พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 769


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๗๖๙

    ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๒๒ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๕


    ท่านอาจารย์ จิต จะเกิดขึ้นทีละ ๑ ขณะ แม้แต่จิตซึ่งเป็นธาตุรู้สภาพรู้เดี๋ยวนี้ เกิดแล้วดับก็ไม่มีใครรู้ แต่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงความจริงว่า ธาตุรู้ ซึ่งเป็นจิตเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งสิ่งที่กำลังปรากฏทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่สามารถจะเกิดพร้อมกันได้ ๒ ขณะ เพราะอะไร เพราะเหตุว่า จิต ๑ ขณะที่เกิดเป็น “อนันตรปัจจัย” หมายความว่า เมื่อจิตนี้ดับไปปราศไป หมดไป จึงเป็นปัจจัยให้จิตขณะอื่นเกิดสืบต่อได้ เพราะฉะนั้น จิตจะเกิดขึ้นพร้อมกัน ๒ ขณะไม่ได้เลย แต่เวลานี้ที่ปรากฏ เหมือนกับว่า ทั้งเห็นด้วย ได้ยินด้วย คิดด้วย จำด้วย ทุกสิ่งทุกอย่าง ก็แสดงว่าการเกิดดับของจิตเร็วแค่ไหน ประมาณไม่ได้เลย แล้วใครจะไปประจักษ์การเกิดขึ้น และดับไปของจิตแต่ละประเภท ไม่ใช่จิตเดียวกัน และไม่ใช่จิตขณะหลายๆ ขณะมาเกิดพร้อมกัน เพียงแต่ละ ๑ ขณะเกิดขึ้นแล้วดับไป แล้วไม่กลับมาอีก เริ่มเคารพในการศึกษาพระธรรม ที่จะรู้ว่า เป็นการที่ต้องตรงต่อการที่จะเข้าใจสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง แล้วก็พิสูจน์ คือไตร่ตรองด้วยตัวเองว่าเป็นความจริงไหม เมื่อเป็นความจริงก็เป็นการที่พระสัทธรรมจะค่อยๆ เจริญขึ้น ที่สามารถจะทำให้รู้แจ้งสภาพธรรมตามความเป็นจริง เพราะพระสัทธรรมไม่ได้อยู่ที่ไหนเลย อยู่ที่ปัญญาความเห็นถูก ความเข้าใจถูก และสภาพธรรมที่ต้องอาศัยกัน และกันเกิดขึ้น ซึ่งใช้คำว่า “เจตสิก” หมายความว่า เป็นนามธาตุที่เกิดกับจิต แต่ไม่ใช่จิต นี่ก็คือว่า แม้สิ่งที่มีจริงในขณะนี้ก็ไม่รู้

    เพราะฉะนั้น ศึกษาธรรมก็คือ เริ่มเข้าใจถูก แล้วก็จึงจะรู้ว่านี่เป็นคำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะฉะนั้น ความเคารพอย่างยิ่งก็คือว่า ต้องศึกษาด้วยความเข้าใจ ไม่ใช่ปฏิเวธก่อน และก็ปฏิบัติ และปริยัติ หรือไม่ใช่ปฏิบัติก่อน แล้วก็เป็นปริยัติ และเป็นปฏิเวธ เพราะเหตุว่า คำว่า “ปริยัติ” หมายความถึง ความรอบรู้ในสิ่งที่ได้ฟังด้วยการไตร่ตรอง ด้วยความเข้าใจที่มั่นคง ซึ่งจะเป็นปัจจัยให้เกิด “ปฏิปัตติ” ซึ่งภาษาไทยใช้คำว่า “ปฏิบัติ” ปฏิบัติ มาจากคำว่าปฏิปัตติในภาษาบาลี ปฏิ แปลว่า “เฉพาะ” ปัตติ แปลว่า “ถึง” ถ้ารวมแล้ว คือ “ถึงเฉพาะ” ถ้าคนที่ได้ฟังพระธรรมเลย ได้ยินคำว่าปฏิบัติ เข้าใจไหม ไม่เข้าใจ ก็เลยทำ เพราะเข้าใจว่า ปฏิบัติหมายความว่า ทำ แต่ว่าตามความเป็นจริง ขณะที่ฟังเข้าใจเรื่องราวของจิตที่กำลังเกิดดับ แต่ยังไม่ถึงเฉพาะลักษณะของจิตหลากหลายซึ่งต่างกันไป เพราะว่าจิตเห็น ไม่ใช่จิตได้ยิน ไม่ใช่จิตคิดนึก และยังมีจิตอีกมากมาย ซึ่งพระผู้มีพระภาคทรงประมวลสภาพธรรมซึ่งเกิดดับสืบต่อ นับประมาณไม่ได้ โดยสภาพของจิตว่ามีประเภทที่ต่างกันเป็น ๘๙ ประเภท หรือ ๑๒๑ โดยพิเศษ นี่ก็แสดงให้เห็นว่า เดี๋ยวนี้เป็นจิตอะไรสักหนึ่ง ก็ยังไม่รู้เลย แต่ถ้าได้ฟังพระธรรมก็จะค่อยๆ เข้าใจขึ้น

    ขั้นปริยติยังไม่ได้ถึงเฉพาะลักษณะที่เป็นจิต ซึ่งเป็นธาตุรู้ ซึ่งเกิดขึ้น และดับไป ซึ่งขณะนั้นเมื่อมีความเข้าใจ ไม่ใช่เพียงเรื่องราว แต่กำลังเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมหนึ่งสภาพธรรมใดที่ปรากฏโดยไม่เลือก ไม่มีตัวตนที่จะไปเจาะจง ขณะนั้นก็เริ่มถึงเฉพาะลักษณะ ขอยกตัวอย่าง ขณะนี้ “แข็ง” ปรากฏ กับอะไร ถ้าจิตไม่เกิดรู้แข็ง แข็งปรากฏได้ไหม ไม่ได้แข็งอย่างนี้ไม่มีการกระทบสัมผัส ไม่ปรากฏว่าแข็ง แต่เมื่อไหร่ที่จิตเกิดขึ้น แล้วก็รู้ลักษณะที่แข็ง ลักษณะที่แข็งจึงปรากฏ

    เพราะฉะนั้น แข็งนั้นปรากฏแล้วกับจิตที่กำลังรู้แข็ง แต่ไม่ใช่ปัญญา เห็นไหม ทุกคน รู้ แข็ง ไม่ต้องเรียกชื่อว่า แข็ง สัตว์เดรัจฉานรู้ไหม แข็งที่ตัว รู้ ไม่ต้องเรียกชื่อ เด็กๆ รู้ไหม ทุกชาติทุกภาษารู้ แต่ว่าไม่จำเป็นต้องใช้ภาษาหนึ่งภาษาใดเลยทั้งสิ้น นี่คือลักษณะของแข็งซึ่งใครเปลี่ยนแปลงไม่ได้ เป็นปรมัตถธรรม มีจริงเกิดแล้ว แต่ไม่รู้ความจริง

    เพราะเหตุว่า เพียงรู้ว่าแข็งเท่านั้นเอง แล้วก็ยังมีความยึดถือแข็งเลยว่าเป็นเราด้วย แขนเราบ้าง หรือส่วนหนึ่งส่วนใดของร่างกายของเรา นั่นคือความเข้าใจผิด แต่ผู้ที่ทรงตรัสรู้ แข็งเกิดเพราะเหตุปัจจัย แล้วดับไป แข็งมีอายุเท่ากับจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ แสดงว่าจิตมีอายุสั้นกว่า เพราะจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ แล้วแข็ง รูปๆ หนึ่งที่มีจริงจึงดับไป

    นี่คือการฟังพระธรรมให้เข้าใจเป็นปริยัติ ยังไม่ถึงปฏิปัตติ เพราะว่าปัญญาไม่ใช่ว่าคนอื่นจะมารู้มาบอกว่า มีปัญญาแค่นี้แล้วนะ หรืออะไรอย่างนั้น แต่ผู้ที่ฟังในขณะนี้เอง สามารถที่จะรู้ได้ด้วยตัวเองว่า มีความเข้าใจสิ่งที่ได้ยินได้ฟังมากน้อยแค่ไหน และถึงปฏิปัตติหรือยัง หรือเป็นเพียงปริยัติ

    เพราะฉะนั้น ปัญญาเท่านั้นที่จากปริยัติจะไปสู่ปฏิบัติ แต่ถ้าไม่มีปัญญา แล้วชื่อว่าปฏิบัติได้อย่างไร เพราะเหตุว่า ทั้งหมดของพระธรรมต้องเป็นเรื่องของปัญญา ที่เพิ่มความรู้ความเข้าใจยิ่งขึ้น จากขั้นปริยัติ คือ ขั้นฟัง ไม่เคลือบแคลงสงสัย ระลึกได้ เห็นใคร คุณอรรณพ เห็นจริงๆ จำได้จริงๆ เพราะฉะนั้น จำก็มีจริง ความคิดก็มีจริง แต่ไม่ใช่ขณะเดียวกัน เป็นแต่ขณะ ซึ่งเกิดดับสืบต่ออย่างรวดเร็ว

    นี่คือชีวิตประจำวัน เป็นธรรม เป็นโลก เป็นโลกะ แม้แต่คำว่าโลกที่ใช้กันอยู่ ถ้าไม่ศึกษาธรรมก็ไม่รู้จักโลกจริงๆ เลย ถามว่าโลกคืออะไร ก็ตอบไปคนละทางสองทาง แต่ทางที่ถูกต้องที่สุดจากการตรัสรู้ ก็ทรงแสดงความหมายของคำว่าโลก หรือโลกะ คือทุกคำที่ได้ยิน ให้เข้าใจความจริงของสิ่งนั้น

    เพราะฉะนั้น ปฏิปัตติต้องจากปริยัติ ไม่มีใครสามารถที่จะปฏิบัติโดยไม่มีความเข้าใจอะไรเลยแล้วหลงว่าเข้าใจ หรือหลงว่าจะรู้ความจริงของสิ่งที่ปรากฏ แต่ถ้าความเข้าใจไม่เป็นลำดับตั้งแต่ต้น จะเข้าใจได้อย่างไร แข็งเด็กก็รู้ คนก็รู้ กายวิญญาณ ใช้คำนี้ในภาษาบาลี แต่หมายความถึงขณะที่มีการรู้ลักษณะที่แข็งขณะใด สภาพรู้มีจริงๆ แข็งก็มีจริงๆ แต่สภาพรู้ไม่ใช่แข็ง และแข็งไม่ใช่สภาพรู้ ทั้ง ๒ เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป แล้วก็ไม่กลับมาอีก ขณะใดที่ฟังเข้าใจ เรื่องของแข็ง และรู้แข็ง รู้ว่ามีจริง กับขณะที่กำลังเข้าใจแข็งซึ่งกระทบตั้งแต่เช้า เมื่อวานนี้ วันนี้ เย็นนี้ ต่อไปอีก ค่อยๆ เข้าใจลักษณะที่มีจริงว่า เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏชั่วคราว นั่นคือปัญญาเริ่มที่จะเป็นพระสัทธรรม ที่จะทำให้ถึงการรู้แจ้งแล้วละความไม่รู้ และการยึดถือว่า แข็งเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด เพราะรวมสิ่งต่างๆ เช่น สี กลิ่น เป็นดอกกุหลาบ เป็นดอกมะลิ รูปร่างต่างกัน

    เพราะฉะนั้น ปฏิบัติธรรมไม่ใช่ว่า เราฟังแล้วจะปฏิบัติ แต่ว่ามีปัจจัยพอที่จะเป็นปฏิปัตติ คือถึงเฉพาะสิ่งนั้นด้วยความเข้าใจจากการที่ได้ฟัง แล้วยังต่อไปอีกจนกว่าจะถึงการละความติดข้อง และความไม่รู้ เพราะฉะนั้น ปัญญาก็เจริญขึ้นตามลำดับ

    อ.วิชัย แสดงว่าการที่ เมื่อมีปริยัติ คือความรอบรู้ในสิ่งที่ฟังด้วยความเข้าใจอย่างมั่นคง ก็เป็นปัจจัยให้เกิด ปฏิปัตติ คือการถึงเฉพาะในลักษณะของธรรม โดยที่มีปัญญาที่รู้ในลักษณะของธรรม ฟังท่านอาจารย์บรรยายเกี่ยวกับเรื่องของ วจีสัจจะ ญาณสัจจะ และมรรคสัจจะ ถ้ามีการที่กล่าวคำจริงที่เป็น วจีสัจจะ แล้วเมื่อฟังในสิ่งที่เป็นคำจริง เกิดความรู้ความเข้าใจเป็น ญาณสัจจะ คำว่า ญาณสัจจะ จนถึงความเป็น มรรคสัจจะ คือ มรรคสัจจะ ไม่ใช่เป็นปัญญาอย่างเดียวใช่ไหม แต่มีธรรมอื่นด้วยหรือเปล่าที่จะเป็น มรรคสัจจะ

    ท่านอาจารย์ สภาพธรรมไม่ได้เกิดเพียงอย่างเดียว แม้แต่ปัญญาก็จะต้องมีสภาพของเจตสิก ซึ่งเป็นนามธรรม ซึ่งเกิดกับจิตเป็นธรรมฝ่ายดีเกิดร่วมด้วย เพราะฉะนั้น เดี๋ยวนี้เราเข้าใจว่ากำลังเห็น แค่เห็น แต่เราไม่รู้ความจริงว่า เห็นนี้เกิดขึ้นเมื่อไหร่ต้องมีสภาพตามธรรมที่อาศัยกันเกิดขึ้นอีก ๗ อย่างเกิดร่วมด้วย ที่ใช้คำว่า “เจตสิกะ” ในภาษาบาลี แต่ภาษาไทยก็ใช้คำว่า “เจตสิก” เป็นธาตุรู้ แต่ไม่ใช่จิต เพราะจิตเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งสิ่งที่ปรากฏ เช่น เห็นขณะนี้ ไม่มีใครรู้ถึงเจตสิกที่เกิดพร้อมกับจิต และดับพร้อมกับจิต แต่ว่าเห็นขณะใดเกิดขึ้นต้องมี ผัสสเจตสิก เวทนาเจตสิก สัญญาเจตสิก เจตนาเจตสิก เอกัคคตาเจตสิก ชีวิตินทริยเจตสิก มนสิการเจตสิก ใครรู้ มีก็ไม่รู้ แต่พอฟัง เห็นความเป็นอนัตตา แม้จิตเห็นเดี๋ยวนี้ ซึ่งดูเป็นธรรมดา ก็ต้องอาศัยปัจจัยเกิดขึ้น จะมีเพียงแค่เจตสิก ๖ ก็ไม่ได้ ต้องครบทั้ง ๗ จึงจะเป็นปัจจัยให้จิตขณะนี้เกิดขึ้น ทำกิจช่วยเห็น แล้วดับ นี่คือ ไม่ใช่ใครทั้งสิ้น นี่คือธรรม

    เพราะฉะนั้น แม้แต่คำว่าธรรม ก็ต้องเข้าใจจริงๆ ละเอียดขึ้น ลึกซึ้งขึ้น จนกระทั่งสามารถที่จะเป็นปัญญาตามลำดับขั้น คือรู้ว่าสิ่งที่ได้ฟังเป็น วจีสัจจะ ผิดหรือเปล่า เห็น ขณะนี้เกิดแล้ว แต่ว่าไม่รู้ถึง ผัสสะ เวทนา สัญญา เจตนา เอกัคคตา ชีวิตินทริยะ มนสิการเจตสิก เลย แต่มี

    เพราะฉะนั้น การศึกษาประโยชน์คือว่า ให้สามารถพิจารณาความจริงซึ่งเป็นวจีสัจจะ เพื่อจะได้ถึง ญาณสัจจะ ความเข้าใจความจริงเป็นญาณสัจจะ ถ้าไม่มีความจริงความเข้าใจความจริงจะเป็นมรรคสัจจะไม่ได้ หนทางที่จะรู้ความจริงอย่างนี้จะต้องอาศัย อะไรบ้าง ที่กล่าวถึงวันนี้ก็คือ ๘ อย่างใช่ไหม

    อ.วิชัย หมายความว่า เมื่อมีความเข้าใจถูก ความรู้ถูก คือเป็นปัจจัยให้ความรู้ความเข้าใจที่จะรู้ในลักษณะของธรรม แต่พอถึงกาลของการที่จะกว่าปัญญาจะค่อยๆ รู้ในลักษณะ ก็เป็นสิ่งที่ยาวนานมาก เพราะฉะนั้น ความเข้าใจของบุคคลก็อาจจะคิดเหมือนกับว่า เป็นอย่างเร็ว แต่ว่าคงไม่ใช่อย่างนั้น

    ท่านอาจารย์ อันนี้เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดของการฟังพระธรรม เพราะการฟังพระธรรม ไม่ใช่เพื่อจะรู้อย่างนี้ทันที เป็นไปไม่ได้เลย แม้แต่เพียงฟังก็รู้แล้วว่ายังไม่รู้แน่ๆ ในสิ่งที่กำลังได้ยินได้ฟัง เพราะฉะนั้น ในครั้งพุทธกาล พระผู้มีพระภาคทรงแสดงพระธรรม ไม่มีสักคนที่ได้ไปเฝ้า ที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าจะไม่รู้อัธยาศัยที่แต่ละบุคคลสะสมมา แต่ทรงพระมหากรุณาแสดงพระธรรม เพราะเห็นประโยชน์ว่า ผู้ใดที่สะสมปัญญาที่สามารถที่จะรู้ความจริงที่ได้ฟัง มี รู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้ แต่ว่าผู้ใดที่ยังไม่ได้สะสมความเข้าใจถึงระดับนั้น ก็ยังสามารถที่จะเข้าใจ และภายหลังที่ได้ฟังมากๆ ก็สามารถที่จะรู้ความจริงถึงการรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้ และบุคคลอื่นๆ แม้ว่าฟังเข้าใจเพียงเล็กน้อย แต่ก็สะสมไป เป็นอุปนิสัยที่จะได้ยินได้ฟังแล้วเข้าใจขึ้น

    เพราะฉะนั้น เราเป็นใคร ใครรู้ดี นอกจากตัวเราว่า เข้าใจถึงระดับไหน แต่ว่าที่สำคัญที่สุด สะสมความเข้าใจถูก เพื่อความเข้าใจจะได้เข้าใจขึ้น เป็นผู้ตรงต่อธรรม ไม่ใช่ว่าด้วยความต้องการ ยังไม่เข้าใจเลยก็อยากจะรู้ไปปฏิบัติ ไปทำอะไรต่างๆ แต่เดี๋ยวนี้ แม้แต่กำลังเห็น ก็ไม่รู้ว่าเป็นธรรม เป็นสิ่งที่มีจริงแต่หนึ่ง ซึ่งละเอียดลึกซึ้ง เร็วมากเกิดดับสืบต่อ ยากที่จะรู้ได้

    เพราะฉะนั้น ก็เป็นสิ่งซึ่ง ฟัง แล้วก็วันนี้เข้าใจแค่ไหน ไม่ได้เสียประโยชน์เลย สะสม สืบต่อไปอีก สืบต่อไปอีก จนกว่าจะถึง กาล เหมือนอย่างพระอริยสาวกทั้งหลาย สาวกโพธิสัตว์ได้บำเพ็ญบารมีของสาวกโพธิสัตว์ที่จะรู้ความจริงโดยฐานะของความเป็นสาวก แต่ต้องสะสมความเห็นถูก และความเข้าใจจริงๆ

    ผู้ฟัง การที่จะรู้ความจริงที่เกิดขึ้นแต่ละอย่าง แต่ละหนึ่งในขั้นฟัง อันนี้สำคัญที่สุด แต่ทำอย่างไรที่จะเข้าใจว่า ในโลกนี้เกิดมาสั้นนิดเดียว แต่ทำอย่างไรให้เราไม่ติดกับเรื่องของกิเลส ความอยากได้ ความอยากมี ความอยากรู้ แต่สิ่งที่อยากได้จริงๆ คือ “ปัญญา”

    ท่านอาจารย์ เกิดมาแล้วต้องเป็นไป หรือว่าเกิดแล้วจะอยู่เฉยๆ ไม่เป็นไปได้ไหม ไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น เกิดมาแล้วทุกคนเป็นไปตามเหตุตามปัจจัยที่ได้สะสมมา ไม่ว่า จะพูด จะคิด จะทำจะสนุก จะทุกข์ ทั้งหมด ต้องมีเหตุที่จะทำให้เกิดขึ้นเป็นไปอย่างนั้น นี่คือธรรม เพราะฉะนั้น ถ้ามีความเข้าใจจริงๆ ในธรรมว่า ไม่ใช่เรา ที่จะไปบังคับบัญชา ไปขอร้อง หรือว่าไปวิงวอนให้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ก็เป็นไปไม่ได้ แต่ว่าสามารถที่จะเข้าใจสิ่งที่เกิดแล้วตามความเป็นจริงว่า เพียงปรากฏแล้วก็หมดไป

    เพราะฉะนั้น การฟังธรรมก็คงจะไม่สงสัยแล้วใช่ไหมว่า ทำไมผู้ที่ฟังแล้วจึงต้องฟังเป็นกัปป์ ท่านพระสารีบุตร ท่านก็ได้ฟังมา ๑ อสงไขยแสนกัปป์ กัปป์ไม่ใช่วัน ไม่ใช่เดือน ไม่ใช่ปี แต่ท่านก็เป็นพระโสดาบัน หลังจากที่ท่านได้บำเพ็ญพระบารมีแล้ว ๑ อสงไขยแสนกัปป์ตามเหตุตามปัจจัยที่จะเป็นอัครสาวกผู้เลิศในทางปัญญา ไม่มีใครมีปัญญาเสมอท่านในฐานะของสาวก แต่ปัญญาของท่านก็ยังไม่ถึงพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า

    เพราะฉะนั้น เราพอจะเข้าใจความหมายของคำว่า “ปัญญา” ไหม ความรู้จริงในสิ่งที่มีจริงโดยลึกซึ้งโดยประการทั้งปวง เพราะฉะนั้น ถ้ามีความเข้าใจว่า ทุกอย่างเป็นธรรม จะเดือดร้อนไหม ว่าเกิดแล้วเป็นอย่างนี้แล้ว แล้วก็จะต้องเกิดอีกต่อไปเรื่อยๆ ตามเหตุตามปัจจัย สามารถที่จะเข้าใจในความเป็นจริงของสิ่งที่มีจริง ก็จะไม่หวั่นไหว แล้วก็คลายความอยากหรือความต้องการที่จะเปลี่ยนแปลง ที่จะบังคับ แต่ว่าสามารถที่จะเข้าใจได้ ทุกอย่างเกิดชั่วคราวแล้วก็หมดไป ทุกคนจะอยู่ในโลกนี้ไม่นานเลย แล้วแต่ว่าเท่าไหร่ นานเท่าไหร่ อาจจะเป็นแค่เย็นนี้ พรุ่งนี้ก็ได้ แล้วก็สิ่งที่มีในชีวิตทั้งหมดเป็นของคนนั้นจริงๆ หรือเปล่า แม้แต่เพียงรูปร่างกายซึ่งเข้าใจว่าเป็นเรา เป็นตัวเรา เพียงไม่มีจิต เป็นยังไง เดินได้ไหม พูดได้ไหม ทำอะไรได้ไหม ก็ไม่ได้ใช่ไหม

    เพราะฉะนั้น ที่สำคัญที่สุดคือ ปัญญา ในบรรดาธรรมทั้งหมดซึ่งเกิดมีปัจจัยปรุงแต่ง ปัญญา เป็นเลิศ เพราะว่าทุกคนจะกลัวภัยอย่างอื่นทั้งนั้นเลย น้ำท่วม กลัวไหมภัยน้ำท่วม เตรียมพร้อมกันจ้าละหวั่น ไฟไหม้น่ากลัวมาก แต่ภัยเหล่านั้นไม่ได้เกิดขึ้นทุกวัน แล้วก็เวลาเกิดขึ้นแล้วก็ทำร้ายได้เพียงสิ่งที่สามารถที่จะเผาบ้างหรือทำลายบ้าง แต่ภัยจริงๆ คือ “อกุศล” ทำร้ายบุคคลนั้นตลอดเวลา โดยไม่รู้ตัวเลย

    เพราะฉะนั้น ถ้าจะพ้นภัยจริงๆ ก็คือปัญญาเกิดขึ้นขณะใด ไม่ว่ากำลังเผชิญกับศัตรู หรืออุบัติเหตุ หรือภัยอันตรายต่างๆ สามารถที่จะพ้นภัย คือ “กิเลส” เพราะมีความเข้าใจถูกต้องว่า ขณะนั้นเป็นธรรมซึ่งเกิดแล้วเพราะเหตุปัจจัย เพราะฉะนั้น ฟังดูก็ต้องแล้วแต่ว่า จะคิดว่า อย่างไหนมีประโยชน์เมื่อเกิดมาแล้ว ทรัพย์สินเงินทองมหาศาลมีประโยชน์ หรือว่าทรัพย์สินเงินทองมหาศาลก็ไม่ช่วยให้หายความกลัวภัย หรือความทุกข์ได้

    เพราะฉะนั้น ก็จะเห็นได้จริงๆ เกิดมาแล้ว ผู้ใดที่มีโอกาสได้ฟังพระธรรม เป็นลาภานุตริยะ เป็นลาภที่ประเสริฐยิ่งกว่าการได้ลาภใดๆ ทั้งสิ้น เพราะลาภอื่นๆ ก็ไม่ได้ติดตามไปถึงชาติหน้า แต่ว่าความเข้าใจธรรมที่สะสมมาก็จะทำให้เป็นผู้ที่มีโอกาสที่จะได้ฟังพระธรรมได้เข้าใจขึ้น จนกระทั่งสามารถที่จะอบรมเจริญปัญญา มีความมั่นคงว่า ทุกสิ่งทุกอย่างชั่วคราว เกิดมาก็ชั่วคราว ก็ต้องจากความเป็นบุคคลนี้ไป ไม่มีอะไรที่ยั่งยืน นั่นคือระยะยาว แต่ขณะนี้ก็ชั่วคราวอย่างเร็วมาก จากเห็น เป็นได้ยิน เป็นคิดนึก เป็นรัก เป็นชัง ต่างๆ แล้วอยู่ที่ไหนทั้งหมด หมดแล้วไม่กลับมาอีก

    ผู้ฟัง กุศล และปัญญา เหมือนกันไหม

    ท่านอาจารย์ กุศลมีหลายอย่าง อย่างทาน การให้ ไม่มีปัญญาเกิดร่วมด้วยก็ได้ แม้ศีล ซึ่งรักษาเว้นการทุจริตทางกาย วาจา เป็นศีล ๕ ศีล ๘ ก็ไม่วิสุทธิ ไม่บริสุทธิ์ เพราะเหตุว่า ไม่รอบรู้ในธรรม ก็ยังคงเป็นเรามีศีล เพราะฉะนั้น ธรรมทั้งหมดจะบริสุทธิ์ได้ด้วยปัญญา ถ้าไม่มีปัญญาก็ยังมีความเป็นตัวตน มีเยื่อใย ซึ่งถ้ามีเรา มีหรือที่จะไม่รักตัวเราอย่างยิ่ง ยิ่งกว่าสิ่งอื่นใด และไม่แสวงหาทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อตัวเรา ข้อความที่ตรัสไว้ก็น่าฟังถ้าจะพิจารณา ถึงร่างกายนี้มาจากไหน ตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า ใครทำ ใครให้มา เกิดขึ้นเพราะกรรมเป็นปัจจัย จึงได้ต่างๆ หลากหลายกันมากเลย อย่างที่ทรงแสดงไว้คร่าวๆ (อาสีวิสสูตรที่ ๑) พระราชาจับโจร แล้วก็มอบเครื่องประดับ แต่ความจริงคือ งูพิษ ๔ ตัว โจรคือผู้ที่ยังต้องเกิด

    เพราะฉะนั้น กรรมทำให้ต้องเกิด อกุศลธรรมทั้งหลายที่สะสมมาก็ยังไม่ได้ดับไป เพราะฉะนั้น เวลาที่มีงูที่ได้รับมา ก็เข้าใจว่าเป็นเครื่องประดับ ก็ชื่นชมทะนุบำรุงทุกอย่าง จริงหรือเปล่า ผลคืออะไร เดี๋ยวก็เจ็บไข้ได้ป่วย เดี๋ยวหิว เดี๋ยวทำร้ายอยู่ตลอดเวลา นี่คือเพียงคร่าวๆ แต่ว่าถ้าจะศึกษาพระสูตรแต่ละสูตรจริงๆ ในแต่ละคำ ก็จะได้ความละเอียดลึกซึ้ง และเห็นจริงว่า ไม่ได้แสดงเพียงเท่านี้ ยังแสดงสิ่งที่มีจริงโดยนัยหลากหลายอีกมาก เป็นโจรมีเครื่องที่เข้าใจว่ามีเครื่องประดับ มีชีวิตอยู่ก็ยังมีคนที่คอยฆ่าอยู่ตลอดเวลา โดยไม่รู้ตัวอีก ก็เป็นคำอุปมาให้เห็นชีวิตจริงๆ ว่า ถ้าเกิดมาแล้วไม่มีปัญญาก็หมดไป ชาติก่อนคุณโป๊ด เป็นใคร ทำอะไร จำไม่ได้เลยใช่ไหม ชาตินี้รู้ล่ะ เกิดมาแล้วเป็นอย่างนี้ ทำอย่างนี้ พอถึงชาติหน้า จำได้ไหม ไม่มีทางเลย

    เพราะฉะนั้น หลายคนก็อยากจะระลึกชาติ ชาติก่อนเป็นใคร รู้จักใครกันบ้างที่นี่ เคยผูกพันกันมาในสถานใด อยากจะรู้จริงๆ ถึงกับไปถามคนอื่น แล้วรู้ได้อย่างไรว่าเขารู้ ที่จะมาบอกเราว่าเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ก็ไปเชื่อซะแล้ว โดยความไม่รู้จริงๆ แต่ขณะนี้ คุณโป๊ดทราบดี ตั้งแต่เกิดมาทำอะไรบ้าง เพราะฉะนั้น ชาตินี้ก็จะเป็นชาติก่อนของชาติหน้า รู้ชัดเลย แต่พอถึงชาติหน้าก็ลืมเสียแล้ว เพราะอะไร ไม่กลับมาสู่ความเป็นบุคคลนี้อีกเลย


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 184
    12 ม.ค. 2567