พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 726


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๗๒๖

    ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๑๒ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๔


    ท่านอาจารย์ ธรรมไม่ใช่เป็นเรื่องที่เราจะรีบร้อนผ่านไป แม้แต่คำแรกที่ได้ฟัง ธรรม คือสิ่งที่มีจริงๆ ขณะที่ได้ฟังก็เริ่มเข้าใจขึ้น และสิ่งที่มีจริงก็กำลังปรากฏด้วย เพราะฉะนั้น แม้ว่ากำลังปรากฏได้ค่อยๆ เข้าใจความจริงว่า ขณะนี้สิ่งที่ปรากฏให้เห็นได้ ไม่ใช่อ่อน ไม่ใช่แข็ง ไม่ใช่เสียง ไม่ใช่กลิ่น แต่เป็นธรรมอย่างหนึ่งที่มีจริง เพราะกำลังปรากฏ และก็ไม่ต้องใช้คำว่า รูป แต่สิ่งนี้ไม่รู้อะไร เพราะฉะนั้น การศึกษาธรรมก็ศึกษาให้เข้าใจสิ่งที่มีจริง แล้วก็เริ่มเข้าใจ ในความเป็นธรรมแต่ละอย่าง ไม่ใช่จำชื่อ

    อ.กุลวิไล ท่านเขียนมา ๔ ข้อด้วยกันว่า รู้ชัดในรูปในความเป็นขันธ์ รู้ชัดในรูปโดยความเป็นธาตุ รู้ชัดในรูปโดยความเป็นอายตนะ รู้ชัดในรูปโดยความเป็นปฏิจจสมุปบาท

    ท่านอาจารย์ ยังไม่ได้รู้ชัดสักอย่าง แต่ว่ามีชื่อแล้ว เพราะฉะนั้น คำว่า ธาตุ ก็กล่าวแล้ว เพราะฉะนั้น ความหมายของอายตนะ ขอเชิญคุณคำปั่น

    อ.คำปั่น สำหรับคำว่าอายตนะเป็นภาษาบาลี อายตนะ โดยศัพท์หมายถึงที่ประชุม ที่ต่อ หรือว่า บ่อเกิด ก็ต้องมีความเข้าใจตั้งแต่เบื้องต้นว่า ขณะใดจึงจะเป็นอายตนะ ซึ่งอายตนะหมายถึง สภาพธรรมที่ประชุมกันในขณะที่จิตเกิดขึ้น รู้อารมณ์ ทีละอย่างๆ

    ก็ขอยกตัวอย่างทางตา การที่จิตเห็นจะเกิดขึ้นรู้สี ก็ไม่ใช่ว่าจะต้องมีเฉพาะเพียงจักขุวิญญาณเท่านั้นที่เกิดขึ้น ต้องมีสภาพธรรมอื่นๆ ที่กำลังมีในขณะนั้นด้วย อย่างแรก ต้องมีที่เกิดของจักขุวิญญาณคือจิตเห็น คือต้องมีจักขุปสาทที่ยังมีอยู่ ยังไม่ดับไปในขณะนั้น จึงจะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้จิตเห็นเกิดขึ้นได้ จักขุปสาทในขณะนั้นเป็น "จักขายตนะ" นี้คืออย่างที่ ๑ ที่กำลังมีในขณะนั้น อย่างที่ ๒ ก็คือต้องมีสีที่กำลังมีในขณะนั้น สีคือรูปารมณ์ ก็เป็น "รูปายตนะ" อายตนะคือ รูปซึ่งเป็นสิ่งที่ปรากฏทางตา และในขณะนั้นจิตเห็นเกิดขึ้นคือจักขุวิญญาณ จิตเห็นเป็น "มนายตนะ" อายตนะคือจิตนั่นเอง และในขณะที่จิตเห็นเกิดขึ้น ก็ต้องมีสภาพธรรมที่เกิดร่วมกับจิตเห็นด้วย คือเจตสิก ๗ ประเภท มี ผัสสะ เวทนา สัญญา เจตนา เอกคัตตา ชีวิตินทรีย์ มนสิการ ๗ ประเภทนี้ เป็นเจตสิกที่เกิดร่วมกับจิตเห็น เจตสิกทั้งหมด เป็น "ธรรมายตนะ" คือความเป็นอายตนะ คือเป็นสภาพธรรมที่ประชุมกัน ที่มีพร้อมอยู่ในขณะนั้น ในขณะที่จิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์ในขณะนั้น

    ท่านอาจารย์ เดี๋ยวนี้มีอายตนะไหม ที่สำคัญที่สุดคือ สิ่งที่กำลังมีในขณะนี้ จะพูดคำอะไรก็เพื่อเข้าใจความจริงของสิ่งที่กำลังมีในขณะนี้ ขณะนี้ถ้ากล่าวถึง เห็น มีเห็นอย่างเดียว หรือว่ามีสิ่งอื่นด้วยนอกจากเห็น เพราะเมื่อเห็นเป็นจิต ก็ต้องมีสิ่งที่จิตรู้ เมื่อกล่าวว่าเห็น ก็ต้องมีสิ่งที่ถูกเห็น จะมีแต่เห็นโดยไม่มีสิ่งที่ถูกเห็นได้ไหม ไม่ได้ เพราะฉะนั้น ในขณะนั้นต้องมีเห็น กับสิ่งที่กำลังปรากฏให้เห็น ขณะนั้นไม่ได้ขาดอันหนึ่งอันใดเลย ต้องมีอยู่ในขณะนั้น ยังไม่ได้ดับไป

    เพราะฉะนั้น สิ่งที่มีอยู่ตรงนั้นที่ต้องมี ถ้าขาดไป สิ่งนั้นก็ไม่มีด้วยว่าปรากฏให้เห็นอย่างนี้ไม่ได้ จึงเป็นอายตนะทั้ง ๒ ประชุม ที่ต่อ ไม่ได้ไปต่อกับอย่างอื่น แต่ว่าขณะนั้นกำลังประชุม สิ่งที่ปรากฏทางตา ก็ต้องต่อกับจักขุปสาท และขณะนั้นก็ต้องมีจิตเห็น แล้วก็ต้องมีเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย เพราะฉะนั้น เพียงอย่างเดียวที่กล่าวถึง จะกล่าวขยายความให้เข้าใจถึงความละเอียดของสิ่งนั้นได้ เช่น รูปที่กำลังปรากฏทางตา เป็นสิ่งที่มีจริง ก็ต้องเป็นอายตนะ อะไรก็ตามที่มีจริงในขณะนั้นเป็นอายตนะทั้งนั้น เพราะต้องมีธาตุรู้ซึ่งกำลังรู้สิ่งนั้น สิ่งนั้นจริงปรากฏได้ และก็ไม่ใช่แต่เฉพาะธาตุรู้ ถ้ากล่าวถึงอย่าง จิตได้ยิน ก็ต้องมีโสตปสาทรูปด้วย เป็นอายตนะก็ขาดไม่ได้ ดูไม่เห็นยากอะไรเลย เพียงแต่ชื่อ พอได้ยินชื่ออายตนะก็คืออะไร อยู่ที่ไหน แต่ถ้าเข้าใจสภาพธรรมตามความเป็นจริงขณะนี้ว่ามีอะไรบ้างในขณะที่จิตเห็นเกิดขึ้น ก็ต้องมีจิตเห็น มีสิ่งที่กำลังปรากฏ มีจักขุปสาทแล้วก็เมื่อเป็นจิตเกิดขึ้น ก็ต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย จะเอาอะไรอีกไหม ตรงนั้นที่เห็น แขนมาเกี่ยวข้องด้วยอะไรหรือเปล่า แข็งมาเกี่ยวข้องอะไรด้วยหรือเปล่า ที่ตัวมีทุกอย่าง แต่ชั่วขณะที่เห็น ต้องมีสิ่งที่ประชุมตรงนั้นที่จะขาดสิ่งหนึ่งสิ่งใดไม่ได้เลย

    เพราะฉะนั้น ขณะที่ได้ยิน ต้องมีโสตปสาทรูป ต้องมีเสียง แล้วก็ต้องมีจิตที่ได้ยินพร้อมเจตสิก นี่ก็คืออายตนะ อะไรที่มีอยู่ขณะนั้น ที่เป็นปัจจัยที่จะทำให้มีธรรมปรากฏ ขณะนั้นเป็นอายตนะ อย่างอื่นไม่ใช่ เพราะฉะนั้น ก็มีความเข้าใจว่า ขณะที่กำลังได้ยิน ขณะนั้นจักขุปสาทเป็นอายตนะหรือเปล่า ไม่เป็น ขณะที่กำลังเห็น ฆานปสาทเป็นอายตนะหรือเปล่า ไม่เป็น นี่ก็เข้าใจแล้วใช่ไหม พอพูดถึงอายตนะ ถ้ามีความเข้าใจก็คือเดี๋ยวนี้ และก็ไม่ใช่ว่าต้องอยู่ในตำรา แต่เมื่อมีความเข้าใจแล้วจะพูดถึงสิ่งที่กำลังมีอย่างหนึ่งอย่างใด ซึ่งมีอยู่ในขณะนั้น ก็เป็นอายตนะทั้งนั้น

    อ.กุลวิไล แล้วนัยที่รู้ชัดในรูปโดยความเป็นปฏิจจสมุปบาท

    ท่านอาจารย์ ได้ยินคำว่าปฏิจจสมุปบาทด้วย คืออะไรคุณวิชัย ปฏิจจสมุปบาท

    อ.วิชัย หมายถึง ธรรมที่อาศัยกันเป็นไป เราคงจะรู้จักธรรมว่า ธรรมแต่ละอย่างเกิดขึ้นตามเหตุปัจจัย ดังนั้นการเกิดขึ้นมาครั้งแรกของเราก็ต้องอาศัยเหตุ ที่จะให้เป็นไป อย่างเช่น การเกิดครั้งแรกก็คือปฏิสนธิ ปฏิสนธิจิตนี้มาได้อย่างไร ก็ต้องมีกรรมในอดีตที่ได้กระทำไปแล้ว เป็นปัจจัยให้ปฏิสนธินี้เกิดขึ้นเป็นไปได้

    เพราะฉะนั้น การที่ปฏิสนธิที่เกิดมา จะเป็นบุคคลใดก็ตาม เป็นมนุษย์ เป็นสัตว์เดรัจฉาน เป็นเทวดาอะไรต่างๆ เหล่านี้ ก็ต้องอาศัยเหตุ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงว่า ที่เกิดเพราะมีเหตุคือ สังขารเป็นปัจจัย คือ ปฏิสนธิเกิดเพราะมีสังขารเป็นปัจจัยให้เกิดขึ้น ดังนั้นการที่ธรรมต่างๆ ที่อาศัยกันเป็นไปเหล่านี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ทรงแสดงว่าเป็นปฏิจจสมุปบาท คือธรรมที่อาศัยกันเป็นไป สังขารมีอะไรเป็นเหตุเป็นปัจจัย ความไม่รู้ ความไม่รู้ซึ่งถ้าศึกษาโดยความละเอียด ก็รู้ว่าอวิชชาความไม่รู้ ถ้าเป็นปัจจัยให้เกิดสังขารคือเจตนา ที่เป็นไปใน "อปุญญาภิสังขาร" คือถ้าเป็นอกุศลคงจะรู้ว่า ขณะนั้นก็เป็นไปพร้อมด้วยกับอวิชชา ซึ่งอวิชชาก็เป็นปัจจัยโดยประการต่างๆ

    เพราะฉะนั้น ความไม่รู้ก็เป็นปัจจัยให้เกิดทั้งกระทำดีก็ได้ กระทำไม่ดีก็ได้ ให้เป็นไปในสังสารวัฏฏ์ เพราะมีอวิชชาอยู่ และเมื่อมีอวิชชาอยู่ก็ต้องมีการกระทำกรรม เมื่อมีการกระทำกรรมก็ต้องเป็นปัจจัยให้เกิดวิญญาณ คือปฏิสนธิอีก ดังนั้นธรรมเหล่านี้ที่อาศัยกันเป็นไป ก็ทรงแสดงธรรมต่างๆ วิญญาณเป็นปัจจัยให้เกิดนามรูป

    เพราะเหตุว่า ขณะปฏิสนธิเกิด ขณะนั้นปฏิสนธิก็เป็นปัจจัยคือ ปฏิสนธิคือวิญญาณนั่นเอง เป็นปัจจัยให้เกิดนามธรรม ก็คือเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย และรูปก็คือกัมมชรูปในขณะนั้น ธรรมแต่ละอย่างที่เราคิดว่าเป็นเรา ตามความเป็นจริงแล้ว แม้ในขณะนี้ธรรมที่เกิดขึ้นก็ต้องอาศัยเหตุ และปัจจัยเป็นไป แม้ในส่วนของรูปที่ท่านอาจารย์กล่าวถึง

    ท่านอาจารย์ เพราะว่าจริงๆ ก็ต้องกล่าวตั้งแต่ต้นตามลำดับ แต่ความจริงก็คือว่าความเข้าใจขณะนี้ เพราะว่าเกิดมาแล้วเพราะอวิชชา ถ้าหมดอวิชชาก็ไม่ต้องเกิด ไม่มีการที่จะต้องมาเกิดแล้ว ก็เห็นแล้วเป็นสุข เป็นทุกข์ คิดเรื่องนั้นเรื่องนี้เลย แต่เพราะเหตุว่า มีปัจจัยคือยังมีอวิชชา เกิดมาแล้วก็ไม่รู้ว่าเกิดมาเพราะยังมีอวิชชา ซึ่งเป็นปัจจัยให้เกิดมาแล้ว บางขณะก็เป็นกุศล บางขณะก็เป็นอกุศล เพราะอะไร เห็นแล้ว เราจำเป็นต้องมาเรียนปฏิจจสมุปบาทไหม หรือไม่ว่าจะพูดถึงองค์ ๑ องค์ใดซึ่งเป็นปฏิจจสมุปบาท ก็คือสิ่งที่กำลังมีในขณะนี้ เ

    พราะถ้าเข้าใจสิ่งที่กำลังมีในขณะนี้แล้ว ก็จะเข้าใจความเป็นมา หรือว่าความเป็นที่ ๑ สภาพธรรมมี ก็เพราะมีสิ่งนี้ สิ่งนั้นจึงมี นี่ก็สามารถที่จะเข้าใจได้ แต่ว่าค่อยๆ เข้าใจความจริงที่เป็นธรรมก่อน แล้วก็จะเข้าใจปฏิจจสมุปบาทได้ แต่ถ้าจะกล่าวถึงปฏิจจสมุปบาทโดยที่ไม่เข้าใจสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ จะเข้าใจปฏิจจสมุปบาทหรือ เพราะเหตุว่า ปฏิจจสมุปบาทก็คือ ชีวิตตั้งแต่เกิดจนตายนั่นเอง เพราะมีอวิชชาแน่นอน

    ขณะนี้ใครคิดว่ามีวิชชาพอที่จะดับกิเลสไม่เหลือเลยที่จะไม่เหลืออวิชชาอีกเลย เพราะฉะนั้น แม้แต่อวิชชาที่มี ก็ต้องรู้ตามความเป็นจริงว่าเมื่อไหร่ ไม่ใช่บอกว่ามี แต่ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่ และ อย่างนั้นจะดับได้อย่างไร ไม่ว่าจะพูดถึงอะไรก็ต้องเป็นความเข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้จริงๆ เห็น หลังจากที่เห็นดับแล้ว จิตที่เกิดต่อจากเห็น ใครรู้บ้าง สัมปฏิจฉันนจิต สันตีรณจิต โวฏฐัพพนจิต ใครรู้บ้าง เมื่อไม่รู้ก็กล่าวสั้นๆ เมื่อเห็นแล้วก็เป็นกุศลหรืออกุศล ถูกต้องหรือไม่ แล้วก็เป็นผู้ตรงว่า เห็นแล้วเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล ไม่ใช่จำชื่อได้ว่าหลังจากที่เห็นแล้วก็เป็นกุศล อกุศล แต่เป็นผู้ที่ตรง เห็นแล้วเดี๋ยวนี้ กำลังเห็น เห็นแล้วเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล ฟังแล้วมีคนตอบว่าไม่ทราบ แต่ว่าฟังแล้ว เห็นแล้วที่จะไม่เป็นกุศล อกุศลได้ไหม ไม่ได้

    เพราะฉะนั้น เดี๋ยวนี้ก็รู้ตามความเป็นจริงว่าเห็นแล้ว ดับแล้ว แล้วจากนั้นเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล ถ้าพูดตอบ ตอบตามความจริงใจ ก็ต้องรู้ว่าถ้าเป็นกุศล กุศลอะไร และก็ถ้าเป็นปัญญา ปัญญาขณะนั้นรู้อะไร ถ้าไม่เป็นกุศล ไม่ประกอบด้วยปัญญา ขณะนั้นก็ไม่รู้ใช่ไหม แค่นี้ เราก็แสดงให้เห็นว่าเราไม่กล่าวถึงอวิชชาความไม่รู้ลอยๆ แต่ไม่รู้ในอะไร ไม่รู้ในเห็น กำลังเห็น ดับไปแล้วก็ไม่รู้

    เพราะฉะนั้น เมื่อยังมีความไม่รู้อยู่ ส่วนใหญ่ก็จะต้องเป็นอกุศลประเภทหนึ่ง ประเภทใด แต่ฟังธรรมแล้ว เป็นปัจจัยให้สามารถที่จะเริ่มเข้าใจเห็น เห็นหรือไม่ ไม่ได้เข้าใจอย่างอื่นเลย แต่เข้าใจเห็นโดยการฟัง ยังไม่ถึงการเข้าใจเห็นโดยรู้ลักษณะที่เป็นธรรม เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะกล่าวถึงปฏิจจสมุปบาทหรืออะไรก็ตามแต่ ไม่ใช่เป็นชื่อทั้งหมด แต่ให้รู้ตามความเป็นจริงว่า ถ้าจะกล่าวถึงอวิชชา อดีตผ่านไปแล้วชาติก่อนๆ ก็เหมือนชาตินี้แหละคือชาติก่อนก็มีเห็น มีได้ยิน และก็ชาตินี้ก็เห็นก็ได้ยิน ก็ไม่รู้ แล้วชาติก่อนรู้หรือเปล่า ชาติแล้วๆ มาก็ต้องเหมือนชาตินี้

    แต่ว่า เมื่อมีการเริ่มฟังเข้าใจ ความเข้าใจก็ทำให้รู้ว่า แม้แต่คำว่าอวิชชาที่ได้ทรงแสดงไว้ว่าเป็นปัจจัยที่จะให้เกิดสังขาร คือกรรม ได้แก่กุศล อกุศลนี้แหละ คือในขณะนี้เอง ขณะนี้เป็นกิริยาจิตที่หมดกิเลสไม่มีโลภะ โทสะ โมหะ อโลภะ อโทสะ อโมหะ แต่มีอโลภะ อโทสะ อโมหะ ที่ไม่ใช่กรรม แต่เป็นกิริยาหรือเปล่า ไม่มีทางเป็นไปได้เลย เพราะว่ายังคงต้องเป็นสิ่งที่จะทำให้ผลเกิดขึ้น เพราะขณะนั้นเป็นกุศล หรือเป็นอกุศล

    ศึกษาธรรมเพื่อตรง เพื่อที่จะเข้าใจสิ่งที่มี และก็ไม่ต้องไปสนใจที่จะเป็นปฏิจจสมุปบาทข้อไหน เมื่อไหร่ อย่างไร แต่ว่าให้ค่อยๆ เข้าใจสิ่งที่มี แล้วก็จะเข้าใจแม้ปฏิจจสมุปบาทที่ทรงแสดง แต่ถ้าไม่เข้าใจสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ปฏิจจสมุปบาทก็เป็นเพียงชื่อ อวิชชาเป็นปัจจัยให้เกิดสังขาร อวิชชาเมื่อไหร่ สังขารเมื่อไหร่ ก็ไม่รู้ แต่ว่าถ้ามีความเข้าใจสภาพธรรม ขณะนั้นก็จะรู้ได้ ว่าขณะนั้นเป็นอวิชชาหรือเปล่าหลังจากที่เห็นแล้ว เมื่อเป็นอวิชชา จะพ้นจากกุศล และอกุศลได้ไหม เพราะยังไม่ได้ดับอวิชชา

    เพราะฉะนั้น แม้ว่ากุศลก็ยังเป็นปัจจัยให้เกิดผล นี่ก็คือความละเอียดอย่างยิ่ง เพราะฉะนั้นศึกษาธรรมค่อยๆ ศึกษาตามลำดับ อย่าเอาเรื่องที่งงหรือยุ่งยาก หรือไกล หรือว่ายังไม่รู้เลยแม้ขณะนี้ เพราะฉะนั้น ถ้าเพียงพูดไปก็เป็นการบ่นเพ้อธรรม คือพูดสิ่งที่ไม่เข้าใจ หรือว่าไม่ได้รู้จักในขณะนี้นั่นเอง

    เพราะฉะนั้น เพียงชื่อว่าปฏิจจสมุปบาท แล้วรู้ว่ามีอะไรบ้าง แต่ว่าไม่สามารถที่จะเข้าใจสภาพธรรมในขณะนี้ ก็คือเป็นการจำคำ และเรื่องราวเท่านั้นเอง ประโยชน์ที่สำคัญที่สุด ขณะนี้เป็นผู้ตรงว่าฟังธรรมแล้วปัญญาของผู้ฟังอยู่ตรงไหน รู้อะไรได้แค่ไหน ทั้งๆ ที่สภาพธรรมกำลังปรากฏ แต่ถ้ายังไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรม แต่คิดถึงเรื่องราวของธรรมมากมายชื่อต่างๆ ก็ไม่สามารถที่จะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏได้ เพราะฉะนั้น ค่อยๆ เข้าใจขึ้นในสิ่งที่มีจริง แต่ละคำด้วย ถ้าเป็นหลายๆ คำพร้อมกันก็เข้าใจไม่ได้

    อ.อรรณพ ปฏิจจสมุปบาทก็คือ ธรรมที่อาศัยกันเกิดขึ้น เพราะฉะนั้น ก่อนที่จะเกิดมาในชาตินี้ก็ต้องมีเหตุปัจจัยมาแล้ว คือมีความไม่รู้แสนโกฏิกัปป์สะสมไว้ในจิต แล้วก็มีการกระทำกรรมที่เป็นกุศลกรรมบ้าง อกุศลกรรมบ้าง ถ้าจะพูดโดยเป็นองค์ๆ ก็ได้ว่า อวิชชาเป็นปัจจัยแก่สังขาร สังขารคือ อภิสังขารคือ กรรมที่เป็นกุศลกรรมบ้าง อกุศลกรรมบ้าง ที่ไม่ได้เป็นไปเพื่อดับโมหะเลย ก็ยังเกิดขึ้น พอมีกรรม มีความไม่รู้แล้วก็กรรมในอดีต ก็เป็นปัจจัยให้มีปฏิสนธิเกิดขึ้น ปฏิสนธิจิตคือ วิญญาณ ก็คือปฏิสนธิจิตเกิดขึ้น ประมวลมาแล้ว แล้วก็มีนามธรรม รูปธรรมเกิดพร้อมกับปฏิสนธิจิตนั่นแหละ ในภูมิที่มีขันธ์ ๕ แล้วก็ไม่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ก็มีทุกประการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นความโศก โสกะ ปริเทวะ อุปายาส ทั้งหลาย เมื่อมีเหตุปัจจัยคือความไม่รู้แล้วก็มีความยึดถือต่างๆ เมื่อมีความพลัดพรากก็มีความเป็นไปอย่างนี้ นี่คือความเป็นไปของธรรมที่อาศัยกันเกิด กันเกิดชาติแล้วชาติเล่าตลอดเลย ตราบใดที่ยังไม่ได้มีปัญญาที่จะดับมูลรากของสังสารวัฏฏ์ก็คือความไม่รู้ ก็ต้องมีความเป็นไปอย่างนี้ ภพแล้วภพเล่า เพราะไม่ได้ดับตัวเหตุก็คือความไม่รู้สภาพธรรมตามความจริง

    อ.กุลวิไล คำถาม มีท่านถามถึงความดีเป็นสิ่งที่ควรอบรมเจริญ แต่ก็ได้ทราบว่าถึงอย่างนั้น ความดีก็เป็นสิ่งที่กระทำได้โดยยาก ที่เป็นเช่นนี้เพราะเหตุใด กราบเรียนท่านอาจารย์

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ปฏิจจสมุปบาทฟังมาแล้ว จำอะไรได้บ้าง หรือว่าเข้าใจอะไรได้บ้าง ยาวมากแล้วก็มีมากในพระไตรปิฏก แต่เท่าที่สามารถที่จะเข้าใจได้ก็คือว่า อวิชชามีไหม กุศลมีไหม อกุศลมีไหม หมายความว่า ถ้ายังมีอวิชชาอยู่ตราบใด ก็ยังมีเหตุที่จะทำให้เกิดผล เพราะว่ากุศล และอกุศลเป็นเหตุ เพราะฉะนั้น เดี๋ยวนี้ทราบด้วยตัวเอง ยังไม่ต้องเรียกว่าปฏิจจสมุปบาทก็ได้ เพียงแต่รู้ตามความเป็นจริงว่าอวิชชามีไหม มี เมื่ออวิชชามี กุศลมีไหม อกุศลมีไหม เมื่อมีกุศล และอกุศลซึ่งเป็นเหตุ อวิชชาแล้วก็กุศล อกุศลเป็นปัจจัยให้ตายแล้วต้องเกิดอีกหรือเปล่า

    เพราะฉะนั้น วิญญาณคือ ปฏิสนธิก็ต้องมาจากกุศลหรืออกุศล แล้วแต่ว่าจะเป็นผลของกุศลหรืออกุศล ภาษาบาลีใช้คำว่าอวิชชาเป็นปัจจัยแก่สังขาร สังขารที่นี่หมายความถึง เจตนาที่เป็นกุศลหรืออกุศล ไม่ว่าจะเป็นกุศลระดับไหนก็ตาม กามาวจรกุศล เป็นไปในทาน ในศีล หรือว่าจิตที่สงบจากอกุศล สามารถที่จะตั้งมั่นเป็นฌานจิตที่มีรูปเป็นอารมณ์ ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน ปัญจมฌาน ก็ยังเป็นกรรมที่จะทำให้เกิดผลหรือแม้ว่า สูงกว่านั้นอีก สงบกว่านั้นอีก ลองคิดถึงสภาพของจิตที่สงบคิดไม่ออก ถึงระดับนั้น อย่างมากๆ ก็เพียงแค่เป็นไปในทาน เป็นไปในศีล เพราะว่าเป็นชีวิตประจำวัน แต่จะให้ไปรู้ถึงความที่จิตเป็นกุศลที่สงบจนกระทั่งถึงฌานจิต แล้วก็ยังเห็นโทษของรูป

    เพราะฉะนั้น ก็รู้ว่าขณะนั้นมั่นคงเพียงแค่ถึงปัญจมฌานที่มีรูปเป็นอารมณ์ แต่ยังมีความใกล้ชิดต่อการที่จะหันไป ที่จะมีความติดข้องในรูป ด้วยเหตุนี้ปัญญาระดับนั้นก็เห็นว่าสงบยิ่งกว่านั้นก็คือว่าไม่มีรูปเป็นอารมณ์ ถึงแม้กระนั้นก็เป็นเหตุที่จะให้เกิดผล เพราะเหตุว่ายังมีอวิชชา

    เพราะฉะนั้น ค่อยๆ เข้าใจเหตุผลตามความเป็นจริงทีละเล็ก ทีละน้อย มีอวิชชา แล้วก็มีกุศล และอกุศล ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะรู้ได้ว่ากุศลของแต่ละคนเป็นไปในทางไหน บางคนเป็นไปในเรื่องทาน บ่อยมากเลย ทั่วๆ ไปเราก็จะเห็นกุศลที่เป็นไปได้ทาน สำหรับศีลก็เป็นเรื่องของกายวาจา ที่กล่าวถึงความดี ที่ถามก็คือเรื่องของกุศลซึ่งเป็นไปทานบ้าง ในศีลบ้าง เพราะมาจากใจ ถ้าใจดีจะทำกายที่ไม่ดีนี้ได้ไหม ตีรันฟันแทงหรือว่า เบียดเบียนคนอื่นก็ไม่ได้ใช่ไหม แต่ถ้าเป็นใจที่ดีก็มีการช่วยเหลือ มีการเกื้อกูล มีการกระทำใดๆ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่รับจากการกระทำนั้น

    เพราะฉะนั้น ก็จะเห็นได้ว่าเป็นปกติในชีวิตประจำวัน เมื่อมีความเข้าใจเราก็ค่อยๆ เข้าใจกว้างขวางขึ้น ถือว่าตราบใดที่ยังมีกุศล และอกุศล ก็ยังต้องมีการเกิด เพราะเหตุว่ายังมีอวิชชา เพราะฉะนั้น ก็ค่อยเข้าใจคำที่ใช้ในปฏิจจสมุปบาทที่กล่าวถึง อวิชชาเป็นปัจจัยแก่สังขาร หมายความถึง เจตนาที่เป็นกรรม ที่เป็นกุศล หรืออกุศลนั่นเอง


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 184
    12 ม.ค. 2567