พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 721


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๗๒๑

    ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๒๒ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๔


    อ.กุลวิไล ท่านผู้ถามขอทราบแนวทางในการศึกษาธรรมอย่างไร ไม่ให้เห็นผิด และท่านใส่ข้อความวงเล็บว่า รู้ได้อย่างไรว่า เราเข้าใจในธรรมถูกต้อง

    ท่านอาจารย์ คือ ต้องฟัง ซึ่งสิ่งที่ได้ฟังกำลังมีอยู่ในขณะนี้ด้วย เพราะฉะนั้น ธรรมที่กำลังปรากฏ เมื่อเข้าใจขึ้นนั่นก็คือ ไม่ต้องไปคิดว่า ทำอย่างไร กำลังฟังเดี๋ยวนี้ไม่ใช่ทำอย่างไร แต่ฟังแล้วก็รู้ว่า ขณะนี้พูดถึงสิ่งที่กำลังมีในขณะนี้จริงๆ ให้เข้าใจขึ้น หมายความว่า ก่อนนั้นไม่ได้เคยรู้ความจริงของสิ่งที่มีจริงๆ ในขณะนี้เลย

    ด้วยเหตุนี้ เกิดมาแล้วทุกอย่างก็ผ่านไป ตั้งแต่เกิดจนตาย มีขณะไหนบ้างที่ยังคงอยู่ เมื่อวานนี้ แล้วทุกอย่างก็ผ่านไป วันนี้อีก มีแล้ว และกำลังจะมีทั้งวันเลย แล้วทุกอย่างก็ผ่านไป เห็นอะไรบ้าง ได้ยินบ้าง คิดนึกบ้าง รู้สิ่งที่ปรากฏบ้าง สุขทุกข์บ้าง แล้วก็ผ่านไป เป็นการที่ไม่รู้อะไรเลย หมดทุกสิ่งทุกอย่างที่เคยจำ เป็นเรื่องเป็นราวในขณะที่กำลังหลับสนิท

    เพราะฉะนั้น ชีวิตก็เหมือนกับการหลับสนิท ตื่นชั่วคราวเพื่อเห็น ตื่นชั่วคราวเพื่อได้ยิน เพื่อคิดนึกแล้วทุกอย่างก็ผ่านไป แล้วก็ไม่มีอะไรเหลือ เพราะฉะนั้น ถ้าไม่ได้เข้าใจความจริงอย่างนี้ก็เข้าใจว่า มีตัวตน มีเราคิดว่า จะทำอย่างนั้นก็ได้ อย่างนี้ก็ได้ ซึ่งตามความจริงแล้วคือว่า แม้แต่ตาย และเกิด ใครเลือกได้ ใครทำได้ เช่น ตายเดี๋ยวนี้ทำอย่างไร ทำได้ไหม หรือว่า เกิดมาแล้วจะให้เกิดเป็นอย่างไรต่อไป ทำได้ไหม ก็ไม่ได้ แต่สามารถที่จะเข้าใจความจริงว่า ความจริง คือ มีแต่ธรรมซึ่งเป็นธาตุแต่ละอย่าง ซึ่งละเอียดมากหลากหลายเกินที่จะกล่าวถึงได้ เพราะแม้แต่ ขณะนี้เหมือนกับว่า ในห้องนี้มีคนมากแต่ละหนึ่งๆ แต่ละหนึ่งก็ยังแยกเป็นอีกแต่ละ ๑ ขณะจิต และแต่ละ ๑ ของรูปซึ่งเกิดเพราะเหตุปัจจัย เพราะฉะนั้น ถ้าไม่มีความเข้าใจอะไรเลยก็จะต้องมีการเกิดอีก เหมือนอย่างที่เกิดมาแล้วในชาตินี้ และจะต้องมีสุขมีทุกข์เหมือนที่กำลังมีในชาตินี้ไม่จบสิ้น เพราะฉะนั้น การที่สามารถที่จะเข้าใจความจริง ไม่ได้เสียหายอะไรเลย รู้อะไรก็รู้ได้ แต่สิ่งที่รู้มาแล้วทั้งหมดจริงหรือไม่

    เพราะฉะนั้นแม้แต่ขณะนี้จะพูดถึงคำอะไรก็ตาม เข้าใจคำนั้นจริงๆ หรือไม่ พูด แต่ไม่รู้ว่าหมายความถึงอะไร เช่น ขณะนี้มีจิตเห็น มีแน่ๆ กำลังเห็นด้วย และก็พูดเรื่องนี้ด้วย แต่ว่ารู้ลักษณะของธาตุซึ่งเป็นธรรมที่เกิด และกำลังรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่กำลังปรากฏหรือไม่ แม้แต่สิ่งเดียวที่มีในขณะนี้ ก็สามารถที่จะกล่าวถึงโดยนัยประการต่างๆ ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้ถึง ๔๕ พรรษา ให้ผู้ฟังค่อยๆ สะสม ไม่ใช่ว่า ทำอย่างไร จะทำอะไร จะทำทำไม แต่เข้าใจสิ่งที่กำลังมีในขณะนี้ทีละเล็กทีละน้อยไปเรื่อยๆ จนกว่าจะถึงการไม่สงสัย แล้วสามารถรู้ความจริงของสิ่งที่กำลังปรากฏ มีใครไม่ต้องการความจริงบ้างไหม ชอบอะไรที่หลอกลวง หรือไม่ ลวงให้เห็นว่าเป็นคน ลวงให้เห็นว่าเป็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ นั่นคือไม่ได้รู้ความจริง แต่ถ้ารู้ความจริงก็ลวงต่อไปไม่ได้ แต่เป็นปกติ คือ เคยเห็นเป็นอย่างไรก็ต้องเห็นเป็นอย่างนั้น แต่สามารถที่จะเข้าใจถูกได้ ว่าที่เห็นเป็นอย่างนี้ไม่ใช่เรา แต่เป็นธรรมสามารถเกิดขึ้นรู้ คือ เห็นแล้วก็คิดนึกต่างๆ ตลอดชีวิต

    อ.กุลวิไล ทุกอย่างก็ผ่านไป เช่น “เวลา” นี้เห็นชัดเลย วันนี้ ขณะนี้ ก็กำลังจะผ่านไป เมื่อวานนี้ก็ไม่ได้กลับมา ถ้าเราดูเวลา ชั่วโมง วินาที ทุกอย่างผ่านไปหมด และแน่นอนสิ่งเหล่านี้การเกิด การตาย เลือกไม่ได้ เห็นชัดว่า ถ้าเราเลือกได้ เราคงอยากเลือกเกิด มีรูปสวย รวยทรัพย์ ๐๕.๐๒

    ท่านอาจารย์ แต่น่าคิด ทุกอย่างก็ผ่านไปแล้ว แล้วอะไรที่ผ่านไป ดี หรือชั่ว คิดบ้าง หรือไม่ นั่นเป็นเหตุที่จะทำให้เกิดผลคือ มีการเห็นต่อไปมี การได้ยิน การได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ยับยั้งไม่ได้ เพราะเมื่อเหตุมีผลก็ต้องมี เพราะฉะนั้น ถึงแม้ว่า แล้วทุกอย่างก็ผ่านไป แต่ว่าสามารถที่จะเห็นความจริงไหมว่า ทุกอย่างที่ผ่านไป เป็นกุศล หรือเป็นอกุศล

    เพราะฉะนั้น ปัญญาก็สามารถที่จะทำให้เข้าใจถูกต้องว่า อกุศลเป็นโทษแน่นอน ในขณะที่เกิดทำร้ายใคร ทำร้ายจิตที่กำลังเป็นอกุศลในขณะนั้น และยังทำร้ายต่อไปอีกถึงคนอื่นอีกมากมายด้วยตามกำลังของอกุศลนั้นๆ เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ว่า หาวิธีศึกษาอย่างไร แต่ฟังเข้าใจสิ่งที่กำลังฟัง กำลังพูดถึงสิ่งที่มีจริงๆ ให้ค่อยๆ เข้าใจถูกต้องขึ้น

    อ.กุลวิไล ท่านกล่าวด้วยว่า ธรรมก็เป็นสิ่งที่มีจริง แต่ก็บอกไม่ได้ว่า ขณะนี้อะไรเป็นธรรม หรือว่าถึงแม้นบอกก็เหมือนกับการจำชื่อ หรือจำเรื่องราว แต่ตัวจริงของธรรมที่ปรากฏในขณะนี้ ลึกซึ้งแล้วก็รู้ยาก

    ท่านอาจารย์ ก็น่าแปลก พบทุกวัน เจอทุกวัน แต่ไม่รู้จัก มีสิ่งที่ปรากฏให้เห็นทุกวันก็ไม่รู้จัก มีเสียงปรากฏก็ไม่รู้จัก ไม่รู้จักสิ่งที่กำลังเผชิญหน้าทั้งทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่รู้จักหมดเลย แต่จะเข้าใจอย่างนี้ก็ต่อเมื่อเริ่มฟังธรรมแล้วเข้าใจขึ้น

    อ.กุลวิไล แล้วขณะนี้อะไรเป็นธรรม อาจจะบอกได้ แต่ไม่รู้ว่า เป็นธรรมอย่างไร

    ท่านอาจารย์ รู้จักคุณอรรณพไหม มาแล้ว รู้จักแล้ว เมื่อสักครู่ไม่รู้จักอะไรเลย แม้แต่สิ่งที่กำลังเผชิญหน้า ทั้งทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แต่พอถามว่า รู้จักคุณอรรณพไหม รู้จัก แต่ว่า รู้จักธรรมไหม มีสิ่งที่ปรากฏให้เห็น แน่นอน ถ้าไม่มีมหาภูตรูปทั้ง ๔ พร้อมทั้งสิ่งที่สามารถกระทบจักขุปสาท หลากหลายจนจำได้ว่า นี่คือคุณอรรณพ นี่คือ ธรรมจริงๆ กว่าจะรู้จริงๆ อย่างนี้ก็คือว่า มีความเข้าใจที่มั่นคงจริงๆ

    เมื่อศึกษาธรรม คือ เข้าใจสิ่งที่กำลังมีในขณะนี้ ทีละเล็กทีละน้อยเพิ่มขึ้น เพราะฉะนั้น ฟังธรรมจนกว่าจะเข้าใจ ไม่ได้พูดเล่น พูดจริงๆ ที่จะสามารถระลึกได้ในขณะที่เห็นว่า ขณะนี้เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏให้เห็น ทุกคำจริง จนกว่าปัญญาค่อยๆ เจริญจนรู้ว่า เข้าใจอย่างนั้นจริงๆ ตามที่ได้ฟัง เวลาที่ปัญญาสามารถที่จะรู้จักสิ่งที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง เพราะว่า ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีตัวตน ประเดี๋ยวก็ลืม ก็มีคนนั้น คนนี้ แต่ว่า เมื่อไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีตัวตน อะไรมี ก็คือ ธรรมแต่ละอย่างมีจริงๆ แล้วก็ปรากฏให้รู้ได้แต่ละทาง

    ถ้าทุกท่านขณะนี้หลับตา เป็นผู้ที่ตรง และจริงใจ มีอะไรปรากฏ คุณอรรณพบอกว่า ดำๆ แดงๆ ก็ได้ก็แล้วแต่ มีคนปรากฏ หรือเปล่า มีเราที่กำลังนั่งอยู่ หรือเปล่า นี่คือคำตอบของธรรมว่า ไม่มีอะไรเลยนอกจากธรรม ๑ ที่ปรากฏ แล้วทำไมเราจำไม่ลืมเลยว่าเป็นเรา เป็นเขาเป็นวัตถุสิ่งหนึ่งสิ่งใดตลอดเวลา และกว่าจะค่อยๆ เข้าใจพระธรรมว่า จริงอย่างที่ได้ทรงแสดงไว้เพราะการตรัสรู้ ก็แสดงว่า กำลังเดินทาง คือ อบรมปัญญาที่จะให้รู้ความจริงอย่างนี้ เป็นอย่างอื่นไม่ได้เลย

    เพียงแค่หลับตาทุกคนเหมือนกันหมด ก็ไม่มีเราที่กำลังนั่งอยู่ที่นี่ ใช่ไหม ไม่มีเขา ไม่มีอะไรเลย แล้วทำไมไม่เข้าใจให้ถูก เห็นไหม เมื่อความจริงเป็นอย่างนี้ แล้วทำไมไม่เข้าใจให้ถูก ว่าไม่มีจริงๆ จำไว้ทำไม ว่ายังมีอยู่ นี่เห็นแล้วว่า เราจะเข้าใจจริงๆ ได้ว่า ธรรมตรง แต่ขึ้นอยู่กับปัญญา เพราะฉะนั้น ไม่ได้เปลี่ยนอะไรเลยสักอย่าง ไม่ว่าจะหลับตา หรือลืมตา ธรรมก็เป็นธรรมซึ่งเป็นอย่างนั้น แต่ความไม่รู้มากมาย จนกระทั่งทั้งๆ ที่ไม่มีอะไรก็ยังมี ใช่ไหม มีเราอยู่ที่นั่น ยังไม่ลืม และถ้าเป็นคนช่างคิดก็ยังจำได้ แขนขาเป็นอย่างไร อยู่ตรงไหน ก็ไปจำในสิ่งที่ไม่มี ไม่ได้ปรากฏ

    เพราะฉะนั้น กว่าจะเข้าใจจริงๆ ว่า ทุกอย่างเป็นธรรมชั่วคราว เมื่อมีปัจจัยจึงเกิดเป็นอย่างนั้น ไม่เป็นอย่างอื่น อะไรก็ตามที่กำลังเป็นจริงขณะนี้ ปัญญาเท่านั้นที่สามารถที่จะรู้ได้ว่า เป็นจริงอย่างนี้จริงๆ ไม่ได้เป็นอย่างที่เราคิดเลยว่า ยังมีเรา หรือยังมีห้องนี้ หรือยังมีอะไร มิฉะนั้นแล้วก็ไม่สามารถที่จะละการยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด หรือเป็นเราได้

    เพราะฉะนั้น ก็ยังห่างไกลกับ “ปฏิเวธ” เพราะว่า ขั้นนี้เป็นขั้น “ปริยัติ” เพียงฟังให้เข้าใจความจริงของสิ่งที่มีจริงที่กำลังปรากฏ และก็ยังไม่ถึง “ปฏิปัตติ” หรือถ้าผู้ใดจะถึงก็ตามเหตุตามปัจจัย ไม่ใช่เพราะอยาก เพราะหนทางนี้เป็นหนทาง ละความติดข้อง ถ้ายังคงติดข้องอยู่ก็บังหมดเลย กลายเป็นมีเราที่ต้องการจะรู้แต่รู้ไม่ได้เลย

    เพราะว่าขณะนั้นไม่ได้เข้าใจความจริง ตามความเป็นจริงทีละเล็กทีละน้อย เพราะฉะนั้น การฟังพระธรรม เพื่อสะสมความเห็นถูกความเข้าใจถูกจนกว่าจะถึงการประจักษ์แจ้ง ด้วยความเข้าใจในสิ่งที่มี เป็นปกติอย่างนี้เลย ไม่ว่าจะหลับตา หรือลืมตาก็ละ “สักกายทิฏฐิ” คือ การจำว่า ยังมีเรา หรือว่ายังมีสิ่งหนึ่งสิ่งใด มิฉะนั้นก็จะไม่ถึงความหมายที่ว่า ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง เกิดขึ้น และดับไป เมื่อดับแล้วจะเหลืออะไร ก็ต้องไม่เหลือ ความจริงก็เป็นอย่างนี้ จนกว่าความไม่รู้ และความติดข้องจะค่อยๆ คลายลดน้อยลง ความจริงก็จะปรากฏอย่างนี้ แต่เป็นปัญญาที่สามารถที่จะเข้าถึงความจริง ด้วยความมั่นคงได้ รู้ว่า มีกิเลสมากๆ มีความไม่รู้มากๆ จะได้ไม่ประมาทอกุศลแม้เพียงเล็กน้อย ประมาทไม่ได้เลยว่า อกุศลมากแค่ไหน แต่ว่า จากการฟังก็ค่อยๆ เข้าใจขึ้น

    เพราะฉะนั้นก็สะสมความเข้าใจเพิ่มขึ้น เป็นการละความหวังที่อยากจะรู้แจ้ง อริยสัจจธรรมโดยไม่เข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้น ที่สำคัญที่สุดก็คือ ฟังแล้วก็ค่อยๆ เข้าใจสิ่งที่มีจริงๆ ตามปกติ ตามความเป็นจริง

    อ.กุลวิไล ผู้ถาม ถามข้อที่ ๒ ต่อมาคือ รู้ได้อย่างไรว่า เราเข้าใจในธรรมถูกต้อง

    ท่านอาจารย์ คนอื่นจะรู้ไหมว่า คนที่กำลังได้ยินเข้าใจแค่ไหน

    อ.กุลวิไล ไม่ทราบ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ผู้ตรงจะได้สาระจากธรรม ทุกคำที่ได้ยิน ไตร่ตรอง เป็นธรรม ไม่ใช่เรา เข้าใจคือเข้าใจ ไม่เข้าใจคือไม่เข้าใจ สงสัยคือสงสัย คือทุกอย่างเป็นธรรมทั้งหมด ให้รู้ความจริงว่า ไม่ได้ส่งเสริมให้ไปต้องการเข้าใจ หรือมีความรู้มากๆ โดยเป็นของคนอื่น แต่ละคนที่ฟังๆ แล้วก็รู้จริงๆ ว่า เข้าใจสิ่งที่ได้ยิน ได้ฟัง มากน้อยแค่ไหน

    อ.อรรณพ ท่านอาจารย์กล่าวเสมอว่า ถ้าไม่เป็นผู้ตรงก็จะไม่ได้รับสาระจากพระธรรม เรียนถามว่า การตรงต่อธรรม ตรงอย่างไร

    ท่านอาจารย์ คือตรงเวลาที่ใช้คำว่า “สติ” ตรงเวลาที่ใช้คำว่า “ปัฏฐาน” พูดคำที่ไม่รู้จัก ตรงไหม พูดคำว่า “สติปัฏฐาน” แต่ไม่รู้จักสติปัฏฐาน

    อ.อรรณพ ไม่ตรง

    ท่านอาจารย์ เหมือนกับรู้จักใช่ไหม แต่ถาม แสดงว่า ไม่ได้เข้าใจสติปัฏฐาน เพราะฉะนั้น ใช้คำว่า สติปัฏฐานแต่ไม่ตรง เป็นผู้ที่ไม่รู้คำว่า “สติ” และ “ปัฏฐาน” แต่ก็ใช้คำว่า “สติปัฏฐาน” นี่คือ ความไม่ตรง คือ เป็นผู้ไม่รู้คำที่พูด ไม่รู้คำว่า “สติ” ไม่รู้คำว่า “ปัฏฐาน” ไม่รู้คำว่า “สติปัฏฐาน” แต่พูดคำว่า “สติปัฏฐาน” เป็นผู้ตรงไหม พูดคำที่ไม่รู้

    อ.อรรณพ ก็ไม่ตรง

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น จะได้สาระไหม พูดไปเถอะ กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน อะไรก็ไม่รู้ ใช่ไหม ตรงไหม เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน อะไรก็ไม่รู้แล้วพูดทำไม ตรงไหม เพราะฉะนั้น ถ้าเพียงพูด ตรงไหม พูดคำที่ไม่รู้ เพราะฉะนั้น ผู้ตรง คือ ตรงกับความไม่รู้ว่า ยังไม่รู้ว่า สติคืออะไร ยังไม่รู้ว่า ปัฏฐานคืออะไร นี่คือผู้ตรง เพราะฉะนั้น ฟังเพื่อเข้าใจ จะได้พูดคำว่า สติปัฏฐานด้วยความตรง คือ เข้าใจในคำนั้นถูกต้อง

    อ.อรรณพ ความตรงต่อพระธรรม เพราะพระธรรมคือ คำสอน ไม่ว่า จะคำสอนเรื่องสติปัฏฐานแล้วต้องเป็นผู้ตรงว่า ยังไม่เข้าใจก็ศึกษาแล้วก็เข้าใจถึงจะตรง

    ท่านอาจารย์ เข้าใจก็เข้าใจ ไม่เข้าใจก็ไม่เข้าใจ สงสัยก็คือสงสัย นั่นคือ ผู้ตรง ไม่ใช่คิดว่า เข้าใจแล้วถามเรื่องสติปัฏฐาน แต่ถามว่า สติคืออะไร ปัฏฐานคืออะไร ก็ตอบไม่ได้

    อ.อรรณพ ความตรงนี้มุ่งถึงจุดประสงค์ในการศึกษาด้วยใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ แน่นอน ศึกษาทำไม เพื่อเข้าใจธรรม นั่นคือตรง แต่ถ้าไม่ใช่เพื่อเข้าใจสิ่งที่กำลังฟัง ไม่ตรงแน่

    อ.คำปั่น กราบเรียนถาม ถึงความเข้าใจธรรมที่มีจริงในชีวิตประจำวัน ซึ่งเมื่อสักครู่ท่านอาจารย์ได้กล่าวว่า ทุกคำในพระไตรปิฎกคือขณะนี้ ขอนำข้อความจากพระไตรปิฎกมากราบเรียนถาม ซึ่งการแสดงธรรมของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น พระองค์ทรงแสดงพระธรรมไปตามอัธยาศัยของผู้ฟังผู้ศึกษาซึ่งมีหลายส่วน หลายพระสูตรที่แสดงว่าพระองค์ทรงแสดงอนุปุพพิกถาก่อน คือแสดงเรื่องทานเรื่องศีล เรื่องสวรรค์โทษของกาม และอานิสงส์ของการออกจากกาม เมื่อจิตของผู้ฟังนั้นมีความอ่อน มีความควรแก่การงาน พระองค์ก็ทรงยกอริยสัจจ์ ๔ ขึ้นแสดง และหลังจากนั้นผู้ที่ได้ฟังได้ศึกษานั้น มีความเข้าใจธรรมตามความเป็นจริงสามารถรู้แจ้งธรรม มีดวงตาเห็นธรรมเกิดขึ้นว่า “สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดาสิ่งนั้นทั้งปวงล้วนมีความดับไปเป็นธรรมดา” กราบเรียนถาม ถึงข้อความที่บอกว่าสิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดาสิ่งนั้นทั้งปวงล้วนมีความดับไปเป็นธรรมดา

    ท่านอาจารย์ เดี๋ยวนี้มีไหม สิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิด หรือเปล่า เป็นธรรมดา หรือเปล่า แล้วดับ หรือเปล่า เพราะฉะนั้น ไม่ใช่รู้อย่างอื่นเลย ถ้าศึกษาธรรมแล้วก็ต้องมีความเข้าใจที่มั่นคงเป็นสัจจญาณ ขณะนี้เป็นธรรม อย่างอื่นไม่มีปรากฏนอกจากสิ่งที่กำลังปรากฏ และเป็นผู้ตรงว่า เข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏว่า เป็นธรรมจริงๆ หรือยัง หรือได้ยินว่า เป็น เห็นเป็นธรรม ได้ยินเป็นธรรม สิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นธรรม เสียงเป็นธรรม นี่คือได้ยิน ได้ยินแล้วขณะที่สิ่งนั้นกำลังปรากฏ เข้าใจธรรม เกิดแล้วก็ดับใช่ไหม เช่น เสียงปรากฏแล้วก็หมดไป นี่คือการเริ่มค่อยๆ เข้าใจลักษณะของสภาพธรรม ซึ่งต้องตรงใช่ไหม กับสิ่งหนึ่งสิ่งใดมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นก็มีความดับเป็นธรรมดา

    อ.คำปั่น ซึ่งก็คือสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ คือสิ่งหนึ่งสิ่งใดซึ่งจะไม่ปะปนกัน เพราะว่าเป็นธรรมที่มีจริงแต่ละอย่างๆ เพราะว่ากว่าที่จะไปถึงการที่จะประจักษ์แจ้งสภาพธรรมที่เป็นพระนิพพาน คือไม่เกิดไม่ดับ ก็ต้องมีความเข้าใจธรรมที่มีจริงที่เกิดดับในขณะนี้ก่อน

    ท่านอาจารย์ ถ้าฟังมานาน นานมากแสนกัปป์สงสัยไหม สิ่งที่กำลังปรากฏเกิดดับ เช่น ท่านพระสารีบุตรได้ฟังท่านพระอัสสชิพูดถึงสิ่งที่กำลังมีในขณะนั้น แต่ถ้าไม่ได้สะสมความเข้าใจถูก แล้วแต่ แต่ละท่านขณะนี้ก็จะรู้ด้วยตัวเองว่าสะสมความเข้าใจเรื่องราว แต่ว่าลักษณะของสภาพธรรมจริงๆ ก็ยังไม่ปรากฏเหมือนยังไม่ตื่น ใช่ไหม ได้ฟังเหมือนฟังในฝันแต่ไม่รู้ตรงลักษณะของสภาพธรรมหนึ่งสภาพธรรมใด จะชื่อว่าตื่น หรือก็ยังคงเป็นเรื่องราวเหมือนเดิม ยังคงเป็นเราฟังธรรมเหมือนเดิม ยังเป็นเราเริ่มจะเข้าใจธรรม แต่ว่าลักษณะของธรรมจริงๆ ที่ปรากฏขณะนั้นไม่ได้รู้เฉพาะทีละอย่าง ไม่ได้ตื่นขึ้นมารู้แข็งขณะ ๑ ในสังสารวัฏฏ์แน่นอน เพราะแข็งปรากฏ ชอบก็เป็นขณะหนึ่งในสังสารวัฏฏ์ ถ้าจะเข้าใจคำว่า “สังสารวฏฺฏ” ก็คือการเกิดดับสืบต่อ ไม่มีระหว่างคั่น วนเวียนเดี๋ยวเห็น เดี๋ยวได้ยิน เดี๋ยวได้กลิ่น เดี๋ยวลิ้มรสเดี๋ยวรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส จริง หรือเปล่า ใช่ไหม ก็คือ ฟังแล้วค่อยๆ เข้าใจขึ้น

    เพราะฉะนั้น ก็จะรู้ว่าจะไปทำอะไรที่ไหนไปคิดว่าจะรู้อย่างไร นั่นคือคิด แต่ว่ามีสิ่งที่กำลังปรากฏแล้วก็ฟังเพื่อจะเข้าใจให้มั่นคงจริงๆ ว่าขณะนี้ธาตุรู้มีแน่ ไม่ใช่มีแต่เฉพาะสิ่งที่กำลังปรากฏให้เห็น ธาตุรู้กำลังเห็น ธาตุรู้ คือได้ยินมีแน่เพราะเสียงปรากฏ เสียงปรากฏเมื่อไหร่ ต้องมีธาตุที่กำลังได้ยินเสียง ที่เป็นธาตุรู้เสียงนั้น ไม่ใช่เสียงอื่นในขณะนั้น รู้ลักษณะของเสียงที่ปรากฏ ถ้าฟังแล้วเข้าใจ ก็จะรู้ว่ากำลังรู้เรื่องแต่ไม่ใช่เข้าใจลักษณะที่กำลังได้ยิน หรือลักษณะของเสียง จนกว่า นานเท่าไหร่ก็แล้วแต่ปัจจัยสามารถจะค่อยๆ เข้าใจขึ้นจนกระทั่งเป็นความเข้าใจที่ไม่สงสัย สามารถที่จะละคลายการยึดถือว่าเป็นเรา

    เพราะฉะนั้น กว่าจะถึงวันนั้น ก็คือการสะสมความเห็นถูกความเข้าใจถูก ซึ่งถ้าชาตินี้ไม่มีจะไปเอาความเห็นถูกนั้นมาจากไหน แต่ละชาติๆ ก็คือสะสมอะไรบ้าง แล้วทุกอย่างก็ผ่านไป อะไรบ้างที่สะสมมา แต่ละขณะในชีวิตจริงๆ ที่ผ่านไปๆ นี้ก็ทำให้สามารถที่จะค่อยๆ เข้าใจธรรมด้วยความละ ความยึดถือว่าเป็นตัวตนไม่ใช่ด้วยความต้องการว่า “เมื่อไหร่เราจะรู้อย่างนี้?” นั่นก็คือไม่ได้เข้าใจธรรม

    อ.คำปั่น ที่กล่าวถึงการสะสมปัญญานี้ ก็แสดงให้เห็นถึงอย่างชัดเจนเลย ที่ยกตัวอย่างเรื่องของท่านพระสารีบุตร ซึ่งในชาติสุดท้าย ก่อนที่จะได้ฟังพระธรรมจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านก็ได้รับฟังพระธรรมจากพระภิกษุปัญจวัคคีชื่อว่า พระอัสสชิซึ่งก็แสดงธรรมสั้นๆ เกี่ยวกับความเป็นจริงของธรรม ที่กำลังมีกำลังปรากฏในขณะนั้น ซึ่งท่านพระสารีบุตรท่านได้สะสมการฟังพระธรรมมา ๑ อสงไขยแสนกัปป์

    จากที่ท่านอาจารย์ได้ถามว่า ผู้ที่สะสมปัญญามาแล้ว พอได้ฟังพระธรรมท่านจะสงสัย หรือไม่ ซึ่งในขณะนั้นมีความสมบูรณ์พร้อมของปัญญา ที่จะประจักษ์แจ้งสภาพธรรมที่กำลังมี กำลังปรากฏในขณะนั้น

    อ.วิชัย เมื่อกล่าวถึงนามธรรมคือ จิต และเจตสิก คือ มีปัจจัยเกิด เมื่อเกิดแล้วดับไปแล้ว ความดับไปของจิต และเจตสิกคือ กล่าวด้วยความไม่มีระหว่างคั่น แก่จิตอีกขณะ ๑ ก็ทราบว่า นามธรรมโดยความสามารถ หรือความเป็นปัจจัยของนามธรรม คือ จิต และเจตสิก เมื่อดับไปแล้วสามารถที่จะเป็นปัจจัยให้จิต และเจตสิกอีกขณะ ๑ เกิดขึ้น ถ้ากล่าวโดยความเป็นปัจจัยก็คือ โดยความเป็น ”อนันตรปัจจัย” คือ เป็นปัจจัยโดยไม่มีระหว่างคั่น ความหมาย หรือคำว่า ไม่มีระหว่างคั่น

    ท่านอาจารย์ ทันทีเลย ทันทีที่จิตขณะก่อนปราศไปโดยสิ้นเชิง ไม่มีอีกต่อไปทั้ง ๓ อนุขณะ คือ “อุปปาทะ” “ฐิติ” “ภังคะ” ก็เป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิดสืบต่อทันที ไม่มีระหว่างคั่น ไม่มีช่องว่าง


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 184
    22 ก.พ. 2567