ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1038


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๑๐๓๘

    สนทนาธรรม ที่ บ้านคุณทักษพล และคุณจริยา เจียมวิจิตร

    วันที่ ๑๒ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๐


    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นได้ยินคำว่าสมาธิ แล้วไม่รู้จักสมาธิเพราะไม่สนใจที่จะเข้าใจว่าสมาธิคืออะไร ก็ไม่มีโอกาสที่จะได้เข้าใจแต่ทุกคำที่ได้ยิน สนใจ คืออะไร ต้องรู้ ไม่อย่างนั้นเราพูดเรื่องอะไรเราก็ไม่รู้ มีแต่ชื่อใช่ไหม เพราะฉะนั้นก็ต้องรู้ว่าคำว่าสมาธิไม่ใช่เป็นคำลอยๆ แต่หมายความถึงสิ่งที่มีจริง ตั้งแต่เป็นเจตสิกที่เกิดกับจิตทุกขณะทั่วๆ ไป ยังไม่ตั้งมั่นคงที่จะปรากฏว่าเป็นลักษณะของสมาธิประเภทหนึ่งประเภทใด

    ผู้ฟัง อย่างตอนฟังท่านอาจารย์แล้วก็พอรู้พอเข้าใจ แต่เดี๋ยวออกไปลืมแล้ว ทำยังไง

    ท่านอาจารย์ เป็นธรรมหรือเปล่า เราลืมตลอดเวลาว่าเป็นธรรม นี่เป็นเหตุที่เราฟังธรรมอีก เพื่อไม่ลืม ฟังอีกไม่ลืม เพราะรู้ว่าทันทีที่ไม่ได้ฟังก็ลืมเลย ถ้าจะไม่ลืมก็ฟังอีก แล้วในที่สุดจนกว่า แม้ไม่ได้ยินเสียงหรือคำของธรรม ก็เข้าใจธรรมที่กำลังปรากฏ เพราะสะสมมาถึงการที่จะไม่ลืม ไปบังคับใครได้ไหม ให้ทำสมาธิ ทำก็ไม่ได้ ทำอะไรไม่ได้สักอย่าง นอกจากฟังแล้วเข้าใจ ถ้าไม่ได้ฟังก็ไม่เข้าใจ เพราะฉะนั้นคำว่าจิตเป็นสภาพที่รู้แจ้งอารมณ์ ไม่ผิดใช่ไหม ตลอดกาล เพราะฉะนั้นในขณะที่เห็น ได้ยิน ได้กลิ่นลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส รู้แจ้งอารมณ์หรือเปล่า รู้แจ้ง เพราะฉะนั้นจิตจะเปลี่ยนลักษณะ แม้ว่าไม่ได้เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ได้ลิ้มรส แต่ก็ต้องรู้แจ้งอารมณ์ ใช่ไหม

    อ.คำปั่น กราบท่านอาจารย์ ซึ่งในพยัญชนะที่เป็นภาษาบาลี คือจินเตติ ก็หมายความว่าย่อมคิด ซึ่งในที่นั้นท่านก็อธิบายต่อไปว่าได้แก่การรู้แจ้งซึ่งอารมณ์ ก็คือ"อารัมมณัง วิชชานาติ" เป็นการแสดงถึงความเป็นไปของจิต ที่ต้องรู้แจ้งซึ่งอารมณ์ที่กำลังมีในขณะนั้นคือท่านอาจารย์ นี่ก็แสดงถึงความเป็นจริงของจิตทุกขณะที่จะต้องรู้แจ้งในอารมณ์นั้นๆ

    ท่านอาจารย์ ด้วยเหตุนี้ ถ้าเราไม่ประมาท ไม่ผิวเผิน จิตเป็นสภาพที่มากด้วยความคิด ตรงไหม เพราะฉะนั้นเราก็เข้าใจได้ว่าสภาพรู้ เป็นจิตหมดเลย ไม่ว่าจะรู้ทางตาเห็น ทางหูได้ยิน ทางจมูกได้กลิ่น ทางลิ้นลิ้มรส ทางกายรู้เย็นร้อน อ่อนแข็งที่ปรากฏ ทางใจคิดนึก ก็เป็นสภาพที่รู้แจ้งอารมณ์ ไม่ได้รัก ไม่ได้ชัง ไม่ได้อะไรทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นแต่ละคำ ก็ว่ามีความเข้าใจที่มั่นคง ไม่เปลี่ยน จิตต้องเป็นสภาพที่รู้แจ้งอารมณ์ แม้เดี๋ยวนี้ จิตก็เป็นสภาพที่มากด้วยความคิด

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์ ถ้าอย่างนั้นที่ว่าจิตมากด้วยความคิด ก็คือจิตหลายๆ ขณะเกิดแล้ว ใช่ไหม มากด้วยความคิด

    ท่านอาจารย์ หลังเห็น คิดไหม

    ผู้ฟัง คิด

    ท่านอาจารย์ หลังได้ยิน

    ผู้ฟัง ก็คิด

    ท่านอาจารย์ หลังได้กลิ่น

    ผู้ฟัง คิด

    ท่านอาจารย์ หลังลิ้มรส

    ผู้ฟัง คิด

    ท่านอาจารย์ หลังที่กระทบสัมผัส

    ผู้ฟัง คิด

    ท่านอาจารย์ ไม่มีสิ่งต่างๆ เหล่านี้ จิตคิดใหม่

    ผู้ฟัง ก็คิด

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นจิตมากด้วยความคิด

    ผู้ฟัง แต่ในขณะที่รู้แจ้งอารมณ์ไม่คิด ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ เดี๋ยวก่อน เราต้องไม่ลืมไม่ว่าขณะไหน เมื่อไรทั้งสิ้นต้องจำว่าสิ่งที่ได้ยินแล้ว ได้เข้าใจแล้ว เปลี่ยนไม่ได้ จิตเป็นสภาพที่รู้แจ้งอารมณ์ ใช่ไหม

    ผู้ฟัง ใช่

    ท่านอาจารย์ ขณะที่คิด รู้แจ้งอารมณ์ในขณะที่กำลังคิดหรือเปล่า ว่าคิดเรื่องนี้ คำนี้ ไม่ใช่คำอื่น

    ผู้ฟัง รู้แจ้งอารมณ์ที่กำลังคิดด้วย

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง เพราะฉะนั้นไม่เปลี่ยนลักษณะของจิต ทางตารู้แจ้งสิ่งที่กำลังปรากฏเดี๋ยวนี้ ไม่เปลี่ยนเป็นอย่างอื่น ไม่ได้เลย ทางหูรู้แจ้งเสียง ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย รู้แจ้งสิ่งที่ปรากฏฉันใดทางใจจิตก็รู้แจ้งสิ่งที่เป็นอารมณ์คือคิด เรื่องราวที่คิด ไม่ใช่คิดคำอื่น เพียงแต่อารมณ์นั้นต่างกัน ไม่ใช่เสียง ไม่ใช่กลิ่น แต่เป็นคิด เป็นความจำเรื่องเสียง เรื่องราวของเสียง เพราะฉะนั้นที่ชัดเจนคือจิตมากด้วยความคิด

    ผู้ฟัง อย่างนี้เราก็ไม่ต้องมาแบ่งว่า อันนี้เป็นปัญจทวาร อันนี้เป็นมโนทวาร เพราะว่า

    ท่านอาจารย์ เราแบ่งไม่ได้ แต่เราสามารถเข้าใจถูกต้องว่า ขณะไหนเป็นทวารไหน

    ผู้ฟัง กราบขอบพระคุณ

    ท่านอาจารย์ ศึกษาธรรมเพื่อเข้าใจสิ่งที่มี ทางตาเห็นสิ่งที่ปรากฏให้จิตรู้แจ้ง ไม่เหมือนขณะที่ไม่เห็นแล้วคิด คิดเหมือนเห็นเลย กำลังฝัน เหมือนเห็นเลย แต่ไม่ใช่รู้แจ้งสิ่งที่ปรากฏที่กระทบตา จึงรู้ว่านั่นฝันไม่ใช่เห็น

    ผู้ฟัง แต่รู้แจ้งความฝัน กราบขอบพระคุณท่านอาจารย์

    ท่านอาจารย์ ทุกอย่างที่ได้ฟังเปลี่ยนไม่ได้ เพียงแต่ว่าต้องสอดคล้องกัน และก็เข้าใจมั่นคงขึ้น นี่ก็เป็น ณ กาลครั้งหนึ่ง คือครั้งหนึ่งในสังสารวัฎ ที่กำลังสะสมความเข้าใจที่ถูกต้อง

    ผู้ฟัง เรียนถามท่านอาจารย์ว่า ในเมื่อจิตเกิดดับไปแล้ว ไม่กลับมาอีก แล้วทำไมมีคำพูดที่ว่าทุกอย่างมีการสะสมอยู่ในจิต

    ท่านอาจารย์ เมื่อเกิดแล้วดับแล้ว สิ่งที่เกิดแล้ว และยังคงติดอยู่ในจิต สะสมไป โดยไม่ใช่เกิดขึ้น เพราะฉะนั้นจึงมีกิเลสที่ละเอียดมากที่ใช้คำว่าอนุสัยกิเลส (อนุ-สะ-ยะ) /สย (สะ-ยะ) นอน /อนุ ตาม ตามนอนอยู่ในจิตทุกขณะไม่ขาดเลย เพราะฉะนั้นปัญญาที่ดับอนุสัย จึงไม่มีเหตุที่จะให้เกิดกิเลสนั้นๆ เพราะว่าได้ดับเหตุแล้ว เพราะฉะนั้นต้องรู้ ตอนที่เป็นพระโพธิสัตว์ เป็นเจ้าชายสิทธัตถะ แล้วก็นอนมีกิเลสไหม นั่งมีกิเลสไหม ยืนมีกิเลสไหม เพราะมีอนุสัยกิเลส ไม่ว่าจะหลับหรือจะตื่น แต่ว่าขณะที่เห็นกิเลสเกิดหรือยัง ในขณะที่ ๑ ขณะที่เห็นเพียงแค่เห็น ไม่มี เพราะฉะนั้นเห็นเกิดขึ้นได้อย่างไร ต้องมีการเข้าใจธรรมแล้วค่อยๆ ผสมผสานไม่ลืม ทุกคำต้องตรง ทุกคำต้องสอดคล้องกัน ต้องรู้ว่าขณะที่หลับมีจิตไหม แล้วเห็นหรือเปล่าขณะที่หลับ ไม่เห็น ก็ต้องเป็นจิตต่างชนิด จะให้เป็นจิตประเภทเดียวกันได้อย่างไร

    เพราะฉะนั้นพระสัมมาส้มพุทธเจ้าทรงแสดงจิตทุกขณะ ที่เกิดขึ้น ๑ ขณะ จิตนั้นเกิดขึ้นเป็นอะไร โดยชาติ คือการเกิดขึ้น เกิดขึ้นเป็นกุศล เพราะอะไร เพราะหลายเหตุ เหตุหนึ่งก็คือเพราะมีเจตสิกฝ่ายดีเกิดร่วมด้วย สหชาตปัจจัย สภาพธรรมใดๆ ก็ตามที่อาศัยเกิดขึ้นพร้อมกัน ภาษาบาลีใช้คำว่า สหชาตะ เกิดขึ้นเป็นปัจจัยหนึ่งในอีกหลายปัจจัย ที่จะทำให้จิตเพียง ๑ ขณะเกิดขึ้น เพราะว่า ๑ ขณะนั้นมีเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย แต่ละเจตสิก ก็เป็นปัจจัยโดยฐานะต่างกัน นี่ความละเอียดยิ่งที่จะฟังทำไม เพื่อให้เข้าใจ สะสมไปว่า ไม่มีเรา ไม่ใช่เรา เป็นแต่สภาพธรรมที่เกิด แล้วก็ดับ แล้วก็ไม่กลับมาอีกเลย ทุกคำฟังซ้ำไปซ้ำมา กี่ชาติ จนถึงมั่นคงจริงๆ ว่า ยังยินดีอีกหรือ ในสิ่งที่ไม่มี จนกว่าจะรู้มั่นคงแน่นอน ว่าไม่มีจริงๆ ก็สิ่งนั้นมีปัจจัยเกิดเพียงแค่ปรากฏ แล้วก็ดับ แล้วก็ไม่กลับมาอีก แต่สิ่งที่เกิดสืบต่อทำให้เหมือนกับไม่มีการดับไปเลย จนกระทั่งยึดมั่นว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด

    เพราะฉะนั้นกว่าจะลอกความเห็นผิดทิ้งไป ละลายไป หายไป หมดสิ้นไป ทีละเล็กทีละน้อย ยิ่งกว่าเอาเล็บขุดภูเขา จนกว่าภูเขานั้นจะหมด ก็ไม่ต้องไปคิดถึงเลย ว่าเมื่อไร เพราะเหตุว่าธรรมเป็นเรื่องเข้าใจแล้วละ ถ้ายังอยากนั่น อยากนี่ รู้นั่น รู้นี่ ก็คือว่าไม่เห็นโลภะ โลภะซ่อนเร้นเก่งมาก เดี๋ยวนี้ก็มี ก็ไม่รู้ ต้องเป็นปัญญาเท่านั้นที่จะเห็นสิ่งต่างๆ ตามความเป็นจริงได้ เพราะฉะนั้นถ้าไม่ใช้ปัญญาก็ไม่เห็นโลภะ ด้วยเหตุนี้การศึกษาจึงต้องมั่นคง เพื่อเข้าใจ และก็ไม่ใช่เพื่อคิดเอง คิดเองไม่คิดกันใหญ่เลย ทางทวารไหนเป็นอย่างไร คำนี้ว่าอย่างไร แต่ถ้าคำนั้นมั่นคง แต่ละคำไม่เปลี่ยนแปลง ก็เข้าใจได้ ตอนนี้รู้จักสมาธิแล้วใช่ไหม เที่ยงไหม สมาธิเที่ยงไหม เกิดแล้วดับ ไม่มีปัจจัยเกิดได้ไหม แล้วอะไรเป็นปัจจัยให้สมาธิเกิด หรือเอกัคคตาเจตสิกเกิด เจตสิกทั้งหลาย เกิดไม่ได้ ถ้าไม่มีจิต แยกจากจิตก็ไม่ได้ต้องเกิดกับจิต เกิดพร้อมจิต รู้สิ่งเดียวกับที่จิตรู้ แต่โดยฐานะต่างกันตามเจตสิกแต่ละประเภท แล้วก็ดับไป ไม่เหลือเลย ทั้งหมดไม่มีอะไรเหลือเลย

    ฟังเพื่ออะไร สะสมความเห็นถูก ไม่ใช่ฟังเพราะอยากจะไปเป็นพระโสดาบัน ทั้งๆ ที่ไม่รู้อะไรเลย ไม่รู้แม้แต่สมาธิ ใช่ไหม ไม่รู้แล้วจะละอะไรได้ ก็อยากได้สมาธิ ไปทำสมาธิ เพราะไม่รู้จักสมาธิ ณ กาลครั้งหนึ่ง ต้องสะสมความเห็นถูก ความเข้าใจถูก มิเช่นนั้นโอกาสที่จะเข้าใจก็ยาก การสนทนาธรรมเป็นมงคล ๑ ใน ๓๘ ถ้าไม่สนทนากันเราก็ยังคิดเหมือนเดิมใช่ไหม ต่างคนต่างคิดแล้วก็มาสนทนากันเรื่องนั้น แล้วก็ต่างคนต่างคิดนั่นแหละ แต่ถ้าได้ฟังพระธรรมก็คือรู้ชัดเจนว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงแสดงสิ่งนั้นว่าอย่างไร ไม่ใช่เราเพราะอะไร ถ้ากล่าวว่า จิตเป็นสภาพที่รู้แจ้งอารมณ์ และจิตมากด้วยความคิดก็ตรงกันใช่ไหม ไม่ได้ขัดแย้งกันเลย แต่เป็นเครื่องเตือนให้รู้ว่าวันหนึ่งๆ มากด้วยความคิด แค่เห็นอะไรก็คิดแล้ว เพราะเห็นแค่เห็น แต่จะรู้ว่าอะไรนั้นต้องคิด แต่ไม่ใช่เราคิด คิดแล้วทั้งหมด จิต เจตสิกทำหน้าที่อยู่ตลอดเวลาไม่รู้ เหมือนสิ่งที่อยู่ใต้มหาสมุทร ใต้ทะเลมืดสนิท จนกว่าแสงสว่างคือพระธรรมค่อยๆ ส่องให้เห็นว่ามีอะไร แต่ยังไม่ถึงเพราะอยู่บนฝั่ง และสิ่งนั้นอยู่ใต้มหาสมุทร แต่ก็ต้องมีปัญญาที่สามารถที่จะส่องไปถึงสิ่งนั้น ทีละหนึ่ง ทีละหนึ่ง จนกว่าทั้งหมดเลยเป็นธรรมเมื่อไหร่ ปัญญาขั้นต่อไปก็เกิดขึ้นตามลำดับ ไม่ใช่อยู่ดีๆ ปัญญาไม่รู้อะไรเลย ก็ไปเกิดได้ เพราะฉะนั้นไปทำวิปัสสนาถูกหรือผิด ต้องตรง พูดคำจริง พูดคำที่ถูก ไม่ใช่คำที่ผิด กลัวอะไร

    ผู้ฟัง วิปัสสนา ถ้าตามความหมายนี้ คงทำไม่ได้

    ท่านอาจารย์ คง หรือ

    ผู้ฟัง ทำไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ทำไม่ได้แน่ แล้วไปทำถูกหรือผิด

    ผู้ฟัง ผิด

    ท่านอาจารย์ สำนักปฏิบัติวิปัสสนา ทำลายพระศาสนาหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ไม่กล้าตอบ

    ท่านอาจารย์ ไม่กล้า เป็นความจริง เป็นกุศล และอกุศล สิ่งที่ถูกกับสิ่งที่ผิด มี ๒ อย่าง เพราะอะไรจึงไม่กล้าตอบ ความจริงต้องจริงพูดได้ ไม่ได้พูดสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เพราะฉะนั้นสำนักวิปัสสนาทำลายพระพุทธศาสนาหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ทำลาย ทำลาย

    ท่านอาจารย์ ก็ต้องตรง ทำลายก็ทำลาย เขาจะได้รู้ รู้แล้วเป็นประโยชน์ไหม แทนที่จะปล่อยให้ผิดต่อไป หวังดีหรือที่จะให้คนเข้าใจผิดต่อๆ กันไป พระพุทธศาสนาไม่ได้สอนอย่างนี้ แต่มีคำที่กล่าวว่า นี่คือคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผิดหรือถูก ตู่หรือเปล่า พูดคำที่ไม่จริงหรือเปล่า เพราะฉะนั้นคำไม่จริงทำลายคำจริงให้สูญไป ไม่มีใครได้ยินคำจริง ถ้าไม่กล้าที่จะพูดคำจริง และคำจริงเพื่อประโยชน์ใช่ไหม เป็นความหวังดีใช่ไหม ที่จะให้คนอื่นได้เข้าใจถูกต้อง แล้วจะเกลียด หรือว่าจะโกรธคนที่พูดความจริงให้เข้าใจ ต้องชัดเจน ต้องมีเหตุผล ต้องตรง

    ผู้ฟัง เคยอ่านมาว่า คนบรรลุธรรมขณะฟังมากที่สุด จึงประจักษ์ว่าเราได้ความรู้จากการฟัง

    ท่านอาจารย์ อันนี้ยังไม่ประจักษ์

    ผู้ฟัง ยังไม่ประจักษ์

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง เริ่มเข้าใจขั้นปริยัติ แล้วจะรู้ความต่างของขณะที่ปัญญาเจริญขึ้น จนถึงขั้นปฏิปัตติ ไม่ต้องมีใครบอก แต่ความเข้าใจจากขั้นการฟัง ก็สามารถที่จะรู้ความต่างว่าขั้นฟัง ปัญญาระดับไหน ขณะนี้พูดเรื่องเห็น ไม่ได้รูตรงเห็นที่เกิดดับ แล้วจะไปประจักษ์เห็นว่าเกิดดับได้อย่างไร แล้วจะไปทำอย่างไรให้รู้ตรงเห็น ก็ไม่ได้ แต่เริ่มมีการที่จะค่อยๆ รู้ ค่อยๆ เข้าใจ นำไปสู่การที่จะเข้าใจเห็นเดี๋ยวนี้ชัดเจนขึ้น เริ่มเป็นสติปัฎฐานหรือสติสัมปชัญญะ แต่ยังไม่ใช่วิปัสสนา เป็นขั้นปฏิปัตติ ยังมีขั้นต่อไปคือปฏิเวธ ประจักษ์แจ้งตามลำดับขั้น ซึ่งขณะนั้น และความเป็นตัวตนก็จะค่อยๆ ลดลง ตามกำลังของปัญญาที่ประจักษ์ ว่าประจักษ์ระดับไหนจึงจะหมดสิ้นไม่เหลือเลย ไม่ใช่ขั้นที่ ๑ เป็นขั้นสุดท้าย ตรงไหม นี่จะไปทำอะไร ผิดทันที ทำลายคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทันทีที่เข้าใจผิด เพราะฉะนั้นพระพุทธศาสนาอันตระธานจากคนที่ไม่เข้าใจ

    ผู้ฟัง ก็ไม่ไปทำแล้ว แต่จะฟังอีก

    ท่านอาจารย์ ถ้าเราเข้าใจเพิ่มขึ้น แล้วกล้าที่จะพูดแสดงความจริงเพิ่มขึ้น ก็เป็นการบูชาพระรัตนตรัย เมื่อเข้าใจแล้วก็ทำให้คนอื่นได้เข้าใจด้วย พระศาสนาที่พระองค์ได้ทรงแสดง หลังจากที่ได้ทรงบำเพ็ญบารมีตรัสรู้ ก็จะได้ไม่สูญหรืออันตระธานไป ตามที่ยังมีคนที่ยังเข้าใจอยู่ ธรรมที่เป็นฝ่ายดี ทำให้อาจหาญ ร่าเริง ไม่เศร้าหมอง ไม่เป็นทุกข์ที่จะกล่าวคำจริง ไม่เดือดร้อน

    ผู้ฟัง กราบท่านอาจารย์ เมื่อครู่ท่านอาจารย์ถามว่า สำนักปฏิบัติทำลายพระศาสนาจริงไหม ก็ค่อนข้างจะเห็นใจคุณเจนิสที่ว่าไม่กล้าที่จะตอบ ในสังคมบ้านเรา คำว่าสำนักปฏิบัติเป็นสิ่งที่แพร่หลายเพราะเหตุที่ว่า คนทั้งหลายชอบความง่าย ความสะดวก ชอบให้เขาสั่งให้ทำ เพราะฉะนั้นสิ่งที่ไม่ถูกต้องตามที่พุทธเจ้าทรงสอนไว้ แล้วนำมาถ่ายทอด คนทั้งหลายที่ไม่ศึกษาพระธรรมแน่นอนท่านอาจารย์เขายอมที่จะทำตามสิ่งนั้น ง่าย ได้เคยหลงผิดอยู่ในวังวนเช่นนั้น เป็นเวลานานพอสมควร เมื่อได้ยินได้ฟังพระธรรมจากท่านอาจารย์แล้วได้พิจารณาไตร่ตรองแล้วว่า ความจริงคืออะไร ก็จะค่อยๆ ขัดเกลาตัวเอง แล้วก็พอที่จะกล้าหาญตอบว่า สำนักปฏิบัติทำลายพระศาสนา ทุกคนที่ศึกษาพระธรรมต้องมั่นคงในคำสอนของของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อเข้าใจแล้วก็จะค่อยๆ พิจารณาไตร่ตรองว่าอะไรคือความจริง อะไรคือสิ่งที่ไม่ใช่

    สนทนาธรรม ที่ บ้านคุณขจีรัตน์ แก้วทานัง

    วันที่ ๑๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๐


    ท่านอาจารย์ ทุกคนก็ได้ยืนคำว่าธรรม คงไม่มีใครที่ไม่ได้ยินคำว่าธรรม แต่ว่ารู้จักธรรมหรือเปล่า นี่เป็นสิ่งซึ่งน้อยคนจะพิจารณาได้ยินคำว่าธรรม ได้ยินคำว่าพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นพระพุทธรัตนะ พระธรรมที่ทรงแสดงที่จะให้ถึงการดับกิเลสก็เป็นพระธรรมรัตนะ และผู้ที่ได้ฟังธรรม มีความเข้าใจ แล้วรู้แจ้งสภาพธรรมตามที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ ก็เป็นสังฆรัตนะ ซึ่งหมายความทั้ง ภิกษุหรือคฤหัสถ์ ไม่ได้หมายความแต่เฉพาะพระภิกษุเท่านั้น ใครก็ตามที่สามารถเข้าใจธรรม จนกระทั่งสามารถที่จะรู้แจ้งธรรมก็เป็นพระสังฆรัตนะ เป็นบริษัทหรือเป็นหมู่ ส่วนของพระรัตนตรัย

    แต่ว่าเราได้ยินคำว่าธรรม ไม่ทราบว่ามีใครที่คิดจะรู้จักธรรมบ้าง ถ้าไม่เคยสะสมมาก่อนเลย ไม่มีทางเลยที่จะสนใจที่จะเข้าใจธรรม แต่ว่าธรรมไม่ใช่สิ่งที่ไกลเกินกว่าที่จะเข้าใจ ธรรมเป็นสิ่งที่มีอยู่ทุกขณะ ไม่มีสักอย่างที่ไม่ใช่ธรรม ธรรมมีเดี๋ยวนี้ เดี๋ยวนี้เลย ทุกแห่งไม่ว่าจะทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ตลอดชีวิตตั้งแต่เกิดจนตายก็เป็นธรรม แต่ถ้าไม่มีผู้ที่ได้ทรงตรัสรู้ ใครจะรู้ ว่านี่แหละคือ ธรรม คือสิ่งที่มีจริง เพราะฉะนั้นก็อยู่ในโลกเป็นธรรม แต่ไม่รู้ว่าเป็นธรรม เพราะเหตุนี้การฟังพระธรรมไม่ใช่รู้อย่างอื่นเลย ให้รู้สิ่งที่กำลังมีเดี๋ยวนี้ ซึ่งไม่เคยรู้มาก่อน และสิ่งนี้ก็สามารถที่จะรู้ได้โดยไม่ใช่คิดเอง แต่ฟังคำของผู้ที่ได้ทรงตรัสรู้คือพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จนกระทั่งมีความเข้าใจขึ้น ยากที่บอกว่าเดี๋ยวนี้เป็นธรรม ธรรมคือสิ่งที่มีจริง อยู่กับธรรม มีแต่ธรรมเท่านั้นไ ม่มีอย่างอื่นเลย แต่ก็ไม่รู้จักธรรม แล้วการที่จะรู้แจ้งธรรม ถึงการดับกิเลส ที่ไม่สงสัยอีกต่อไปในธรรมที่มีขณะนี้ ก็สามารถที่จะเป็นไปได้ แต่ว่าเป็นระยะเวลาที่ยาวนานเพราะว่าต้องเป็นผู้ตรงที่จะรู้ว่าการฟังธรรมทั้งหมด ไม่ว่าวันไหนขณะไหน นานเท่าไร ก็เพื่อเข้าใจสิ่งที่กำลังมีเดี๋ยวนี้ รู้ยากไหม กำลังมี มีก็ไม่รู้

    เพราะฉะนั้นก็แสดงให้เห็นถึงอวิชชา ความไม่รู้ มากมายมหาศาลซึ่งผู้ที่ฟังธรรมต้องยอมรับว่า ไม่รู้สิ่งที่กำลังปรากฏ จึงต้องฟัง ฟังแต่ละคำไม่ประมาทเลย เพราะเหตุว่าแต่ละคำ กล่าวถึงสิ่งที่มีจริงแต่ละหนึ่ง ไม่ปะปนกันเลย เพราะฉะนั้นเดี๋ยวนี้มีเห็น ธรรมคือเห็น มีจริงๆ เป็นธรรมที่มีตลอดเวลา ตั้งแต่เกิดมา เดี๋ยวเห็น เดี๋ยวได้ยิน เดี๋ยวได้กลิ่น สลับกันไป แต่ว่าก็ไม่รู้ความจริงว่าธรรมคืออะไร เพราะฉะนั้นเป็นธรรมอยู่กับธรรม มีแต่ธรรม ก็ไม่รู้จักธรรม ยากไหม เดี๋ยวนี้กำลังเผชิญหน้ากับธรรมก็ไม่รู้

    เพราะฉะนั้นจึงต้องฟังพระธรรมด้วยความเคารพอย่างยิ่ง ว่าสิ่งที่ได้ฟัง พระผู้มีพระภาคไม่ได้ทรงแสดงให้ไปทำอะไรขึ้นมารู้ เพราะว่าไม่มี สิ่งนั้นยังไม่เกิดขึ้น แล้วจะรู้ได้อย่างไร แต่ว่าสิ่งที่มีอยู่แล้วเดี๋ยวนี้ต่างหาก ซึ่งใครไม่รู้ เพราะสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบำเพ็ญพระบารมี เพื่อที่จะตรัสรู้ความจริง ของสิ่งที่มี โดยประการทั้งปวงโดยละเอียดอย่างยิ่ง โดยไม่เหลือเลยที่พระองค์จะไม่ทรงรู้สิ่งที่มีจริงเป็นไปไม่ได้เลย แล้วที่ทรงตรัสรู้ด้วยพระปัญญา มากกว่าที่ได้ทรงแสดง เพราะที่ได้ทรงแสดง ก็เพียงเปรียบเสมือนใบไม้ ๒-๓ ใบในกำมือ และก็พระปัญญาของพระองค์ เท่ากับใบไม้ในป่า เทียบไม่ได้ ทำไมถึงกล่าวอย่างนี้ให้ได้ฟังก่อน เพื่อให้เห็นความห่างไกลกันมาก ของผู้ที่ไม่เคยได้ยินได้ฟังธรรม และเริ่มจะได้ยินได้ฟังธรรม บางคนบอกฟังไม่รู้เรื่อง ฟังไม่เข้าใจ แต่จะไม่รู้เรื่องได้อย่างไร เป็นภาษาไทย และทุกคำก็ธรรมดา พูดถึงสิ่งที่มีจริง แต่ที่ไม่รู้เรื่อง ก็เพราะว่าไม่เคยคิดไม่เคยเข้าใจ ไม่เคยคิดว่าจะลึกซึ้งอย่างนี้มาก่อนเลย จนกระทั่งต้องฟังนานเท่าไหร่ กว่าจะเข้าใจได้ นี่ก็แสดงเห็นความเป็นจริงว่า เราเป็นใคร ปัญญาแค่นี้ แล้วจะไปรู้ทั้งหมดที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ๔๕ พรรษา ก็เป็นไปไม่ได้

    เพราะฉะนั้นต้องฟังทีละคำด้วยความอดทน ด้วยความตรง และจริงใจว่า เข้าใจคำนี้ถูกต้องแค่ไหน ถ้ายังไม่เข้าใจก็ฟังต่อไป จนกระทั่งมีความเข้าใจเพิ่มขึ้น เมื่อความเข้าใจเกิดขึ้น ขณะนั้นจึงรู้ว่าเข้าใจ ถ้าความเข้าใจยังไม่เกิด ก็ไม่รู้ว่าเข้าใจอะไร แม้แต่สิ่งที่กำลังปรากฏ จะมีใครบอกได้ไหมว่า ขณะนี้มีสิ่งที่กำลังปรากฏ แล้วจะเข้าใจอะไร แค่นี้ ภาษาไทยธรรมดา ไม่เข้าใจได้อย่างไร ถ้าถามว่าเดี๋ยวนี้มีสิ่งที่กำลังปรากฏ แล้วไม่เข้าใจอะไร หรือเข้าใจอะไรในสิ่งที่กำลังปรากฏ

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 181
    21 มิ.ย. 2567