พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 777


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๗๗๗

    ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๒๗ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๕


    ท่านอาจารย์ คนที่ไม่ฟังธรรมพอใจที่จะอยู่ในความมืด

    ผู้ฟัง พอใจที่จะอยู่ในความมืดเหรอ

    ท่านอาจารย์ ในความไม่รู้ ไม่เห็นประโยชน์เลย ทำไมต้องรู้ มีประโยชน์อะไร

    ผู้ฟัง ผมก็หวังว่าจะเลือกยู่ในโลกที่สว่าง ได้จากการที่ค่อยๆ ฟัง

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ก็มีบุคคลหลากหลายตามธาตุแต่ละธาตุ เห็นผิดก็เห็นผิดไปเรื่อยๆ ติดข้องก็ติดของไปเรื่อยๆ ไม่รู้ก็ไม่รู้ไปเรื่อยๆ แล้วแต่ แต่ละบุคคล

    อ.กุลวิไล เพราะฉะนั้น ความมืด คืออวิชชา ปิดบังไม่ให้รู้ธรรมตามความเป็นจริง ส่วนความสว่างหรือแสงสว่างนี่คือปัญญา แต่ไม่ใช่รูปารมณ์ ไม่ใช่สิ่งที่ปรากฏได้ทางตา ปัญญาจะเห็นถูกตามความเป็นจริง รู้ว่าเป็นธรรมแต่ละอย่าง และธรรมเหล่านี้เกิดแล้วต้องดับไป เชิญคุณไชยา

    ผู้ฟัง ขอต่อเนื่องกรณีที่อาจารย์วิชัยสนทนากับท่านอาจารย์ กรณีที่พิจารณาธรรมระหว่างที่เกิดในขั้นคิด พิจารณาบ่อยๆ เนืองๆ จะมีโอกาสที่พัฒนาไปสู่การรู้เข้าใจมากยิ่งขึ้นไหม

    ท่านอาจารย์ เมื่อวานนี้กับวันนี้ต่างกันไหม

    ผู้ฟัง ต่าง

    ท่านอาจารย์ ฟังธรรมเมื่อวานนี้ และก็ได้ฟังอีกวันนี้ต่างกันไหม

    ผู้ฟัง ต่าง

    ท่านอาจารย์ ต่างอย่างไร

    ผู้ฟัง เข้าใจมากขึ้น

    ท่านอาจารย์ ถ้าฟังอีกไปเรื่อยๆ เป็นอย่างไร

    ผู้ฟัง ก็เข้าใจเรื่อยๆ ขึ้น

    ท่านอาจารย์ หวังพัฒนา หรือหวังเข้าใจ

    ผู้ฟัง เข้าใจ

    ท่านอาจารย์ ก็เข้าใจขึ้น ฟังแล้วก็เข้าใจขึ้น เพื่อละความไม่เข้าใจ ละความไม่รู้ ฟังเพื่อเข้าใจ เข้าใจนั้นไม่ใช่เรา แต่เป็นปัญญาความเห็นถูก ถ้าเห็นถูกก็จะรู้ความต่างกันของขั้นที่ฟังเข้าใจ กับ ขั้นที่กำลังเริ่มเข้าใจลักษณะตามที่ได้ฟัง ทุกอย่างที่ปรากฏเมื่อมีเหตุปัจจัย ไม่ใช่ด้วยความหวังว่า แล้วเราจะสามารถ ไม่ใช่เราจะสามารถ แต่เมื่อมีความเข้าใจขึ้น ความเข้าใจก็ละความไม่รู้ ความไม่เข้าใจ สภาพธรรมก็ปรากฏตามความเป็นจริง

    ผู้ฟัง ก็คงจะต้องฟังต่อไป

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ไม่ใช่คนอื่นบอก ลืมไม่ได้เลยว่า การฟังธรรมไม่ใช่คนอื่นบอก แต่ต้องฟังแล้วเข้าใจสิ่งที่กำลังฟัง อย่างมั่นคงด้วย ไม่ว่าใครจะบอกว่าอะไร ความจริงก็ต้องเป็นความจริง

    อ.วิชัย เพราะว่าฟังในสิ่งที่มีจริงๆ ความจริงจะเปลี่ยนได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    อ.วิชัย เมื่อรู้ว่าเป็นธรรมแต่ละอย่าง สิ่งที่ปรากฏทางตาก็เป็นธรรมอย่างหนึ่ง จะเปลี่ยนให้สิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นอย่างอื่นได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    อ.วิชัย เพราะว่าปรากฏ คือมีลักษณะอย่างนี้ แล้วก็ปรากฏได้ทางตาเท่านั้น จะปรากฏทางอื่นไม่ได้ เพราะฉะนั้น ก็แสดงถึงว่า เป็นลักษณะของธรรมนั้นจริงๆ เช่น แข็ง จะเห็นแข็งได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    อ.วิชัย ฉะนั้น ลักษณะของเขา ก็มีลักษณะคือ ต้องกระทบกับกายเท่านั้น ฉะนั้น ธรรมก็เป็นความจริง ไม่ว่าจะในกาลไหนๆ ก็ตาม ก็จะไม่เปลี่ยนแปลงลักษณะของธรรมนั้นๆ

    อ.อรรณพ ธรรมเพียงแค่สั้นๆ แต่ว่าเตือนให้มีความเข้าใจได้ทุกคำ ก่อนหน้านี้ท่านอาจารย์ท่านก็กล่าวว่า หายไปไหน สิ่งที่ดับ ดับแล้ว หายไปไหน สภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ดับแล้วไม่ได้หายไปอยู่ที่อื่น หายไปเลย ไม่มีอีกเลย เห็นหายไปแล้ว ได้ยินก็หายไป คิดนึกขณะนี้ก็หายไป สิ่งที่มีปรากฏขอให้เกิดขึ้น ดับแล้วก็หายไปเลย แล้วไม่ได้ไปอยู่ที่ไหนที่จะให้ไปหาอีก

    เพราะฉะนั้น จากเยื่อใยที่เราหาสิ่งต่างๆ วันนี้ไม่เจอไปซุกไว้ตรงโน้นตรงนี้ ก็คิดว่าเดี๋ยวก็เจอ แต่จริงๆ แล้วทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นโดยอาศัยปัจจัยก็เป็นสภาพธรรมเท่านั้น เพียงแต่ว่าเราคิดว่าเงา ก็คือ เรื่องราว สิ่งของ คนต่างๆ ยังอยู่ยั้ง อยู่อย่างนั้น แต่จริงๆ แล้วเมื่อย่อยไปคือ สภาพธรรมที่ดับแล้วไม่เหลือเลย แล้วก็ไม่ได้ไปฝากไว้ตรงไหนด้วย

    เพราะฉะนั้น ก็เป็นความลุ่มลึกของพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคได้อุบัติขึ้น ความมืดหายไป แสงสว่างอย่างมากปรากฏ แสงสว่างในที่นี้ก็คือ คำสอน ซึ่งเปรียบประดุจแสงสว่าง แต่ใครจะตาบอดตาดีก็แล้วแต่คนนั้น แม้จะมีแสงสว่างจ้า ก็คือมีการแสดงธรรมของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่บุคคลนั้นเป็นผู้ที่บอด ถึงสว่างก็ไม่ได้มีประโยชน์อะไร แสงสว่างจะมีประโยชน์กับคนที่มีจักษุ ซึ่งจะได้อาศัยแสงสว่างนั้นได้เห็นสิ่งที่ปรากฏ แต่ถ้าเป็นกาลที่ไม่มีการอุบัติของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ต่อให้สะสมมาให้มีตา แต่ไม่มีแสง ก็มองไม่เห็น แม้มีจักขุประสาท ให้อยู่ในที่ ที่ไม่มีแสงสว่าง มืดสนิทจริงๆ ก็มองไม่เห็น แต่ต้องอาศัย แม้มีตามาแล้ว ก็ต้องอาศัยแสงสว่าง ซึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประกาศพระธรรม มีพระธรรม พระธรรมเหมือนแสงสว่าง แต่ถ้าใครเป็นผู้ที่บอดก็ไม่ได้รับประโยชน์อะไร แล้วก็ส่องให้เห็นถึงสภาพธรรมที่ละเอียดที่สุดในขณะนี้ ซึ่งเกิดแล้วดับ ดับแล้วไม่เหลือ แล้วก็หาไม่เจอ เพราะว่าดับแล้วหมดจริงๆ

    อ.กุลวิไล มีท่านที่เขียนมาถามว่า ได้ฟังธรรมทางสถานีวิทยุ ท่านอาจารย์ได้กล่าวว่า หน้าที่ของบัณฑิต คือการฝึกตน ความละเอียดเป็นอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ความละเอียดคงไม่ใช่ทันทีทันใดที่ได้ฟัง เพราะเหตุว่า ธรรมลึกซึ้ง เพราะฉะนั้น ไม่ประมาท โดยการที่อย่าคิดว่า เข้าใจแล้ว จึงฟังอีก แต่แม้แต่สิ่งที่ได้ยินได้ฟัง เข้าใจ เริ่มเข้าใจ เข้าใจแล้ว คงเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ แม้แต่คำที่ได้ยินบ่อยๆ เช่น คำว่า ธรรมคือสิ่งที่มีจริง เข้าใจแล้วเพียงชื่อ เพียงคำ ว่าพูดถึงสิ่งที่มีจริงๆ เดี๋ยวนี้ให้เข้าใจความจริงของสิ่งที่มี

    เพราะฉะนั้น ผู้ที่เป็นบัณฑิต คือ เป็นผู้ที่รอบรู้ฉลาด และเข้าใจอย่างถูกต้องในสิ่งที่มีจริงๆ ถ้าเข้าใจในสิ่งที่มีจริงๆ แล้ว จะกังวลถึงอะไรหรือเปล่า ในเมื่อขณะนี้ ถ้าเข้าใจจริงๆ ว่าทั้งหมดอยู่ที่จิต อยู่ที่คนอื่น อยู่ที่เหตุการณ์ อยู่ที่เรื่องโน้น เรื่องนี้ หรือว่าขณะเดี๋ยวนี้เอง แม้จิตมี ก็ยังไม่ได้รู้เลยว่า จิตขณะนี้เป็นอะไร ได้ยินแต่คำว่า จิต จิตเป็นธาตุชนิดหนึ่ง เพราะว่ามีจริงๆ สิ่งที่มีจริงซึ่งใครก็ไม่สามารถที่จะเปลี่ยนแปลงลักษณะของธรรมนั้นได้เลย สิ่งที่มีจริงนั้นเป็นจริงอย่างไรก็เป็นจริงอย่างนั้น เมื่อเป็นจริงนั้น และเดี๋ยวนี้ กำลังมีสิ่งที่กำลังเป็นจริงอย่างนั้นทุกขณะ คือเป็นธาตุที่สามารถที่จะรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่กำลังปรากฏเป็นธรรมดา เช่น เห็น ไม่มีใครต้องไปทำอะไรขึ้นมาเลย แต่ขณะนี้ก็เห็น แต่ว่ามีความเห็นถูก มีความเข้าใจถูก และความจริงของเห็นแค่ไหน หรือว่าข้ามไปถึงเรื่องอื่นๆ พออ่านพระสูตร หรือว่าได้ยินคำอะไรก็กลับกลายไปสนใจในเรื่องอื่น แต่ว่าไม่ได้รู้ความจริงเลยว่า แม้แต่เพียงคำเดียวจริงๆ เข้าใจสิ่งนั้นว่าอย่างไร

    เพราะฉะนั้น บัณฑิตเป็นผู้ที่รู้ว่าธรรมทั้งหลาย สิ่งที่มีจริงทั้งหลาย เป็นธาตุ “ธาตุ” เกิดเมื่อมีเหตุปัจจัยแล้วก็ต้องเป็นไป คือ เกิดรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด ถ้าเป็นธาตุที่เกิดขึ้นรู้ ก็รู้แล้วก็ดับไป เพราะฉะนั้น การฟังธรรมแล้วๆ เล่าๆ ก็คือว่า ให้ถึงความเข้าใจสิ่งที่มีจริงในขณะนี้ตามความเป็นจริงที่ถูกต้อง แล้วก็จะเข้าใจคำว่า “อภิธรรม” ลึกซึ้งจริงๆ ถ้าไม่มีการฟัง ไตร่ตรอง ก็ไม่มีทางที่จะเข้าใจสภาพธรรม ซึ่งมีเป็นปกติในชีวิตประจำวัน แต่ว่า ผู้ที่ได้ทรงแสดงความจริงนี้ ต้องเป็นผู้ที่ตรัสรู้ความจริงโดยละเอียดโดยประการทั้งปวง จึงทรงพระมหากรุณาให้คนอื่นได้รู้ตาม ได้ยิน ได้ฟัง แต่ต้องไม่ประมาท และก็ไม่เผินด้วย

    เพราะฉะนั้น ทั้งหมดที่ฟัง บัณฑิต ก็คือผู้ที่จะเข้าใจสิ่งที่มีจริง ซึ่งเคยยึดถือว่าเป็นเราหรือว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด แต่ที่สำคัญที่สุด สุขทุกข์ทั้งหมดตั้งแต่เกิดจนถึงเดี๋ยวนี้ อยู่ที่ไหน ถ้าไม่มีจิต ถ้าไม่มีธาตุรู้ซึ่งเป็นใหญ่เป็นประธาน อะไรๆ ก็มีไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น ผู้ที่รู้จักจิต ก็จะรู้จักขณะนี้จิตเป็นอย่างไร แทนที่เราก็พูดเรื่องคนอื่นมากมาย เดี๋ยวก็พูดถึงอีก ในขณะที่กำลังพูด จิตเป็นอะไร บัณฑิตรู้จักจิตในขณะนั้น

    เพราะฉะนั้น บัณฑิตก็ฝึกจิต หมายความว่า มีปัญญาที่สามารถที่จะรู้ความจริงว่า แท้ที่จริงขณะนั้น ก็เป็นเพียงจิตที่เกิดขึ้นพร้อมกับความติดข้อง หรือว่าความโกรธ ซึ่งเมื่อดับไปแล้วก็เป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิดขึ้น สะสมสิ่งที่เกิดแล้ว ไม่ได้หายไปไหนเลย

    เพราะฉะนั้น ขณะนี้เดี๋ยวนี้ บัณฑิตฝึกจิต คือฟังเรื่องจิตให้เข้าใจเรื่องจิต แล้วก็เห็นประโยชน์จริงๆ ว่า แทนที่จะไปรู้เรื่องอื่น แล้วก็ไม่เข้าใจจิตที่กำลังมีในขณะนี้ ซึ่งบัณฑิตทั้งหลายรู้เลยว่า เป็นธรรม ซึ่งสามารถที่จะฝึกได้ คือเข้าใจถูกได้ แล้วก็สะสมความเข้าใจจิตที่มีจริงๆ ในขณะนี้ ตรงตามที่ได้ฟังคือ เพียงเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป

    อ.กุลวิไล ท่านอาจารย์กล่าวถึง บัณฑิตรอบรู้ในสิ่งที่มีจริง แล้วท่านอาจารย์ก็ได้กล่าวถึงว่า ทั้งหมดอยู่ที่จิต ซึ่งท่านอาจารย์ก็ให้เห็นว่า สุขทุกข์อยู่ที่ไหน เพราะว่าสุขทุกข์ก็อยู่ที่จิตนั้นเอง

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น จะฝึกใคร เขาไม่ดีเนี่ย เราอยากฝึกเหลือเกิน ใช่ไหม จะไปฝึกคนอื่น ฝึกได้ไหม แล้วก็สำเร็จไหม เมื่อไม่มีทางที่จะเป็นไปได้เลย เพราะว่าในขณะที่คิดจะฝึกจิตของคนอื่น ฝึกจิตตนเองหรือเปล่า แล้วก็จะรู้ได้ว่า ชนะใคร ขณะนั้นเป็นอะไร กับ กิเลสที่มีสะสมทุกวัน ปัญญาเริ่มเข้าใจที่จะชนะกิเลสนั้นหรือเปล่า ที่จะให้กิเลสนั้นไม่เกิดอีกเลย

    เพราะฉะนั้น แต่ละคนฟังธรรม จุดประสงค์ในชีวิตอาจจะไม่ชัดเจน บางคนก็ฟังไปเพราะเหตุว่า เป็นสิ่งซึ่งไม่เคยได้ฟังมาก่อน และบางคนก็คิดว่าคนโน้นก็ไม่รู้ธรรม คนนี้ก็ไม่รู้ธรรม ถ้าเราฟังธรรม เราจะได้รู้ บางคนก็คิดอย่างนั้น ในเมื่อคนอื่นไม่รู้ แต่เราก็ยังรู้ ก็ฟังเพื่อเหตุนั้น แต่ว่าตามความเป็นจริง ก็คือว่า ถ้ารู้จริงๆ เข้าใจจริงๆ ว่า อยู่คนเดียวในโลก แล้วก็มีเห็น แล้วก็มีคิดนึก แน่นอน ตามสิ่งที่ปรากฏเป็นเรื่องเป็นราวมากมายใหญ่โต แล้วก็คิดแต่เพียงว่า จะแก้ไขคนอื่น แต่ไม่รู้ว่าขณะนั้นมีคนอื่นจริงๆ หรือเปล่า หรือว่ากำลังมีจิตของบุคคลนั้นเอง ที่กำลังคิดเรื่องราวต่างๆ เป็นคนต่างๆ เพราะฉะนั้น ก็จะเห็นได้ถ้าเป็นบัณฑิตเป็นผู้ที่เข้าใจจริงๆ ก็จะรู้ว่า ไม่มีอะไรเหลือเลย มีแต่สิ่งที่เพียงปรากฏขณะนี้แล้วหมดไป

    เพราะฉะนั้น เมื่อฟังอย่างนี้แล้ว ยังไม่ถึงปัญญาที่รู้ความจริงอย่างนี้ แต่เมื่อความจริงเป็นอย่างนี้ แล้วผู้ที่อบรมเจริญปัญญาได้รู้แล้วด้วย เพราะฉะนั้น ผู้ที่เริ่มอบรมปัญญาก็มีความเข้าใจถูก แทนที่จะคิดถึงคนอื่นก็ระลึกได้ว่า ขณะนั้นจิตของตัวเองน่ารู้กว่าหรือไม่ น่าแก้ไขกว่าหรือเปล่า คนอื่นเขามีโลภะมาก เรามองเห็น ติดในลาภ ในยศ อะไรต่างๆ แล้วจิตนี้ล่ะ ติดในอะไรหรือเปล่า แม้แต่เพียงเล็กน้อย ก็จะเพิ่มขึ้นเมื่อมีมากขึ้น

    เพราะฉะนั้น เมื่อจิตเป็นสิ่งที่มีจริง ควรรู้อย่างยิ่ง หรือว่าไม่ควรจะรู้เลย เพราะใครจะรู้หรือไม่รู้ก็ตาม จิตก็เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป แล้วก็ไม่กลับมาอีกเลย เพราะฉะนั้น คนพาลไม่มีโอกาสที่จะรู้จักจิต แต่ว่าบัณฑิตมีโอกาสที่จะได้ยินได้ฟัง และก็รู้จุดประสงค์การฟังว่าเพื่ออะไร ไม่ใช่เพียงเพื่อรู้สิ่งที่คนอื่นไม่รู้ แต่เพื่อรู้ว่ากิเลสมากๆ เนี่ยอยู่ที่ไหน อยู่ที่คนอื่นแน่ๆ บางคนคิดอย่างนั้น คนนั้นก็มีกิเลส คนนี้ก็มีกิเลส แต่ขณะที่กำลังคิดถึงคนอื่นว่ามีกิเลส จิตขณะนั้นมีกิเลสหรือเปล่า ก็ไม่สามารถที่จะรู้ได้

    เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นผู้ที่เข้าใจจริงๆ ในธรรม เป็นผู้ที่รอบรู้ จิตนี้น่ารู้กว่าจิตอื่นหรือเปล่า แล้วก็รู้ได้ด้วย จิตอื่นไม่มีทางจะไปรู้ได้เลย จิตของใครก็ตามขณะนี้ ที่กำลังเห็น กำลังคิดนึกเนี่ย คนอื่นไม่สามารถที่จะรู้ได้ แต่จิตของตนเองเท่านั้นที่ชัดเจน เกิดแล้วเป็นอย่างนั้น

    เพราะฉะนั้น ปัญญาก็อยู่ที่ว่า การฟังจนกระทั่งเข้าใจขึ้นก็จะทำให้จุดประสงค์ของการฟังตรงขึ้นด้วยว่าฟังเพื่ออะไร ใครอยากมีกิเลสบ้าง ของคนอื่นไม่ชอบ เขามีกิเลสมากเหลือเกิน แล้วใครอยากมีกิเลสบ้างไหม ถ้าจะตอบ กิเลสดีหรือเปล่า ไม่ดี ไม่ดีก็ไม่น่าจะมีใช่ไหม แต่เคยคิดบ้างไหมหนทางที่จะดับกิเลส เพียงแต่ไม่ดีๆ กิเลสก็ไม่ดี กิเลสนั้นก็ไม่ดี มานะก็ไม่ดี โลภะก็ไม่ดี ริษยาก็ไม่ดี อะไรก็ไม่ดีทั้งนั้น แต่ก็เป็นธรรมแต่ละหนึ่ง ไม่ใช่ใครเลย ธรรมที่เป็นฝ่ายอกุศลก็ต้องเป็นอกุศลอยู่นั่นเอง ไม่ว่าจะเกิดที่ไหนกับใครทั้งสิ้น และเวลาที่คนอื่นเขามีกิเลสมากๆ แล้วกิเลสของเราเองไม่ได้รู้เลยว่ามากกว่า หรือน้อยกว่า หรือว่ายังไม่ปรากฏ เพราะว่ายังไม่เกิดขึ้นให้เห็น

    เพราะฉะนั้น การฟังธรรมก็เพื่อเห็นโทษของกิเลสที่ไม่เคยคิดเลย คิดถึงแต่คนอื่นมีทั้งนั้นเลย แต่พอรู้ว่าเห็นโทษของกิเลสที่ไหนก็ที่ตนเอง แล้วใครจะเอากิเลสนั้นออกไปได้ ไม่มีทาง และไม่มีวันที่ใครจะสามารถเป็นตัวตน ที่เอากิเลสออกไปได้เลย นอกจากปัญญาที่เริ่มเข้าใจธรรม ซึ่งลึกซึ้ง เพราะเหตุว่า แม้กำลังมีขณะนี้ ได้ยินได้ฟังบ่อย แต่กว่าจะถึงใจ ด้วยความมั่นคงว่า ไม่มีใคร แต่มีจิต มีเจตสิก มีรูป มีธรรมที่มีปัจจัยเกิดขึ้น แล้วก็ดับไป เพราะฉะนั้น ถ้าจุดประสงค์ของการฟังละเอียดขึ้น ก็รู้ว่าฟังเพื่อให้เห็นความเป็นจริงของธรรม และปัญญานั่นเองก็จะเป็นผู้ที่เลือกสรร หรือว่าวิจัยได้ถูกต้องว่า ธรรมอะไรไม่ดีกำลังเกิดขึ้น สามารถที่จะรู้ได้ด้วยว่า หนทางที่จะไม่มีกิเลสได้คืออย่างไร แต่ไม่ใช่ด้วยความต้องการ และหวังว่าในชาตินี้ หรือในอีกร้อยชาติในพันชาติ นั่นแค่คิด เพราะว่าอะไร เดี๋ยวนี้ก็ยังไม่รู้เลยว่า จิตมีกิเลสหรือเปล่า กำลังฟังเรื่องจิต แต่ก็ไม่รู้จักจิตแต่ละขณะ ซึ่งเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป

    อ.กุลวิไล ท่านอาจารย์ได้กล่าวถึง ผู้ที่รู้จักจิต ซึ่งก็คือบัณฑิตนั่นเอง เพราะบัณฑิตเป็นผู้รอบรู้ในสิ่งที่มีจริงแม้แต่จิตในขณะนี้ และจิตก็ไม่ใช่เราด้วย ท่านอาจารย์ได้กล่าวถึงว่า เป็นผู้อยู่คนเดียวในโลก ท่านที่มาใหม่อาจจะแปลกใจ เพราะว่าดูเหมือนผู้คนมากมาย ทำไมถึงเป็นผู้ที่อยู่คนเดียวในโลก

    ท่านอาจารย์ มีใครหลายคนเมื่อไหร่ อยู่ดีๆ ก็มีหลายๆ คนขึ้นมา หรือว่าเมื่อไหร่ เพราะฉะนั้น ธรรมก็เป็นเรื่องที่ละเอียดมาก ที่จะต้องเพราะเข้าใจขึ้นทีละเล็กที่ละน้อย จึงจะละความไม่รู้ และความติดข้องได้

    อ.กุลวิไล ท่านอาจารย์ก็ให้เห็นถึงความต่างกันระหว่างสภาพธรรมที่เป็นจิตนั่นเอง เพราะว่า เห็น ก็ต้องมีจริง ได้ยิน มีจริง แต่คิด ก็มีจริงด้วย ที่มีคนมากมายก็เพราะคิด

    ท่านอาจารย์ และแต่ละคำก็ไม่เผิน ไม่เผินจึงสามารถที่จะเข้าใจได้ กำลังนอนหลับสนิท มีจิตไหม

    อ.กุลวิไล มี

    ท่านอาจารย์ ทุกคนรับรองพยักหน้า มีคนอื่นด้วยหรือเปล่า ตอนนี้ตอบได้ กำลังหลับสนิทไม่มีใครเลยแม้ตัวเองก็ไม่มี อะไรๆ ก็ไม่ปรากฏเลยทั้งสิ้นในขณะที่หลับสนิท แต่โดยการศึกษาทราบว่ายังไม่ตาย ยังไม่จากโลกนี้ มีหลับ แล้วก็มีตื่น เพราะฉะนั้น ขณะที่กำลังหลับพอตื่นขึ้นก็รู้ว่า ยังเป็นเรา เมื่อสักครู่นี้หลับ ไม่ใช่ตื่น แต่ว่าขณะที่หลับจริงๆ ไม่ใช่ไม่มีเฉพาะคนอื่น แม้สิ่งที่เคยคิดว่าเป็นเราก็ยังไม่มีเลย แล้วอย่างไร แล้วก็ต้องตื่น มีใครบ้างซึ่งเกิดแล้วไม่เป็นไป ไม่มีใครมีอำนาจบังคับบัญชาเลยว่าให้จิตนี้เที่ยง หรือว่าให้จิตประเภทนั้นเกิด จิตประเภทนี้ไม่เกิด หลับแล้วก็ตื่น เพราะฉะนั้น ตื่นคืออะไร อาจจะเป็นได้ยิน และก็มีเสียง คนเดียวหรือเปล่า หรือขณะที่กำลังได้ยินเสียงมีหลายๆ คนอยู่ที่นั่น

    อ.กุลวิไล คนเดียว

    ท่านอาจารย์ ฉันใด เดี๋ยวนี้จากเมื่อสักครู่นี้หลับ คือไม่ได้มีสิ่งหนึ่งสิ่งใดปรากฏก่อน แล้วจึงเห็น เห็นต้องเกิด จึงเห็น แต่ก่อนเห็น เห็นไม่ได้เกิดขึ้นจึงไม่เห็น เพราะฉะนั้น ก่อนนั่นคือไม่เห็นแล้วเห็น ขณะที่เมื่อสักครู่นี้ไม่มีใครเลย แล้วก็มีเห็น แล้วก็มีหลายๆ คนหรือเปล่า ก็เพียงแค่เห็นเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป

    เพราะฉะนั้น ธรรมจึงเป็นเรื่องที่ละเอียดมาก แล้วก็รู้จุดประสงค์ว่าเป็นสิ่งซึ่ง ถ้าเป็นอวิชชาความไม่รู้ต่อไป เคยไม่รู้มานานแสนนาน ไม่ใช่ชาตินี้ชาติเดียว หรือว่าชาติก่อน หรือร้อยชาติก่อน พันชาติก่อน แสนโกฏิกัปป์มาแล้ว และถ้ายังไม่รู้เหมือนอย่างนั้นแหละ ต่อไปอีกเท่าไหร่ ก็อีกแสนโกฏิกัปป์ ใครอยู่ได้ก็อยู่ไปใช่ไหม ก็สุขทุกข์ไปตามเรื่องตามราว ตามความไม่รู้

    ด้วยเหตุนี้ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเมื่อทรงตรัสรู้แล้ว มีพระมหากรุณาเห็นคนที่ไม่รู้ต่างกับคนที่รู้ ฟ้ากับดิน จากไม่รู้เลย ไม่เข้าใจเลย มีแต่ตัวตน มีแต่อกุศลทั้งหลาย กับการที่จะสามารถรู้ตามความเป็นจริงในการเป็นธาตุ สิ่งที่มีจริงไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครเลย มีปัจจัยจึงเกิดได้ ถ้าไม่มีปัจจัยพอที่จะเกิดขึ้นเป็นอย่างนั้นก็เกิดขึ้นเป็นอย่างนั้นไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น การฟังธรรมก็คือว่า เพื่อรู้ความจริง แล้วก็เป็นหน้าที่ของปัญญาที่จะทำหน้าที่รู้ว่าสิ่งใดควร และสิ่งใดไม่ควร

    อ.กุลวิไล แล้วก็เป็นความจริงว่า เห็นก็เห็นคนเดียว ได้ยินก็ได้ยินคนเดียว แม้แต่คิดก็คิดคนเดียว เพราะว่า ธรรมเกิดขึ้นทีละหนึ่ง

    ท่านอาจารย์ แต่เดี๋ยวนี้เห็นหลายคนใช่ไหม แสดงว่าความไม่รู้แค่ไหน

    อ.กุลวิไล อย่างนั้นจะเห็นได้ว่า ประโยชน์ของการได้ฟังพระธรรม แล้วจะเป็นผู้ที่ฉลาดอย่างผู้ที่เป็นบัณฑิต นั่นก็คือรอบรู้ในสิ่งที่มีจริง ก็เพื่อที่จะรู้ความจริงของสิ่งที่มีในขณะนี้เอง แม้แต่จิต จิตก็ไม่ใช่เรา และจิตก็มีจริง เพราะฉะนั้น จิตขณะนี้เป็นอย่างไร เป็นจิตที่เป็นฝ่ายดี หรือเป็นฝ่ายไม่ดี ก็คือกุศลจิตหรืออกุศลจิตนั่นเอง ซึ่งก็เป็นธรรมทั้งหมด และก็ไม่ใช่เฉพาะจิตที่เป็นฝ่ายดี และฝ่ายไม่ดีเท่านั้น แม้แต่ เห็น ได้ยิน ก็เป็นจิตเหมือนกัน

    ท่านอาจารย์ แล้วถ้ารู้อย่างนี้จริงๆ จะเกลียดคนอื่นไหม จะโกรธคนอื่นไหม หรือจะเมตตาแล้วก็ให้อภัย เพราะขณะนั้นมีปัญญาที่เห็นโทษว่า ขณะใดที่โกรธเกลียดคนอื่นก็คือสะสมสิ่งที่ไม่ดี ซึ่งจะตามไปไม่ว่าจะเกิดอีก ไม่ใช่คนนี้แล้ว เป็นคนอื่นเป็นคนใหม่ตามกรรม แต่สิ่งที่สะสมมาก็ยังมีอยู่เต็ม แล้วก็ยังจะเพิ่มขึ้นตามความไม่รู้ด้วย

    อ.กุลวิไล หลายท่านก็คงไม่คุ้นกับคำว่า “สะสม” จะรู้หรือไม่ก็ตาม ขณะที่โกรธ ขณะที่ติดข้องขณะนั้น จิตสะสมแล้ว สะสมในสิ่งที่ไม่ดี แล้วก็จะเป็นผู้ที่มีอัธยาศัยอย่างนี้ คือเป็นผู้ที่โกรธง่ายหรือว่าติดข้องง่าย นี่คือธรรมนั่นเองที่มีในขณะนี้ เพราะฉะนั้น แก้ผู้อื่นไม่ได้ ไม่สามารถจะแก้บุคคลอื่น แต่เป็นผู้ที่ฉลาดในจิตของตน นั่นก็คือเป็นผู้ที่ฝึกตน ก็คือเป็นผู้ที่รอบรู้ในจิต โดยเฉพาะจิตที่มีปรากฏอยู่ในขณะนี้

    ผู้ฟัง ขอร่วมสนทนาในประเด็นเรื่องการฝึกจิตของตนด้วย ทุกคนก็ย่อมต้องการฝึกตนที่จะเป็นคนที่กิเลสน้อยลง เป็นคนที่ดียิ่งขึ้น เป็นคนที่กุศลมากขึ้น อกุศลน้อยลง นี่คือจุดประสงค์ของคำถาม แต่ที่ท่านอาจารย์ตอบ ท่านอาจารย์กลับตอบแค่ว่า ต้องเป็นผู้ที่เข้าใจในเรื่องของจิตก่อน แล้วถึงจะรู้ว่าการฝึกจิตคืออย่างไร


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 184
    12 ม.ค. 2567