พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 730


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๗๓๐

    ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๒๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๔


    ท่านอาจารย์ อาหารก็ยังอร่อย เสียงก็ยังเพราะ รูปก็ยังสวย ทุกอย่างก็ยังสนุก “จะละไปทำไม?” บางคนก็อาจจะคิดอย่างนี้ เพราะไม่เข้าใจเลยจริงๆ ทุกอย่างชั่วคราว เล็กน้อย สั้นเกินกว่าที่เราคิด เราคิดว่า ทุกอย่างประเดี๋ยวก็หมด ประเดี๋ยวก็หายไป ประเดี๋ยวก็ไป ประเดี๋ยวก็อย่างนั้น อย่างนี้ แต่ความจริงเร็วยิ่งกว่านั้นอีก แม้แต่เพียงขณะที่กำลังเห็น ไม่ต้องคอยกาลเวลาเลย เห็นเกิดแล้วดับ เพราะเป็นธรรม ซึ่งเกิดเพราะเหตุปัจจัย แล้วก็สืบเนื่องติดต่อจนปรากฏเหมือนกับว่า ยังมีเห็นอยู่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้น ความเข้าใจถูก ความเห็นถูกเท่านั้น ที่จะทำให้เริ่มที่จะละความไม่รู้ก่อน ไม่ใช่ไปละความติดข้อง

    ผู้ฟัง โดยมากก็เป็นสิ่งที่ปรากฏทางตา ที่ปรากฏทางหู ไม่ใช่ไปติดข้องหู ตา จมูก ลิ้น กาย ใจ แต่ไปติดข้องอารมณ์ที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ได้รับ

    ท่านอาจารย์ คุณหมอแน่ใจหรือ คุณหมอว่าไม่ได้พอใจตา หู จมูก ลิ้น กาย แต่พอใจในสิ่งที่เห็น ที่ได้ยิน ที่ได้กลิ่น ที่ลิ้มรส ที่กระทบสัมผัส ใช่ไหม แน่ใจหรือว่า คุณหมอไม่ได้ติดข้องในตา หู จมูก ลิ้น กาย วันนี้ตาของคุณหมอเป็นอย่างไรบ้าง เห็นชัดเจนดี ไม่ขุ่น ไม่เคือง แข็งแรง ไม่เมื่อย ไม่ล้า หรืออย่างไร ตาของใคร แล้วก็เป็นห่วงเป็นใยตาหรือเปล่า แค่ห่วงใยเป็นอย่างไร แสดงความติดข้องหรือเปล่า ไม่ใช่เราคิดง่ายๆ ว่า เราไม่ติดแล้ว เราไปติดในสิ่งที่ปรากฏให้เห็นต่างหาก แต่ความจริงติดทั้งหมด เว้นโลกุตตรธรรม แสดงให้เห็นว่า ไม่มีทางที่โลภะจะเข้าใกล้ ที่จะไปติดในโลกุตตรธรรมได้ เพราะไม่ใช่ปัญญา ติดในหูหรือเปล่า ติดในจมูกหรือเปล่า ตามความเป็นจริง ติดในกายด้วย เดือดร้อนใช่ไหม เดี๋ยวปวดตรงนั้น เดี๋ยวเจ็บตรงนี้

    ผู้ฟัง ขออนุญาตพูดถึงเรื่องกระเป๋า ก็มีความรู้สึกว่า อยากได้มากเลย ในขณะที่ความอยากได้มีกำลังขนาดนั้น มันไม่มี อย่างไร

    ท่านอาจารย์ เห็นกำลังของความติดข้องไหม

    ผู้ฟัง เห็น มากด้วย

    ท่านอาจารย์ แค่นั้นเอง มากกว่านั้นอีก น่ากลัวไหม แค่นั้นว่ามากแล้ว แต่ความจริงทีละเล็กทีละน้อย ทีละนิดทีละหน่อย รวมกันแล้วจะมากสักแค่ไหน เพราะฉะนั้น ชีวิตประจำวัน ถ้าเห็นโทษภัยของโลภะ ความติดข้อง ไม่ใช่สิ่งที่ปรากฏให้ติดข้อง เพราะเหตุว่า สิ่งที่ปรากฏดูน่าพอใจใช่ไหม สำหรับใคร สิ่งที่ปรากฏ ดอกไม้สวยมาก หรืออะไรที่อยากได้ก็ต้องสวยมาก ถูกใจมาก เป็นที่พอใจของใคร ของผู้ที่ยังมีกิเลส

    เพราะฉะนั้น กิเลสก็จะแสดงกำลังของกิเลสว่า มากน้อยแค่ไหนในสิ่งใด ซึ่งซับซ้อนมาก เช่น ที่อยากได้สิ่งนั้นเพราะอะไร เพื่อเราหรือเปล่า ใช่ไหม นี้ก็แสดงให้เห็นว่า แล้วเรานี้ เพื่อรูปของเราหรือเปล่า ความติดข้องในสิ่งที่เป็นรูปภายนอก จะนำมาซึ่งความพอใจ ติดข้องในรูปภายใน เพราะฉะนั้น ตั้งแต่ศีรษะจรดเท้าเป็นที่ตั้งของความยินดีอย่างยิ่ง แม้ว่าจะมีสิ่งที่ปรากฏเป็นภายนอก น่าพอใจสักเท่าไหร่ เพื่ออะไร เอามาทำอะไร และเมื่อไหร่ ถ้าไม่ใช่เพื่อร่างนี้ที่ยึดถือว่าเป็นเรา

    เพราะฉะนั้น ความติดข้องในสิ่งภายนอกมาก เพื่ออะไร เห็นความเหนียวแน่นของการติดข้องในรูปภายในซึ่งเป็นเราหรือเปล่า ด้วยเหตุนี้ ความซับซ้อนของแม้สิ่งที่ปรากฏ คือ ความยินดีพอใจ เป็นไปไม่ใช่แต่เฉพาะในเรื่องรูปอย่างเดียว รูปปรากฏ รูปไม่รู้อะไรเลย ใครจะรัก ใครจะชัง ใครจะติดข้องต้องการ ไม่รู้อะไรเลยทั้งสิ้น แม้แต่จะทำร้ายรูป ทุบตีอย่างไร รูปก็ไม่รู้สึก แต่ว่า รูปนั้นเป็นที่ตั้งของความยินดี ติดข้อง ของผู้ที่ยังมีความยินดีในรูป ไม่ว่าจะภายนอกหรือภายใน

    เพราะฉะนั้น ต้องการรูปภายนอกเพื่อความติดข้องในรูปภายใน จะได้เป็นความรู้สึกที่เป็นสุข เห็นไหม ยังมีความติดข้องอีก ไม่ใช่เอามาเปล่าๆ เอามาประดับตรงนั้น ตรงนี้ แต่เพื่อความรู้สึกที่ปีติ แช่มชื่น พอใจในสิ่งนั้น นี่แสดงให้เห็นว่า จากรูปก็มาเป็นความติดข้องในความรู้สึก เพราะเหตุว่า ความรู้สึกนี้เป็นใหญ่ มีความรู้สึกที่เฉยๆ “อทุกขมสุข” มีความรู้สึกที่เป็นทุกข์ ไม่มีใครชอบ มีความรู้สึกโทมนัส เสียใจ ไม่มีใครชอบ แต่จะมีความพอใจยินดีที่เป็นโสมนัส และความสุขทางกาย

    ถ้าไม่มีความรู้สึกเลย จะเดือดร้อนไหม ก็ไม่เดือดร้อน แต่ห้ามไม่ได้เลย อย่างไรก็เป็นธรรมอย่าง ๑ ซึ่งต้องเกิดกับจิตทุกขณะ และเป็นที่ตั้งของความยึดถือด้วย คือ ต้องการความสุขเท่านั้น หรือโสมนัส หรือถ้าไม่สุขโสมนัสก็เพียงไม่ทุกข์ ไม่สุข ก็ยังดี นี้ก็แสดงให้เห็นว่า ความติดข้องของเรานับประมาณไม่ได้เลย ที่ใช้คำว่า ในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ในรูป ในเวทนา ในสัญญา ในสังขาร ในวิญญาณ ประมาณไม่ได้เลย

    เพราะฉะนั้น ความเข้าใจเท่านั้นที่เริ่มจะเข้าใจทีละเล็กทีละน้อย แล้วก็ตามลำดับด้วย คือ ใครคิดที่จะไปละโลภะ สำเร็จไหม ไม่มีทาง เพราะไม่มีปัญญาถึงระดับขั้นที่จะละได้ เพราะฉะนั้น ปัญญาเท่านั้นที่รู้ความจริง ที่จะทำให้สามารถค่อยๆ ละคลายอกุศลทั้งหลายได้ ด้วยปัญญาที่รู้จริงๆ ว่า ธรรมเป็นธรรม ไม่ว่าจะเป็นธรรมประการใดซึ่งเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย อย่างความรู้สึกที่กล่าวถึงเมื่อสักครู่นี้ ถ้ามีกำลังของปัญญาสามารถที่จะรู้ว่า ขณะนั้นเป็นธรรม เพราะว่า ความจริงก็เป็นธรรมทุกอย่าง

    ผู้ฟัง เรียนถามว่า ที่ว่า เห็นกายในกาย กายอันแรกคืออะไร และในกายคำที่ ๒ คืออะไร

    อ.ธิดารัตน์ ความหมายของกาย หมายถึง “ที่ประชุม” ของธรรมนั้นเอง เวลาที่สติระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่เคยยึดถือว่า เป็นกาย ก็คือ ธรรมที่ประชุมกันที่กายว่า เป็นธรรม ก็ละความติดข้องที่เคยยึดถือธรรมที่ประชุมกันว่า เป็นกาย เช่น เย็นร้อน อ่อนแข็ง หรือว่าสภาพที่ปรากฏที่กาย ที่เราเคยยึดถือว่า เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด เป็นตัวของเรา หรือว่าเป็นกายของเรา

    แต่ในขณะที่สติระลึก ละความติดข้องที่เคยยึดถือว่า เป็นกาย ถึงได้ใช้คำว่า “เห็นกายในกาย” คือการรู้ว่า สภาพธรรมนั้นเป็นธรรม โดยละการยึดถือว่า เป็นกาย กายก็จะมีที่ประชุมทั้งภายใน และภายนอก กายภายใน กายภายนอก โดยนัยของที่ประชุมกัน ที่ตัวเรากับธรรมที่ประชุมกันที่ภายนอก คือ คนอื่น ถ้าอายตนะภายในกับภายนอก จักขุปสาทเป็นอายตนะภายใน ไม่ว่าจะเป็นจักขุปสาทของเราหรือว่าจักขุปสาทของคนอื่น ก็เป็นภายในเหมือนกัน ถ้าโดย “อายตนะ” หมายถึงสภาพธรรมที่ประชุมกัน ขณะที่ประชุมกันจึงเป็นอายตนะ ขณะที่มีการเห็น จักขุปสาทประชุม เป็นที่ประชุมโดยการเป็นที่เกิดของจิตเห็น โดยความเป็นทวาร จักขุปสาทเป็นจักขายตนะ จิตเห็นเป็นมนายตนะในขณะที่มีการเห็น แล้วก็มีเจตสิกซึ่งเป็นธรรมายตนะ มีรูป ที่มาประชุมด้วยเพราะต้องมีสี รูปารมณ์ เวลาที่เป็นอายตนะ คือ สภาพธรรมนั้นยังมีอยู่

    เพราะฉะนั้น ขณะที่มีการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม ก็คือ สภาพธรรมนั้นมีอยู่ อย่างเช่น เวลาที่รู้ลักษณะของรูป รูปนั้น คือ ยังมีอยู่ แล้วก็สืบต่อทางมโนทวารทั้งรูปที่ดับไปด้วย เพราะว่า การรู้ลักษณะของรูปธรรม ไม่ได้รู้แค่เพียงวาระเดียวหรือขณะเดียว

    ผู้ฟัง หมายความว่า สติจะต้องรู้

    อ.ธิดารัตน์ คือสภาพธรรมที่ปรากฏ

    ผู้ฟัง ขณะนั้น

    อ.ธิดารัตน์ เกิดแล้วปรากฏ แล้วก็มีลักษณะอยู่

    ผู้ฟัง เป็นสภาพธรรมที่ปรากฏ แต่ว่าหมายความว่า พร้อมกันหรือเปล่า

    อ.ธิดารัตน์ เวลาที่เป็นอารมณ์ของสติปัฏฐานต้องทีละอย่าง อย่างเช่น สีหรือสิ่งที่ปรากฏทางตา ขณะนั้นสติระลึกลักษณะของสิ่งที่ปรากฏทางตา สิ่งที่ปรากฏทางตายังมีอยู่ แล้วก็สืบต่อทางมโนทวารด้วย คือยังเป็นลักษณะของสิ่งที่ปรากฏทางตาอยู่ คือ เป็นสิ่งที่ปรากฏทางตาที่ไม่ใช่สัตว์ บุคคล เป็นสภาพธรรมที่เพียงปรากฏ โดยความเป็นรูปธรรม

    ผู้ฟัง แต่ขณะนั้นแวบเดียวก็ไปถึงทางมโนทวารแล้วใช่ไหม

    อ.ธิดารัตน์ คือไม่ต้องคิดเลย เวลาที่สติระลึก มีสภาพธรรมนั้นที่ปรากฏ แม้เพียงที่ว่า เป็นช่วงสั้นมาก นิดเดียว หรือว่าเพียงแค่ลัดนิ้วมือเดียว จิตเกิดดับแสนโกฏิขณะ เพราะฉะนั้น แค่เพียงสภาพธรรมที่ปรากฏลักษณะ มีทั้งทางปัญจทวาร คือ สภาพธรรมที่ยังมีอยู่ และสืบต่อทางมโนทวารด้วย ไม่ใช่แค่วาระเดียว แม้เราจะเข้าใจแค่ว่า สติระลึกนิดเดียว แต่ผ่านไปหลากหลายวิถี แต่ทุกวิถียังมีสภาพธรรมที่ปรากฏ และเป็นมหากุศลญาณสัมปยุตต์ ที่รู้ลักษณะของธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริง เพราะว่า สติระลึก ปัญญายังไม่สามารถจะรู้ได้ว่า มีทวารที่ต่างกันอย่างไร

    เพราะฉะนั้น ปัญญาขั้นสติปัฏฐานกับนามรูปปริจเฉทญาณจึงไม่เหมือนกัน การที่จะรู้ว่า ปัญจทวารวิถีที่มีสลับกับมโนทวารวิถี อย่างชัดเจนอย่างไร ต้องเป็นวิปัสสนาญาณ เพราะขณะนั้น ปัญญามีกำลังมากกว่า แล้วก็มีสภาพธรรมที่ปรากฏมากกว่า ต้องกราบเรียนท่านอาจารย์เพิ่มเติม

    ท่านอาจารย์ การศึกษาธรรมต้องไม่ลืมว่า เป็นเรื่องละเอียด และเพื่อเข้าใจจริงๆ เพราะฉะนั้น ไม่ว่า จะได้ยินหรือว่าอ่านพบข้อความที่เข้าใจว่า เป็นธรรม ก็ต้องเป็นการไตร่ตรอง เพราะฉะนั้น ถ้าพูดถึงเรื่อง “เห็นกายในกาย” ก่อนอื่นทั้งหมดก็คือว่า กายคืออะไร กายมีจริงหรือเปล่า และกายอยู่ที่ไหน ไม่อย่างนั้นเราก็จะพูดถึงสิ่งที่เราไม่รู้จักเลย เพราะฉะนั้น คำถามแรก กายมีจริงไหม

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ มี แล้วจะอยู่ที่ไหน หาได้อย่างไร จะไปพบกายที่ไหน มีหน่ะมี แต่อยู่ที่ไหน

    ผู้ฟัง อันนี้ต้องแยกเป็นว่า เป็นรูปภายนอกหรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ ไม่เลย ไม่เลย เมื่อพูดถึงสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่มีจริงๆ สิ่งนั้นอยู่ที่ไหนจึงชื่อว่ามีจริง ที่สามารถที่จะรู้จักหรือว่าพบได้ ไม่ใช่กล่าวลอยๆ และหาตัวไม่เจอ อยู่ที่ไหนก็ไม่รู้ แต่ว่าคำถามแรกคือ กายมีไหม มีแต่ยังไม่รู้จักใช่ไหม

    ผู้ฟัง ก็คงจะยังไม่รู้จัก เพราะฉะนั้น ก็ต้องขอความกรุณาท่านอาจารย์

    ท่านอาจารย์ ไม่รู้จักสิ่งที่มี จึงฟัง เพื่อที่จะได้เข้าใจถูกในสิ่งที่มี เพราะฉะนั้น ต้องไตร่ตรอง กายมีแน่นอน กายอยู่ที่ไหน คุณจรีอยู่ตรงนี้ กายอยู่ที่อื่นหรือเปล่า

    ผู้ฟัง อยู่ตรงนี้

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ก็อยู่ที่แต่ละบุคคล ที่มีรูปที่ประชุมรวมกัน คือ กายะ ประชุมรวมกัน แต่เป็นรูปธาตุ ถ้ากล่าวถึงกายหรือกายะ ที่ใช้นามกายก็มี รูปกายก็มี แต่ถ้าพูดถึงที่เคยยึดถือว่า เป็นกาย ร่างกายนี้มี เพราะไม่รู้ ก็ ("ก็" เกินมา นาทีที่ ๓๖) จึงไม่สามารถที่จะเข้าใจได้ว่า ไม่ใช่เรา และกายที่ว่ามี มีเมื่อไหร่ มีแล้ว มีแน่ๆ จริงด้วย อยู่ตรงนี้ แต่มีเมื่อไหร่ เห็นไหม กว่าจะเข้าถึงธรรมจริงๆ ก็ต้องรู้ว่า การศึกษาธรรมเพื่อเข้าใจจริงๆ

    เพราะฉะนั้น กายมีอยู่ตรงนี้แหละ แล้วก็มีเมื่อไหร่ มีเมื่อปรากฏ ถ้าไม่ปรากฏจะมีไหม มีได้อย่างไรถ้าไม่ปรากฏว่ามี เพราะฉะนั้น ที่ว่ามีกายก็เมื่อกายปรากฏ ที่เคยเป็นกายของเรา สิ่งที่ปรากฏนี้มี เพราะฉะนั้น สิ่งที่ปรากฏที่กาย ไม่ใช่สภาพรู้ เพราะฉะนั้น จึงใช้คำว่า การประชุมกันของรูป มากมายหลายรูป ละเอียดยิบซึ่งมีอากาศธาตุแทรกคั่นอยู่ เห็นกายในกายเป็นความเข้าใจถูกต้องในกาย ไม่ใช่ไปเห็นที่ว่า ขณะนี้กำลังยืน กำลังนั่ง กำลังเดิน เห็นด้วยตาแล้วก็คิดไปตามนิมิตที่ปรากฏ แต่หมายความว่า เป็นความเห็นถูก ความเข้าใจถูกในสิ่งที่มี ซึ่งเคยยึดถือว่า เป็นกาย เป็นของเรา และก็รู้ตามความเป็นจริงว่า กายเป็นกาย นั้นจึงชื่อว่า ไม่ใช่เรา แต่ว่าเห็นด้วยปัญญาว่า กายเป็นกาย คือ เป็นธาตุหรือเป็นรูปธรรมซึ่งไม่ใช่สภาพรู้ เมื่อปรากฏจึงจะรู้ว่า นั่นเป็นกายหรือเป็นธรรม ซึ่งประชุมรวมกันเป็นกาย ขณะนี้กายปรากฏหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ที่ยืนอยู่นี้ ตอนนี้มันแข็งที่ตรงเท้า

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ที่เคยเข้าใจว่า เป็นร่างกายของเราตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า รูปที่มีจริงรูป ๑ ที่ปรากฏก็คือ แข็ง เคยเป็นกายของเราที่แข็งใช่ไหม ก็ยังเป็นเรา

    ผู้ฟัง ที่สติรู้

    ท่านอาจารย์ เป็นเราคิด เป็นเราเข้าใจ เป็นเราคลาย หรือว่าเป็นปัญญาที่เห็นถูกต้อง ตามความเป็นจริงของสภาพนั้นๆ ที่กำลังปรากฏให้รู้ว่า สิ่งที่มีจริงที่กาย คือ แข็ง ถูกต้องไหม หรือกายใครไม่แข็ง

    ผู้ฟัง มันมีอ่อนด้วย

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง มีแข็งกับอ่อนๆ ก็คือแข็งน้อยใช่ไหม เพราะฉะนั้น ขณะนี้ที่ว่า เป็นเรา คือ รูปๆ ๑ ที่ปรากฏลักษณะที่แข็ง เข้าใจอย่างนี้หรือเปล่าว่า ที่เคยเป็นของเรา คือ กายของเรา มีความเห็นกายตามความเป็นจริงว่า กายเป็นกาย ไม่ใช่ของใคร ไม่ใช่ของเรา เพราะเหตุว่า เป็นธรรมที่มีลักษณะอย่าง ๑ มีจริงๆ คือ แข็ง เมื่อแข็งปรากฏด้วย ไม่ใช่ไปจำไว้ตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้าว่า กายของเรายังอยู่ แต่ว่าต้องรู้จริงๆ ในขณะที่สภาพธรรมนั้นปรากฏ จึงจะรู้ว่า ไม่ใช่เรา และไม่ใช่ของใคร เพราะเป็นเพียงแข็ง

    มีท่านผู้ฟังรายการธรรมท่านหนึ่ง ท่านก็อ่านหนังสือปรมัตธรรมสังเขปเป็นหน้าๆ ที่ท่านอยากจะอ่าน คือ ท่านไม่อ่านตั้งแต่ต้น แล้วจะหายความสงสัยไหมว่า หน้าที่ ๑๐๐ กับหน้าต้นๆ เขาว่าอย่างไร แล้วก็จะไปคิดว่า พอเปิดหน้าที่ ๑๐๐ ก็สามารถที่จะเข้าใจได้ โดยไม่มีพื้นฐานว่า หน้าที่ ๑ พูดเรื่องอะไร พูดเรื่องที่กำลังมีอยู่ในหน้าที่ ๑๐๐ ใช่ไหม แต่ว่า ไม่เข้าใจตั้งแต่หน้าแรก

    เพราะฉะนั้น จะไปเข้าใจข้อความในหน้าที่ ๑๐๐ ได้อย่างไร เพราะฉะนั้น เช่นเดียวกัน เรายังไม่รู้จักธรรมในขณะนี้ แต่เราไปพบคำว่า กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน หรือได้ยินคำว่า สติ เหมือนรู้แล้วไม่ต้องเริ่มต้น แต่ความจริงไม่ถูกต้องเลย

    เพราะเหตุว่า เราไม่สามารถที่จะคิดธรรมด้วยสติปัญญาของเราเองได้ เพราะเหตุว่า ธรรมลึกซึ้ง ที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ ด้วยการบำเพ็ญพระบารมีที่ทุกคนทราบดี นานเท่าไหร่ ๔ อสงไขยแสนกัปป์ แต่ละคำที่เราได้ยินมาจากพระบารมีที่ได้ตรัสรู้ แล้วเราจะคิดว่า เราไม่ต้องรู้ธรรมตั้งแต่เบื้องต้น พอได้ยินคำไหนก็ขอเข้าใจคำนั้น เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้

    เพราะฉะนั้น ที่ขาดไม่ได้ก็คือว่า ต้องเป็นผู้ที่ละเอียด ที่จะต้องเข้าใจว่า ธรรมคืออะไร คือสิ่งที่มีจริง สิ่งที่มีจริงที่ไม่รู้อะไรก็มี และที่รู้ก็มี เพราะฉะนั้น ธรรมหลากหลายมาก เพราะฉะนั้น ที่กายที่เข้าใจว่า เป็นเรา ถ้าไม่มีธรรมใดๆ ปรากฏเลยจะบอกได้ไหม ว่าเป็นธรรม แต่เมื่อธรรมใดปรากฏ ลักษณะของธรรมนั้นจะเป็นของใคร ในเมื่อเพียงแข็ง เกิดเป็นแข็งแล้วก็ดับไป เกิดดับอยู่ตลอดเวลา

    เพราะฉะนั้น การศึกษาธรรมแม้แต่คำว่า “เห็นกายในกาย” ต้องเป็นปัญญาซึ่งมีความเห็นถูกในกายตามความเป็นจริงว่า ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่ตัวตน เป็นแต่เพียงกาย คือ รูปที่ประชุมรวมกัน ไม่ใช่สภาพรู้ ถ้ามีความเข้าใจ เห็นกายในกาย เป็นปกติไหม เดี๋ยวนี้เองที่กาย แข็งปรากฏ ความเข้าใจคือ ขณะนั้นรู้ว่า เป็นธรรม สิ่งที่มีจริงอย่าง ๑ ไม่ต้องใช้คำว่า สติปัฏฐาน ไม่ต้องใช้คำว่า กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน แต่เมื่อกายมี และขณะนั้นมีลักษณะที่กำลังปรากฏ เช่น แข็ง กำลังรู้ลักษณะของแข็งที่กำลังปรากฏตามปกติ เพราะว่า ขณะนี้ถึงแม้จะพูดคำว่า แข็ง ก็ไม่มีการรู้ตรงแข็งก็ได้ตามเหตุตามปัจจัย หรือว่าขณะนี้จะมีการรู้สภาพที่แข็ง ที่เคยเข้าใจว่า เป็นเราก็คือแข็ง และมีความเข้าใจว่า แข็งนั้นเป็นธรรม ก็เป็นปกติธรรมดา แต่ว่าบ่อยๆ จนกระทั่งไม่สงสัยในลักษณะของธรรมที่ปรากฏที่กาย ว่าก็คืออย่างนี้ เป็นธรรม ที่ไม่เคยรู้มาก่อน และก็ไม่เคยคิดจะรู้ด้วย

    เพราะคิดว่า ต้องไปทำอะไรอย่างอื่น จึงสามารถที่จะไปเข้าใจคำว่า กายในกาย หรือกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน แต่ที่คิดว่า จะไปทำอย่างอื่นแล้วจะเข้าใจ เป็นไปไม่ได้เลย เพราะอะไร เดี๋ยวนี้แข็งมี แข็งปรากฏ เข้าใจแข็งที่กำลังปรากฏหรือเปล่าว่า เป็นธรรม เพราะทั้งหมดนี้ก็คือ ความเข้าใจถูกว่า เป็นธรรม ถ้ามิฉะนั้นแล้วก็ไม่ใช่ปัญญา

    อ.กุลวิไล พระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสดงเอาไว้ถึง ๔ หมวดด้วยกัน ซึ่งก็ไม่พ้นกาย เวทนา จิต ธรรม ถ้าเราไม่รู้จักลักษณะธรรมที่เป็นจริง เราก็จะยึดถือเหล่านี้ว่า เป็นเรา เพราะไม่ว่าจะเป็นกายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต หรือธรรมในธรรม ก็ล้วนแต่เป็นสิ่งที่มีจริงนั้น

    ท่านอาจารย์ เดี๋ยวนี้ด้วย เพราะฉะนั้น ถ้ารู้เดี๋ยวนี้ คือ ไม่พ้นจากความจริงอย่างหนึ่งอย่างใด ซึ่งไม่จำเป็นต้องใช้คำว่า ธัมมานุปัสสนา เห็นธรรมในธรรม หรือเวทนานุปัสสนา เพราะว่า มีความเข้าใจในสภาพที่กำลังปรากฏนั้นว่าเป็นอย่างไร

    ผู้ฟัง อ่านในพระไตรปิฎกแล้วสงสัย อยากจะเรียนถามเพื่อประโยชน์ในการขัดเกลาตัวเองในชีวิตประจำวัน ตอนที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนพระราหุลบอกว่า “ราหุลเธออย่าพูดไม่จริงเพียงเพื่อหัวเราะกันเล่น” ช่วยกรุณาขยายความ

    อ.คำปั่น ก็เป็นประโยชน์จากการได้ยินได้ฟังพระธรรม เพราะเหตุว่า ถ้าหากว่า ไม่มีการฟังพระธรรมเลย ก็จะไม่สามารถเข้าใจได้ว่า ขณะนี้เป็นธรรม และทุกๆ ขณะก็เป็นธรรมด้วย แล้วก็จะเห็นได้ว่า พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดง ไม่ว่าจะเป็นส่วนใด พยัญชนะใด คำใด ก็เป็นไปเพื่อประโยชน์ คือ ความเข้าใจถูกเห็นถูกทั้งนั้นเลย แม้แต่ในข้อความธรรมที่ท่านผู้ร่วมสนทนาได้ยกขึ้นมา ก็คือ เป็นพระดำรัสที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสกับท่านพระราหุลในเรื่องของการพูด เพราะว่า การกล่าวเพียงเพื่อต้องการจะให้เกิดการหัวเราะกันเล่น ก็ไม่สมควร

    เพราะเหตุว่า อกุศลธรรมที่เกิดขึ้นเป็นไป แม้ว่าจะเล็กน้อยเพียงใดก็ตาม ก็เป็นโทษ เป็นภัย เป็นการสะสมไว้ในจิต ซึ่งเมื่อสะสมมากขึ้นๆ แล้ว ก็จะมีการล่วงเป็นทุจริตกรรมประการต่างๆ เป็นการเพิ่มเหตุที่ไม่ดีให้กับตนเอง เพราะฉะนั้น ถ้าหากว่า ไม่มีการขัดเกลาในเรื่องของการพูดในสิ่งที่เป็นประโยชน์ ให้เป็นอุปนิสัยในชีวิตประจำวัน ก็จะไม่สามารถที่จะละกิเลสใดๆ ได้เลย และประการที่สำคัญ การที่จะขัดเกลากิเลสได้นั้น ก็จะต้องเป็นผู้ที่มีความเข้าใจถูก เห็นถูกด้วยว่า แม้อกุศลที่เกิดขึ้นก็เป็นธรรม


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 184
    12 ม.ค. 2567