลายท่านถ้าไม่ได้ฟังพระธรรมอาจจะคิดว่า ทำเห็นได้

    ท่านอาจารย์ ขณะนี้กำลังสุขไหม กำลังทุกข์หรือเปล่า กังวลหรือเปล่า ไม่สบายใจหรือเปล่า ทั้งหมดนี้คือ “ธรรม” ซึ่งมีปัจจัยเกิดแล้วก็ดับ เพราะฉะนั้น ตามความเป็นจริงก็คือ ธรรมไม่ใช่เกินวิสัยที่จะเข้าใจ แต่เพราะเหตุว่า การฟังเผิน และการไม่ไตร่ตรอง ก็ทำให้ความเข้าใจไม่มั่นคง แม้แต่ได้ฟังแล้วว่า ขณะนี้สิ่งที่มีจริงๆ เป็นธรรม ก็ฟัง แต่ก็ยังไม่พอที่จะมั่นใจว่า เป็นธรรมจึงมีคำถาม ว่า “เห็นไม่ใช่เราอย่างไร?” ในเมื่อเห็นมีจริงๆ ต้องเป็นธรรมในภาษาบาลี เพราะภาษาบาลีไม่มีภาษาไทยว่า “สิ่งที่มีจริง” แต่ธรรมเป็นสิ่งที่มีจริง ถ้าพูดถึงเห็น ความละเอียดก็คือว่า ไม่ได้พูดถึงอย่างอื่น จะไปคิดเรื่องอื่นไม่ได้ แต่กำลังมีเห็นให้เห็นจริงๆ

    เพราะฉะนั้น ที่จะเข้าใจเห็นที่กำลังมีในขณะนี้ตามความเป็นจริงได้ ก็ต้องฟังว่า ขณะที่เห็นมีหูไหม เห็นไหม นี่คือความละเอียด ขณะนั้นต้องไม่มีอะไรเลยที่จะปรากฏ เพราะเหตุว่า จิตซึ่งเป็นธาตุรู้เกิดขึ้นเพียง ๑ ขณะ จิตที่เกิด ๑ ขณะรู้อะไรก็เฉพาะสิ่งนั้นอย่างเดียว ไม่ใช่ขณะที่กำลังเห็น หูก็มี แขนก็มี ขาก็มี ผมก็มี ไม่ใช่ ขณะที่เห็นปรากฏ ตามความเป็นจริงก็คือว่า ขณะนั้นต้องไม่มีอย่างอื่น ค่อยๆ ฟังค่อยๆ พิจารณาที่จะเข้าใจว่า ธรรมไม่ใช่ของใคร และธรรมเป็นอนัตตา เกิดขึ้น และดับไป ก็ต้องฟังสิ่งที่กำลังมีในขณะนี้ จนกระทั่งมีความเข้าใจว่า เป็นธรรมจริงๆ

    เพราะฉะนั้น ในขณะที่เห็นกำลังปรากฏ ไตร่ตรอง คิดให้ถูกต้องว่า ขณะนั้นต้องไม่มีอย่างอื่น มีเราหรือเปล่าในขณะที่กำลังเห็น เพราะเห็นเป็นธรรมซึ่งเกิดขึ้นเห็น คือรู้ว่า สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาขณะนี้เป็นอย่างนี้ ไม่ต้องพูดอะไรสักคำ ก็มีสิ่งที่ปรากฏทางตาให้เห็น เวลาที่เห็นเกิดขึ้น และขณะนั้น เห็นจะไปได้ยินเสียงก็ไม่ได้ จะคิดนึกก็ไม่ได้ จะไปจำว่า ยังมีตัวเราตั้งแต่ศีรษะจรดเท้าก็ไม่ได้ ก็มีแต่เฉพาะลักษณะที่กำลังเห็นขณะนี้ หนทางที่จะเข้าใจเห็นตามความเป็นจริงว่า เป็นธรรมก็คือ ในขณะที่กำลังเห็นแล้วกำลังฟังเรื่องเห็น แล้วก็มีการได้เข้าใจความจริงว่า ตามความเป็นจริงที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ไม่เปลี่ยน เปลี่ยนไม่ได้

    ความจริงคือ ในขณะนั้น เมื่อธาตุชนิด ๑ เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย คือ ธาตุรู้ซึ่งสามารถกำลังเห็นสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้ เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป จริงหรือเปล่า ขั้นต้นไม่ใช่ให้ไปรู้อย่างนี้ ไม่ใช่พอฟังธรรมจะให้รู้อย่างนี้ได้ เพียงแค่จะเข้าใจให้ตรง ว่าเมื่อพูดถึงเห็น มีแต่เห็นไม่มีอย่างอื่นเลย เมื่อนั้นไม่มีเรา เพราะเหตุว่า เมื่อมีแต่เห็นซึ่งกำลังเห็น เห็นเกิด เห็นสิ่งที่กำลังปรากฏ จะให้เห็นเป็นอย่างอื่น ทำอย่างอื่น แม้แต่คิดก็ไม่ได้ ถ้าเข้าใจแต่ละ ๑ ของธรรม ก็จะรู้ว่า ธรรมนั้นเกิดแล้วก็ดับ แล้วจะเป็นเราได้อย่างไร

    เพราะฉะนั้น การที่จะเข้าใจความหมายของคำว่า ธรรมเป็นธรรม ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ก็คือ เข้าใจถึงความลึกซึ้งของธาตุที่มีจริงๆ ที่กำลังเห็น ว่าในขณะนี้ขณะใดที่เห็น ไม่ใช่ขณะที่ได้ยิน ได้ยินก็มี ก็เป็นธรรมอีกอย่างหนึ่ง ใครจะเข้าใจว่า ได้ยินเป็นเห็น ไม่ถูกต้องเพราะว่า ได้ยินเสียง ไม่ใช่จะไปเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา

    เพราะฉะนั้น ธรรมอีกอย่าง ๑ ไม่ใช่อย่างเก่าอย่างเดิมที่เห็น แล้วก็ดับไป แต่เป็นธรรมอีกอย่าง ๑ ซึ่งต้องอาศัยหู ที่เราใช้คำว่า หู คือ “โสตปสาทรูป” รูปที่สามารถกระทบเสียงๆ กระทบอย่างอื่นไม่ได้ และรูปนั้นก็กระทบอย่างอื่นไม่ได้ นอกจากรูปนั้นกระทบได้เฉพาะเสียง และเสียงก็กำลังกระทบเฉพาะรูปนั้นด้วย เห็นไหม นี่เป็นสิ่งที่เราไม่เคยรู้ ในความเป็นอนัตตาของธรรมแต่ละ ๑ ซึ่งถ้าไม่ใช่แต่ละ ๑ รวมกันเมื่อไหร่ ก็เป็นเราหรือว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด แต่ที่จะเข้าถึงความเป็นธรรม ซึ่งไม่ใช่ของใคร ก็คือ เข้าใจ สภาพความจริงของธรรมนั้นแต่ละ ๑ ตามความเป็นจริง

    ในขณะที่เสียงปรากฏ จักขุปสาทปรากฏหรือเปล่า เห็นปรากฏหรือเปล่า ต้องมีเสียงปรากฏกับจิตหรือธาตุที่สามารถได้ยิน คือ รู้เฉพาะเสียงนั้น ไม่ใช่เสียงอื่น เสียงมีหลายเสียงใช่ไหม จากไม่มีเสียง และเสียงก็ปรากฏ เพราะจิตได้ยินเกิดขึ้น และเมื่อจิตได้ยินดับ เสียงดับ จะมีการได้ยินเสียงหรือเสียงปรากฏอีกต่อไปไม่ได้ หายไปไหนเสียง อยากติดตามไหม สิ่งที่มีแล้วหมดไป ไปไหน ถ้าใช้คำว่า “ดับ” หมายความว่า ไม่มีเหลือเลย ไม่เหลือสักนิด จะกลายเป็นเสียงเบาๆ ยังเหลืออยู่ก็ไม่ได้ เสียงเป็นเสียง ไม่ว่าเสียงจะดังหรือเสียงจะเบา ปรากฏกับจิตที่ได้ยินเสียงแล้วก็หมดไป ดับไป ไม่กลับมาอีกเลย ๑ ธรรมที่ปรากฏแล้วก็หมดไป แต่ธรรมทุกอย่างที่เกิดขึ้นเป็นอย่างนี้ คือ เกิดแล้วดับไป ไม่เหลือเลย เพราะฉะนั้น ธรรมนั้นจะเป็นเราหรือว่าจะเป็นของเราไม่ได้เลย

    อ.กุลวิไล แล้วไม่ใช่ของเราด้วย อย่างไร

    ท่านอาจารย์ ไม่มี ดับแล้ว ของเราหรือ

    อ.กุลวิไล ไม่ใช่

    ท่านอาจารย์ ก็ชัดเจนอยู่แล้ว อีกอย่างหนึ่งก็คือ พูดถึงเพียง ๒ อย่าง คือ เห็นกับได้ยิน แต่ชีวิตประจำวันจริงๆ ไม่ได้มีเพียงเท่านี้ มีมากมาย ละเอียด เกิดดับสืบต่อ ทุกอย่างเป็นธรรม ซึ่งเกิดเพราะเหตุปัจจัยทั้งสิ้น แต่ว่า อยู่มาในโลกนี้ด้วยความไม่รู้ความจริงของธรรม ว่าเป็นธรรม เพราะฉะนั้น ถ้าไม่มีโอกาสได้ฟังพระธรรม จะไม่สามารถเข้าใจเลยว่า เดี๋ยวนี้เป็นธรรม และทุกอย่างเป็นธรรม

    เพราะฉะนั้น เรื่องของธรรมนี้จะละเอียดมากมายสักแค่ไหน ความติดข้องก็มี ความขุ่นเคืองใจก็มี ความเมตตาก็มี ความสำคัญตนก็มี ทุกอย่างทุกประการตั้งแต่เกิดจนตาย เป็นธรรมทั้งหมด นับไม่ถ้วน เพราะเหตุใด สิ่งหนึ่งสิ่งใดซึ่งมีปัจจัยเกิดแล้วดับแล้วไม่กลับมาอีกเลย ก็ต้องเป็นเพียง ๑ จะซ้ำกันไม่ได้เลย เมื่อเกิดอีก เช่น เสียง เสียงเมื่อสักครู่นี้ดับหมดไม่เหลือเลย เสียงใหม่เกิดแล้ว ดับแล้วๆ ก็ไม่กลับมาอีกเลย

    เพราะฉะนั้น สภาพธรรมทั้งหมดนับประมาณไม่ได้ว่า มีมากมายสักเท่าไหร่ แต่ว่า สามารถที่จะประมวลเป็นประเภทได้ว่า ธรรมที่มีจริง ขณะนี้มีจริงๆ แต่ไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลย ไม่ว่าจะเป็นเสียง เป็นกลิ่น เป็นแข็ง เป็นอ่อน เป็นร้อน เป็นเย็น พวกนี้ไม่รู้อะไรเลยทั้งสิ้น รสหวานมีไหม รสเค็ม รสขม เห็นไหมหลากหลายมาก เพียงรสอย่างเดียว และก็รสที่พรรณนาไม่ถูก บอกไม่ได้จริงๆ ว่า นี่รสอะไร แต่ว่า สามารถที่จะลิ้มรู้รสนั้นได้ ก็เป็นแต่ละหนึ่งๆ ซึ่งเกิดขึ้น และดับไป แล้วจะเป็นของใครเมื่อไม่เหลือเลย

    เพราะฉะนั้น สิ่งที่ปรากฏ ให้ทราบว่า ปรากฏเพียงให้เห็น ปรากฏเพียงให้ได้ยิน ปรากฏเพียงให้รู้ว่า กลิ่นนั้นมีจริงๆ ปรากฏว่า เป็นรสอย่าง ๑ ปรากฏเย็นร้อน อ่อนแข็ง ปรากฏความคิดแต่ละความคิด แต่ละ ๑ ขณะ เพราะเวลาคิด เราไม่ได้คิดเพียงคำเดียว คิดเป็นเรื่องยาว อย่างขณะที่กำลังพูด ก็ต้องมีความคิด และเสียงที่ออกมาก็ต้องตามความคิดนั้นด้วย นี่ก็เป็นสิ่งซึ่งจะมองเห็นได้ว่า แม้แต่เสียงที่หลากหลาย ทุกอย่างก็ต้องเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย ซึ่งไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครเลย เพียงเกิดปรากฏให้รู้ว่า มีแล้วดับไป เท็จหรือจริง หลงว่า มีจริงๆ แต่เท็จเพราะไม่เหลือแล้วก็ยังเสมือนว่า ยังมีอยู่

    เพราะฉะนั้น เหมือนโลกของความลวง เหมือนว่า มีสิ่งนั้นสิ่งนี้อยู่ตลอดเวลา แต่ถ้าเป็นโลกของปรมัตถธรรม โลกของความเข้าใจถูก ก็จะรู้ว่า เป็นลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริง แต่ และ ๑ ซึ่งมีปัจจัยเกิดขึ้นแล้วดับไป แต่ไม่ได้ดับไปเปล่าๆ ยังเป็นที่ตั้งของความติดข้อง ความยินดี เป็นที่ตั้งของความไม่รู้ เป็นที่ตั้งของความขุ่นเคืองใจ

    เพราะฉะนั้น ประโยชน์ของเกิดมาชาติ ๑ แล้วก็เห็นบ้าง ได้ยินบ้าง สิ่งนั้นบ้าง สิ่งนี้บ้าง ตายจากโลกนี้ไป สิ่งต่างๆ เหล่านี้ไม่ได้ตามไปเลย หรือแม้เมื่อปรากฏแล้วดับไป ก็หายไปเลย แต่ไม่รู้ เพราะว่า มีสภาพธรรมที่เกิดดับ ที่ทำให้ปรากฏเหมือนว่า เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ยั่งยืน เพราะฉะนั้น ทั้งหมดก็เป็นที่ตั้งของความไม่รู้ ความติดข้อง นำมาซึ่งอกุศลธรรมทั้งหลาย มาเกิดในโลกนี้กิเลสยังไม่มากเท่านี้ใช่ไหม ตั้งแต่ตอนเป็นเด็กอยู่ไปๆ กิเลสก็เพิ่มขึ้น มากขึ้น และถ้าไม่มีปัญญา ชาติหน้าจะเป็นอย่างไร ก็รู้ได้ว่า จากชาติก่อน กิเลสของชาติก่อนก็มีมาก แต่ก็ยังมาเพิ่มเติมด้วยกิเลสของชาตินี้มากขึ้นอีก และชาติหน้าต่อไปจะเป็นอย่างไร แต่ว่า ผู้ที่มีศรัทธาที่ได้สะสมมาแล้ว มีโอกาสที่จะได้ยิน ได้ฟัง ได้เข้าใจ เพื่อที่จะละความไม่รู้ ละความติดข้อง แต่ต้องรู้ว่า ไม่ใช่โดยรวดเร็ว แต่ต้องเป็นระยะเวลาที่รู้ได้ด้วยตัวเอง ในขณะที่กำลังฟังธรรมว่า มีความเข้าใจสิ่งที่ได้ฟังเดี๋ยวนี้ด้วย ไม่ใช่เพียงเฉพาะเรื่องราว แต่เข้าใจในลักษณะที่เป็นธรรมหรือยัง ถ้ายัง ก็ยังไม่ถึงการที่จะรู้จักธรรม เพียงแต่ได้ยินว่า เป็นธรรม ทั้งๆ ที่ธรรมก็กำลังมี แต่ปัญญาไม่ถึงการที่จะเข้าใจสภาพธรรมซึ่งมีลักษณะนั้นปรากฏแล้วก็หมดไป ก็เป็นเรื่องของการอบรมความรู้

    อ.กุลวิไล เชิญคุณหมอศรีพธู

    ผู้ฟัง ท่านบอกว่า ให้ละฉันทะในสิ่งนั้นเสีย เป็นอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ขอเชิญคุณอรรณพ

    อ.อรรณพ คุณหมอพอใจที่มีตาไหม

    ผู้ฟัง พอใจ

    อ.อรรณพ ไม่มีใครอยากที่จะตาบอดใช่ไหม เพราะฉะนั้น นี่คือ ฉันทะ คือความพอใจ ซึ่งเกิดพร้อมโลภะด้วย จะรวมทั้ง ๒ สภาพเรียกว่า มีฉันทราคะในตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็ได้ เพราะฉะนั้น ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นแหล่งเกิดของสภาพธรรม อยากมีตาไว้เพื่อที่จะได้มีการเห็น แล้วก็พอใจจากสิ่งที่เห็น พอใจที่จะมีหูไว้เพื่อจะให้มีการได้ยิน แล้วก็มีความพอใจในสิ่งที่ปรากฏทางหูที่น่าพอใจ มีจมูก มีลิ้น มีกาย ก็เหมือนกันที่จะได้พอใจในกลิ่น รส โผฏฐัพพะ ที่น่าพอใจ มีใจไว้ก็พอใจที่จะมีจิต มีใจไว้เพื่อที่จะได้คิดนึกอะไรไปตามที่มีความสุข ถูกไหม ไม่ได้หมายความว่า ให้ปิดตา ปิดหู เพราะคนที่เขาปิดตา ปิดหู มีความเข้าใจอะไรหรือเปล่า เข้าใจไหมว่า ตา หู ไม่เที่ยง เข้าใจไหมว่า ตา หู เป็นทุกข์ เข้าใจไหมว่า ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นอนัตตา เกิดตามเหตุตามปัจจัย เพียงแค่เอามือปิดตา เอาอะไรมาปิดหู ก็มีแต่ความไม่รู้ ใช่ไหม แต่เป็นปัญญาที่รู้ตามความเป็นจริงว่า สิ่งเหล่านี้เป็นธรรมที่เกิดขึ้นแล้วดับ จึงจะคลายความยินดี พอใจ ติดข้อง คือ ฉันทราคะในสภาพธรรมเหล่านี้

    ท่านอาจารย์ ก็ขอร่วมสนทนากับคุณหมอ พอทราบว่า มีความยินดีในตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ในทุกอย่างควรละ คุณหมอพอใจที่จะละไหม

    ผู้ฟัง ไม่อยากละ

    ท่านอาจารย์ ไม่อยาก แปลว่า ไม่ต้องการ เป็นโทสะ ละไม่ได้ ต้องรู้ว่า ขณะนี้ เป็นโลภะ เป็นความติดข้องหรือเปล่า หรือเป็นอะไร เมื่อรู้ว่า เป็นธรรมจึงละความเป็นเราก่อน ไม่ใช่ว่า จะละโลภะ โทสะ ได้ทันที แต่ว่า เพราะไม่รู้ความจริงจึงยึดถือว่า เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ซึ่งเป็นความเห็นผิดตั้งแต่ต้นว่า สิ่งนั้นมี และเที่ยง ยั่งยืน ไม่เกิดดับ ถูกไหม สิ่งนั้นกำลังเกิดดับ แต่เห็นว่าไม่เกิดดับ

    เพราะฉะนั้น ถ้าจะละก็คือ ละความไม่รู้ความจริงว่า เป็นธรรม ไม่ใช่เป็นเรา เพราะฉะนั้น เวลาที่อ่านพระสูตร แล้วก็มีข้อความดูเหมือนจะไม่ยาก ละความยินดีใน ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็ต้องรู้ตามความเป็นจริงว่า ฟังอย่างนี้จะละ พอใจที่จะหรือเปล่า ถ้าเป็นพอใจ อยากละเหลือเกิน เป็นโลภะหรือว่าเป็นปัญญา ไม่ได้มีความเข้าใจอะไรเลย

    เพราะฉะนั้น ต้องเข้าใจความละเอียดด้วย ประการแรกก็คือว่า ต้องมีความเข้าใจที่มั่นคง ว่าทุกอย่างเป็นธรรม เพียงแค่นี้ไม่ง่าย เพราะว่า ไม่เคยเห็นว่า เป็นธรรมมาเลยใช่ไหม ที่จะมาเข้าใจ แต่ละ ๑ ของธรรมว่า เป็นธรรมจริงๆ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ก็ต้องอาศัยการฟัง ถ้ามีความเข้าใจถูกต้อง กว่าจะละคลายความเป็นเรา ไม่ง่าย และไม่เร็ว และยังจะต้องละความติดข้องอีก

    เพราะฉะนั้น ทั้งหมดเป็นเรื่องของปัญญา ถ้าไม่ใช่ปัญญา ก็ไม่สามารถที่จะเข้าใจถูก เห็นถูก ในสภาพธรรมตามความเป็นจริง แม้แต่เพียงได้ยินเท่านี้ อยากจะละหรือเปล่า จริงๆ หรือว่าอาหารก็ยังอร่อย เสียงก็ยังเพราะ รูปก็ยังสวย ทุกอย่างก็ยังสนุก จะละไปทำไม บางคนก็อาจจะคิดอย่างนี้ เพราะไม่เข้าใจเลยจริงๆ ทุกอย่างชั่วคราว เล็กน้อย สั้นเกินกว่าที่เราคิด


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 184
    12 ม.ค. 2567