พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 764


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๗๖๔

    ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๕


    อ.คำปั่น กราบเรียนท่านอาจารย์ถึงประโยชน์สูงสุดของการสนทนาธรรมในแต่ละครั้ง

    ท่านอาจารย์ พูดถึงคำว่าธรรม ก็หมายความว่า เป็นสิ่งที่มีจริง เพราะฉะนั้น สิ่งที่มีจริงใครสามารถที่จะรู้ได้ โดยที่ว่าไม่เคยฟังพระธรรมมาก่อนเลย ด้วยเหตุนี้ ต่างคนก็ต่างได้ยินได้ฟัง หรือว่าได้อ่านพระธรรมจากที่ต่างๆ แต่ว่าความเข้าใจในแต่ละคำมีความเข้าใจมากน้อยแค่ไหน เพราะฉะนั้น การสนทนาธรรมก็เป็นการที่จะทำให้แต่ละคนได้ฟังความคิดเห็นของคนอื่น แต่เป็นธรรม ฟังความคิดเห็นไม่ใช่ฟังเรื่องอื่น สนทนาธรรมก็ไม่ใช่สนทนาเรื่องอื่น เพราะฉะนั้น แม้แต่การที่จะฟัง และสนทนาก็ต้องเป็นธรรม ซึ่งหมายความถึงสิ่งที่มีจริงในขณะนี้ เพื่อที่จะได้เข้าใจว่า สิ่งที่มีจริงในขณะนี้ ถ้าไม่มีการฟังด้วยดีไม่สามารถที่จะเข้าใจได้

    อ.คำปั่น กราบเรียนถามท่านอาจารย์ว่า ฟังด้วยดี คืออย่างไร

    ท่านอาจารย์ ทุกคนนั่งอยู่ที่นี่ ยังไม่มีเสียงเลย แต่มีเสียง ฟังด้วยดี คือฟังทุกคำที่ได้ยิน ด้วยความที่ประโยชน์คือ เข้าใจ ฟังเพื่อเข้าใจ เพราะฉะนั้น จะขาดไปสักคำสองคำได้ไหม จะต่อกันได้ไหม เพราะว่าการฟังต้องฟังจริงๆ เพราะฉะนั้น จริงๆ แล้ว กาลนี้ เดี๋ยวนี้ เป็นเวลาอะไร

    อ.คำปั่น กาลนี้เป็นกาลแห่งการสนทนาธรรม

    ท่านอาจารย์ เป็นกาลแห่งการสนทนาธรรม เพราะฉะนั้น ก็ต้องมีผู้พูด และถ้าเราไม่ฟังทุกคำที่คนอื่นพูด เราจะเข้าใจไหม

    อ.คำปั่น ถ้าหากว่า ไม่ได้ฟังทุกคำที่พูด ก็ตกหล่น ไม่ทำให้เข้าใจในขณะนั้น

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ถ้าขณะนี้ทุกคนฟัง จะมีการพูดคุยกันหรือเปล่า ถ้าทุกคนฟังธรรม จะมีการพูดคุยกันหรือเปล่า ไม่มี เพราะเพียงคำเดียวหรือ ๒- ๓ คำ คำอื่นที่ได้ยินขณะนั้นก็ไม่ได้ฟังธรรม ไม่ได้มีความเข้าใจในสิ่งที่ได้ยิน แต่ก็ผ่านไป โดยที่ว่าไม่เข้าใจเลย เพราะฉะนั้น ต้องมีความเข้าใจจริงๆ ว่า ธรรมขณะนี้เป็นสิ่งที่มีจริง ลึกซึ้ง ยาก และละเอียด ที่จะเข้าใจความจริงของสิ่งที่แม้มีจริง และกำลังปรากฏ ต้องอาศัยการเห็นประโยชน์จริงๆ ว่า เกิดมาแล้วก็ไม่เคยรู้ ไม่เคยเข้าใจสิ่งที่มีจริงในขณะนี้ แล้วเมื่อไหร่จะได้เข้าใจสักที เป็นไปได้ไหม เมื่อไหร่จะได้เข้าใจสักที ถ้าไม่เห็นประโยชน์ของการฟังธรรมก็คงจะคิดว่า แม้ขณะที่กำลังได้ยินได้ฟัง คุยกันเรื่องอื่นก็ไม่เป็นไร แต่ว่าความจริงในขณะใดก็ตามที่พูดกันเรื่องอื่น ขณะนั้น แล้วเมื่อไหร่จะเข้าใจธรรมได้สักที ก็ยิ่งน้อยไปทุกที เพราะเหตุว่า ไม่ได้ฟังสิ่งที่กำลังได้ยิน

    เพราะฉะนั้น ประโยชน์ที่สำคัญที่สุดคือ ฟังด้วยความตั้งใจที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า เพื่อสดับ ไม่ใช่ว่าเพียงแต่ได้ยินแล้วผ่านไป แต่มีความตั้งใจที่จะฟังให้เข้าใจสิ่งที่กำลังฟัง และสิ่งที่กำลังฟังแต่ละหนึ่งคำเป็นความละเอียดอย่างยิ่ง ถ้ายิ่งเข้าใจแล้วก็จะยิ่งรู้ว่าเป็นการไม่ง่ายเลยที่ใครสามารถที่จะคลายการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน โดยความประมาท โดยคิดว่าฟังเพียงเล็กน้อยก็ได้ ด้วยการคิดว่า ฟังแล้วก็ไปทำอย่างอื่นเพื่อที่จะรู้ความจริงของสิ่งที่ปรากฏ ซึ่งขณะนั้นไม่ใช่ปัญญา ไม่ใช่ความเห็นถูก ไม่ใช่ความเข้าใจถูกในสิ่งที่มีจริงๆ ที่กำลังฟัง

    เพราะฉะนั้น ฟังดูเหมือนเป็นเรื่องเก่าเรื่องซ้ำไม่ไปไหนเลย คืออยู่กับที่ คืออยู่ที่ตา ที่หู ที่จมูก ที่ลิ้น ที่กาย และก็กำลังมีจริงๆ แต่กำลังมีจริงๆ นี้ ฟังมานานเท่าไหร่ ไม่ต้องพูดถึงการที่จะละการที่ยึดถือสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เพียงแต่คลายความไม่เข้าใจ คลายความยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นเรา มีบ้างไหม แล้วจะมีได้โดยวิธีใด เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องของกาล กำลังฟังธรรมก็ฟังธรรมจริงๆ

    เพราะฉะนั้น ฟังธรรมแล้วคิดเองได้ไหม หรือว่าพูดถึงความคิดของตัวเองเป็นธรรมหรือเปล่า ทำให้คนอื่นสามารถที่จะเข้าใจได้ไหม ในเมื่อเป็นแค่ความคิดของคนหนึ่ง ไม่ใช่เป็นการที่จะได้ฟังข้อความที่มีในพระไตรปิฎก แล้วก็ได้พิจารณาจนกระทั่งเป็นความเข้าใจในสิ่งที่ทุกคนกำลังมี แล้วก็จากไม่เข้าใจเป็นค่อยๆ เข้าใจขึ้น ประโยชน์ไหม ไหนๆ ก็มาแล้ว แล้วก็มีทั้งตา มีทั้งหู มีทั้งเห็น มีทั้งได้ยิน แต่ว่าเราจะไปใช้ในโอกาสที่จะไม่เข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏ แม้เวลานี้ยังเป็นอย่างนี้ แล้วเวลาอื่นเรามีโอกาสที่จะเข้าใจได้ไหม

    อ.อรรณพ เป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์มาก เพราะว่าทุกคนก็มุ่งหน้ามาที่จะศึกษาฟังธรรม แต่ว่าน่าพิจารณาว่า การฟัง และการสนทนานั้น จะได้รับสาระประโยชน์ได้อย่างไร เพราะว่าการฟังก็ยาก การกล่าวธรรมก็ยาก ถ้าไม่มีความเข้าใจ และเป็นผู้ที่ไม่ละเอียด ไม่รู้กาลที่ควรอย่างไรหรือไม่ เพราะว่าการฟังพระธรรม บางทีมานั่งฟัง ก็เห็นใจ บางทีอากาศร้อน บางทีก็หลับ การหลับก็ทำให้ไม่ได้ฟังธรรมแล้ว หรือไม่ก็นั่งอยู่แต่ไปคิดเรื่องอื่น เพราะมีเรื่องที่จดจำ มีเรื่องที่กังวลใจ มีเรื่องที่ติดข้องหลากหลายให้คิดไป เสียประโยชน์ อันนี้พูดถึงที่ทำให้ตัวเองเสียประโยชน์ก่อน หลับตัวเองเสียประโยชน์ ไปคิดเรื่องอื่นตัวเองก็เสียประโยชน์ เพราะไม่ได้รับความเข้าใจ ทีนี้บางครั้งทำให้เสียทั้งประโยชน์ตน และประโยชน์ผู้อื่นด้วย คือ คุยกัน อาจจะคุยเรื่องอื่น อันนี้ก็ยิ่งไม่เหมาะสม หรือแม้กระทั่งคุยเรื่องธรรม พอเราได้ยินเรื่องนี้แล้ว เรื่องนี้มาก็คุย หรือบางท่าน ท่านก็มีเจตนาดีพาญาติพี่น้องเพื่อนฝูงมาศึกษาธรรม ด้วยความที่อยากให้เขาได้เข้าใจใช่ไหม ก็จะพูด พอฟังธรรม ท่านอาจารย์บรรยาย เราก็เลยรีบพูดอยากให้เขาเข้าใจ แต่จริงๆ แล้วตัดโอกาสเขา และตัดโอกาสตัวเองด้วย ตัวเองก็ตัดโอกาส เพราะตัวเองจริงๆ แล้วต้องสะสมความเข้าใจ ทุกคนต้องสะสมความเข้าใจ แล้วเพื่อนหรือญาติที่เราพามา เขาก็หมดโอกาสที่จะได้ฟังโดยตรง แล้วก็คนข้างๆ อีก ข้างหน้า ข้างหลังมูลนิธิ เราก็มีที่ค่อนข้างจำกัด รอบๆ ก็อาจจะต้องมีเสียงไปรบกวนเขาใช่ไหม อันนี้ก็ไม่สมควร หรืออาจจะมีการที่ฟังไปก็หมิ่นผู้แสดงว่า อย่างนี้ไม่ถูกหรอก เรารู้มาอีกอย่างหนึ่งใช่ไหม อยู่ในใจก็เสียประโยชน์ตัวเอง

    ถ้ากล่าวออกมา ก็เป็นการหมิ่นผู้ที่แสดงธรรม จริงๆ แล้วการรู้กาลหรือไม่รู้กาลเป็นเรื่องที่สำคัญ กาลไหนเป็นกาลที่ควรฟัง ถ้าใจคิดที่อยากจะพูดว่า เราจะพูดอะไร เราจะถามอะไร ขณะนั้นไม่เป็นอันฟัง เพราะกำลังตั้งธงในใจแล้ว เดี๋ยวเราจะออกมาพูดเรื่องนี้ เดี๋ยวเราจะออกมาพูดเรื่องนั้น บางทีข้อความจากในพระสูตร ในสาระของธรรมข้ามไป เพราะว่าใจคิดถึงสิ่งที่ตัวเองอยากจะออกมาพูด ก็จะทำให้เสียประโยชน์ตน แล้วก็เสียเวลาหรือเสียประโยชน์ส่วนรวม ที่จะได้มีโอกาสที่จะได้สนทนาศึกษาพระธรรมได้ต่อเนื่อง แล้วก็จะได้บันทึกไว้เป็นประโยชน์กับรุ่นหลังด้วย

    เพราะฉะนั้น ถ้าเห็นประโยชน์แล้วก็สอบถามหรือสนทนาในประเด็นสาระธรรมที่เป็นไปเพื่อความเข้าใจธรรม แต่ไม่ใช่หมายความว่าต้องเป็นไปตามคำหรือว่าข้อความที่มุ่งเป็นตัวเลขหรือเป็นข้อความอย่างนั้น แต่จริงๆ แล้วก็คือ ต้องเป็นสาระธรรมที่จะได้เข้าใจกัน

    ทีนี้ผมก็มีข้อความที่อยากจะกราบเรียนท่านอาจารย์ เป็นข้อความในทสุตตรสูตร ท่านพูดถึง “กาลัญญู” ก็คือผู้รู้จักกาล มีข้อความสั้นๆ อยากจะกราบเรียนท่านอาจารย์ได้สนทนาตรงนี้ด้วย เป็นข้อความในอรรถกถาว่า "ชนใดรู้จักกาลอย่างนี้ว่า นี้กาลแสดง นี้กาลไต่ถาม นี้กาลบรรลุโยคธรรม เพราะฉะนั้น ชนนั้นชื่อว่า กาลัญญู" กราบเรียนท่านอาจารย์

    ท่านอาจารย์ ทีละข้อได้ไหม

    อ.อรรณพ ชนใดรู้จักกาลอย่างนี้ว่า นี้กาลแสดง

    ท่านอาจารย์ แสดงธรรม

    อ.อรรณพ นี้กาลไต่ถาม

    ท่านอาจารย์ ธรรมด้วย

    อ.อรรณพ ใช่

    ท่านอาจารย์ ทุกอย่างเป็นธรรม เดี๋ยวนี้เป็นธรรมหรือเปล่า แม้แต่ที่พูดเรื่องเมื่อสักครู่ ใครจะรู้ว่ากำลังกล่าวถึงกุศลธรรม และอกุศลธรรม เมื่อมีความเป็นตัวเราใช่ไหม แล้วก็มีเขาแล้วก็มีการพูดคุยแล้วก็มีการฟังธรรม ก็เลยไม่รู้ว่า แท้ที่จริงขณะนั้นกำลังกล่าวถึงธรรมที่เป็นกุศลบ้าง และเป็นอกุศลบ้าง ขณะที่กำลังแสดงธรรม กล่าวถึงธรรม ผู้กล่าวเป็นกุศล ผู้ฟังเป็นกุศลในขณะที่ตั้งใจฟัง แต่ว่าแม้จะมีผู้กล่าวธรรมแต่ผู้ฟังไม่ฟังธรรม ขณะนั้นก็ไม่เป็นกุศล

    เพราะฉะนั้น จะรู้ไหมว่าที่เราอยู่ในที่นี้ มีกุศลขณะไหน และขณะไหนเป็นอกุศล ถ้าไม่ฟังธรรมก็เหมือนว่ากำลังพูดถึงเรื่องคนที่คุยกันบ้าง หรือว่าเวลาฟังแล้วก็สนทนากันเรื่องธรรมที่ได้ฟัง ขณะนั้นก็ไม่ได้ฟังธรรมที่คนกำลังแสดงธรรม แต่กำลังไปสนทนาธรรมที่สนใจกัน ขณะนั้นก็แสดงให้เห็นว่าจริงๆ แล้วความละเอียดก็คือว่า มาเพื่อฟังธรรม เพื่อเข้าใจธรรม

    เพราะฉะนั้น ถึงกาลที่ถาม ก็ถาม ถามอะไรถามเรื่องธรรมที่ฟัง ใครถามเรื่องธรรมที่ฟัง ก็แสดงว่าคนนั้นฟังธรรมที่ฟัง แล้วจึงใคร่ที่จะได้มีความเข้าใจขึ้นในธรรมที่ได้ฟัง หรือต้องการที่จะสนทนาเพื่อที่จะได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นในธรรมที่ได้ฟัง

    เพราะฉะนั้น จะรู้ได้ว่าคำถามใดผู้ฟัง ฟังแล้วถาม หรือว่าไม่ได้ฟังแต่ถาม นี่ก็แสดงเห็นว่า ประโยชน์จริงๆ ต้องละเอียดมาก แม้แต่ขณะที่แสดง แม้แต่ขณะที่ไต่ถาม ก็ต้องเป็นเรื่องของการที่ฟังแล้วจึงถามในสิ่งที่ได้ฟัง มีอะไรอีกไหม

    อ.อรรณพ นี้กาลบรรลุโยคธรรม

    ท่านอาจารย์ ฟังทำไม ฟังเฉยๆ ฟังเล่นๆ หรือฟังแล้วก็เข้าใจว่าธรรมเป็นสิ่งที่ยาก แล้วก็ควรจะรู้ อย่างเมื่อวานนี้กล่าวถึง ธรรมทานของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระผู้มีพระภาคให้อะไรใคร ที่เป็นสิ่งที่ประเสริฐที่สุด เพราะว่าถึงแม้ว่าวันนี้จะมีใครได้ลาภตั้งแต่เช้า หรือว่าอาจจะยังไม่ได้ลาภตอนเช้า มาได้ลาภตอนสายๆ หรือว่าตอนที่มาพบปะเพื่อนฝูงก็ได้ลาภ แล้วแต่ว่าจะเป็นสิ่งของอะไร แต่ลาภนั้นนำมาซึ่งความเห็นที่ถูกต้อง ความเข้าใจที่ถูกต้อง หรือนำมาซึ่งความติดข้อง ไม่ใช่การละคลายความติดข้อง นี่ก็แสดงให้เห็นแล้วว่าไม่มีอะไรที่จะเป็นลาภเป็นสิ่งที่ได้มาที่ทำให้จิตใจเบิกบาน เท่ากับธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงบำเพ็ญพระบารมี และทรงแสดงความจริงทุกคำ คำจริงทั้งหมดที่สามารถที่จะฟัง และไตร่ตรอง แล้วก็มีความเข้าใจในคำที่ได้ยินได้ฟัง

    ด้วยเหตุนี้ ไม่มีลาภใดที่จะเหนือ และประเสริฐเท่ากับความเข้าใจธรรม และมีศรัทธาในการฟังด้วย เพราะเหตุว่า ถ้าไม่มีศรัทธาในการฟัง ทั้งๆ ที่เป็นธรรมที่ฟังแล้วจะเข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏ แต่ขาดศรัทธาที่จะฟัง ขณะนั้นก็ไม่สามารถที่จะเข้าใจได้ ด้วยเหตุนี้ก็เป็นเรื่องที่ ถ้าใคร่ควรพิจารณาก็จะได้รับประโยชน์ในการฟังมากกว่าก่อน เพราะว่าเรื่องของการฟังตามอัธยาศัย บางคนดูโทรทัศน์ แล้วก็ฟังเรื่องราวของสิ่งที่ปรากฏในโทรทัศน์ แต่บางคนก็วิพากษ์วิจารณ์ทันทีเลยในสิ่งที่ปรากฏ และในเรื่องที่กำลังฟัง แล้วจะเข้าใจไหมว่า ต่อจากนั้นมันมีอะไรเกิดขึ้น เพราะเหตุว่า พูดกันซะแล้ว เพราะฉะนั้น ตอนนั้นก็ไม่เข้าใจ

    ด้วยเหตุนี้ จะเห็นศรัทธาของคนที่มีการฟังว่าฟังเพื่อเข้าใจ หมายความว่า คนนั้นไม่พูด แล้วก็มีความตั้งใจที่จะเข้าใจสิ่งที่ฟัง ไม่ขาดไปแม้สักคำ เพื่อที่จะได้รู้ว่าแต่ละคำเป็นประโยชน์ เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นการฟังอย่างนี้คนนั้นจะเข้าใจมากไหม หรือว่าเข้าใจบ้างไม่เข้าใจบ้าง เพราะฟังบ้างไม่ฟังบ้าง นี่ก็เป็นสิ่งซึ่งถ้าพิจารณาจริงๆ โดยเฉพาะเรื่องของธรรม ก็จะรู้ว่าจากการที่ได้ฟังมาประโยชน์จริงๆ ต้องขณะที่ฟัง

    อ.อรรณพ เพราะฉะนั้น อย่าตัดโอกาส การฟังธรรมที่หาฟังได้ยากของตัวท่านเอง แล้วก็อย่าตัดโอกาสอย่ารบกวนเวลาอันมีค่า ของผู้อื่นที่จะได้รับฟังพระธรรมซึ่งหาฟังได้ยาก ซึ่งแม้ในสมัยพุทธกาลก็มีเหตุการณ์อย่างนี้ สำหรับผู้ที่ใคร่จะฟังธรรม อุบาสกอุบาสิกาก็มาที่จะฟังธรรมของท่านพระสารีบุตร ก็มีภิกษุซึ่งมีความคิดไม่แยบคาย ปรารถนาที่จะได้ให้คนเขารู้ว่า เราเป็นผู้รู้หรือเป็นผู้ที่สมควรแก่การที่จะได้ลาภสักการะ ก็เลยลุกขึ้นแล้วกล่าวคำที่จะเย้าท่านพระสารีบุตร ที่จริงเป็นโอกาสที่ท่านพระสารีบุตรจะได้แสดงธรรม แต่ก็มีผู้ที่มีความคิดที่ไม่ดี จึงจะกล่าวเย้าท่านพระสารีบุตร ท่านพระสารีบุตรจึงเงียบ แล้วก็กลับไม่กล่าวธรรม ก็ทำให้ผู้ที่มารอฟังธรรมนั้นเกิดความไม่พอใจเป็นปกติของผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่ใช่ไหม ก็ไม่พอใจ ก็ขับไล่ภิกษุนั้น ไปตกในเวจกุฎี เพราะฉะนั้น ก็พิจารณาประโยชน์ไม่รบกวนประโยชน์ผู้อื่น และไม่เสียประโยชน์ตัวเอง โดยเป็นผู้ที่ฟังธรรมด้วยดี จึงมีปัญญาเกิด

    อ.คำปั่น เมื่อสักครู่ท่านอาจารย์กล่าวถึง การให้ธรรมเป็นทานของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งพระบารมีทั้งหมดที่พระองค์ได้ทรงบำเพ็ญมานั้น ก็เพื่อที่จะทรงตรัสรู้ความจริง และทรงแสดงสัจจธรรม ซึ่งเป็นการแสดงความจริง การให้ธรรมทานของพระองค์นั้นเป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่ สัตว์โลกอย่างไร เมื่อสักครู่ท่านอาจารย์กล่าวถึง เป็นการให้ลาภหรือว่าให้ชีวิตที่ประเสริฐแก่ผู้นั้น

    ท่านอาจารย์ ชีวิตที่แล้วมาของคนแต่ละคน เป็นอย่างไร ก่อนฟังพระธรรม สนุกสนานหรือว่าทุกข์โศกมากมายเรื่องต่างๆ แต่ละหนึ่ง ไม่มีซ้ำกันเลย เพราะว่าแม้แต่คนหนึ่งจิตหนึ่งดับไปเป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิดขึ้น ไม่ใช่จิตเก่า แต่สืบเนื่องมาจากจิตเก่า เพราะฉะนั้น วันนี้ก็มาจากตั้งแต่เกิด และตั้งแต่เกิดก็ถอยไปถึงชาติต่างๆ จนกระทั่งถึงความเป็นบุคคลนี้ และจนถึงวันนี้

    เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่าก่อนฟังธรรม เข้าใจความจริงของสิ่งที่มีตั้งแต่เกิดหรือเปล่า แต่เมื่อฟังธรรมแล้ว อะไรทำให้มีความเข้าใจถูก ในสิ่งซึ่งไม่เคยเข้าใจมาก่อนเลย แม้แต่โลก โลกก่อนเป็นอย่างไร เต็มไปด้วยเรื่องราวบุคคล ความติดข้อง ความทุกข์ ความโศก หรือว่าความปรารถนาความตั้งใจที่จะช่วยเหลือใคร หรือทำอะไรก็แล้วแต่ แต่เป็นโลกของความไม่รู้เลย กับเมื่อได้ฟังพระธรรมแล้ว เป็นอีกชีวิตหนึ่ง ซึ่งเปลี่ยนแปลงจากไม่รู้ เป็นเข้าใจความจริง ว่าแท้ที่จริงแล้วทุกอย่างที่มีไม่มีใครทำให้เกิดขึ้นได้ หรือว่าที่จะให้เป็นอย่างการที่ตั้งใจที่จะให้เกิดขึ้น หรือว่าที่จะให้ปรารถนาสำเร็จไปด้วยความไม่รู้ ด้วยความเป็นตัวตน ก็คือ ขณะนั้นไม่ได้รู้ความจริงของสิ่งที่ปรากฏ ก็มีท่านผู้หนึ่ง ท่านก็คิดว่า ท่านจะไปเที่ยว แต่เสร็จแล้วก็ไม่ได้ไป กลับมาฟังธรรม เห็นความเป็นอนัตตา ไม่มีอะไรที่จะบังคับบัญชาได้เลย คิดคิดได้ แต่อะไรจะเกิดขึ้น ต้องเป็นสภาพธรรมที่มีปัจจัยที่ทำให้สิ่งนั้นเกิดขึ้นเป็นอย่างนั้น ไม่เป็นอย่างอื่น

    ณ วันนี้เดี๋ยวนี้ของแต่ละคนก็เป็นอย่างนี้ใช่ไหม เพราะฉะนั้น ก็เริ่มเข้าใจโลกของความมืด ซึ่งเต็มไปด้วยสัตว์ บุคคล โลก สิ่งของต่างๆ มากมาย มาเหลือหนึ่งขณะจิต ใครปฏิเสธได้ว่า ถ้าไม่มีจิตแม้เพียงหนึ่งขณะนี้ อะไรๆ ก็ไม่มี จะไม่มีอะไรเลยทั้งสิ้น ถ้าเพียงจิตหนึ่งขณะไม่เกิดขึ้น แต่เพราะเหตุว่า จิตหนึ่งขณะเกิดขึ้น สิ่งหนึ่งสิ่งใดจึงปรากฏ แล้วจิตหนึ่งขณะที่เกิดขึ้นนี้ใครทำ หรือว่าเป็นธาตุชนิดหนึ่งเหมือนกับธาตุที่เกิดแข็งก็เป็นแข็งจะเป็นอื่นไม่ได้ ธาตุร้อนเกิดขึ้นร้อนก็จะเปลี่ยนเป็นหวานเป็นขมไม่ได้

    เพราะฉะนั้น แต่ละหนึ่งก็เป็นลักษณะของสิ่งที่มีจริง ซึ่งใครก็บอกว่าไม่มีได้ไหม ในเมื่อมีแล้วก็ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครด้วย จะบอกว่าเห็นไม่มีได้ไหม ก็กำลังเห็น เห็นมีแล้ว แต่ว่าไม่มีใครทำให้เห็นเกิดขึ้นได้เลย แต่เห็นก็เกิดแล้ว ทุกคนกำลังคิด ใครทำให้คิดเกิดขึ้น ทำไม่ได้เลย คิดเกิดแล้ว

    เพราะฉะนั้น ทุกสิ่งทุกอย่างที่มี เกิดแล้วทั้งนั้นโดยที่ไม่มีใครทำ เพราะฉะนั้น เริ่มเข้าใจความจริง โลกทั้งหมดจะปรากฏไม่ได้เลย ถ้าไม่มีธาตุรู้คือจิต นามธาตุซึ่งเป็นใหญ่เป็นประธาน กำลังเห็น กำลังได้ยิน กำลังรู้ว่าเป็นคนนั้น กำลังไม่ชอบคนนี้ กำลังเป็นทุกข์ต่างๆ ก็คือแต่ละหนึ่งของสภาพธรรม ซึ่งมีปัจจัยเกิดขึ้นแล้วก็ดับไปสืบต่อ จนกระทั่งยึดถือว่าเป็นเรามานานแสนนาน จนกว่าจะได้ฟังธรรม ชีวิตเปลี่ยนไปอย่างไร จากเดิมที่ไม่รู้ไม่เข้าใจอะไรเลย ก็มีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องตามควร

    เพราะฉะนั้น พระธรรมที่ทรงแสดงเป็นธรรมทานที่ให้ชีวิต ที่เริ่มเปลี่ยนจากความไม่รู้เป็นความเข้าใจสิ่งที่มีตามความเป็นจริง ตามกำลังของปัญญาที่มีโอกาสได้ฟังธรรมแล้วก็ได้ไตร่ตรองธรรม จะไปขอให้มีปัญญามากๆ เมื่อไหร่จะเข้าใจอย่างนี้ เมื่อไหร่จะรู้ความจริงการเกิดดับ เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย เป็นแต่เพียงความคิดความหวังซึ่งไม่มีเหตุสมควรที่จะเกิดขึ้น

    เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่าใครไม่เปลี่ยนบ้างหลังจากที่ได้ฟังธรรม มากน้อยแค่ไหนแล้วแต่กำลังของปัญญา แล้วก็จะเห็นด้วยว่าไม่ต้องหวังที่จะหมดกิเลส หมดได้อย่างไร แค่รู้ว่าเป็นสิ่งที่กำลังปรากฏเกิดแล้วก็ดับไป ยังไม่รู้เลย แล้วก็จะไปหวังที่จะดับกิเลสได้อย่างไร เพราะฉะนั้น การฟังแต่ละครั้งก็เพื่อสะสมความเห็นถูกความเข้าใจถูก และคนนั้นก็จะรู้ได้ว่า เพราะความเห็นถูกความเข้าใจถูก จึงละคลายความติดข้องที่เคยไม่รู้ และเคยติดข้องในทุกสิ่งทุกอย่างแม้แต่ลาภ ถ้าไม่มี ตา หู จมูก ลิ้น กาย จะเอาอะไรมาเป็นลาภ ก็ไม่มี ใช่ไหม แต่สิ่งต่างๆ เหล่านี้เป็นลาภจริงหรือเปล่า ได้มาชั่วคราว แล้วสิ่งนั้นเกิด และดับไปแล้วไม่กลับมาอีกเลยแล้วจะเป็นของใคร ไปหาที่ไหนในสากลจักรวาล ก็ไม่มีสิ่งนั้นอีกแล้ว เพราะว่าสิ่งใดก็ตามที่เกิดแล้ว สิ่งนั้นดับไป เหลือแต่ความจำ และความติดข้องในสิ่งนั้นที่เพิ่มมากขึ้นทุกขณะที่ไม่รู้ความจริงของสิ่งที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้น ลาภอย่างนั้นได้มาเพื่อความไม่รู้ และความติดข้องเพิ่มขึ้น แต่ว่าลาภที่ประเสริฐก็คือว่า การมีโอกาสได้ฟังพระธรรม และได้เข้าใจพระธรรม


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 184
    12 ม.ค. 2567