พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 744


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๗๔๔

    ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๔ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๔


    ท่านอาจารย์ ผลของกรรม คือ เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส เพราะฉะนั้น เห็นไม่ว่า จะเห็นอะไร ก็เป็นผลของกรรม แต่โกรธ หรือชอบ หรือเมตตา พวกนี้ไม่ใช่ผลของกรรม เพราะฉะนั้น ทราบได้เลยว่า ผลของกรรมในชีวิตประจำวัน คือ ขณะที่เห็น ขณะที่ได้ยิน ขณะที่ได้กลิ่น ขณะที่ลิ้มรส ขณะที่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส โลภะโทสะไม่ใช่ผลของกรรม ถ้าจะมองอีกแง่หนึ่ง งานที่ว่าหนัก ไม่ยากเลย เพียงแค่ฟัง ต้องไปทำอะไรอย่างที่คุณนิรันดร์ทำ อย่างโน้นอย่างนี้ ตอนบ่าย ตอนเช้า ตอนเย็นหรือเปล่า เพียงแค่ฟัง และเข้าใจสิ่งที่กำลังฟัง ยากไหม เหนื่อยไหม ลำบากไหม ต้องลงทุนลงแรงอะไรหรือเปล่า เพียงแค่ฟัง และเราก็ฟังอย่างอื่นมามากมายใช่ไหม แต่ประโยชน์นี้ ฟังอะไรที่สามารถจะเป็นประโยชน์ได้ ก็ควรฟังใช่ไหม

    เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นผู้ที่ได้สะสม ศรัทธา หิริ โอตตัปปะ และการเห็นประโยชน์จริงๆ จะรู้ว่า เป็นงานที่ยากยิ่งเพราะฝืนกระแสของกิเลส สะสมกิเลสมามาก เพราะฉะนั้นกิเลสย่อมเกิดบ่อยกว่า แต่ถ้าพูดถึงว่า ต้องไปทำความลำบากอะไร ไม่ต้องเลย เพียงแค่ฟัง หรือว่าจะอ่าน หรือว่าจะไตร่ตรอง คิดถึงสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง แทนที่จะคิดถึงเรื่องอื่น แต่ว่าอกุศลก็คิดถึงเรื่องอื่นเยอะเลย เหนื่อย และหนัก แต่พอคิดถึงธรรมที่กำลังปรากฏ และธรรมที่ได้ยินได้ฟัง และการ (นาทีที่ ๒.๐๓ แก้เป็น"ความ") ความลึกซึ้งที่จะสามารถเข้าใจธรรมขึ้นทีละเล็กทีละน้อยได้ จะเป็นเหตุทำให้แม้สภาพธรรมกำลังปรากฏเป็นปกติอย่างนี้ ปัญญาที่เจริญแล้วก็ละการยึดถือได้ และสภาพธรรมก็ปรากฏตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้น ก็สะสมการฟัง ไม่ใช่ไปหวัง หรือว่าไปทำอะไรที่ไม่ใช่ฟังเข้าใจ

    ผู้ฟัง แต่งานนี้ไม่ชอบทำ แล้วก็ขี้เกียจ แล้วก็เบื่อ

    ท่านอาจารย์ ใครที่ไม่ชอบ

    ผู้ฟัง กิเลสไม่ชอบ

    ท่านอาจารย์ ให้รู้จักกิเลสว่า เป็นทาสของกิเลสมานาน ที่จะพ้นจากอำนาจของกิเลสด้วยการครอบงำความเป็นนายของกิเลส เป็นไปไม่ได้โดยรวดเร็ว

    ผู้ฟัง การรู้ชื่อกับการเข้าใจว่า เป็นธรรมจริงๆ มีความแตกต่างกัน

    ท่านอาจารย์ จำชื่อแต่ไม่รู้ว่า ชื่อหมายความถึงธรรมที่กำลังมีในขณะนี้ ก็ไม่มีประโยชน์ แต่ถ้ารู้ว่า ขณะนี้ เห็นมี ชื่ออะไรก็แล้วแต่ภาษาไหน ได้ยินมี ชื่ออะไรก็แล้วแต่ ไม่เรียกเลย ได้ยินก็ต้องได้ยิน เกิดขึ้นได้ยินก็ดับไป จะให้ได้ยินไม่ดับก็ไม่ได้ ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใคร มีความมั่นคงตลอดกี่ชาติก็ตามที่ได้ฟังธรรม คือ มั่นคงว่า เป็นธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย เรื่องราวทั้งหลายจะไม่ตามไปเลย คุณนิรันดร์ชาตินี้ฟังพระสูตรกี่พระสูตร

    ผู้ฟัง ก็ไม่กี่พระสูตร

    ท่านอาจารย์ และพระอภิธรรม คือ อภิธรรมพูดเรื่อง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ก็ฟังมานาน เรื่องราวมากมาย ปัจจัยชื่อต่างๆ อนันตรปัจจัย สมนันตรปัจจัย แต่พอจากโลกนี้ไปสู่อีกโลกหนึ่ง ชื่อต่างๆ ตามไปหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ไม่

    ท่านอาจารย์ แต่ความเข้าใจธรรม สามารถที่จะเข้าใจธรรมที่ปรากฏไม่ว่าจะเมื่อไหร่ก็ได้ เพราะฉะนั้น ฟังเพื่อเข้าใจ และสะสมความมั่นคงว่า เป็นธรรม แม้แต่ได้ยิน ไม่ใช่ไปนั่งนับว่า เสียงกระทบกับโสตปสาทอะไรอย่างนั้น นั่นก็คือเพียงให้เห็นว่า เป็นอนัตตาไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใคร แต่ความรู้จริงๆ คือ สามารถที่จะเข้าใจในธรรมที่กำลังปรากฏว่า เป็นธรรม

    ผู้ฟัง ฉะนั้นการฟังเพื่อเข้าใจว่า เป็นธรรม จริงๆ แล้วแม้จะไม่ประจักษ์ในสภาพธรรมแต่อย่างน้อยถ้าเข้าใจจริงๆ และมั่นคงจริงๆ ก็เข้าใจว่า เห็นเป็นผลของกรรม และจะไม่เดือดร้อน

    ท่านอาจารย์ เวลานี้ทุกคนคล่องปาก “เห็นเป็นผลของกรรม” ถูกต้องไหม

    ผู้ฟัง ใช่

    ท่านอาจารย์ แต่ปัญญาที่สามารถจะรู้เห็นที่ปรากฏว่า ต่างกับคิดนึก จึงรู้ว่า เห็น เลือกไม่ได้เลย เป็นการประจวบกันเกิดขึ้นจึงเป็น “อุปปัตติ” การเกิดขึ้นของวิบาก ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย แม้ว่า สภาพธรรมอื่นก็เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย แต่ก็ไม่เหมือนเห็น ต้องอาศัยจักขุปสาท ต้องอาศัยการประจวบกันของสิ่งที่กระทบ และขณะนั้นก็ต้องมีวิถีจิตเกิด และต้องมีจิตที่เกิดก่อนจิตเห็นด้วย นี่คือการที่เราสามารถที่จะรู้ว่า เป็นวิบากในขณะที่สิ่งนั้นปรากฏ แต่เวลานี้จำได้ว่า เห็นเป็นวิบาก แต่ไม่ใช่ในขณะที่เห็นปรากฏแล้วรู้ว่า เห็นเป็นวิบาก

    เพราะฉะนั้น การฟังคือ เพื่อถึงขณะที่สามารถจะรู้ความต่างของเห็น และคิดนึก คิดนึกไม่ต้องอาศัยเห็นเลย เมื่อไหร่ก็คิด เรื่องอะไรก็ได้หมดเลย จะคิดเรื่องอะไรก็ได้ทั้งนั้น แต่เห็นต้องเห็นเฉพาะสิ่งที่ปรากฏให้เห็นที่ยังไม่ดับ นี่คือความต่างกันที่เป็นวิบาก เพราะฉะนั้น ก็สามารถที่จะเข้าใจความเป็นวิบากของเห็น เมื่อสามารถที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมอื่นๆ ที่ต่างกัน เช่น เห็นต่างกับคิด คิดอะไรได้หมด แต่เห็นไม่ใช่อย่างนั้น ต้องเห็นเพียงสิ่งที่กระทบจักขุปสาทในขณะนั้น

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์บอกว่าให้เข้าใจว่า เห็นเป็นธรรม เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ขณะนั้นค่อยๆ เข้าใจลักษณะของเห็นซึ่งไม่ต้องใช้คำว่า วิบาก แต่เป็นวิบาก

    ผู้ฟัง ฉะนั้นจึงไม่มีใครทำอะไรให้เราได้เลย

    ท่านอาจารย์ ไม่มีเรา เป็นธรรมทั้งหมด

    ผู้ฟัง ทุกคนรับข่าวทุกวันในชีวิตประจำวัน แต่จะมีข่าวประเภทที่เป็นวาจาสัจจะ วาจาที่ทำให้เข้าใจคำสอนของพระพุทธเจ้าหรือว่าความจริงขณะนี้ คล้ายๆ กับเรื่องงานที่จะทำ คือ งานสะสมกิเลสหรือว่างานละกิเลส การเสพข่าวหรือการรับข่าว ก็จะคล้ายๆ กันในแง่ที่ว่า ๑. จริงๆ แล้วข่าวหมายถึงอะไร ๒. ในการที่ใช้ชีวิตประจำวันให้เป็นข่าวที่เป็นวาจาสัจจะคืออย่างไรใน ๒ ประเด็น

    ท่านอาจารย์ ก็เป็นชีวิตประจำวันจริงๆ ทุกคนฟังข่าวทุกวันจริงไหม แล้วใครบ้างที่จะรู้ว่า เป็นข่าวของจิต และเจตสิก และรูป ไม่รู้เลยใช่ไหมถ้าไม่ได้ฟังพระธรรม แม้ว่า ได้ฟังพระธรรมก็ตามแต่ แต่เวลาที่ได้ยินข่าว ขณะนั้นใจคิดถึงอะไร ไม่ได้คิดถึงเลยว่า ขณะนั้นทุกข่าว เป็นกุศลจิต หรือเป็นอกุศลจิต หรือเป็นผลของกรรม คือ วิบากจิต ไม่ว่าจะเป็นอกุศลวิบากหรือกุศลวิบาก

    เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นข่าวที่ได้ยินได้ฟัง และมีความเข้าใจถูกต้องก็จะรู้ว่า ข่าวทั้งหมด คือ เรื่องราวของ จิต เจตสิก และรูป ถ้าไม่มีจิต ไม่มีเจตสิก ไม่มีรูป ข่าวไม่มีเลย เพราะฉะนั้น จากการที่ไม่รู้ว่า ข่าวคืออะไร บัดนี้พอฟังแล้วก็รู้ว่า ข่าวก็คือ เรื่องราวของ จิต เจตสิก และรูป เรื่องราวของกรรม เรื่องราวของผลของกรรม เรื่องราวของกุศลจิต เรื่องราวของอกุศลจิต หรือใครคิดว่า ไม่ใช่อย่างนี้ ทุกข่าว แต่ไม่ได้คิดเลยสักนิด ว่าขณะนั้น เป็นกุศลจิตหรือเป็นอกุศลจิต เป็นกุศลกรรมหรือเป็นอกุศลกรรม หรือเป็นกุศลวิบากหรือเป็นอกุศลวิบาก แต่ว่า ชีวิตประจำวันเป็นธรรมทั้งหมด

    เพราะฉะนั้น การที่จะรู้จักธรรมก็คือว่า ฟังธรรมแล้วไตร่ตรอง แล้วเข้าใจทุกอย่างว่า เป็นธรรม ไม่ใช่เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน อย่างที่เคยคิด เคยเข้าใจ นี้ก็ประการ ๑ คือ ประการแรกที่ว่า เมื่อได้ฟังแล้วว่า สภาพธรรมจริงๆ คือ จิต เจตสิก รูป เพราะฉะนั้น ข่าวทั้งหมดเป็นเรื่องราวของ จิต เจตสิก รูป ถูกต้องไหม อย่างนี้ขั้น ๑ ทีนี้ต่อไปอีก ใครกำลังได้ยินข่าว ไม่ได้คิดเลย ในขณะที่กำลังฟังข่าวก็ไม่รู้ว่า เป็นเรื่องราวของกุศลจิต และอกุศลจิต และผลของกรรม

    เพราะฉะนั้น สามารถเข้าใจได้ตอน ๑ ว่า เพราะมี จิต เจตสิก รูป จึงมีข่าวต่างๆ แต่ว่า ใครกำลังฟังข่าว อีกตอน ๑ ใช่ไหม เพราะฉะนั้นก็คือ ไม่มีเราแน่นอน คำเดิม ไม่เปลี่ยน คือ จิต เจตสิก แน่นอนที่กำลังฟังข่าว ได้ยินข่าว และขณะที่ฟังข่าว ได้ยินข่าว จิตอะไร เจตสิกอะไร ก็ลึกลงไปอีก ที่จะรู้ว่า ขณะนั้นฟังแล้วเป็นอย่างไร ฟังแล้วโทสะเกิด ขณะนั้นบอกแล้วว่า โทสะเกิด ไม่ใช่เรา แต่ไม่รู้เลยว่า ขณะนั้นที่ได้ยินสิ่งที่ไม่น่าพอใจเป็นปัจจัยให้โทสะเกิด มีปัจจัยที่โทสะธรรมประเภท ๑ เกิดขึ้นในขณะที่ได้ยินอย่างนั้น ถ้าเป็นเรื่องที่น่าเพลิดเพลิน เช่น บางคนก็จะได้ข่าวจากโทรทัศน์บ้าง จากหนังสือพิมพ์บ้าง หรือว่า เรื่องบันเทิงต่างๆ พอเป็นข่าวเรื่องบันเทิง สนุกสนานใช่ไหม ขณะนั้นจิตอะไรเกิด ก็เป็นปัจจัยให้โลภมูลจิตเกิด ไม่รู้เลยว่า ตั้งแต่เกิดจนตายเป็นธรรมทั้งหมด นี้คือเริ่มรู้ว่า ขณะที่ได้ฟังข่าว คือ กุศลจิตบ้าง อกุศลจิตบ้างเกิด แต่ความละเอียดยังมีต่อไปอีกว่า ในขณะนั้น มีเห็น และขณะที่จิตเห็นกำลังเห็นสิ่งที่ปรากฏ ขณะนั้นเป็นข่าวหรือยัง หรือเป็นแต่เพียงสิ่งที่ปรากฏ และต้องปรากฏเพราะถึงวาระที่กรรมจะเป็นปัจจัยให้มีการเห็นเกิดขึ้น

    เพราะฉะนั้น การเข้าใจธรรมละเอียดขึ้นๆ ถ้าสามารถที่จะมีปัจจัยที่จะระลึกได้ ย่อมสามารถที่จะรู้ความจริง คือ ได้ฟังวาจาสัจจะ และไตร่ตรองจนกระทั่งสามารถที่จะเข้าใจได้ว่า แม้ขณะนั้นก็เป็นลักษณะของสภาพธรรมประเภทต่างๆ เช่น ขณะที่เห็น จะเป็นเห็นเมื่อไหร่ก็ตาม เช่น ขณะนี้ ขณะนั้นไม่ใช่ข่าว เป็นแต่เพียงสิ่งที่ปรากฏให้เห็น และต้องเห็น เพราะเหตุว่า กรรมเป็นปัจจัยที่จะทำให้ถึงกาลที่ต้องเห็น นี่คือ ความละเอียดขึ้น และก่อนจิตเห็นมีข่าวหรือยัง ก่อนจิตเห็นมีจิตไหม

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ เห็นไหม มีจิตแต่ว่า ไม่มีข่าว ก่อนจิตเห็นต้องมีจิตแน่ เพราะฉะนั้น จิตเห็นเกิดหลังจากที่จิตก่อนเห็นดับ เพราะฉะนั้น จิตก่อนเห็น ถ้าไม่ศึกษามีทางจะรู้ได้ไหม ไม่มีทางเลย แต่ว่า พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงความจริงให้ทุกคนค่อยๆ เข้าใจความเป็นอนัตตา ความเป็นธรรมซึ่งไม่มีใครสามารถที่จะบังคับบัญชาได้ โดยทรงแสดงว่า ก่อนจิตเห็นขณะนี้ต้องมีจิต ๑ ขณะซึ่งเกิดก่อน และไม่ใช่จิตเห็นด้วย จิตนั้นไม่ใช่ภวังคจิต ไม่ใช่ขณะที่ไม่มีการรู้อารมณ์ทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจเลย หลับสนิทอะไรๆ ก็ไม่ปรากฏ แล้วทำไมจึงมีจิตเห็นเกิดขึ้นได้

    เพราะฉะนั้น ก็ต้องมีปัจจัย คือ ต้องมีสิ่งที่สามารถกระทบกับจักขุปสาท แล้วก็เป็นปัจจัยให้จิตไม่เป็นภวังค์อีกต่อไป เพราะจะต้องเห็น เพราะฉะนั้น วิถีจิตขณะแรกที่รู้อารมณ์ที่ไม่ใช่อารมณ์ของภวังค์ คือ อาวัชชนจิต ถ้าเป็นทางตาเรียกว่า จักขุทวาราวัชชนจิต ถ้าเป็นทางหูเป็นโสตทวาราวัชชนจิต เดี๋ยวนี้มีไหม

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ มีก็ไม่รู้ เพราะฉะนั้น จิตนี้สามารถที่จะรู้อารมณ์ที่กระทบทางตา หรือหู จมูก ลิ้น กายได้ จึงมีชื่อว่า "ปัญจทวาราวัชชนจิต" เกิดก่อนแล้วดับไป ปัญจทวาราวัชชนจิตไม่เห็น ไม่เป็นข่าวขณะนั้น และจักขุวิญญาณเกิดขึ้นเห็น เพียงมีสิ่งที่ปรากฏทางตาก็ยังไม่ใช่ข่าว เพราะฉะนั้น การศึกษาธรรม ก็คือว่า จะพูดถึงธรรม ในลักษณะไหน กว้างขวางลึกซึ้งอย่างไร ก็เพื่อจะให้เห็นความจริงว่า ไม่ใช่เรา เป็นธรรมแต่ละอย่าง ซึ่งไม่มีใครสามารถที่จะเปลี่ยนแปลงลักษณะของสภาพธรรมแต่ละอย่างนั้นได้เลย และทรงแสดงละเอียดว่า ขณะนั้นจิตนั้นมีเจตสิกอะไรเกิดร่วมด้วย และยังทรงแสดงว่า โดยฐานะเป็นปัจจัยอย่างไร ทั้งหมดเพื่อให้คลายการยึดถือสภาพธรรม เพราะรู้ตามความเป็นจริงว่า เป็นธรรมแต่ละ ๑ ไม่ก้าวก่ายสับสนกัน แม้จะเกิดร่วมกันก็เป็นธรรมที่ต่างกัน และต่างก็อาศัยกัน และกันเกิด นี่คือ วาจาสัจจะซึ่งเป็นอีกข่าวหนึ่ง ใช่ไหม และจิตที่รู้ขณะนี้ถ้ามีความเข้าใจถูกต้อง ก็เป็นกุศลจิตที่ประกอบด้วยปัญญา ธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียด

    เพราะฉะนั้น ฟังแล้วคิด และไตร่ตรอง ที่ฟังมาก็จะได้เก็บเล็กผสมน้อย และสามารถที่จะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้เพิ่มขึ้น ด้วยเหตุนี้ ข่าว คือ เรื่องราวของ จิต เจตสิก รูป และจิต เจตสิก ที่กำลังได้ยินข่าว รู้ข่าว ก็เป็นกุศลจิตบ้าง อกุศลจิตบ้าง เพราะฉะนั้น ก็แสดงให้เห็นว่า ไม่ใช่ใคร เกิดขึ้นแล้วดับไป

    ผู้ฟัง ข่าวที่พวกเราเข้าใจเหมือนกับว่า เรื่องราวในชีวิตประจำวันที่ไม่ได้แพร่หลายให้คนรู้ ก็จะไม่ได้เรียกว่า ข่าว แต่ถ้าตามที่ท่านอาจารย์อธิบายเหมือนกับว่า คือ คิดตามสิ่งที่เห็น หรือคิดตามสิ่งที่ได้ยิน นั่นคือ เรื่องราวที่คิดไปตามการสะสม อันนี้ก็เป็นข่าว

    ท่านอาจารย์ เพราะอะไร เวลาคิดๆ เป็นเรื่องหรือเปล่า

    ผู้ฟัง เป็นเรื่อง

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น เวลาที่เห็นหนังสือพิมพ์ แล้วก็อ่านแล้วก็คิดเป็นเรื่องหรือเปล่า

    ผู้ฟัง เป็นเรื่อง

    ท่านอาจารย์ ก็เป็นเรื่อง ไม่ต่างกันเลย

    ผู้ฟัง กลับมาสู่ประเด็นว่า ที่ใช้คำว่า “วาจาสัจจะ” คือ คำที่ทำให้เข้าใจพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ก็เป็นข่าวที่ทำให้ปัญญาเจริญ แต่ดูเหมือนว่า ชีวิตประจำวันของคนส่วนใหญ่ก็ไม่สนใจข่าวที่เป็นวาจาสัจจะ แต่ว่า สะสมมาที่จะสนใจข่าวที่ทำให้อกุศลเจริญหรือเพิ่มพูนขึ้น ซึ่งก็ยิ่งจะเพิ่มพูนกิเลสอกุศลทำให้วัฏฏะยืดยาว สังสารวัฏฏ์ยืดยาว แต่มีโอกาสที่จะได้รับข่าวที่เป็นวาจาสัจจะ โดยเฉพาะอย่างมูลนิธิฯ หรือว่าฟังจากวิทยุเอ็มพี ๓ ทางเว็บไซต์ ทางโทรทัศน์ ฯลฯ มีโอกาสให้รับข่าวมากมาย แต่ก็เหมือนกับว่า จะเลือกอะไรที่เป็นข่าวที่ทำให้อกุศลเจริญมากกว่าข่าวที่ทำให้ละกิเลสหรือปัญญาเจริญ

    ท่านอาจารย์ ความจริงต้องเป็นความจริง ธรรมเป็นอย่างไรก็ต้องเป็นอย่างนั้น ถ้าสะสมอกุศลมามาก แล้วจะให้กุศลเกิดมากกว่าอกุศลได้ไหม

    ผู้ฟัง ถ้าสะสมอกุศลมามาก อกุศลก็จะเกิดมากกว่ากุศล

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง และวันหนึ่งๆ ก็เป็นอย่างนี้ แต่ในขณะเดียวกันผู้ที่มีศรัทธา และเห็นประโยชน์ของการจะเข้าใจความจริงของสิ่งที่กำลังปรากฏ ประโยคสั้นๆ แค่นี้ มีศรัทธาที่จะเข้าใจความจริงของสิ่งที่กำลังปรากฏจึงฟัง ใช่ไหม แต่คนที่ไม่เห็นประโยชน์ ไม่เคยสะสมศรัทธา และคิดว่า “รู้อย่างนี้แล้วมีประโยชน์อะไร” ก็ยังคิดเช่นนี้ได้ ทำไมไม่คิดให้ง่ายกว่านั้น คือ รู้กับไม่รู้ อะไรเป็นประโยชน์ และถ้ารู้สิ่งที่ถูกต้อง เป็นประโยชน์หรือเปล่า และถ้าสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่ไม่เปลี่ยนแปลงเลย ถูกต้องถูก ผิดก็ต้องผิด

    เพราะฉะนั้น ก็จะสามารถเข้าใจความเป็นมา และความเป็นไปของชาตินี้ ขณะนี้ และชาติต่อไปด้วย ดีกว่าที่จะอยู่ไปวันหนึ่งๆ โดยที่ไม่รู้อะไร ไม่เข้าใจอะไร และวันหนึ่งก็จากโลกนี้ไป แล้วก็ไม่สามารถที่จะรู้ได้เลยว่า จากไปแล้วไม่ใช่ไม่มีอีกต่อไป ยังต้องมีการเกิดอีกด้วย แต่ว่าจะเกิดอีกเป็นอะไร ถ้าขณะนี้ไม่ได้ฟังในเรื่องเหตุผลตามความเป็นจริง ก็เห็นการเกิดของพวกสัตว์เดรัจฉาน ในภพนี้ ในภูมินี้ แล้วก็ยังมีกรรมที่หนักกว่านั้นอีก ที่ทำให้เกิดในอบายภูมิ เกิดในนรก เกิดเป็นเปรต อีกภูมิหนึ่ง คือ อสูรกาย ก็ไม่ค่อยจะมีใครกล่าวถึงเพราะว่า เป็นภูมิที่ไม่รื่นเริง ไม่มีการรื่นเริงใดๆ แต่ก็ไม่ใช่นรก แล้วก็ไม่ใช่เปรต และไม่ใช่สัตว์เดรัจฉาน

    เพราะฉะนั้น ถ้าสามารถที่จะเข้าใจเหตุ และผลของการที่ได้เกิดมาเป็นคนนี้ และเหตุ และผลของการที่เป็นไปตามการสะสม แต่ละคน ดีบ้าง เลวบ้าง ทุกคนไม่อยากจะเป็นคนเลว ทุกคนไม่อยากจะเป็นคนที่ทำผิด ทุกคนไม่อยากจะมีกิเลสมากๆ แต่ต้องเป็นไปตามการสะสม เพราะฉะนั้น ถ้ามีความเข้าใจอย่างนี้จริงๆ เป็นปัจจัยให้ทำความดีมากขึ้น เพราะรู้ว่า เหตุที่ทำในชาตินี้ก็จะทำให้เกิดผลในชาติต่อไปด้วย

    เพราะฉะนั้น การรู้ และการเข้าใจความจริงของสิ่งที่มีจริงๆ ในขณะนี้ เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง เพราะว่า ไม่ใช่เป็นประโยชน์แต่เฉพาะในขณะนี้ แต่ยังเป็นประโยชน์ถึงชาติต่อๆ ไปด้วย หรือขณะต่อๆ ไปด้วย

    ผู้ฟัง ดูเหมือนว่า การที่จะรับฟังข่าวที่ทำให้เข้าใจพระธรรม ก็ต้องเริ่มด้วยศรัทธา ที่ว่า ฟังสิ่งที่กำลังปรากฏ แล้วเมื่อไตร่ตรองตาม ก็เป็นจริงเช่นนั้น เป็นความจริงว่า ถ้าไม่ได้ฟังก็จะไม่รู้เลยว่า เห็นหรือรับรู้ ๖ ทางเป็นธรรมอย่างไร แต่เมื่อฟังแล้วก็มีศรัทธาที่จะฟังก็ทราบว่า ความจริงก็ไม่มีอะไรนอกจากสิ่งที่กำลังปรากฏ ซึ่งในตรงนี้ก็แน่นอนต้องมีการสะสม แล้วก็สามารถสะสมให้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ได้ จึงจะเป็นการที่ว่า รับข่าวที่ทำให้เข้าใจพระธรรม

    ท่านอาจารย์ และก็มีประโยชน์ด้วยใช่ไหม เพราะเหตุว่า เข้าใจจริงๆ ว่า สิ่งที่ยังไม่เกิด ไม่มีใครสามารถที่จะรู้ได้ และสิ่งที่หมดไปแล้วก็ไม่ได้ปรากฏ เพราะฉะนั้น มีศรัทธาที่จะเข้าใจ สิ่งที่กำลังปรากฏจริงๆ โดยการฟังจนกระทั่งสามารถที่จะค่อยๆ เข้าใจได้

    ผู้ฟัง อีกประเด็นในเรื่องข่าวก็ทราบว่า ผู้ที่มีปัญญา เมื่อดูข่าวทางทีวีหรือดูอะไรต่างๆ ก็สามารถสติเกิดระลึกรู้สิ่งที่ปรากฏได้ แต่คนที่ยังฟังไม่มากพอ และปัญญาไม่มากพอ แน่นอนเลยถ้าดูข่าวที่ไม่ใช่ฟังธรรม คือ ทำอย่างอื่นที่ไม่ใช่ฟังธรรมก็จะทราบเลยว่า อกุศลเต็มๆ แล้วแต่ว่า จะอย่างไรแค่ไหน มีกำลังแค่ไหน

    ท่านอาจารย์ ธรรมทำให้ทุกคนรู้จักตัวเอง ใช้คำว่า “ตัวเอง” ตามความเป็นจริง แต่จริงก็คือ การสะสมของอกุศล และกุศลนั่นเอง กำลังฟังข่าวหรือเปล่า ต้องเข้าใจเลย ไม่ว่าที่ไหนที่มีเรื่องราวหลังจากที่ได้ยินก็ต้องเป็นข่าว เพราะฉะนั้น ข่าวที่นี่ก็เป็นข่าวของ จิต เจตสิก รูป ความเป็นไปของธรรมทั้งหมด ก็เป็นข่าวซึ่งเป็นสิ่งที่มีจริงในขณะนี้ ข่าวของสิ่งที่กำลังมีจริงๆ ในขณะนี้ เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นเรื่องอื่น ก็เป็นข่าว ก็ไม่ได้ต่างกัน คือ ฟังแล้วคิดเรื่องอะไร เรื่องนั้นก็เป็นข่าวของเรื่องนั้น คนที่ศึกษาธรรมดูหนังได้ไหม ดูภาพยนตร์ได้ไหม ดูโทรทัศน์ได้ไหม แล้วจะรู้ไหมว่า ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นเรื่องที่จะขึ้นต้น และจบลงไปอย่างไร และระหว่างที่ฟัง โศกเศร้าเสียใจ หรือว่าเห็นใจ หรือว่าไม่พอใจ ภาพยนตร์หรือว่าคนแสดง ฯลฯ ทั้งๆ ที่ไม่มีเลย ถูกต้องไหม มีแต่สิ่งที่ปรากฏให้เห็นกับคิดนึก เพราะฉะนั้น จริงๆ แล้วก็คือเท่านี้ ก็มี จิต เจตสิก ซึ่งเกิดขึ้นทำกิจการงานของ จิต เจตสิก นั้นๆ ในวันหนึ่งๆ เท่านั้นเอง แต่ก็จำแนกแจกแจงไปมากมาย เป็นข่าวหนังสือพิมพ์ หรือว่าเป็นภาพยนตร์ หรือเป็นเรื่องนิทาน หรือเป็นอะไรก็แล้วแต่ แต่ทั้งหมดก็คือ เป็นจิต และเจตสิกที่เกิดขึ้นทำกิจการงานทุกขณะไม่ได้หยุดยั้งเลย กำลังดูหนัง ร้องไห้ได้ไหม


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 184
    12 ม.ค. 2567