พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 736


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๗๓๖

    ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๔


    ท่านอาจารย์ ขณะนี้กำลังพูดเรื่องจิต ซึ่งทุกคนมี แต่ว่ายังไม่ได้เอ่ยเป็นชื่อๆ แต่พูดถึงธรรมซึ่งสามารถรู้ สามารถเห็น สามารถคิด สามารถเข้าใจได้ แต่ยังไม่ได้แยกเป็นประเภทให้ละเอียด เพียงแต่บอกว่า สภาพธรรมที่หลากหลาย ที่ไม่รู้อะไรเลยก็เป็นประเภท ๑ และที่เป็นสภาพรู้ก็เป็นอีกประเภท ๑

    อ.กุลวิไล แม้แต่ทางตา เห็นก็ไม่ใช่สิ่งที่ปรากฏทางตา ถ้าผู้ศึกษาธรรมจะได้ยินคำว่า สิ่งที่ปรากฏทางตาซึ่งก็คือ รูปารมณ์ รูป ๒๘ รูป รูปเดียวที่รู้ได้ทางตาก็คือ สีสันที่เราอยู่เห็นตอนนี้ ท่านคงไม่ปฏิเสธว่า สีสันปรากฏได้ทางตา

    ท่านอาจารย์ ถ้ามาวันนี้วันแรกจะได้ยินคำว่า “รูปารมณ์” แต่ถ้าคนฟังมานานพอได้ยินคำว่า รูปารมณ์ จำได้เลย จักขุวิญญาณ รูปารมณ์ แต่ไม่รู้ว่า รูปารมณ์ คือ เดี๋ยวนี้ที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้น ความละเอียดของธรรมก็คือว่า ศึกษาเพื่อเข้าใจ ไม่ใช่ไป (คำว่า..ไป เกินมา นาทีที่ ๑.๒๒) เพื่อจำคำ หรือว่าจำเรื่องราว แต่เข้าใจสิ่งที่มีจริงๆ ในขณะนี้ว่า เห็นขณะนี้มี และสิ่งที่ปรากฏทางตามี แล้วแต่ว่าจะใช้ภาษาอะไร แต่ว่า คนที่มาใหม่จะสงสัยแล้วใช่หรือไม่ ยากเพราะ “รูปารมณ์” คืออะไร ยังไม่รู้ว่า อารมณ์ คือ สิ่งที่ปรากฏ เมื่อจิตเกิดขึ้นรู้สิ่งใด สิ่งนั้นเป็น “อารมณ์” ของจิต บางทีอย่างที่มูลนิธิฯ ก็ได้พูดถึงพื้นฐานพระอภิธรรมมาเป็นปีๆ และคนใหม่คนเก่าก็คละกันไป คนเก่าสบายมากเรื่องของจักขุวิญญาณกับรูปารมณ์ แต่คนใหม่ๆ ถ้าบอกว่า ขณะนี้มีเห็น เขาเข้าใจได้ หรือไม่เข้าใจ มีหรือเปล่าเห็น เป็นไปไม่ได้ใช่ไหม คือ พูดเรื่องจริงก็ต้องจริง และก็มีสิ่งที่ปรากฏให้เห็นด้วย จริงหรือเปล่า ก็ต้องจริง เพราะฉะนั้น ภายหลังได้ยินคำ ก็สามารถที่จะเข้าใจได้ แต่ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อน

    อ.กุลวิไล จะเห็นได้ว่า ถ้าเราไม่ฟังธรรมเพื่อเข้าใจลักษณะธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ เต็มไปด้วยชื่อ และเรื่องราว จะไปหาธรรมที่ไม่ได้ปรากฏ เพราะฉะนั้น ความเห็นถูกในสภาพธรรมตามความเป็นจริง ต้องเป็นไปตามลำดับ เราฟังธรรม เข้าใจธรรมที่มีจริงในขณะนี้ และไม่ต้องห่วง ทั้งหมดมีอยู่ในพระไตรปิฎกแม้แต่ความสงบ เพราะความสงบ คือ สภาพธรรมที่เป็นเจตสิกนั่นเองที่เกิดกับกุศลจิต และโสภณจิตอื่นๆ ด้วย

    เพราะฉะนั้น ขณะใดที่เข้าใจธรรม ต้องมีสภาพธรรมที่สงบด้วย แต่เรารู้ถึงความเป็นธรรมที่ปรากฏในขณะนี้หรือเปล่า หรือว่าจะรู้เฉพาะธรรมที่เป็นความสงบ ที่เป็นเจตสิกนั่นเอง คุณอรรณพเมื่อวานเราสนทนากันเรื่องวิตก เพราะเป็นสภาพที่ตรึก และจรดในอารมณ์ ท่านอาจารย์กล่าวว่า บ่อยครั้งที่เราจรดในอารมณ์แล้วเป็นปัจจัยให้วิตกเป็นอกุศล เป็นสภาพธรรมที่เหลวไหลอย่างไร

    อ.อรรณพ เป็นพระธรรมที่เตือนให้เห็นถึงความคิด ความตรึก ซึ่งเพราะจำเป็นอกุศลไว้ เมื่อวานสนทนาว่า ความตรึก ความคิดนึก เป็นไปตามความจำ ถ้าคนที่จำด้วยความติดข้อง ก็คิดด้วยความติดข้อง เราจำรสอาหารอย่างนี้ไว้ เสียงเพลงอย่างนี้ไว้ สิ่งที่ปรากฏทางตาที่สวยงามเช่นนี้ไว้ด้วยความชอบ นั่นคือ ความจำที่เกิดกับความชอบ ความคิดก็คิดในสิ่งนั้น คิดด้วยโลภะ ถ้าจำไว้ด้วยความไม่พอใจ จำสัตว์ บุคคลนี้ไว้ด้วยความไม่พอใจ ก็มีโอกาสที่หลังจากนั้นแล้ว สัญญาขันธ์ที่จำเอาไว้ก็จะเป็นปัจจัยให้สังขารขันธ์ คือ วิตก ตรึกไปตามสัญญานั้น ทีนี้จำดีหรือจำไม่ดีมากกว่ากัน จำที่เป็นกุศลหรือจำที่เป็นอกุศลมากกว่ากัน จำที่เป็นอกุศลมาก เพราะอกุศลเกิดมาก แม้ดับไปแล้ว แต่ความจำที่จำไว้ดับไป ก็สะสมไว้ในจิต ที่จะเป็นปัจจัยให้มีการตรึกถึงอารมณ์นั้นด้วยความเป็นอกุศลอย่างนั้นอีก

    การฟังพระธรรมก็ตรงข้าม สะสมความเข้าใจ มีความจำด้วย ก็มีการที่จะตรึกนึกถึงธรรมได้ ในแต่ละวันวิตก “จรดหรือตรึก” อย่างไร ก็จรดหรือตรึกไปด้วยความเป็นอกุศลตามที่สัญญาจำไว้ ทำเครื่องหมายไว้ทางไหน ก็ตรึกแล้วเดินไปตามทางนั้น เวลาเราทำเครื่องหมายไว้ตามต้นไม้ในป่า ก็เดินไปตาม ก้าวไป คือ ลักษณะของวิตก ก้าวไป เดินไป ตามเครื่องหมายกากบาทที่ทำไว้ตามต้นไม้ต่างๆ แต่ปรากฏว่า เครื่องหมายที่ทำนั้นทำไปในทางที่เหลวไหล ก็ไปในทางนั้น

    วันๆ ตรึกเรื่องอะไร ตรึกเรื่องที่เป็นไปในกาม ก็คือ กามวิตก เพราะฉะนั้น ก็เป็นกามวิตก ก็ตรึกไปว่า จะรับประทานอาหารที่ไหนดี เหลวไหลไปในอาหาร ในเรื่องราวต่างๆ ซึ่งคำว่า “เหลวไหล” เมื่อวานก็ได้สนทนากับท่านอาจารย์ ซึ่งภาษาไทยก็อธิบายได้ดี ของที่เหลว เช่น พวกน้ำโคลน พอเทลงไปก็ไหลไปตามหาที่ต่ำ ของเหลวก็ไหลไป เพราะฉะนั้น ความคิดก็คิดไปตามสัญญาที่จำไว้ เหมือนมีร่อง มีที่ลาดอย่างไร ที่ต่ำอย่างไร ก็ไหลไปตามนั้น เพราะฉะนั้น ความคิดก็คิดไปตามความจำ ถ้าจำไว้ด้วยอกุศลก็คิดแบบอกุศล วันๆ หนึ่งมีวิตกที่เหลวไหลมากไหม

    อ.ธิดารัตน์ ขณะนี้ก็เป็นการค่อยๆ ที่จะสะสมวิตกที่เป็นไปในฝ่ายกุศล คือ ขณะที่ตรึกไปในขณะที่ฟังธรรม มีการไตร่ตรอง มีการเข้าใจขึ้น ขณะที่เข้าใจก็มีวิตกที่เกิดพร้อมกับปัญญา จนกระทั่งการตรึกด้วยความเข้าใจ ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาเรื่องของธรรมเหล่านี้ ก็เป็นวิตกที่ตรึกไปในเรื่องราวของธรรม แล้วก็มีการไตร่ตรอง และเข้าใจขึ้น ก็จะเป็นกุศลที่เป็นวิตกฝ่ายดี วิตกฝ่ายดีขณะที่เป็นกุศลก็ไม่ได้ติดข้องในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ

    เพราะฉะนั้น ก็เป็นการตรึกออกจากกาม ท่านใช้คำว่า “เนกขัมมวิตก” ซึ่งเป็นกุศล เพราะว่า ขณะนั้นไม่ได้ติดข้องในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ในขณะที่มีเมตตา มีความไม่โลภ ไม่โกรธเหล่านี้ ขณะที่ตรึกไปด้วยการให้อภัยผู้อื่นก็คือ ขณะที่ไม่พยาบาท ก็จะมี “อัพยาปาท” แล้วก็ตรึกที่จะไม่เบียดเบียน คือ เป็นฝ่ายกุศลทั้งนั้น และขณะนี้เราก็มีการฟังธรรมแล้วเข้าใจการตรึก เพราะว่า วิตกถ้าอุปมาเหมือนกับเท้าของโลกที่จะจรดไปในอารมณ์ ด้วยอกุศล ด้วยกุศลบ้างซึ่งมีลักษณะ จิตต้องอาศัยวิตก กุศลธรรมดาที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันมีวิตกเกิดร่วมด้วยทั้งนั้นเลย อกุศลที่เกิดไม่ว่าจะเป็น โลภะ โทสะ โมหะ ก็จะมีวิตกนี้เกิดร่วมด้วยทั้งนั้น

    เพราะฉะนั้น ขณะจิตที่รู้อารมณ์ก็จะต้องวิตกที่จรดในอารมณ์ต่างๆ เป็นไปด้วยอกุศลมาก หรือว่าเป็นไปด้วยกุศล ก็จะเป็นประโยชน์มากๆ ถ้าเราศึกษาธรรมก็จะเพิ่มการตรึก ที่ปกติก็เป็นเรื่องไร้สาระตลอดทั้งวัน แล้วก็มีการศึกษาธรรม แทนที่จะเป็นเรื่องไร้สาระ ก็มาเป็นเรื่องราวของธรรมซึ่งเป็นประโยชน์บ้าง เป็นปัจจัยให้กุศลเจริญขึ้น ก็เป็นประโยชน์อย่างมาก จนกระทั่งลักษณะของวิตกที่จะตรึกจนจรดในลักษณะของสภาพธรรม ถึงจะเป็นองค์มรรคที่ขณะที่รู้ลักษณะของนามธรรมตามความเป็นจริง รูปธรรมตามความเป็นจริง ขณะนั้นวิตกเป็นองค์มรรค เกิดร่วมกับมรรคทั้ง ๕ องค์ ไม่ใช่แค่เพียงวิตกอย่างเดียว วิริยะเป็นองค์มรรคด้วย สติ ปัญญา ซึ่งขาดไม่ได้เลย สมาธิซึ่งเป็นเอกัคคตาเจตสิกซึ่งตั้งมั่นในอารมณ์ ก็จะมีธรรมทั้ง ๕ อย่าง ที่จะเป็นองค์มรรคที่จะรู้ลักษณะของธรรมตามความเป็นจริง ซึ่งก็เป็นประโยชน์มากเลย เพราะปกติถึงแม้มีสภาพปรากฏอยู่ แต่ถ้าหากว่า วิตกไม่ได้ตรึก ปัญญาไม่ได้เกิดที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรม สติไม่ได้ระลึก ถูก ตรง ลักษณะของสภาพธรรม ก็จะเป็นอกุศลส่วนใหญ่ เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส เหล่านี้ไม่มีวิตกเกิดร่วมด้วยเลย แต่หลังจากนั้น ถ้าเป็นกุศล (นาทีที่ ๙.๕๙ แก้เป็น อกุศล) ที่ยินดีหลังจากที่เห็น หลังจากที่ได้ยินก็ เป็นอกุศลวิตกบ้าง จนกระทั่งความเข้าใจธรรมที่ศึกษาจนมั่นคง ก็จะเป็นปัจจัยให้แทนที่หลังเห็น หลังได้ยิน จะเป็นอกุศลวิตกก็เป็นกุศลวิตก ซึ่งประกอบด้วยสติ และปัญญา ก็คือวิตกเจตสิกที่ตรึกลักษณะของสภาพธรรม ในขณะที่ปรากฏตรงนั้นตามความเป็นจริง

    อ.อรรณพ เมื่อวานก็มีการสนทนาพระสูตรในสังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค สนทนาเรื่องขันธ์ ก็ทำให้เห็นถึงว่า ทำไมพระองค์ท่านจึงแสดงขันธ์ ๕ และขันธ์ ๕ ก็ย่อมจะมีความเกี่ยวเนื่องกัน สัญญาขันธ์ทรงแสดงเป็นขันธ์ลำดับที่ ๓ ลำดับถัดจากสัญญาขันธ์ ก็คือ สังขารขันธ์ ซึ่งที่เราสนทนาในเรื่องของวิตก และสัญญา ก็จะเห็นโดยขั้นความเข้าใจในขั้นฟัง ขั้นพิจารณาว่า เป็นอย่างนั้นจริงๆ เพราะมีสัญญาที่จำไว้ สัญญาจำไว้อย่างไร วิตกก็ตรึกไปตามสัญญา ร่วมกับสภาพสังขารขันธ์อื่น วิตกเจตสิกเป็นสังขารขันธ์อย่าง ๑ เพราะเป็นเจตสิก ที่ไม่ใช่เวทนา ไม่ใช่สัญญา ก็เป็นเจตสิกที่เป็นสังขารขันธ์

    เพราะฉะนั้น วิตกแล้วก็ปรุงแต่งในลักษณะที่ก้าวไป ตรึก จรด ก้าวไป เป็นไป ตามสัญญาที่ได้จำไว้ แล้วประกอบกับสังขารขันธ์อื่นๆ วิจารก็เป็นสังขารขันธ์ที่เป็นเจตสิกที่ปรุงแต่ง ในลักษณะที่ประคองไปตามวิตก มนสิการก็ใส่ใจในอารมณ์นั้น และเมื่อวิตกเจตสิกเหล่านี้เกิดขึ้น ก็ยังมีสัญญาๆ ก็ยิ่งจำให้แน่นเข้าไปอีก จากสัญญาที่เป็นอกุศลก่อนๆ ที่ดับไปแล้ว ที่สะสมไว้ วิตกก็เกิดแบบอกุศล แล้วสัญญาที่เกิดใหม่พร้อมกับวิตก และจิตขณะนั้น ก็จำเป็นอกุศลซ้ำเข้าไปอีก สะสมเข้าไปอีก ที่จะทำให้มีการตรึกนึกถึงเรื่องราวนั้น ในลักษณะที่เป็นอกุศลอย่างนั้นๆ เพิ่มขึ้นอีกๆ

    เพราะฉะนั้น อนุสัยถึงได้เพิ่มขึ้น โลภะ โทสะ โมหะต่างๆ เมื่อเกิดขึ้น ก็มีสัญญา และสัญญาก็จำไว้ สัญญาขันธ์จำอย่างไร สังขารขันธ์ก็เป็นไปอย่างนั้น แต่ทั้งหมด ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา แต่ยังไม่ได้ประจักษ์เช่นนั้น แต่ความจริงเป็นอย่างนั้น ก็ฟังแล้วเข้าใจตาม แต่ถ้าเป็นฝ่ายดีบ้างก็ปรุงแต่งไป เพราะได้มีการเจริญกุศลในอดีต “ปุพเพกตปุญญตา” ไว้แล้ว ที่จะเคยมีการฟังธรรมบ้างในอดีต ก็คงต้องมี สะสมความเข้าใจ และความจำไว้

    เพราะฉะนั้น ความจำที่จำไว้นี้ไม่รู้ว่า ตั้งแต่ชาติไหน ซึ่งเมื่อได้ยินธรรมก็มีความสนใจ แล้วก็มีการศึกษา เป็นปัจจัยให้วิตกตรึกตามกุศลสัญญา ที่เคยจำไว้แล้วในอดีตที่เป็นไปเช่นนั้น นี้ก็เป็น “จักร” ก็คือ เป็นการหมุนไป จากปุพเพกตปุญญตาก็ทำให้ได้เกิดในประเทศอันสมควร มีการที่ได้พบบัณฑิต ได้ฟังธรรม ตั้งตนไว้ชอบ ก็เป็นไปอย่างนั้น

    เพราะฉะนั้น ถ้าฟังธรรมแล้ว ค่อยๆ เข้าใจขึ้น ค่อยๆ เข้าใจขึ้น ก็สะสมความจำนั้นไว้ที่จะทำให้วิตกตรึกขึ้นพร้อมปัญญาเหมือนกัน และวิตกที่เกิดพร้อมปัญญานั้นก็มีสัญญาที่จำไว้อีก สัญญานั้นก็จำไว้ ด้วยความเข้าใจถูก ความเห็นถูก ในสภาพธรรมที่เป็นจริง เมื่อสัญญานั้นจำจนมั่นคงในสภาพธรรมที่มีจริงๆ เป็น “ถิรสัญญา” สภาพของวิตกก็ตรึกตรงลักษณะของสภาพธรรมได้ พร้อมสติ พร้อมปัญญา และมรรคต่างๆ เพราะฉะนั้น ถ้าเราฟังธรรมอย่างนี้ เมื่อวานตอนทานอาหาร ท่านอาจารย์กล่าวว่า ถ้าฟังแล้วเข้าใจ เข้าใจมั่นคงขึ้น ชาติต่อไปได้ยินว่า “ทุกอย่างเป็นธรรม” ก็เข้าใจได้

    ท่านอาจารย์ ใครกำลังเรียกชื่อธรรมที่กำลังปรากฏบ้าง เรียกไหวไหม จักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ รูปารมณ์ สัททารมณ์ วิตก วิจาร นั่งเรียกหรือเปล่า

    อ.กุลวิไล ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ แต่ว่า มีธรรมนั้นๆ สามารถที่จะรู้จักลักษณะของสภาพธรรมนั้นได้ แม้ไม่พูด ไม่เรียกอะไรเลย เช่น เห็นอย่างนี้ กำลังเห็น ใครไม่รู้จักเห็นบ้าง ใครไม่รู้ว่า มีเห็นบ้าง เห็นมีแน่ๆ ไม่ต้องเรียกชื่อเลย แต่เริ่มเข้าใจความจริงของเห็น ว่าแท้ที่จริงก็คือ ขณะที่มีสิ่งหนึ่งสิ่งใดปรากฏ แสดงว่า ขณะนั้นต้องมีธาตุที่กำลังเห็นเฉพาะสิ่งนั้น นี่คือฟังให้เข้าใจสิ่งที่กำลังมีในขณะนี้ แทนที่จะไปจำชื่อหรือเรียกชื่อ แต่ว่า ขณะนี้พูดถึงเห็น ยังไม่ถึงเวลาที่จะเริ่มเข้าใจจริงๆ ว่า ธาตุนี้มีจริง ไม่มีรูปร่างเลย แต่กำลังเห็นนี่แหละ คือ สิ่งที่เรากำลังกล่าวถึง และเรียกว่า เห็น คือเดี๋ยวนี้

    เพราะฉะนั้น การฟังต้องอาศัยการฟังอีกนาน แล้วก็เป็นผู้ที่ตรง ไม่หวั่นไหว จะรู้เมื่อไหร่ก็คือ ความจริงเป็นอย่างนี้ วันนี้ฟังแล้วก็จำ นี่ไม่ใช่เรา แต่ว่า จำแล้ว แต่ว่า จำอย่างอื่นมากมายจนกระทั่งลืมว่า เมื่อสักครู่นี้ฟังเรื่องเห็น แล้วก็จำว่า เห็นมีจริงๆ แล้วเห็นก็เป็นธาตุที่เมื่อสิ่งหนึ่งสิ่งใดปรากฏ เพราะมีธาตุที่กำลังเห็นสิ่งนั้น เรายังไม่ได้มีความจำสิ่งที่ได้ฟังมั่นคงเท่ากับเรื่องอื่น เพราะฉะนั้น ก็คือ นึกถึงเรื่องอื่นเสมอ แทนที่จะฟังแล้วฟังอีก ก็ยังไม่ใช่ขณะที่กำลังเข้าใจธาตุที่กำลังเห็น ก็ฟังอีก ก็ฟังอีกไปเรื่อยๆ จนกว่าจะเริ่มเข้าใจขึ้น เป็นหนทางเดียวจริงๆ

    อ.กุลวิไล ซึ่งท่านอาจารย์ให้ความเข้าใจว่า เห็นไม่ใช่คิด แล้วเห็นก็ต้องไม่ใช่สิ่งที่ปรากฏทางตาด้วย

    ท่านอาจารย์ ถึงต้องฟังบ่อยๆ เมื่อสักครู่นี้ฟังแล้ว ตอนนี้ก็ต้องฟังอีกใช่ไหมว่า ขณะนี้มีสิ่งที่กำลังปรากฏให้เห็น แค่นี้ก่อน มีสิ่งที่กำลังปรากฏให้เห็นจริงๆ และขณะที่กำลังรู้ว่า เห็นอะไร ต้องหลังจากเห็นเกิดแล้วเพราะว่า ถ้ายังไม่เห็นเลยจะไปรู้ได้อย่างไรว่า สิ่งที่เห็นนั้นเป็นอะไร เพราะฉะนั้น ความรวดเร็วของการเกิดดับของสภาพธรรมก็คือว่า ถ้าไม่ใช่ปัญญาที่ฟังเข้าใจขึ้นๆ ไม่สามารถที่จะเริ่มละคลาย การที่เคยเข้าใจว่า เป็นคนหนึ่งคนใด แต่ว่า เมื่อฟังแล้วก็รู้ว่า นั่นคือ คิด คิดเร็วมาก ทันทีที่เห็นก็คิดถึงสิ่งที่ปรากฏ โดยที่ว่า ไม่มีเราต้องไปนั่งคิดแล้วถึงจะรู้ว่า เป็นอะไร แต่สภาพธรรมที่เกิดดับสืบต่อกัน ก็ทำกิจการงานว่า สภาพธรรมที่เห็นดับ ยังคิดไม่ได้ใช่ไหม แต่ว่าเมื่อดับไปแล้ว ก็เป็นปัจจัยสภาพธรรมอื่นเกิดสืบต่ออย่างเร็ว ซึ่งในขณะนี้เป็นอย่างนี้ก็ไม่ได้ปรากฏ

    เพราะฉะนั้น มีสภาพธรรมที่แม้มีจริงก็ไม่ได้ปรากฏ เช่น วิตกเจตสิก ผัสสเจตสิก มนสิการเจตสิก ล้วนแต่เป็นชื่อที่ได้ยินในภาษาบาลี แต่หมายความถึงสภาพธรรมที่มีจริง ที่เกิดดับสืบต่ออย่างเร็วมาก และทรงแสดงความละเอียดให้เราเริ่มเข้าใจว่า เป็นธรรมทั้งหมดเพื่อจะรู้ว่า ไม่ใช่เรา ก็ยังไม่เข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏทางตากับเห็น ก็ฟังอีก นี่คือ การที่จะต้องเริ่มต้นบ่อยๆ เพราะเหตุว่า เริ่มไว้นิดหนึ่ง อย่างอื่นก็มาทับถม สิ่งที่เริ่มไว้ก็ดูเหมือนกับว่า หายไปไหน ก็ต้องตั้งต้นอีก ฟังอีก ใหม่อีก เพราะกำลังมีสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาจริงๆ นี่คือ การอบรม เป็นการที่จะค่อยๆ รู้ ค่อยๆ เข้าใจ เพื่อละความไม่รู้

    อ.กุลวิไล ทุกอย่างที่ทรงแสดง คือ เดี๋ยวนี้เอง ก็จะกราบเรียนท่านอาจารย์ถึงความเข้าใจถูกเพราะท่านแสดงพระสูตรว่า ธรรมที่ให้ถึงฝั่งก็คือ อริยมรรคมีองค์ ๘ นั่นเอง เพราะฉะนั้น เรายังอยู่ฝั่งนี้อยู่ ซึ่งยังเป็นผู้ที่มีความยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ ๕ ว่า เป็นเรา

    ท่านอาจารย์ กว่าจะหมดการยึดถือสภาพธรรมที่กำลังปรากฏว่า เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ก็ต้องอาศัยความเข้าใจจากสิ่งที่กำลังปรากฏเดี๋ยวนี้ ไม่ใช่ไปเข้าใจสิ่งอื่น แต่ในขณะที่มีสิ่งที่กำลังปรากฏเดี๋ยวนี้เอง เราก็ฟังเพื่อให้เข้าใจความลึกซึ้ง ซึ่งเป็นความจริงของสิ่งที่ปรากฏ เพราะว่าทุกคนเห็นเป็นธรรมดา แต่ใครจะรู้จักเห็นตามความเป็นจริงว่า เห็นเป็นอะไร ไม่เคยคิดเลยใช่ไหม เห็นก็คือเห็นธรรมดา มีสิ่งที่ปรากฏให้เห็น แต่ผู้ที่เป็นพระโพธิสัตว์จะรู้ความต่าง มีสิ่งที่ปรากฏให้เห็นแล้วก็รู้ว่าสิ่งที่เห็นเป็นอะไร ๒ อย่างนี้ต่างกันไหม สำหรับคนไม่คิดก็ธรรมดา เห็นคน เห็นดอกไม้ แต่ว่า ผู้ที่สะสมการที่จะเข้าใจความจริงของสภาพธรรม ก็มีวิตกเจตสิกที่แทนที่จะตรึกนึกถึงอย่างอื่น แต่การที่มีสิ่งที่กำลังปรากฏแล้วก็รู้ว่า เป็นสิ่งที่มีจริง ปรากฏเสมือนว่า ไม่มีอะไร ในสิ่งที่มีจริงที่ปรากฏ แต่แท้ที่จริงแล้วเป็นความลึกซึ้งอย่างยิ่งของสิ่งที่ปรากฏ ซึ่งดูเผินๆ เสมือนว่า ไม่มีอะไร เพราะเหตุใด

    เพราะเหตุว่า สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาขณะนี้ เกิดแล้วดับโดยที่ใครจะรู้ แล้วถ้าเราไม่เข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริงว่า เป็นเพียงสิ่งที่เกิดปรากฏแล้วดับ แล้วเราจะไปรู้อะไร ลองคิดดู ในเมื่อสิ่งนี้เป็นความจริง แต่ว่า ไม่รู้ว่าความจริงก็คือ สิ่งนี้เองปรากฏให้เห็นเหมือนไม่เกิด และดับ แต่ตามความเป็นจริงก็คือ แท้ที่จริงแล้วสิ่งนี้เกิด และดับสืบต่อกัน

    เพราะฉะนั้น เมื่อมีโอกาสได้ฟังพระธรรมก็รู้ว่า สิ่งที่ปรากฏจริงๆ ถ้าไม่มีการฟังพระธรรม จะไม่มีความเห็นถูก ไม่มีความเข้าใจถูก ไม่สามารถที่จะเข้าใจว่า มีกิเลสมากสักแค่ไหน ที่ปิดบังตั้งแต่เห็นเกิดแล้วก็ไม่รู้ว่าเห็นเป็นอะไร และพอเห็นเกิด แล้วก็มีความจำในสิ่งที่เห็น เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด เป็นเรื่องต่างๆ มากมายทั้งวัน แล้วก็จะให้ถึงฝั่ง คือ ดับกิเลส หรือหมดกิเลสได้โดยไม่รู้อะไรเลย เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ แต่ในขณะใดก็ตามที่กำลังฟัง และก็รู้ว่า สิ่งที่กำลังปรากฏ เป็นสิ่งที่สามารถเห็นถูกต้องตามความเป็นจริงของ สิ่งที่กำลังปรากฏได้ ก็จะไม่เห็นว่า สิ่งอื่นมีค่าหรือมีประโยชน์เท่ากับความเห็นถูก ความเข้าใจถูกในสิ่งที่กำลังมี เพราะว่า ทุกสิ่งที่ผ่านไปแล้วจะไม่กลับมาอีก มีใครทำให้กลับมาได้บ้าง มีแต่ไปตั้งแต่เกิดจนถึงขณะนี้ และไปเรื่อยๆ ต่อไปทุกขณะโดยไม่กลับมาอีก และโดยไม่รู้ความจริงว่า แท้ที่จริงแล้วก็ไม่มีอะไรเหลือเลย มีแต่เพียงสิ่งที่จำไว้เสมอ พอเห็นก็จำตามความคุ้นเคยว่า เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ซึ่งความจริงแล้ว ก็เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏให้เห็นได้

    ด้วยเหตุนี้ การฟังธรรม ก็เพื่อที่จะให้ความคิดที่เคยน้อมไปในเรื่องอื่น เห็นว่าอย่างอื่นสำคัญกว่าการที่จะรู้ความจริง หรือความเห็นถูก ความจริงของสิ่งที่กำลังปรากฏ ได้เห็นประโยชน์ของการเกิดมาแล้ว เห็นถูกในสิ่งที่กำลังปรากฏ จะมาก จะน้อยก็ตามแต่ แต่เป็นผู้ที่สามารถเข้าใจความจริงของสิ่งที่กำลังปรากฏได้ ก็ต้องเป็นสิ่งที่รู้ด้วยตัวเอง ฟังมาแล้วคงไม่ต้องคำนึงถึงว่า นานเท่าไหร่


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 184
    12 ม.ค. 2567