พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 745


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๗๔๕

    ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๒๘ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๔


    ท่านอาจารย์ กำลังดูหนัง ร้องไห้ได้ไหม ทำไมอยู่ดีๆ ดูแล้วก็ร้องไห้ เพราะฉะนั้น ขณะนั้นแสดงให้เห็นตามความเป็นจริงว่า จิตกำลังคิดเรื่องอะไรตามสิ่งที่ปรากฏ เหมือนเดี๋ยวนี้เลย ขณะนี้ก็มีสิ่งที่กำลังปรากฏ เห็นคนหัวเราะ เห็นคนยิ้ม หรือว่าเห็นคนโศกเศร้าก็ต้องเหมือนกัน เพราะฉะนั้น จิตในขณะที่มีสิ่งนั้นๆ เป็นอารมณ์ก็เป็นปกติอย่างนี้ จะอยู่ที่ไหนสามารถที่จะรู้ ลักษณะของจิตในขณะนั้นได้ไหม นี้คือผลของการฟังธรรม ผลของการเข้าใจธรรม เพราะทุกอย่างเป็นธรรม ทุกขณะเป็นธรรม ในขณะนั้นเองถ้ามีปัจจัยพอก็สามารถที่จะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรม ซึ่งเกิดขึ้น และดับไป แล้วไม่ยึดมั่นติดข้องในสภาพที่กำลังปรากฏเพราะว่า บางคนก็อาจจะ “ตายจริง เรากำลังร้องไห้โศกเศร้าเรื่องอะไร ไม่มีอะไรสักหน่อย” ก็เกิดอย่างนั้นขึ้นมา นั่นคือความคิดซึ่งจะคิดอย่างนั้นก็ได้ แต่ความตรงของธรรม คือ ขณะนั้นสามารถที่จะรู้ความเป็นจริงว่า ขณะนั้นเป็นธรรมเท่านั้นเอง เหมือนปกติอย่างนี้แล้วก็มีอย่างอื่น เวลาที่ไม่ไปดูหนังก็ร้องไห้ไม่ใช่หรือ จะต่างอะไรกัน

    เพราะฉะนั้น สติสัมปชัญญะสามารถที่จะระลึก แล้วเข้าใจถูกต้องในลักษณะของสภาพธรรม ซึ่งเป็นอย่างนั้น ในขณะนั้น เป็นโทมนัส เป็นความโศกเศร้าเสียใจ ก็เกิดแล้วเป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้น ตัวจริงไม่ว่า จะเป็นข่าวหรือว่า ในโรงภาพยนตร์ โรงหนัง โรงละคร อะไรก็ตามแต่ จิตขณะที่กำลังเป็นไปอย่างนั้น และสติสัมปชัญญะสามารถที่จะเกิดขึ้น เข้าใจถูก เห็นถูกว่า ขณะนั้นเป็นลักษณะของธรรม นี่คือ ประโยชน์ของการศึกษาธรรมซึ่งถ้ายังไม่รู้จริงๆ อย่างนี้ ไม่ใช่ทุกอย่างเป็นธรรมอย่างที่พูด แต่ถ้าเมื่อไรเป็นจริงอย่างนี้ ทุกอย่างเป็นธรรม

    ผู้ฟัง จากพระสูตรที่แสดงเรื่องของฉันทราคะ แล้วฉันทราคะเป็นเหตุให้เกิดทุกขโทมนัส และผู้ใดที่ละฉันทราคะได้ กำจัดได้ ก็จะเป็นเหตุให้เกิดสุข

    ท่านอาจารย์ การที่จะรู้ความจริงของธรรม ความจริงต้องเป็นความจริง ไม่ว่าจะพูดเรื่องอะไร เป็นการที่จะทดสอบความเข้าใจของผู้ฟังว่า ไม่ว่าจะพูดเรื่องอะไรเป็นธรรม ได้ไหม หรือความจริงก็เป็นธรรมนั่นแหละ ไม่ใช่หวั่นกลัวว่า ไม่ใช่ธรรม เพราะถ้าไม่มีธรรม ไม่มีจิต ไม่มีเจตสิก ไม่มีรูปขณะนี้ จะไม่มีอะไรเลยทั้งสิ้น ตามความเป็นจริง คือ มีสิ่งใดที่สามารถที่จะทำให้ผู้ฟังเข้าใจธรรมได้ เมื่อไหร่ ก็ควรที่จะกล่าวถึงเรื่องนั้น แล้วแต่ว่าขณะนั้นกำลังคิดอย่างไร ถ้าไม่คิดอย่างนั้นจะพูดเรื่องนี้ได้ไหม ก็ไม่ได้ แต่เพราะคิดเรื่องนี้จึงทำให้ขณะนั้น คนซึ่งกำลังอยากจะรู้จักฉันทราคะ จะได้มีความเข้าใจจริงๆ ว่า ฉันทราคะนี้อยู่ที่ไหนบ้าง ที่จะเป็นละฉันทราคะ ไม่ใช่ขอทราบว่า จะละฉันทราคะได้อย่างไร แต่ไม่รู้เลยว่า ฉันทราคะนี้อยู่ที่ไหนบ้าง และเดี๋ยวนี้อยู่ที่ไหน และก่อนนี้อยู่ที่ไหน กำลังอ่านหนังสือพิมพ์ ฟังข่าว ดูภาพยนตร์ ฉันทราคะอยู่ที่ไหน ถ้าไม่รู้แล้วจะดับได้อย่างไร

    เพราะฉะนั้น ธรรมเป็นเรื่องที่กว้างขวาง เป็นเรื่องที่ละเอียดยิ่ง เป็นเรื่องที่มีปัจจัยปรุงแต่ง เกิดแล้วก็ดับ แล้วเกิดดับสืบต่อไม่มีวันจบ ตราบใดที่ยังไม่มีความเข้าใจธรรมจริงๆ เพราะฉะนั้น ก็ต้องมีความเข้าใจธรรมจริงๆ ด้วย เช่น ไม่พูดถึงข่าว แต่พูดถึงเดี๋ยวนี้ คุณนิรันดร์อยู่ที่นี่ เห็นอะไร กับเวลาที่คุณนิรันดร์ไม่ได้อยู่ที่นี่ แล้วก็เห็นอย่างอื่น ต่างกันหรือเหมือนกัน หรือแม้แต่คุณนิรันดร์กำลังอ่านหนังสือพิมพ์ กำลังดูหนัง ดูละคร ต่างกันหรือเหมือนกัน เพื่อที่จะให้เข้าใจจริงๆ ว่า ไม่มีการจำกัด ความไม่รู้ และความรู้ ความไม่รู้ทั่วไปหมด ไม่ว่าอะไรที่ไม่รู้ก็ไม่รู้อยู่นั่นแหละ แต่ตรงกันข้าม ถ้าเป็นความเข้าใจที่ถูกต้อง ไม่ว่าอะไร ก็ปัญญาสามารถที่จะรู้ตามความเป็นจริงได้

    ด้วยเหตุนี้ จึงได้กล่าวถึงสิ่งที่จะเป็นประโยชน์ ที่จะทำให้เข้าใจว่า ขณะนี้คุณนิรันดร์อยู่ที่นี่ ทุกคำพูดออกมาจากความคิด ถูกต้องหรือไม่ ฉันใด แม้แต่พระธรรมทั้งหมดที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงตลอด ๔๕ พรรษา ก็มาจากพระดำริ มาจาก วิตก วิจาร ของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ฉันนั้น เพราะฉะนั้น ภาระหรืองานใหญ่ คือ การที่จะอบรมเจริญปัญญา เพื่อมีความเห็นถูกต้องตามความเป็นจริง เพราะมีโอกาสที่จะได้รู้ความจริง ถ้าเป็นผู้ที่ไม่มีศรัทธาเลย ไม่มีโอกาสเลยที่จะรู้ความจริง เพราะว่า ผู้ที่ได้ตรัสรู้แล้ว และแสดงหนทาง ซึ่งสภาพธรรมกำลังปรากฏ ให้ผู้ที่ฟังแล้วเริ่มเข้าใจสามารถเข้าใจละเอียดขึ้น จริงหรือเปล่าว่า ขณะนี้ไม่มีคุณวิชัย

    ผู้ฟัง จริง ไม่มี

    ท่านอาจารย์ จริง

    ผู้ฟัง เป็นความจริง

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น นี่เป็นวาจาสัจจะที่จะทำให้เกิดปัญญา ความเห็นที่ถูกต้อง เพราะฉะนั้น เวลาที่พูดถึงเรื่องข่าว จริงหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ข่าวทั่วๆ ไปก็ไม่เป็นความจริง เป็นเรื่องของสัตว์ บุคคล เรื่องราว

    ท่านอาจารย์ ขณะนั้นอะไรจริง

    ผู้ฟัง จิตที่คิดถึงเรื่องข่าวนั้นเป็นความจริง

    ท่านอาจารย์ จิตที่คิดเหมือนเดี๋ยวนี้เลย เพราะขณะนี้ก็มีจิตที่คิด แต่คิดจากสิ่งที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้น ทั้งหมดให้ทราบว่าคือ จิต เจตสิก รูป เมื่อไหร่ที่สามารถจะรู้ความจริงอย่างนี้ ก็จะค่อยๆ เข้าใจถูกต้องว่า ทุกอย่างที่มีจริงเป็นธรรม ไม่ใช่เรา ไม่ใช่คุณนิรันดร์ ไม่ใช่เรื่องราว แต่ว่าเป็นสภาพธรรมที่เกิดแล้วดับไป

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์กำลังกล่าวว่า ที่แสดงเรื่องข่าวก็เพื่อให้เข้าใจธรรมในชีวิตประจำวัน เพราะจะเป็นเหตุปัจจัยที่จะให้เข้าใจว่า ฉันทราคะเกิดขึ้นมาได้อย่างไร

    ท่านอาจารย์ ถูกต้องไหม กำลังอ่านข่าว ฉันทราคะมีไหม อ่านหน้าบันเทิง สนุกสนาน โรงหนัง โรงละคร เรื่องต่างๆ

    ผู้ฟัง อันนั้นมีฉันทราคะแล้ว

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น กำลังเห็นเดี๋ยวนี้มีฉันทราคะไหม ฉันทราคะมาจากไหน มาจากความติดข้อง ในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ไม่ว่าในรูปลักษณะใด ชาวสวน ชาวนา มีฉันทราคะไหม

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ ในอะไร

    ผู้ฟัง ในพืชผลที่จะเก็บเกี่ยว

    ท่านอาจารย์ ในสิ่งที่ปรากฏ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เหมือนกันหมดเลย นี่คือ กว่าจะเข้าใจธรรมจริงๆ ว่า ตัวจริงของธรรมถูกปกปิด และหุ้มห่อด้วยอะไร แค่ไหน เช่น เห็นในขณะนี้ ทุกคนฟังแล้วก็รู้ว่า เป็นสิ่งที่มีจริง เป็นธรรมซึ่งเกิดขึ้นโดยที่ไม่มีใครสามารถที่จะไปบันดาลได้ แต่เมื่อมีปัจจัยที่จิตเห็นจะเกิด ก็เห็นแล้วก็ดับไป นี่คือ ความจริงที่ลึกซึ้งอย่างยิ่งของธรรมซึ่งถูกหุ้มห่อปิดบังด้วยความไม่รู้และฉาบทาด้วยฉันทราคะ

    เพราะฉะนั้น มากมายสักเท่าไหร่ กว่าสามารถที่จะเข้าถึงสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ ก็ต้องอาศัยการฟังแล้วพิจารณาแล้วก็เข้าใจจริงๆ ไม่ว่าจะกล่าวถึงอะไรทั้งสิ้น ก็ไม่พ้นจาก จิต เจตสิก รูป ไม่ว่าที่ไหนต้องรู้ว่า ฉันทราคะเกิดเมื่อไหร่ จิตเห็นมีโลภเจตสิกเกิดร่วมด้วยหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ไม่มี

    ท่านอาจารย์ ไม่มี เพราะฉะนั้น จิตเห็นมีฉันทราคะไหม

    ผู้ฟัง ไม่มี

    ท่านอาจารย์ จิตอะไรมี

    ผู้ฟัง โลภ

    ท่านอาจารย์ ขณะใดที่โทสเจตสิกเกิดร่วมกับจิต ขณะนั้นจะมีโลภเจตสิกเกิดร่วมด้วยได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ นี่คือ การเรียน การฟัง การศึกษา เพื่อที่จะให้เข้าใจความจริงโดยไม่หวั่นไหว ไม่เปลี่ยนแปลง ค่อยๆ มั่นคงขึ้นว่า เป็นธรรม แม้ว่าจะเป็นเรื่องราวของธรรม แต่ก็เป็นเรื่องราวที่เป็นจริง ที่เป็นวาจาสัจจะ ที่ไม่เปลี่ยนแปลง ที่สามารถจะทำให้เข้าถึงความจริงของธรรมได้ในวันหนึ่ง รู้คือปัญญาใช่ไหม

    ผู้ฟัง ใช่

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่มีปัญญา ไม่มีความเข้าใจถูก จะรู้อะไรๆ ได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น พระพุทธศาสนาเป็นศาสนา คือ คำสอนของผู้ที่ทรงตรัสรู้เพื่อให้บุคคลอื่น รู้ตาม เข้าใจตาม ถ้ารู้ตามว่า ไม่มีเรา แต่มีสภาพธรรม ที่เป็นกุศลธรรม และอกุศลธรรม ความเห็นถูกก็ย่อมเห็นประโยชน์ของความดี ไม่ใช่ความไม่ดี เพราะฉะนั้น ความดีทั้งหลายก็เจริญขึ้นเพราะความเห็นถูก

    อ.กุลวิไล มีท่านที่มาใหม่เขียนมาว่า “ผมเพิ่งศึกษาได้ไม่นาน ได้ฟังเทปธรรม ได้ยินประโยคที่ว่า ถ้ามีเหตุปัจจัยให้คิด ก็ต้องคิด” ท่านถามว่า “อะไรเป็นเหตุปัจจัยให้คิด ใช่กิเลสหรือเปล่า” กราบเรียนท่านอาจารย์

    อ.วิชัย ขณะที่เขียนคำถามก็คิดแล้ว เพราะเหตุว่า จิตเกิดดับสืบต่อกันไม่ขาดสายเลย ดังนั้นถ้ารู้ว่า จิตมีหลายประเภท และเกิดดับสืบต่อกันตามเหตุปัจจัย ขณะที่คิดก็เป็นจิตขณะหนึ่ง ซึ่งจิตที่คิดมีหลายอย่าง คิดที่ดีก็มี และคิดที่ไม่ดีก็มี ขณะที่คิดเขียนคำถามเรื่องของความคิด ขณะนั้นจิตก็กำลังคิดอยู่ เพราะเหตุว่า ตามความเป็นจริงที่จะเข้าใจธรรม คือ ขณะนี้ ไม่ใช่คิดถึงสิ่งที่ดับไปแล้วหรือว่าล่วงไปแล้ว

    เพราะฉะนั้น ขณะนี้ทุกท่านก็มีจิต แต่ว่า จิตนั้นก็เกิดขึ้นแต่ละขณะแล้วก็ดับไป แล้วก็จะไม่กลับมาเกิดอีกเลย ก็ล่วงไปแต่ละขณะๆ เพราะฉะนั้น ขณะหนึ่งของจิตที่เกิดขึ้นก็ต้องอาศัยปัจจัยหลายอย่าง ที่จะให้จิตแต่ละขณะเกิดขึ้น เพราะเหตุว่า จิตเป็นธาตุรู้ เป็นสภาพรู้ ต้องมีสิ่งที่จิตรู้ ฉะนั้นขณะใดก็ตามที่เราคิดถึงเรื่องใด ขณะนั้นจิตก็รู้เรื่องหรือว่าสิ่งนั้น เช่น ขณะนี้มีเห็น ขณะนี้ก็มีจิตเกิดขึ้นเห็นสิ่งที่ปรากฏ ก็มีปัจจัยแล้ว พร้อมแล้วที่จะให้จิตแต่ละขณะเกิดขึ้น แม้ขณะนี้ คือ จิตเห็นกำลังเกิด หรือแม้ขณะนี้ได้ยินเสียง มีเสียง จิตก็เกิดขึ้นรู้เสียงที่มีในขณะนี้ ถ้าไม่มีเสียงเลย จะให้จิตเกิดขึ้นได้ยินเสียงก็ไม่ได้ เพราะเหตุว่า ไม่มีปัจจัยใดที่จะให้จิตได้ยินเกิด

    เพราะเหตุว่า ไม่มีเสียง เพราะเหตุว่า จิตได้ยิน คือต้องรู้เสียงเท่านั้น จะรู้อย่างอื่นไม่ได้ ฉะนั้นจิตแต่ละขณะก็มีปัจจัยต่างๆ ที่จะปรุงแต่งให้จิตเกิดขึ้น แสดงให้เห็นว่า ตามความเป็นจริงพระผู้มีพระภาคก็ทรงแสดงธรรมโดยละเอียด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการที่จะดูข่าวในชีวิตประจำวัน หรือว่าการกระทำการงานต่างๆ ก็เป็นจิตแต่ละขณะที่เกิดขึ้นสืบต่อกัน ถ้าไม่ได้ฟังพระธรรมเลย ก็ไม่มีโอกาสที่จะรู้เลยว่า แต่ละขณะๆ นั้นก็เป็นธรรมดาแต่อย่าง ซึ่งบุคคลที่ฟังธรรมก็จะรู้ว่า ก่อนฟังพระธรรมไม่เคยแม้จะคิดถึงว่า เป็นธรรมแต่ละอย่างว่า เป็นธรรมจนกว่าได้ยิน เริ่มที่จะเข้าใจว่า มีจิต มีธาตุรู้ มีสภาพรู้ และมีสิ่งที่ถูกรู้ด้วย แล้วก็มีสภาพธรรมที่ไม่รู้อะไรเลยด้วย เป็นรูปแต่ละอย่าง เพราะฉะนั้น การเริ่มที่จะฟังแล้วพิจารณาไตร่ตรอง เริ่มที่จะเข้าใจถูกค่อยๆ ละความไม่รู้

    อ.ธิดารัตน์ ที่แน่ๆ พระอรหันต์ไม่ว่าท่านจะคิดเรื่องอะไรก็ตาม คิดด้วยมหากิริยาจิต จะมีปัญญาเกิดร่วมด้วย หรือไม่มีปัญญาเกิดร่วมด้วยก็ตาม ท่านก็มีเห็นด้วย มีเห็น มีได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส เพราะว่า ยังมีวิถีจิต ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แต่ชวนะที่เป็นอกุศลไม่มีแล้ว เพราะท่านดับอนุสัยที่จะเป็นปัจจัยให้อกุศลเกิดได้หมดสิ้น แต่การจำว่า เป็นคนนั้น คนนี้ ด้วยความจำนี้ก็มี แต่ไม่ได้มีการยึดถือว่า เป็นสัตว์บุคคล ตัวตน และเรื่องที่บัญญัติจาก จิต เจตสิก รูป นั้นท่านก็ต้องมี

    เพราะฉะนั้น ก็มีการคิดเรื่องราวต่างๆ ได้ แต่สภาพจิตเป็นกิริยาจิตอยู่แล้ว มีการไตร่ตรองเรื่องของธรรมบ้าง เรื่องราวซึ่งเป็นไปในชีวิตประจำวันซึ่งก็มีอยู่ แต่จิตของท่านไม่ได้เป็นอกุศลแล้ว จริงๆ ก็ไกล เพราะว่า พระอรหันต์ ตอนนี้สิ่งที่เป็นประโยชน์ก็คือ สภาพจิตของเราขณะนี้ที่มีทั้งปรมัตถ์ที่ปรากฏ หรือว่า เรื่องราวที่สืบต่อมาจากปรมัตถธรรมที่ปรากฏแล้ว จิตเป็นเช่นไร สิ่งที่ควรพิจารณาไม่ใช่จิตของผู้อื่นว่า ผู้นั้นจะมีอกุศลจิตหรือมีกุศลจิตอย่างไร ที่เป็นประโยชน์ก็คือ รู้ลักษณะของจิตของตนเองตามความเป็นจริง และเห็นโทษของอกุศลเพื่อที่จะขัดเกลาอกุศล

    ปกติเราก็จะมีเรื่องราวไร้สาระเยอะ มาศึกษาธรรมก็ทำให้มีเรื่องราวของธรรมที่จะมาไตร่ตรอง มาคิด ซึ่งการคิด หรือว่าแม้กระทั่งคิดเรื่องราวของธรรมก็ยังเป็นประโยชน์ เพราะว่า เป็นปัจจัยที่จะทำให้เข้าใจธรรม เช่น คำถามนี้ คิดจะต้องมีปัจจัยให้คิด และเรามีศรัทธาที่จะศึกษาธรรม และมีปัจจัยที่จะทำให้ไตร่ตรองธรรมหรือเปล่า ถ้าไม่มีการฟังธรรมเลย ไม่มีการสนใจ เรื่องของธรรมเลย เราจะคิดถึงธรรมได้อย่างไร เพราะฉะนั้น ก็ไม่ควรขาดการฟัง ขาดการศึกษา เพื่อที่จะเพิ่มเหตุปัจจัยที่จะทำให้มีการคิดถึงธรรม หรือว่าไตร่ตรองธรรมเพื่อความเข้าใจขึ้น

    ท่านอาจารย์ ที่ไม่ลืมก็คือ ข่าวคือเรื่องราว แล้วแต่ว่าจะเป็นเรื่องราวอะไรทั้งหมด ซึ่งต้องเป็นขณะที่คิด นี้ก็คือ เราจะได้รู้จักความจริงว่า วันหนึ่งๆ คิดมาก แล้วก็คิดอะไรบ้าง แต่ขณะที่ทุกคนจะรู้สึกว่าคิด ก็ต่อเมื่อเป็นเรื่อง เช่น เวลานี้ถ้าถามว่า “กำลังคิดหรือเปล่า” บางคนอาจจะตอบไม่ได้หรือว่า ตอบได้บ้างแต่ไม่หมด แต่ที่ทุกคนเข้าใจก็คือ เมื่อไหร่ที่คิดเรื่องราวต่างๆ ขณะนั้นคือ คิด ถูกต้องไหม แต่ว่า ความจริง คิดที่ไม่เป็นเรื่องก็มี เพราะว่าหลังเห็นแล้วก็คิด ยังไม่เป็นเรื่องราวอะไรเลย แต่คิดถึงรูปร่างสัณฐานของสิ่งที่ปรากฏ

    เพราะฉะนั้น จึงรู้ว่า สิ่งที่ปรากฏเป็นอะไร เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะเป็นพระอรหันต์ หรือเป็นใครก็ตาม เมื่อมีการเห็นก็คิดถึงสิ่งที่ปรากฏ มีการได้ยินก็คิดถึงเสียง เป็นเรื่องราวต่างๆ หรือแม้ ไม่เห็นไม่ได้ยินไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ก็ยังคิดได้จากความจำในสิ่งที่เคยได้เห็นบ้างได้ยินบ้าง และความรู้สึก เคยสุขบ้าง ทุกข์บ้าง และความจำ แล้วแต่ว่า จะเป็นวิชาการต่างๆ หรืออะไรก็ตาม แสดงให้เห็นว่า วันหนึ่งๆ อยู่ในโลกของความคิดมาก เพราะว่า มีสิ่งที่ปรากฏแสนสั้น เช่น สิ่งที่กำลังปรากฏให้เห็นขณะนี้ พอกระทบจักขุปสาท จิตเห็น และวาระคือจิตอื่นๆ เกิดขึ้นไม่มากเลย ไม่ถึง ๑๗ ขณะจิตด้วย เพราะว่า ก่อนนั้นรูปเกิดตั้งแต่กระทบกับภวังค์ เพราะฉะนั้น อายุของจิตจะสั้นสักแค่ไหน แล้วก็ดับไป หลังจากนั้นคิด

    เพราะฉะนั้น อยู่ในโลกของความคิดจากสิ่งเล็กน้อยมากที่ปรากฏ เมื่อกระทบทางตา ๑ กระทบทางหู ๑ กระทบทางจมูก ๑ กระทบทางลิ้น ๑ กระทบทางกาย ๑ แล้วคิด ยังไม่เป็นเรื่อง ต่อเมื่อใดที่มีการนึกถึง รูปร่าง สัณฐาน และเรื่องราวของสิ่งนั้น ขณะนั้นเราก็จะรู้ว่า เรากำลังคิดเรื่องอะไร ไปตลาดคิดเรื่องอะไร เรื่องอาหารใช่ไหม ไปเที่ยวที่สวนสาธารณะ คิดเรื่องอะไร คิดเรื่องดอกไม้ แต่ก็ไม่เท่านั้นใช่ไหม ก็ยังคิดเรื่องอื่นได้ แสดงว่า ความคิดนี้รวดเร็วมาก เพียงสิ่งที่ปรากฏ คิดถึงสิ่งที่ปรากฏนิดเดียว แต่คิดเรื่องอื่นก็ได้ ที่ไม่ใช่เรื่องสิ่งที่ปรากฏก็มาก เพราะฉะนั้น ข่าวก็คือ ในขณะที่คิดเรื่องราว แล้วแต่ว่า จะเป็นเรื่องราวของอะไร ของคน ของสัตว์ ของโรงเรียน ของชาวนา ของชาวสวน หรือว่าของผู้บริหารประเทศ หรืออะไรก็แล้วแต่จะคิด แสดงให้เห็นว่า ความคิดไม่สามารถจะบังคับบัญชาได้เลย แล้วแต่ว่าสะสมที่จะคิดด้วยจิตประเภทไหน แม้ว่า เรื่องนั้นเป็นเรื่องหนึ่งเรื่องใด ก็ยังคิดด้วยโลภะหรือว่า คิดด้วยโทสะ ด้วยเหตุนี้ เวลากล่าวถึง “ฉันทราคะ” คือ ความพอใจหรือความติดข้อง ก็ให้รู้ว่า ในวันหนึ่งๆ มากมายทั้ง ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และทางใจ

    เพราะฉะนั้น การที่จะละความติดข้อง ไม่ไช่ไม่รู้อะไรเลย แล้วก็ขอให้บอกหนทางที่จะละ ใครก็ทำไม่ได้ เพราะว่า อย่างไรๆ ก็คิดด้วยความไม่รู้ ด้วยความไม่เข้าใจความจริงของสภาพธรรม จนกว่าจะได้ฟังวาจาสัจจะ ความจริงที่แสดงออก เปิดเผยออก จากการตรึก วิตก วิจารเจตสิก ของพระอรหันต์สัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ทรงแสดงพระธรรมถึง ๔๕ พรรษา ตรงกันข้ามกับเรื่องราวทางโลกทั้งหมด เรื่องราวทางโลกไม่ได้ให้ความรู้ ความเข้าใจ ความจริงที่มีซึ่งรู้ยาก แม้ปรากฏก็ไม่รู้ความจริงนั้น เช่น เห็นขณะนี้ เช่น ได้ยินขณะนี้ หรือแม้คิดขณะนี้ ถ้าไม่มีการฟังพระธรรมเลยก็คิดว่า เป็นเราทั้งหมดเลย ตั้งแต่เกิดจนตาย ซึ่งไม่ถูกต้อง เพราะว่า เป็นธรรมแต่ละ ๑ ซึ่งมีปัจจัยเกิดขึ้นแล้วดับไป สืบต่ออย่างเร็วมาก จนลวงเหมือนกับว่า ไม่ได้ดับไปเลย แม้แต่การเปลี่ยนแปลงก็ไม่เห็น อย่าว่าแต่การดับ จากเห็นมาเป็นได้ยิน เปลี่ยนจากเห็นมาเป็นได้ยินก็ยังไม่รู้ แต่ความจริงจิตเกิดดับมากมาย แม้แต่จากเห็นมาสู่การได้ยินก็มีจิตเกิดคั่นโดยไม่รู้แล้ว

    ด้วยเหตุนี้ การฟังพระธรรมก็ได้มีความเข้าใจที่ถูกต้องว่า ตราบใดที่ยังไม่ได้ฟังพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง ไม่มีใครสามารถที่จะเข้าใจความจริงของธรรมได้ เพราะฉะนั้น ถ้าจะพูดถึงเรื่องข่าวให้มีความเข้าใจที่ถูกต้อง ข่าวก็คือ เรื่องราว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องใดๆ ทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น ข่าวที่ไม่ทำให้เกิดความเห็นที่ถูกต้อง แต่ทำให้เกิดโลภะ โทสะ ก็มีเป็นปกติในชีวิตประจำวัน แต่อีกข่าวหนึ่งซึ่งพระธรรมราชา ผู้ใดก็ตามที่ได้มีโอกาสอ่านสาส์น หรือฟังสาส์น คือ ข้อความที่แสดงวาจาสัจจะ ความจริงของธรรม ผู้นั้นก็มีโอกาสที่จะได้คิดถึงเรื่องราวซึ่งไม่ใช่ข่าวที่มีอยู่ทุกวัน ที่ทำให้เกิดโลภะ โทสะ โมหะ โดยที่ว่า ไม่ได้รู้ความจริง

    เพราะฉะนั้น การฟังธรรมก็เพื่อให้เข้าใจ ไม่ว่าจะกล่าวถึงคำใดก็ตาม ถ้าศึกษาธรรมโดยไม่เข้าใจจริงๆ พอพูดถึงเรื่องข่าว คนนั้นจะคิดอย่างไร จะเข้าใจไหม จะบอกคนอื่นว่าอย่างไร แต่ถ้าเป็นคนที่เข้าใจธรรม ใครพูดเรื่องข่าวก็ยังรู้ว่า ข่าวคืออะไร และขณะไหนรู้ข่าวอะไร ขณะนั้นก็ไม่ใช่คนเลย แต่ว่า เป็นจิต เป็นเจตสิก คือให้รู้ความจริง ไม่ว่าจะกล่าวถึงธรรมอะไร ก็ต้องเป็นเรื่องของ จิต เจตสิก รูป

    เพราะฉะนั้น ฉันทราคะไม่ใช่แคบๆ อยู่เพียงแค่ทางตานิดหนึ่ง หูหน่อยหนึ่ง จมูก ลิ้น กาย แต่ว่า กว้างขวางมาก ไม่ว่า จิตกำลังคิดด้วยความเพลิดเพลิน ด้วยความติดข้อง ขณะนั้นก็เป็นความพอใจ เป็นความติดข้อง แล้วจะละอย่างไรไม่ใช่โดยความไม่รู้ว่า ขณะนั้นเป็นอะไรก็ไม่รู้ แล้วจะไปละ แต่ต้องเข้าใจจริงๆ ว่า ขณะนั้นเป็นอะไร แม้แต่ที่มีท่านผู้หนึ่งที่เล่าเรื่องชีวิตของท่านให้ฟัง ก็เป็นข่าวส่วนตัวของท่าน ซึ่งขณะนั้นถ้าคนที่ได้ฟังธรรมก็รู้ว่า ขณะนั้นก็คือ จิต เจตสิก รูป ขณะที่กำลังฟังก็เป็น จิต เจตสิก ที่กำลังได้ยิน กำลังเข้าใจเรื่องราว และจิตที่เข้าใจเรื่องราวนั้น จะเกิดสุข เกิดทุกข์ ประการใดก็คือ ธรรมซึ่งเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยทั้งหมด เพราะฉะนั้น ธรรมก็จะเป็นคำตอบสำหรับทุกอย่าง ทุกเรื่อง เพราะว่า เป็นความจริง ที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ และทรงแสดง


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 184
    12 ม.ค. 2567