พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 767


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๗๖๗

    ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๘ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๕


    ท่านอาจารย์ อบรมความเห็นถูกความเข้าใจถูกต่อไป จนกว่าจะรู้จริง จึงสามารถที่จะเห็น พระมหากรุณาของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ทรงแสดงพระธรรมโดยละเอียดทุกกาล ไม่ว่า ณ สถานที่ใด ถ้าบุคคลนั้น สามารถที่จะเข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏ พระองค์ก็ทรงแสดงความละเอียดยิ่งของสิ่งนั้น ตามกำลังของผู้ฟังที่สามารถที่จะเข้าใจได้ เช่น ถ้าพูดคำว่า “ศีล” เข้าใจน้อยมากใช่ไหม แค่ ศีล ๕ หรือ ศีล ๑๐ แต่ศีลคืออะไร ต้องตั้งต้นว่าคืออะไร เราหรือเปล่า เราอยู่ที่ไหน ไม่ใช่เลย

    เพราะฉะนั้น เวลาที่ฟังทั้งหมด ต้องน้อมไปสู่ธรรม แม้แต่ศีลซึ่งเป็นธรรม ก็มีทั้งที่เป็นกุศลศีล อกุศลศีล และอัพยากตศีล นี่คือเริ่มรู้จักศีลละเอียดขึ้น และต่อไปจะมีข้อความอีกมากมาย ซึ่งต้องเริ่มจากการที่เข้าใจธรรมที่เป็นพื้นฐานก่อนว่า เป็นธรรมแต่ละอย่าง

    เพราะฉะนั้น เมื่อกล่าวถึงธรรมใดก็กล่าวถึงที่สามารถจะเข้าใจได้พอประมาณ ถ้ากล่าวถึงหมด ศีลถึงความเป็นพระอรหันต์ แต่ว่าเวลานี้ก็เพียงแต่เข้าใจว่าเป็นธรรม ซึ่งมีทั้ง “วาริตศีล” กับ “จาริตศีล” ทรงแสดงธรรมหลากหลายมากโดยประการต่างๆ ไม่ใช่ ศีล ๕ และศีล ๘ ศีล ๑๐ และศีล ๒๒๗ เท่านั้น แต่ก็ยังแสดงอีกนัยหนึ่ง วาริตศีลกับจาริตศีล วาริตศีล คือ กิเลสมีกำลังสะสมมา ถ้ามีกำลังมาก ขณะนั้นใครจะยับยั้งไม่ให้ กาย วาจา เป็นไปในทางทุจริตได้ไหม ยกมือ ทำอะไร ตีได้ไหม ได้ทั้งนั้นเลย ตามกำลังของอกุศล

    เพราะฉะนั้น แสดงให้เห็นว่า ถ้ามีความเข้าใจจริงๆ เราจะเห็นความเป็นธรรม ซึ่งไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใคร วันนี้กายไหวไป นับไม่ถ้วนเลย ตั้งแต่ตื่น รู้ไหมว่าขณะนั้นเพราะอะไร เพราะความต้องการ เป็นอกุศลเล็กๆ น้อยๆ ยังไม่มาก แต่ถ้ามีกำลังมากขึ้น กายที่ไหวไปก็เป็นไปในทางทุจริต แล้วแต่ว่าจะถือเอาสิ่งของที่คนอื่นไม่ให้ หรือว่าจะทำร้ายบุคคลอื่น ก็แล้วแต่กำลังของอกุศลในขณะนั้น เพราะจิตเป็นอกุศลขณะนั้นไม่มีสภาพธรรมที่เกิดขึ้นวิรัติเว้นทุจริตนั้น เพราะว่าแม้แต่การที่จะไม่กระทำทุจริต ก็ไม่ใช่เรา เป็นธรรมทั้งหมด

    เพราะฉะนั้น จึงเป็นวาริตศีล การเว้นทุจริตทั้งปวง แต่ก็ในวันหนึ่งๆ ก็ไม่มีอะไรที่เราจะต้องเบียดเบียนมากมาย เพราะฉะนั้น ก็ยังมีมือมีเท้าอยู่ แล้วจะทำอะไร ถ้าในขณะนั้นเป็นกุศลก็เป็นจาริตศีล คือสิ่งที่พึงกระทำ ควรกระทำ การช่วยเหลือคนอื่นไม่ใช่เพียงแต่ไม่เบียดเบียนไม่ฆ่า ก็ยังสามารถที่จะช่วยเหลือคนอื่นด้วยจิตที่เป็นกุศลในขณะนั้น ไม่ใช่เรา อยากจะทำ อยากจะมี แต่มีไม่ได้ เพราะเหตุว่ามีอกุศลมาก

    เพราะฉะนั้น ทั้งหมดขึ้นกับปัญญา ความเห็นถูก ความเข้าใจถูก ในความเป็นธรรมที่หลากหลาย ซึ่งค่อยๆ สะสมแต่ละขณะ แล้วแต่ว่าจะสะสมไปในทางที่เป็นกุศลหรือในทางที่เป็นอกุศล กายวาจาก็เป็นไปตามนั้น เพราะฉะนั้น ก็จะเห็นจาริตศีล ศีล คือ การกระทำทางกายที่ควรกระทำ การช่วยเหลือสงเคราะห์บุคคลอื่น แม้เล็กน้อยขณะนั้นก็เป็นกุศลจิต มีมือมีเท้าที่จะทำกุศลในขณะนั้น เพราะเป็นจาริตศีล ไม่ว่าวาจาเป็นวาจาที่อ่อนหวาน หรือว่าเป็นวาจาที่แช่มชื่น คนที่กำลังตกทุกข์ได้ยาก ป่วยไข้ แต่ถ้าเรามีโอกาสที่จะทำให้เขาสบายใจขึ้น หรือว่าให้เข้าใจธรรม หรืออะไรก็ตามแต่ ขณะนั้น เมื่อจิตเป็นกุศลก็เป็นไปในทางสงเคราะห์ด้วยกายหรือด้วยวาจา ซึ่งชีวิตวันหนึ่งๆ ก็เป็นอย่างนี้ ถ้าไม่เข้าใจเรื่องของจิตหรือธรรมโดยละเอียด ก็ไม่มีการที่จะรู้ว่าขณะไหนดี ขณะไหนชั่ว ขณะไหนเป็นกุศล ขณะไหนเป็นอกุศล ถ้าไม่มีความเห็นถูกไม่มีปัญญาอย่างนี้ แล้วอะไรจะสะสมมากในแต่ละวัน ในแต่ละขณะที่เห็น ที่ได้ยิน

    ด้วยเหตุนี้ แม้ทรงแสดงข้อความว่า ศีลเป็นเบื้องต้น ก็เพราะเหตุว่าศีลเป็นธรรมซึ่งถ้าเป็นทางฝ่ายวิรัติก็เป็น “วิรตีเจตสิก” เป็นวาริตศีลเป็นสิ่งที่ควรละเว้น ขณะนั้นควรเข้าใจให้ถูกต้องด้วยว่า ไม่ใช่เรา จึงจะเป็นการฟังพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ให้เข้าใจถูกว่าทั้งหมดเป็นธรรม

    เพราะฉะนั้น ในขณะที่เว้นทุจริต เป็นเราเว้น เป็นการฟังพระธรรมหรือเปล่า เป็นการเข้าใจพระปัญญาคุณของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เข้าใจในพระมหากรุณาคุณหรือเปล่าว่า ไม่ใช่เพียงเว้นอย่างที่คนอื่นอาจจะเข้าใจว่า บอกให้เว้น สอนให้เว้น ไม่ใช่อย่างนั้นเลย แต่ให้ปัญญาที่รู้ความจริงว่า แม้ขณะนั้นก็เป็นธรรม นี่จึงจะเป็นการได้ฟังพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง ความต่างในทุกเรื่องไม่ว่าในทางฝ่ายกุศล และอกุศลใดๆ ก็ตาม ความต่างของคำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าคือ ให้ผู้ฟังได้รู้จักความจริง ได้เข้าใจความจริง แล้วปัญญาที่เห็นถูกต้องนั้นจะทำให้มีการสะสมกุศลมากขึ้น และละเว้นอกุศลมากขึ้น โดยเห็นถูกต้องว่าไม่ใช่เรา แต่เป็นธรรม

    ถ้ามีความเข้าใจธรรม ชีวิตประจำวันทุกขณะเป็นธรรม ที่ไม่ว่าจะได้ฟังข้อความใดในพระไตรปิฎก ก็คือความจริงทั้งหมด แต่ว่าทรงแสดงโดยนัยหลากหลาย เช่น ทุกคน พูดแน่ๆ ทุกวัน จะพูดน้อย พูดมาก ก็พูด ใช่ไหม เพราะฉะนั้น พูดสิ่งที่มีประโยชน์ก็มี พูดสิ่งที่ไม่มีประโยชน์ก็มี แล้วแต่ว่า ขณะนั้นเป็นประโยชน์ในทางไหน แต่ว่าเป็นคำจริง เป็นศีลหรือเปล่า

    อ.กุลวิไล พูดความจริง

    ท่านอาจารย์ เว้นคำเท็จ เห็นหรือไม่ ก็เป็นศีลโดยไม่ต้องมานั่งเรียงศีลข้อไหน กำลังพูดความจริง และพูดคำจริง เพราะฉะนั้น คำจริงที่พูด ก็ยังต้องเป็นประโยชน์ด้วย แล้วพูดพอประมาณด้วย ถ้าพูดมากเลยลืม ว่าได้ฟังอะไรบ้างแล้ว เพราะฉะนั้น แต่ละคำ แต่ละหัวข้อที่จะยกขึ้นมาเป็นการสนทนาก็เพื่อที่จะให้เกิดความเข้าใจจริงๆ แล้วก็ไม่เกินจนกระทั่งจำไม่ได้ ก็เลยทำให้คิดว่าที่เข้าใจแล้ว ไม่รู้ว่าเข้าใจอะไรบ้าง แล้วก็เป็นความจริงไม่ว่าใคร ถ้าพูดคำจริงทุกคนก็ต้องพอใจ ไม่มีคำเท็จที่จะลวง ที่จะหลอกคนอื่นที่ จะไม่จริงใจ

    เพราะฉะนั้น ทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นสิ่งที่เป็นกุศลเป็นสิ่งที่ดี พระผู้มีพระภาคก็ทรงแสดงโดยนัยหลากหลาย แม้แต่เพียงคำพูดซึ่งทุกคนพูด เมื่อพูดคำที่จริง และก็พูดคำพอประมาณ บางคนก็ชมเสียใหญ่ เพราะคิดว่าคนถูกชมต้องดีใจมากๆ แต่เสียใหญ่มันเกินหรือว่าพอประมาณ แล้วจิตใจของคนนั้นแค่ไหน เป็นอย่างไร

    เพราะฉะนั้น ธรรมความเข้าใจถูก ความเห็นถูก ก็จะทำให้บุคคลนั้นประพฤติตามธรรม โดยที่ว่าไม่ได้ต้องมาจำแนกว่าเป็นศีลข้อนั้นข้อนี้ พูดคำจริง พูดคำพอประมาณ ยังพูดคำที่น่ารักน่าฟัง ไม่กระทบกระเทือนใคร หรือว่าไม่ทำให้ใครเดือดร้อน นี่เป็นเมตตาหรือเปล่า บางคนก็พูดคำจริง แต่พูดแรง แต่จริงๆ แล้วถ้าคำพูดแรงนั้นมีประโยชน์ ควรคำนึงถึงอะไร ประโยชน์มากกว่าใช่ไหม

    เพราะฉะนั้น บางทีบางเรื่อง ถ้าใช้คำจริงก็เป็นสิ่งซึ่งแล้วแต่ผู้ฟัง ขอยกตัวอย่างเล็กน้อย เมื่อวานนี้ก็มีการสนทนาธรรมกับชาวต่างประเทศ ก็พูดถึงเรื่องการบริจาคด้วยการให้ทาน บางคนบอกว่าไม่ว่าจะมีซองอะไร เขาก็ให้ เพราะว่าเขาก็รู้สึกว่าจะไปทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างห้องน้ำ หรือว่าศาลา หรือว่าอะไรก็ตามแต่ นั่นคืออัธยาศัยที่สะสมมา เห็นซองก็คิดว่าเป็นสิ่งที่ควรกระทำ แต่รู้ไหม เข้าใจหรือเปล่า แม้แต่คำว่า วัดวาอาราม หมายความถึงอะไร หรือคืออะไร ถ้าจะกล่าวคำที่ตรงที่สุด ที่อยู่สำหรับผู้ไม่มีเรือน ถูกต้องไหม แต่คำนี้มีความหมายหลายอย่าง ที่อยู่สำหรับผู้ไม่มีบ้านเรือน ผู้อยู่ตามใต้สะพาน หรือว่าตามถนน หรือตามที่ไหนก็ตาม ซึ่งไร้เรือน ไม่มีเรือน ก็มีใช่ไหมผู้ไม่มีเรือน แต่ว่าถ้ากล่าวถึงวัดวาอารามซึ่งเป็นที่อยู่ของผู้ไม่มีเรือน ก็จะต้องมีความต่างจากบุคคลที่ไม่มีเรือนแล้วก็อาศัยตามสถานที่ต่างๆ

    เพราะฉะนั้น ต้องเข้าใจให้ถูกต้องว่า ใครอยู่ในสถานที่นั้น ต้องเป็นผู้ที่มีศรัทธา มีปัญญา ได้ฟังพระธรรม รู้อัธยาศัยที่จะอบรมเจริญปัญญาในเพศที่ละอาคารบ้านเรือน ใช้คำว่า “อนาคาริก” เพราะฉะนั้น อย่างผู้ครองเรือนก็เป็น “อาคาริก” แต่ผู้ที่ไม่ครองเรือนทั้งหลาย แม้แต่พระภิกษุนั้นก็เป็นอนาคาริก ผู้ไม่ครองเรือน ด้วยบุญกุศลอัธยาศัยใหญ่ที่สะสมมา ต่างกับผู้ไร้บ้านเรือน หรือไม่มีเรือน เพราะไม่มีเรือนที่จะอยู่

    เพราะฉะนั้น ก็ต้องมีความต่างกัน ด้วยเหตุนี้แม้แต่การที่จะเข้าใจคำที่ได้ยินได้ฟังโดยความถูกต้อง เพื่อจะทำสิ่งที่ถูกต้อง ก็ต้องรู้ด้วยว่าสำหรับวัดวาอารามตั้งแต่ครั้งพุทธกาล ก็มีผู้ที่สร้างอารามถวาย อาราม คือ ที่ๆ น่ารื่นรมย์ ไม่ใช่มหรสพ แต่เป็นที่ที่เข้าไปแล้วมีความสบายใจ และสบายกาย เป็นที่ที่น่ารื่นรมย์เพราะว่าเป็นที่อยู่ของผู้ขัดเกลากิเลส ต่างกันไหม

    อ.กุลวิไล ต่าง

    ท่านอาจารย์ ข้างนอกวัดกับในวัด หรือว่าในอารามต่างๆ ก็ต่างกัน ด้วยเหตุนี้ การศึกษาธรรมต้องศึกษาโดยละเอียด ให้เข้าใจ แล้วจะรู้ว่า แม้แต่การให้ก็มีลักษณะหลายอย่าง ผู้ไม่มีเรือนควรแก่การให้ไหม

    อ.วิชัย ต้องให้สิ่งที่เหมาะควร

    ท่านอาจารย์ การให้เพื่ออนุเคราะห์ เขากำลังลำบาก ไม่ว่าใครที่ไหนเป็นสิ่งที่มีชีวิตที่กำลังลำบากความทุกข์ไม่ได้มีแต่เฉพาะมนุษย์ แม้สัตว์เดรัจฉาน ที่ไหนก็ตาม ที่มีทุกขเวทนาความทุกข์ยากเกิดขึ้น ไม่มีเชื้อชาติ ไม่มีอะไรเลย แต่ว่าทุกข์เป็นทุกข์ ทุกข์กายเป็นทุกข์กาย ไม่ว่าเมื่อไหร่กับใครที่ไหน ทุกข์ใจนั้นก็อีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งพระผู้มีพระภาคทรงบำเพ็ญพระบารมีเพื่อที่จะให้ไม่มีทุกข์แม้เพียงเล็กน้อย ทั้งกาย และใจ

    เพราะฉะนั้น ถ้าจะให้เพื่ออนุเคราะห์ให้พ้นจากทุกข์ ควรให้ ใช่ไหม เพราะขณะนั้น รู้ความจริงว่าควรที่จะได้ช่วยให้คนอื่นพ้นจากความทุกข์ ใครจะมีทุกข์วันไหน เมื่อไหร่ อย่างไร ไม่มีใครสามารถที่จะรู้ได้ แต่การให้ด้วยความเคารพนอบน้อมเป็นการบูชา ไม่ใช่เป็นการอนุเคราะห์

    เพราะฉะนั้น จิตของผู้ให้ ไม่ว่าจะให้ผู้ไร้บ้านที่ไหนก็ตาม ก็จะต้องรู้ว่าขณะนั้นให้ด้วยเหตุใด เป็นการให้เพียงเพื่ออนุเคราะห์ หรือว่าเคารพบูชาในคุณความดี ต้องเป็นผู้ตรง ธรรมต้องเป็นผู้ตรง ไม่อย่างนั้นชีวิตประจำวันของเราก็ทำสิ่งซึ่งคิดว่าดี แต่ขณะนั้นหวังอะไรหรือเปล่า ยิ่งมีความละเอียดไปอีกว่า แม้ในขณะนั้นหวังอะไรหรือเปล่า เพราะบางคนก็หวังสวรรค์ หวังว่าจะไม่ทุกข์ยาก หวังว่าจะเกิดเป็นเศรษฐีมหาศาล หรืออะไรก็แล้วแต่ ก็เหมือนกับการซื้อ หรือว่าเป็นการให้ โดยไม่หวังสิ่งหนึ่งสิ่งใดเป็นการตอบแทน ไม่มีความผูกพันในการให้ ผู้ให้ก็ไม่ผูกพัน ผู้รับก็ไม่ผูกพันด้วย

    เพราะฉะนั้น นี่ก็เป็นเรื่องธรรมเท่านั้น ที่จะทำให้เราสามารถเข้าใจจิตซึ่งเกิดดับสืบต่อเร็วมาก เป็นธรรมซึ่งไม่มีใครสามารถที่จะบังคับบัญชาได้ ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใคร แต่เป็นไปตามเหตุตามปัจจัย เมื่อมีปัญญาจึงสามารถที่จะเห็นถูกต้องตามความเป็นจริง และปัญญานั่นเองก็จะทำให้กุศลทั้งหลายเจริญขึ้นด้วย

    อ.วิชัย เมื่อสักครู่ท่านอาจารย์พูดถึงการกล่าววาจา ก็มีองค์ของ “ปิยวาจา” คือต้องเป็นคำจริงประกอบด้วยประโยชน์ เป็นคำที่ไพเราะอ่อนหวาน และรู้จักกาล แล้วก็มีเมตตาจิตกล่าววาจานั้น ๒ องค์หลังคืออย่างไร

    ท่านอาจารย์ จะกล่าวโดยนัยไหนก็ได้ อย่างโดยนัยที่คุณวิชัยกล่าว หรืออีกนัยหนึ่ง คือพูดคำจริง พูดคำพอประมาณ พอประมาณนี้คือ ฟังแล้วเข้าใจทั้งหมด แม้ยาว ใช่ไหม พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมบ้างกาลก็ยาวใช่ไหม ขณะที่ว่าบางคนในครั้งโน้นก็ติเตียนพระเถระแต่ละรูปว่า รูปนี้พูดสั้นไป รูปนั้นพูดยาวไป ก็อดไม่ได้สำหรับคนที่มีกิเลส เพราะว่าขณะนั้น ไม่ได้เห็นประโยชน์แล้วก็ไม่เข้าใจ แต่ก็สำคัญด้วย คือพูดถึงสิ่งที่เป็นประโยชน์อย่างที่คุณวิชัยกล่าวถึงเมื่อสักครู่นี้ และคำว่าพอประมาณที่จะเข้าใจด้วยสติปัญญาในระดับนั้น หรือในขณะนั้น

    ตอนนี้จะพูดเรื่องโพชฌงค์ดีไหม หรือว่ายังไม่ถึงเลย เพียงแค่จะมีความมั่นคงว่าขณะนี้เป็นธรรม เพราะตั้งหลายคนก็มาสนทนาด้วย แล้วก็บอกว่า ฟังธรรมแล้วก็เห็นแต่ละท่านที่นั่งอยู่ที่นี่ ล้วนเป็นผู้มีความสามารถในด้านต่างๆ แต่เขาเองไม่มีอะไรเลย มาแล้วใช่ไหมตัวตน ไม่ได้เข้าใจว่าเป็นธรรมที่หลากหลาย ชั่วคราวเกิดขึ้นแล้วก็เป็นไป ถ้าเป็นความรู้ความเข้าใจก็เพิ่มได้ เพราะว่าทั้งหมดที่ฟังไม่ใช่เพื่อลาภ เพื่อยศ หรือเพื่ออะไรเลย แม้คำสรรเสริญ แต่เพื่อเข้าใจสิ่งที่กำลังได้ฟัง นี่เป็นประโยชน์ที่สุด

    เพราะฉะนั้น อย่างที่คุณวิชัยกล่าวถึง วาจาสุภาษิต หรือวาจาที่เป็นปิยวาจา ก็อีกนัยหนึ่ง แต่ตรงกันไหมที่ว่าพูดคำจริง พูดคำพอประมาณ แล้วก็พูดวาจาที่น่ารัก หรือว่าไม่กระทบกระเทือน ไม่ทำให้ใครเดือดร้อน แล้วก็ยังกล่าวธรรมตามกาลด้วย นี่คือประโยชน์ ถ้าคำนั้นมีประโยชน์ ใช่ไหม แล้วยังเป็นผู้ที่เชื่อมั่นคงในเรื่องกรรม และผลของกรรม เพราะว่าเป็นธรรมจริงๆ ถ้าเหตุดีผลก็ต้องดี เหตุไม่ดีผลก็ต้องไม่ดี นี่ก็คือแสดงสิ่งที่เป็นประโยชน์ แล้วก็ยังเป็นผู้ที่มั่นคงในการที่จะกระทำความดีด้วย เพราะว่าเชื่อเรื่องกรรม และจะทำชั่วไหม ในเมื่อรู้เหตุจริงๆ มั่นคงจริงๆ แล้วก็เมตตาในที่ทั้งปวง เพราะฉะนั้น ก็แล้วแต่ว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงโดยนัยอะไร แต่ทั้งหมดก็คือความจริงที่มีประโยชน์

    อ.วิชัย ก็เป็นชีวิตประจำวัน บางครั้งเห็นบุคคลอื่นมี กาย วาจา ที่ไม่สมควร ก็กล่าวตำหนิไปแต่ก็รู้ว่าใจนั้นไม่ใช่เมตตาที่จะกล่าวอย่างนั้น

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ขณะนั้นเป็นอกุศลศีล หรือว่าเป็นกุศลศีล ไม่ใช่อัพยากตศีลแน่

    อ.กุลวิไล พระธรรมเครื่องขัดเกลาจริงๆ ถ้าไม่ได้ยินได้ฟังพระธรรม เราไม่รู้ว่าวาจาสุภาษิต หรือคำพูดที่ดีนั้นเป็นอย่างไร และนัยที่ท่านแสดงทุกนัยก็เป็นไปกับกุศลจิตทั้งนั้น เริ่มตั้งแต่กล่าวคำจริง เพราะว่าถ้าพูดเท็จแน่นอนเป็นความหลอกลวง แต่พูดความจริงก็เป็นสิ่งที่ดี เพราะว่าเป็นการวิรัติงดเว้นทุจริตทางวาจา แล้วก็ยังพูดเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ด้วย เพราะถ้าเป็นโทษคงไม่พูดแน่นอน แล้วท่านอาจารย์กล่าวถึงว่าพูดถ้อยคำที่พอประมาณ เพราะว่าถ้าเราหลงลืมสติ เราก็จะพูดด้วยอกุศลจิตมาก ซึ่งก็ไร้ประโยชน์นั่นเอง

    ท่านอาจารย์ และทั้งหมดก็คือ การเจริญขึ้นของกุศลธรรม ธรรมฝ่ายดี เพราะถ้าไม่มีความเข้าใจอย่างนี้ ทุกคนก็ได้ฟังเพียงเล็กน้อยว่า ทุกอย่างเป็นอนัตตา แล้วก็ควรละอกุศล แล้วอย่างไร อะไรจะไปละได้ ถ้าไม่ใช่ปัญญาหรือความเห็นที่ถูกต้อง

    อ.กุลวิไล ท่านอาจารย์กล่าวถึงคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเพื่อรู้ความจริง ท่านอาจารย์ให้ความรู้เรื่องของศีล แล้วท่านอาจารย์ก็พูดถึงเรื่องของการให้ด้วย ว่าให้ด้วยความที่หวังอะไรหรือเปล่า ซึ่งท่านอาจารย์ก็ยกแม้แต่ความหมายของคำว่า วัด มา เพราะว่าวัดในที่นี้ ทุกท่านก็คงทราบว่าเป็นสถานที่ของผู้ที่ไม่มีเรือน ซึ่งท่านอาจารย์ให้ความหมายอีกอันหนึ่งก็คือ ที่อยู่ของผู้ที่ขัดเกลากิเลสด้วย แต่ในการให้ ท่านอาจารย์พูดถึงการให้เพื่ออนุเคราะห์ นั่นก็คือให้ผู้ที่ลำบากอย่างผู้ที่ไม่มีเรือนไม่มีบ้าน เขาก็ต้องมีความทุกข์แน่นอน ก็ต้องมีการให้ ให้เพื่อเขาพ้นทุกข์ แต่ขณะที่เป็นการให้อีกอันหนึ่งที่เป็นการให้เพื่อความเคารพนอบน้อม เพื่อที่จะบูชาคุณความดี และการให้นั้นต้องไม่ผูกพันด้วย

    ท่านอาจารย์ ก็คงไม่ลืม ให้เพื่อบูชาคุณความดี แต่ถ้าไม่มีคุณความดีจะเป็นการให้ด้วยการบูชาหรือเปล่า ก็เป็นเพียงการอนุเคราะห์ เหมือนอนุเคราะห์ผู้ที่ไม่มีเรือนทั้งหลาย

    อ.กุลวิไล และข้อสำคัญผู้ให้นั้นหวังอะไรด้วย เพราะว่าอกุศลเป็นอกุศล กุศลเป็นกุศล ขณะให้เป็นกุศล แต่ถ้ามีความหวังผลของกุศลขณะนั้นเป็นอกุศลธรรม

    ท่านอาจารย์ แล้วบางคนก็คิดว่า ถ้าให้คนที่เดือดร้อนกับให้ผู้ที่เป็นพระภิกษุเป็นเพศบรรพชิตอานิสงส์จะต่างกัน ก็เลยให้แต่เฉพาะผู้ที่เป็นบรรพชิตเป็นพระภิกษุสงฆ์ หวังอะไรหรือเปล่า หรือว่ามีปัญญาที่รู้ความจริงว่า ขณะที่ให้ ให้ด้วยความจริงใจ คืออนุเคราะห์เท่านั้น หรือว่าให้ด้วยการเคารพบูชาในคุณความดี แต่ต้องมีคุณความดี ไม่ใช่ไม่รู้ แล้วก็เข้าใจว่ามีคุณความดี

    อ.กุลวิไล เพราะฉะนั้น ชาวพุทธฟังพระธรรม ท่านอาจารย์ให้ความเข้าใจว่า จุดประสงค์ก็คือต้องรู้ความเป็นธรรมนั่นเอง เพราะว่าทรงแสดงว่าธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา และธรรมก็เป็นสิ่งที่มีจริงด้วย ถ้าไม่รู้ตามความเป็นจริง อกุศลจิตเกิด ก็ไม่รู้ว่าเป็นอกุศล ยังเข้าใจว่าอกุศลเป็นกุศลด้วย นั่นก็คือผู้ที่ไม่มีปัญญาที่จะเห็นถูกในธรรมตามความเป็นจริง และไม่สามารถที่จะละอวิชชาได้ เพราะว่ายังเป็นผู้ที่ไม่รู้ มีความเห็นผิด และยึดถือธรรมว่าเป็นเรา

    ผู้ฟัง ขออนุญาตถามเรื่องของศีล สักครู่ท่านอาจารย์กรุณาแสดงเรื่องของศีลต่างๆ ที่เป็นกุศลบ้าง อกุศลบ้าง อัพยากตบ้าง เรียนถามว่า บุคคลผู้ยังไม่ค่อยเข้าใจธรรมหรือว่าไม่เข้าใจเลย มีตัวเราที่ทำศีลหรือรักษาศีล ซึ่งกลับไปก็ควรที่จะเป็นคนมีศีล บางครั้งตัวเราก็มีความเป็นเช่นนั้น

    ท่านอาจารย์ ธรรมเป็นธรรม เปลี่ยนลักษณะของธรรมไม่ได้ ธรรมไม่มีเชื้อชาติ ไม่มีชื่อ แต่ว่าธรรมเป็นธรรม ที่มีชื่อต่างๆ สำหรับธรรมแต่ละอย่าง ก็เพราะเหตุว่า ธรรมหลากหลาย เพราะฉะนั้น ถ้าคนนั้นได้ฟังว่า ควรละความชั่ว แล้วก็มีความเลื่อมใส มีศรัทธา เห็นประโยชน์ ต้องเห็นประโยชน์ใช่ไหม จึงจะละได้ ไม่ใช่ว่าเขาบอกว่าละ แล้วเราก็ไม่รู้อะไรเลย เราก็ละ แล้วจริงๆ ละหรือเปล่าก็ไม่รู้ อย่างนั้นก็ไม่ใช่ แต่คนนั้นฟังแล้วต้องรู้ว่าสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ดี ก็เป็นความเข้าใจในขั้นหนึ่งว่า ควรละการฆ่าสัตว์ เบียดเบียนชีวิตคนอื่น หรือว่าถือเอาสิ่งของที่คนอื่นไม่ได้ให้ เพราะเห็นอยู่ว่าเป็นสิ่งที่ให้โทษ

    เพราะฉะนั้น เมื่อมีศรัทธาที่จะละเว้นก็ละเว้น ในขณะนั้นไม่ได้เลือกว่าเขาเป็นใคร ชาติศาสนาใดๆ ทั้งสิ้น แต่เป็นกุศลจิตที่เกิดขึ้นเป็นไปในขณะนั้นชั่วขณะ แล้วก็หมดไป แต่ไม่มีความเข้าใจอะไร


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 184
    12 ม.ค. 2567