พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 725


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๗๒๕

    ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๔


    ท่านอาจารย์ เมื่อมีรูปแล้ว จะต้องเป็นปัจจัย ที่ทำให้จิตประเภทนั้นๆ เกิดขึ้น เพราะเหตุว่า เมื่อมีรูป ก็มีร่างกายตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า เย็นบ้าง ร้อนบ้าง อ่อนบ้าง แข็งบ้าง เป็นทุกข์หรือเป็นสุข รูป ตัวรูปเกิดขึ้นแล้วก็ดับไปก็จริง แต่เป็นที่ตั้งของทั้ง เวทนา สัญญา และสังขาร ที่จะทำให้เกิดความทุกข์ซึ่งเป็นภาระ

    เพราะเหตุว่า ถ้าเราจะค่อยๆ พิจารณาทีละอย่าง รูปไม่ใช่สภาพรู้ เพราะฉะนั้น รูปที่ไม่เกี่ยวข้องกับนามธรรมเลยก็ไม่ใช่ภาระ แต่เมื่อมีนามธรรม และมีรูปด้วย จึงมีภาระทั้งนามธรรม และรูปธรรม เพราะเหตุว่า เมื่อมีรูป ที่รูปจะดำรงอยู่ได้ โดยไม่ต้องรับประทานอาหาร โดยไม่ต้องบริหารใดๆ เลยทั้งสิ้น เป็นไปได้ไหม เพราะเหตุว่า มีความรู้สึกซึ่งเกิดจากรูปซึ่งเป็นทุกข์ หรือเป็นสุข

    เพราะฉะนั้น จึงต้องบริหาร ซึ่งความจริงก็คือทั้ง ๕ ขันธ์ แต่ค่อยๆ เข้าใจไป ทีละขันธ์อย่างรูปนี้ก็เข้าใจแล้ว ถ้าไม่มีการรับประทานอาหาร ไม่มีการอาบน้ำชำระร่างกายเลย ก็ทำให้เกิดความรู้สึกซึ่งเป็นทุกข์ ซึ่งก็ไม่มีใครสามารถที่จะทนอยู่ได้ที่จะไม่รับประทานอาหารเลย รูปก็ดำรงอยู่ไม่ได้ เพราะฉะนั้น แม้แต่เจตสิก เช่น วิตกเจตสิก เวลาที่ขณะนี้มีสิ่งที่ปรากฏ แต่ว่าวิตกจรดในอะไร ทำให้สภาพธรรมอื่นๆ เป็นไปในสภาพนั้น เช่น ขณะนี้เสียงก็มี สิ่งที่ปรากฏทางตาก็มี แล้วแต่ว่าขณะนั้น วิตกจรดหรือตรึกถึงอะไร ก็ปรุงแต่งทำให้เจตสิก และจิตเกิดขึ้นเป็นไปในอารมณ์นั้น

    เพราะฉะนั้น เป็นภาระไหมที่จะต้องรู้ในอารมณ์นั้น เพราะเหตุว่ามีธรรมซึ่งทำให้เกิดขึ้นที่ต้องเป็นภาระที่จะต้องรู้ และแม้แต่วิตกเองก็เป็นภาระด้วย เพราะเหตุว่า มีสิ่งที่ปรากฏแล้วก็มีจิตซึ่งเป็นธาตุรู้ เพราะฉะนั้น เจตสิกก็ต้องเกิดกับจิต เพราะฉะนั้น วิตกขณะนั้นก็ต้องทำภาระที่จะตรึกถึงอะไรที่จะเป็นปัจจัยให้จิตเกิดขึ้นรู้สิ่งนั้น

    เพราะฉะนั้น ทุกอย่างเป็นเรื่องที่ละเอียด ถ้าเราฟังเพียงผิวเผินแล้วก็จะเข้าใจเพียงเผินๆ ว่า รูปก็เป็นภาระที่ต้องบริหาร เพราะเหตุว่า ถ้าไม่รับประทานอาหารก็หิว ก็อยู่ไม่ได้ ต้องอาบน้ำชำระกาย มิฉะนั้นก็เป็นโรคภัยต่างๆ ก็อยู่ไม่ได้อีก ก็เป็นเรื่องที่พอมองเห็นได้ แต่ตามความจริงก็คือว่า ถ้าไม่มีนามขันธ์ และรูปขันธ์เลย ก็ไม่มีทุกข์ใดๆ เลย คือผู้ที่ปลงภาระ เพราะว่าไม่มีความติดข้อง ซึ่งถ้ายังคงมีความติดข้องอยู่ตราบใด ก็ยังเป็นปัจจัยที่จะให้ภาระทั้งหลายเกิดขึ้น

    อ.กุลวิไล มีท่านเขียนคำถามมาถามว่า ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา บังคับบัญชาไม่ได้ เป็นไปตามเหตุปัจจัย

    ท่านอาจารย์ ถ้าเห็นก็ต้องเป็นไปตามเหตุ ตามปัจจัยแล้วใช่ไหม ถ้าไม่มีจักขุปสาท จะเห็นได้ไหม

    อ.กุลวิไล ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ได้ยินก็เหมือนกัน ถ้าไม่มีโสตปสาท จะได้ยินได้ไหม

    อ.กุลวิไล ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ คิดนึกก็เหมือนกัน ถ้าไม่จำ จะคิดอะไรได้ไหม

    อ.กุลวิไล ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ขณะไหนบ้างที่ไม่เป็นไปตามเหตุตามปัจจัย

    อ.กุลวิไล ไม่มีสักขณะเดียวเลย แต่บางท่านศึกษาแล้วคิดว่า ก็ปล่อยไปตามเหตุตามปัจจัย

    ท่านอาจารย์ คิดว่า ก็ปล่อยไป ใครคิด ไม่ใช่อนัตตาคิดแน่ อัตตาคิด เพราะว่าไม่ได้เข้าใจจริงๆ ว่าไม่มีใครจะไปปล่อยหรือไม่ปล่อย เพราะว่าต้องยืนยันตามที่ได้กล่าวแล้ว ทุกอย่างเกิดขึ้นตามเหตุปัจจัย ไม่มีใครจะไปปล่อย ไม่มีใครจะไม่ปล่อย เพราะว่าเมื่อมีปัจจัยก็เกิด

    อ.กุลวิไล เพราะว่า บางท่านศึกษาแล้ว ก็ดูเหมือนสบายๆ ก็คือไม่ต้องทำอะไรเลย เพราะว่าตามเหตุตามปัจจัย

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ต้องเข้าใจธรรม ไม่ใช่คิดเองว่า ทุกอย่างเป็นอนัตตา ก็สบายๆ นั่นคือคิด แต่ว่าไม่ได้เข้าใจ เพราะฉะนั้น จริงๆ แล้วฟังธรรมเพื่อเข้าใจจริงๆ และมั่นคง และไม่เปลี่ยนแปลง ไม่สับสน และก็ไม่เปลี่ยนด้วย อย่างกล่าวว่าทุกอย่างเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย เพราะฉะนั้น ก็สบายๆ รู้อะไร ขณะที่กำลังกล่าวว่า สบายๆ ก็เพราะเหตุปัจจัย ก็ไม่รู้ว่าขณะนั้นเพราะเหตุปัจจัย จึงคิดอย่างนั้น

    อ.กุลวิไล เพราะว่าท่านก็สงสัยว่า แล้วอย่างนี้มนุษย์จะต้องทำอะไรให้เหนื่อยยากทำไม ก็เมื่อเหตุปัจจัยเป็นตัวทำให้เกิดอะไรอยู่แล้ว

    ท่านอาจารย์ ก็สบายๆ หรือว่าก็ทุกข์ๆ อะไรแน่ เช่นกล่าวว่า ฟังธรรมแล้ว ก็สบายๆ ด้วยความเข้าใจหรือด้วยความไม่เข้าใจ ถ้าด้วยความไม่เข้าใจเดือดร้อนไม่สบายแล้ว ต้องไปทำอะไรสักอย่างให้รู้มากๆ ให้รู้เร็วๆ นั่นคือเดือดร้อนเพราะไม่รู้ แต่ถ้าสบายๆ เพราะเข้าใจถูกต้องว่า ทำไม่ได้ แต่สามารถที่จะเข้าใจได้ และความเข้าใจนั่นเองก็จะทำให้ไม่เดือดร้อนด้วยประการใดๆ ทั้งสิ้น เพราะปัญญาเกิดเมื่อไหร่เดือดร้อนได้ไหม ในเมื่อเป็นความเข้าใจที่ถูกต้อง ฟังธรรมแล้วก็สบายๆ แล้วรู้อะไร

    การฟังธรรมเพื่อเข้าใจ ถูกต้อง เพื่อความรู้ที่ถูกต้อง จะพูดอะไรก็ตามแต่ แล้วรู้อะไร ถ้ารู้อื่นไม่ใช่รู้สิ่งที่กำลังปรากฏ รู้จักธรรมหรือเปล่า รู้ไหมว่าขณะนี้เป็นธรรม ก็ไม่รู้อะไรเลยสักอย่าง เพราะฉะนั้น ต้องเป็นผู้ที่ตรง เป็นผู้ที่ละเอียดด้วย ที่พูดว่าแล้วมีชีวิต อยู่ไปวันๆ รู้อะไรหรือเปล่า สำคัญอยู่ที่เข้าใจอะไร และรู้อะไรหรือเปล่า เพราะทุกคนมีชีวิตอยู่ไปวันๆ นี่แน่นอน

    อ.กุลวิไล จึงเห็นคุณของปัญญา ปัญญาเห็นถูกในสภาพธรรมตามความเป็นจริง ถ้าเราไม่ฟังพระธรรม เราไม่รู้ว่าขันธ์ ๕ เป็นภาระอย่างยิ่ง

    อ.คำปั่น ก็เป็นปัญหาที่สืบเนื่องจากเว็บไซต์ของมูลนิธิ ที่มีผู้เขียนเข้ามาถามเรื่องความเป็นอนัตตาของสภาพธรรม ซึ่งในรายละเอียด ท่านอาจารย์ก็ได้ให้ความเข้าใจแล้วว่า ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นนั้นก็เป็นไปตามเหตุ ตามปัจจัย ไม่สามารถที่จะบังคับบัญชาได้จริงๆ แม้แต่ขณะที่เห็น ขณะที่ได้ยิน เป็นธรรมที่เกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัย ไม่มีใครสามารถที่จะบังคับให้การเห็นเกิดขึ้นได้ ไม่สามารถที่จะบังคับให้ได้ยินเกิดขึ้นได้ แต่ได้เห็นได้ยินก็เกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัย ซึ่งก็ต้องอาศัย เหตุปัจจัยหลายอย่าง ต้องมีที่เกิดของจิต ต้องมีสิ่งที่จิตรู้ ต้องมีสภาพธรรมที่เกิดร่วมกับจิตในขณะนั้น ซึ่งก็ล้วนเป็นธรรมที่มีจริงทั้งหมด ที่เป็นไปตามเหตุตามปัจจัยจริงๆ

    ในความเป็นจริงของความเป็นอนัตตาก็คือ ธรรมทั้งปวงนั้น ไม่เป็นอิสระ คำว่าอิสระในที่นี้ หมายถึงเป็นใหญ่ ถ้าเป็นใหญ่ก็หมายถึงว่า สามารถที่จะบังคับ สามารถที่จะสั่งได้ นี้คือในความหมายว่าเป็นใหญ่ แต่ธรรมทั้งปวงนั้นไม่เป็นอิสระ คือ ไม่สามารถที่จะบังคับบัญชาได้ เพราะต้องเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย นี้ก็คือ ความจริงของธรรมก็เป็นอย่างนี้จริงๆ ซึ่งท่านก็ถามต่อว่า ในเมื่อเป็นอนัตตาแล้วก็ไม่ต้องทำอะไร จริงๆ ทำอะไรไม่ได้ เพราะว่าธรรมเป็นธรรม เป็นสิ่งที่มีจริง ไม่มีใครที่จะไปทำอะไร แต่ธรรมก็เกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัย

    สำหรับผู้ที่สะสมเหตุที่ดีมา มีโอกาสได้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม เห็นประโยชน์ของความเจริญขึ้นของปัญญา ท่านก็มีศรัทธาที่จะฟัง ที่จะศึกษาเพื่อความเข้าใจธรรมมากยิ่งขึ้น ซึ่งทั้งหมดก็เป็นธรรม เป็นอนัตตาด้วย เป็นธรรมที่เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ของธรรม คือกุศลธรรมเกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ของกุศลธรรม แล้วก็มีข้อความในพระธรรมบทที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงกับภิกษุทั้งหลายว่า บุคคลผู้เกียจคร้าน ย่อมไม่ประสบทางด้วยปัญญา

    พระพุทธศาสนาไม่ได้สอนให้ใครเป็นคนเกียจคร้าน ในการเจริญกุศล แต่ทรงแสดงให้เป็นผู้มีความเพียร ในการที่จะศึกษาธรรม อบรมเจริญปัญญา เพื่อความเข้าใจธรรมมากยิ่งขึ้น เพราะว่าพระอริยบุคคลทั้งหลายในอดีต ท่านเป็นผู้ที่มีความขยัน ไม่เกียจคร้านในการอบรมเจริญปัญญา ท่านจึงประสบทาง คือรู้แจ้งอริยสัจจธรรมถึงความเป็นพระอริยบุคคลได้ ด้วยความเป็นผู้ไม่เกียจคร้านนั้นเอง

    ท่านอาจารย์ คำพูดทุกคำของคุณคำปั่น หรือแม้แต่ที่ทุกคนกำลังได้ยินทุกคำ ก็ไม่สงสัยอีกว่า ต้องเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย แล้วจะมีขณะไหน ซึ่งไม่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ถ้ามีความเข้าใจจริงๆ ในขณะนั้น

    อ.กุลวิไล มีท่านถามมาว่า พระธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นไปเพื่อการเริ่มความเพียรอย่างใด

    ท่านอาจารย์ เพียร เป็นธรรมหรือเปล่า

    อ.กุลวิไล เป็น

    ท่านอาจารย์ เป็นปรมัตถธรรมอะไร

    อ.กุลวิไล เป็นเจตสิกปรมัตถ์

    ท่านอาจารย์ เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย เดี๋ยวนี้เกิดแล้วก็ไม่รู้ เพราะฉะนั้น ก็ต้องศึกษาให้ทราบว่า ไม่มีใครทำความเพียร แต่ความเพียรเกิดเพราะเหตุปัจจัย และเกิดเมื่อไหร่บ้าง เพื่อที่จะได้เข้าใจถูกต้อง

    อ.อรรณพ กราบเรียนถามท่านอาจารย์ การเป็นภาระที่ต้องรู้อารมณ์ ท่านอาจารย์โปรดอธิบายว่า เป็นภาระที่ต้องรู้อารมณ์

    ท่านอาจารย์ ถ้าเราทราบว่า ไม่มีเรา แต่มีธรรม เพราะฉะนั้น รูปธรรมรู้อะไรหรือเปล่า

    อ.อรรณพ ไม่รู้อะไร

    ท่านอาจารย์ เดือดร้อนอะไรไหม

    อ.อรรณพ ไม่เดือดร้อน

    ท่านอาจารย์ ต้องรับประทานอาหาร ต้องชำระร่างกายหรือเปล่า

    อ.อรรณพ ไม่ต้อง

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น เมื่อมีธาตุรู้เกิดขึ้น จึงมีภาระที่ต้องทำ แล้วก็ไม่มีเสียเลยไม่ดีกว่าหรือ คือไม่ต้องทำอะไรเลย เพราะฉะนั้น ไม่พ้นจากธรรมคือจิต เจตสิก รูป จะไปเอาภาระอื่นมาได้อย่างไรนอกจากภาระของธรรม ซึ่งภาระของรูปธรรมไม่มี แต่เมื่อเกี่ยวเนื่องกับนามธรรม นามธรรมก็มีความติดข้องในรูป และก็ภาระของนามธรรมแต่ละชนิดก็คือว่าต้องเกิด ไม่เกิดไม่ได้ ถ้าเพราะไม่รู้ จึงมีความติดข้องในสิ่งที่ปรากฏ จะไม่ให้เกิดความติดข้องเป็นภาระได้ไหม เพราะฉะนั้น ความติดข้องเป็นภาระหรือเปล่า ไม่ติดข้อง กับติดข้อง อะไรเป็นภาระ

    อ.อรรณพ ติดข้องเป็นภาระ

    ท่านอาจารย์ ติดข้องเป็นภาระ แล้วก็ถ้าไม่เห็น จะติดข้องไหม

    อ.อรรณพ ไม่เห็นก็ไม่มีปัจจัยให้ติดข้อง

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น เห็นเป็นภาระไหม ที่จะต้องนำมาซึ่งการติดข้อง เพราะฉะนั้น ถ้ากล่าวถึงปรมัตถธรรมหมดปัญหาเลย ทุกอย่างเป็นนามธรรม และรูปธรรม เป็นสิ่งที่มีจริง แม้แต่ประโยคที่พูดเมื่อสักครู่นี้ที่ว่า มีชีวิตอยู่ไปวันๆ พูดได้ทุกคน แต่เติมหน่อยได้ไหม มีชีวิตอยู่ไปวันๆ ตามเหตุปัจจัย ชัดเจนขึ้นอีกหน่อยไหม ทุกคนแน่นอนต้องมีชีวิตอยู่ไปวันๆ แต่การที่มีชีวิตอยู่ไปวันๆ ตามเหตุตามปัจจัย แล้วเป็นภาระหรือเปล่า ที่จะมีชีวิตอยู่ไปวันๆ

    อ.อรรณพ ที่ท่านอาจารย์กล่าวถึงวิตกว่า วิตกทำภาระ เมื่อมีการตรึก ก็เป็นภาระไปที่จะมีการรู้อารมณ์ แล้วก็เป็นการที่สภาพธรรมเหล่านี้เกิดขึ้น ถ้าเป็นผู้ที่อบรมเจริญปัญญา ก็มีการตรึกนึกถึงธรรม ทั้งข้อความธรรมหรือตรึกถึงลักษณะสภาพธรรมนั้น ความตรึกที่ดีงามอย่างนั้น จะกระทำภาระอะไรอีกหรือ

    ท่านอาจารย์ วิตกทำกิจตรึกหรือจรดในอารมณ์ แม้แต่ขณะที่กำลังเห็น ขณะเห็นไม่มีวิตกเจตสิกเกิดร่วมด้วย แต่เห็นแล้ววิตกตรึกหรือว่าได้ยินแล้ว วิตกก็ทำหน้าที่ ตรึกถึงสิ่งที่เป็นเสียงที่ได้ยิน มีหน้าที่ ที่จะเกิดขึ้น แล้วก็ตรึกไป ถ้าเป็นอกุศลขณะนั้นจะยับยั้งได้ไหม หรือว่าให้เปลี่ยนวิตกเป็นกุศล หรือว่าไม่ให้วิตกเกิดเลยเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้

    เพราะฉะนั้น วิตกเจตสิกก็เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย ถ้าสะสมอกุศลมาจะให้ตรึกคิดเป็นกุศลเป็นไปไม่ได้เลย หรือว่าถ้าสะสมกุศลมาให้คิดเป็นอกุศลก็คิดอย่างนั้นไม่ได้ ก็ต้องเป็นไปตามการสะสม ไม่ว่าจะเป็นกุศลหรืออกุศล เป็นภาระที่ต้องตรึกหรือเปล่า จนกว่าไม่ต้องเกิดเลย นั่นแหละคือวางภาระ เพราะฉะนั้น ตราบใดที่ยังไม่ได้วางภาระ ธรรมทั้งหลายที่เกิดขึ้นก็ต้องทำหน้าที่หรือเป็นภาระของตนๆ วิตกเจตสิกจะไม่ทำภาระของวิตกเจตสิก ไปทำภาระของปัญญาได้ไหม

    อ.อรรณพ ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ก็ไม่ได้

    อ.กุลวิไล ท่านอาจารย์ ผู้ถาม ถามถึง รู้ชัดในรูป โดยความเป็นขันธ์

    ท่านอาจารย์ “รู้” คำหนึ่ง และก็ “ชัด” อีกคำหนึ่ง ในรูป “รูป” อีกคำหนึ่ง แล้วก็ “ขันธ์” อีกคำหนึ่ง ไม่ใช่สิ่งที่จะผ่านไป แล้วก็จำชื่อ เรียกถูก แต่ขณะนี้ เดี๋ยวนี้ รูปมีหรือเปล่า รู้หรือเปล่า รูปมี ทุกคนตอบว่ารูปมี แต่รู้รูปที่กำลังปรากฏหรือเปล่า แล้วก็รู้ชัดในรูปที่ปรากฏโดยความเป็นขันธ์ ก็ไม่ตอบ

    เพราะเหตุว่า แม้ว่าขณะนี้ที่ตอบได้เพียงแค่ขณะนี้มีรูป เพราะได้ฟังแล้วก็เข้าใจ ว่าสิ่งที่มีเป็นธรรมเป็นสิ่งที่มีจริง และการที่เราจะเรียกสภาพธรรมใดว่า “รูป” ไม่ใช่เราไปจำชื่อ แต่กำลังมีลักษณะ ๑ ไม่ใช่รูปทั้งหมดเลย หลากหลายแต่ว่าไม่รู้สักอย่างเดียว แต่ว่ามีลักษณะ ๑ ที่กำลังปรากฏ เฉพาะสิ่งนั้นว่าเป็นรูป ไม่ต้องเรียกชื่อเพราะไม่รู้อะไร อย่างสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาขณะนี้ ทุกคนก็สงสัย พูดแล้วก็พูดอีก แต่ถ้าเปิดอ่านพระไตรปิฎก จะไม่พ้นเลย ซ้ำแล้วซ้ำอีก ไม่ว่าจะทรงแสดงพระธรรมที่พระวิหารเชตวัน พระวิหารเวฬุวัน ที่เมืองโกสัมพี ที่เมืองสาวัตถีใดๆ ที่ไหนก็ตาม ไม่มีเลย ที่จะไม่กล่าวถึงสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

    เพราะว่า เป็นความจริงที่ควรรู้ยิ่ง แต่ว่าฟังแล้วก็เริ่มเข้าใจว่าเป็นสิ่งที่มี แต่ยังไม่รู้แต่ละลักษณะที่เป็นธรรมจริงๆ เพราะฉะนั้น แม้แต่เพียงคำถามข้อเดียว คือรู้ ในรูป รู้ชัด ในความเป็นขันธ์ด้วย เพราะฉะนั้น รูปมีแน่นอน เพราะฉะนั้น ขณะนี้รูปกำลังมี จะรู้รูปไหน เห็นไหมสิ่งที่ปรากฏทางตา ก็เป็นรูป กำลังเป็นรูปปรากฎให้เห็นความเป็นรูป เสียงก็มีจริงๆ เสียงก็ปรากฏให้รู้ในความเป็นธรรมที่มีจริง แข็งก็มีจริง คิดก็มีจริง

    เพราะฉะนั้น ถ้ากล่าวถึงจะรู้ในรูป รู้รูปไหน เห็นไหม เพราะไม่รู้ จึงบอกไม่ได้ ที่ไม่ตอบ เพราะว่าไม่ใช่กำลังรู้ในรูปที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้น ก็ตอบไม่ได้ รู้รูปก็หมายความว่า ต้องมีลักษณะของรูป ซึ่งขณะนี้กำลังปรากฏ และเมื่อสิ่งนั้นมีจริงๆ แต่ไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลย ขณะที่กำลังมีลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริง เช่น แข็งไม่สามารถจะรู้อะไรได้ ไม่ต้องเรียกว่ารูป แต่กำลังเริ่มรู้ว่าสิ่งที่มีจริงนี้แหละไม่เคยรู้มาก่อนเลยทั้งสิ้น

    เพราะฉะนั้น ฟังพระธรรมไม่ใช่เพื่อให้รู้อย่างอื่น ให้รู้ลักษณะของรูป ที่กำลังปรากฏ แล้วแต่ว่าจะเป็นรูปไหนก็ได้ เพราะฉะนั้น ขณะที่กำลังรู้ที่แข็ง และถามว่ารู้รูป รู้ชัดในรูปก็ตอบไม่ได้ เพราะว่าขณะนั้นไม่ได้รู้ในลักษณะที่เป็นรูปที่แข็ง ทางตาก็กำลังเห็น มีสิ่งที่ปรากฏ แน่นอน ก่อนฟังธรรมไม่สนใจเลย ว่าแท้ที่จริงแล้ว ความจริงก็คือว่า มีธรรมอย่างหนึ่ง อย่างเดียวเท่านั้นที่สามารถจะปรากฏให้เห็นได้ และกำลังปรากฏให้เห็นได้ในขณะนี้ด้วย

    เพราะฉะนั้น ไม่ลืมความจริง ฟังธรรมเพื่อเข้าใจถูก เห็นถูกในสิ่งซึ่งมี แต่ไม่เคยเข้าใจมานานแสนนาน เพราะฉะนั้น จะยากสักแค่ไหน จากการที่พอเห็นก็รู้ว่าเป็นดอกไม้ เป็นคน เป็นโต๊ะ เป็นเก้าอี้ ไม่ใช่เห็น และรู้ทันทีว่าเป็นธรรม เพราะฉะนั้น จากการที่เห็นเป็นสิ่งหนึ่ง สิ่งใด แล้วก็ค่อยๆ คลายการที่รู้ว่าเป็นสิ่งที่เพราะเห็น จึงมีรูปร่างสัณฐาน และก็จำได้ทันทีรู้ได้โดยอาการนั้นๆ ว่าเป็นอะไร แทนที่จะเป็นเหมือนเดิมก็ได้ฟังใหม่ เพื่อที่จะเริ่มเข้าใจว่า สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาเป็นธรรมอย่างหนึ่งอย่างเดียว ที่สามารถจะปรากฏให้รู้ได้ว่ามีจริงๆ เมื่อจิตเห็นเกิดขึ้น ก็ฟังบ่อยๆ ขณะนี้มีสิ่งที่กำลังปรากฏ ไม่ต้องเรียกว่ารูปก็ได้ แต่ว่ามี และก็เริ่มที่จะเข้าใจว่าเป็นธรรม เพราะฉะนั้น รู้ชัดในรูปที่ปรากฏทางตาหรือยัง เพียงแค่ฟังว่ามีจริงเป็นรูปที่สามารถจะปรากฏให้เห็นได้ ไม่ใช่สิ่งที่เราไปจำสัณฐานต่างๆ แล้วก็นึกว่าสิ่งนั้นมี แล้วก็ผ่านลักษณะของธรรมซึ่งกำลังปรากฏให้เห็น ก่อนที่จะเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ต้องมีสภาพธรรมที่กำลังปรากฏให้เห็น

    เพราะฉะนั้น การฟังธรรมก็พิสูจน์ความรู้ความเข้าใจของตนเอง จะไม่มีคำถามว่า แล้วถูกไหม แล้วใช่ไหม เพราะเหตุว่า เป็นการฟัง แล้วก็มีสิ่งที่กำลังปรากฏ แล้วก็เข้าใจแค่ไหนในสิ่งที่ได้ฟัง เพราะฉะนั้น เพียงคำถามนี้ สิ่งที่กำลังปรากฏทางตากำลังปรากฏ รู้ในรูปที่ปรากฏทางตา เดี๋ยวนี้ที่กำลังปรากฏหรือยัง ยังไม่ถึงชัด แค่รู้ รู้หรือยัง

    เพราะฉะนั้น การ “รู้” กับ “รู้ชัด” นี้ก็ต้องต่างกันมาก ในสภาพธรรมที่ปรากฏ แล้วยังกล่าวถึงโดยความเป็นขันธ์ ยิ่งยาก เพราะว่าขันธ์ หมายความถึง สภาพที่เกิดนี่แหล่ะ และดับ เพราะฉะนั้น เป็นแต่ละ ๑ประมาณไม่ได้เลย แล้วเพราะสิ่งที่เกิด และดับ ใช้คำว่าดับคือไม่กลับมาอีก ไม่เหลือเลย เพราะฉะนั้น สิ่งที่มีตั้งแต่เกิดจนตายเฉพาะในชาตินี้ จะมากมายสักแค่ไหน จนกระทั่งแม้เมื่อเช้านี้ จนถึงขณะนี้ก็มากมายสักแค่ไหนซึ่งเกิดแล้ว ดับแล้ว เพราะฉะนั้น รู้ชัดในรูปที่เป็นขันธ์หรือยัง ก็ยังทั้งนั้น ใช่ไหม

    เพราะเหตุว่า ขณะนี้แม้เป็นรูปที่ปรากฏให้เห็น ก็ยังไม่ได้เริ่มที่จะเข้าใจขึ้นทีละเล็ก ทีละน้อยว่าอย่างนั้นจริงๆ เป็นเพียงสิ่งที่สามารถปรากฏ เพราะสามารถกระทบจักขุปสาท แล้วเพราะจิตเห็นเกิดขึ้น สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาขณะนี้จึงปรากฏได้ เป็นปฏิจจสมุปบาทหรือเปล่า ไม่ใช่ไปเอาแต่ชื่อมา แต่ความเข้าใจชื่อต่างๆ ไม่ว่าจะโดยนัยของปฏิจจสมุปบาท หรืออริยสัจจะก็ต้องมาจากการเข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏ เมื่อเข้าใจจริงๆ ว่าขณะนี้มีสิ่งที่มีจริง ปรากฏทางตาอย่างหนึ่ง ไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลย เริ่มเข้าใจในความเป็นธาตุไหม ธา-ตุ พอในความเป็นธาตุก็คือว่า เปลี่ยนแปลงสิ่งนี้ไม่ได้ สิ่งนี้เป็นอย่างนี้

    เพราะฉะนั้น สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา จะเปลี่ยนให้เป็นเสียงก็ไม่ได้ เปลี่ยนความเป็นธาตุที่เป็นธรรมของสิ่งนั้นไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น เวลาที่กำลังรู้ลักษณะของสิ่งหนึ่งสิ่งใด ขณะนั้นก็เห็นความเป็นธาตุในสิ่งนั้น และถ้ามีความเข้าใจชัดขึ้น ก็จะรู้ในความเป็นขันธ์ คือการเกิดขึ้นแล้วดับไปของสภาพธรรม เพราะฉะนั้น ธรรมไม่ใช่เป็นเรื่องที่เรารีบร้อนผ่านไป


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 184
    17 เม.ย. 2567