พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 762


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๗๖๒

    ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๑๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๕


    ท่านอาจารย์ เห็นก็คือ เพียงแค่เกิดเห็นแล้วก็ดับ เพราะฉะนั้น แม้แต่ความเดือดร้อนก็ไม่ใช่ว่า ให้ใครคนหนึ่งคนใดไปพยายามหามาตอบ แต่ว่า สภาพธรรมขณะนี้หลากหลาย และรวดเร็ว ฟังเข้าใจว่า ความจริงเป็นอย่างนี้ เพราะฉะนั้น จึงจะค่อยๆ คลายว่า แท้ที่จริงที่เห็นเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดได้ ก็เพราะเหตุว่า สิ่งที่ปรากฏทางตาเกิดดับซ้ำจนปรากฏนิมิตสัณฐาน แม้แต่จิตเห็น ระหว่างจิตเห็นครั้งหนึ่งกับจิตเห็นอีกครั้งหนึ่ง ห่างกันแล้วก็ไม่รู้ นี่คือ ความละเอียด ความลึกซึ้ง ซึ่งไม่ใช่ให้เราไปพยายามจะรู้ให้ได้ว่า เมื่อไหร่ แต่ฟังค่อยๆ คลายความไม่เข้าใจ และความไม่รู้ว่า ขณะนี้สิ่งที่มี มีแล้วทั้งนั้นเลยตามเหตุตามปัจจัย และไม่ใช่ของใครด้วย แต่ละคำๆ กว่าจะเข้าไปถึงใจที่จะใช้คำว่า “จดเยื่อในกระดูก” หรืออะไรก็ตามแต่ เป็นความเข้าใจที่มั่นคงขึ้น แล้วก็ยังรู้ว่า ยังไม่ได้เข้าใจความจริงแท้ของสิ่งที่เป็นจริง อย่างที่ได้ฟัง แต่ก็สามารถที่จะค่อยๆ เข้าใจขึ้นได้ นี่คือ การมีชีวิตอยู่ในชาตินี้ ไม่ใช่ว่า อยู่ไปเพื่อให้หวังจะได้เป็นพระโสดาบัน หรือว่า หวังจะประจักษ์แจ้งการเกิดของสภาพธรรม เพียงเพื่อได้เข้าใจสิ่งที่มีถูกต้องตามความเป็นจริง แค่นี้ถึงความเป็นอรหันต์ไหม เพื่อเข้าใจสิ่งที่มีถูกต้องตามความเป็นจริง จากไม่รู้เลย เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องของปัญญาทั้งนั้น ซึ่งต้องเป็นผู้ที่ตรงด้วยว่า ปัญญาเกิดขึ้นเป็นไป ไม่เปลี่ยนแปลง ตามขั้นของปัจจัยที่ทำให้เกิดปัญญานั้นๆ

    ผู้ฟัง การที่ท่านอาจารย์ถามว่า เดือดร้อนหรือไม่เดือดร้อน เหมือนสามารถรู้ว่า ขณะนั้นเป็นกุศลหรืออกุศล เพราะถ้าเป็นอกุศลก็เดือดร้อน

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ขณะนั้นพอจะรู้ไหม ที่กำลังสงสัย กำลังอยาก เป็นอะไร

    ผู้ฟัง ถ้ากำลังสงสัยทราบได้แน่ว่า เดือดร้อนเป็นอกุศล

    ท่านอาจารย์ ที่อยากจะมาถามเป็นอะไร แล้วกำลังฟังเข้าใจหรือไม่เข้าใจเป็นอะไร และขณะที่กำลังฟังก็ยังมีเห็นด้วย มีคิดเรื่องอื่นด้วยเป็นอะไร เห็นไหมว่า เป็นเรื่องความไม่รู้ เป็นเรื่องของสิ่งที่มีจริงทั้งหมดที่เกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัย แต่ความไม่รู้มากมายมหาศาล ไม่รู้ไปหมดจนกว่าจะค่อยๆ เข้าใจขึ้นเมื่อไหร่ ก็ละคลายความไม่รู้ไปเท่านั้นเอง จนกว่าความไม่รู้จะหมดดีไหม ดีกว่าฟังแล้วอยากจะรู้ แต่ว่าความไม่รู้ยังมีอยู่ทั้งหมด แต่ฟังแล้วค่อยๆ ละความไม่รู้ไปจนกว่าจะหมด

    ผู้ฟัง ความเข้าใจในขณะที่สนทนาหมายความว่า เกิดมาไม่รู้ความจริงของสิ่งที่กำลังมีจริงขณะนี้ ก็ฟังแล้วให้เข้าใจโดยที่อบรมปัญญาตรงนี้ ก็จะค่อยๆ สะสมความเข้าใจไป

    ท่านอาจารย์ จะเบากว่าตอนที่ไม่รู้ว่า “ธรรมคืออะไร” “ศึกษาอะไร” “เห็นเป็นธรรมหรือเปล่า” “อยากจะรู้โน่นรู้นี่หรือเปล่า” เห็นไหม ถ้ามีความเข้าใจที่ถูกต้องจะไม่เดือดร้อนเลย

    ผู้ฟัง อีกประเด็นหนึ่งที่ท่านอาจารย์ถามคุณนิรันดร์ว่า ถ้าคุณนิรันดร์กล่าวว่า กำลังศึกษาเห็น สิ่งที่ปรากฏทางตาขณะนี้ ได้ยินเสียงขณะนี้ คนก็จะแปลกใจว่า มาศึกษาอะไรซึ่งเป็นของธรรมดามาก ใครๆ ก็เห็น

    ท่านอาจารย์ ก็เขาไม่รู้จัก เขาไม่รู้ความจริงว่า ความจริงคืออย่างนี้ แต่พอบอกว่า “คุณนิรันดร์ศึกษาธรรม” คนดีใจ “อ้อ คนนี้ศึกษาธรรม” แต่ที่คุณนิรันดร์บอกว่า “คุณนิรันดร์ศึกษาเห็น” เขารู้จักธรรมหรือเปล่า ถ้าเขาสงสัย “เอ๊ะ คุณนิรันดร์ศึกษาอะไร” ก็แสดงว่า เขาไม่ได้รู้จักธรรม แต่คิดว่ารู้จัก

    ผู้ฟัง นั่นหมายความว่า คนเราดูเหมือนไม่รู้เลยว่า ตัวเองไม่รู้ความจริงที่ว่า ทุกคนเกิดมาเห็นแล้วเป็นกุศลหรืออกุศลก็แล้วแต่การสะสม หรือทางทวารอื่นๆ ด้วย แต่ถ้าบอกว่า มาศึกษาเรื่องเห็นก็รู้สึกแปลก ศึกษาอะไรที่มันเป็นปกติธรรมดา

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ถ้าศึกษาธรรมไม่แปลกใช่ไหม

    ผู้ฟัง แต่ถ้าบอกว่า ศึกษาธรรม “โอ้โหคนนี้เขาไม่ได้สนใจแค่อยู่ไปวันๆ นะ แต่เขาศึกษาสนใจสิ่งที่ดี มีคุณค่ากับชีวิต”

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ถ้าถามเขาต่อไป “แล้วธรรมคืออะไร” ถ้าเขาเห็นว่า คุณนิรันดร์มาศึกษา เห็น ได้ยิน แปลว่า เขารู้จักธรรมหรือเปลา

    ผู้ฟัง ก่อนที่จะศึกษากับท่านอาจารย์คิดว่า ธรรมเป็นสิ่งที่ลึกลับ ไม่ใช่เป็นชีวิตประจำวัน แต่เมื่อฟังท่านอาจารย์แล้วก็ทราบว่า สิ่งที่ต้องรู้คือ เห็นได้ยินขณะนี้

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น มีคำว่า “ธรรม” ในภาษาไทย แต่ไม่ใช่คำภาษาไทย เป็นคำที่มาจากภาษามคธี เป็นคำที่พระผู้มีพระภาคตรัส แต่คนฟังไม่ได้เข้าใจแม้แต่ว่า ธรรมคืออะไร เพราะฉะนั้น เมื่อไม่รู้อย่างนี้ ก็คงไม่รู้ต่อไป เพราะประมาทในแต่ละคำที่ได้ยิน แต่ถ้าเป็นผู้ที่ละเอียด ตรง จริงใจ ก็รู้โดยการต้องถามต่อไป “แล้วธรรมคืออะไร” เพราะว่า ศึกษาธรรมก็ต้องมีสิ่งที่ศึกษา

    เพราะฉะนั้น เมื่อศึกษาธรรม ธรรมคืออะไร ถ้าคนนั้นตอบไม่ได้ ก็หมายความว่า เขาไม่รู้ว่า เขาศึกษาอะไร และไม่รู้ว่า ธรรมคืออะไรด้วย แล้วจะเป็นอย่างนี้หรือ กับคุณนิรันดร์ที่บอกว่า ศึกษาเพราะว่ามีเห็นแต่ก็ไม่รู้ว่า เห็นที่มีจริงๆ ความจริงของเห็นคืออะไร ตลอดชีวิตมีแต่เห็นบ้าง ได้ยินบ้าง คิดนึกบ้าง สุขบ้าง ทุกข์บ้าง ศึกษาให้เข้าใจสิ่งต่างๆ ที่มีจริงเหล่านี้ว่า ความจริงของสิ่งต่างๆ เหล่านี้คืออะไร อะไรจะเป็นประโยชน์กว่า อะไรจะมีเหตุผลกว่า

    ผู้ฟัง ก็ต้องศึกษาสิ่งที่มีจริง

    ท่านอาจารย์ อะไรจะตอบคำถามได้ถูกต้องกว่า

    ผู้ฟัง ก็ต้องศึกษาสิ่งที่มีจริง ความจริงของสิ่งที่มีจริงขณะนี้

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ศึกษาภาษาบาลี หรือว่าเข้าใจคำแปล หรือว่าใช้คำในภาษาบาลี เพราะว่า ภาษาไหนใช้คำไหน เข้าใจกันได้ในภาษาไหน ก็เข้าใจกันได้ในภาษานั้น เพราะเป็นสิ่งที่มีจริงๆ ในทุกภาษา จะใช้ภาษาอะไรก็ได้

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์จะกล่าวว่า ถ้าคนที่ไม่ศึกษาก็จะพูดหรือทำในสิ่งที่ไม่รู้เลย ตั้งแต่เกิดจนตาย

    ท่านอาจารย์ ถูกต้องไหม

    ผู้ฟัง ใช่ เพราะฉะนั้น การที่ได้มีโอกาสได้ทำบุญมา แล้วก็มีโอกาสที่ได้รับความเมตตาจากท่านอาจารย์ ให้มาศึกษาจริงๆ แล้ว ความจริงที่ควรรู้ยิ่งคือ สิ่งที่เกิดขึ้น ๖ ทางในชีวิตประจำวัน ถ้าไม่รู้สิ่งนี้ก็ไม่มีอะไรที่น่ารู้ เพราะว่า ความจริงนอกเหนือจากเช่นนี้ไม่มี

    อ.อรรณพ ก่อนที่จะได้มาฟังธรรม เดือดร้อนหรือเปล่า ก็เดือดร้อน เดือดร้อนเพราะอะไร เพราะกิเลสอกุศลก็เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย แล้วเมื่อมาฟังธรรมแล้ว ยังเดือดร้อนไหม ท่านก็ตอบว่า เดือดร้อน ก็ยังเดือดร้อนจากกิเลสอกุศลที่ยังไม่ได้ดับแน่นอน ทีนี้ถ้าพิจารณาแคบขึ้นมาว่า “เดือดร้อนจากการฟังธรรมไหม” เพราะว่า เดือดร้อนจากกิเลสอกุศล มีความกังวลวุ่นวาย เรื่องอาชีพ เรื่องการงาน เป็นต้น ก็ยังคงมีทั้งก่อนฟัง และหลังฟังธรรมแล้ว เพราะยังมีกิเลสอกุศลอยู่ กังวลด้วยเรื่องกาย จะป่วยเป็นโรคอะไรไหม อะไรพวกนี้ก็ยังมี แต่ถ้าเราจะพูดถึงว่า มีความเดือดร้อนในการฟังธรรมไหม ก็ขึ้นกับว่า ฟังเพื่ออะไร

    ถ้าเป็นการศึกษาที่จะไม่เดือดร้อนก็คือ วัตถุประสงค์ คือศึกษาเพื่อเข้าใจ ถ้าเป็นการศึกษาเพื่อเข้าใจจะไม่กังวลกับเรื่อง จำนวนตัวเลข แต่รู้ประโยชน์ว่า ศึกษาเพื่อเข้าใจว่า เป็นธรรม ทุกพระสูตร ทุกข้อธรรม เพื่อความเข้าใจสภาพธรรม แล้วก็รู้ฐานะของตัวเราเองว่า ใช่ว่าจะไปรู้แม้ในเรื่องราวโดยละเอียดเหมือนท่านพระสารีบุตร ก็เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ถ้าเข้าใจเช่นนี้ก็คลายจากความเดือดร้อน

    เพราะฉะนั้น เดือดร้อนว่า ไม่รู้เรื่องโน้นเรื่องนี้ แล้วก็เดือดร้อนว่า ไม่รู้นั้น ก็ยังไม่รู้ว่า เป็นความเดือดร้อนอีก แล้วก็ยังคิดว่า เป็นสิ่งที่ดีเหมือนจะเป็นผู้ที่มี “ฉันทะ” ใคร่ต่อการศึกษา เพราะฉะนั้น วันนี้ก็ได้คำเตือน ที่จะให้เป็นผู้ละเอียดขึ้น ที่จะศึกษาธรรมเพื่อความเข้าใจจริงๆ

    อ.กุลวิไล แล้วถ้าเป็นปัญญาที่รู้ลักษณะสภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริง อกุศลธรรมไม่ใช่กุศลธรรม หรือแม้แต่สภาพธรรมที่ติดข้อง ก็ไม่ใช่สภาพธรรมที่เดือดร้อนใจนั่นเอง

    อ.ธิดารัตน์ ถ้าพูดถึงความเดือดร้อน เดือดร้อนมากๆ เราก็พอที่จะเข้าใจได้ใช่ไหม เช่น เวลาที่เดือดร้อนใจด้วยลักษณะของ “กุกกุจจะ” หรือลักษณะของความโกรธ ก็เดือดร้อนใจ เพราะขณะนั้นเวทนาเป็นทุกข์ ขณะที่แม้กระทั่งกำลังเพลิดเพลินอยู่ ก็มีความไม่สงบ เพราะว่า เป็นลักษณะของอกุศล หรือความอยากรู้ ศึกษาธรรมแล้วก็อยากรู้ ก็เป็นโลภะ ขณะนั้นมีความไม่สงบ มีความกระวนกระวาย

    เพราะฉะนั้น ความเดือดร้อนเหล่านี้เกิดขณะที่เป็นอกุศลจิตจึงชื่อว่า เดือดร้อน แต่จะเดือดร้อนมากน้อยแค่ไหน ก็ตามกำลังของอกุศลจิตนั้นๆ และการศึกษาธรรมเพื่อที่จะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดขึ้น คือปกติเราก็มีอกุศลหลากหลายกันในชีวิตประจำวัน ก็ไม่เคยรู้สึกว่า อกุศลเหล่านั้นเดือดร้อน หรือว่าเดือดร้อนเพราะอกุศลเหล่านั้นโดยเฉพาะโลภะ ไม่เคยรู้สึกเดือดร้อนเลย แต่เมื่อศึกษาธรรม เราก็เริ่มรู้แล้วว่า เป็นอกุศลจิต ไม่ดี ก็เดือดร้อนที่จะไม่มีอกุศลจิตอีก

    แต่เมื่อไหร่ที่เข้าใจลักษณะของอกุศลนั้นตามความเป็นจริงด้วยกุศล คือ กุศลสามารถจะรู้ลักษณะอกุศลธรรม ขณะนั้นไม่หวั่นไหว ไม่เป็นไปกับอกุศลธรรม ขณะที่กุศลจิตเกิดจึงไม่เดือดร้อน เพราะขณะนั้นไม่หวั่นไหวที่จะเอนเอียงไป ที่จะเป็นอกุศลประเภทใดประเภทหนึ่ง การศึกษาธรรมก็เพื่อที่จะค่อยๆ ที่จะเข้าใจสภาพธรรมที่ปรากฏ ท่านอาจารย์ยกตัวอย่างสภาพธรรมที่ปรากฏ เช่น เห็น หรือว่า สิ่งที่ปรากฏ ขณะนั้นไม่เดือดร้อนเพราะว่า ไม่ใช่อกุศล แต่หลังเห็น หลังได้ยิน ส่วนใหญ่ก็จะเป็นอกุศลจิต ก็เดือดร้อนด้วยอกุศลจิตนั้นๆ แต่ถ้าหลังเห็น หลังได้ยิน รู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่ปรากฏ หรือว่าลักษณะของ โลภะ โทสะ โมหะ เหล่านี้ ขณะนั้นก็จะไม่หวั่นไหว แล้วก็ค่อยๆ เข้าใจลักษณะของอกุศล ตามความเป็นจริง ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏตามความเป็นจริงได้

    อ.กุลวิไล ซึ่งเห็นก็เป็นสิ่งที่มีจริง เพราะว่า ทั้งหมดเป็นธรรม แม้แต่เห็นก็ไม่ใช่เรา เห็นต้องมีลักษณะเพราะว่า ถ้าพูดถึงธรรมก็ต้องเป็นสิ่งที่มีจริง และต้องมีลักษณะด้วย เพราะฉะนั้น เห็นก็ต้องมีสภาพธรรมที่มีลักษณะ เพราะฉะนั้น เห็นเป็นธาตุรู้ เป็นอาการรู้ ต้องมีการรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด เมื่อนั้นบอกไม่ได้ว่า “กำลังเห็น” เพราะฉะนั้น ขณะนี้เห็นก็กำลังปรากฏ แต่รู้ลักษณะของ “ธาตุเห็น” หรือเปล่า เพราะเห็นไม่มีแขน ไม่มีขา ไม่มีตัว แล้วเห็นก็เป็นเห็น ไม่ใช่ขณะที่คิดว่า “เราเห็น” กราบเรียนท่านอาจารย์ถึงลักษณะสภาพเห็นตามความเป็นจริง

    ท่านอาจารย์ ก็พูดกันทุกครั้งเลย แล้วเห็นก็กำลังเห็นอยู่ แต่ก็แสดงให้เห็นว่า ความละเอียด ความลึกซึ้ง ที่จะเข้าใจสิ่งที่มีจริง แต่ว่า ไม่มีรูปร่างใดๆ เลยทั้งสิ้น ยากไหมที่จะรู้ว่า สิ่งนั้นกำลังรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด ถ้าไม่มีธาตุรู้หรือว่า ไม่มีสภาพรู้อะไรๆ ก็ไม่ปรากฏ ก็ต้องค่อยๆ ฟังไป ค่อยๆ เข้าใจขึ้นเท่านั้นเอง ไม่มีทางอื่นเลย นอกจากรู้ว่า เห็นมีจริงๆ ลักษณะของเห็น หรือได้ยิน หรือคิดนึก เหล่านี้เป็นสิ่งซึ่งไม่มีรูปใดๆ เจือปนเลยทั้งสิ้น เห็นหรือไม่ แค่นี้กว่าจะคิด ไตร่ตรอง จนกระทั่งรู้ว่า “ธาตุรู้” ไม่ใช่สิ่งที่เป็นรูปที่ปรากฏให้รู้ เช่น ขณะนี้สีสันรูปร่างต่างๆ กำลังปรากฏให้เห็น แต่สภาพที่เห็น “ธาตุเห็น” ไม่ใช่สิ่งที่มีสีสันวรรณะอย่างที่ปรากฏให้เห็นเลย แต่ว่า เกิดขึ้นเห็นเท่านั้นเอง

    อะไรๆ ทั้งหมดที่ไม่ใช่สิ่งที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ในชีวิตประจำวัน ทั้งหมดนั้นก็เป็นธาตุซึ่งเป็นสภาพรู้ในขณะนั้น ฟังเข้าใจหมดเลยใช่ไหม ฟังเข้าใจหมดเลยใช่ไหม เข้าใจพูดถึงเข้าใจเท่านั้น ฟังเขาใจหมด แต่ก็ไม่รู้จักเห็น ฟังอีกก็เข้าใจทุกคำที่ได้ยิน แต่ก็ไม่รู้จักเห็น จนกว่าใครจะรู้ว่า เมื่อไหร่จะเริ่มเข้าใจลักษณะของเห็น ใครรู้ล่วงหน้า แต่ว่า เพราะได้ฟังแล้วก็มีความเข้าใจจากการฟัง ทีละเล็กละน้อยสะสม แสดงความเป็นอนัตตาชัดเจนว่า เมื่อไหร่ วันไหนก็ไม่รู้ แต่ก็จะมีขณะซึ่งความเข้าใจจากขั้นการฟัง เป็นปัจจัยทำให้เริ่มเข้าใจสิ่งที่มีจริงๆ คือ เห็นเดี๋ยวนี้ที่กำลังเห็น ค่อยๆ เก็บเล็กผสมน้อยจากการรู้ว่า เห็นมีเดี๋ยวนี้กำลังเห็น เป็นสิ่งหนึ่งที่มีเท่านั้นเอง มีก็มีอย่างนี้ไม่เป็นอย่างอื่นไปได้ คือจะเป็นอย่างอื่นไม่ได้เลยนอกจากเห็น แต่ไม่มีรูปร่างของเห็น ไม่เหมือนกับสิ่งที่ปรากฏให้เห็น หรือว่า ไม่ใช่เสียงที่ปรากฏเป็นเสียงสูง เสียงต่ำ แต่ว่า สภาพที่ได้ยินไม่ใช่มีลักษณะสูงต่ำเป็นเสียงต่างๆ แต่ว่า เป็นธาตุที่กำลังได้ยิน เสียงนั้นจึงปรากฏ

    เพราะฉะนั้น นามธรรมซึ่งเป็นสภาพรู้กับรูปธรรมก็แยกขาด ไม่ปะปนกันเลย ตามความเป็นจริงว่า รูปธรรมเป็นรูปแน่นอน เมื่อไหร่ลักษณะของรูปปรากฏ เมื่อนั้นไม่ใช่สภาพรู้ เพราะฉะนั้น ขณะนั้นไม่ใช่การเข้าใจ และรู้ลักษณะที่เป็นสภาพรู้ เพราะว่า รูปธรรมกำลังปรากฏให้รู้ว่า สิ่งนี้มีจริงๆ เป็นธรรมอย่างหนึ่ง เพราะฉะนั้น ทุกอย่างที่มีจริง ความมีจริงก็คือ สิ่งที่มีจริงจะใช้คำว่า ธรรม ในภาษาบาลีก็ได้ แต่ก็หมายความถึงสิ่งที่มีจริง

    เพราะฉะนั้น เวลานี้สิ่งที่ปรากฏตาก็เป็นสิ่งที่มีจริงอย่างหนึ่ง ค่อยๆ เข้าใจขึ้นเป็นเพียงสิ่งที่มีจริงอย่างหนึ่ง เห็นก็มีจริงๆ แค่นี้ กำลังเห็นอย่างนี้ เดี๋ยวนี้ เป็นสิ่งที่มีจริงอย่างนี้ ค่อยๆ เข้าใจขึ้น จนถึงวันหนึ่งซึ่งมีปัจจัยที่เห็นคือ สภาพรู้จะปรากฏว่า ขณะนั้นไม่มีรูปใดๆ เลยทั้งสิ้นทั้งโลก มีแต่ธาตุที่กำลังรู้ในขณะนั้น เท่านั้น

    ผู้ฟัง ขอเรียนสนทนาเรื่องเห็น สิ่งที่จะเรียนถามท่านอาจารย์คือว่า ท่านอาจารย์กล่าวว่า “เห็นขณะนี้เหมือนกับฟังเข้าใจเรื่องราวของเห็น” แล้วท่านอาจารย์กล่าวว่า “ใครจะรู้ว่าสักวันหนึ่งก็จะรู้ตัวจริงของเห็น” คำถามที่จะเรียนถามว่า ปัญญาระหว่างที่เข้าใจเรื่องเห็น โดยที่ยังไม่รู้ตรงเห็นในตรงนี้ ใครจะเป็นคนทราบว่า แล้วมีปัญญาเข้าใจเรื่องเห็น เมื่อฟังใหม่ๆ หรือไม่เคยฟังเลย กับ ถึงก่อนที่จะไปรู้ตรงเห็น ตรงนี้จะมีอะไรทราบว่า เป็นปัญญาที่เข้าใจตรงนั้น

    ท่านอาจารย์ กำลังไม่รู้จะเป็นความรู้ได้ไหม

    ผู้ฟัง กำลังไม่รู้ก็ไม่รู้

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น เดี๋ยวนี้กำลังเป็นอะไร

    ผู้ฟัง เป็นไม่รู้

    ท่านอาจารย์ เป็นความไม่รู้ก็ต้องเป็นอย่างนี้ เมื่อเป็นความรู้ก็ต้องต่างจากที่กำลังไม่รู้อย่างนี้

    ผู้ฟัง ทุกครั้งที่ฟังท่านอาจารย์กล่าวเรื่องเห็น ก็จะมีความรู้สึกว่า “แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าเราเข้าใจเห็น” ปัญญาเข้าใจเห็นมากกว่าที่เคยฟังในอดีต

    ท่านอาจารย์ ตะปูตรึงใจ ไม่เข้าใจใช่ไหม สงสัยว่าเป็นอย่างไร ก็เป็นอย่างนี้ เป็นเราที่สงสัยด้วย เพราะฉะนั้น ถ้าฟังจนกระทั่งมีความเข้าใจโดยไม่คิดหวัง เพราะเห็นมีจริงๆ และกำลังเห็นด้วย แต่จะรู้จักเห็นเมื่อคลายความไม่รู้ คลายความต้องการ คลายความอยาก โดยการที่เข้าใจเพิ่มขึ้นแค่ “นี่แหละเห็น” แค่นี้บ่อยๆ เนืองๆ เพราะว่า ปกติจะไม่ใช่ “นี่แหละเห็น” เป็นคิดนึกเรื่องอื่นทั้งวันเลย ใช่ไหม พอระลึกได้หรือว่า มีปัจจัยที่จะเริ่มรู้ว่า เห็นนี้จะเป็นอื่นไปไม่ได้

    เพราะฉะนั้น กว่าจะค่อยๆ เข้าใจ จนกระทั่งลักษณะของสภาพธรรมปรากฏตามความเป็นจริงได้ ก็ต้องเป็นเรื่องละ และขณะนั้นก็ไม่ได้หวังว่า จะรู้เห็น หรือจะรู้ได้ยิน หรือจะรู้คิดนึก หรือจะรู้อะไรเลย เพียงเข้าใจขึ้นๆ นี่เป็นหนทางที่ปลอดภัยจากความเป็นทาสของโลภะหรือความต้องการ เพราะว่า โลภะไม่เคยปล่อยไปง่ายๆ เลย ที่จะต้องหวังอย่างนั้น ต้องการอย่างนี้อยู่เรื่อยๆ จนกว่าเข้าใจเมื่อไรขณะนั้นก็ไม่ใช่ความหวังเพราะเข้าใจ

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์กล่าวว่า “เห็น เห็นอย่างนี้แหละ”

    ท่านอาจารย์ “อย่างนี้แหละ” ต้องกำลังเห็น ไม่ใช่ “อย่างนี้แหละ” แล้วไปคิดเรื่องอื่น “เห็นอย่างนี้แหละ” คือ ที่เห็นนี่แหละ เห็นอย่างนี้แหละ

    ผู้ฟัง เวลาฟังท่านอาจารย์กล่าวว่า “เห็นอย่างนี้แหละ” ต้องมีปัญญาขั้นรู้ตรง เขารู้ว่า เห็นอย่างนี้ไม่ใช่ได้ยิน

    ท่านอาจารย์ แน่นอน

    ผู้ฟัง แต่ปัญญาที่จะถึงตรงนั้นยังไม่เกิด แต่จะมีระหว่างฟังเข้าใจกับที่จะไปสู่ตรงนั้น

    ท่านอาจารย์ เริ่มรู้ว่า “เห็นอย่างนี้แหละ” ตรงเห็น

    ผู้ฟัง คงต้องฟังต่อไป

    ท่านอาจารย์ เพราะว่า ฟังมาแล้วไม่ใช่ “เห็นอย่างนี้แหละ” ตรงเห็นใช่ไหม

    อ.คำปั่น ก็จะกราบเรียนท่านอาจารย์ว่า สิ่งที่มีจริงเป็นสิ่งที่รู้ยาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นความจริง ที่ตรัสรู้โดยพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

    ท่านอาจารย์ ก็คือสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ยังไงๆ ก็ฟังธรรมเพื่อที่จะไม่ลืมว่า ความไม่รู้ ไม่รู้อะไร ไม่รู้สิ่งที่กำลังมีในขณะนี้ที่กำลังปรากฏ แต่ว่า สามารถที่จะรู้ได้ เข้าใจได้ แต่ต้องค่อยๆ เข้าใจขึ้นทีละเล็กทีละน้อย

    อ.คำปั่น ในการศึกษาพระธรรมในแต่ละครั้งนั้น ก็จะต้องเป็นผู้ “ตั้งจิตไว้ชอบ” หรือว่า “ตั้งตนไว้ชอบ”

    ท่านอาจารย์ ใครก็ตั้งไม่ได้ เพราะว่า เป็นธรรมที่เป็นอนัตตา แล้วก็ไม่ต้องไปคอยเมื่อไหร่ เดี๋ยวนี้เอง ถ้าเห็นประโยชน์ของพระธรรมที่ได้ยินว่า ทำให้สามารถเข้าใจสิ่งซึ่งแสนยากที่จะเข้าใจได้ ทั้งๆ ที่กำลังปรากฏ ในขณะที่เห็นประโยชน์อย่างนี้ ฟังเพื่อที่จะเข้าใจสิ่งที่มีจริงๆ ขณะนั้นคือ “ตั้งตนไว้ชอบ” และถ้าขณะนี้ไม่ได้ตั้งตนไว้ชอบ เมื่อไหร่จะตั้งตนไว้ชอบ จนกระทั่งถึงชาติหน้า จากนี้ไปแม้ว่า มีโอกาสจะได้ยินได้ฟังก็ยังไม่ได้ตั้งตนไว้ชอบ

    เพราะฉะนั้น ทุกอย่างก็คือ ในขณะนี้ ถ้าสามารถจะเข้าใจว่า กำลังฟังเรื่องของสิ่งที่มีจริงๆ เพื่อที่จะสะสมความเห็นถูก ความเข้าใจถูกในสิ่งที่จริงยากมาก แต่ก็สามารถที่จะรู้ได้ และพอฟังแล้วก็จะรู้ว่า ขณะไหนเริ่มเข้าใจ แม้สิ่งที่ได้ยินได้ฟังมาบ่อยๆ ว่า แท้ที่จริงคือ กำลังกล่าวถึงสิ่งที่กำลังมีในขณะนี้ เพียงปรากฏแล้วก็ฟังเพื่อที่จะได้เข้าใจขึ้น จนกว่าสามารถที่จะรู้ความจริงตรงตามที่ได้ฟังทุกคำเท่านั้นเอง คือ ตั้งตนไว้ชอบ ไม่ใช่ตั้งตนเพื่อจะไปเป็นพระอริยบุคคล แต่ตั้งตนไว้ชอบเพราะรู้ว่า ขณะนี้ไม่รู้ ไม่เข้าใจ สิ่งที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง แม้แต่สิ่งนี้เกิดปรากฏแล้วก็หมดไป ก็เป็นสิ่งซึ่งได้ยินได้ฟังแล้วก็เข้าใจว่า เป็นความจริงอย่างนี้ แต่ก็ยังไม่ถึงกาลที่จะรู้ความจริงอย่างนี้

    อ.คำปั่น การที่จะเป็นผู้ตั้งตนไว้ชอบนั้น หลักๆ ก็ต้องมีเหตุ เหตุก็คือ ความเป็นผู้มีบุญที่ได้กระทำไว้แล้วแต่ปางก่อน

    ท่านอาจารย์ ชาตินี้ก็เป็นชาติก่อนของชาติหน้า เพราะฉะนั้น ถ้าตั้งไว้ชอบเสียเดี๋ยวนี้คือ ต่อไปข้างหน้าก็ตั้งตนไว้ชอบ เวลาฟังธรรมก็ฟังจริงๆ เพื่อที่จะเข้าใจสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง ซึ่งเป็นสิ่งที่มีจริงที่กำลังปรากฏ แต่ต้องเป็นผู้ที่ละเอียด และลึกซึ้ง เมื่อวันก่อนก็ถามว่า “มาที่มูลนิธิฯ เห็นอะไร”


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 184
    12 ม.ค. 2567