พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 741


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๗๔๑

    ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๒๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๔


    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์กล่าวว่า การเริ่มต้นที่จะเจริญปัญญา ที่จะให้ดับกิเลสได้คือ ตั้งต้นที่ฟัง ให้เข้าใจว่าทุกอย่างเป็นธรรม ขณะนี้เห็นแล้วก็คิด ได้ยินแล้วก็คิด คือ ๖ ทาง การรับรู้ ๖ ทาง ในตรงนี้ท่านอาจารย์กล่าวทุกครั้ง ไม่มีครั้งไหนที่จะไม่พูด แล้วพูดมากกว่าหนึ่งครั้งว่า ลืมหรือเปล่าว่า ขณะนี้เป็นธรรม ไม่ใช่สิ่งหนึ่งสิ่งใด ไม่ใช่สัตว์ ตัวตน บุคคล

    ท่านอาจารย์ กล่าวแล้วก็ลืมใช่ไหม พูดกี่ครั้งก็ยังลืม เพราะความเข้าใจธรรมยังไม่พอ อันนี้สำคัญที่สุด ไม่ต้องไปหวังว่าพอพูดแล้วจะนึกได้ แต่จะนึกอะไร ยังไม่ได้เข้าใจมากพอที่จะค่อยๆ มีความเข้าใจถูกต้องว่าเป็นธรรม ซึ่งเกิดเพราะเหตุปัจจัย และก็ดับไป เพราะฉะนั้น พระธรรมที่ทรงแสดง ๔๕ พรรษา โดยนัยต่างๆ โดยประการทั้งปวง ก็เพื่อให้มีความเข้าใจเพิ่มขึ้น ไม่ต้องห่วง เรื่องการที่จะเริ่มเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมเมื่อไหร่ ต่อเมื่อใดมีความเข้าใจเพิ่มขึ้น ก็เป็นปัจจัยที่จะทำให้ แทนที่จะวิตก ตรึก ถึงเรื่องอื่น เช่นในขณะนี้ วิตกนั้นก็กำลังจรด ในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ ด้วยความเข้าใจทีละเล็กทีละน้อยตรงตามที่ได้ฟัง

    ผู้ฟัง จากที่ท่านอาจารย์กล่าวเมื่อสักครู่ เป็นปัญญาอีกระดับหนึ่ง ที่จะต้องไปวิตกถึงลักษณะ ท่านอาจารย์กล่าวบ่อยๆ ก็จะมีโลภะที่อยากจะเป็นตรงนั้น

    ท่านอาจารย์ เพราะปัญญาไม่พอ ความเข้าใจยังไม่พอ เพราะฉะนั้น จะไปบอกใครว่าเห็นเป็นธาตุ เป็นนามธรรม ไม่ใช่ของเรา พูดร้อยครั้ง วันหนึ่ง ไม่เกิดอะไรขึ้นเลย ถ้าไม่เข้าใจ แต่ถ้าเริ่มเข้าใจถูกทีละเล็กทีละน้อย ค่อยๆ แสดงเหตุผลต่างๆ อย่างพระธรรมที่ทรงแสดง ๔๕ พรรษา ก็ล้วนแต่เรื่องของสภาพธรรมที่มีจริงในชีวิตประจำวันทั้งหมด ค่อยๆ ให้ความเข้าใจขึ้น ค่อยๆ ให้ได้ยินได้ฟัง ค่อยๆ ให้คิดตาม เข้าใจตาม จนกระทั่งเป็นความมั่นคง และปัญญาก็จะค่อยๆ เจริญขึ้น

    อ.กุลวิไล การฟังพระธรรมขณะนี้ เป็นการสะสม ความเข้าใจธรรมนั่นเอง กลับมาถึงเรื่องของจิต จิตเป็นสภาพธรรมที่รู้อารมณ์นั่นเอง เพราะฉะนั้น หลายท่านก็คงแปลกใจว่า ๕ ทาง ก็คือ ทางตา หู จมูกลิ้น กาย ต้องมีปรมัตถธรรมเป็นอารมณ์ แต่ธรรมารมณ์หลากหลายรวมทั้งบัญญัติด้วย ก็มีคำถามขึ้นมาว่า อย่างมนุษย์เรานี้ เราก็พอสังเกตได้ เพราะเรารู้ว่าอารมณ์ใดทั้ง ๖ทาง แต่อย่างสัตว์เดรัจฉาน อย่างเช่นนก จะมีอารมณ์ได้ถึง ๖ หรือเปล่า แล้วนกจะมีปรมัตถธรรมเป็นอารมณ์ได้หรือเปล่า อยากจะกราบเรียนถามว่า นกจะรู้ปรมัตธรรมได้หรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ นกเห็นไหม

    อ.กุลวิไล เห็น

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ขณะนั้นเห็น ไม่ใช่รูปร่างนก เห็นเป็นเห็น ข้อสำคัญที่สุดก็คือว่า จะต้องทราบว่าสภาพธรรมที่มีจริง มีปัจจัยเกิดแล้วดับ เพราะฉะนั้น ยังไม่ต้องไปรวมกับอย่างหนึ่งอย่างใดเลยทั้งสิ้น ไม่ว่าเห็นที่ไหน เห็นเมื่อไหร่ รูปร่างอย่างไรก็ตาม ขณะนั้นมีธาตุที่กำลังเกิดขึ้น รู้สิ่งที่กำลังปรากฏให้เห็นได้เท่านั้นเอง จะในสวรรค์ นรก บนบก ในน้ำ หรือที่ไหนก็ตาม ไม่ต้องคิดถึงรูปร่าง การที่จะเข้าใจธรรมว่าเป็นธรรมซึ่งไม่ใช่อัตตา ไม่ใช่สิ่งหนึ่งสิ่งใด ไม่ใช่ของใคร แต่เป็นธรรมล้วนๆ ธรรมเท่านั้น ธรรมจริงๆ แต่ละหนึ่ง ซึ่งมีปัจจัยเกิดขึ้น และดับไป

    เพราะฉะนั้น ถ้ามีความเข้าใจจริงๆ ว่าถ้าเอารูปร่างของคนที่นี่ออกหมด แต่ก็มีเห็น เพราะฉะนั้น การที่จะเข้าใจเห็นได้ก็คือ ทราบว่าขณะนี้มีสิ่งที่กำลังปรากฏ ซึ่งมีธาตุชนิดหนึ่งสามารถเห็นสิ่งนี้ได้ และก็กำลังเห็นด้วย แต่ต้องเกิดขึ้นเห็น และก็ดับไป เพราะฉะนั้น จะต้องเรียกว่าคนไหม ในขณะที่กำลังเห็น เพราะฉะนั้น จะต้องเรียกว่านกไหม ในขณะที่เห็น เพราะฉะนั้น ก็แล้วแต่รูปร่าง จะเป็นเทวดา เป็นพรหม เป็นมนุษย์ จะเป็นอะไรก็ตามแต่ แต่ว่าถ้าจะรู้ความจริงว่าเป็นธรรม ไม่ใช่สิ่งหนึ่งสิ่งใด ก็คือรู้ว่าเห็นเป็นธรรมอย่างหนึ่ง มีจริงๆ เกิดเห็นแล้วก็ดับไป

    อ.กุลวิไล เวลาที่ธรรมปรากฏไม่มีชื่อ แล้วนกก็ไม่ต่างกับที่เรียกว่ามนุษย์ เพราะว่าเขาก็ต้องมี ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เพราะฉะนั้น ก็ต้องมีทางให้ธรรมปรากฏได้ทั้ง ๖ ทาง

    ท่านอาจารย์ เพียงแค่เห็นก็สงสัยว่านกเห็นไหม แล้วจะเป็นสติปัฎฐานเมื่อไหร่ ไม่มีทางเลย คิดถึงแต่สติปัฏฐาน คิดถึงแต่ปัญญา คิดถึงแต่วิปัสสนาญาณโดยไม่รู้เลยว่า ขณะนี้มีความเข้าใจธรรมที่กำลังฟัง มากน้อยแค่ไหน พอที่จะเริ่มเข้าใจจริงๆ ว่า ธรรมเกิดขึ้น ๑ ขณะ ที่เป็นธาตุรู้ แล้วก็มีสิ่งที่ปรากฏให้รู้ ถ้ายังคงมีความสงสัย ความไม่เข้าใจอย่างนี้ จะพูดเรื่องสติปัฏฐาน จะเข้าใจได้ไหมเพราะว่าสติปัฏฐานจะเกิดไม่ได้เลย ถ้าไม่มีการฟัง และเข้าใจความจริงของสภาพธรรมอย่างมั่นคง ถ้ายังสงสัยว่านกเห็นหรือเปล่า แล้วก็ไปพูดเรื่องสติปัฎฐาน จะกล่าวว่าแล้วนกมีสติปัฎฐานไหม ก็ยิ่งเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แค่เห็นแล้วยังไม่ได้เข้าใจตามความเป็นจริงว่า เห็นขณะนี้เป็นธรรม เพราะฉะนั้น นกเห็น กับ คนที่เห็นแล้วไม่เข้าใจธรรม เหมือนกันไหม

    อ.กุลวิไล เหมือนกัน

    ท่านอาจารย์ ไม่ต่างกันเลย ไม่ว่าจะรูปร่างอย่างใด ยังไม่ต้องไปพูดถึงสติปัฏฐานเลย ถ้ายังไม่มีความเข้าใจที่มั่นคงพอ เพื่อละ ธรรมทั้งหมด ละความไม่รู้ ไม่ใช่ฟังแล้วต้องการอยากจะรู้ นั่นก็คือผิด เพราะฉะนั้น จริงๆ แล้ว ฟังธรรมเพื่อเข้าใจ ขณะนี้มีสิ่งที่กำลังปรากฏ รู้หรือเปล่า ว่าเข้าใจความจริงของสิ่งที่ปรากฏหรือยัง เพราะฉะนั้น ได้แต่เพียงฟัง แต่ก็ต้องเป็นผู้ที่ตรง ที่จะรู้ว่าฟังเข้าใจจนถึงแก่นว่า ขณะนี้เห็นเป็นธรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่ขณะที่กำลังคิด ไม่ใช่ขณะที่กำลังได้ยิน เพราะฉะนั้น ศึกษาธรรม ทีละหนึ่ง เพื่อให้เข้าใจจริงๆ ว่าธรรมหนึ่ง เกิด ปรากฏ แล้วก็หมดไป จนกระทั่งชิน ความเข้าใจสิ่งที่ปรากฏเพิ่มขึ้น ไม่ต้องพูดถึงเรื่องสติปัฏฐาน เพราะเหตุว่า เมื่อมีความเข้าใจ มีความเข้าใจเพิ่มขึ้น ก็เป็นการคล้อยไปสู่การที่จะรู้ความจริงของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ โดยไม่จำเป็นต้องใช้ชื่อ แต่ถ้าศึกษาธรรมโดยใช้ชื่อก่อน เราจะไม่เข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏ เช่นกล่าวว่า นามธรรมเป็นสภาพรู้ รูปธรรมไม่รู้อะไร ก็ไปหาว่านามธรรมเป็นอะไร รูปธรรมนี้เป็นรูปธรรมหรือเป็นนามธรรม แต่ขณะนี้ยังไม่ต้องพูดถึงคำว่า นามธรรม ไม่ต้องพูดถึงคำว่ารูปธรรม แต่พูดถึงสิ่งที่มีจริง ซึ่งกำลังมีจริง แล้วก็ค่อยๆ เข้าใจว่า สิ่งที่มีจริงหลากหลายมาก

    เพราะฉะนั้น จำเป็นต้องใช้คำแสดงความหลากหลาย ก็จะทำให้เราศึกษาธรรมตรงต่อสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แล้วก็เข้าใจจริงๆ ว่าธรรมคือสิ่งที่มีจริง ที่กำลังปรากฏ และการฟัง ฟังเพื่อให้เข้าใจถูกต้องตามความเป็นจริงของสิ่งที่กำลังปรากฏ แล้วก็ไม่ต้องห่วงเรื่องสติปัฎฐาน เรื่องวิปัสสนาญาณ ขอให้มีความเข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะที่กำลังกล่าวถึงสิ่งนั้น

    ผู้ฟัง ขอความกรุณากล่าวถึงเรื่องของธาตุรู้ ธรรมชาติที่รู้

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่ประมาทความเข้าใจจากการฟัง เพียงประโยคที่กล่าวว่า เห็นเกิดขึ้นขณะนั้น แล้วมีสิ่งที่ปรากฏเท่านั้น ไม่มีรูปร่าง ที่จะเป็นนกหรือว่าเป็นคน เพียงคำนี้ ถ้าเข้าใจจริงๆ ว่าเห็นเป็นสิ่งที่มีจริง เกิดขึ้น กำลังมีสิ่งที่ปรากฏเพราะจิตเห็นสิ่งนั้น อย่างอื่นไม่มีเลย เท่านี้จะนำไปสู่สติปัฏฐานแน่นอน ถ้ามีความเข้าใจจริงๆ ว่า แต่ละ ๑ ของธรรม มีลักษณะเฉพาะที่สามารถจะเข้าใจได้ แต่เพราะเหตุว่าการฟังขณะนี้ การสะสมของอวิชชา และความไม่รู้ และโลภะมีมากจนไม่ได้คิดถึงความลึกซึ้ง และความจริงที่ว่า ขณะนี้ที่เห็นเป็นธาตุรู้ซึ่งเกิดขึ้น ไม่มีรูปร่างใดๆ เลยทั้งสิ้น ถ้าขณะนั้นกำลังเข้าใจลักษณะที่เห็น ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่ปรากฏ เพราะสิ่งที่ปรากฏไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลย แต่ธาตุเห็นกำลังเห็นสิ่งที่ปรากฏ ธาตุเห็นต้องเป็นธาตุรู้ รู้อะไร รู้ว่าสิ่งที่ปรากฏเป็นอย่างนี้ ไม่ต้องใช้คำอธิบาย ไม่ต้องใช้คำพูดใดๆ เลยทั้งสิ้น กำลังเห็น และในขณะที่กำลังฟังด้วยดี แล้วก็มีเห็นขณะนี้ แล้วก็กำลังฟังอย่างนี้ สามารถที่จะค่อยๆ รู้ว่า ขณะใดก็ตามที่เริ่มเข้าใจลักษณะของธาตุรู้ ขณะนั้นคือสติปัฎฐาน แต่กว่าจะถึงอย่างนั้นได้ ก็ต้องเป็นผู้ที่ฟัง และทุกคำไม่ผ่านไปเลย เช่นขณะนี้มีเห็น เพียงเท่านี้ จะรู้ที่เห็นไหม ขณะนี้มีเห็น และเห็นขณะนี้ไม่ใช่สิ่งที่กำลังปรากฏ แต่ว่าเป็นขณะที่กำลังรู้ คือเห็นสิ่งที่ปรากฏ แม้ความเข้าใจที่มั่นคงอย่างนี้ ทีละเล็ก ทีละน้อย เวลาที่เห็นเมื่อไหร่ ก็สามารถที่จะรู้ความจริงได้ ว่าเป็นขณะที่กำลังเห็นสิ่งที่ปรากฏ นี่คือสติปัฏฐาน

    เพราะฉะนั้น การฟังให้เข้าใจจริงๆ ในความจริงของสภาพธรรมแต่ละหนึ่ง ด้วยความมั่นคงขึ้น ก็จะค่อยๆ เป็นสังขารขันธ์ ที่จะทำให้เข้าใจลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ เพราะขณะนี้ไม่ได้มีแต่เห็น ได้ยินก็มี คิดก็มี เพราะฉะนั้น ยากที่วิตกเจตสิก ที่จะจรดที่ลักษณะของสภาพธรรมหนึ่งที่ปรากฏ ด้วยความเข้าใจที่ถูกต้อง เพราะว่าความเข้าใจนั้นไม่พอ ที่จะเข้าใจลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ เพราะฉะนั้น สิ่งที่ข้ามไม่ได้คือความเข้าใจถูก ความเห็นถูกที่เพิ่มขึ้น แล้ววันหนึ่ง วันหนึ่งไม่ได้มีแต่เห็น ไม่ได้มีแต่ได้ยิน ใช่หรือไม่ ไม่ใช่มีแต่ได้กลิ่น ไม่ใช่มีแต่ลิ้มรส ไม่ใช่มีแต่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ไม่ใช่มีแต่คิดนึก แล้วมีอะไรอีก โลภะมีไหม โทสะมีไหม ริษยามีไหม เมตตามีไหม และก็เมื่อสภาพธรรมที่สะสมมาในจิตแต่ละหนึ่งขณะ ของแต่ละหนึ่งที่เรียกว่า คน สมมติบัญญัติเรียกจิตที่ประกอบด้วยเจตสิกนั้นๆ โดยการปฏิสนธิอย่างนั้นๆ เป็นสัตว์ เป็นคน เป็นนรก เป็นเปรต เป็นอสูรกาย มากมายมหาศาล ที่จะทำให้สะสมต่อไปอีก แม้แต่ขณะนี้กำลังสะสม สะสมอะไรหลังเห็น กุศลหรืออกุศล แล้วจะทำให้สามารถที่จะคลายเบาบาง จนกระทั่งมั่นคง บ่ายหน้าไปสู่ความจริงของธรรมที่กำลังปรากฏ เพื่อที่จะรู้ความจริงนั้น ก็จะต้องอาศัยขณะของกุศลมากมาย เพื่อที่จะไม่ให้อกุศลเพิ่มพูนขึ้น และกุศลที่เกิดจากการฟังธรรมเข้าใจ ก็จะมีกำลัง ที่สามารถที่จะเข้าใจลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ โดยที่ไม่ต้องใช้คำที่ทำให้ต้องการ หรือสับสน เช่นสติปัฎฐานหรือว่าวิปัสสนาญาณเป็นต้น แต่ทั้งหมดก็คือฟังเพื่อเข้าใจ ถ้าไม่เข้าใจบอกว่าฟังแล้วมีปัญญา เป็นยังไง ปัญญารู้อะไร เข้าใจอะไรหรือเปล่า แต่ถ้าบอกว่าเข้าใจก็ชัดเจน เข้าใจอะไร เข้าใจความจริงของสิ่งที่กำลังปรากฏ เพิ่มขึ้นทีละเล็กทีละน้อย

    เพราะฉะนั้น ทั้งหมดขาดไม่ได้คือ มีสิ่งที่ปรากฏแล้ว เช่นแข็ง เข้าใจหรือเปล่า เห็นหรือไม่ ขณะนี้มีสิ่งที่กำลังปรากฏคือแข็ง เข้าใจหรือเปล่า เข้าใจอะไร ถ้าเข้าใจ เข้าใจอะไร เข้าใจลักษณะที่มีจริง แน่นอน คือแข็ง ไม่มีใครทำให้เกิดขึ้น เกิดแล้ว แล้วมีอย่างอื่นซึ่งไม่ใช่แข็ง เพราะฉะนั้น ก็ค่อยๆ รู้ความจริงว่าสภาพธรรม เกิดดับ สืบต่อ โดยไม่ปรากฏการเกิดดับ สืบต่อ เพราะเป็นไปอย่างรวดเร็วมาก จึงหลอกหรือลวงให้ยึดถือว่า เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่มั่นคง จนกว่าการฟังธรรม จะมีความเข้าใจเพิ่มขึ้น เมื่อสักครู่ที่ถามว่าขณะนี้แข็งปรากฏ รู้แข็งหรือเปล่า ก็จะตอบได้ว่าใครก็รู้ว่าแข็ง แต่ไม่ใช้ปัญญา

    เพราะฉะนั้น การฟังแล้วสามารถที่จะเข้าใจสิ่งที่มีอยู่แล้ว ไม่ใช่สิ่งอื่น สิ่งที่มีเป็นปกติในชีวิตประจำวัน ว่าความจริงก็คือธรรม ที่เพียงปรากฏชั่วคราว คำว่าชั่วคราวที่เราคิด ยังนานกว่าความจริงของชั่วคราว ของสภาพธรรมแท้ๆ ซึ่งเกิดแล้วก็ดับไป เพียงอาศัยระลึก เพียงแค่ระลึกเท่านั้น ดับแล้ว มีสภาพธรรมอื่นเกิดแล้วก็ไม่รู้ เพราะฉะนั้น กว่าความเข้าใจจะเริ่ม เข้าใจจริงๆ แล้วก็เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมทีละหนึ่ง จนกว่าจะทั่วหมด จนไม่มีความสงสัย จนละการยึดถือว่าเป็นเรา เพราะเหตุว่าเป็นลักษณะของสภาพธรรมแต่ละอย่าง นี่คือธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงเป็นภาษาบาลี แต่ในภาษาไทยเนื้อความใจความก็อย่างนี้ ที่คนไทยสามารถที่จะเข้าใจได้ว่า ธรรมคือสิ่งที่มีจริง กำลังมีจริงเกิดแล้วตามเหตุตามปัจจัย ไม่มีใครสามารถที่จะบังคับบัญชาได้ เพราะฉะนั้น การรู้จักธรรม การเข้าใจธรรมคือฟัง และเข้าใจสิ่งที่กำลังมีในขณะนี้ จนกว่าจะเข้าใจเพิ่มขึ้น

    อ.กุลวิไล ท่านอาจารย์กล่าวถึงสิ่งที่กำลังมีในขณะนี้ ท่านอาจารย์ถามว่าเข้าใจแข็งอย่างไร เพราะว่าจริงๆ แล้วแข็งเป็นสภาพธรรมที่รู้ได้ทางกาย จิตก็รู้แข็งได้ ปัญญาก็รู้แข็งได้ แต่จิต และปัญญาจะต้องต่างกัน เพราะว่ากายวิญญาณก็ต้องเกิดขึ้น ทุกท่านกระทบสัมผัสก็ต้องรู้ว่าแข็ง แต่แข็งขณะนั้นมีปัญญาเกิดร่วมด้วยหรือเปล่า ถ้าไม่รู้ลักษณะของแข็งตามความเป็นจริง และรู้ว่าแข็งเป็นแข็ง ขณะนั้นก็เป็นความเข้าใจถูกในแข็งที่กำลังปรากฏ

    ท่านอาจารย์ เพราะถ้าปัญญาไม่รู้แข็ง ปัญญาจะรู้อะไร เวลาที่แข็งกำลังปรากฏ และปัญญาไม่รู้แข็งแล้วปัญญาจะรู้อะไร ไม่มีอะไรที่จะเป็นปัญญาเกิดขึ้นรู้ ขณะที่กำลังเห็น ปัญญารู้อะไร ถ้าไม่รู้เห็น ถ้าไม่เข้าใจเห็น จากที่ไม่เคยเข้าใจเลย แล้วก็ค่อยๆ เข้าใจขึ้นทีละเล็กทีละน้อย แล้วก็ถ้าปัญญาหรือความเข้าใจไม่มี จะไปเข้าใจอะไร ในขณะที่เห็นกำลังเกิดขึ้น ขณะที่กำลังได้ยิน ถ้าไม่เข้าใจเสียง ไม่เข้าใจธาตุที่กำลังได้ยินเสียง แล้วจะเข้าใจอะไร ที่จะกล่าวว่าปัญญารู้ ปัญญาจะรู้อะไร ถ้าไม่มีสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่กำลังปรากฏ

    เพราะฉะนั้น ตามความเป็นจริงก็คือ สิ่งที่กำลังปรากฏเดี๋ยวนี้ เป็นอารมณ์ของอวิชชา และโลภะความติดข้องมานานแสนนาน จนกระทั่งกว่าที่จะฟัง แล้วก็ค่อยๆ เข้าใจขึ้น ไม่ต้องทำอะไรเลย ฟังสิ่งที่กำลังได้ยิน แล้วเข้าใจสิ่งที่กำลังฟัง ไม่ใช่ไปคิดเรื่องอื่นมากมาย แล้วก็ไม่เข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏ เพราะว่าถึงจะฟังอีกนานสักเท่าไหร่ ก็ขึ้นอยู่กับการสะสมความเห็นถูก ความเข้าใจถูกว่า สิ่งที่กำลังปรากฏนี้เป็นธรรม ถ้าศึกษาตามตำหรับตำราก็เป็นพระไตรปิฏก เป็นอรรถกถาต่างๆ แต่ว่าไม่ใช่ตัวธรรมจริงๆ แต่ตัวธรรมจริงๆ ขณะนี้ตรงตามที่ได้ทรงแสดงไว้ทุกประการเมื่อเข้าใจ

    เพราะฉะนั้น ถ้าใครเข้าใจ ก็เข้าใจตามที่ได้ฟังนั้นเอง ไม่ได้ต่างกันเลย เพราะฉะนั้นการฟัง จึงเป็นบารมีมาก ทั้งปัญญาบารมี วิริยบารมี สัจจบารมี ขันติบารมี เนกขัมบารมีด้วยหรือเปล่า เพราะขณะใดก็ตาม ที่ละความติดข้อง ขณะนั้นเป็นเนกขัมมะ กล่าวได้เลยว่ากุศลทุกประเภทเป็นเนกขัมมะ เมตตามีไหมตอนนี้ ถ้าไม่มีก็บอกไม่ได้ เพราะว่าไม่มีก็ต้องไม่มี แต่ถ้ามี เห็นความเมตตาของคนอื่นก็ได้ ความกรุณาของคนอื่นก็ได้ ขณะนั้นจิตมีเมตตาแล้วที่เห็นกุศลของคนอื่น นี่เป็นสิ่งที่แม้ขณะที่เห็นกุศลของคนอื่น มีความเป็นมิตร มีความเป็นเพื่อน รู้ในความหวังดี และก็มีความหวังดีต่อผู้ที่มีความเมตตาด้วย มีความเป็นมิตรจริงๆ เป็นมิตรที่จะได้ศึกษาธรรม ที่จะได้เข้าใจธรรม ที่จะได้ช่วยกัน ละคลาย กิเลส และพ้นจากอกุศลทั้งหลายได้ในวันหนึ่ง

    เพราะฉะนั้น แม้แต่ขณะนี้ถ้าถามว่า แล้วเดี๋ยวมีเมตตาไหม ก็แล้วแต่ มีหรือไม่มี เข้าใจหรือไม่ แต่ให้ทราบความละเอียดว่า แม้เห็นความดีของคนอื่น ขณะนั้นก็เป็นมิตร ถ้าคิดว่าเขาชั่ว เขาเลว ขณะนั้นเป็นมิตรหรือเปล่า ไม่เป็นมิตรเลย ใครชั่วก็เรื่องของเขา อกุศลจิตเกิดแล้ว แต่เมตตาเกิดหรือเปล่า มีความเป็นมิตรหรือเปล่า เมตตาเป็นบารมีด้วย ก็แสดงให้เห็นว่ากว่าจะถึงกาลที่ทำให้กุศลทั้งหลายสมบูรณ์ สามารถที่จะเข้าใจธรรม ซึ่งเป็นกุศลก็มี เป็นอกุศลก็มี แต่เป็นผู้ตรง ที่จะรู้ว่าธรรมเป็นธรรม แล้วก็ไม่วินิจฉัยเอนเอียงด้วย โลภะ หรือ โทสะ แต่ว่าด้วยปัญญา ที่มีความเห็นถูกในสภาพธรรม ด้วยเหตุนี้ ก็จะเข้าใจถึงพระมหากรุณาของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ทรงแสดงพระธรรม ๔๕ พรรษา หลังจากที่ตรัสรู้แล้วไม่นาน แล้วก็ใกล้ต่อการที่จะปรินิพพาน ก็ยังเห็นว่าสัตว์โลกควรที่จะได้ฟังคำจริง ที่สามารถที่จะสะสมไป เพื่อที่จะให้มีความเห็นถูกจริงๆ ว่า ธรรมเป็นธรรม เพราะฉะนั้น แต่ละคนเมื่อพูดถึงธรรม ไม่ได้อยู่ไกลตัว อยู่ที่คนอื่นหรือเปล่า ไม่ใช่ โกรธคนอื่น โกรธอยู่ที่ไหน อยู่ที่ตัวเอง จะให้พ้นไหม หรือว่าเอาไว้ก่อน หอบไปเยอะๆ อันตรายมากเลย ไม่เห็นภัยที่ยิ่งกว่าภัยอื่น เพราะใกล้ตัวที่สุด เกิดเมื่อไหร่ก็ได้ นอนสบายๆ เป็นทุกข์ได้แล้วเพราะกิเลส ใครทำให้ ไม่มีใครเลย อกุศลที่สะสมมานั่นเอง

    เพราะฉะนั้น การฟังพระธรรม จะเห็นได้ว่าทรงพระมหากรุณา แสดงโดยละเอียดอย่างยิ่งโดยประการทั้งปวงไม่ว่าขณะนั้นจะประทับที่ไหน มีสิ่งใดที่กำลังปรากฏ ก็ล้วนเป็นธรรมที่มีประโยชน์ เพราะฉะนั้น อย่าลืมฟังธรรมเพื่อเข้าใจสิ่งที่กำลังมี ไม่ใช่ฟังแล้วก็คิดถึงเรื่องอื่น แล้วก็ไม่เข้าใจเรื่องอื่น แน่นอนเพราะว่าเรื่องอื่นก็ไม่เข้าใจ แล้วธรรมที่กำลังฟังก็ไม่เข้าใจด้วย ก็เสียประโยชน์

    ผู้ฟัง จิตเห็นก็ไม่ใช่จิตได้ยิน แต่ว่า เมื่อสิ่งที่ปรากฏทางตา ก็จะต้องมีธาตุรู้ รู้สิ่งที่ปรากฏทางตา จะกราบเรียนถามท่านอาจารย์ว่า ถ้ารู้สิ่งที่ปรากฏทางตา กับรู้เสียง จะเป็นธาตุรู้เหมือนกัน

    ท่านอาจารย์ ธาตุรู้ไม่เปลี่ยน จิตจะเป็นเจตสิกไม่ได้ จะเป็นรูปไม่ได้

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้น ถ้ารู้กลิ่น รู้สิ่งที่ปรากฏทางตา รู้เสียง รู้รส รู้สิ่งที่สัมผัสทางกาย ก็เป็นธาตุรู้เหมือนกันหมด

    ท่านอาจารย์ แต่ต่างกันคือเป็นจักขุวิญญาณธาตุ โสตวิญญาณธาตุ ชิวหาวิญญาณธาตุ กายวิญญาณธาตุ ทั้งหมด ตา หู จมูก ลิ้น กาย จักขุตา วิญญาณรู้ เป็นธาตุชนิดหนึ่ง เป็นจักขุวิญญาณธาตุ โสตวิญญาณธาตุ ฆานวิญญาณธาตุ ชิวหาวิญญาณธาตุ กายวิญญาณธาตุ ต่างกันเป็น ๕ เพราะอารมณ์ แต่ธาตุรู้จะเปลี่ยนเป็นอย่างอื่นไม่ได้ เพราะฉะนั้น จึงประมวลไว้ว่า วิญญาณธาตุ ๗

    ผู้ฟัง ปัญญา ถ้ารู้ ก็ต้องรู้ลักษณะของธาตุรู้


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 184
    12 ม.ค. 2567