พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 728


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๗๒๘

    ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๑๒ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๔


    อ.กุลวิไล กราบเรียนท่านอาจารย์ขยายความอีกครั้ง เพราะว่าทั้งหมดเป็นธรรม แล้วดูเหมือนว่า ทุกคนก็ยังเห็นว่า มีสัตว์ บุคคล ตัวตน แล้วทำไมหนีสัตว์เหล่านั้นได้ แต่หนีธรรม หนีไม่พ้น

    ท่านอาจารย์ ถ้ากล่าวว่า ทั้งหมดเป็นธรรมก็เป็นคำตอบชัดเจน เพราะฉะนั้น ส่วนใหญ่ฟังแล้วไม่ได้ไตร่ตรอง ก็คิดเรื่องโน้นเรื่องนี้ แต่ว่าถ้ามีความเข้าใจที่มั่นคงจริงๆ ว่า ทุกอย่างเป็นธรรม จะหนีไปพ้นไหม ไม่ว่าอะไรทั้งหมด

    อ.กุลวิไล ไม่พ้น

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงพระธรรม เพื่อให้รู้จักสิ่งที่มีในขณะนี้ตามความเป็นจริง ไม่ใช่อยู่กับสิ่งที่เราไม่รู้เลย และก็อยู่ตั้งแต่เกิดจนตายทุกชาติแต่ก็ไม่รู้เลย เพราะฉะนั้น ก็ควรที่จะรู้จริงๆ ว่า อยู่กับอะไร แล้วอยู่กับมิตรหรือว่าอยู่กับศัตรู เมื่อพูดอย่างนี้คิดถึงข้างนอกเลยใช่ไหม แต่ความจริงไม่ใช่เลย มิตรอยู่ที่ไหน ศัตรูที่แท้จริงอยู่ที่ไหน เพราะฉะนั้น การที่จะหลบหลีกเลี่ยงภัยอันตรายต่างๆ เพราะเป็นศัตรู ก็จะต้องมีปัญญาที่รู้ตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้น ขณะนี้มีสิ่งที่มี ก็เป็นการพิสูจน์ว่ารู้จัก และเข้าใจสิ่งที่มีในขณะนี้มากน้อยแค่ไหน หรือว่ายังไม่รู้จักเลย

    อ.กุลวิไล แล้วที่น่ากลัวไม่ใช่ศัตรูภายนอก เราอาจจะกลัวบุคคลที่มาทำร้ายเรา หรือภัยพิบัติธรรมชาติ แต่ศัตรูภายใน คือ กิเลสนั่นเอง

    ท่านอาจารย์ กลัวศัตรูภายนอก แต่ไม่เคยกลัวศัตรูภายใน ก็ลองคิดดู แล้วจะถูกศัตรูทำร้าย โดยไม่รู้ตัวเลยว่า เมื่อไหร่ เดี๋ยวนี้ได้ไหม ได้ ทำร้ายบ่อยๆ ก็ไม่รู้ด้วยซ้ำไป

    อ.กุลวิไล กราบเรียนถึงสัจจะที่เป็นปรมัตถสัจจะ คือ สัจจะที่เป็นสิ่งที่มีจริง กับสัจจะที่ชาวโลกสมมติ เพราะว่าสิ่งนี้ท่านอาจารย์ก็เตือนเป็นประจำว่า ถ้าเราไม่มีความเข้าใจธรรม ก็ดูเหมือนว่าเราจะเต็มไปด้วยความไม่รู้ อยู่ในโลกของสมมติบัญญัติมากมายโดยไม่รู้ธรรมที่เป็นจริง เพราะฉะนั้น ในโลกนี้ถึงแม้นว่าจะมีการสมมติที่เป็นจริง แต่ทั้งหมดก็ไม่พ้นธรรมที่เป็นปรมัตถสัจจะ

    ท่านอาจารย์ ก่อนศึกษาธรรมทราบไหมว่าขณะนี้เป็นธรรม แต่ว่ารู้จักไปหมดเลย โต๊ะ เก้าอี้ ดอกไม้ ต้นไม้ คนนั้น คนนี้ ก็รู้จักหมด ก็แสดงให้เห็นว่ายังไม่รู้จักธรรม เพราะฉะนั้นธรรมที่มีจริงแน่นอน แต่ไม่รู้จัก รู้จักแต่เพียง “นิมิต” และการรู้ว่า สิ่งนั้นเป็นอะไร และมีการจำโดยการสมมติว่า เข้าใจกันได้ว่าเป็นหญิง เป็นชาย เป็นดอกไม้ เป็นต้นไม้ ก็เข้าใจว่า นั่นเป็นสิ่งที่มีจริง เพราะฉะนั้น บางคนถ้าจะบอกเขา ถามเขา ว่า “เก้าอี้จริงหรือไม่?” บอกเขาว่า เห็นอะไร เห็นสิ่งที่ปรากฏ แล้วก็มีนิมิต รูปร่างสัณฐาน แล้วก็รู้ว่า รูปร่างสัณฐานนั้นเป็นอะไร ใช้อะไรได้ นั่งก็ได้ใช่ไหม แม้ว่าไม่ต้องจะ ("จะ") เรียกชื่อ นั่นก็คือ การรู้ว่าจริงๆ แล้วก็คือ รู้ว่า มีโต๊ะ มีเก้าอี้ แต่ไม่รู้ว่า มีธรรม เพราะฉะนั้น ก็เป็นสิ่งที่เพียงเข้าใจเผินๆ ว่า โต๊ะมีจริง บอกเขาว่า “เป็นธรรม” เขาก็ไม่รู้ว่าโต๊ะเป็นธรรมอย่างไร เพราะว่า ไม่เคยฟัง

    อ.อรรณพ เราสนทนาเพื่อความเข้าใจพื้นฐานพระอภิธรรม ปรมัตธรรมแรกคือ “จิตปรมัตถ์” ท่านอาจารย์กล่าวว่า ถ้าเปิดจิตได้จะเห็นอะไรบ้าง

    ท่านอาจารย์ ข้อสำคัญยังไม่รู้จักจิต เลยไม่รู้จะเปิดอะไร ใช่ไหม ก่อนอื่น การฟังธรรมเป็นเรื่องละเอียดลึกซึ้ง และเป็นพระธรรมที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ และทรงแสดง แล้วความละเอียดลึกซึ้งนี้ถ้าเราฟังเผินๆ มากมายจะไม่เข้าใจเลยใช่ไหม แต่ถ้าเราค่อยๆ พิจารณาจนกระทั่งเป็นความเข้าใจ ไม่เผิน และไม่ข้ามคำที่เราได้ยิน เพื่อที่จะได้รู้ว่า ฟังเพื่อเข้าใจคำนั้นจริงๆ เช่น คำว่า “บัญญัติ” ที่คุณอรรณพกล่าวมาทั้งหมดนี้เป็นบัญญัติหรือเปล่า

    อ.อรรณพ เป็น

    ท่านอาจารย์ เป็น เห็นไหม เป็นชื่อ เป็นคำ ใช้เรียกสภาพธรรมที่มีจริง ใช้พูดเพื่อให้เข้าใจความหมาย เพราะฉะนั้น ถ้าไม่มีจิต จะมีบัญญัติไหม เห็นไหม แม้แต่เพียงบัญญัติเราก็ต้องรู้ว่า เป็นสิ่งที่จิตคิด "เห็น" ไม่ได้มีบัญญัติอะไรเลย เพราะมีสิ่งที่ปรากฏให้เห็น เพราะฉะนั้น จิตเห็นก็ทำกิจเห็นแล้วก็ดับไป นี่คือ ความละเอียดของสภาพธรรมแต่ละอย่าง ถ้าไม่มีจิต มีรูปไหม นี่คือ คิด คิดจนกระทั่งสามารถที่จะเข้าใจความต่างของปรมัตถธรรม ไม่ว่าจิตก็ต่างกับเจตสิก จิตเจตสิกก็ต่างกับรูป จิตเจตสิก รูปก็ต่างกับนิพพาน เพราะฉะนั้น การที่มีชื่อต่างๆ เพื่อให้เข้าใจสิ่งที่มีแน่นอน เพราะฉะนั้น ถ้าไม่มีจิต บัญญัติมีไหม ไม่มี แต่ถ้าไม่มีจิต รูปมีไหม

    อ.อรรณพ ถึงมีก็ไม่ปรากฏ

    ท่านอาจารย์ มีก็ต้องมี จะให้รูปไม่เกิด ได้หรือ?

    อ.อรรณพ มี รูปก็เกิดตามปัจจัย

    ท่านอาจารย์ รูปกับนามแยกกันโดยประการทั้งปวง โดยสิ้นเชิง นี่คือ การฟังธรรม ไม่ใช่ฟังเหมือนรู้แล้ว แต่ว่ารู้จริงๆ หรือเปล่า ถ้ารู้จริงก็คือว่า เข้าใจสิ่งที่ได้ฟังแน่นอนว่า รูปธรรมมี แต่ไม่ใช่สภาพรู้ ถึงไม่มีจิต มีรูปไหม

    อ.อรรณพ มี

    ท่านอาจารย์ รูปก็มี แต่รูปนั้นไม่มีจิตที่กำลังรู้ จึงไม่ใช่อารมณ์ของจิต เพราะว่า จิตเกิดขึ้นเป็นธาตุรู้ ต้องมีสิ่งที่จิตรู้ ธรรมปฏิเสธไม่ได้ถึงความตรง และความจริง เมื่อเป็นสภาพรู้เกิด ต้องมีสิ่งที่ถูกรู้ อะไรก็ได้ที่จิตกำลังรู้เป็นอารมณ์ของจิต ในภาษาไทยใช้คำว่า “อารมณ์” แต่ถ้าพูดตามภาษาบาลีก็ต้องเป็น “อารัมมณะ” หรือ “อาลัมพนะ” เพราะฉะนั้น ถึงไม่มีจิตก็มีรูปได้ ไม่มีจิตมีบัญญัติได้ไหม เห็นไหม นี่คือความต่างกัน เพราะฉะนั้น ที่เราคิดว่า เป็นคนแล้วเราบอกว่า เห็นรูป ก็ต้องรู้ว่า ขณะที่เป็นรูป เป็นสิ่งที่มีจริง และกำลังเป็นอารมณ์ของจิต รูปเป็นอารมณ์ของจิตหรือคนเป็นอารมณ์ของจิต นี้คือ ความละเอียดขึ้นๆ ซึ่งจะทำให้เราเข้าใจอย่างมั่นคงในสิ่งที่เราได้ยินได้ฟัง เพราะรูปเป็นสิ่งที่มีจริง เกิดเพราะสมุฏฐาน แล้วแต่ว่าเกิดจากอุตุ ความเย็น ความร้อน ต้นไม้ ใบหญ้า ภูเขา ก็แล้วแต่ ก็เป็นรูปที่เกิดเพราะอุตุ ไม่มีใครไปบันดาลใครไปทำให้เกิดขึ้น แต่ถ้าจิตไม่รู้ แม้รูปนั้นมี ก็ไม่ใช่อารมณ์ของจิตที่กำลังรู้รูปนั้น

    เพราะฉะนั้น ต้องฟังให้เข้าใจจริงๆ ว่า รูปมี จิตยังไม่รู้เลย รูปก็เป็นรูป แต่เมื่อจิตรู้รูปหนึ่ง รูปใด การเกิดดับอย่างเร็วมากของจิต เจตสิก และรูป ไม่สามารถที่จะรู้ความจริง ทั้งๆ ที่จริงว่า รูปขณะที่กำลังปรากฏก็เกิดดับ และจิตที่กำลังรู้รูปก็คิดเรื่องต่างๆ ด้วยก็เกิดดับด้วย เพราะฉะนั้น สภาพธรรมใดก็ตามที่เกิด สภาพธรรมนั้นแหละที่เกิดดับ ไม่ใช่สภาพธรรมนี้เกิดแล้วสภาพธรรมอื่นดับ แต่สภาพที่เกิดนั้นแหละดับ และเกิดดับอย่างเร็วด้วย และเปลี่ยนแปลงลักษณะไม่ได้ จึงใช้คำว่า “ปรมตฺถธมฺม” จิตก็เป็นจิต เกิดเป็นจิต เวลาดับก็จิตนั้นดับ รูปก็เป็นรูป เกิดเป็นรูป และรูปที่เกิดนั้นแหละ รูปนั้นดับ และรูปก็ไม่ใช่จิต แต่ว่า เมื่อจิตรู้รูปซึ่งเกิดดับสืบต่ออย่างรวดเร็ว ปรากฏเป็น “นิมิตฺต” ให้เห็นรูปร่างสัณฐาน ถ้าไม่มีจิต “นิมิตฺต” มีได้ไหม

    อ.อรรณพ ถ้าไม่มีจิต ก็ไม่มีการรู้นิมิต

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่มีจิตจะมี “นิมิตฺต” ไม่ได้เลย ถึงแม้ว่า รูปจะเกิดดับสืบต่ออย่างเร็วสักเพียงใด ก็ยังคงเป็นรูปที่ไม่มีใครรู้ แต่ที่ปรากฏให้รู้ว่า เป็นสิ่งนั้น สิ่งนี้ เพราะการเกิดดับสืบต่อนั้นเป็น “นิมิตฺต” เมื่อจิตรู้ แต่ถ้าจิตไม่รู้ก็ไม่มีนิมิตใดๆ เลยทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น จิตเห็นกำลังเห็น เร็วมาก เกิดดับสืบต่อหลายวาระนับไม่ถ้วน ปรากฏเป็น “นิมิตฺต” มากมายไหมเดี๋ยวนี้ นี่คือ การเกิดดับสืบต่ออย่างเร็วของจิต สามารถที่จะค่อยๆ เข้าใจ และรู้ความจริงว่า ไม่ใช่ของใคร เป็นลักษณะของธรรมแต่ละอย่าง มีปัจจัยเกิดขึ้นแล้วก็ดับไปทั้งนั้นเลย

    เพราะฉะนั้น เมื่อจิตรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใดอย่างรวดเร็ว การเกิดดับสืบต่อของรูป ก็เป็นนิมิตที่ทำให้จิตเห็นเป็นสิ่งต่างๆ จึงรู้สิ่งนั้นโดยประการนั้นๆ ที่ปรากฏเป็นบัญญัติต่างๆ ไม่ต้องเรียกชื่อก็ได้ เช่น นก สุนัข เสือ งู เห็น จะต่างกับมนุษย์เห็นไหม มั่นใจว่า ต่างหรือไม่ต่าง ไม่ต่าง เพราะจิตเห็นเป็นจิตเห็น ไม่ใช่ของใคร มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยเท่าไหร่ ไม่ว่าจะเป็นเทพ พรหม หรือนรก เดรัจฉาน เห็นเป็นเห็น มีเจตสิกที่เป็นปัจจัยทำให้เกิดเท่ากันหมด เห็นแล้วจิตอื่นเกิดสืบต่อหรือไม่?ก็ไม่ใช่ใครอีก ไปบัญญัติว่า อย่าสืบต่อก็ไม่ได้ ใช่ไหม เป็นนิยาม เป็นปัจจัยที่เป็นอนันตรปัจจัย ทันทีที่จิตนั้นดับก็เป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิดสืบต่อตามลำดับ (จึงสิ่งที่ปรากฏ) และ จิตที่กำลังรู้นั้นก็รู้นิมิตของสิ่งนั้น ซึ่งเกิดสืบต่ออย่างเร็วมาก

    เพราะฉะนั้น สัตว์หรือใครก็ตามต่างกันที่รูปร่าง เทวดา มนุษย์ นก จิ้งจก ตุ๊กแก งู ทั้งหมด จิตเห็นเป็นเห็น พอจิตเห็นดับไปแล้ว จิตที่เกิดดับสืบต่อก็รู้นิมิตเหมือนกัน แต่ว่า เมื่อรู้นิมิตแล้วก็ยังมีบัญญัติด้วย เพราะว่า แต่ละสัตว์จะต้องรู้ว่า สิ่งนั้นเป็นอะไร กินได้ไหม เป็นอาหารได้ไหม แต่สำหรับมนุษย์มากกว่านั้นมาก ถ้าเกิดในอบายภูมิ ภูมิที่ไม่สามารถที่จะอบรมความเจริญทางด้านกุศลใดๆ ได้ ขณะนั้นก็เป็นเปรตบ้าง เป็นอสูรกายบ้าง เป็นสัตว์เดรัจฉานบ้าง เกิดในนรกบ้าง แต่ว่า ถ้าสามารถที่จะเปิดดูจิต แต่ละจิตนี้สะสมมาไม่เหมือนกันเลย อย่างพระเทวทัตขณะนี้อยู่ในอเวจีมหานรก จิตของท่านสะสมอะไรมา จากการที่เป็นสหายในชาติก่อนๆ จนกระทั่งได้เป็นพระญาติในชาติที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เป็นถึงญาติ ใกล้ชิดมาก แต่ต่างกันมากไหม บุคคลหนึ่งตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า อีกบุคคลหนึ่งก็กำลังอยู่ในอเวจีมหานรก

    เพราะฉะนั้น จะรู้การสะสมของแต่ละบุคคลไม่ได้เลย สิ่งที่มีที่เกิดขึ้นในสังสารวัฏฏ์ ไม่ว่าจะเป็นกุศลใดๆ อกุศลใดๆ สะสมอยู่เพราะเป็นนามธาตุ ไม่มีรูปร่างที่จะปรากฏสีสันให้รู้ว่าเป็นอะไร ว่าเป็นโลภะสะสม โทสะสะสม กุศลสะสม ปัญญาสะสม แต่ก็มีอยู่ในจิตนั้น เมื่อถึงกาลที่จะเกิดก็เกิดได้ ใครที่จะคิดริษยาพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่น่าจะคิดได้เลย คิดไม่ถึง แต่ก็มีตามการสะสม ซึ่งเป็นเหตุปัจจัย บังคับบัญชาก็ไม่ได้ เมื่อมีปัจจัยที่จะเกิดก็เกิด จึงไม่ควรประมาทอกุศลแม้เพียงเล็กน้อย เกิดแล้วก็สะสมๆ มาก จนกระทั่งถึงริษยาแม้ผู้ที่ประเสริฐสุดเป็นถึงพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าได้

    เพราะฉะนั้น จะเปิดจิตไม่มีทางด้วยกำลังของมือ แต่ว่าเมื่อสิ่งใดเกิดขึ้นเพราะได้สะสมอยู่ในจิต และก็มีปัจจัยที่จะเกิดก็เกิดปรากฏ เมื่อปรากฏก็รู้ว่า มีปัจจัยที่จะทำให้สิ่งนั้นเกิด ชอบรูปสวยๆ ไหม ชอบเสียงเพราะๆ ชอบกลิ่นหอม ชอบอาหารอร่อย ชอบสัมผัสที่สบาย เพราะยังมีความติดข้อง ความไม่รู้ความจริงของรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ แต่ก็ฟังธรรม อย่างเมื่อวานนี้ อายุ ๖ ขวบ คุณแม่ฟังธรรม มนสิการที่เราใช้คำว่า “โยนิโส” ไม่ต้องมีใครไปทำ เขาเองก็ไม่ต้องคิดที่จะทำ แต่ว่าตั้งจิตไว้ชอบด้วยการสะสมมาที่เป็นฝ่ายกุศล ทำให้บอกคุณแม่ว่า เปิดดังๆ หน่อย ขอฟังด้วย อายุ เพียง ๖ ขวบ แต่ว่าใครรู้จิตที่สะสมมาในแสนโกฏิกัปป์ วันหนึ่งสิ่งที่มี จะค่อยๆ เหี่ยวแห้งอับเฉาไป ไม่เจริญเติบโตเลยในชาตินั้น หรือว่าจะงอกงามขึ้นมากมายก็ต้องแล้วแต่เหตุปัจจัย ข้อสำคัญที่สุด คือ ไม่ประมาท ฟังพระธรรมเพื่อเข้าใจจริงๆ ไม่ใช่ฟังเหมือนเข้าใจ แต่ว่าฟังแล้วพิจารณา และไตร่ตรองด้วยความเข้าใจในสภาพธรรมที่มีจริงๆ คือ จิต เจตสิก รูป และนิพพาน นิพพานไม่ใช่จิต เจตสิก รูป เพราะจิต เจตสิก รูปเกิดแล้วก็ดับ แต่นิพพานไม่มีปัจจัยใดๆ ที่จะทำให้เกิด ที่เคยได้ยินการสนทนาธรรมที่มูลนิธิฯ การเกิดภพ ภวะ เปรียบประดุจหลุมถ่านเพลิง แค่เกิด ๑ ขณะจิต ปฏิสนธิเหมือนหลุมถ่านเพลิง ใครจะเข้าใจได้ แต่ว่าความจริงถ้าเห็นภาระของขันธ์ เมื่อมีแล้วที่จะไม่ให้เป็นไป ไม่ได้เลย วันนี้ทำภาระอะไรมาบ้างแล้ว ถ้าไม่มีภาระนั้นเลยจะดีกว่าไหม และภาระที่เกิดขึ้นที่ได้ทำแล้วในวันนี้ ก็ไม่ใช่ทุกข์มากมายมหาศาลสำหรับบางคน แต่สำหรับบางคน เป็นอัมพาต พิการ อาหารไม่มี เพื่อนไม่มี ทุกสิ่งทุกอย่างทั้งหมดไม่มี ความทุกข์ของชีวิตในชาตินี้จะสักแค่ไหน เพราะฉะนั้น หลุมถ่านเพลิงถ้ามีจริงๆ ก็คือว่า โลภะ โทสะ โมหะ ฝ่ายอกุศลทำให้ติดข้อง เพราะเหตุว่า ผู้ที่เป็นพระอริยบุคคลที่หมดกิเลสแล้ว ไม่ลำบากอย่างคนอื่นเลย เพียงมีที่อยู่อาศัย จะเป็นป่า เป็นถ้ำ เป็นที่ไหนก็ได้ เรือนว่าง แล้วก็มีเสื้อผ้าที่ปกปิดร่างกายกันความละอาย และกันทุกข์ต่างๆ ที่จะเกิดเพราะไม่มีอะไรสวมใส่ งูก็กัด มดก็กัด เป็นต้น ก็เพียงสามผืน พอไหม แสวงหาได้โดยการที่ว่า ผ้าที่ใคร ทิ้งแล้วไม่ใช่ ก็เอามาเป็นประโยชน์ เอามาเย็บ เอามาย้อม แล้วก็ใช้ได้ ไม่เดือดร้อนเลย ที่อาศัย เสื้อผ้า และอาหาร จำเป็นมาก ในภพภูมิที่ยังต้องรับประทานอาหารเป็นคำๆ ที่ภาษาบาลีใช้คำว่า “กพฬีการาหาร ” แต่ว่า ถ้ามีกิเลสมาก เดือดร้อนมากไหม ที่จะหาภาระในการรับประทาน และแต่ละขณะซึ่งเป็นทุกข์ เหมือนหลุมถ่านเพลิง ร้อนเพราะความต้องการ ร้อนเพราะโทสะ ร้อนเพราะโมหะ ไม่เห็นเลย

    เพราะฉะนั้น จึงอยู่สบายๆ คิดว่า ในหลุมนี้ก็พออยู่ได้ ไม่คิดเห็นเลยว่า เป็นโทษ แต่ผู้ที่เห็นโทษ เห็นการเกิดเป็นทุกข์ ถึงจะรู้ว่า ทุกข์ตั้งแต่เกิดจนตายซึ่งหนีไม่พ้นเลย เพราะว่า ตายแล้วก็ยังต้องเกิดอีก เป็นทุกข์ของสังสารวัฏฏ์ เพราะฉะนั้น การฟังธรรมไม่ใช่เพื่ออยากจะเป็นอย่างนั้นเร็วๆ หรือว่าอยากจะมีปัญญามากๆ แต่ฟังเพื่อเข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏ เพราะเหตุว่า ทำไมต้องพูดเรื่องอย่างนี้ ก็เพราะเหตุว่า ถ้าไม่มีสิ่งที่กำลังเกิดปรากฏในขณะนี้ อะไรๆ ก็ไม่มี แต่เมื่อมีสิ่งที่กำลังปรากฏแล้วติดข้องเพราะความไม่รู้ แล้วเมื่อไหร่จะพ้นไปจากหลุมถ่านเพลิงได้ แต่ต้องเป็นปัญญาที่เริ่มเห็นธรรมตามความเป็นจริงมั่นคงขึ้น จึงจะเข้าใจความหมายของคำว่า “ภพ” หรือ การเกิดเป็นหลุมถ่านเพลิง จะเปิดจิตของใคร ของคนอื่นไม่ได้เลย ของตัวเองก็ไม่ได้ ต่อเมื่อไรมีอะไรเกิดขึ้นก็รู้ตามความเป็นจริงว่า สิ่งที่เกิดทำให้เห็น เหมือนกับโผล่มาให้เห็นเพียงเล็กน้อยของการสะสมทั้งฝ่ายกุศล และทางฝ่ายอกุศล

    ผู้ฟัง ถ้ากล่าวถึงการเห็น เห็นเพียงสิ่งเดียวเท่านั้น ไม่ได้เห็นนิมิต

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่มีปรมัตถธรรม นิมิตมีไหม

    ผู้ฟัง ไม่มี

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น เดี๋ยวนี้กำลังรู้ปรมัตถธรรม ๑ หรือเปล่า

    ผู้ฟัง ขณะนี้กำลังรู้ปรมัตถธรรม ๑

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่เลย ดับแล้ว เพราะฉะนั้น สิ่งที่ปรากฏเป็นนิมิต เป็นการเกิดดับสืบต่อของแต่ละ ๑ จนเป็นรูปร่างสัณฐาน หรือว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ปรากฏให้รู้ว่า ไม่ได้ดับ เพราะฉะนั้น นิมิตไม่ได้ดับ แต่จิตเกิดดับสืบต่อ

    ผู้ฟัง เรียนถามลักษณะของรูปารมณ์

    ท่านอาจารย์ กำลังปรากฏเดี๋ยวนี้ขณะเห็น ไม่ต้องเรียกเลย ไม่ใช่เสียงใช่ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ใช่

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่กลิ่นใช่ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ใช่

    ท่านอาจารย์ นี่แหละคือ ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏให้เห็นได้ ตาบอดก็ไม่เห็นแล้ว เพราะฉะนั้น เมื่อตาไม่บอด และเมื่อจิตเห็นเกิด ก็มีสิ่งที่ปรากฏให้เห็น ใช้คำเรียกสิ่งนั้นว่า “รูปารมณ์” หรือ “รูปารัมมณะ” หรือไม่เรียกก็ได้ สิ่งนั้นก็ปรากฏในขณะที่เห็น ต้องเห็นอย่างนี้ ไม่ใช่เห็นเสียง ไม่ใช่เห็นกลิ่น ถ้าไม่มีการเห็นเลย แล้วได้ยินคำว่า “รูปารมณ์” และบอกว่า เป็นสิ่งที่เห็นได้ คุณสุกัญญาไม่มีโอกาสจะรู้เลยว่า รูปารมณ์เป็นอย่างไร และก็จะพยายามไตร่ตรองให้เข้าใจสักเท่าไหร่ก็ไม่มีโอกาสที่จะรู้ แต่คิดว่า รูปารมณ์เป็นอย่างนี้ มีลักษณะอย่างนี้ คือ ปรากฏให้เห็นได้ ในเมื่อตาบอด แต่ขณะนี้มีสิ่งที่ปรากฏกับจิตเห็น ต้องเรียกไหมว่า รูปารมณ์ ต้องไปนั่งฟังคำอธิบายเรื่องลักษณะต่างๆ หรือไม่ต้องเพราะกำลังปรากฏอยู่แล้ว สิ่งนี้ ที่กำลังปรากฏนี้เป็นธรรมอย่างหนึ่ง มีอยู่ในมหาภูตรูปทุกรูปทุกกลาป จะมีสิ่งที่สามารถกระทบจักขุปสาท ปรากฏให้เห็นได้ว่าเป็นอย่างนี้ แต่ไม่ใช่แข็ง แต่เป็นสิ่งที่กระทบจักขุปสาทแล้วปรากฏเป็นอย่างนี้ที่กำลังเห็น ชื่อนี้อาจจะปิดบัง จนกระทั่งเหมือนไม่รู้จักรูปารมณ์ ไม่เห็นรูปารมณ์ แต่สิ่งที่ปรากฏเดี๋ยวนี้เมื่อเห็นนั่นแหละ ไม่เรียกอะไรเลยก็เป็นธรรมอย่างนั้น ที่สามารถจะกระทบจักขุปสาท และเวลาจิตเห็นก็เห็นสิ่งนี้ไม่ไปเห็นอย่างอื่น จิตเห็นเกิดเมื่อไหร่ก็ต้องเห็นสิ่งที่ปรากฏให้เห็นได้อย่างนี้

    ผู้ฟัง การที่จะเข้าใจลักษณะของรูปารมณ์ จะต้องรู้จักจิตเห็นก่อนหรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ ขณะนี้มีแล้วไม่ต้องไปทบทวน เอาจิตเห็นไหนก่อนมารู้ แต่มีสิ่งที่ปรากฏแน่ๆ แต่ปรากฏกับอะไร ถ้าจิตไม่เกิดขึ้นเห็น สิ่งนี้จะปรากฏได้ไหม นี่คือ ความน่าอัศจรรย์ของธรรมซึ่งเกิดดับอย่างรวดเร็ว ทำให้หลง และยึดมั่นว่า “เรา” พอพูดถึง “เรา” เข้าใจได้ แต่พอพูดถึงธรรมทีละหนึ่งๆ ไม่เข้าใจ

    ผู้ฟัง พอศึกษาธรรม ความเข้าใจลักษณะของรูปารมณ์นับว่าเป็นสิ่งสำคัญ

    ท่านอาจารย์ เปลี่ยนจากรูปารมณ์ทางตามาเป็นแข็ง

    ผู้ฟัง เข้าใจได้

    ท่านอาจารย์ และสิ่งที่ปรากฏทางตาก็เหมือนกัน เพียงแต่ว่า ขณะนั้นไม่รู้แข็งแต่รู้สิ่งที่กำลังปรากฏ จะใช้คำว่า ทางตาหรือไม่ทางตาก็ได้ แต่มีสิ่งที่ปรากฏที่จิตกำลังรู้ จิตกำลังรู้แข็ง แข็งปรากฏฉันใด จิตกำลังเห็นก็มีสิ่งที่ปรากฏให้เห็น คือ เดี๋ยวนี้เป็นรูปอย่างหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่แข็ง


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 184
    12 ม.ค. 2567