พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 739


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๗๓๙

    ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๑๔ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๔


    ท่านอาจารย์ ให้เข้าใจความจริงเป็นพื้นฐาน ที่จะสะสมไป ที่จะค่อยๆ มั่นคง โดยไม่ใช่ไปรีบร้อน แสวงหาจะเป็นพระโสดาบัน หรือว่าจะละความไม่รู้ จะประจักษ์การเกิดดับของสภาพธรรม ซึ่งปรากฏเป็นเท็จ ตราบใดที่ยังไม่รู้ความจริง ก็ต้องฟัง ในขณะที่เข้าใจขณะนั้นแต่ละคนเหมือนกันหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ไม่เหมือน

    ท่านอาจารย์ เพราะคิดใช่ไหม คำเดียวกันที่ฟัง คิดต่างกัน เพราะฉะนั้น ถ้าคิดลึกซึ้ง และคิดละเอียด ก็จะทำให้สามารถเข้าถึงความจริงของธรรมได้ ซึ่งทั้งหมดก็เป็นสิ่งที่มีจริง โดยอาศัยคำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทำให้สามารถเข้าใจความจริงของสิ่งที่มีจริง ในขณะที่มีโอกาสได้ฟัง ถึงกาลที่จะได้ฟัง แต่ใครจะรู้ว่า เวลาที่จะฟังธรรมจะมีมากหรือมีน้อยแค่ไหน

    เพราะฉะนั้น พระธรรมทั้งหมดเพื่อไม่ประมาทเลย เพราะใครก็ไม่รู้ว่าอะไรจะเกิด แม้แต่ขณะต่อไป ไม่มีใครสามารถรู้ได้เลย สภาพธรรมเกิดตามเหตุตามปัจจัย เพราะฉะนั้น ไม่ประมาท คือ ฟังธรรม เพื่อที่จะสะสมความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้อง ไม่ใช่ไปอยาก รู้ อยากเข้าใจ หรืออยากเรียกคำต่างๆ ศาสนาคืออะไร

    ผู้ฟัง ศาสนาคือคำสอน

    ท่านอาจารย์ พุทธ คืออะไร

    ผู้ฟัง คำสอนของผู้รู้ เพื่อให้รู้

    ท่านอาจารย์ แล้วสอนให้รู้ เพราะฉะนั้น เวลาที่พูด รู้อะไร

    ผู้ฟัง รู้ความจริงที่มีขณะนี้

    ท่านอาจารย์ คนที่บอกว่า โทสะเกิดแล้วให้ทำอย่างนั้นอย่างนี้ คนฟังรู้อะไร

    ผู้ฟัง ยังไม่ตั้งต้นที่รู้ความจริงขณะนี้

    ท่านอาจารย์ นั่นไม่ใช่พระพุทธศาสนาแล้ว เพราะไม่รู้ จะพูดอย่างไรก็ตาม แต่ถ้าคนฟังไม่รู้ ไม่เข้าใจ สิ่งที่กำลังมีในขณะนั้นจะชื่อว่า “พุทธศาสนา” หรือเปล่า เพราะพุทธศาสนาคำสอนจากผู้รู้ เพื่อให้ผู้ฟังเกิดความรู้ ไม่ใช่ให้ไม่มีโทสะ ไม่ให้มีโลภะ แต่ไม่รู้อะไร เพราะฉะนั้น คำสอนใดๆ ก็ตามที่ไม่ทำให้เข้าใจ ไม่ใช่พุทธศาสนา

    ผู้ฟัง ธรรมไม่ใช่เรา

    ท่านอาจารย์ ก็ต้องสอนอย่างนี้ใช่ไหม

    ผู้ฟัง อบรมปัญญาให้เข้าใจ

    ท่านอาจารย์ คนฟังถึงจะเริ่มเข้าใจได้ว่า โทสะมีจริงๆ และเป็นธรรม ใครบังคับให้เกิดไม่ได้ เกิดแล้วดับไป เดี๋ยวนี้ก็ไม่มีแล้ว หายไปไหนไม่รู้ ไม่มีที่จะไป เป็นธรรมซึ่งเกิดดับแล้วไม่กลับมาอีกเลย ถ้าสอนอย่างนี้เข้าใจไหมว่า นี่คือ ความจริงของทุกอย่าง

    ผู้ฟัง เคยได้ยินได้ฟังว่า เวลาเกิดความโกรธ มีโทสะ ให้มองดูความโกรธ เมื่อความโกรธลดลง ก็ให้มองดูความลดลงของโทสะ ไม่ทราบว่า มีความคิดเห็นอย่างไร

    ท่านอาจารย์ แล้วรู้อะไร จบลงด้วยตัวเราทั้งหมด ไม่ได้ฟังธรรมจนเข้าใจว่า เป็นธรรม เวลาฟังแล้ว ใครฟัง ผู้ฟังพิจารณาสิ่งที่ได้ฟังหรือเปล่า กำลังเป็นผู้ฟัง พิจารณาสิ่งที่กำลังได้ฟังหรือเปล่า คนที่ฟัง กำลังฟังเป็นผู้ที่พิจารณาสิ่งที่ได้ฟังว่า ถูกหรือเปล่า ไม่ใช่ไปถามคนอื่น ผู้ฟังเองเป็นผู้ที่พิจารณาว่า สิ่งที่ได้ฟังนั้นถูกไหม ตามความเป็นจริงผู้นั้นรู้หรือเปล่าว่า ไม่ต้องดูโทสะก็ดับแล้ว

    ผู้ฟัง ไม่ต้องดูโทสะก็ดับแล้ว

    ท่านอาจารย์ ทุกอย่างเกิดดับ แล้วมีตัวตนไปดูอะไร สิ่งนั้นก็ดับแล้ว เพราะฉะนั้น ที่สำคัญที่สุด ไม่ใช่ให้ไปดูให้รู้ว่า เป็นอย่างนั้น แต่มีความเข้าใจ คำว่า เข้าใจ หมายความว่า รู้ว่าสิ่งนั้นเป็นอะไร

    เพราะฉะนั้น ความเข้าใจสำคัญที่สุด บางคนอยากจะประจักษ์การเกิดดับแต่รู้ได้เลย อยากแล้วทำ แล้วเห็น แต่ไม่รู้อะไร ไม่มีการที่จะค่อยๆ เข้าใจความจริงของชีวิต เพื่อที่จะรู้มั่นคงขึ้นว่า เป็นธรรมเท่านั้นตั้งแต่เกิดจนตาย เพราะฉะนั้น การฟังต้องฟังตามลำดับ แม้แต่คำว่า ธรรม ไม่เว้น ไม่เผิน เพราะว่า หมายความว่า สิ่งที่มีจริงมีการเกิดขึ้น ทั้ง ธาตุรู้ นามธาตุ และรูปธาตุ จึงเป็นสัตว์ เป็นบุคคล ขณะนี้ทุกคนมีร่างกายเพียงไม่มีจิตที่ร่างนี้ น่าดูไหม นั่งๆ กันอยู่อย่างนี้ มีร่างกายกำลังนั่งอยู่ เพียงไม่มีจิตที่เกิดที่รูปนั้น รูปนี้น่าดูไหม

    ผู้ฟัง ไม่น่าดู

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น เป็นเรื่องที่จะเข้าใจความจริงว่า จิตมี ไม่ใช่มีแต่รูป เพราะฉะนั้น เราไม่เคยรู้ความจริงของธรรมตั้งแต่เกิดจนตาย ถ้าไม่มีการตรัสรู้ของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า คิดเองได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ว่าเห็นเป็นธาตุชนิด ๑ ซึ่งมีปัจจัยเกิดเห็นแล้วดับเท่านั้นเอง ฟังให้เข้าใจสิ่งที่กำลังฟัง ตั้งแต่เกิด อะไรเกิด

    ผู้ฟัง นามกับรูป

    ท่านอาจารย์ ตลอดมาจนถึงเดี๋ยวนี้เป็นอะไรทั้งหมด

    ผู้ฟัง นามกับรูป ฟังธรรมให้เข้าใจก็จะเกิดปัญญา

    ท่านอาจารย์ เข้าใจเป็นปัญญาหรือเปล่า

    ผู้ฟัง เข้าใจเป็นปัญญา

    ท่านอาจารย์ แล้วจะเกิดอะไร

    ผู้ฟัง แล้วจะเกิดปัญญาที่มากขึ้น แล้วก็เกิดสติ

    ท่านอาจารย์ มุ่งหวังไปที่สติเลย ไปได้ยินได้ฟังมาจากไหน ต้องกังวลถึงสติไหม ถ้าเดี๋ยวนี้มีสิ่งที่กำลังปรากฏ และฟังเข้าใจ ต้องใช้คำว่า สติหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ไม่ต้อง เมื่อเราคิดว่า เราต้องมีปัญญา

    ท่านอาจารย์ เดี๋ยวก่อน “เมื่อเราคิดว่า เราต้องมีปัญญา” ลืมแล้วว่า ฟังธรรมเพื่อเข้าใจ ลืมคำนี้ได้อย่างไร

    ผู้ฟัง ส่วนใหญ่ทุกคนไม่ชอบความโกรธ ที่มาศึกษาธรรมเพราะไม่อยากโกรธ

    ท่านอาจารย์ ถ้าศึกษาละเอียด ฉันทะเจตสิกเกิดกับโทสะมูลจิต เห็นไหม อกุศล โลภะไม่เกิดกับโทสะแน่นอน เป็นธรรมที่ตรงข้ามกัน แต่ฉันทะความพอใจในโทสะ มีไหม ขณะนั้นจึงเกิดโทสะ

    ผู้ฟัง มีความพอใจในโทสะ

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง

    ผู้ฟัง ฉันทะเกิดร่วมกับโทสะด้วย

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง ชอบดูหนังน่ากลัวๆ ไหม

    ผู้ฟัง ชอบ

    ท่านอาจารย์ นั่นไง ชอบโทสะไหม กลัว อยากกลัว อยากดู ใช่ไหม ฉันทะเกิดร่วมด้วยหรือเปล่า

    ผู้ฟัง แล้วเวลาที่เราโกรธแรงๆ เรารู้สึกไม่ชอบที่จะโกรธอย่างนั้น พูดอย่างนั้น หรือว่ามีกริยาอย่างนั้น

    ท่านอาจารย์ แต่ให้ทราบความละเอียด การที่จะกล่าวธรรมด้วยความคิดของตัวเองไม่ถูกต้อง เพราะฉะนั้นก็ต้องเข้าใจ ไม่ชอบชื่อ “โลภะ” แน่ๆ เลย “คนนั้นมีโลภะมาก” ไม่ชอบใช่ไหมเพราะมี “โลภะ” มาก แต่ชอบโลภะ เพียงแต่ไม่ชอบชื่อ ชอบโลภะแต่ไม่ชอบชื่อ “โลภะ” พ่อแม่รักลูกดีไหม

    ผู้ฟัง ในทางโลกก็ว่า ดี พ่อแม่รักลูก

    ท่านอาจารย์ ก็โลภะ ก็ชอบ รักเพื่อนดีไหม

    ผู้ฟัง ก็ดีในทางโลกก็ว่า ต้องดี การเป็นคนรักเพื่อน

    ท่านอาจารย์ ก็ชอบโลภะ แต่ไม่ชอบชื่อ เพราะฉะนั้น ต้องเป็นคนที่ตรง แล้วถึงจะเข้าใจธรรมตามความเป็นจริง และได้สาระ เพราะว่า ธรรมที่รู้ยากยิ่งสุดที่จะประมาณได้ เพราะอวิชชาก็สะสมมามากเหลือเกิน และตามความเป็นจริงของธรรม เพียงปรากฏชั่วคราวที่สั้นมากแล้วดับไป เพราะฉะนั้น การที่จะรู้ความจริงของสภาพธรรมแต่ละอย่างว่า ลักษณะนั้นเป็นสภาพธรรมที่ปรากฏ และเวลาที่ไม่ปรากฏแม้มีก็ไม่ปรากฏให้รู้ได้ และถึงปรากฏก็ปรากฏที่เล็กน้อยมาก และหมดไปแล้ว

    เพราะฉะนั้น จะต้องเป็นผู้ที่มั่นคงในสัจจะ ในความจริง เป็นผู้ที่เกิดมาแล้วๆ มีสิ่งที่มีจริงแต่ไม่รู้ความจริง เพราะฉะนั้น สิ่งที่ควรรู้ เพราะว่า ถ้าเป็นปุถุชน คือ ไม่ฟังสิ่งที่ควรรู้ แต่ในเมื่อเป็นสิ่งที่ควรรู้แล้วฟัง ก็จะได้พ้นจากภาวะของความเป็นปุถุชนสู่ความเป็นพระอริยบุคคลได้ ด้วยเหตุนี้การฟัง คือ เราไม่ได้คิดเอง แต่พิจารณาว่า เป็นความจริงอย่างนั้นไหม

    ผู้ฟัง ผู้ที่ศึกษาธรรมมีความโกรธแล้วมาศึกษาธรรม แล้วเข้าใจว่า การศึกษาธรรมจะช่วยทำให้บรรเทาหรือหายความโกรธลดน้อยลงได้จนเหลือน้อย

    ท่านอาจารย์ แล้วก็โกรธใหม่ โกรธอีกเยอะๆ จริงๆ แล้วไม่ต้องไปทำอะไร โกรธก็ดับ แต่ไม่รู้จึงเกิดอีกบ่อยๆ ตามเหตุตามปัจจัย แต่ถ้ารู้จริงๆ ทุกอย่างดับ ถ้าสามารถที่จะดับธรรมที่เป็นเหตุ ที่จะให้สภาพธรรมนั้นเกิดขึ้น สภาพธรรมนั้นย่อมเกิดไม่ได้ เพราะฉะนั้น ต้องรู้ว่า ตราบใดที่ยังมีโทสะแล้วไม่รู้ตามความเป็นจริง ก็ยังมีปัจจัยที่โทสะจะเกิด

    ผู้ฟัง ถ้าเข้าใจว่า โทสะเป็นสภาพธรรมเกิดขึ้นแล้วดับไป ขณะนั้นไม่เดือดร้อนเพราะเป็นสภาพธรรมเกิดขึ้นแล้วดับไป

    ท่านอาจารย์ ปัญญาไม่ใช่คนนั้น คนนั้นเดือดร้อน

    ผู้ฟัง ถ้าเป็นเรานั้นเดือดร้อนแน่

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง

    ผู้ฟัง เป็นเราที่โกรธหรือมีใครมาทำให้เราโกรธ

    ท่านอาจารย์ ถ้าเป็นปัญญาจะเดือดร้อนอะไรกับสภาพธรรมที่ปรากฏเพียงชั่วคราว และหมดแล้วไม่กลับมาอีกเลย หลงโกรธต่อไปอีก

    ผู้ฟัง แม้เป็นความโกรธที่เกิดขึ้นก็ไม่เดือดร้อนใจเพราะว่า เป็นสภาพธรรมที่ไม่ใช่เรา มีเหตุปัจจัยจึงโกรธ

    ท่านอาจารย์ ต้องเป็นปัญญาไม่ใช่ว่า คิดเอาเอง

    ผู้ฟัง ต้องเป็นปัญญา ถ้ามาศึกษาเพื่อจุดประสงค์ที่จะละคลายความโกรธ ไม่ใช่การศึกษาตามจุดประสงค์ที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ และทรงแสดงหนทางหรือ

    ท่านอาจารย์ ทรงแสดงว่าอย่างไร

    ผู้ฟัง ให้ละความเห็นผิด ความเข้าใจผิดก่อน

    ท่านอาจารย์ ให้รู้ ว่าเป็นธรรม

    ผู้ถาม. ไม่ใช่สอนให้เพื่อที่จะละความโกรธก่อน

    ท่านอาจารย์ มีใครสอนให้ละ คนนั้นไม่ใช่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าไม่สอนให้รู้

    ผู้ฟัง ฉะนั้นผู้ฟังถ้าไม่ฟังเพื่อเข้าใจหนทาง ก็จะพยายามหาหนทางที่จะละความโกรธ ละโลภะต่างๆ ก็จะไม่รู้หนทาง และไม่รู้ว่า พระพุทธองค์ทรงสอนอะไร

    ท่านอาจารย์ อย่าลืม “พุทธะ” พุทธศาสนา

    ผู้ฟัง ฉะนั้นผู้ฟังต้องเป็นผู้ฟังด้วยดี ฟังให้เข้าใจว่า สิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ และทรงแสดงคืออะไร ก่อนที่จะไปละอะไร หรือทำอะไร

    ท่านอาจารย์ ละไม่ได้ ดับแล้ว ละอะไร

    ผู้ฟัง เมื่ออาทิตย์ที่แล้วท่านอาจารย์ถามว่า จะฆ่ามารดาไหม ผมตกใจมากเลยว่า ทำไมถึงถามอย่างนั้น เพราะผมเป็นคนที่ดูแล และรักมารดาอย่างมาก จึงถามต่อไปว่า หมายถึงมารดาอะไร

    ท่านอาจารย์ มารดาที่ว่า หมายความถึงอวิชชา

    ผู้ฟัง ใช่ ถ้าฟังต่อไปแล้วทำให้เข้าใจ และไม่ตกใจ หายตกใจว่า มารดาที่ว่าคือ อวิชชา ความไม่รู้ความจริง จึงถามต่อไปว่า ในเมื่อมารดาเป็นผู้ที่ให้กำเนิดเรามา เลี้ยงดู

    ท่านอาจารย์ ฆ่าไม่ได้ มารดาที่ให้กำเนิดฆ่าไม่ได้

    ผู้ฟัง จึงเปรียบเทียบว่า มารดาให้การเลี้ยงดู ให้การดูแล ให้ชีวิต ให้การศึกษา ให้ทุกสิ่งทุกอย่างแก่บุตร แต่อวิชชาให้อะไรกับเราถึงเปรียบเทียบกับมารดา

    ท่านอาจารย์ อวิชชาเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล

    ผู้ฟัง เป็นอกุศล เป็นความไม่รู้

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นให้อะไร

    ผู้ฟัง ให้ภพ ให้ชาติ

    ท่านอาจารย์ ให้อะไรอีก

    ผู้ฟัง ให้สังขารขันธ์

    ท่านอาจารย์ ให้อะไรอีก

    ผู้ฟัง ให้ความไม่รู้ ความมืดมัว

    ท่านอาจารย์ ให้อะไรอีก

    ผู้ฟัง ให้มีกิเลส ให้โกรธ ให้โลภ ให้หลง

    ท่านอาจารย์ ให้สิ่งที่ไม่ดีทั้งนั้นเลย

    ผู้ฟัง แต่ได้ชื่อว่า เป็นผู้ที่ให้แล้วเปรียบเทียบกับมารดา

    ท่านอาจารย์ ให้สิ่งที่ไม่ดี การเกิดดีไหม

    ผู้ฟัง ไม่ดี

    ท่านอาจารย์ ใครให้เกิด

    ผู้ฟัง เพราะอวิชชา

    ท่านอาจารย์ ถ้ายังมีอวิชชา จะต้องเกิดไหม

    ผู้ฟัง จะต้องเกิด

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่มีอวิชชา จะเกิดไหม

    ผู้ฟัง ไม่ต้องเกิด

    ท่านอาจารย์ แล้วทำอย่างไรถึงจะไม่มีอวิชชา

    ผู้ฟัง ต้องศึกษาธรรม ฟังให้เข้าใจความจริง

    ท่านอาจารย์ รู้ความจริงถึงระดับขั้นความเป็นพระอรหันต์ จึงจะดับอวิชชาหมดสิ้นได้

    อ.อรรณพ เราศึกษาธรรม เมื่อได้ฟังพระธรรม คำสอนของพระองค์ท่านหลากหลายนัย และแต่ละนัยเพื่อประโยชน์ของผู้ฟัง ที่จะได้พิจารณาแล้วมีความเข้าใจถูกในสภาพธรรมยิ่งขึ้น ไม่ใช่ว่า ศึกษาแล้วก็ให้ไปงวยงงกับคำ เพราะคำว่า เท็จ กับคำว่า จริง ถ้าด้วยปัญญาแล้ว จะต้องเป็นความจริงจริงๆ เช่น เราพูดถึงสิ่งที่สมมติกันก่อน ที่เป็นสมมติกัน บัญญัติ เรียกชื่อคนโน้น คนนี้ จริงโดยสมมติใช่ไหม มีคำนี้ “สมมติสัจจะ” คือ จริงโดยสมมติ จริงว่า คนโน้นนั่งอยู่ทางนี้ คนนี้นั่งอยู่ทางนั้น พระภิกษุรูปนี้เป็นอย่างไร รูปโน้นเป็นอย่างไร สื่อสารกันได้ สมัยนี้เราเรียกชื่อ เรียกบัญญัติ สมมติกัน

    เพราะฉะนั้น เป็นจริงโดยสมมติ จะใช้คำว่า จริงก็ได้ จริงโดยสมมติ คือ สิ่งที่ไม่มีลักษณะไม่มีสภาพ บัญญัติบอกว่า เป็นจริงโดยสมมติก็ได้ ถ้าจะใช้คำว่า จริง แต่เนื่องจากไม่ได้มีลักษณะ ไม่มีสภาวะจริงๆ ถ้าพูดถึงจริงโดยแท้จริง คือ โดยว่ามีหรือเปล่า บัญญัติไม่มีใช่ไหม เพราะฉะนั้น บัญญัติจึงเป็นเท็จ คือ ไม่มีสภาพ ที่นี้พูดถึงสิ่งที่มีจริง มีลักษณะ มีสภาพจริงๆ เป็นปรมัตถธรรม คือ ธรรมที่มีลักษณะ มีสภาพจริงๆ มีอรรถอันยิ่งจริงๆ หรือเป็นธรรมที่ละเอียด ก็คือ อภิธรรม แต่เนื่องจากจากสภาพที่มี และเกิดดับ เมื่อย่อยลงไปแล้วแสนเล็ก เริ่มตั้งแต่จักรวาลว่าใหญ่โตที่สุด ไม่มีอะไรใหญ่เท่าจักรวาล หรืออาคารใหญ่โต สิ่งใหญ่โตต่างๆ ที่แท้แล้วประกอบด้วยสิ่งที่เล็กๆ ลงไป แต่ถ้าเป็นปัญญาแล้วเข้าใจถูกไม่ว่าพระองค์ท่านจะแสดงด้วยโวหารเทศนาใด ก็สามารถจะเข้าใจความละเอียดนั้น บอกว่า นามรูปเป็นเท็จ คือ จิต เจตสิก รูป เป็นเท็จ เพื่อจะได้เห็นถึงว่า มี แต่เกิดแล้วดับ แต่เกิดดับสืบต่อ แล้วเป็นนิมิตเหมือนเป็นจริงอย่างนี้ มีคนนั่งอยู่อย่างนี้จริงๆ แต่จริงๆ แล้วเป็นเท็จ ใช่ไหม เพราะเป็นสภาพธรรมแต่ละอย่าง

    อ.กุลวิไล ข้อความในพระไตรปิฏก จากพระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต “ก็ชนทั้งหลายย่อมสำคัญนามรูปด้วยอาการใดๆ นามรูปนั้นย่อมเป็นอย่างอื่นไปจากอาการที่เขาสำคัญนั้น นามรูปของผู้นั้นแลเป็นของเท็จ เพราะนามรูปมีความสูญสิ้นไปเป็นธรรมดา นิพพานมีความไม่สูญสิ้นไปเป็นธรรมดา พระอริยเจ้าทั้งหลายรู้นิพพานนั้นโดยความเป็นจริง พระอริยเจ้าเหล่านั้นแลเป็นผู้หายหิวดับรอบแล้ว เพราะตรัสรู้ของจริง”

    พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส ท่านกล่าวถึงว่า "อะไรหนอเป็นเหตุแห่งนามรูป ท่านกล่าวถึงธรรม ๔ เหล่านี้ คือ อวิชชา ตัณหา อุปาทาน กรรม ว่าเป็นเหตุ เพราะเป็นเหตุให้เกิดนามรูป และว่า เป็นปัจจัยเพราะมีอาหารเป็นปัจจัยอุปถัมภ์ กำหนดปัจจัยแห่งรูปกายอย่างนี้ว่า ธรรมทั้งหลายมีอวิชชาเป็นต้น เป็นอุปนิสสยปัจจัยแก่กายนี้ เหมือนมารดาเป็นอุปนิสสยปัจจัยแก่ทารก มีกรรมทำให้เกิดเหมือนบิดาทำบุตรให้เกิด มีอาหารเลี้ยงดูเหมือนแม่นมเลี้ยงดูทารกแล้ว กำหนดปัจจัยแห่งนามกายโดยนัยมีอาทิว่า อาศัยจักษุ และรูป จักขุวิญญาณย่อมเกิด เมื่อกำหนดอยู่อย่างนี้ย่อมตกลงใจได้ว่า ธรรมแม้ที่เป็นอดีต และอนาคตย่อมเป็นไปอย่างนี้เท่านั้นเหมือนกัน” กราบเรียนท่านอาจารย์ถึงนัยทั่วไปที่เป็นเหตุแก่นามรูป

    ท่านอาจารย์ ไม่ลืมว่า การฟังธรรมเพื่อเข้าใจ เวลาที่อ่านข้อความจากพระไตรปิฎก สำนวน และธรรมที่ทรงแสดงไม่ง่าย แต่ว่า ต้องมีความเข้าใจก่อนแล้วจึงสามารถที่จะเข้าใจสิ่งที่ได้ยิน ได้ฟัง ถูกต้องยิ่งขึ้น เพราะฉะนั้น ก่อนอื่นถ้าไม่กล่าวถึงข้อความที่เพิ่งกล่าวถึงเมื่อสักครู่นี้ แต่พูดถึงความจริงให้เข้าใจว่า ในขณะนี้กำลังมีอวิชชาหรือเปล่า ยังมีอยู่ เพราะฉะนั้น เพราะยังมีอวิชชาจึงต้องมีสังขาร มีทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นเพราะมีอวิชชา ถ้าไม่มีอวิชชาแล้ว อะไรๆ จะมีได้ไหม ก็ไม่ได้

    เพราะฉะนั้น มีความเข้าใจในเบื้องต้นว่า อวิชชาเป็นปัจจัยที่จะทำให้ นามธรรม รูปธรรม เกิดขึ้น ตอนนี้ไม่มีข้อสงสัย แต่ธรรมก็ไม่ได้มีอย่างเดียว เมื่อมีอวิชชาแล้วไม่รู้ความจริงของสิ่งที่กำลังปรากฏ แต่ขณะนี้มีความติดข้องในสิ่งที่ปรากฏด้วย ไม่ใช่มีแต่เฉพาะอวิชชา

    เพราะฉะนั้น การฟังธรรมจึงต้องฟังโดยละเอียด เมื่อเข้าใจแล้วข้อความก็ตรงกับที่ได้ยิน แต่ต้องมีความเข้าใจก่อนว่า มีความไม่รู้ ไม่รู้อะไร ไม่รู้สิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้ตามความเป็นจริง เมื่อไม่รู้ตามความเป็นจริง ย่อมมีความติดข้องแน่นอน เพราะไม่รู้ว่า แท้ที่จริงสิ่งที่กำลังปรากฏขณะนี้ ความจริง คือ เป็นธรรมอย่าง ๑ มีปัจจัยเกิดแล้วดับเร็วมาก ยังไม่ทันรู้เลยว่า เป็นอะไร แต่ก็ติดข้องแล้วในสิ่งที่ปรากฏ เวลานี้ถ้าจะพูดถึงการเกิดดับสืบต่อของจิต นับประมาณไม่ได้ เพราะว่า เพียงชั่วขณะที่จักขุวิญญาณหรือจิตเห็นเกิดขึ้นเห็นเท่านั้น เห็นเพียงสิ่งที่ปรากฏ แล้วจิตที่เห็นดับก็มีจิตอื่นเกิดรู้รูปที่ยังไม่ดับ จนเมื่อรูปนั้นดับแล้ว จิตไม่สามารถที่จะมีรูปนั้นเป็นอารมณ์ต่อไปได้ ซึ่งในระหว่างจิตตั้งแต่เห็นจนกระทั่งถึงรูปดับ มีความติดข้องพอใจในสิ่งที่ปรากฏ นี่คือความจริงเดี๋ยวนี้ ซึ่งถ้าไม่พูดถึงจะไม่รู้เลยว่า อกุศลทั้งหลายมีมาก เพราะรู้เพียงว่า ขณะนี้กำลังเห็น แต่จะไม่รู้ถึงความติดข้องในสิ่งที่ปรากฏให้เห็น ถูกต้องไหม รู้แต่เพียงว่า เห็น

    เพราะฉะนั้น ก็แสดงให้เห็นว่า นอกจากอวิชชายังมีตัณหา เพราะว่า มีความพอใจในสิ่งที่ปรากฏ แล้วมีอุปาทาน การยึดมั่นในสิ่งที่ปรากฏว่า เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ไม่ดับ ที่เที่ยง ที่กำลังพอใจอยู่ ด้วยเหตุนี้ธรรม ๔ ประการ คือ อวิชชา ตัณหา และอุปาทาน เปรียบเสมือนมารดา คือ เพิ่มขึ้นมาอีกจากที่ว่า อวิชชารวมทั้งตัณหา และอุปาทานด้วย และกรรมเปรียบเหมือนบิดาเพราะว่า เป็นเหตุให้กระทำเหตุ ที่จะให้เกิดนามรูป ถ้ามีความเข้าใจอย่างนี้จะเข้าใจข้อความนั้นได้ และจะจำได้ด้วย เพราะว่า กำลังเป็นความจริงในขณะนี้ว่า มีทั้งมารดา และบิดาใช่ไหม มารดา คือ อวิชชา มีแน่นอน และตัณหา และอุปาทาน เท่านั้นยังไม่พอ ยังมีเจตนาซึ่งเกิดในขณะที่เป็นกุศลหรืออกุศล ซึ่งเปรียบเสมือนบิดา คงไม่มีความสงสัยในพยัญชนะนี้แต่ว่า ข้อความในพระไตรปิฏกกว้างขวาง เพราะแสดงโดยนัยของธรรม ๔ ประการที่ทำให้เกิดมี อวิชชา ตัณหา อุปาทาน เปรียบเสมือนมารดา และกรรมเปรียบเสมือนบิดา ขณะนี้มีอวิชชา และเมื่อไม่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงก็มีความติดข้องในสิ่งที่ปรากฏ ซึ่งความจริงเกิดแล้วดับแล้ว ไม่กลับมาอีกเลย


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 184
    12 ม.ค. 2567