พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 751


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๗๕๑

    ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ ๒๕ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๔


    ท่านอาจารย์ มีเห็น และก็มีจำ และก็มีคิด แต่ว่าทั้งหมดเกิดแล้วดับ เป็นแต่ละหนึ่งๆ ซึ่งเมื่อรวมกันตราบใดก็เข้าใจว่า เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ถ้ามี จิต เจตสิก ก็เข้าใจว่า เป็นคน เป็นสัตว์ต่างๆ ถ้าไม่มีก็เป็นวัตถุสิ่งต่างๆ แต่ความจริง คือ รูปนั้นเกิดดับ แต่ว่าถ้ารูปนั้นเปลี่ยนแปลง นิมิตเราก็พอที่จะรู้ได้ว่า ไม่เหมือนเดิม แต่ถ้าไม่เปลี่ยนก็ยังคงเป็นบุคคลที่เราจำไว้นั่นเอง ถ้าคุณอรวรรณเดินออกไปนอกห้อง ใครยังเห็นคุณอรวรรณบ้าง ไม่มีธาตุ ดิน น้ำ ไฟ ลม ไม่มีสีที่ปรากฏกระทบตาเป็นนิมิตสัณฐานจึงไม่มีคุณอรวรรณ แต่ความจริงที่เป็นคุณอรวรรณเพราะธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม สี กลิ่น รส โอชา จิต เจตสิก ที่อยู่ ในที่สุด ก็ทำให้ยังคิดว่า เป็นบุคคลที่เราจำได้ ว่าเป็นคนนี้ไม่ใช่คนอื่น แต่เห็นก็คือเห็น สิ่งที่ปรากฏทางตาก็เกิดดับ

    เพราะฉะนั้น ขณะนี้คุณอรวรรณจะนึกถึงญาติพี่น้องที่บ้าน แต่ไม่มีรูปร่างสัณฐานปรากฏเลย แต่จำไว้ว่า คนนั้นหน้าตาอย่างนี้ คนนี้หน้าตาอย่างนั้น ไม่ใช่คนเดียวกัน เพราะฉะนั้น พอเห็นอีกที รูปนี้ก็จะได้ว่า เป็นคนนี้ รูปนั้นก็จำได้ว่า เป็นคนนั้น เพราะสัณฐาน นิมิตที่จำไว้นั่นเอง แต่ความจริงรูปที่ปรากฏหลังจากที่จากกันแล้วไม่ใช่รูปเดียวกัน

    ผู้ฟัง เคยได้ยินท่านอาจารย์ได้บรรยายถึงเกี่ยวกับภวาสวะ ขณะที่เกิดมาในภพภูมินี้ ก็มีความพอใจที่จะเกิดขึ้นมาเพื่อเห็น เพื่อได้ยิน ฉะนั้นขณะที่เห็น ได้ยิน ทุกครั้งก็ยังติดข้องในความเป็นคนนี้อยู่ ขณะที่เห็นก็ยังเป็นภวาสวะอยู่ ยังไม่เข้าใจเรื่องภวาสวะ

    ท่านอาจารย์ เกิดมาแล้วต้องเป็นอย่างหนึ่งอย่างใดใช่ไหม

    ผู้ฟัง เกิดมาก็ต้องเป็นอย่างหนึ่งอย่างใดที่จะต้องเห็น ต้องได้ยิน

    ท่านอาจารย์ พอใจที่จะเป็นอย่างนี้ไหม

    ผู้ฟัง พอใจ

    ท่านอาจารย์ ภวาสวะในความเป็น แต่เนื่องจากในภพภูมิของ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เราจะติดข้องในอะไร เราก็ติดข้องใน รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ที่ตัวคุณเมตตามีรูปไหม

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ ติดข้องในรูปของคุณเมตตาไหม

    ผู้ฟัง ติดข้อง

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่มีความเป็นคุณเมตตา จะติดข้องในรูปที่เป็นคุณเมตตาไหม ที่เข้าใจว่า เป็นของคุณเมตตาไหม

    ผู้ฟัง ถ้าไม่มีรูปก็ไม่ติดข้อง

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ขณะนั้นก็เป็นความพอใจในความเป็น แต่เป็นอะไร เป็นรูปก็ไม่พ้นจากกามาสวะ เพราะฉะนั้น ภูมิที่ไม่ใช่กามาสวะ ก็ต้องเป็นภูมิที่เป็นรูปพรหมภูมิ อรูปพรหมภูมิ ไม่มีความยินดีติดข้องใน รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ แม้ว่า ยังมีรูปคือ มีสิ่งที่ปรากฏ มีเสียงที่ปรากฏ แต่ว่าความมีความเป็นของความเป็นรูปพรหม เป็นที่พอใจในความเป็นอย่างนั้น จึงมีเหตุที่จะทำให้เกิดเป็นอย่างนั้นได้ เพราะฉะนั้น ในภพภูมิที่มี รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะก็มีความเป็นใน รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ซึ่งความยินดีในความเป็น ก็คือ ภวาสวะ แต่เมื่อเป็นใน รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ก็จำแนกเป็นกามาสวะ

    อ.ธิดารัตน์ พูดถึงสัญญา ลักษณะของสัญญาก็คือ สัญญาเจตสิกซึ่งเกิดกับจิตทุกประเภท จำ แล้วก็มีอีกอย่างหนึ่งคือ ความเห็นผิด ความเห็นผิดเกิดเฉพาะกับโลภะที่ประกอบด้วยความเห็นผิด ขณะที่เป็นความเห็นผิด ขณะนั้นยึดด้วยความเห็นผิดว่า เป็นสัตว์ เป็นบุคคล ตัวตน แล้วก็มีความเที่ยง ยึดว่าเที่ยงหรือว่าขาดสูญต่างๆ ซึ่งเป็นลักษณะของความเห็นผิด เพราะฉะนั้น เวลาที่เราพูดถึงความเป็นเรา จะเป็นเราหรือว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ขณะที่มีความยึดถือว่าด้วยความเห็นผิด ขณะนั้นเป็นเราด้วยความเห็นผิด แต่เวลาที่จำๆ ว่า เป็นคนนั้นคนนี้ แต่ไม่ประกอบด้วยความยึดถือ

    เพราะฉะนั้น จึงมีทั้งความจำหรือว่าอัตตสัญญา กับขณะที่ยึดถือว่า สิ่งนั้นเที่ยง หรือว่าเป็นคน สัตว์ จริงๆ ด้วยความเห็นผิด คือ ต้องเข้าใจลักษณะของความผิดกับลักษณะของสัญญาซึ่งเป็นความจำ แล้วก็จะเข้าใจว่า ขณะไหนจำด้วยความจำ กับขณะไหนยึดถือด้วย

    อ.กุลวิไล เรียนท่านอาจารย์ถึงความเข้าใจของคำว่า อัตภาพอีกครั้งหนึ่ง เพราะว่าไม่ใช่ใครเลย ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่สิ่งของ แต่คือ ปรมัตถธรรมที่เป็น จิต เจตสิก และรูป กราบเรียนท่านอาจารย์ถึงความเข้าใจถูกของคำว่า อัตภาพ

    ท่านอาจารย์ ก็คือเดี๋ยวนี้ ซึ่งต้องเข้าใจให้ถูกต้องตามความเป็นจริงว่า ทุกอย่างที่มีจริงเดี๋ยวนี้ อัตภาพอยู่ที่ไหน อยู่ข้างนอกหรือว่าอยู่ภายในที่ตัว แม้ว่าทุกอย่างเป็นสิ่งที่มีจริงก็จริง แล้วความเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ภายนอกก็มี ภายในก็มี เพราะฉะนั้น ที่ใดก็ตามที่ยึดถือว่า เป็นเรา หรือว่าเป็นของเรา ขณะนั้นก็เป็นอัตภาพ ความมีความเป็นของบุคคลนั้นซึ่งแท้ที่จริงก็คือ จิต เจตสิก รูป นั่นเอง

    อ.กุลวิไล จะกราบเรียนท่านอาจารย์ให้ความเข้าใจแก่ผู้ที่ศึกษาว่า บางคนไม่กล้าบอกว่า เห็นดอกไม้ เห็นโต๊ะ เห็นเก้าอี้ เห็นสิ่งของ เพราะกลัวว่า จะเป็นการที่คลาดเคลื่อนจากการที่จะมีความเห็นผิด

    ท่านอาจารย์ ความเห็นไม่ใช่กับ (นาทีที่ ๖.๐๔ คำว่า "กับ" เกินมา) ว่า บอกให้ตรงแต่ยังเห็นไม่ตรง เพราะฉะนั้น ไม่ได้หมายความว่า ศึกษาธรรมเพื่อที่จะบอกให้ตรง แต่เพื่อที่จะเข้าใจความจริงที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้น ตามธรรมดาเราก็มีภาษาที่เราใช้กันอยู่ใช่ไหม เช่นคำว่า อัตภาพ เคยได้ยินบ่อยๆ ในภาษาไทย หมายความถึงคนอื่นหรือหมายความถึงใคร อัตภาพ ตัวตนของเราใช่ไหม แต่ว่า ไม่ได้มีความเข้าใจจริงๆ ว่า สภาพธรรมที่เข้าใจว่า เป็นเราหรือว่าเป็นตัวของเรา ความจริงคืออะไร

    เพราะฉะนั้น การศึกษาธรรมไม่ใช่ ให้ไม่รู้เหมือนเดิม ให้เข้าใจผิดเหมือนเดิม ให้ยึดมั่นด้วยความผูกพันเหมือนเดิม แต่เพื่อเข้าใจถูกต้องตามความเป็นจริง เป็นสัจจธรรม เพราะฉะนั้น ทุกคำที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงเพื่ออนุเคราะห์ก็เป็น “วจีสัจจะ” หรือจะใช้คำว่า “วาจาสัจจะ” ก็ได้ เป็นคำจริงที่ไม่จำเป็นต้องกล่าวถึงเรื่องราวมากมาย แต่ค่อยๆ เข้าใจทุกคำที่มีว่า หมายความถึงสภาพธรรม ขณะนี้ เดี๋ยวนี้ แม้แต่คำว่า อัตภาพ ใครจะไปแสวงหาอัตภาพ หรือเข้าใจถูกว่า เดี๋ยวนี้สิ่งที่มีจริงที่ เห็นบ้าง ได้ยินบ้าง แล้วเข้าใจว่า เป็นเราเห็น เราได้ยิน เราคิดนึก ความจริงก็เป็นธรรมซึ่งเกิดขึ้น และดับไป สืบต่อ และก็เพราะไม่รู้ตามความเป็นจริงของสภาพธรรมนั้น ก็ยึดถือสภาพธรรมนั้นว่า เป็นเรา ตั้งแต่เกิดจนถึงเดี๋ยวนี้ และจนกว่าจะตาย หรือจนกว่าจะมีความเห็นถูกตามความเป็นจริง ตรงตามที่ได้ฟัง

    เพราะฉะนั้น ฟังธรรมเพื่อเข้าใจความจริงของสิ่งที่กำลังมีจริงๆ ในขณะนี้ ไม่ว่ากำลังเห็นเป็นธรรม แต่เพราะไม่รู้ ก็เป็น “เราเห็น” เพราะฉะนั้น ก็จะเป็น “อัตภาพ” ตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า ที่เป็นรูปธรรม และนามธรรมทั้งหมด ที่เกิดขึ้นก็เป็นเราไปหมด เมื่อไม่รู้ตามความเป็นจริง โกรธเป็นอัตภาพหรือเปล่า หรือไม่ใช่ ถ้าไม่ใช่แล้วโกรธเป็นอะไร จะเอาโกรธไปอธิบายว่าอย่างไร แต่ว่า โกรธที่เคยเข้าใจว่า “เป็นเรา” เพราะมีใครบ้างที่ไม่โกรธ เวลาโกรธใครโกรธ พ้นจากเราโกรธได้ไหม โกรธเกิดขึ้นแล้วไปบอกว่า คนอื่นโกรธได้ไหม ไม่ได้ แต่ว่า ขณะที่โกรธเกิดขึ้นเป็น “เราโกรธ” แสดงว่า ไม่ได้เข้าใจตามความเป็นจริงเลยว่า โกรธมีลักษณะที่ต่างกับสภาพธรรมอื่น เช่น ความติดข้องหรือความเมตตา แต่ว่า เพราะไม่รู้ตามความเป็นจริง โกรธเกิดขึ้นก็เข้าใจว่า “เป็นเรา” เวลาที่มีเมตตาเกิดขึ้น เหมือนเดิมใช่ไหม เป็นธรรมหรือว่าเป็นเรา เป็นธรรม

    เพราะฉะนั้น เมื่อไหร่ที่เข้าใจธรรมถูกต้องตามความเป็นจริง ก็คือ ได้ฟังพระธรรมแล้วก็เข้าใจคำที่ทรงแสดงในขณะนี้ที่กำลังมี และเวลาที่มีความเข้าใจถูกแล้ว เราจะกล่าวถึงความจริงนี้ได้อีกหลากหลายมาก โดยประการทั้งปวง เพื่อให้เห็นตามความเป็นจริงว่า เป็นธรรมแต่ละอย่างซึ่งละเอียด และลึกซึ้งด้วย เช่น ขณะนี้มีใครกำลังรู้ “เห็น” บ้าง ทั้งๆ ที่กำลังเห็น มีใครเข้าใจถูกว่า เห็นขณะนี้เป็นธรรมไม่ใช่เรา มีใครเข้าใจถูกว่า เห็นเกิดขึ้นแล้วดับไป แต่ก็ดูเหมือนกับว่า มีเห็นอยู่ตลอดเวลา

    เพราะฉะนั้น ฟังเพื่อเข้าใจ และไม่ลืม จนกว่าจะมีความเห็นถูกตามความเป็นจริงว่า ทุกอย่างขณะนี้เกิดแล้ว แล้วก็ปรากฏ แล้วก็หลากหลาย ตามเหตุตามปัจจัย เพราะฉะนั้น ฟังเพื่อให้มีความเข้าใจที่มั่นคงขึ้นว่า เป็นธรรม เห็นอะไรตอบว่า เห็นดอกไม้ได้ไหม

    อ.กุลวิไล ได้

    ท่านอาจารย์ ใครไปห้ามว่า ไม่ให้พูดอย่างนี้ ไปกลัวทำไม ว่าบอกไม่ได้เดี๋ยวจะไม่เข้าใจธรรม ใช่ไหม เพราะฉะนั้น ตามความเป็นจริงเห็นดอกไม้ได้แน่นอน แต่ยังไม่ได้เข้าใจตามความเป็นจริงว่า เห็น เห็นเฉพาะสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา หลังจากนั้นแล้วต้องมีการจำ รูปร่าง สัณฐาน ของสิ่งที่ปรากฏ เมื่อจำแล้วก็คิดตามสิ่งที่ปรากฏอยู่ตลอดเวลา ขณะนี้ทราบไหมว่า กำลังเห็นอยู่แท้ๆ แต่คิดตามสิ่งที่กำลังปรากฏอยู่ตลอดเวลา ถ้ามีความเข้าใจขึ้น ก็สามารถที่จะเข้าใจความต่างของขณะที่เพียงเห็น เพื่อที่จะได้ละความไม่รู้ว่า เห็นจะเห็นดอกไม้ไม่ได้ เห็นสิ่งที่ปรากฏ แต่มีสภาพที่จำรูปร่างสัณฐานของสิ่งที่ปรากฏ แล้วก็รู้ว่าสิ่งนั้นเป็นอะไร

    ผู้ฟัง จิตเกิด และปฏิสนธิขึ้นมานั้นก็แล้วแต่ กรรมดี ทางชั่ว ที่จะให้ส่งไปเกิดใหม่ จะเป็นที่ไหนเราก็ไม่ทราบ ใช่หรือไม่ และใช้ชีวิตในรูปนั้นๆ ไปจนกระทั่งถึงจุติ จะกี่ภพกี่ชาติก็ไม่ทราบใช่ไหมเพราะว่า ในเมื่อเรายังไม่หมดกิเลสก็ไม่พ้นวัฏฏสงสาร

    ท่านอาจารย์ คำถามแบบนี้อาศัยปัญหาของพระเจ้ามิลินท์หรือพระยามิลินท์ดีไหม

    ผู้ฟัง ดี

    ท่านอาจารย์ ดีนะ เม็ดมะม่วงเม็ดหนึ่งปลูกไป มีต้นเกิดขึ้นแล้วก็มีลูก แล้วก็เอาลูกไปปลูกอีก ก็เป็นอีกต้นหนึ่ง

    ผู้ฟัง ก็ไม่ใช่ต้นเดิม

    ท่านอาจารย์ แต่มาจากไหน

    ผู้ฟัง แต่มาจากอันเดิมคือ สืบต่อเนื่องกันมา

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น แทนที่เราจะคิดถึงชาติก่อนกับชาตินี้ จิตเดี๋ยวนี้มีไหม

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ มาจากไหน

    ผู้ฟัง สืบต่อเนื่องมาจากจิตเดิม

    ท่านอาจารย์ เมื่อสักครู่นี้เอง ที่ดับไป แต่ละขณะ เพราะฉะนั้น ถ้าคิดถึง ขณะนี้ เดี๋ยวนี้ ก็สามารถที่จะเข้าใจย้อนไปได้ใช่ไหมว่า จิต หรือสภาพธรรมทั้งหลาย ที่เกิดตามเหตุตามปัจจัย เกิดแล้วก็ดับไป แล้วก็ไม่กลับมาอีก แล้วก็จะเป็นอย่างนั้นอีกไม่ได้ด้วย นี่คือ ความจริง ก็เป็นการเกิดดับสืบต่อของสภาพธรรม เพราะยังมีปัจจัยที่จะให้เกิด แล้วดับ เป็นอย่างนี้แต่ละชาติตามเหตุตามปัจจัย

    ผู้ฟัง งานที่ง่ายแล้วสบาย ไม่ลำบาก ก็คือ การฟังพระธรรมให้เข้าใจ ขอความกรุณา สนทนาตรงนี้

    ท่านอาจารย์ ถ้าธรรมไม่ยาก ต้องฟังไหม

    ผู้ฟัง ถ้าธรรมไม่ยากก็อาจจะไม่ต้องฟัง คิดเองได้

    ท่านอาจารย์ คิดเองได้ นี้ก็เป็นคำยืนยันว่า ธรรมยากแน่ จึงต้องฟัง แต่เวลาฟังคุณอรวรรณต้องเหนื่อย ไปยกน้ำ ตำข้าว ที่ไหนหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ไม่

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น สบายหรือเปล่า กำลังฟัง

    ผู้ฟัง กำลังฟังก็สบาย

    ท่านอาจารย์ ไม่ได้ขุดดิน ไม่ได้ทำนา เพราะฉะนั้น เมื่อมีการฟัง ฟังด้วยความเคารพ คือ ตรงกับการฟังเพื่ออะไร ฟังเพื่อเข้าใจสิ่งที่กำลังฟัง จะไม่เข้าใจหรือ แต่เราไปคิดอย่างอื่นมากมาย เติมสิ่งนั้นเข้ามา เติมสิ่งนี้เข้ามา คิดเองบวกเข้าไปอีกเยอะแยะ จึงไม่เข้าใจธรรมที่กำลังได้ฟัง ฟังเรื่องนี้ถามถึงเรื่องอื่น แล้วจะเข้าใจคำที่กำลังพูดถึงเรื่องนั้นหรือเปล่า ในเมื่อถามแล้วก็ตอบ แล้วก็คิดถึงเรื่องอื่น หรือว่าเติมความเห็นอื่นๆ เข้าไป

    เพราะฉะนั้น ฟังไม่ยากใช่ไหม แต่ว่ายาก เพราะเหตุว่า ลึกซึ้งจึงฟัง ธรรมยาก แต่การฟังไม่ยาก การฟังสบายแต่ที่จะเข้าใจจริงๆ ต้องเป็นผู้ที่ตรง บารมีทั้ง ๑๐ ขาดไม่ได้เลยในการที่จะเข้าใจธรรม ที่ใช้คำว่า รู้แจ้งอริยสัจจธรรม หมายความว่า รู้แจ้งความจริงของธรรมที่กำลังปรากฏ

    เพราะฉะนั้น ขณะนี้ทุกคนก็ได้ฟังแล้วว่า ทุกอย่างเป็นธรรม แล้วก็ไม่เข้าใจว่า ถ้าใช้คำว่า “ทุกอย่าง” ไม่เว้นอะไรเลยสักอย่างเดียว ความคิดเกิดขึ้นเป็นอย่าง ๑ แล้วใช่ไหม เป็นธรรมแล้วก็ลืม นี้แสดงว่า การฟังยังไม่ละเอียดพอที่จะมีความเข้าใจที่มั่นคง เพราะไตร่ตรองแล้วเห็นจริงแล้วว่า ธรรม คือ สิ่งที่มีจริง เพราะฉะนั้น อะไรก็ตามที่มีจริงที่เกิดขึ้นเป็นธรรม ใครจะรู้จักธรรมหรือไม่รู้จัก ธรรมก็เป็นธรรม ใครจะบอกว่า “ธรรมไม่ใช่ธรรม” “คิดเป็นธรรมได้อย่างไร” “เห็นเป็นธรรมได้อย่างไร” ก็ถึงอย่างไรธรรมก็เป็นธรรม

    เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ว่า เราจะต้องไปตามใคร หรือว่า เอาความคิดของเรามาสับสนวุ่นวายกับสิ่งที่กำลังปรากฏ ที่เรากำลังฟังความจริงของสิ่งนั้น เพื่อมีความเห็นถูกความเข้าใจถูก เพราะฉะนั้น ที่ว่า ไม่ลำบาก ก็คือว่า ไม่ต้องทำอะไรให้เหน็ดเหนื่อย แต่ที่ยากเพราะอย่างไรก็ต้องฟัง ไม่มีใครสามารถที่จะเข้าใจเองได้โดยที่ไม่ได้ฟัง

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์ก็ไม่ได้กล่าวถึงอย่างอื่น นอกจากสิ่งที่ปรากฏขณะนี้ ก็คือ การรับรู้ ๖ ทาง คือ เห็นแล้วก็คิดไปตามสิ่งที่เห็น เพราะฉะนั้น การที่ไม่ได้ไตร่ตรองตามสิ่งที่ฟัง ก็ดูเหมือนจะเป็นอนัตตาที่บังคับบัญชาไม่ได้ว่า บางครั้งก็จะวิตกออกไปที่มันไม่ใช่สิ่งที่กำลังฟัง

    ท่านอาจารย์ ก็เริ่มรู้จักคิดแล้วใช่ไหมว่า คิดตามเหตุตามปัจจัย ถ้าไม่เคยฟังธรรมเลย คิดเรื่องอะไร เรื่องอื่นทั้งหมดเลยใช่ไหม ฟังธรรม กี่คนที่คิดเรื่องธรรม ก็ยังคงคิดถึงเรื่องอื่นมากมาย ตอนเช้าๆ ก่อนจะถึงที่นี่ก็มีเรื่องเยอะ คิดทั้งนั้นเลย คิดว่า เป็นธรรมบ้างหรือเปล่า เพราะฟังแล้วว่า ทุกอย่างเป็นธรรม

    เพราะฉะนั้น แม้แต่ความคิดก็ต้องอาศัยการฟังที่จะให้รู้ว่า เพราะสะสมความคุ้นเคยต่อการคิดเรื่องอื่นๆ ที่ติดข้อง ที่ผูกพันไว้ ที่ทำให้เกิด ไม่ตั้งใจก็คิดใช่ไหม แต่ความจริงคือว่า มีเหตุปัจจัยเกิดขึ้นที่จะให้คิดอะไร ก็คิดอย่างนั้น จะไปห้ามความคิดให้เป็นอย่างอื่นก็ไม่ได้ นี่คือ การเริ่มเข้าใจว่า ทั้งที่ฟังธรรม และก็ยังคิดเรื่องอื่น บอกว่า เป็นธรรมก็ยังคิดเรื่องอื่น นี่เป็นธรรม ข่าวทั้งหมด เป็นเรื่องของกรรม และผลของกรรม ก็ยังไปคิดเรื่องอื่น “จังหวัดนี้ จังหวัดนั้น น้ำท่วมไหม น้ำท่วมมาก” ใช่ไหม แล้วบอกว่า ทุกอย่างสัตว์โลกเป็นที่ดูกรรม และผลของกรรม ก็ยังคิดเรื่องอื่นอีก “น่าสงสารเหลือเกิน อยู่บนหลังคาก็ยังตกน้ำลงมาอีก” นี่ก็แสดงให้เห็นว่า ใครจะไปห้ามความคิด ห้ามไม่ได้เลยใช่ไหม แต่ให้รู้ตามความเป็นจริงว่า มีปัจจัยที่จะให้คิดเกิด คิดก็ต้องเกิดตามปัจจัยนั้นๆ

    เพราะฉะนั้น สะสมความเข้าใจธรรมพอที่จะคิด และเข้าใจสิ่งที่ปรากฏหรือเปล่า ฟังกำลังสะสมความเข้าใจ ถ้ามีความเข้าใจมากก็มีปัจจัยที่จะทำให้สามารถที่จะคิดถึงสิ่งที่ได้ฟัง ในขณะที่กำลังฟังเรื่องอื่น อาจจะฟังเพลง ไปดูละคร หรือว่าอะไรก็ตาม การละเล่น แต่ก็ยังมีปัจจัยที่จะให้รู้ และเข้าใจสิ่งที่ปรากฏ เพราะว่า สะสมมาที่จะ “วิตกเจตสิก” เป็นสัมมาสังกัปปะที่เกิดพร้อมกับปัญญา ถ้าปัญญาไม่มีจะให้ความคิดที่สะสมมาในเรื่องต่างๆ มาคิดเรื่องธรรมเป็นไปได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ก็ไม่ได้ แต่ถ้ามีปัญญาเพิ่มขึ้นๆ ความคิดก็จะต้องเกิดตามปัญญา เพราะว่า ปัญญามีกำลังที่จะทำให้ความคิดนั้นเปลี่ยนจากคิดเรื่องอื่น ซึ่งคิดมานานแสนนานในสังสารวัฏฏ์ ที่จะให้มาฟัง เข้าใจ แล้วก็ยังไตร่ตรอง คือ คิด และเวลาที่พบไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์ใดๆ ลาภ ยศ สรรเสริญ เสื่อมลาภ เสื่อมยศ นินทา ทุกข์ ทุกสิ่งทุกอย่าง ความเจ็บไข้ได้ป่วย ความเข้าใจธรรมก็ยังสามารถที่จะรู้ว่า ขณะนั้นเป็นธรรม ตรงกับที่เคยฟัง เราคงจะไม่ได้ฟังเพียงชาตินี้ ชาติก่อนๆ ก็อาจจะได้ยินได้ฟังมาแล้ว ทำให้มีศรัทธาที่จะได้ยินอีก ได้ฟังอีก ได้เข้าใจอีก แต่การสะสมมาไม่พอ จะเห็นได้ว่า ทั้งๆ ที่ฟังก็คิดเรื่องอื่นก็มี และยังเติมความคิดของเราเรื่องธรรมเข้าไปอีกก็มี จนกว่าจะฟังแล้วเข้าใจจริงๆ ว่า พูดถึงอะไร พูดถึงสิ่งที่มีจริงที่กำลังปรากฏ เพื่ออะไร เพื่อให้เข้าใจถูกตามความจริงสิ่งของที่ปรากฏ เพื่อไม่คิดเรื่องอื่นในขณะที่กำลังฟังแล้วก็มีสิ่งที่กำลังปรากฏ

    เพราะฉะนั้น กว่าวิตกจะเกิด พร้อมกับสัมมาทิฏฐิที่จะเป็นสัมมาสังกัปปะ พร้อมวิริยะ พร้อมกับสติ และสมาธิ ที่จะรู้ และเข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏ ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใคร จะถามว่า “เมื่อไหร่ จะเข้าใจได้อย่างไร” ก็เป็นไปไม่ได้ นอกจากขณะนี้ฟัง แล้วเข้าใจสิ่งที่กำลังฟังละเอียดขึ้น ไม่ข้าม ไม่เผิน ไม่ประมาท ที่จะรู้ว่า ทุกคำสามารถที่จะทำให้เป็นปัจจัย ที่จะเข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้ถูกต้องตามความเป็นจริงได้

    ผู้ฟัง ฟังไม่ยาก แต่การที่จะเข้าใจธรรมที่ลึกซึ้งเป็นเรื่องที่ยากมาก

    ท่านอาจารย์ ค่อยๆ เข้าใจ เพราะว่า สะสมความไม่เข้าใจมามาก คุณอรวรรณหวังอย่างเดียวที่จะเข้าใจ แล้วกิเลสอื่นๆ ล่ะ อยู่ไปเถอะ เหมือนเดิม หรือว่ามีโอกาสที่จะทำความดีขณะใด ก็จะทำให้ขณะนั้นอกุศลเกิดไม่ได้ ถ้าไม่มีบารมี ๑๐ เอาตัวรอดได้อย่างไร เพราะว่า น้ำท่วมใจอย่างสาหัส เวลาที่อกุศลเกิดขึ้น เป็นอย่างไรขณะนั้น ฟังธรรมมาแล้ว เห็นไหมว่า เป็นอกุศล เก็บไว้ก่อน หรือว่ารู้เลยว่า ไม่มีประโยชน์ และกำลังเพิ่มโทษ ทุกขณะที่อกุศล ยังคงเกิดสืบต่อไปเรื่อยๆ เพราะอกุศลไม่ได้เกิดเพียงแค่ ๗ ขณะที่เห็น หรือ ๗ ขณะที่ได้ยิน ๗ ขณะที่ได้คิด มีภวังค์คั่น เกิดต่ออีกเรื่อยๆ ไม่รู้จบเลย ตราบใดที่ปัญญายังไม่มีกำลัง

    เพราะฉะนั้น จะรั้งรอ รีรอไหม ลืมพระธรรมทั้งหมดที่ทรงแสดง โทษของอกุศลทั้งหลาย โทษของโลภะ โทษของโทสะ โทษของโมหะ โทษของมานะ โทษของทุกสิ่งทุกอย่าง ทั้งๆ ที่สิ่งนั้นปรากฏเกิดแล้ว ปัญญาที่ฟังไม่พอ ที่จะขณะนั้นกุศลจิตเกิด แทนที่จะเป็นอกุศลอีกต่อไป เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องของการอบรมจริงๆ ต้องมีวิริยะ มีขันติ มีความจริงใจ มีความมั่นคง ที่จะสละ ที่จะละอกุศล แล้วเมตตาเป็นบารมีด้วยหรือเปล่า

    ผู้ฟัง เป็น

    ท่านอาจารย์ อยู่ไหน

    ผู้ฟัง เมื่อเมตตาเกิด

    ท่านอาจารย์ มีไหม

    ผู้ฟัง ขณะยืนสนทนาธรรมก็วิตกเรื่องที่สนทนา

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ฟังธรรมอย่ามุ่งหวังเพียงที่จะเข้าใจธรรม แต่กิเลสทั้งหลายที่เกิดขึ้น แสดงให้เห็นว่า กั้นการที่จะเข้าใจธรรมแล้ว เพราะเหตุว่า เพราะปัญญาไม่พอ กิเลสเหล่านั้นจึงเกิดได้ ฟังเพื่อเป็นปัจจัย ให้มีความเข้าใจถูก ให้มีความเห็นถูก แล้วปัญญาความเข้าใจถูกก็เหมือนแสงสว่าง ที่นำทางไปสู่ทางสว่าง ไม่รู้เลยใช่ไหม อยู่ในความมืด มืดที่ไม่เข้าใจลักษณะของสภาพธรรม ที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง ยังคงมืดอยู่ ความมืดของอวิชชาความไม่รู้ ทั้งๆ ที่สภาพธรรมก็ปรากฏ แต่ไม่ได้เข้าใจความจริงของสภาพธรรมนั้นตามความเป็นจริง


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 184
    12 ม.ค. 2567