พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 754


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๗๕๔

    ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๑๕ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๕


    ท่านอาจารย์ ประโยชน์จริงๆ ของการฟังคือ เข้าใจสภาพธรรม และสภาพธรรมที่เป็นจริงอย่างนั้นก็ต้องเป็นอย่างนั้น เปลี่ยนแปลงไม่ได้ เพราะฉะนั้น เพียงแค่นี้ เห็นไหม ตำราที่เรียนมาทั้งหมด แต่พอถึงเวลาสงสัยไหมว่า “เอ๊ะ คำนี้เป็นอย่างไร” แต่จะค้านกับความเป็นจริงไม่ได้ ถ้าค้านคือ ผิด เพราะฉะนั้น ตำรับตำราโดยมากเราคิดว่า เราต้องเรียนก่อน แต่พอถึงตัวธรรมเราจะไม่เข้าใจเพราะว่า คำที่มีทั้งหมด แสดงถึงความจริงของสภาพธรรม กว่าจะรู้ถึงแม้คำว่า “อินทรีย์” ถ้ายังไม่รู้ว่า ขณะนี้ลักษณะนี้มีจริง เป็นลักษณะนั้นจะรู้ความเป็นอินทีรย์ได้ไหม

    อ.กุลวิไล ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ แต่ก็ท่องชื่อจำชื่อใช่ไหม แม้แต่ “อินทรียสังวร” อะไร ขณะไหน ปัญญาเกิดหรือเปล่า มีหรือเปล่า ก็ไม่รู้ทั้งสิ้น แต่ว่าตามความเป็นจริงก็คือว่า ให้เข้าใจถูกต้องจากการฟังคำที่ได้ยิน เพราะว่า ส่องถึงลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงเพื่อเข้าใจขึ้น นี่คือประโยชน์ของการฟัง

    สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาไม่ใช่ สัตว์ บุคคล ตัวตนใดๆ เลยทั้งสิ้น มั่นคงไหม ถ้ายังไม่มั่นคงก็หมายความว่า ยังไม่สามารถที่จะเข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาจริงๆ ทั้งๆ ที่ความจริงเป็นอย่างนี้ เมื่อไม่เข้าใจก็อาศัยการฟัง เพื่อที่จะได้ไตร่ตรองอีก พิจารณาอีกว่า ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นปกติอย่างนี้ ไม่ได้ให้ใครไปแยก ไปทำอะไรให้พิสดาร ประหลาด หรือว่า แปลกจากปกติเลย ปกติอย่างนี้เพียงแต่ความเข้าใจ เห็นไหมว่า ความเข้าใจสำคัญเพียงไหนว่า สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาให้เห็นได้ แค่นี้ มั่นคงหรือยัง มีจริงๆ ขณะนี้กำลังปรากฏ มีความมั่นคงที่จะรู้ว่า เพราะมีธาตุที่เกิดขึ้นเห็น สิ่งนี้จึงปรากฏเท่านั้น นี่คือ โลก ไม่ว่าจะกี่ภพกี่ชาติที่มีการเห็นแล้วไม่รู้ความจริงของสิ่งที่ปรากฏทางตา ก็ยาก และก็พยายามหาหนทางอื่น แต่หนทางจริงๆ คือ มั่นคงหรือยัง ที่จะเห็นถูก เข้าใจถูกว่า ขณะนี้ ขณะนี้ ไม่ลืม ไม่ใช่ขณะอื่น ขณะนี้เป็นแต่เพียงสิ่งที่ปรากฏให้เห็นได้

    เพราะฉะนั้น ไม่ต้องมากมายหลายประโยค เพียงแค่ที่จะมีความจำที่มั่นคง ที่จะเข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏ มีสิ่งที่ปรากฏทางตาเสมอเลย บ่อยๆ เช้า สาย บ่าย ค่ำ แต่ความมั่นคงที่จะเข้าใจว่า เป็นสิ่งที่เพียงปรากฏให้เห็นได้ มีกี่ครั้ง ยังไม่มั่นคงเลยใช่ไหม ได้ยินมา เหมือนแว่วๆ มา แต่ยังไม่ถึงการที่จะมั่นคงว่า ขณะนี้เอง ไม่ใช่ขณะอื่น เพียงหลับตาไม่เห็น สิ่งนี้ปรากฏไม่ได้

    เพราะฉะนั้น กี่ภพกี่ชาติก็มีเห็น เพราะไม่รู้จึงเข้าใจว่า สิ่งที่เห็นเป็นอะไร แต่ไม่ใช่ไปเปลี่ยนแปลงให้ไม่เห็นอะไรเลย บางคนก็เข้าใจว่าอย่างนั้น แต่ความจริงไม่ใช่ เห็นก็เป็นเห็น รู้ว่าเห็นเป็นอะไร ก็เป็นธรรมที่รู้ว่าเห็นเป็นอะไร ชอบในสิ่งที่ปรากฏก็เกิดแล้ว เป็นแล้ว เป็นธรรมอีกชนิดหนึ่ง

    เพราะฉะนั้น กว่าจะรู้จริงในแต่ละสิ่งที่ปรากฏจริงๆ ในชีวิตประจำวัน ก็ต้องเป็นผู้ที่มั่นคงที่จะรู้ว่า ความเข้าใจแม้เพียงประโยคเดียวเรามั่นคงหรือเปล่า เช่น ในขณะนี้ที่กำลังฟัง สิ่งที่กำลังปรากฏทางตามีจริงๆ เพียงแค่ปรากฏได้เมื่อจิตเห็นเกิดขึ้นเท่านี้เอง ถ้าเข้าใจอย่างนี้บ่อยๆ มากขึ้น ก็เป็นการปรุงแต่งที่จะให้ ไม่ว่าจะเห็นขณะไหน ความเข้าใจก็จะเริ่มมั่นคง ทีละน้อยด้วยไม่ใช่ว่ามั่นคงมากๆ ที่จะเห็นว่า เป็นสิ่งที่ปรากฏแล้วก็ดับไป กว่าจะถึงวันนั้นความเข้าใจต้องมั่นคง ที่จะละคลายการที่เคยยึดถือว่า เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด เพราะไม่เลือกที่จะรู้ ขณะนั้นถ้ามีความพอใจติดข้องก็รู้ในลักษณะนั้น ซึ่งลักษณะนั้นก็เกิดปรากฏสั้นมาก ชั่วคราวแล้วก็ดับไป แต่ไม่ปะปนกับสิ่งที่ปรากฏให้เห็นได้ทางตา

    เพราะฉะนั้น การฟังธรรมจึงต้องเป็นความเข้าใจสิ่งที่มีจริง อย่างมั่นคง และไม่เปลี่ยนแปลง ไม่คิดที่จะไปทำอย่างอื่นอีกเพียงแต่รู้ตัวเองว่า เข้าใจจริงๆ ค่อยๆ เข้าใจขึ้น เข้าใจมั่นคงขึ้นแล้วก็เป็นปกติ ไม่ใช่พอเห็นว่า เป็นแต่เพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา แล้วก็จะไม่รู้ว่า เป็นอะไร นั่นก็ผิดอีก แต่ความเข้าใจคือ สามารถที่จะเข้าใจสภาพธรรมแต่ละอย่างซึ่งมีจริงๆ ซึ่งปรากฏให้รู้ได้

    เพราะฉะนั้น ในขณะนี้ธรรมเกิดแล้วดับไปทั้งนั้นเลย รู้ธรรมไหนบ้าง ฟังก่อนค่อยๆ เข้าใจขึ้น จนกว่าจะรู้เฉพาะลักษณะของสภาพธรรมแต่ละอย่าง ตามเหตุตามปัจจัย เลือกก็ไม่ได้ อยากจะรู้อย่างนั้นอย่างนี้ก็ไม่ได้ ถึงจะรู้ความเป็นเป็นอนัตตาของสภาพธรรม ซึ่งจะทำให้ “ไม่ใช่เรา” ที่อยากรู้ หรือว่า “ไม่ใช่เรา” ที่พยายามจะรู้ แต่เข้าใจถึงเหตุปัจจัย นี่เป็นความสำคัญที่ ถ้าหลงผิดด้วยโลภะจะไม่สามารถที่จะเข้าใจตรงนี้ได้เลย เพราะต้องเป็นความอดทน เป็นเรื่องความเข้าใจจริงๆ เพราะเป็นเรื่อง “ละ” ไม่ใช่เป็นเรื่องต้องการที่จะให้รู้มากๆ หรือว่ารู้เร็วๆ

    ผู้ฟัง พอดีท่านอาจารย์ถามว่า มั่นคงหรือยังว่า ขณะนี้เห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา

    ท่านอาจารย์ มั่นคงว่า สิ่งที่ปรากฏทางตาขณะนี้มีจริงๆ เป็นธรรมอย่างหนึ่ง

    ผู้ฟัง ตอบไม่ได้ว่า มั่นคงหรือยัง ก็จะมาเรียนถามว่า อย่างไรถึงมั่นคง อย่างไรไม่มั่นคง

    ท่านอาจารย์ แต่เข้าใจหรือเปล่าที่พูด

    ผู้ฟัง เข้าใจ

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่เข้าใจ อะไรจะมั่นคง ความคิดเดิมๆ ก็ยังมั่นคงอยู่ว่า เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด แต่ว่า จากความเข้าใจขึ้น ไม่ลืม ระลึกได้โดยที่ไม่ใช่เป็นเราที่พยายามจะไปทำ แต่ต้องรู้ว่า ขณะนั้นที่ฟังแล้วฟังอีก ชาตินี้ฟัง มีกี่ครั้งที่เข้าใจลักษณะของสิ่งที่โดยปรากฏว่า เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏให้เห็นได้ ไม่ต้องนับ ไม่ต้องคอย ชาติหน้ามีโอกาสจะได้ฟังอีกไหม การที่เคยฟังแล้วเข้าใจบ้าง ก็จะทำให้ความเข้าใจเริ่มตรง แต่ก็ไม่ได้หวังว่า เมื่อไหร่จะประจักษ์การเกิดดับ หรือ เมื่อไหร่จะเข้าใจมากกว่านี้ แต่ก็รู้ว่า มีปัจจัยที่จะเกิดเมื่อไหร่ก็เกิดเมื่อนั้น ถ้าไม่มีปัจจัยก็เกิดไม่ได้

    เพราะฉะนั้น จึงต้องอาศัยการฟัง “ปริยตฺติ” เป็นความรอบรู้มั่นคงขึ้น จึงจะเป็นปัจจัยให้ “ปฏิปตฺติ” คือ สามารถที่จะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมในขณะนั้นซึ่งไม่ใช่เรา แต่เป็นสติสัมปชัญญะ เป็นความเห็นถูกในสิ่งที่มีจริงๆ ซึ่งได้ฟังมานานแล้ว กำหนดไม่ได้เลยว่านานเท่าไหร่ จนกว่าความเข้าใจนั้นจะเริ่มเข้าใจขึ้น และมั่นคงขึ้น สภาพธรรมจึงจะปรากฏตามความเป็นจริงได้ เพราะปัญญาสามารถที่จะเห็นถูกต้องตามความเป็นจริง ต้องมีความมั่นคงขั้นฟังก่อนใช่ไหม

    ผู้ฟัง ต้องมั่นคงขั้นฟังก่อน

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ขณะนี้มีสิ่งที่กำลังปรากฏ ไม่ได้พูดถึงสิ่งที่ไม่มี แต่กำลังพูดถึงสิ่งที่มีจริงๆ ที่กำลังปรากฏให้เข้าใจถูกต้องว่า เป็นธาตุหรือธรรมที่มีจริงแน่ๆ เพราะกำลังปรากฏให้เห็น ไม่ต้องไปคิดถึงเราหรือใครจะเข้าใจมากน้อยแค่ไหน แต่เริ่มมีความเห็นถูกว่า ทุกอย่างที่มีเพราะเกิดขึ้นแน่ๆ แม้แต่ที่ว่าเป็นเราก็เพราะเกิดมา ถ้าไม่เกิดมาจะ มีเห็น มีได้ยิน มีคิดนึกหรือ แต่เมื่อเกิดมาแล้ว ทั้งเห็น ทั้งได้ยิน ทั้งคิดนึก ก็ไม่ได้เข้าใจตามความเป็นจริงเลย จึงฟังเพื่อให้มีความเห็นถูก เข้าใจถูกที่มั่นคงขึ้นในขั้นฟัง ยังไม่ต้องไปถึงขั้นรู้ลักษณะของสภาพธรรม แต่รู้ว่าเดี๋ยวนี้กำลังพูดถึงสิ่งที่มีจริงๆ และความถูกต้องก็คือว่า เริ่มเข้าใจจริงๆ ว่า เป็นเพียงสิ่งที่มีจริง และปรากฏให้เห็นได้ ว่ามีจริงเมื่อธาตุรู้หรือจิตเห็นเกิดขึ้น แค่นี้เท่านั้นเอง มั่นคงหรือยัง

    ผู้ฟัง ก็มั่นคงขั้นฟัง

    ท่านอาจารย์ ถ้ามั่นคงเป็นสิ่งที่ควรรู้ยิ่งไหม เพราะรู้ได้ แต่สิ่งที่ยังไม่เกิด ยังไม่ปรากฏ ใครรู้ได้ มีไหม สิ่งที่ยังไม่เกิด ยังไม่ปรากฏ ใครรู้ได้

    ผู้ฟัง ไม่มีใครรู้ได้

    ท่านอาจารย์ รู้ไม่ได้ใช่ไหม เพราะอะไร แม้สิ่งที่กำลังปรากฏยังไม่รู้ แล้วจะไปรู้สิ่งที่ไม่ได้ปรากฏได้อย่างไร ต้องเป็นคนที่มีเหตุผลตรง แต่เมื่อยังไม่รู้แต่รู้ว่า สิ่งนี้ต้องเป็นความจริงอย่างนี้ และก็เป็นสิ่งที่ควรรู้ยิ่งเพราะอย่างอื่นไม่ได้ปรากฏให้เห็น ค่อยๆ มั่นคงขึ้นที่จะไม่ไปทำอย่างอื่นหรือเปล่า ที่จะเริ่มรู้ว่า อย่างเดียวคือ ฟังแล้วค่อยๆ เข้าใจขึ้น ไม่ลืมคือเมื่อไหร่เกิดระลึกได้ถึงสิ่งที่กำลังปรากฏ กำลังเริ่มเข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏทีละเล็กทีละน้อย โดยที่ไม่มีใครที่จะไปบังคับได้ นั่นคือการเจริญขึ้นของปัญญา ที่ใช้คำว่า รู้ชัดเพราะเหตุว่า สภาพธรรมไม่ได้เปลี่ยนแปลงเลย เหมือนเดิมแต่ความเข้าใจเพิ่มขึ้น จนสามารถที่จะคลายความติดข้อง ความสงสัย ซึ่งปิดบังไม่ให้เห็นสภาพธรรม ที่กำลังเกิดดับในขณะนี้ตามความเป็นจริง

    เพราะเหตุว่า สภาพธรรมเกิดเร็วมาก แล้วก็มีอย่างอื่น ถ้าไปบังคับที่จะให้รู้เฉพาะสิ่งที่กำลังปรากฏ ในเมื่อสิ่งอื่นเกิดแล้วปรากฏ แสดงว่า สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาไม่ได้ปรากฏ

    เพราะฉะนั้น ธรรมจึงไม่สามารถที่จะเลือกได้ด้วยความเป็นตัวตน แต่เป็นไปตามเหตุตามปัจจัย ค่อยๆ มั่นคงขึ้นอย่างนี้ นี่คือ หนทางซึ่งเป็นปกติ และขณะนั้นถ้าจะกล่าวโดยปริยัติก็ไม่ใช่เรา เป็นสติสัมปชัญญะ ประกอบด้วย ศรัทธา วิริยะ อะไรก็แล้วแต่ ซึ่งขณะนี้ก็ไม่ปรากฏใช่ไหม

    เพราะฉะนั้น กว่าจะมีความมั่นคงในสภาพธรรมที่ปรากฏ คือ ปรากฏกับสภาพที่กำลังเข้าใจ นี่เป็นอีกขั้นหนึ่งแล้วใช่ไหม เช่น เมื่อสักครู่นี้ถามว่า แข็งปรากฏว่า มีจริงๆ กับอะไร เพียงกับจิตที่กำลังรู้แข็ง แต่ยังไม่ใช่กับสติ และปัญญาที่กำลังเข้าใจแข็ง และก็ต่อไปถึงแม้ว่า จะเริ่มรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ คือ ปัญญาที่เริ่มเข้าใจว่า เป็นธรรม เพิ่มขึ้นๆ ยังไม่ได้ปรากฏกับปัญญาที่สามารถละคลายความติดข้องได้ เพราะฉะนั้น ก็ต้องอบรมเจริญไปตามลำดับคือ รู้สิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้ มั่นคงขึ้น เพราะฉะนั้น มั่นคงก็มีทั้ง ในขั้นปริยัติ ในขั้นปฏิบัติ และ ในขั้นปฏิเวธ

    ผู้ฟัง เมื่อไหร่ถ้าคิดว่า จะไปรู้ธรรมที่ท่านอาจารย์กล่าว แล้วมีความผิดปกติ ก็ไม่ใช่แล้ว เพราะท่านอาจารย์บอกว่า ก็เห็นอย่างนี้แต่ปัญญาจะรู้ตรงหรือไม่รู้ตรงเท่านั้น

    ท่านอาจารย์ แล้วลองคิดดู นี่เป็นเพียง ๑ ในธรรมทั้งหลาย จนกว่าจะรู้ทั่ว จึงสามารถที่จะละความสงสัย ความไม่รู้ ประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมได้ด้วยปัญญา เพราะฉะนั้น นี่เพียงทวาร ๑ ทาง ๑ ก็ยังมีอีกตั้งมากมาย เพราะไม่ใช่มีแต่เห็นกับสิ่งที่ปรากฏให้เห็น

    ผู้ฟัง ถ้ากล่าวถึงเห็นหรือแข็ง ท่านอาจารย์ยกตัวอย่างของ ๑ ใน ๖ ทวาร เช่นนั้นว่า เป็นตัวอย่างที่มากล่าวให้เข้าใจ แต่ถ้าฟังเข้าใจก็รู้ว่าแล้วแต่ว่า สภาพธรรมจะปรากฏขึ้นรู้กับทวารไหน อันนั้นคือความเข้าใจ

    ท่านอาจารย์ บางคนอาจจะคิดว่า เสียงปรากฏแล้วก็หมดไป พอจะรู้ได้ใช่ไหม พอถึงแข็ง ปรากฏให้รู้ได้ แล้วก็หมดไป ก็ได้เหมือนกันอีกเวลาที่อย่างอื่นปรากฏ แต่ทางตาก็ต้องเหมือนอย่างนั้น รูปธรรมเป็นรูปธรรมเสมอกันหมด ถ้ายังไม่ได้เข้าใจเสมอกัน หมายความว่า ความเข้าใจนั้นยังไม่มั่นคง

    อ.วิชัย การที่จะมีความรู้ที่รู้ทั่วถึงในสิ่งที่ปรากฏ หมายถึงว่า ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ที่มีปรากฏเท่านั้นใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ แน่นอน เดี๋ยวนี้มีอะไรบ้าง เห็นมี

    อ.วิชัย ก็มีเห็น ได้ยิน

    ท่านอาจารย์ สิ่งที่ปรากฏทางตามี ได้ยินมี เสียงมี คิดนึกมี ชอบ ไม่ชอบ มี ทุกอย่างหมด ต้องเป็นความรู้จริงๆ จึงสามารถที่จะรู้ลักษณะที่แท้จริงของสภาพธรรม เพราะคลายความติดข้อง เพราะรู้เพิ่มขึ้น เพราะสภาพธรรมเกิดดับ การเกิดดับนั้นจะปรากฏได้เมื่อเข้าใจสภาพธรรมทั่วถึง

    อ.วิชัย คือไม่ใช่เฉพาะรูปเท่านั้นแต่ว่า มีธาตุรู้ที่เป็นนามธรรม

    ท่านอาจารย์ ทั้งหมดเป็นเรื่องละความไม่รู้ สมัยนี้เป็นกาลสมัยของพระผู้มีพระภาคพระสมณโคดม แล้วก็ได้ฟังธรรม เข้าใจแค่ไหน และอีกไม่นานพระศาสนาก็จะอันตรธาน และจะมีพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ต่อไปคือ พระศรีอริยเมตไตรย การตรัสรู้ และการทรงแสดงธรรมก็อย่างนี้

    เพราะฉะนั้น ถ้ามีโอกาสที่จะได้ฟัง จะรู้แจ้งสภาพธรรมในสมัยของพระศรีอริยเมตไตรยไหม หรือว่ายัง เหมือนกับผู้คนในครั้งที่สุเมธดาบส ได้เฝ้าพระทีปังกรสัมมาสัมพุทธเจ้า พระทีปังกรสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงพยากรณ์สุเมธดาบสว่า ในกาลข้างหน้าอีก ๔ อสงไขยแสนกัปป์จะได้เป็นพระผู้มีพระภาคทรงพระนามว่า สมณโคดม

    คนที่ได้ฟังในยุคนั้นมีมากหรือน้อยที่ได้ยินได้ฟัง แต่ที่จะเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าคือ พระองค์เดียวที่ได้ทรงบำเพ็ญพระบารมีมา แต่คนอื่นก็รู้ว่า ไม่ใช่ฐานะ ที่จะถึงความเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ก็ปลาบปลื้มที่มีโอกาสจะได้ฟังพระธรรม ในอีก ๔ อสงไขยแสนกัปป์ และแม้ว่า จะไม่บรรลุรู้แจ้งสภาพธรรมในสมัยพระทีปังกรสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ยังมีโอกาสเพราะได้สะสมศรัทธา และความเห็นถูก ความเข้าใจถูก เพราะฉะนั้น ก็ยังมีโอกาสที่จะได้สามารถเข้าใจพระธรรมอีกในสมัยของพระสมณโคดม

    เพราะฉะนั้น เรื่องที่ใครจะคาดคะเนว่า ปัญญาจะสมบูรณ์เมื่อไหร่ จะเกิดเมื่อไหร่ ความจริงก็คือว่า ถ้าไม่มีความเข้าใจธรรมเลย ไม่มีทางที่จะฟังแล้วมีความเข้าใจ จนกระทั่งสามารถที่จะละความติดข้อง แล้วก็รู้แจ้งสภาพธรรมได้ แต่ทุกขณะที่กำลังฟัง ไม่ได้สูญหายไปไหนเลย ทั้งที่ก่อนนี้ไม่เคยฟัง แต่พอฟังแล้วก็ยังมีโอกาสระลึกได้แม้ขั้นคิดว่า ขณะนี้ก็เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏให้เห็นได้ แต่ว่า จะเข้าถึงความเป็นสิ่งที่ปรากฏให้เห็นได้ทางตามากน้อยแค่ไหน ก็แล้วแต่เหตุปัจจัย หรือจะไม่ระลึกทางตา แต่กายที่กำลังกระทบสัมผัส ลักษณะนั้นปรากฏให้เข้าใจถูก เพราะเคยได้ยินได้ฟังมาแล้วมาก พอที่จะรู้ว่า นั่นคือ ธรรม ไม่ใช่อย่างอื่น มีจริงๆ กำลังปรากฏแล้วเปลี่ยนแปลงไม่ได้ ก็ค่อยๆ สะสมการที่จะเข้าใจ และความไม่รู้ไป จนกว่าจะถึงกาลที่เป็นอภิสมัยคือ การรู้แจ้งอริยสัจจธรรม

    กล่าวอย่างนี้เพื่อให้พากเพียรหรือว่า เพื่อให้ละความติดข้อง ถ้าด้วยความเป็นตัวตน จมหรือลอย พักหรือเพียร ซึ่งหนทางที่ถูกต้อง ไม่พัก และไม่เพียร ฟังแล้วเหมือนขัดกัน แล้วจะให้เป็นอย่างไร ไม่พักไม่เพียรก็คือ ปัญญาที่เข้าใจถูกตามความเป็นจริงของสภาพธรรม ซึ่งไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล

    ผู้ฟัง จิตรู้แข็ง กับ แข็งที่ปรากฏแล้ว เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่งต่างกัน

    ท่านอาจารย์ ก็รู้ว่า แข็งไม่รู้อะไร ปรากฏให้รู้ได้เพราะขณะนั้นมีธาตุที่กำลังรู้แข็ง คุณสุกัญญาอยู่ที่ไหนขณะที่กำลังรู้แข็ง

    ผู้ฟัง ไม่มี

    ท่านอาจารย์ ไม่มี ก็คือ เข้าใจตามความเป็นจริงว่า เป็นธรรมแต่ละลักษณะ

    ผู้ฟัง แต่แข็งจะปรากฏได้จะต้องมีจิตที่รู้แข็ง

    ท่านอาจารย์ เดี๋ยวนี้แข็งปรากฏหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ปรากฏ

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่มีธาตุที่กำลังรู้ลักษณะที่แข็ง ลักษณะที่แข็งจะปรากฏไหม

    ผู้ฟัง ไม่ปรากฏ แต่เมื่อแข็งปรากฏ แข็งนั้นเป็นธรรมอย่างหนึ่ง

    ท่านอาจารย์ ธรรมคืออะไร

    ผู้ฟัง ธรรมคือสิ่งที่มีจริงแล้วปรากฏ

    ท่านอาจารย์ แล้วขณะนั้นแข็งมีจริงๆ หรือเปล่า

    ผู้ฟัง มีจริง ปรากฏแล้วก็หมดไป แต่ลักษณะที่มีจริงแล้วปรากฏหมดไป จะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อมีจิตที่รู้แข็ง

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ เกิดแต่ว่าไม่ปรากฏได้ เพราะว่า ธรรมที่เป็นรูปมีกรรมเป็นสมุฏฐานให้เกิดก็ได้ มีจิตเป็นสมุฏฐานให้เกิดก็ได้ มีอุตุ ความเย็น ความร้อน เป็นสมุฏฐานให้เกิดก็ได้ มีอาหารที่บริโภคเข้าไปเป็นสมุฏฐานให้เกิดก็ได้ แล้วแต่ว่า รูปนั้น สภาพนั้น เกิดขึ้นเพราะสมุฏฐานอะไร จิตจะรู้หรือไม่รู้ไม่สำคัญ แต่มีปัจจัยที่จะทำให้รูปนั้นเกิด รูปนั้นก็ต้องเกิด คุณสุกัญญาไปทำให้ภูเขาเกิดหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ไม่ใช่ แต่ถ้าแข็งปรากฏ

    ท่านอาจารย์ ภูเขาแข็งไหม

    ผู้ฟัง ภูเขาแข็ง

    ท่านอาจารย์ แล้วทำแข็งให้เกิดขึ้นได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้ แต่ภูเขาแข็งเพราะเราคิดว่า ภูเขาแข็ง

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่มีแข็ง ภูเขามีไหม

    ผู้ฟัง ไม่มีแข็ง ภูเขาก็ไม่มี

    ท่านอาจารย์ นี่คือ “ปรมัตถธรรม” ความจริงที่สุดของความจริง ไม่มีอะไรที่จะจริงยิ่งกว่านี้

    ผู้ฟัง แข็งที่ปรากฏกับภูเขานี้ไม่ใช่ คนละลักษณะ ความจริงที่สุดคือ แข็ง จะเรียกว่า ภูเขา จะเรียกว่า ก้อนกรวด จะเรียกว่าอะไรก็ตาม แต่ลักษณะที่แท้จริง คือ แข็ง สิ่งที่มีจริงๆ คือ แข็ง ถ้าแข็งไม่มีที่เราเข้าใจว่า เป็นภูเขา เป็นก้อนกรวด เป็นแม่น้ำ เป็นทะเล อะไรก็ไม่มี เปลี่ยนลักษณะแข็งให้เป็นอย่างอื่นได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ จะเรียกว่า “ภูเขา” ก็แข็ง ถ้าไม่มีแข็งจะมี “ภูเขา” ไหม

    ผู้ฟัง ไม่เป็น

    ท่านอาจารย์ จะเรียกว่า “ดอกไม้” ก็แข็ง ถ้าไม่มีแข็งจะเป็น “ดอกไม้” ไหม เพราะฉะนั้น อะไร เป็นสิ่งที่มีจริงแน่นอนที่สุด

    ผู้ฟัง แข็ง

    ท่านอาจารย์ คือแข็ง เป็นคุณสุกัญญาหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ไม่เป็น

    ท่านอาจารย์ เป็นนิ้ว เป็นขา เป็นศีรษะ เป็นตัว

    ผู้ฟัง ไม่เป็น

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ก็คือ ธรรมเป็นธรรม สิ่งที่มีจริงก็คือสิ่งที่มีจริง เปลี่ยนลักษณะไม่ได้

    อ.กุลวิไล การที่จะเข้าใจว่า จิตรู้แข็งกับปัญญารู้แข็ง ผู้ศึกษาก็อาจจะมีความเข้าใจที่เห็นว่า กายวิญญาณจากการศึกษาเราก็พอทราบว่า ต้องมีแข็งเป็นอารมณ์ หรือแม้แต่จิตที่ทำชวนกิจคือ เกิดภายหลัง ไม่ว่าจะเป็นกุศลจิตหรืออกุศลจิต ก็สามารถที่จะมีแข็งเป็นอารมณ์ได้ แต่ความเข้าใจที่เป็นปัญญาที่จะรู้แข็ง

    ท่านอาจารย์ เราติดที่ชื่อ เราติดที่คำ ทำให้เราไม่เข้าใจความจริง ขณะนี้แข็งปรากฏ ถูกต้องไหม เพระเหตุใดแข็งจึงปรากฏได้ ถ้าไม่มีธรรมที่รู้แข็ง แข็งจะปรากฏได้ไหม ไม่ได้ เพราะฉะนั้น แข็งขณะนั้นปรากฏกับธาตุที่รู้เฉพาะแข็ง แต่เข้าใจอะไรหรือเปล่า

    อ.กุลวิไล ถ้าไม่เข้าใจก็ไม่ใช่ปัญญา

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ที่เราบอกว่า แข็งปรากฏกับวิญญาณคือ จิต เป็นของธรรมดา มีใครบ้างที่มีกายปสาทแล้วไม่กระทบกับสิ่งที่แข็ง ขณะที่จิตเกิดต้องรู้แข็ง ขณะนั้นจะรู้อย่างอื่นไม่ได้ ถ้าเป็นเย็น จิตขณะนั้นก็เกิดขึ้นรู้ลักษณะที่เย็น จะเป็นอย่างอื่นไม่ได้ นั่นคือ สภาพนั้นปรากฏกับธาตุรู้ ซึ่งรู้แจ้งในลักษณะที่ปรากฏ ที่กำลังปรากฏ

    เพราะฉะนั้น ก็เป็นธรรมดาใช่ไหม เพราะจิตหรือวิญญาณเป็นสภาพที่รู้แจ้ง เกิดแล้วต้องรู้ เพราะฉะนั้น เมื่อเกิดเพราะรูปกระทบกับกายปสาททำให้จิตคือ ธาตุรู้ เกิดขึ้นรู้แข็งตรงนั้น เป็นธรรมดา ไม่มีความเข้าใจใดๆ เลย นี่คือ ความต่าง เด็กตอบได้ไหมว่า แข็ง คนตาบอดตอบได้ไหมว่า แข็ง ตอบได้ เป็นปัญญาหรือเปล่า หรือเป็นแต่เพียงธาตุที่รู้ว่า แข็ง ก็ต้องตอบตามความเป็นจริงว่า แข็ง เพราะขณะนั้นแข็งปรากฏกับธาตุที่กำลังรู้แข็ง แต่ว่าเมื่อได้ฟังพระธรรมแล้ว ที่เคยเป็นเราตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า สิ่งที่แข็งเปลี่ยนเป็นอย่างอื่นได้ไหม ก็ยังคงเป็นแข็งซึ่งไม่ใช่เรา เพราะเป็นแข็งเหมือนแข็งอื่นๆ

    เพราะฉะนั้น ก็เห็นความเป็นธาตุ เป็นธรรมว่า เปลี่ยนแปลงไม่ได้เลย ไม่ว่าที่ไหน แข็งก็ต้องเป็นแข็ง นั่นคือ ปรมัตถธรรม ความเข้าใจอย่างนี้ ในขณะที่แข็งกำลังปรากฏ เข้าใจแข็งแล้วเข้าใจธาตุที่กำลังรู้แข็งว่า ขณะนั้นลักษณะจริงๆ ไม่ใช่ของใคร และไม่ใช่ใคร คือ สภาพแข็งหรือความเป็นแข็งที่มีจริงๆ เข้าใจถูกต้องว่า เป็นสิ่งที่มีจริงไม่ใช่เรา เปลี่ยนไม่ได้ แข็งจะเป็นเราได้อย่างไร แข็งก็ต้องเป็นแข็ง แข็งจะเป็นของเราได้ไหม ในเมื่อเราก็ไม่มี มีแต่แข็ง ขณะนั้นไม่มีเราเลยมีแต่แข็งกับสภาพที่กำลังรู้แข็ง ขณะนั้นแข็ง และสภาพรู้แข็งก็ปรากฏกับปัญญา โดยฐานะความเป็นธาตุรู้ และโดยฐานะที่เป็นสภาพแข็ง

    ปัญญาสามารถที่จะเห็นถูกต้องในความเป็นแข็งซึ่งไม่ใช่ใคร และสามารถที่จะรู้ลักษณะที่กำลังรู้แข็ง ในขณะที่กำลังรู้แข็งด้วย นั่นคือแข็งปรากฏกับกายวิญญาณแล้วก็ปรากฏกับปัญญา เพราะฉะนั้น ปัญญาไม่ใช่ไปรู้อื่น แต่ว่า เมื่อแข็งปรากฏกับกายวิญญาณ ปัญญาก็เข้าใจแข็งที่ปรากฏนั้นตามความเป็นจริง


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 184
    12 ม.ค. 2567