พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 770


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๗๗๐

    ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๒๒ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๕


    ท่านอาจารย์ ชาตินี้ก็จะเป็นชาติก่อนของชาติหน้า รู้ชัดเลย แต่พอถึงชาติหน้าก็ลืมเสียแล้ว เพราะอะไร ไม่กลับมาสู่ความเป็นบุคคลนี้อีกเลย ทันทีที่จิตขณะสุดท้ายเกิด จิตทุกขณะทำกิจของจิตนั้นๆ เพราะฉะนั้น จิตขณะสุดท้ายก็ทำกิจเคลื่อนพ้นสภาพความเป็นบุคคลนี้ จะกลับมาเป็นคนนี้อีกไม่ได้เลย จะซื้อด้วยเงินทองมหาศาลก็ไม่ได้ จะอ้อนวอนขอร้องสักครึ่งวินาทีก็เป็นไปไม่ได้ เพราะว่าจิตนี้เกิดแล้วทันทีที่ดับก็สิ้นสภาพความเป็นบุคคลนี้ แต่กรรมที่ได้กระทำแล้ว และอกุศล และปัญญา ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นในชาตินี้ ไม่ได้สูญหาย ยังเป็นปัจจัยที่จะทำให้ขณะต่อไปเกิดขึ้น เป็นคนอื่น ไม่ใช่คนนี้

    เพราะฉะนั้น พระอรหันต์ท่านกล่าวว่า ท่านไม่เลี้ยงบุคคลอื่นอีก เพราะว่า ไม่มีการเกิดอีกที่จะเป็นคนอื่น แต่สำหรับทุกคนที่นี่ เป็นคนนี้ยังไม่รู้จักคนอื่น แต่ก็จะเป็นคนอื่นทันที ที่จิตขณะสุดท้ายเกิดแล้วก็ดับไป แล้วทุกสิ่งทุกอย่างที่สะสมมาไม่ได้สูญหายเลย ก็เป็นเครื่องประกอบเป็นปัจจัยที่จะทำให้ แม้รูปที่เกิดขึ้นก็ต่างกัน ตา หู จมูก ลิ้น กาย เป็นแต่ละคนที่จำได้ว่า คนนี้ไม่ใช่คนนั้น ยิ่งถ้าเป็นสัตว์เดรัจฉาน เป็นผีเสื้อ ปีกของผีเสื้อก็หลากหลายกันไป งูก็หลายชนิด ทุกสิ่งทุกอย่างก็เป็นไปตามกรรมที่ได้สะสม ใครทำให้ เป็นธรรมทั้งหมด คือให้มีความเข้าใจจริงๆ ว่าเป็นธรรม จึงจะชื่อว่าอาศัยพระผู้มีพระภาคเป็นที่พึ่ง อาศัยพระธรรม อาศัยพระสงฆ์ คือ พระอริยสงฆ์เป็นที่พึ่ง มิฉะนั้นแล้ว แม้พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ ทรงแสดงพระธรรมก็ไม่ได้รับอะไรที่เป็นประโยชน์จากพระองค์

    ผู้ฟัง เวลาที่วิบากของอกุศลเกิดขึ้น รู้สึกเร่าร้อนจิตใจเหลือเกิน

    ท่านอาจารย์ จริงๆ แล้ว วิบากชั่วขณะ ส่วนความเร่าร้อนนั้นเป็นอกุศล

    ผู้ฟัง แล้วก็ดับไป สักประเดี๋ยวก็อาจจะมีดีใจ ทำไมเป็นเรื่องของการสลับกันไปสลับกันมาอย่างนี้

    ท่านอาจารย์ บังคับได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ไม่ได้เลย เพราะเป็นธรรม เป็นอนัตตา เป็นสิ่งที่เกิดแล้วตามเหตุตามปัจจัย

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้น สิ่งไหนที่ไม่ดี เราก็เลือกไม่ทำ

    ท่านอาจารย์ แน่ใจหรือว่าทำได้

    ผู้ฟัง ก็พยายามให้ดีที่สุด

    ท่านอาจารย์ พยายามเป็นเรา หรือว่าเป็นธรรม

    ผู้ฟัง ธรรม

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ลืมแล้วใช่ไหม เราจะทำให้ดีที่สุด แต่ถ้าไม่มีความเข้าใจธรรม จะได้หรือ เพราะว่าเป็นความเข้าใจต่างหาก ที่เห็นโทษของอกุศล ด้วยเหตุนี้ ถ้าไม่ได้มีความเข้าใจที่มั่นคง ว่าสิ่งที่มีจริง ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา ไม่ใช่สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เที่ยง แต่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยชั่วคราว สั้นมากแล้วก็หมดไป ถ้ามีความเข้าใจอย่างนี้ จะคลายความยึดถือ แล้วก็ศึกษาธรรมเข้าใจเพิ่มขึ้น

    ผู้ฟัง อีกคำถามว่า ถ้าสามารถที่จะดับขันธ์ ๕ ได้แล้ว จะเป็นอะไรต่อไป

    ท่านอาจารย์ อะไรทำให้เกิด เพราะยังมีอะไรจึงต้องเกิด คุณโป๊ดต้องเกิดแน่ๆ เพราะอะไร

    ผู้ฟัง กุศล และอกุศลที่ทำให้เกิด

    ท่านอาจารย์ ถ้าเกิดเป็นมนุษย์เป็นผลของกุศล ถ้าไม่ใช่เป็นภูมิที่เป็นสุคติ มนุษย์ เทพ เหล่านี้ เกิดในอบายภูมิก็เป็นผลของอกุศล เพราะยังมีกิเลสใช่ไหม เพราะฉะนั้น กิเลสเป็นสิ่งซึ่งไม่หมดไปเองแต่ต้องอาศัยปัญญาที่รู้ความจริง จึงสามารถที่จะค่อยๆ ลดน้อยลงไปได้

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้น ก็ต้องฟังต่อไป

    อ.กุลวิไล ซึ่งท่านอาจารย์ก็ให้ความเข้าใจว่า ทุกอย่างเป็นไปตามการสะสม ถ้ายังมีกิเลสแล้วก็เป็นปัจจัยให้ทำกรรม และเมื่อทำกรรมก็ต้องรับผลของกรรมนั้นเอง แต่การฟังพระธรรมเป็นการสะสมเหตุที่ดี เพราะว่า การเข้าใจธรรมตามความเป็นจริง เป็นสิ่งที่เป็นเลิศ ท่านอาจารย์ให้ความเข้าใจว่า ปัญญานั้นเป็นเลิศ ทุกคนกลัวภัย แต่ถ้าเป็นผู้ที่ยังไม่มีปัญญาก็ย่อมได้รับภัยนั้นเอง เพราะว่ายังหวั่นไหวกับสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้ เพราะฉะนั้น ปัญญาจึงเป็นความเห็นถูกในสภาพธรรมตามความเป็นจริง

    ผู้ฟัง ลาภอันประเสริฐคือ การได้ฟังพระธรรม แล้วดูเหมือนว่า การสะสมมาที่มีโอกาสที่ได้ฟังพระธรรมไม่ใช่เรื่องง่าย กราบเรียนอาจารย์ว่า เหมือนกับว่าผู้ศึกษาต้องเข้าใจว่าอย่างไรฟังด้วยความเคารพ และก็อย่างไรฟังด้วยความไม่เคารพ

    ท่านอาจารย์ ถ้าฟังด้วยความไม่เคารพคือคิดว่า ง่าย ตื้น ธรรมดา ใครก็รู้ ซึ่งอย่างนั้นไม่ต้องเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเลย แม้แต่คำว่า ธรรม หรือคำอื่นๆ เช่น สติ หรือ จิต หรือ เจตสิก หรือ ปัญญาทั้งหมด ฟังด้วยความเคารพ คือ รู้ว่าเป็นสิ่งที่มีจริงซึ่งไม่เคยรู้มาก่อนเลย หลงใช้คำที่ตัวเองเข้าใจว่าถูกต้อง เช่น เดินไปตามถนนต้องมีสตินะไม่อย่างนั้นเดี๋ยวรถชน นี่เหรอเป็นสติ คิดเองหมดเลย ได้ยินคำไหนซึ่งเป็นภาษาบาลี ก็เข้าใจว่า เข้าใจแล้ว

    พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงบำเพ็ญพระบารมีนานเท่าไหร่ ที่จะรู้ความจริงของสิ่งที่มีจริงในขณะนี้ และคนที่เพียงฟัง และคิดว่าเข้าใจแล้ว รู้แล้ว ก็เป็นผู้ที่เผิน ไม่สามารถที่จะเห็นพระปัญญาคุณของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระบริสุทธิคุณ และพระมหากรุณาคุณ อย่างที่คุณโป๊ดกล่าวถึงเรื่อง สวดมนต์ ภาษาบาลีใช่ไหม หรือบางคนก็อาจจะแปลเป็นไทย ก็กล่าวทั้งบาลี และไทย แต่เข้าใจคำนั้นหรือเปล่า ถ้าไม่เข้าใจ ขณะนั้นจิตเป็นอะไร มีความเคารพนอบน้อมในความเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าหรือ ถ้าไม่ได้เข้าใจคำที่ได้สวดหรือคำที่ได้ยินได้ฟัง

    เพราะฉะนั้น การที่จะเห็นพระคุณของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็คือเมื่อเข้าใจพระธรรม โดยละเอียด โดยไม่ตู่ โดยไม่คิดเอง เพราะคิดเอง คิดได้อย่างไร จิตหนึ่งขณะเกิดได้อย่างไร มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยเท่าไหร่ แต่ละหนึ่งที่อาศัยกัน และกันเกิด เป็นปัจจัยแก่กัน และกันโดยสถานะอย่างใด ไม่ใช่เป็นปัจจัยประเภทเดียว มีมากมายหลายอย่าง นี่เพียงชั่วขณะหนึ่ง แล้ววันหนึ่งๆ จิตเกิดดับเท่าไหร่ แล้วใครสามารถที่จะรู้โดยละเอียดยิ่ง ถ้าไม่ได้ฟัง ไม่ได้พิจารณาด้วยความเคารพจริงๆ ว่า แท้ที่จริง จากการไม่รู้เลยมาเป็นความรู้ ทีละเล็กทีละน้อย จนกว่าจะเป็นความเข้าใจขึ้น เช่นในขณะนี้ เห็นมีจริง เกิดแล้วดับ รู้ได้ไหม

    ผู้ฟัง ต้องเป็นปัญญา

    ท่านอาจารย์ รู้ได้ไหม

    ผู้ฟัง ขั้นฟัง เข้าใจตามได้

    ท่านอาจารย์ แล้วรู้ได้ไหม

    ผู้ฟัง รู้ได้

    ท่านอาจารย์ เรารู้ หรืออะไรรู้

    ผู้ฟัง ต้องเป็นปัญญา

    ท่านอาจารย์ ปัญญารู้ ถ้าเรา ไม่มีทางจะรู้เลย เพราะฉะนั้น ก็จะเห็นได้ เมื่อความจริงลึกซึ้งไหม สภาพธรรมที่เกิดดับสืบต่อจน เหมือนลวง ให้เห็นว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เที่ยง เงามีจริงไหม ต้องถามว่าเงาอะไร หรือเงาของอะไร ใช่ไหม ถ้าไม่มีสิ่งนั้นจะมีเงาของสิ่งนั้นไหม

    ผู้ฟัง ถ้าไม่มีสิ่งนั้น ก็ไม่มีเงา

    ท่านอาจารย์ อยู่ดีๆ จะมีแต่เงา แล้วไม่มีสิ่งที่มีจริงๆ ได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ไม่ได้ เพราะฉะนั้น ขณะนี้เงาของปรมัตถธรรมซึ่งเกิดดับ ถ้าไม่มีปรมัตถธรรมจะไม่มีเงาที่แสดงรูปร่างสัณฐานเลย แต่ว่าขณะนี้เห็นเพียงเงา ใครรู้ลักษณะของธรรมที่เกิดดับจนปรากฏเป็นเงาบ้าง ก็ต้องเป็นผู้ที่ศึกษา เคารพโดยศึกษาให้เข้าใจจริงๆ ในสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง ว่าไม่ใช่ไม่มีอะไร มี สิ่งนั้นเกิดจึงมี แต่มีชั่วคราวแล้วก็หมดไป แล้วก็ไม่กลับมาอีก เพราะฉะนั้น ความจริงก็คืออย่างนี้แหละ ที่ใช้คำว่า “โลก” หรือ “โลกะ” หมายความถึง สิ่งที่เกิด และดับไปทั้งนั้นเลย สิ่งที่เป็นโลกเป็นอย่างนี้ สิ่งที่พ้นจากโลก เหนือโลกคือ “โลกุตระ” ไม่เกิด จะดับได้ไหมถ้าไม่เกิด

    ผู้ฟัง ถ้าไม่เกิด ก็ไม่ดับ

    ท่านอาจารย์ นี่คือเหตุผลตามความเป็นจริงที่ต้องพิจารณาจนกระทั่งเข้าใจขึ้น รู้กับไม่รู้อะไรดีกว่ากัน เกิดมาแล้วเป็นมนุษย์ด้วย จะรู้หรือจะไม่รู้ เพราะไม่รู้ง่ายมาก สัตว์เดรัจฉานก็ไม่รู้ เกิดมารู้ไม่ได้เลยแม้ว่าจะได้ยินเสียงอย่างนี้ ก็ไม่สามารถที่จะเข้าใจได้ เพราะว่าจิตที่ปฏิสนธิที่เกิดต่างกัน นี่ก็แสดงถึงความหลากหลายแล้ว

    เพราะฉะนั้น ประโยชน์ของการที่ได้เกิดเป็นมนุษย์ อยู่ที่สามารถที่จะได้เข้าใจความจริงของสิ่งที่มีจริงตลอดชีวิต แต่ถ้าเกิดมาแล้วก็ไม่เข้าใจอะไรเลยสักอย่างเดียว มีแต่อกุศล โลภะบ้าง โทสะบ้าง ชอบคนที่มี โลภะ โทสะ มากๆ ไหม เป็นแน่ๆ ไม่ใช่คนอื่นเลย คนที่กำลังไม่รู้ความจริงของสภาพธรรม

    เพราะฉะนั้น ลองคิดดู จากไม่มีคนนี้เลย เพราะยังไม่ได้เกิดเป็นคนนี้ แล้วเกิดมาเป็นคนนี้ แต่ละวันๆ เห็นบ้าง ได้ยินบ้าง แล้วก็หามีไม่ คือ หาคนนี้อีกไม่ได้เลย แต่มีธรรม หรือมีความจริงจากแต่ละขณะซึ่งเกิดมาแล้ว ก็ไม่รู้ และสะสมความชอบบ้าง ความไม่ชอบบ้างมากมายมหาศาล

    เพราะฉะนั้น แต่ละคนเมื่อจากโลกนี้ไปแล้ว ก็มีกรรมหนึ่งที่ทำให้เกิดขึ้น แล้วแต่ว่าจะเป็นใคร และกรรมทั้งหลายที่ได้สะสมมาก็ประมวลมาซึ่งความต่าง และความหลากหลายของแต่ละหนึ่งของแต่ละคน ซึ่งเกิดมาแล้วต้องเป็นไป ไม่ว่าจะเป็นอะไรทั้งสิ้น เป็นนกเกิดมาแล้วก็ต้องไป เป็นคนเกิดมาแล้วก็ต้องเป็นไป เกิดแล้วต้องเป็นไปตามเหตุตามปัจจัยที่ได้สะสมมา แต่ไม่รู้เลย แล้วก็จากไป หมดไปไม่กลับมาอีก เป็นอย่างนี้ตลอดไป พอหรือยัง หรือก็ดี ต่อไปอีกก็ได้ เป็นไปเรื่อยๆ นี่คือความหมายของ “สังสารวัฏฏ์”

    เพราะเหตุว่า แม้ขณะนี้เอง ที่ใช้คำว่าสังสารวัฏฏ์ การสืบต่อวนเวียน ไม่พ้นจาก ทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ทุกอย่างที่มีจริง เป็นหนึ่งสิ่งในสังสารวัฏฏ์ ถ้าขาดสิ่งนั้นไป ก็ไม่มีสังสารวัฏฏ์ เพราะฉะนั้น ทุกคำที่พูดไม่ใช่พูดลอยๆ แต่พูดด้วยความเข้าใจความจริง เพราะฉะนั้น ทุกคนเหมือนนักเขียนภาพ ช่างวาด กำลังวาดภาพของชาติหน้า ใครวาดเก่งบ้าง วาดสวยน่าดู หรือว่าน่ารังเกียจ ไม่ใช่คนอื่นทำให้เลย ธรรมซึ่งเป็นกุศล และอกุศล ซึ่งสะสมอยู่ก็ทำให้แต่ละหนึ่งเป็นไปโดยหลากหลาย ซึ่งไม่ซ้ำกันเลย กำลังวาดรูปอยู่หรือเปล่า รูปใคร รูปคนอื่น จากคนนี้ซึ่งจะเป็นคนนี้อีกต่อไปไม่ได้ วาดดีๆ ก็แล้วกัน

    อ.วิชัย ท่านอาจารย์กล่าวว่า ธรรมเป็นสิ่งที่คิดเองไม่ได้ แต่ว่าการฟังก็ย่อมมีการที่จะพิจารณา ไตร่ตรองถึงธรรมที่ได้ยินได้ฟัง เพราะฉะนั้น ความละเอียด เพราะเหตุว่า บุคคลที่ฟัง ความรู้ความเข้าใจก็ยังเป็นผู้ที่ใหม่ แล้วยังไม่เข้าใจ ฉะนั้นเมื่อมีการได้ฟัง อะไรที่จะเป็นความต่างกับการที่จะรู้ตามหรือว่าการคิดเอาเอง

    ท่านอาจารย์ ถ้าคิดเอาเอง คุณวิชัยคิดว่านั่นคุณอรวรรณใช่ไหม

    อ.วิชัย ทรงจำว่าเป็นอย่างนั้น

    ท่านอาจารย์ แล้วถ้าฟังธรรม เป็นคุณอรวรรณหรือว่าเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏให้เห็น

    อ.วิชัย เป็นสิ่งที่ปรากฏแล้วก็ทรงจำไว้

    ท่านอาจารย์ นี่คือ ไม่คิดเอง

    อ.วิชัย ก็คือรู้ตามที่ทรงแสดง

    ท่านอาจารย์ รู้ตามที่ได้ฟัง ตามความจริง ต้องพิจารณาก่อนว่าจริงหรือเปล่า แล้วมีวันไหนบ้าง ที่เริ่ม เริ่มจะเข้าใจว่าเพียงสิ่งที่ปรากฏ แล้วก็จำไว้หมดเลยว่า นี่ นี่ นี่ อย่างนี้ อย่างนั้น คนนั้น คนนี้ แต่ก็คือเพียงสิ่งที่ปรากฏ เพียงไม่ปรากฏ สิ่งนี้ก็ไม่มี แต่จำแล้ว นึกถึงได้ครบถ้วนเลย ถ้าจำเก่งใช่ไหม แต่ก็แค่จำ เพราะฉะนั้น จำก็คือจำ เห็นก็คือเห็น คิดก็คือคิด แต่ละหนึ่งขณะ

    ผู้ฟัง ในตอนหนึ่งของที่อาจารย์วิชัยสนทนาบอกว่า พระธรรมไม่ใช่เรื่องที่จะเข้าใจได้ง่าย อย่างท่านอาจารย์ก็ย้ำว่า อย่างพระพุทธเจ้าก็ต้องบำเพ็ญปัญญาธิกะก็ต้อง ๔ อสงไขแสนกัปป์ หลังจากที่ได้รับการพยากรณ์ เพราะฉะนั้น ในหมู่พวกเราที่ฟัง จะแบบใจร้อนเพื่อให้ปัญญาเกิดขึ้นเร็ว ก็ย่อมเป็นไปไม่ได้ ซึ่งในความเป็นจริงเท่าที่สนทนาหรือว่าได้คุยกับคน จะเป็นเช่นนั้นกันมาก เนื่องจากโลภะ แล้วก็ความอยากรู้ คือ ความอยากได้ปัญญามากกว่าเป็นจริงของโลภะ แล้วก็มีตัวตน ที่เมื่อพอฟังธรรมแล้ว ก็อยากให้ปัญญาเจริญขึ้นเร็วๆ ก็จะเป็นเช่นนั้นมากว่า ฟังเหมือนกับ ถ้าสนทนาด้วยแล้ว ก็ยังไม่ได้มีสัญญาที่มั่นคงว่าเป็นธรรมแต่ละลักษณะอย่างที่อาจารย์กล่าวว่า ไม่มีอาจารย์อรรณพ ไม่มีอาจารย์วิชัย แต่มีมหาภูตรูป และมหาภูตรูปก็จะมี สี กลิ่น รส โอชา ซึ่งตรงนี้ถ้าคุยด้วยแล้ว สัญญาไม่มั่นคง แต่เหมือนว่า มีปัญญาที่รู้ตรงลักษณะแล้ว ตรงนี้คิดว่าจะเป็นเครื่องกั้นที่ทำให้ปัญญายิ่งเนิ่นช้า ขอความกรุณาท่านอาจารย์ว่า คนที่เข้าใจผิดเช่นนี้ ก็ต้องเข้าใจให้ถูกใหม่

    ท่านอาจารย์ ถ้าเป็นผู้ที่ละเอียด ในพระไตรปิฎกมีข้อความว่า สัมมามรรค ๘ และมิจฉามรรค ๘ แล้วอย่างไร ไม่เรียน ไม่รู้เมื่อไร ก็คือ มิจฉามรรค ไม่ใช่สัมมามรรค ไม่ใช่หนทางที่จะทำให้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรม ซึ่งต้องเข้าใจตามลำดับ เพราะไม่ใช่เรา แต่เป็นอนัตตา ข้ามขั้นไม่ได้เลย ไม่รู้อะไรเลย ไปนั่งจ้อง แข็ง และมีประโยชน์อะไร

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้น ท่านอาจารย์กล่าวย้ำเสมอว่า เหตุปัจจัยให้ปัญญาขั้นปฏิปัตติเกิด คือ ต้องปริยัติรอบรู้จริงๆ แล้วเป็นสัญญาที่มั่นคงจริงๆ ว่าเป็นธรรมแต่ละลักษณะ ฟังจนเข้าใจเช่นนั้นจริงๆ

    ท่านอาจารย์ ฟังจนเข้าใจตรงนั้นจริงๆ ใช่ไหม คุณอรรณพหรือสิ่งที่ปรากฏให้เห็นทางตา

    ผู้ฟัง ขั้นฟัง เข้าใจว่าเป็นสิ่งที่ปรากฏตา แล้วก็จำว่าสัณฐานอย่างนี้

    ท่านอาจารย์ ลืม ลืมทุกครั้งเลย จึงมีคำว่า “หลงลืมสติ” ในพระไตรปิฎก เวลาที่สติไม่เกิด แต่สติจะเกิดเองไม่ได้ อยู่ดีๆ สติสัมปชัญญะจะเกิดเองโดยมีความเข้าใจถูกต้องเป็นไปไม่ได้ ความเข้าใจที่ถูกต้องต่างหาก ที่ทำให้มีการเริ่มเข้าใจสิ่งที่ปรากฏ เพราะรู้ว่าธรรมคือ สิ่งที่มีจริงที่กำลังปรากฏ แต่ยังไม่รู้เลยว่าเป็นธรรมหนึ่ง ซึ่งเกิดแล้วก็ดับจึงต้องอาศัยการฟัง แม้แต่สิ่งที่ปรากฏทางตาที่เข้าใจว่าเป็นคุณอรรณพ

    ลักษณะจริงๆ ก็คือเป็นธาตุที่มี ซึ่งไม่ใช่แข็ง ไม่ใช่กลิ่น ไม่ใช่รส แต่เป็นสิ่งที่สามารถกระทบจักขุปสาท แล้วปรากฏอย่างเร็วมากสืบต่อจนเป็นรูปร่างสัณฐานให้จำลักษณะนั้น แม้ไม่ต้องเรียกชื่อ พอเห็นคุณอรรณพนี่ คุณอรวรรณไม่ต้องเรียกชื่อเลยใช่ไหม แต่ก็รู้ เพราะจำได้ แต่บางครั้งก็จำชื่อด้วย

    เพราะฉะนั้น ก็ซ้อนกันทั้งรู้ แล้วก็ยังจำเป็นชื่อด้วย เมื่อไหร่คุณอรวรรณจะไม่ลืมว่า เพียงปรากฏให้เห็นได้ ไม่ใช่ว่าคุณอรรณพไม่มี มีเมื่อมีธาตุ ดิน น้ำ ไฟ ลม สี กลิ่น รส โอชา และจิต และเจตสิก ซึ่งเกิดดับต่างกับจิตเจตสิกอื่น และรูปอื่นๆ จึงเรียกว่า คุณอรรณพ ทุกคนก็เหมือนกัน มีธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม มีสี มีกลิ่น มีรส มีโอชา เป็นรูปต่างๆ ๒๗ รูปแต่ละคน แล้วก็มีจิตมีเจตสิก ซึ่งเกิดที่รูปนั้นๆ ทำให้ยังไม่เป็นผู้ที่ตาย ไม่ใช่ศพ ยังมีชีวิตเคลื่อนไหวได้ พูดได้ เพราะจิตเกิดที่นั่น แล้วแต่จะเป็นจิตประเภทใด แล้วก็จึงสมมติเรียกว่า คุณอรรณพ แต่ความจริงก็คือ “ปรมัตถธรรม” ธรรมที่มีลักษณะจริงๆ ซึ่งใครก็เปลี่ยนแปลงไม่ได้ เดี๋ยวนี้เห็นใคร เห็นไหมกว่าจะมั่นคง เพียงปรากฏให้เห็นได้ ถ้ารู้อย่างนี้จริงๆ คลายความติดข้องไหม ลองคิดถึงว่า ถ้าเริ่มเข้าใจว่าเพียงปรากฏให้เห็นได้ เท่านั้นเอง ความจริงแท้ๆ คือ เพียงปรากฏให้เห็นได้ เวลากระทบสัมผัส ก็เพียงปรากฏให้รู้ว่าสิ่งนั้นมีชั่วขณะที่ปรากฏแล้วก็หมดไป

    เพราะฉะนั้น ถ้าแยกสิ่งที่เราเข้าใจว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดออกเป็นแต่ละหนึ่งจริงๆ ซึ่งเกิดดับ ความจริงก็คือว่า ไม่มีสิ่งนั้นที่เที่ยงหรือถาวร เป็นแต่เพียงธาตุ นานาธาตุ ซึ่งเกิดขึ้นแล้วก็ดับไปอยู่เรื่อยๆ เปลี่ยนแปลงไม่ได้ ต้องเป็นอย่างนี้

    ผู้ฟัง ในตรงนี้หมายความว่า อย่างที่ท่านอาจารย์ถามว่า ไม่ลืมบ้างไหมว่าไม่ใช่คุณอรรณพ เป็นสิ่งที่ปรากฏทางตา ท่านอาจารย์ย้ำบ่อยๆ

    ท่านอาจารย์ อาจจะใช่ หรือไม่ใช่ ก็รู้ความจริงว่า ขณะใดที่เห็นปรากฏ เห็นอะไร เพียงสิ่งที่ปรากฏให้เห็นได้

    ผู้ฟัง ก็จะเป็นขั้นคิดตาม เป็นสิ่งที่ปรากฏให้เห็น

    ท่านอาจารย์ แล้วคิดเพราะได้ฟังหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ใช่

    ท่านอาจารย์ แล้วฟังแล้วรู้ว่าเป็นความจริงนั้นหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ใช่

    ท่านอาจารย์ แม้ว่าเป็นความจริงอย่างนั้น คิดบ่อยหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ไม่บ่อย

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ถ้าเข้าใจจริงๆ จะลืมไหม เพราะฉะนั้น กว่าสัญญาความจำมั่นคง ที่จะรู้ว่าเป็นธรรมแต่ละหนึ่ง ไม่อย่างนั้นไม่ใช่มรรคมีองค์ ๘ ไม่ใช่หนทางที่จะทำให้รู้แจ้งสภาพธรรมตามความเป็นจริง เพราะว่า หนทางคือสัมมาทิฏฐิ มรรคมีองค์ที่ ๑ ขาดไม่ได้เลย ถ้าขาดสัมมาทิฏฐิซึ่งเป็นมรรค ๑ ในมรรคมีองค์ ๘ อื่นๆ จะไม่เป็นสัมมาเลย ความเห็นก็ไม่ถูกแล้ว

    ผู้ฟัง ตรงนี้ ท่านอาจารย์จะย้ำมากว่า ไม่ลืมบ้างไหม หรือว่าจำได้ไหมว่า ไม่ใช่อาจารย์อรรณพ

    ท่านอาจารย์ ไม่ต้องคิดถึงว่าไม่ใช่ เพียงปรากฏให้เห็นได้เท่านั้นเอง ไม่ต้องไปคิดยาว แต่ความจริงเพียงปรากฏให้เห็น แค่นี้ สิ่งอื่นปรากฏแล้ว เพราะฉะนั้น จะสั้นแค่ไหน และถ้ามั่นคงขึ้น สิ่งที่ปรากฏให้เห็นก็แสนสั้น

    ผู้ฟัง ซึ่งท่านอาจารย์ก็จะย้ำอยู่ตลอดเช่นนี้ ถ้าผู้นั้นรู้ตัวว่า สัญญายังไม่มั่นคงตรงนี้ ก็เป็นไปไม่ได้ที่ปัญญาขั้นอื่นจะเกิด

    ท่านอาจารย์ ปฏิปัตติไม่ได้เลย ไม่สามารถที่จะถึงลักษณะนั้นด้วยความเข้าใจพร้อมสติสัมปชัญญะ เพราะฉะนั้น ถ้าไม่มีปัญญาที่รู้จริงๆ ในลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ เช่น สิ่งที่ปรากฏทางตาให้มีความเข้าใจมั่นคงว่าเพียงปรากฏให้เห็น ทางหูเพียงปรากฏให้รู้ว่ามีเสียงนั้น ไม่ใช่เสียงอื่น แล้วก็หมดแล้ว ทุกอย่างเสมอกัน

    ผู้ฟัง ดูเหมือนสัญญาที่มั่นคงจะต้องเป็นอะไรที่ฟังบ่อยๆ เนืองๆ และก็ฟังด้วยความเคารพ แล้วก็ฟังด้วยความเข้าใจจริงๆ เพราะว่า ทุกคนก็รู้ว่าสะสมความไม่รู้ แล้วก็ความติดข้อง เมื่อฟัง และปัญญาดีก็อยากจะได้ปัญญา ซึ่งตรงนี้ถ้ายังเป็นเช่นนั้นอยู่ก็จะเป็นเครื่องกั้นให้ไม่สามารถรู้ความจริงได้

    ท่านอาจารย์ นี่คือ วจีสัจจะ ที่นำไปสู่ญาณสัจจะ นำไปสู่มรรคสัจจะ


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 184
    12 ม.ค. 2567