พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 789


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๗๘๙

    ณ มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๕


    ท่านอาจารย์ ขณะนี้ จิตอะไร มีจิตแน่ จิตเห็นกำลังเห็น จิตได้ยินกำลังได้ยิน ไม่ใช่ขณะอื่นจิตได้ยินกำลังได้ยิน และก็ไม่ใช่เพียงแต่จำคำ ในขณะได้ยิน ที่กำลังรู้เสียงที่กำลังได้ยินเฉพาะเสียงนั้น นั่นคือ จิต ขณะที่กลิ่นปรากฏ กลิ่นอะไร หรือเปล่า กลิ่นแกงมัสมั่น หรือว่ากลิ่นน้ำหอม หรือกลิ่นอะไร นั่นไม่ใช่การที่จะไปจำ แต่ขณะที่กำลังรู้แจ้งเฉพาะกลิ่นนั้น ซึ่งยังไม่เป็นอื่นเลย ขณะนั้นก็เป็นจิตที่กำลังรู้แจ้งทางจมูก ไม่ใช่ทางอื่น

    เพราะฉะนั้น วันหนึ่งๆ จิตก็เป็นสภาพที่รู้แจ้งสิ่งที่ปรากฏได้ ๖ ทางไม่ว่าจะเป็นทางตา จิตขณะนี้ เกิดขึ้นเห็น ใครไม่เห็นบ้าง กำลังเห็น แล้วเห็นนี่ เห็นอะไร ไม่ต้องไปคิดเพราะมีสิ่งที่ปรากฎให้เห็น นั่นคือ จิตกำลังรู้แจ้งเฉพาะสิ่งที่กำลังปรากฎให้เห็น ยังไม่เป็นรูปร่างสัณฐานใดๆ เลยทั้งสิ้น นี่คือ การที่จะเริ่มเข้าใจสิ่งที่ปรากฏเพิ่มขึ้น จากการฟังชัดเจนขึ้น

    เพราะฉะนั้น ในขณะนี้เสียงปรากฏแล้ว ยังไม่ต้องเป็นเสียงอะไรเหมือนกัน ไม่ต้องเป็นภาษาอะไรเลยไม่ต้องเป็นความหมายอะไรทั้งสิ้น แต่ลักษณะของเสียงเฉพาะเสียงนั้นที่กำลังปรากฏอย่างนั้น ที่รู้ว่าเป็นอย่างนั้น เพราะจิต รู้แจ้งเฉพาะเสียงนั้น เพราะฉะนั้น นี่ก็แสดงให้เห็นว่า หน้าที่ของจิต คือ รู้แจ้ง แม้แต่เวลาที่มีการกระทบสิ่งหนึ่งสิ่งใด ต้องบอกไหมว่านุ่ม ต้องบอกไหมว่าแข็ง ต้องบอกไหมว่าลื่น พูดทำไม ในเมื่อจิตกำลังรู้แจ้งลักษณะนั้นเอง จึงต้องอาศัยคำที่จะมาอธิบายบรรยายให้รู้ว่าลักษณะนั้นเป็นอย่างไร แต่ต้องมีสภาพที่รู้แจ้งลักษณะนั้นก่อน โดยที่ไม่ต้องเรียกอะไรเลยทั้งสิ้น นี่คือ ทางกาย

    สำหรับทางใจ เท่าที่เราสามารถที่จะเข้าใจได้ในเบื้องต้น ก็คือว่า คิดมี ใช่ไหม คิดอะไร ต้องมีสิ่งที่จิตกำลังคิด แต่ความคิดนี่ละเอียดมาก โดยมากเราจะเข้าใจว่า เราคิดเป็นเรื่อง หรือคิดเป็นคำ แต่แม้ไม่ใช่คำ ไม่ใช่เรื่อง ขณะนั้นก็เป็นจิตที่คิด ไม่ใช่เห็น นี่แสดงความรวดเร็วของธรรม เพราะฉะนั้น เราเริ่มรู้คร่าวๆ ของสิ่งที่มีจริงในชีวิตซึ่งความละเอียด ละเอียดกว่านั้นมาก แม้แต่เห็นชั่วขณะที่เพียงแค่เห็นรู้ไหม ไม่มีทางเลย

    เพราะเหตุว่า จากการที่ทรงตรัสรู้ ทรงแสดงว่า จิตเห็นเกิดขึ้นหนึ่งขณะจิต เร็วแค่ไหน แล้วก็มีจิตอื่นเกิดสืบต่อทันทีซึ่งไม่ปรากฏ จนกว่าจะมีการรู้ว่าสิ่งนั้นเป็นอะไร ซึ่งเป็นการแสดงความต่างของการที่รู้ความหมาย ของสิ่งที่กำลังปรากฏกับจิตที่เพียงเห็น ด้วยเหตุนี้ ก็ต้องเข้าใจก่อนว่า ถ้ากล่าวถึง จิต ก็หมายความถึง สภาพ หรือธาตุ ที่รู้แจ้งในสิ่งหนึ่งสิ่งใดเท่านั้นเอง นอกจากนั้น ก็ความหลากหลายของจิต เพราะจิตแต่ละขณะ ต้องเป็นจิต ไม่ว่าขณะไหน แต่เพราะมีสภาพธรรมอื่นที่เกิดกับจิต ทำให้จิตแต่ละขณะซึ่งมีสภาพธรรมที่เกิดต่างๆ กันร่วมด้วย เป็นจิตประเภทหลากหลายขึ้น แต่ว่าลักษณะของจิตจริงๆ หน้าที่ของ จิต ก็คือ เป็นสภาพที่รู้แจ้งสิ่งที่กำลังปรากฏ

    เพราะฉะนั้น การศึกษาธรรมก็ตามลำดับ ถ้าเราสามารถที่จะเข้าใจสิ่งหนึ่งสิ่งใดชัดเจน ก็จะไม่ประปนกับสิ่งอื่น เพราะฉะนั้น ขณะนี้เรารู้ว่าจิตเป็นสภาพที่รู้แจ้งสิ่งที่กำลังปรากฏ ทางตา หรือหู จมูก ลิ้น กาย และใจก็เป็นจิตที่คิด แต่ว่าไม่ใช่เห็น ไม่ใช่ได้ยินทั้ง ๕ ทางคร่าวๆ ก่อน แต่การที่จิตหลากหลาย ไปจนกระทั่งถึงความคิด คิดไม่เหมือนกันเลย ทำไม เพราะเหตุว่า มีสภาพธรรมที่ทำให้จิตขณะนั้นต่างออกไป สภาพธรรมที่สามารถที่จะเกิดกับจิต ทำให้จิตหลากหลายเป็นประเภทต่างๆ ก็คือ พระผู้มีพระภาคบัญญัติเรียกคำนั้นว่า เจตสิก หมายความถึง ธรรมแซึ่งเป็นสภาพรู้ แต่ไม่ใช่รู้แจ้งอย่างจิต แต่ก็ต้องเป็นสภาพรู้ ซึ่งเกิดกับจิต เมื่อจิตเป็นสภาพรู้ ก็มีสภาพที่ร่วมรู้กับจิตในขณะนั้น แต่ไม่ใช่จิตโดยลักษณะต่างๆ กัน เช่น จำ ใครเห็นรูปร่างของจำบ้าง จำเขียว หรือจำเหลือง จำอ่อน หรือจำแข็ง ไม่มีรูปร่างใดๆ เลยทั้งสิ้น

    เพราะฉะนั้น ให้ทราบว่าสภาพธรรมซึ่งเป็นธาตุที่รู้ จะต่างกับสภาพ ซึ่งไม่ใช่ธาตุรู้โดยสิ้นเชิง โดยประการทั้งปวง สภาพที่ไม่รู้ก็อ่อน ไม่รู้อะไรเลย หรือว่ากลิ่นก็ไม่รู้อะไรเลย ก็เป็นสภาพที่ไม่รู้ แต่ว่าสภาพที่รู้ ไม่มีสิ่งต่างๆ เหล่านั้นมาเจือปนเลยแม้สักเล็กน้อย เป็นธาตุรู้ล้วนๆ ที่เกิดขึ้น แต่ว่าธาตุรู้อย่างหนึ่ง เป็นใหญ่เป็นประธาน เฉพาะในการรู้แจ้งสิ่งที่กำลังปรากฏ ส่วนสภาพรู้ ที่เกิดกับจิตก็หลากหลาย ใช้คำว่า เจตสิก หมายความว่า ธาตุรู้ ซึ่งเกิดกับจิต เกิดพร้อมจิต รู้สิ่งเดียวกับจิตที่กำลังรู้แจ้ง แล้วก็ดับพร้อมจิตด้วย เกิดดับพร้อมกัน รู้อารมณ์ คือ สิ่งที่จิตกำลังรู้ อารมณ์ คือ สิ่งที่จิตรู้ เพราะว่า เมื่อเราใช้คำว่าสภาพรู้ ก็ต้องมีสิ่งที่ถูกรู้ เพราะฉะนั้น คำว่า อารมณ์ เป็นภาษาไทย มาจาก คำภาษาบาลีว่า อา-รัม-มะ-ณะ หมายความถึง สิ่งหนึ่งสิ่งใดก็ตาม ไม่จำกัดเลยทั้งสิ้น จิตเกิดขึ้นรู้อะไร สิ่งที่จิตรู้นั่นเป็นอารมณ์ของจิต จิตไม่ได้ไปรู้อื่น จิตกำลังรู้เฉพาะสิ่งนั้น และสิ่งนั้นจะเป็นอะไรก็ได้ทั้งสิ้น เพราะเหตุว่า จิตสามารถที่จะรู้ได้ทุกอย่างไม่เว้นเลย

    นี่ก็คือ สภาพของชีวิตจริงๆ ในแต่ละวัน ซึ่งถ้าไม่มีการฟังธรรมก็จะไม่รู้ว่า ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวตน แต่พอรู้แล้ว มีความเข้าใจแต่ละหนึ่งชัดเจนขึ้น ก็จะค่อยๆ คลายการยึดถือว่ามีเรา เพราะว่า สภาพธรรมเกิดแล้วก็ดับ แล้วก็เปลี่ยนแปลงไป เพราะฉะนั้น จากจิตมาสู่สภาพธรรม ซึ่งเกิดกับจิต เกิดในจิต เกิดพร้อมจิต จิตรู้อะไรสภาพนั้นก็รู้อย่างนั้น แต่ไม่ใช่จิต เพราะว่า มีลักษณะต่างๆ ออกไป ถ้าจะกล่าวโดยจำนวน ซึ่งความจริงก็เพียงประมวลจำนวนไว้ว่าเป็น ๕๒ ประเภท แต่ว่าความหลากหลายนั้นมากกว่านั้นมาก พอจะเข้าใจธรรมอีกอย่างหนึ่งต่อจากจิตแล้ว ใช่ไหม แต่ต้องเข้าใจจิตก่อน

    อ.กุลวิไล ซึ่งท่านอาจารย์ก็ยกตัวอย่างของสภาพธรรมที่เกิดกับจิต นั่นก็คือ เจตสิก นั่นเอง จำมีจริง เพราะฉะนั้น จำก็ไม่ใช่สิ่งที่ปรากฏทางตาด้วย จำไม่มีรูปร่าง แต่จำก็เป็นธาตุรู้นั่นเอง เพราะฉะนั้น ที่ท่านอาจารย์กล่าวถึง ว่าเมื่อได้กลิ่น ก็จะบอกว่าเป็นกลิ่นของอะไรบ้าง ก็เพราะว่าต้องมีสภาพธรรมที่เกิดกับจิตนั่นเอง จำ จำในสิ่งที่จิตรู้นั่นเอง แม้ขณะนี้เองก็ต้องมีสภาพธรรมที่เกิดกับจิต ก็คือ เจตสิก

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น การศึกษาธรรม ต้องตามลำดับ และก็สอดคล้องกัน ตั้งแต่คำแรกจนถึงคำสุดท้าย เช่น ทุกอย่างที่จะเกิด โดยไม่มีปัจจัย สิ่งที่เกื้อกูล ทำให้สิ่งนั้นเกิด เกิดขึ้นมาลอยๆ ไม่ได้ ต้องอาศัยกัน มีสภาพธรรมที่ทำให้สิ่งนั้นเกิดขึ้น เพราะฉะนั้น จากการที่เข้าใจเรื่อง จิต และเจตสิก ซึ่งเจตสิกเป็นสภาพที่เกิดในจิต เกิดกับจิต เกิดพร้อมจิต รู้สิ่งเดียวกับจิต และดับพร้อมกันด้วย ก็แสดงให้เห็นว่า จิตจะเกิดโดยปราศจากเจตสิกไม่ได้ เพราะเจตสิกเกิดในจิต จะเอาไปทิ้งไว้ที่ไหน จะแยกออกไปได้ยังไง แล้วก็เป็นปัจจัยให้จิตเกิดด้วย เพราะความที่เจตสิกมีหลากหลาย ก็ทำให้จิตต่างกันหลากหลายมาก แต่ให้ทราบว่าถึงอย่างนั้น จิตก็เป็นจิต จิตจะเป็นเจตสิกไม่ได้ และเจตสิกก็เป็นเจตสิก จะเป็นจิตไม่ได้ แต่เกิดพร้อมกัน ดับพร้อมกัน รู้อารมณ์เดียวกัน อาศัยกัน และกันเกิดขึ้น ก็จะทำให้มีความเข้าใจที่มั่นคงขึ้น เพราะเหตุว่า เราได้ยินคำว่าจิต แต่ไม่เคยได้ยินคำว่าเจตสิก ไม่ว่านักปราชญ์ หรือศาสดาอื่นใดก็ตาม ที่จะกล่าวถึงเจตสิก ไม่มี เพราะไม่ได้รู้แจ้งในสภาพที่เป็นเจตสิก เพียงแต่กล่าวถึงเจตสิก แต่ไม่ได้รู้ความเป็นเจตสิก เช่น ดีชั่ว แต่ไม่รู้ว่าเป็นอะไร

    เพราะฉะนั้น ก็แสดงให้เห็นว่าธรรมเป็นสิ่งที่ละเอียดมาก ด้วยเหตุนี้ จากความเข้าใจ ก็จะทำให้มีความเข้าใจเพิ่มเติมขึ้น มั่นคงขึ้น สอดคล้องขึ้น คือ จิตเกิดเมื่อไหร่ ต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย และ เจตสิกจะเกิดโดยปราศจากจิตไม่ได้เลย นี่ก็เป็นการเพิ่มเติมจากการที่ได้ยินคำว่าจิต เข้าใจจิต และเข้าใจเจตสิกด้วย เพราะฉะนั้น เจตสิกต้องอาศัยจิตเกิด และจิตก็อาศัยเจตสิกเกิด แม้อย่างนั้น จิตก็เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์ นี่คือ การที่จะเข้าใจความละเอียดของสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง จิตก็อาศัยเจตสิก เจตสิกก็ต้องอาศัยจิต ไม่ใช่ว่าจิตอาศัยเจตสิก แต่เจตสิกไม่อาศัยจิต แต่ต้องอาศัยกัน และกัน ซึ่งภาษาบาลีก็ใช้คำว่า อัญญมัญญ แต่ว่าถ้าเข้าใจภาษาไทยแล้ว ได้ยินคำภาษาบาลีก็จำไม่ยาก ใช่ไหม เพราะว่าเข้าใจความหมายอยู่แล้ว

    อ.กุลวิไล เพราะฉะนั้น เข้าใจในสิ่งที่มีจริงในขณะนี้ ไม่ต้องเรียกชื่อได้ไหม เพราะฉะนั้น ถ้ารู้ธรรมตามความเป็นจริงสิ่งที่มีจริงขณะนี้ ไม่ต้องใส่ชื่อ แต่ก็เป็นความจริงที่ทรงแสดงนั่นเอง

    ท่านอาจารย์ จิต เป็นเรา หรือเปล่า จิต เป็นเจตสิก หรือเปล่า เจตสิก เป็นเรา หรือเปล่า เจตสิก เป็นจิต หรือเปล่า นี่คือ ความมั่นคงที่จะเข้าใจความหมายของคำว่าธรรม ไม่ใช่เรียกลอยๆ ว่าเป็นธรรม แต่ต้องรู้ด้วยว่า ธรรม ก็คือ สิ่งที่มีจริง ใครก็เปลี่ยนแปลงลักษณะนั้นไม่ได้ ทุกอย่างที่มีจริงก็เป็นธรรมแต่ละหนึ่ง ซึ่งมีปัจจัยเกิดขึ้นแล้วดับไป แล้วไม่กลับมาอีกเลย ทำไมจึงต้องทรงแสดงสิ่งที่มีให้ชัดเจนขึ้น ให้กว้างขวางขึ้น ให้ละเอียดขึ้น ก็เพื่อให้ละการยึดถือว่าเป็นเรา ให้รู้ความจริงว่าอะไรจะเป็นเราได้ ในเมื่อมีความเข้าใจละเอียดขึ้น ว่าเป็นแต่ละหนึ่ง ซึ่งเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป แล้วก็ไม่กลับมาอีก

    เพราะฉะนั้น การศึกษาธรรม สามารถที่จะเข้าใจสิ่งที่เคยมี แต่ไม่เคยรู้ และสิ่งที่กำลังมี แต่ก็ไม่ใช่ว่ารู้ ถ้าไม่ได้ฟังพระธรรม เพราะฉะนั้น สิ่งที่จะเข้าใจ ไม่ใช่ห่างไกลเลย ทุกขณะที่กำลังปรากฏ สามารถที่จะเข้าใจถูกในความเป็นจริงของสิ่งนั้นได้ และจะเข้าใจความหมายของคำว่า ธรรม ด้วย

    อ.กุลวิไล แล้วรูปที่กำลังมีในขณะนี้ ไม่ใช่เราอย่างไร

    ท่านอาจารย์ อะไรก็ตาม ที่ไม่สามารถที่จะรู้ได้ ไม่ใช่สภาพรู้ แต่มีจริงๆ สภาพนั้นก็รวมใช้คำว่ารูป รู-ปะ คือ สิ่งที่มีจริงนั้นมีจริงแน่นอน แต่ว่าไม่สามารถที่จะเห็น ได้ยิน คิดนึก หรือสุขทุกข์ใดๆ ได้เลยทั้งสิ้น แต่ก็ต้องมีตัวอย่าง เพื่อความเข้าใจว่า ได้ยินอย่างนี้แล้วอะไรบ้างที่เป็นรูป หรือว่ารูปที่เราคิดเป็นรูปภาพ หรือเป็นอะไรต่างๆ เป็นรูป หรือไม่ใช่รูป ลักษณะของรูปเป็นสิ่งที่ละเอียดลึกซึ้ง แต่ไม่ใช่จิต ไม่ใช่สภาพรู้ แต่ต้องรู้ในความเป็นรูปจริงๆ แต่ละหนึ่ง เช่น สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา มีแน่นอน ถ้าขณะนี้จิตเห็นเกิด ก็ต้องมีสิ่งที่ปรากฏให้เห็น ว่าเป็นอย่างนี้ไม่เป็นอย่างอื่น และอะไรตามความเป็นจริงที่ปรากฏ เคยเข้าใจว่า คน โต๊ะ เก้าอี้ ดอกไม้ปรากฏใช่ไหม ถูก หรือเปล่า

    นี่แสดงให้เห็นว่า ถ้าไม่มีการศึกษา แม้แต่คำที่เราใช้ คำที่เราได้ยิน ก็ไม่ใช่ความจริง เพราะเหตุว่า สิ่งที่จะปรากฏให้เห็นได้ ซึ่งมีจริงๆ ในขณะนี้ เป็นสิ่งที่มีจริงอย่างหนึ่งแน่นอน เพราะกำลังปรากฏ ไม่ใช่คน ไม่ใช่โต๊ะ ไม่ใช่เก้าอี้ เพียงเกิด สามารถกระทบจักขุปสาท รูปอื่นกระทบจักขุปสาทไม่ได้ จักขุปสาทก็คือที่เราใช้คำว่าตา แต่ส่วนใหญ่ เราจะคิดถึง สสัมภาระ คือ ส่วนประกอบของตาทั้งหมด ตาขาว ตาดำ แต่ว่าตามความเป็นจริง ถ้าพูดเฉพาะปสาท เป็นรูปพิเศษมองไม่เห็นเลย แต่มีอยู่ตรงกลางตา ที่สามารถกระทบกับสิ่งที่กำลังปรากฏ เมื่อจิตเห็นเกิดเท่านั้น นี่ก็คือ จักขุปสาท หรือ ตาไม่รู้อะไร ไม่ใช่จิต ตาก็ต้องเป็นสิ่งที่มี แต่ไม่รู้ จึงเป็นรูปชนิดหนึ่ง สิ่งที่กำลังปรากฏให้เห็น ก็ไม่สามารถจะรู้อะไรได้ เพราะฉะนั้น สิ่งที่ปรากฏให้เห็น ก็เป็นรูปชนิดหนึ่ง สองรูป แล้วแต่ว่าใครเห็นจักขุปสาทบ้าง เพียงแค่รู้ว่ามี และรู้ว่าอยู่ที่ไหน เพราะเหตุว่า ใครเห็นข้างหลังบ้าง ตาจะไปอยู่ข้างหลังได้ไหม ก็แสดงให้เห็นว่าตาต้องมี อยู่ข้างหน้านี่เอง อยู่ที่หน้าด้วย แต่ไม่ใช่อยู่ตรงจมูก ไม่ใช่อยู่ที่ลิ้น ไม่ใช่อยู่ที่หู อยู่ที่กลางตา เพราะอะไร เพียงหลับตา เอาอะไรปิด หูก็มี จมูกก็มี แต่ก็ไม่มีสิ่งนั้นที่จะปรากฏได้

    นี่ก็คือ ต้องเข้าใจแม้สิ่งที่มีจริงๆ ที่กำลังปรากฎในความเป็นจริงว่า คำใดที่จริงคำนั้นเปลี่ยนไม่ได้ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงวาจาสัจจะ ซึ่งเป็นอริยสัจจะ พร้อมด้วยกถาธรรมต่างๆ ที่จะทำให้เกิดความเพียร ที่จะเข้าใจความจริงของสิ่งที่ปรากฏ ซึ่งจะนำไปสู่โพธิปักขิยธรรม ธรรมที่สามารถรู้แจ้งตามที่ได้ฟัง ไม่ใช่ฟังเฉยๆ แล้วก็ผ่านไป ไม่เป็นประโยชน์เลย เหมือนเป็นโมฆะ แต่ทุกคำที่จริง สามารถที่จะถึงการรู้แจ้งประจักษ์แจ้งได้ แต่ต้องด้วยความเข้าใจขึ้น ความเห็นถูกขึ้น ในสิ่งที่มีจริง ซึ่งไม่เหมือนกับที่เราเคยคิด ว่าเราเห็นคน แต่ความจริงเห็นเพียงสิ่งที่ปรากฏให้เห็นได้ ถ้าไม่มีสิ่งที่ปรากฏให้เห็นได้ จะมีการจำรูปร่างสัณฐานของสิ่งที่ปรากฏ ว่าเป็นคน เป็นสัตว์ เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ได้ไหม ก็ไม่ได้

    เพราะฉะนั้น เข้าใจให้ถูกในขณะที่เห็น เพื่อที่จะละคลายความติดข้องในสิ่งที่เห็น เพราะว่าสิ่งที่เห็น น่าพอใจก็มี ดอกไม้ก็สวย คนที่เป็นเพื่อนสนิทมิตรสหายก็น่าพอใจ อีก ทั้งๆ ที่เพียงปรากฏให้เห็น เป็นแต่เพียงสิ่งที่กระทบตาแล้วปรากฏเท่านั้น และก็ถ้าเป็นวงศาคณาญาติก็ติดข้องอีก เต็มไปด้วยความติดข้อง เพราะไม่รู้ความจริงว่า สิ่งที่สามารถจะปรากฏให้เห็นได้ชั่วขณะ แล้วก็ดับไป แล้วก็ไม่กลับมาอีก แล้วก็ไม่มีอะไรในสิ่งนั้นเลย เพียงแต่มีรูปร่างสัณฐานที่ทำให้จำไว้ว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดเท่านั้นเอง

    เพราะฉะนั้น การที่จะเข้าใจธรรม ถึงการรู้ความจริงของธรรม ว่าเป็นธรรม ไม่ใช่เรา ไม่ใช่สิ่งหนึ่งสิ่งใด ก็ต้องเป็นการฟังด้วยดี ฟัง และพิจารณา ว่าสิ่งที่ได้ยิน ได้ฟังว่าเป็นความจริงอย่างนั้น หรือเปล่า ถูกต้อง หรือเปล่า ไม่ใช่ให้เชื่อ ในห้องนี้มีคนกี่คน ก็มองเห็นว่าหลายคน เพียงแค่หลับตา หายไปไหนหมด หายไปไหนหมด ไม่มีอะไรที่จะปรากฎว่าเป็นคนเลย เพราะฉะนั้น ที่จะปรากฎว่าเป็นคน ต่อเมื่อเห็น แล้วก็จำ เพราะฉะนั้น สภาพที่ จำ มีจริง แต่ไม่ใช่จิต เมื่อสักครู่นี้ ฟังแล้วเป็นเจตสิก

    เพราะฉะนั้น การฟังธรรม ก็คือ เพิ่มความที่เข้าใจขึ้น ในสิ่งที่มีจริงๆ ว่าขณะนี้ ต้องมีความเข้าใจที่มั่นคงว่า สิ่งที่สามารถจะปรากฏให้เห็นได้ ไม่ใช่ไม่มี มีจริงๆ แต่เป็นสิ่งที่เกิดแล้วก็ดับ ไม่ใช่คนหนึ่งคนใด หรือไม่ใช่สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เที่ยง และถ้าสามารถที่จะรู้ได้ว่า สิ่งที่ปรากฏทางตาอยู่ที่ไหน อยู่ที่ธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม ถ้าไม่มีสิ่งที่อ่อนแข็ง ที่กระทบสัมผัสได้ จะมีสิ่งที่สามารถกระทบตาให้เห็นได้ไหม เพราะฉะนั้น ถ้าสิ่งที่อ่อน ที่แข็ง มีลักษณะที่เกิดดับ สิ่งที่ปรากฏทางตา ที่เกิดพร้อมกับอ่อน หรือแข็งนั้น ที่สามารถกระทบตา ก็ต้องเกิดดับด้วย ขณะนี้ความละเอียด ความรวดเร็วของธรรม ซึ่งเป็นความจริง เป็นอย่างนั้น

    เพราะฉะนั้น ก็ให้รู้จักตัวเองตามความเป็นจริง ว่ามีความเข้าใจธรรมที่ได้ยินได้ฟัง ตรงตามความเป็นจริงมากน้อยแค่ไหน ถ้ายัง ก็ฟังอีกจนกว่าจะไม่ลืม เห็นอะไร เห็นไหม เพียงสิ่งที่ปรากฏให้เห็นได้ แม้เพียงความเข้าใจเล็กๆ น้อยๆ แค่นี้ วันหนึ่งต้องเพิ่มขึ้น เข้าใจขึ้น ว่าแท้ที่จริงแล้ว ก็เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏให้เห็นได้ ที่มีอยู่ที่มหาภูตรูป แล้วมหาภูตรูปจะเป็นใคร จะเป็นคุณลักษณ์ จะเป็นคุณอรวรรณ จะเป็นคุณพรทิพย์ได้ไหม ก็เป็นมหาภูตรูป และก็มีสิ่งที่เกิดที่นั่นกระทบจักขุปสาท ปรากฏเป็นรูปร่าง สัณฐานต่างๆ แล้วก็จำอย่างมั่นคงว่า เป็นคนหนึ่งคนใด หรือเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ซึ่งเที่ยงไม่เกิดดับ เพราะฉะนั้น ก็จะเห็นได้ว่าถ้าไม่มีโอกาสได้ยินได้ฟัง ได้เข้าใจพระธรรม ก็ไม่มีทางที่จะละความไม่รู้ ความจริงของสิ่งที่ปรากฏก็จะยังคงยึดถือ ว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด

    อ.กุลวิไล ซึ่งจะเห็นได้ว่า ท่านอาจารย์อธิบายให้เราเข้าใจ ขณะนี้เอง แม้แต่ทางตา ทางตาก็จะต้องมีสภาพธรรม ที่เป็นจิต เจตสิก และรูป ที่เรารู้ได้ด้วย เพราะว่า สิ่งที่ปรากฏทางตารูปเดียวเท่านั้น ที่กระทบกับจักขุปสาทรูป ซึ่งจักขุปสาทรูป ก็คือ รูปที่อยู่ที่กลางตานั่นเอง เห็นจักขุปสาทรูปไม่ได้ แต่เห็นสิ่งที่ปรากฏทางตาได้ เพราะฉะนั้น ขณะนี้ต้องมีรูปที่ปรากฏได้ทางตาเท่านั้น และปรากฏกับจิตเห็นด้วย เห็น ขณะนี้ก็ไม่ใช่เรา ก็เป็นจิตอีกประเภทหนึ่ง แต่หลังเห็นแล้ว รู้ว่าเป็นคนมากมายเลย ก็เพราะว่า จำนั่นเอง จำได้ว่าเห็นอะไร

    เพราะฉะนั้น จิต เจตสิก และรูป มีในชีวิตประจำวัน การศึกษาธรรม ถ้ามีความเข้าใจ และตรงต่อความเป็นจริง ก็จะรู้ถึงความเป็นธรรมไม่ใช่เรา และที่เห็นเป็นคน ก็ไม่พ้นสิ่งที่มีจริงนั่นเอง และสิ่งที่ปรากฏทางตา ก็อาศัยกับมหาภูตรูป นั่นก็คือ ธาตุดินธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม เพราะฉะนั้น แข็งที่ตัวเรา กับ แข็งภายนอก ก็คือ ธาตุดินแข็งนี้ หรือ คือเรา

    ท่านอาจารย์ ขณะนี้กำลังทำกิจที่ควรทำ หรือเปล่า หรือเบื่อ ไม่เห็นสนุกเลยกิจนี้ ใช่ไหม แต่ว่าเป็นกิจที่ควรทำอย่างยิ่ง เพราะเหตุว่า กิจนี้ จะทำให้ถึงการรู้ความจริงของสิ่งที่ปรากฏ บางคนไม่ได้ทำกิจนี้เลย ไม่เหมือนผู้ที่ได้กระทำกิจเสร็จแล้ว คือ พระอรหันต์ กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว แค่นี้เตือนไหม กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นยิ่งกว่านี้มิได้มี กิจอะไรนักหนาที่จะสำคัญกว่านี้ เป็นไปไม่ได้เลย ใช่ไหม สำคัญยังไงในเมื่อเกิดแล้วก็ตาย แล้วก็หมดแล้วกิจที่ว่าสำคัญๆ ทั้งหลาย ก็แค่ชาตินี้ ที่ถือว่าสำคัญ


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 185
    22 ธ.ค. 2566