พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 759


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๗๕๙

    ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕


    ท่านอาจารย์ แม้แต่ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ก็ต้องเป็นในขณะนี้ที่ฟังเข้าใจ แล้วไม่ได้หวังว่าจะไม่โกรธ แต่ว่าเข้าใจสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้นจริงๆ ว่า เกิดแล้วดับ แล้วก็ไม่มีใครที่สามารถบังคับบัญชาได้

    อ.วิชัย เมื่อสักครู่ท่านอาจารย์กล่าวถึง ทุกขลักษณะ คือเป็นสภาพที่ไม่น่ายินดี เพราะเหตุว่า ต้องเกิดแล้วก็ต้องดับไป กราบเรียนว่าโดยสภาพปกติแล้ว เป็นที่น่ายินดีหรือ

    ท่านอาจารย์ แน่นอน ไม่รู้ ว่าเกิดดับ ก็ต้องยินดี พอใจในสิ่งที่มี ขอให้ปรากฏ เป็นที่ตั้งของความต้องการทั้งนั้นเลย แต่ถ้าปรากฏว่าเพียงปรากฏแล้วดับ ยังต้องการหรือไม่ เป็นอย่างนี้เองตลอดมาในสังสารวัฏฏ์ แล้วก็จะเป็นเช่นนี้อีก แล้วก็มิใช่ว่าจะประสบแต่สิ่งที่น่าพอใจ ทุกข์มากมาย เพราะเหตุว่า มาจากอกุศล ซึ่งสะสมเป็นปัจจัยให้กระทำสิ่งที่เป็นทุจริตกรรม เป็นอกุศลกรรมสำเร็จแล้วก็ทำให้เกิดผลคือวิบาก

    อ.อรรณพ ท่านอาจารย์ได้กล่าวถึง ลักษณะทั้ง ๓ หรือไตรลักษณ์ว่าเป็น สภาพที่ปรากฏขณะนี้หมายความว่า ไม่ว่าใครจะมีปัญญา รู้ในลักษณะสภาพธรรมที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ หรือเป็นอนัตตา หรือไม่ก็ตาม แต่ลักษณะของสภาพธรรม ก็ต้องปรากฏตามนั้น อย่างนั้นใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ก็เป็นอย่างนั้น จะรู้หรือไม่รู้สภาพธรรม ก็เปลี่ยนเป็นอย่างอื่นไม่ได้

    อ.อรรณพ แต่ในเมื่อไม่มีความรู้ความเข้าใจในลักษณะสภาพธรรมที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาจริงๆ แล้ว จึงมีความวิปลาสไปที่จะพอใจแม้กระทั่งสภาพที่เป็นทุกขลักษณะ อย่างนี้ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ธรรมที่แสดงไว้มากมายในพระไตรปิฏก สำหรับผู้ไม่รู้ก็งง และสงสัย ไม่ใช่เป็นที่ตั้งของความเข้าใจ แต่สำหรับบุคคลในครั้งพุทธกาล สะสมปัญญามาแล้ว เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะได้ยินได้ฟังคำใด ปัญญาที่สะสมมาแล้วก็สามารถที่จะเข้าใจความลึกซึ้งของธรรมนั้นๆ ได้ แต่บุคคลในครั้งนี้ ได้ยินแล้วสามารถที่จะเข้าถึงลักษณะที่กำลังปรากฏตามที่ได้ฟังหรือยัง แล้วจะไปเข้าใจความลึกซึ้งยิ่งกว่านี้ที่ทรงแสดงไว้โดยประการต่างๆ ในพระไตรปิฎกได้ไหม

    อ.อรรณพ เพราะฉะนั้น การฟังธรรม พระธรรมที่ทรงแสดงก็ย่อมถึงการประจักษ์แจ้งสภาพธรรมได้ แต่ว่าปัญญาของผู้ฟัง ได้เพียงใด แม้พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงพระธรรมในหลากหลายพระสูตร ซึ่ง ในมากมายพระสูตร ก็จะมีข้อความว่า พระธรรมที่พระองค์ท่านแสดง ถึงยอดคือพระอรหัต คือแสดงถึงความที่จะดับกิเลสได้เป็นพระอรหันต์อยู่เสมอเลย แต่ว่าผู้ฟังก็แล้วแต่ บางท่านฟัง ก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ก็มี บางท่านก็เป็นพระอริยบุคคลที่ไม่ถึงความเป็นพระอรหันต์ อย่างแม้เทวบุตรที่เคยเป็นพระภิกษุ เมื่อท่านไปบังเกิดในสวรรค์แล้ว ท่านก็มาเฝ้าพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าก็แสดงพระธรรมจนเป็นพระอรหันต์ก็ได้ แต่ว่าท่านก็บรรลุเป็นโสดาบันเท่านั้น แต่บางท่าน ท่านก็เพียงแค่มีพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งเท่านั้นเอง

    ผู้ฟัง กราบเรียนถามท่านอาจารย์เรื่องการศึกษาผิด ทำอย่างไรถึงจะศึกษาให้ถูกต้อง

    ท่านอาจารย์ ต้องเป็นผู้ตรง ศึกษาเพื่ออะไร

    ผู้ฟัง เพื่อรู้สิ่งที่เป็นจริง

    ท่านอาจารย์ เพื่อเข้าใจถูกต้องในสิ่งที่มีจริง ถ้าคำนั้นที่ได้ฟังกล่าวถึงสิ่งที่มีจริง ตามความเป็นจริงให้เข้าใจได้ถูกต้อง นั่นก็คือศึกษาความจริงให้เข้าใจความจริง มิฉะนั้นก็ไม่ได้ศึกษาความจริง เพราะธรรมคือสิ่งที่มีจริงๆ กำลังมีจริงๆ และสามารถที่จะเข้าใจความจริงของสิ่งนั้นได้ด้วยตั้งแต่ขั้นฟังเข้าใจ จนกระทั่งสามารถที่จะรู้ว่า ไม่มีหนทางอื่นเลย นอกจากปัญญาที่เจริญขึ้น ที่จะละความไม่รู้ และความต้องการ

    เพราะฉะนั้น ส่วนใหญ่ถ้าต้องฟังเพื่อต้องการ ผิด เพราะจะไม่เข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริงว่าเพื่อละ เห็นมี จักขุวิญญาณคือสภาพที่กำลังเห็น มี ไม่ต้องใช้ภาษาบาลีก็ได้ เห็นมี ถูกต้องไหม

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ สิ่งที่ปรากฏ มี เป็นเราหรือเปล่า และความจริงของเห็นคืออะไร ความจริงของสิ่งที่ปรากฏคืออะไร ถ้าไม่สามารถที่จะเข้าใจได้ เข้าใจธรรม ศึกษาธรรมหรือเปล่า หรือหวังที่จะไปประจักษ์ไตรลักษณะของอะไร ในเมื่อแม้สิ่งที่กำลังปรากฏ ก็ยังไม่มีความเข้าใจแม้ขั้นฟัง ว่าขณะนี้สิ่งที่มีจริงๆ เดี๋ยวนี้มีจริง มีลักษณะจริงๆ ซึ่งต่างกัน สิ่งที่ปรากฏทางตาไม่สามารถจะเห็นอะไรได้เลย แต่ปรากฏได้เมื่อจิตเห็นเกิด ถ้าจิตเห็นไม่เกิดสิ่งนี้ก็ปรากฏไม่ได้ โดยที่ใครก็บังคับบัญชาไม่ได้ ค่อยๆ เข้าใจความจริงของสิ่งที่มีจริงโดยความเป็นธรรมที่เป็นอนัตตา เพื่อละความติดข้อง และความไม่รู้

    เพราะฉะนั้น ขณะที่จักขุวิญญาณในภาษาบาลี คือเห็นขณะนี้เกิดขึ้นเห็น ต้องมีสิ่งที่ปรากฏให้เห็นเป็นของธรรมดา ไม่ว่าจะเป็นคน เป็นนก เป็นงู เป็นไส้เดือน เห็นเป็นเห็น ถูกต้องไหม

    ผู้ฟัง ใช่

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น เห็นปัญญาหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ไม่ใช่

    ท่านอาจารย์ เห็นไม่ใช่ปัญญา แต่ว่าปัญญาสามารถที่จะรู้”เห็น” ในขณะนี้ได้ว่ามีจริงๆ เริ่มต้นตั้งแต่เห็นมีจริง และก็เป็นสิ่งที่เกิดโดยที่ไม่มีใครไปทำให้เกิดได้ สิ่งที่มีจริงนี่แหละ ได้ยินได้ฟังความจริงของสิ่งที่มีจริงหรือยัง ถ้าฟังเรื่องอื่น เรื่องไตรลักษณ์ แต่ไม่ได้เข้าใจสิ่งที่มีจริงขณะนี้ก่อนให้ถูกต้อง แล้วจะเข้าใจไตรลักษณ์ได้อย่างไร เพราะฉะนั้น การที่ธาตุรู้เกิดขึ้นก็จะมีความต่างกัน ธาตุรู้ที่เห็นเพียงเห็น ไม่สามารถจะเข้าใจอะไรเลย แต่กำลังฟังเรื่องเห็น ขณะนี้แล้วมีเห็นจริงๆ แล้วเริ่มเข้าใจ ความเข้าใจเป็นธรรมที่มีจริง ไม่เหมือนเดิมซึ่งไม่เคยเข้าใจเลย ถูกต้องไหม

    ผู้ฟัง ใ่ช่

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ความเข้าใจไม่ใช่เพียงธาตุที่เห็น แต่เป็นธาตุอีกชนิดหนึ่ง ที่สามารถเริ่มเข้าใจขึ้น เข้าใจขึ้น เมื่อได้ฟังมากขึ้น ไตร่ตรองมากขึ้น รู้ว่าสิ่งที่ได้ฟังมีจริงๆ เป็นอย่างนั้น นี่ก็ระดับหนึ่งของความเข้าใจ จนถึงอีกระดับหนึ่ง สามารถที่จะละความติดข้อง เพราะเข้าใจขึ้น กว่าจะเป็นไปตามกำลังของปัญญา เพราะว่าต้องเป็นเรื่องละ แต่ต้องด้วยความรู้

    เพราะฉะนั้น จะขาดความรู้แล้วไปละไม่ได้ เพราะฉะนั้น จะไปให้ละโลภะ จะให้ละโทสะ โดยไม่รู้ไม่ได้ ใช่ไหม

    ผู้ฟัง ใช่

    ท่านอาจารย์ เมื่อรู้แล้วก็ยังไม่พออีก เพราะเพียงเริ่มรู้เริ่มเข้าใจ แต่ยังพอใจหรือต้องการจะรู้อีก เพราะฉะนั้น อุปสรรคมีมากตลอดทาง ซึ่งถ้าไม่ใช่ปัญญาที่เข้าใจจริงๆ ว่าขณะนั้นเป็นโลภะ ก็ละไม่ได้

    ผู้ฟัง ใช่

    ท่านอาจารย์ แม้แต่เพียงขณะนี้มีธรรม อยากให้เข้าใจธรรมก็ผิดแล้ว

    ผู้ฟัง ใช่

    ท่านอาจารย์ พยายามที่จะเข้าใจก็ผิดแล้ว ฟังไตร่ตรองไม่ใช่เราเลยที่กำลังไตร่ตรอง เข้าใจขึ้น จะละเมื่อไหร่ก็ไม่รู้ เพราะเหตุว่า ความเข้าใจเพียงระดับนี้จะให้ไปละได้อย่างไร ใช่ไหม

    เพราะฉะนั้น เวลาที่ค่อยๆ เข้าใจขึ้นค่อยๆ เข้าใจขึ้น จนกระทั่งสามารถที่จะรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ ความติดข้องต้องการก็ยังติดตามไปตลอด จนกว่าปัญญาที่สามารถที่จะรู้ว่า ขณะนั้นยังเป็นความพอใจที่ต้องการแม้จะรู้สิ่งที่กำลังปรากฏ จนกว่าดับสมุทัย ไม่มีความติดข้องด้วยความเป็นเรา แต่ว่าเพราะมีความเข้าใจขึ้นว่าเป็นเรื่องละเพราะรู้ขึ้น เมื่อนั้นก็จะทำให้สามารถที่จะใกล้ต่อการรู้ความจริงของสภาพธรรม ซึ่งไม่มีความไม่รู้ และโลภะปิดกั้นอยู่

    อ.ธิดารัตน์ การศึกษาธรรมก็ศึกษาเพื่อเข้าใจ นอกจากเราศึกษาเป็นชื่อเป็นเรื่องแล้ว ก็อย่าลืมว่า ชื่อเรื่องนั้นเพื่อเข้าใจลักษณะของธรรมที่ปรากฏ ในชีวิตประจำวันของแต่ละท่าน การเข้าใจชื่อเข้าใจเรื่อง ง่ายกว่าการที่จะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมมาก แต่ถ้าหากว่าชื่อไม่เข้าใจ ว่าชื่อนั้นอธิบายเพื่อให้เข้าใจลักษณะสภาพธรรมอย่างไร ก็เหมือนกับปริยัติของเรา ซึ่งการเรียนยังไม่ได้เข้าใจจริงๆ

    เพราะฉะนั้น การศึกษาปริยัติเพื่อเข้าใจจริงๆ คือ เข้าใจว่ามีลักษณะของสภาพธรรมนั้นจริงๆ แล้วก็ศึกษาลักษณะสภาพธรรมด้วย จึงจะเป็นการศึกษาธรรมที่ทั้งปริยัติเกื้อกูลต่อการเข้าใจลักษณะธรรม เพื่อถึงการรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงได้ ส่วนใหญ่ก็จะเหมือนกับเราเรียนธรรม มันก็จะยากอยู่ที่ว่า ทำไมไม่เข้าใจลักษณะสภาพธรรมที่ปรากฏเสียที แล้วมีความต้องการอยู่ เพราะว่ายังไม่เข้าใจจริงๆ แต่ถ้าศึกษาแล้วก็เข้าใจขึ้นว่า มีลักษณะสภาพธรรมนั้นจริงๆ ด้วย แล้วก็มีปัญญาที่ค่อยๆ เข้าใจขึ้น แล้วก็น้อมพิจารณาสภาพธรรมที่ปรากฏ แม้ในขณะที่ศึกษา ก็จะเป็นปัจจัยให้เข้าใจธรรมจริงๆ ขึ้น

    ท่านอาจารย์ ฟัง และเข้าใจธรรมจริงๆ หรือเปล่า ฟังแล้วเข้าใจธรรมจริงๆ พอโกรธรู้ว่าเป็นธรรมหรือเปล่า ถ้าเข้าใจธรรมจริงๆ แล้วก็กล่าวว่าทุกอย่างเป็นธรรม เพราะฉะนั้น ความขุ่นใจก็ต้องเป็นธรรมด้วย ฟังธรรมแล้วเวลาโกรธเกิดขึ้นรู้หรือเปล่า ว่านั้นเป็นธรรมที่จะกล่าวว่าเข้าใจธรรมจริงๆ ว่าเป็นธรรม เพราะฉะนั้น มีการที่เราจะรู้กำลังปัญญาของเราเองได้ ไม่ต้องถามใครเลย ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น รู้หรือไม่ว่าขณะนั้นเป็นธรรม ในเมื่อเข้าใจในขั้นฟังว่าทุกอย่างเป็นธรรม ก็ไม่มีความมั่นคงที่จะเรียกว่าเข้าใจธรรมจริงๆ ถ้าเข้าใจธรรมจริงๆ ขณะนั้นโกรธเกิดขึ้นก็รู้ในลักษณะที่โกรธ และเข้าใจว่านั้นเป็นธรรมอย่างหนึ่งแน่นอน โกรธก็เป็นธรรม ทุกอย่างก็เป็นธรรม

    เพราะฉะนั้น กว่าจะระลึกได้ ไม่ใช่เราเลย การฟังจนมีความเข้าใจที่มั่นคง พอที่จะสามารถเข้าใจลักษณะของสิ่งที่ปรากฏว่าเป็นธรรมตามที่ได้ศึกษา นั้นถึงจะจากปริยัติที่ฟังเรื่องราวของธรรมจนถึงเข้าใจลักษณะที่เป็นธรรมว่าเป็นธรรมได้ เพราะฉะนั้น วิปัสสนาก็คงไม่ต้องพูดถึง นี้เพียงแต่เริ่มที่จะรู้จักลักษณะที่ปรากฏในความเป็นธรรม แต่ก็ยังไม่รู้ในความเป็นธรรมที่ไม่ใช่ตัวตนที่เกิดขึ้น และดับไป ธรรมแต่ละอย่าง ก็มีลักษณะเฉพาะธรรมนั้นๆ เปลี่ยนแปลงไม่ได้ แข็งจะเปลี่ยนเป็นหวานไม่ได้ เสียงจะเปลี่ยนเป็นกลิ่นไม่ได้ แต่ละอย่างก็เป็นแต่ละหนึ่งซึ่งมีลักษณะเฉพาะของธรรมนั้น นี่คือภาษาไทย เข้าใจไหม ถ้าเข้าใจภาษาบาลี ก็คือ วิเสสลักษณะเท่านั้นเอง แต่ถ้าเราติดคำภาษาบาลีเราก็จะไปงงกับภาษาบาลี แต่พอเข้าใจภาษาไทยแล้ว ไม่ว่าใครจะใช้คำบาลี เราก็สามารถที่จะเข้าใจความหมายได้ หรือแม้แต่สภาพธรรมใดที่เกิดแล้วก็ดับ ไม่เที่ยง เหมือนกันหมดเลย มีลักษณะธรรมใดที่เกิดแล้วไม่ดับบ้าง ไม่มี ใช่ไหม

    เพราะฉะนั้น สภาพธรรมใดที่เกิดแล้วดับเป็นธรรมดา นั่นคือ สามัญลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดทั้งหมด คือของสังขารธรรม ธรรมที่อาศัยปัจจัยเกิดต้องดับ นี้คือฟังธรรมให้เข้าใจในภาษาไทย พอได้ยินภาษาบาลีก็สามารถที่จะเข้าใจได้ แต่ถ้ายังไม่เข้าใจความหมายในภาษาของตนเองจริงๆ พอได้ยินภาษาบาลีก็ใช่ไหม ใช่ไหม ตลอดเวลา แม้แต่ขณะนี้ที่กำลังใส่ใจพิจารณาเป็นลักษณะของเจตสิก แต่ละหนึ่ง แต่ละหนึ่ง ยังถามหรือไม่ว่า สุขเป็นเวทนาใช่ไหม เฉยๆ เป็นเวทนาใช่ไหม อย่างนี้ก็คือไม่เข้าใจธรรม ไม่ได้เข้าใจคำที่ใช้เพื่อแสดง หรือส่องถึงลักษณะของสิ่งที่มีจริง แต่คิดว่านั่นคือการศึกษา แต่การศึกษาคือความเข้าใจถูกในสิ่งที่มีจริงที่ฟัง ไม่ว่าในภาษาใดๆ ทั้งสิ้น

    ผู้ฟัง เมื่อสักครู่ท่านอาจารย์พูดถึงความโกรธ ความโกรธ เมื่อเกิดจะมี ๒ อย่าง อย่างหนึ่งคือไม่รู้เลยก็โกรธไปเลย ถ้ามีสติรู้เท่าทันก็รู้ว่าขณะนี้กำลังโกรธ กราบเรียนถามท่านอาจารย์ว่า อย่างไรจึงเรียกคำว่าน้อมไป หรือว่าไม่จำเป็นจะต้องคำนึงถึงคำว่าน้อมไป เวลาสติเกิดก็จะน้อมไปเองหรืออย่างไร

    ท่านอาจารย์ ถ้ามีคนบอกคุณชุนว่า สิ่งที่กำลังปรากฏขณะนี้ไม่ใช่ธรรม เชื่อไหม

    ผู้ฟัง ไม่เชื่อ

    ท่านอาจารย์ เพราะน้อมจากการฟัง ทีละน้อย จนกระทั่งเป็นความเข้าใจเพิ่มขึ้น ฟังครั้งแรกอาจจะไม่เชื่อเลย ธรรมอยู่ที่ไหน ธรรมคืออะไร สิ่งที่มีจริงนี่นะหรือเป็นธรรม คือสับสนปะปนคำ ธรรมเป็นภาษาบาลี สิ่งที่มีจริงเป็นภาษาไทย เพราะฉะนั้น ถ้ามีเข้าใจว่าเดี๋ยวนี้ มีเห็นจริงๆ หรือเปล่า จะตอบว่าอย่างไร

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ มีจริง ภาษาบาลีคือเป็น ธรรม สิ่งที่มีจริง เพราะฉะนั้น ก็สามารถที่จะมีความเข้าใจสิ่งที่มี เมื่อไหร่ น้อมไปหรือเปล่า จากไม่รู้ไปสู่ความรู้ขึ้น โดยคุณชุนไม่ต้องทำอะไร ไม่มีตัวตน แต่มีจิต เจตสิก รูป รูปไม่ใช่สภาพรู้ ไปบอกรูปสักเท่าไหร่ ว่านี่เป็นรูป ไม่รู้อะไร รูปจะรู้ไหม

    ผู้ฟัง ก็ไม่รู้

    ท่านอาจารย์ รูปไม่มีสภาพที่จะน้อมไปสู่ความเข้าใจขึ้น แต่ว่าสำหรับจิต เจตสิก เป็นธาตุรู้ โดยจิตเป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้แจ้ง เพียงรู้ สิ่งที่ปรากฏมีลักษณะต่างกันหลากหลายอย่างไร จิตรู้แจ้งในสิ่งที่กำลังปรากฏ แต่เจตสิกทั้งหลายไม่ใช่คุณชุน ไม่ใช่ใครเลย ทำหน้าที่ของเจตสิกนั้นๆ ถ้าเป็นฝ่ายอกุศล ไม่รู้ก็ไม่รู้ มีความติดข้อง มีความโกรธ มีความขุ่นเคือง เพราะไม่รู้ความจริงว่าเป็นแต่เพียงธรรม แต่ถ้าขณะใดที่เป็นฝ่ายดี มีทั้งการเมตตา มีสติ มีปัญญา ฯลฯ ขณะนั้นก็น้อมไป ไม่ใช่เรา เพราะฉะนั้น ที่คำว่าน้อมไป หมายความว่า จากไม่รู้สู่ความรู้ ไม่มีใครทำเลย แต่สังขารขันธ์กำลังน้อมไป คุณชุนทราบไหมว่า สิ่งใดก็ตามที่เกิด และดับไป เป็นสาระหรือไม่เป็นสาระ

    ผู้ฟัง ไม่เป็นสาระ

    ท่านอาจารย์ ไม่เป็นสาระ พูดได้ แต่วันนี้ ทั้งหมดเลยที่ผ่าน ตา หู จมูก ลิ้น กาย เรื่องนั้น เรื่องนี้ เป็นสาระ หรือเปล่า

    ผู้ฟัง เป็นสาระอย่างยิ่ง

    ท่านอาจารย์ เห็นไหม ยังไม่น้อมไปจนถึงการที่จะเข้าใจ ถึงว่าไม่ใช่สาระเลย โดยคุณชุนไม่ต้องน้อม ไม่ต้องทำอะไรเลย แต่เจตสิกที่เป็นสังขารขันธ์นั่นเอง ทำหน้าที่ เป็นไปตามภาวนา คือ การอบรม ถ้าไม่มีการอบรมทีละเล็กทีละน้อย จะเป็นอย่างนั้นได้ไหมที่จะเห็นว่าโลกจะเป็นอย่างไร อะไรจะเกิดขึ้น ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใคร เพราะเป็นธรรมที่เป็นอนัตตา น้อมไปหรือยัง ไม่ใช่เราพยายามไปน้อม แล้วก็แข็งอยู่เช่นนั้น จะน้อมให้ได้ แต่ว่าไม่มีอะไรเลย นอกจากความเข้าใจ และเจตสิกฝ่ายโสภณ ซึ่งค่อยๆ เข้าใจขึ้นนั่นแหล่ะ คือค่อยๆ น้อมไป เพราะฉะนั้น ขณะที่กำลังมีความเข้าใจ น้อมไปสู่นิพพานหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ย่อมน้อมไปสู่นิพพานแน่นอน

    ท่านอาจารย์ แต่ไม่ปรากฏเลย ไม่มีกำลังที่จะเห็นว่า กำลังน้อมไปสู่การที่จะเห็นว่า “ไม่เกิดนั่นแหล่ะคือดับทุกข์ทั้งหมด” ไม่ต้องรับฟังเรื่องนั้นเรื่องนี้ ไม่ต้องเดือดร้อน ไม่ต้องมีปัญหา ไม่ต้องอะไรเลย แม้ว่าจะเกิดบนสวรรค์ เกิดเป็นรูปพรหมบุคคล เป็นอรูปพรหมบุคคล ก็ยังต้องกลับมาสู่ความเป็นอย่างนี้ เพราะเหตุว่า ยังไม่ได้ดับอกุศลทั้งหลาย ซึ่งเกิดเพราะความไม่รู้ เพราะฉะนั้น ตราบใดที่ยังมีความไม่รู้อยู่ ก็จะต้องเป็นอย่างนี้ เพราะฉะนั้น หนทางเดียวที่จะค่อยๆ น้อมไปสู่การดับทุกข์ก็คือ ค่อยๆ เข้าใจขึ้น ต้องเป็นปัญญา เพราะฉะนั้น ถ้าใช้คำว่าน้อมก็ต้องรู้ว่าทั้งหมดเป็นธรรม มิฉะนั้นการศึกษาก็ไม่สอดคล้องกันเลย ใช่ไหม ทุกอย่างเป็นธรรม แต่พอถึงน้อมไป นี่อะไร ก็ต้องเข้าใจด้วย ว่าคือธรรมนั่นแหละ

    ผู้ฟัง ขออนุญาตถามเรื่องของ การเป็นผู้ที่เห็นโทษของอกุศล บางทีผมไปซูเปอร์มาร์เก็ต ผมซื้อผักปลอดสาร แล้วผมโยนผักทิ้งผัก ทำให้ผักช้ำโดยที่ไม่ได้ใส่ใจว่าของเขาจะเสียหาย ท่านอาจารย์ได้ถามผมว่า “แล้วครั้งหน้าจะทำหรือเปล่า” ผมตอบว่า “ไม่ทำ” แต่คำตอบที่ผมตอบท่านอาจารย์ เป็นคำตอบที่ผมไม่ได้มีความรู้สึกที่ว่าผมเห็นโทษจริงๆ ว่าผมจะไม่ทำอีก ผมไปซื้อดินปุ๋ยซึ่งราคาถูกพิเศษสิบห้าบาท ของเขาก็มีน้อย เพื่อที่ทุกคนจะได้แบ่งปันกันไป ผมก็ขนมามากมาย เพราะผมคิดว่าผมอยู่ไกล ผมก็ต้องขนมาเยอะๆ คนขายก็ถามว่า “พี่จะเอาหมดเลยหรือ” ผมก็ตอบว่า “เอาหมดนี่แหละ” ในขณะนั้นก็ไม่ได้คิดถึงคนอื่นเลยว่า คนอื่นก็ต้องการของราคาถูก เขาก็อาจจะไม่ได้ของ เพราะผมซื้อไปจำนวนมาก อย่างไรที่เราจะเห็นโทษของอกุศลต่างๆ แล้วที่เราจะถือว่าเป็นโทษจริงๆ แล้วเราจะไม่ประพฤติปฏิบัติอย่างนั้นอีก

    ท่านอาจารย์ ฟังข่าวแต่เช้าเลย มีเสียงกระทบหู ถ้าไม่คิดก็ไม่มีข่าว เพราะฉะนั้น ที่คุณนิรันดร์พูดทุกคำนั้นก็มาจากคิด และความคิดก็บังคับบัญชาไม่ได้ ทุกคนมีความอยากเป็นคนดี แต่ว่าก็รู้ว่าเป็นไม่ได้สักทีหรือเป็นได้บ้าง ที่ว่าเป็นไม่ได้สักที คือ ไม่ได้เป็นอย่างที่ต้องการจะเป็นสักที อยากจะไม่มีกิเลส อยากจะไม่เอาของที่มีน้อยไปหมดคนเดียว ก็เป็นเรื่องของการที่แสดงให้เห็นว่า ขณะนั้น อกุศลมีกำลัง และอกุศลก็ไม่ใช่คุณนิรันดร์ ถึงไม่อยากจะมีอกุศลสักเท่าไหร่ แต่มีเหตุที่จะให้เกิดอกุศล อกุศลก็ต้องเกิด

    เพราะฉะนั้น หนทางเดียวไม่มีหนทางอื่นอีกเลย คือให้เข้าใจถูกตามความเป็นจริงว่าเป็นธรรม ก่อนที่อกุศลใดๆ จะลดน้อยลงไป และเป็นอย่างที่ใจคิด ก็คือว่า ต้องมีความเข้าใจว่าเป็นธรรม ก็จะเห็นความเป็นอนัตตา นี้เป็นประโยชน์สูงสุด แต่ถ้าคุณนิรันดร์ทำตามที่คุณนิรันดร์พูด แต่ไม่รู้ว่าเป็นธรรมก็เป็นคุณนิรันดร์ อันนั้นก็จะมีความเป็นคุณนิรันดร์ตลอดไป แล้วเป็นคนดีสามารถที่จะพูดอย่างไรก็ทำอย่างนั้น นี้ไม่ได้ส่งเสริมว่า เมื่อพูดแล้วก็ไม่ต้องทำอย่างที่พูดก็ได้ แต่ใครจะรู้ว่าขณะต่อไป แม้เพียงหนึ่งขณะ อะไรจะเกิด จะเป็นกุศลเกิดหรืออกุศลเกิด ก็ไม่สามารถที่จะรู้ได้

    เพราะฉะนั้น การฟังธรรมเพื่อเข้าใจว่าเป็นธรรม ซึ่งเป็นความจริงจะเป็นอื่นไม่ได้เลย ทั้งๆ ที่เป็นธรรม และได้ฟังว่าเป็นธรรม แต่ก็ยังไม่หมดความเป็นเรา เพราะเคยไม่เข้าใจ เคยยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นเราตลอด ตั้งแต่คุณนิรันดร์เริ่มทำ จนกระทั่งถึงวันนี้ ที่คิดมาตลอดว่าเป็นอย่างไร จะทำอีกหรือเปล่า วันนี้จะพูดอะไร แล้วก็ต่อไปจะเป็นอย่างไร อยากจะหาวิธีที่จะเป็นคนดี แต่ที่สำคัญที่สุด ถึงดีอย่างไร ก็ไม่สามารถที่จะละคลายอกุศลได้ เพราะเหตุว่า ไม่รู้ว่าเป็นธรรม

    คนดีมีมากในครั้งอดีต จนกระทั่งทำให้เกิดในสวรรค์เพราะความดี เกิดเป็นรูปพรหมบุคคล เพราะความสงบของจิตที่มั่นคง เกิดเป็นอรูปพรหมบุคคลก็ยังได้ แต่ว่าไม่เข้าใจสภาพธรรมที่กำลังปรากฏว่าไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่เรา ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เพราะฉะนั้น ก็จะต้องวนเวียนไป จากที่หนึ่งไปสู่อีกที่หนึ่ง จากเป็นบุคคลนี้ ไปสู่ความเป็นคนอื่น ตามเหตุตามปัจจัย ไม่จบ เพราะฉะนั้นประโยชน์ที่สำคัญที่สุด ฟังให้เข้าใจว่า ขณะนี้เป็นธรรม


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 184
    12 ม.ค. 2567