พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 772


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๗๗๒

    ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๕


    ท่านอาจารย์ ไปโกรธเขาทำไมในเมื่อใจเขาร้าย ใจเขาไม่ดี ก็เรื่องใจของเขา คุณนิรันดร์คิดถึงจิต ไม่ได้คิดถึงตัวคุณนิรันดร์ หรือตัวเขา แต่คิดถึงสภาพของจิต แต่ละคนมีจิตแน่ๆ และจิตของแต่ละคนสะสมทุกสิ่งทุกอย่างมา ไม่สามารถที่จะรู้ได้ว่า มากน้อยแค่ไหน ไม่มีปัญญาที่จะไปหยั่งรู้การสะสมในจิตของแต่ละคน แม้ตัวเองก็ไม่รู้ ถ้าไม่มีเหตุการณ์ใดๆ เกิดขึ้นที่จะทำให้รู้สภาพของจิตในขณะนั้นด้วยความเข้าใจถูกต้องว่า ไม่ใช่เรา แต่จิตเป็นธรรมอย่างหนึ่ง

    เพราะฉะนั้น เวลาที่เห็นคนอื่นแล้วโกรธ คนที่ถูกโกรธสบายมาก ไม่ได้เดือดร้อนเลยสักนิด แต่คนโกรธ ถ้ามีปัญญาเห็นอกุศลของตนเอง แล้วใครจะเอาโทสะนั้นออกได้ ไม่มีหนทางอื่นเลย นอกจากปัญญาที่ได้ฟังพระธรรมแล้วก็อบรมความเห็นที่ถูกต้อง และเป็นผู้ที่มั่นคง

    เพราะฉะนั้น เพียงเราไม่เดือดร้อน ต่อการกระทำทางกายของคนอื่นต่อเรา หรือว่าวาจาของคนอื่นต่อเรา เราก็เป็นผู้ที่ไม่หวั่นไหว แม้แต่สติ ๓ เรามีสติปัฏฐาน ๔ และก็มีสติ ๓ สติ ๑ ใน ๓ ก็คือ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ทรงยินดียินร้ายในสาวกคือผู้ฟัง ว่าเขาจะประพฤติอย่างไร เพราะเหตุว่า ด้วยพระมหากรุณาที่จะอนุเคราะห์ให้เขาได้เข้าใจธรรม เพราะฉะนั้น ก็ไม่หวั่นไหวเลยว่า พูดแล้วใครจะฟังตาม ประพฤติตามหรือไม่ ก็เป็นเรื่องของอนัตตา เรื่องของบุคคลนั้น

    เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นผู้ที่ฟังธรรมจริงๆ ธรรมคุ้มครอง ในขณะที่ปัญญาเกิดขึ้น แม้ว่ามีสิ่งที่เราเรียกว่าภัยอันตรายที่จะถึงชีวิตก็ตามแต่ ภิกษุที่อยู่ในป่าเสือกัด สามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้ เพราะฉะนั้น สำคัญที่จิตของแต่ละคน และก็สำคัญที่ปัญญาที่จะมีความเข้าใจที่ถูกต้องว่า อกุศลจิตเกิดไม่ได้ให้ประโยชน์อะไรเลยทั้งสิ้น ไม่ว่าเขาหรือเรา แต่เรื่องของเขา เราไปทำอะไรไม่ได้ ต่างคนก็ต่างสะสมมา แต่ผู้ที่ได้ฟังธรรมแล้ว มีความเข้าใจที่มั่นคง ความตายที่เป็นสมมติมรณะ กับความตายทุกขณะที่กำลังสะสมกุศล และอกุศล ก็แสดงให้เห็นว่า การเกิดดับสืบต่อในขณะที่คุณนิรันดร์กำลังกลัว ขณะนั้นก็เป็นอกุศล ก็สะสมอกุศลอยู่เรื่อยๆ แต่ถ้ามีความเข้าใจที่มั่นคงจริงๆ ว่ากลัวอะไร กลัวอกุศลหรือกลัวภัย

    ผู้ฟัง กลัวคนจะมาทำร้ายเราบ่อยๆ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น กลัวภัยไม่ได้กลัวอกุศลจิต อกุศลทำร้ายทันทีที่เกิด ก่อนที่คนอื่นจะมาทำร้ายเรา

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์กำลังบอกว่า อกุศลร้ายแรงกว่าคนที่มาตีเรา

    ท่านอาจารย์ แน่นอน

    ผู้ฟัง ทำไมอย่างนั้น

    ท่านอาจารย์ อกุศลเกิดขึ้น จิตใจขณะนั้นเป็นอย่างไร

    ผู้ฟัง เศร้าหมอง

    ท่านอาจารย์ ทำร้ายแล้ว ทำร้ายแล้ว เขายังไม่ได้ทำอะไรเลย อกุศลเบียดเบียนแล้ว กลัว คิดดู ใครคิดว่าความกลัวเป็นสิ่งที่ดีบ้าง แต่ก็มีปัจจัยที่จะกลัว ไม่ใช่วันนี้ ต่อไปข้างหน้าอีกนานแสนนานก็สะสมความกลัวเพิ่มขึ้นทุกวันเลย เมื่อวันก่อน อาทิตย์ก่อนกลัวแค่ไหน มาถึงวันนี้มากเท่าไหร่ แล้วต่อไปอีกมากเท่าไหร่ เราก็จะไม่พ้นจากกิเลสคือ “ความกลัว” แต่ถ้าเรามีความเข้าใจที่ถูกต้องใครก็ทำอะไรเราไม่ได้ นอกจากกรรมของเราที่ได้กระทำแล้ว ปลอดภัยที่สุด ใครทำอะไรไม่ได้จริงๆ นอกจากกรรมของบุคคลนั้นเองที่ได้กระทำแล้ว เกิดให้ผลเมื่อไหร่ ก็คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ก็ประสบกับสิ่งที่ไม่น่าพอใจเมื่อนั้น

    ผู้ฟัง ถ้าอย่างนั้น เราก็ไม่ต้องกลัว เพราะรู้ว่า ถ้าเวลาคนที่มาทำร้ายก็เป็นเพราะว่ากรรมที่เราเคยทำมา เพราะไม่อย่างนั้นเขาก็จะมาทำร้ายเราไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ถูกต้องไหม คุณนิรันดร์เกิดขึ้นเพราะกรรม แล้วก็ต้องเป็นไปตามกรรม เพราะฉะนั้น ชีวิตของแต่ละคนก็ต่างกันไปหลากหลายมากตามกรรม เราคิดว่ากรรมคือ รถชน หรือคนเบียดเบียน หรือคนทำร้าย แต่กรรมก็ให้ผล คือ ทำให้เห็นเกิดขึ้น ได้ยินเกิดขึ้น ได้กลิ่นเกิดขึ้น ลิ้มรสเกิดขึ้น รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสทางกายเกิดขึ้น ยุงกัดสักตัวเป็นผลของกรรมหรือเปล่า

    ผู้ฟัง เป็นผลของกรรม

    ท่านอาจารย์ แล้วถ้ามากกว่ายุง เป็นผลของกรรมหรือเปล่า

    ผู้ฟัง เป็นผลของกรรม

    ท่านอาจารย์ ก็ต้องเป็นผลของกรรมทั้งนั้น เป็นผู้ที่มั่นคงว่า จริงๆ แล้วเป็นธาตุหรือเป็นธรรม คือสิ่งที่มีจริง เราไปคิดว่าธาตุนั้นเป็นคน เป็นสัตว์ เป็นสิ่งต่างๆ แต่ความจริง ถ้าแยกย่อยออกมาแล้ว ก็เป็นแต่ละธาตุ มีภาพๆ หนึ่ง เห็นเป็นคน หรือว่าเห็นเป็นภูเขา หรือว่าเห็นเป็นบ้านเรือนอะไรก็ได้ ฉีกออกให้ละเอียดยิบ ยังได้

    เพราะฉะนั้น เดี๋ยวนี้สิ่งที่ปรากฏเหมือนภาพแตกย่อยให้ละเอียดเป็นแต่ละ ๑ กลาป ซึ่งเกิดดับ นี่ก็คือความจริงที่จะต้องเข้าใจให้ถูกต้องว่าแท้ที่จริง ธรรมที่ได้ยินได้ฟัง เป็นความจริงที่ลึกซึ้ง และก็เปลี่ยนแปลงไม่ได้เลย แต่ว่า การยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตนมากมายมหาศาล ต้องอาศัยการฟังอย่างละเอียด แล้วก็มั่นคง ทุกอย่างเป็นธรรม ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใคร เพราะฉะนั้น จะกลัวอะไร แทนที่จะกลัวภัย กลัวความตาย กลัวอกุศลไม่ถูกต้องกว่าหรือ

    ผู้ฟัง เป็นข้อคิดที่เป็นประโยชน์กับผมมากเลย เพราะผมก็ไม่ได้คิดในมุมนี้มาก่อนว่า สิ่งที่น่ากลัวจริงๆ ก็คือ กลัวอกุศลที่มีโทษร้ายแรง

    ท่านอาจารย์ ไม่ต้องกลัวใครเลย ถ้าไม่มีกรรมที่ได้กระทำแล้วอะไรก็เกิดขึ้นไม่ได้ ถึงแม้ว่าไม่มีเขาทำร้าย ถึงเวลาที่กรรมนั้นจะให้ผล ก็ต้องเป็นไปตามกรรมนั้น

    ผู้ฟัง ตอนแรกผมว่าย้ายบ้านมา หนีมาก็จะโดนทำร้ายอีก ผมคิดว่าการไปไกลสุดกู่จนตามหาผมไม่เจอ ผมหนีกรรมไม่ได้ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ อะไรที่ยังไม่เกิดขึ้น คุณนิรันดร์รู้ไหม ว่าจะเกิดอะไร

    ผู้ฟัง ไม่รู้

    ท่านอาจารย์ เพราะยังไม่เกิดได้แต่คิด แต่เกิดจริงๆ ตามเหตุตามปัจจัย ไม่ใช่ตามที่เราคิด มั่นคงในเรื่องกรรม และผลของกรรม

    ผู้ฟัง เป็นประโยชน์เพื่อจะได้มั่นคงในเรื่องของผลของกรรม แล้วก็เห็นโทษของอกุศลที่ทำร้ายตนเอง ไม่ใช่ผู้อื่นทำร้ายเลย

    ท่านอาจารย์ ไม่ต้องกลัวคนอื่น กลัวกิเลส และกรรมของตนเอง ถ้าคุณนิรันดร์มีความเข้าใจแล้ว ไม่ต้องหวัง ไม่ต้องรอเมตตาใช่ไหม จะเกิดเมื่อไหร่ก็เมื่อมีปัจจัย และยิ่งถ้ารู้ ถ้าเข้าใจถูกต้อง ว่าความโกรธไม่มีประโยชน์เลย ความกลัวจะกลัวอะไร ขณะนั้นก็ไม่ต้องหวังว่า เมตตาเราจะเกิดไหม แล้วแต่เหตุปัจจัย เพียงไม่โกรธก็ไม่เดือดร้อนใช่ไหม ไม่โกรธขณะนั้นก็เป็นกุศลแล้วใช่ไหม แล้วก็ไม่กลัวด้วย อะไรจะเกิดก็แล้วแต่

    เพราะฉะนั้นในขณะนั้น จะมีเมตตาเกิดก็ย่อมได้ แต่ว่าไม่ได้หมายความว่า เราต้องไปหวังว่าจะมีเมตตา แต่จากความเข้าใจนี้ก็เองจะรู้ว่า อะไรที่จะเกิดก็เพราะความเข้าใจถูกต้อง ไม่ใช่ว่าเราเรียกเพียงชื่อเยอะๆ แต่ขณะนั้นผู้ตรงก็คือว่า สามารถที่จะเข้าใจลักษณะที่เป็นธรรม กว่าจะถึงต้องอาศัยการฟัง และการค่อยๆ อบรมความเข้าใจเพิ่มขึ้น

    ผู้ฟัง อาจารย์สนทนากับอาจารย์วิชัยที่กล่าวว่า ถ้าฟังธรรมด้วยความเป็นตัวตน และความต้องการ ก็จะเป็นเครื่องกั้น ก็จะเรียนสนทนาว่ากั้นอะไร แล้วฟังอย่างไรถึงไม่กั้น

    ท่านอาจารย์ ฟังด้วยความเป็นเรา มาฟังธรรม แล้วเราได้อะไรบ้าง แล้วก็ต่อไป เราจะทำอะไรดี แล้วเมื่อไหร่เราจะรู้แจ้งอริยสัจจธรรม เราทั้งหมดที่ฟัง กั้นไม่ให้เข้าใจว่า ธรรมเป็นธรรม เกิดแล้วขณะนี้ปรากฏชั่วคราวแล้วก็หมดไป ฟังอย่างนี้ฟังไม่ออกเลย เพราะเหตุว่าเป็นเรา เมื่อไหร่จะรู้อย่างนี้ มาอีกแล้ว คือฟังอย่างไรก็เป็นเราไปทั้งนั้นเลย ทั้งวัน พอสนทนากัน วันนั้นฟังธรรมแล้วก็เป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ เป็นอย่างนี้เป็นอย่างนั้น แต่แทนที่จะรู้ว่า ก็หมดแล้วไม่ใช่หรือ และเดี๋ยวนี้เป็นอะไร เดี๋ยวนี้เป็นอะไรไม่รู้เลย มีแต่เราทั้งหมดที่ฟัง แล้วฟังแล้ว เราเกิดอะไรขึ้น แล้วเมื่อไหร่เราจะได้รู้แจ้งอริยสัจจธรรม กั้นไหม

    ผู้ฟัง หมายความว่า จริงๆ ท่านอาจารย์ก็กล่าวมาตลอดวันละหลายครั้งว่า ทุกอย่างเป็นธรรม และเป็นอนัตตา เช่น เห็นขณะนี้ไม่มีคนใดคนหนึ่งเห็น

    ท่านอาจารย์ แล้วก็มีคนบอก แล้วตัวเองก็ไม่เข้าใจ เห็นไหม ตัวเองมาอีกแล้ว ก็ตัวเองไม่เข้าใจก็ทิ้งตัวเองสิ แล้วก็ฟัง และอะไรที่ไม่เข้าใจ ไม่เข้าใจหรือว่าเดี๋ยวนี้สิ่งที่มีจริง มีจริงๆ ไม่มีใครสามารถที่จะทำให้เกิดขึ้น เข้าใจไหมอย่างนี้ ทีละคำ ทีละประโยค ไม่ใช่ว่าฟังแล้วตัวเองก็ไม่เข้าใจ ก็มีตัวเองมาตลอดเวลา

    ผู้ฟัง นั่นหมายความว่า เพราะท่านอาจารย์จะกล่าวตลอดว่า ไม่มีเรา ไม่มีสัตว์ ตัวตนบุคคล มีแต่ลักษณะสภาพธรรมแต่ละอย่างที่กำลังปรากฏ

    ท่านอาจารย์ ในขณะที่ฟังเข้าใจอย่างนี้หรือเปล่า ถ้าเข้าใจอย่างนี้ก็คือ เข้าใจ ต่อจากนั้น ก็มีความเป็นตัวตนอีก ในขณะที่ไม่ได้ฟัง แต่ไม่ต้องมากังวลถึงว่า แล้วตัวตนนี้เมื่อไหร่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรม หรือว่าตัวตนจะไปไหนดี จะไปทำอะไรดี จะฟังอย่างไร จะคิดอย่างไร ถึงจะเข้าใจธรรม นี่คือไม่ได้เข้าใจธรรม คิดอย่างไรทำอย่างไรก็คือตัวตนนั้นแหละ

    ผู้ฟัง ในระหว่างถ้าฟังธรรมให้เข้าใจในสิ่งที่กำลังฟัง

    ท่านอาจารย์ เปลี่ยนความเข้าใจขณะนั้นให้เป็น ไม่เข้าใจได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ไม่ได้ แล้วเข้าใจแล้ว หมดไหม

    ผู้ฟัง เข้าใจแล้วก็สะสม

    ท่านอาจารย์ ดับไหม

    ผู้ฟัง ดับ แต่ว่าก็สะสม

    ท่านอาจารย์ แล้วความไม่เข้าใจก็เกิดได้ไหม

    ผู้ฟัง ได้

    ท่านอาจารย์ ก็ได้ นี่คือธรรม จะได้เข้าใจว่า นี่คือธรรม ไม่ใช่เรา

    ผู้ฟัง อย่างท่านอาจารย์กล่าวว่า ถ้าฟังธรรมแล้วเป็นเรา เมื่อไหร่จะเข้าใจ เมื่อไรจะรู้ เมื่อไหร่ ปัญญาขั้นนั้นจะเกิด อะไรแบบนี้ ก็เหมือนกับท่านอาจารย์กล่าวว่าเป็นธรรม

    ท่านอาจารย์ ฟังแล้วก็ยังกลับมาเป็นเราตลอด ฟังแล้วก็คือว่า จบแล้ว หมดแล้ว อะไรจะเกิดขึ้น โลภะก็ได้ โทสะก็ได้ โมหะก็ได้ แล้วก็ฟังธรรมก็คือเข้าใจขณะที่ฟังธรรม ก็รู้เลยว่า อะไรจะเกิดก็เกิดตามเหตุตามปัจจัย แต่ฟังแล้วก็เราอยู่ตลอดเวลาอย่างนี้แล้วจะไปไหน

    ผู้ฟัง ตรงนี้สำคัญมาก ว่า ถ้าไม่เริ่มต้นให้ถูกว่า ฟังให้เข้าใจว่า เป็นธรรมแต่ละลักษณะจริงๆ ไม่ใช่มีเราที่จะไปทำอะไรได้ แล้วก็มีเราที่จะไปเข้าใจ มีเราที่จะไปเจริญสติปัฏฐานอะไรพวกนี้ ก็ไม่ใช่ฟังที่ท่านอาจารย์กล่าวเข้าใจ ซึ่งถ้าตั้งต้นไม่ถูกก็ ไม่มีทางที่ปัญญาจะเจริญได้เลย

    ท่านอาจารย์ เข้าใจคำที่ได้ฟังเพิ่มขึ้น ฟังแล้วก็เข้าใจขึ้น แล้วก็รู้ด้วยว่า เข้าใจแล้วก็หมดไป แล้วก็มี โลภะ โทสะ ก็เป็นของธรรมดา ทำไมถึงอยากที่จะไม่มีโลภะ อยากที่จะไม่มีโทสะ และอยากนั้นคืออะไร กั้นหรือเปล่า มัวแต่อยาก อยากอย่างไรก็ไม่สมหวังไม่เป็นไปได้ นอกจากเข้าใจสิ่งที่ได้ฟัง

    ผู้ฟัง ในการที่จะฟังเข้าใจในสิ่งที่ท่านอาจารย์กล่าวให้เข้าใจ ซึ่งท่านอาจารย์ก็ไม่ได้กล่าวอย่างอื่น นอกจากสิ่งที่กำลังปรากฏ เช่น ขณะนี้เห็นแล้วก็คิด ได้ยินแล้วก็คิด

    ท่านอาจารย์ เป็นปกติธรรมดา เกิดแล้วเพราะเหตุปัจจัย ข้อสำคัญคือ เกิดแล้ว ให้เข้าใจว่าเกิดแล้ว ตามเหตุตามปัจจัย จึงจะเห็นว่าไม่ใช่เรา ไม่ใช่เราจะพยายามไปทำให้เกิด ก็ยังคงเป็นเราอยู่

    ผู้ฟัง ช่วงหลังท่านอาจารย์ก็จะย้ำมากว่า อธิบายให้เห็นว่า ไม่มีเราจริงๆ ยกตัวอย่าง เมื่อสักครู่ ท่านอาจารย์กล่าวว่า มีรูปอะไรในกระดาษ แล้วมาฉีกให้ย่อยๆ ก็ไม่มีรูปสิ่งนั้นแล้ว ก็เหมือนกับแต่ละคนที่ยึดว่า เป็นคนนั้นคนนี้ ถ้าแตกย่อยไปแล้ว ก็คือเหลือกลาปของรูปที่เล็กที่สุด

    ท่านอาจารย์ ทุกอย่างที่จะทำให้เข้าใจได้ ก็พูดใช่ไหม ตั้งแต่เดี๋ยวนี้ ที่นั่งอยู่ตรงนี้ ถ้าไม่มีธาตุ ดิน น้ำ ไฟ ลม จะมีสิ่งที่สามารถกระทบตาเป็นรูปร่างสัณฐานได้ไหม นี่ก็พูดไปแล้วใช่ไหม เอาใหม่ เอารูปสักรูปหนึ่งก็ได้ รูปคุณอรวรรณก็ได้ เอามาฉีกให้ละเอียดยิบ ยังไปทำลายความเป็นรูปคุณอรวรรณได้ ฉันใด ขณะนี้ก็เช่นเดียวกัน ไม่ต้องฉีก แต่ว่ามีความเข้าใจถูกต้องว่า ถ้าไม่มีธาตุ ดิน น้ำ ไฟ ลม แต่ละกลาป ซึ่งเกิดเพราะ กรรมบ้าง จิตบ้าง อุตุบ้าง อาหารบ้าง จะไม่มีสีสันวรรณะ ซึ่งสามารถกระทบจักขุปสาท และปรากฏเป็นรูปร่างสัณฐานอย่างนี้ เพราะฉะนั้น ถ้าไม่เข้าใจอย่างนี้ก็เอา ฉีกรูปไป ดูสิว่า จะมีรูปนั้นอยู่อีกหรือเปล่า แต่ไม่ฉีกรูป แต่เข้าใจสิ่งที่ปรากฏ ฉันใดก็ฉันนั้น

    อ.วิชัย ความรู้ที่เริ่มเข้าใจกับที่ท่านอาจารย์กล่าวถึงว่า รูปที่ปรากฏ ถ้าแยกย่อย ก็เป็นแต่กลาป ไม่เป็นสิ่งนั้นแล้ว ก็เป็นการเข้าใจในขั้นที่จะพิจารณาตาม แต่ว่าความรู้ความเข้าใจที่จะรู้ ตรงในลักษณะ คือ ไม่ใช่เป็นความคิดอย่างนั้น

    ท่านอาจารย์ แน่นอน เพราะฉะนั้น ฟังเรื่องธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม รู้ได้ทางไหน เห็นไหม และขณะนี้กำลังปรากฏ นี่คือสิ่งที่ได้ฟังมาทั้งหมดก็จะมาประกอบกัน ให้เข้าใจว่า แท้ที่จริงแล้วรวมกันอยู่ ก็ปกปิด ไม่ให้เห็นตามความเป็นจริง โดยเฉพาะสิ่งที่ปรากฏทางตา ไม่ใช่ธาตุแต่ละกลาปของธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม แต่เป็นสิ่งที่สามารถกระทบจักขุปสาทได้

    เพราะฉะนั้น เวลาที่กระทบกับ อ่อน หรือ แข็ง ก็เป็นกาลจากการที่ฟังมาแล้ว แล้วก็รู้ว่ามีจริงๆ แล้วก็เป็นแต่ละกลาป ซึ่งมีอากาศธาตุแทรกขั้น แล้วก็เกิดดับด้วย นี่คือฟังมา “ปริยัติ” ใช่ไหม เกื้อกูลขณะที่กำลังมีสิ่งนั้นปรากฏให้เข้าใจอย่างนั้น ซึ่งถ้าคนที่ไม่เคยฟังเลยไม่มีทางที่จะเข้าใจได้เลย แต่เพราะเหตุว่า ฟังมาๆ จนถึงกาลที่มีการรู้ลักษณะ ซึ่งขณะนั้นไม่ใช่เราเจริญสติ แต่เห็นความเป็นอนัตตาของสติ ที่ขณะนั้นแทนที่จะไม่รู้สิ่งที่เคยเป็นปกติ คือ อ่อนหรือแข็ง ก็กำลังรู้เฉพาะตรงนั้น ถึงเฉพาะตรงนั้น

    เพราะฉะนั้น ความรู้ขั้นปริยัติก็มาทำให้สามารถเริ่มรู้ในความเป็นธรรม แต่คิดดูว่าน้อยแค่ไหน เพราะว่า ไม่ใช่มีแต่ธาตุดินที่อ่อนหรือแข็งที่ปรากฏ ธาตุไฟ ที่เย็นหรือร้อนหรือธาตุลมที่ตึงหรือไหว อย่างอื่นเดี๋ยวนี้ละ ทางตา แล้วก็สิ่งต่างๆ ซึ่งเป็นสภาพธรรมทั้งหมดที่จะต้องตามรู้ คือ รู้ในขณะที่สภาพธรรมนั้นกำลังปรากฏจนกว่าจะเข้าใจขึ้น ตรงตามที่ได้ฟัง

    อ.วิชัย แสดงว่าบุคคลที่อบรมเจริญปัญญา ก็ต้องรู้โดยตลอด ว่าจะเป็นเพียงขั้นของการเข้าใจหรือว่า ขั้นการที่จะรู้ว่าเป็นธรรมแต่ละอย่าง จนถึงขั้นที่จะมีลักษณะของธรรมนั้นปรากฏ ก็รู้ว่ามีความต่างกันว่า เป็นปัญญาคนละระดับ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ความรู้ต่างกับความไม่รู้ จะไปหวังความรู้ขั้นอื่น โดยความรู้ขั้นต้นไม่มี เป็นไปได้เลย หรือจะไปหวังการประจักษ์แจ้งการเกิดดับ โดยไม่มีการรู้เฉพาะลักษณะของสภาพธรรมด้วยความเข้าใจที่ถูกต้อง จนคลาย ไม่ใช่เพียงแค่รู้ แต่ยังสามารถที่จะหน่ายหรือคลายด้วย อย่างที่ถามเมื่อวานนี้ ถามว่า ใครเห็นว่าไม่น่าจะเกิดอีกบ้าง ถึงความรู้ขนาดนั้นได้ไหม ที่เห็นว่าการเกิดไม่มีประโยชน์เลย เพียงแต่บอกว่า เกิดมาแล้วต้องเห็น ไม่เห็นไม่ได้ ก็ยังไม่ได้ทำให้กิเลสกระเทือน เพราะเรามี ในขณะนั้นสภาพธรรมแต่ละหนึ่งไม่ได้ปรากฏ ที่จะให้รู้ตามความเป็นจริงว่า หนึ่งนั้นไม่ใช่หนึ่งอื่น ซึ่งเกิดสืบต่อทันที

    เพราะฉะนั้น ก็จะเห็นกำลังของปัญญาได้ว่า แม้แต่สิ่งที่กำลังเป็นอย่างนี้ และถูกอวิชชาความไม่รู้ปกปิด แต่เวลาที่วิชชาความรู้เกิดขึ้น สามารถจะรู้แม้ความต่างกันของสภาพธรรมตามความเป็นจริง กว่าจะคลาย แล้วก็เห็นโทษของการเกิด ว่าเกิดมาแล้ว ไม่มีเรา แต่มีธาตุซึ่งจะต้องเกิดขึ้นเป็นไปตลอดสาย ไม่ขาดเลย ที่เป็นสังสารวัฏฏ์ คือการเกิดดับสืบต่อของสภาพธรรมนั้นเอง

    อ.ธิดารัตน์ ขณะที่ต้องการด้วยโลภะ โลภะมีธรรมที่เกิดกับโลภะ นอกจากโลภะซึ่งเป็นตัณหาแล้ว มีความสำคัญตนก็ได้ หรือว่ามีความเห็นผิดก็ได้ ในขณะที่แสวงหาหนทางที่ไม่ใช่หนทางถูก ก็คือการจดจ้องหรือว่าการอยากรู้ เป็นโลภะที่ประกอบด้วยความเห็นผิด แม้เพียงนิดเดียว คือ แค่ต้องการผล ข้อปฏิบัตินั้นก็คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงแล้ว เพียงเล็กน้อยก็เรียกว่าเป็นหนทางที่ผิด ไม่ใช่หนทางที่เป็นทางสายกลาง

    เพราะฉะนั้น เมื่อเอนเอียงไปในทางที่ผิด จึงเป็นเครื่องเนิ่นช้าแล้วก็ไม่สามารถจะเข้าใจธรรมได้ ที่ใช้คำว่า ทำไมแค่อยากได้ผล หรือว่าต้องการ หรือว่าแสวงหา ทำไมถึง ผิด แล้วก็ไม่ถูก แล้วเป็นเครื่องกั้น เป็นเครื่องเนิ่นช้า เพราะว่า เป็นหนทางที่ไม่ใช่ทางสายกลาง เมื่อผิดทาง จะสามารถที่จะเป็นปัจจัยให้ปัญญาเกิดขึ้นได้ไหม เข้าใจสภาพธรรมได้ไหม ก็เป็นไปไม่ได้เลย

    เพราะฉะนั้น สีลัพพตปรามาสในข้อปฏิบัติที่ละเอียดมาก ถ้าหากว่าผู้ที่อบรมเจริญปัญญา ไม่เข้าใจลักษณะนี้ สติปัฏฐาน หรือว่าทางสายกลางก็เกิดไม่ได้ เพราะเรายังไม่เข้าใจ ว่าขณะนี้ สภาพธรรมที่กำลังเกิดขณะนี้ เป็นโลภะที่ประกอบด้วยความเห็นผิดแม้เพียงนิดหนึ่ง หนทางก็คลาดเคลื่อน เมื่อคลาดเคลื่อนไม่รู้ตามความเป็นจริงว่า ความต้องการข้อปฏิบัตินี้ ที่ถึงแม้จะไม่ใช้คำว่า “ข้อปฏิบัติ” แต่ต้องการผล โดยที่ไม่ใช่การละ เพราะว่าจริงๆ แล้ว ศึกษาเพื่อละ ถ้าศึกษาเพื่อละ ก็จะไม่เป็นไปกับโลภะ เพราะว่าเป็นด้วยความเข้าใจถูก ที่ว่าศึกษาเพื่อละเหตุ เมื่อสมควรแก่ผล ปัญญาก็รู้ลักษณะสภาพธรรมอย่างนั้นจริงๆ

    การศึกษา ศึกษาควบคู่กันกับความเข้าใจลักษณะของสภาพธรรม แม้ขั้นการศึกษา ก็ต้องมีลักษณะของสภาพธรรมประกอบควบคู่ไปด้วย เพราะเราไม่ได้ศึกษาเพียงชื่อ เพียงพยัญชนะอย่างเดียว เพราะพยัญชนะนั้นเพื่อให้เข้าใจสภาพธรรม และสภาพธรรมนั้นก็คือ เกิดขึ้นในขณะนี้นี่เอง ศึกษาจริงๆ คือ ศึกษาสภาพธรรมที่ปรากฏ แต่ถ้าเราไม่เคยเรียนเรื่องของสภาพธรรมเลย สภาพธรรมปรากฏ เราก็ไม่สามารถที่จะอ่านสภาพธรรมนั้นได้ ก็คือปัญญาต้องค่อยๆ เกิดขึ้นโดยลำดับ ตั้งแต่ขั้นการฟังจนเข้าใจจริงๆ ที่ใช้คำว่า ความเข้าใจที่มั่นคง คือ เข้าใจจริงๆ ว่ามีสภาพธรรมนั้นจริงๆ คอยๆ ที่จะสำเนียกสังเกตจนรู้ลักษณะสภาพธรรมแต่ละชนิดจริงๆ

    ผู้ฟัง ธรรมที่เกิดขึ้นเป็นสภาพธรรมที่มีจริง แล้วก็ ไม่ว่าจะเป็นความหวาดกลัว ความโกรธ หรือความชอบ ซึ่งศึกษาธรรมแล้วก็รู้ว่า เป็นธรรมอย่างหนึ่ง แต่เมื่อเกิดขึ้น ส่วนใหญ่จะเป็น “เรา” และก็ “หลงลืมสติ” เป็นส่วนใหญ่ จากการที่ได้ฟังพระธรรม ก็มีบางขณะที่สามารถที่จะคิดได้ว่า เมื่อขณะเกิด สิ่งนั้นเป็นธรรม แต่ก็น้อยมากที่จะเกิด กราบเรียนถามท่านอาจารย์ เพราะจริงๆ ขณะหลงลืมสติแล้วโดยสภาพธรรมนั้นเกิด กับขณะที่คิดได้ว่าสภาพธรรมที่เกิดนั้นเป็นธรรม ก็เป็นสภาพที่ต่างกันแล้วก็คนละขณะ อยากจะกราบเรียนถามท่านอาจารย์ขอคำอธิบายเพิ่มเติม

    ท่านอาจารย์ ที่กล่าวมาทั้งหมดก็ถูกต้อง แล้วรู้ไหมว่า เป็นอนัตตา

    ผู้ฟัง ทราบ แต่ความแตกต่างนั้นก็ไม่ชัดเจน

    ท่านอาจารย์ เพราะเหตุว่า ขณะนั้นไม่ได้รู้เฉพาะลักษณะหนึ่ง ถึงเฉพาะแต่ละลักษณะ

    ผู้ฟัง เป็นอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ตอนนี้มีอะไรบ้าง

    ผู้ฟัง ตอนนี้มี เห็น

    ท่านอาจารย์ เท่านั้นเหรอ

    ผู้ฟัง ก็มีสิ่งที่ปรากฏทางตา

    ท่านอาจารย์ อะไรบ้าง อะไรอีก มากมาย

    ผู้ฟัง มีคิด

    ท่านอาจารย์ รู้เฉพาะลักษณะไหน สักหนึ่ง

    ผู้ฟัง แต่คิดได้

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ต้องเข้าใจความต่าง ฟังธรรม คิด เวลาที่เสียงกระทบหู ศึกษาคำนั้นโดยภาษาของตนๆ นี่คือ ข้อความในสังยุตตนิกายสคาถวรรค


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 184
    12 ม.ค. 2567