พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 803


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๘๐๓

    ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๒๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๕


    อ.วิชัย พระผู้มีพระภาค จะทรงแสดงความเป็นปัจจัย หรือความเกิดก่อน ก็จะใช้คำว่า ปุเรชาตปัจจัย

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่มีความเข้าใจธรรมเพียงอ่าน ก็จะสงสัย ใช่ไหม แต่ถ้าเราเข้าใจ และพอเราได้ยิน ก็ไม่มีความสงสัยใดๆ ทั้งสิ้น เพราะเป็นภาษาที่ต่างกันเท่านั้นเอง เพราะฉะนั้น การที่จะเข้าใจถึงปัจจัย จากการฟัง และเข้าใจในความเป็นอนัตตา ยังไม่สามารถที่จะถึง ปัจจยปริคหญาณ ได้แน่นอน จนกว่า มีการเข้าใจลักษณะของสภาพธรรม ลักษณะไม่ใช่ชื่อ เข้าใจลักษณะของสิ่งที่ปรากฏจริงๆ อย่างแข็งไม่สงสัย เห็นไม่สงสัย สิ่งที่ปรากฏทางตาไม่สงสัย นั่นคือ การเข้าใจในความเป็นธรรมแต่ละหนึ่ง นั่นไม่ใช่ ปัจจยปริคญาณ แต่เป็น นามรูปปริจเฉทญาณ ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาเลย และจากการที่มีความเข้าใจในธาตุ ซึ่งเป็นธาตุรู้ มืดสนิท กับแต่ละธาตุ ซึ่งปรากฏหลากหลาย เช่น สิ่งที่ปรากฏทางตาไม่ได้มืด แต่เสียงในความมืดก็ปรากฏ แข็งในความมืดก็ปรากฏ

    เพราะฉะนั้น ลักษณะแท้ๆ ของแต่ละธาตุก็ปรากฏ จะใช้คำว่าทางใจหรือว่าไม่ใช้ก็ได้ แต่ความจริงต้องไม่ใช่ทางอื่น เพราะว่าทางตา จะไปมีธาตุรู้ปรากฏไม่ได้ ทางหูก็มีธาตุรู้ปรากฏไม่ได้ เมื่อมีความเข้าใจมั่นคงอย่างนี้ เวลาที่ธาตุหนึ่งธาตุใดเกิดขึ้น คนนั้นรู้เลย ไม่มีใครทำ แน่นอน ใช่ไหม แต่ไม่ต้องไปใส่ชื่อเลย แต่สามารถที่จะรู้ได้ เข้าใจได้ ว่าทุกอย่างเกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัย ตามที่ได้ศึกษา โดยไม่ต้องเอ่ยเป็นชื่อๆ เลย เพราะแม้แต่จะใช้คำว่า อารัมณปัจจัย ก็ไม่ต้องเอ่ย ในเมื่อมีธาตุรู้ และก็มีสิ่งที่กำลังปรากฏให้รู้ ก็ไม่ต้องกล่าวว่า โดยเป็น อารัมณปัจจัย แต่ขณะนั้นก็มีธาตุรู้ที่กำลังรู้สิ่งนั้นเฉพาะสิ่งนั้น ก็สามารถที่จะเข้าใจ การปราศจากกันไม่ได้ ว่าธาตุรู้ขณะนั้นกำลังรู้สิ่งนั้น และที่สิ่งนั้นปรากฏ เพราะธาตุรู้กำลังรู้ ความเข้าใจเหมือนปริยัติ แต่ไม่ต้องมีชื่อใดๆ เลยทั้งสิ้น เพราะว่า ลักษณะนั้นปรากฏโดยทันที ไม่มีความเป็นเราที่จะไปบังคับบัญชาให้เกิด ความปรากฏเกิดขึ้น เหมือนเดี๋ยวนี้ ใครทำให้เสียงปรากฏ เสียง เกิดแล้วดับแล้ว ก็ไม่มีใครทำ แต่ว่าความรู้ก็ไม่เทียบเท่ากับสติกำลังค่อยๆ เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมทีละหนึ่งจนทั่ว จนกระทั่งรู้ตามความเป็นจริงว่าเป็นอย่างนั้น จนกระทั่งความรู้ชัดที่ใช้คำว่าวิปัสสนาก็ปรากฏ โดยความเป็นอนัตตา แล้วก็ตามลำดับขั้นของปัญญาด้วย

    เพราะฉะนั้น บุคคลซึ่งเป็นพระอัครสาวก กับบุคคลที่ไม่ใช่พระอัครสาวก อย่างท่านพระอัญญาโกณฑัญญะ หรือว่ามหาสาวกอื่นๆ หรือปกติสาวก ความรู้ไม่เท่ากัน แต่สิ่งที่ปรากฏเท่ากัน ปัญญาที่รู้ชัด รู้ชัดอย่างเดียวกัน ไม่มีความสงสัย แต่ความละเอียดของการที่จะเข้าใจสิ่งนั้นต่างกัน

    อ.อรรณพ กราบท่านอาจารย์ หมายถึง เป็นปัญญาที่เกิดขึ้นรู้ลักษณะรูปบ้าง นามบ้าง แต่ว่ามีความชัดเจน ยิ่งกว่าที่จะรู้ขาดว่านามรูป

    ท่านอาจารย์ ที่ชัดเจน ลองคิดถึงความหมายของคำว่าทีละหนึ่ง เวลานี้ไม่ทีละหนึ่งเลย แล้วทีละหนึ่งจะเป็นอย่างไร หมายความว่าอย่างอื่นไม่มีเลย โลกไม่มี ทุกอย่างไม่มี มีแต่ลักษณะของสภาพธรรมนั้น ที่ปรากฏในความเป็นสิ่งนั้น

    อ.อรรณพ กราบท่านอาจารย์ เป็นการรู้สภาพธรรมทีละหนึ่ง แต่ว่ามีการสืบต่อกันของความรู้ ความเข้าใจจนชัดเจนยิ่งขึ้นใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ แน่นอน เพราะฉะนั้น เราจะไม่สามารถรู้ได้ ว่าเวลาที่วิปัสสนาญานเกิด สภาพธรรมใดจะปรากฏ โดยความเป็นอนัตตา เหมือนขณะนี้ ก็รู้ไม่ได้ ว่าอะไรจะปรากฏ ก็เกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัย เพราะฉะนั้น ปัญญาขั้นปริยัติ ถ้ารอบรู้จริงๆ ก็จะนำไปสู่การเริ่มเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมทีละหนึ่ง เริ่มแต่ไม่เหมือนกับเวลาที่สภาพธรรมนั้นปรากฏทีละหนึ่งจริงๆ

    อ.กุลวิไล กราบเรียนท่านอาจารย์ มีท่านที่เขียนมาหลายท่าน ก็อาจจะเข้าใจว่าการใช้คำว่า ธรรมชาติ ในทางธรรม จะเกี่ยวข้องอย่างไร กราบเรียนท่านอาจารย์สำหรับคำว่า ธรรมชาติ

    ท่านอาจารย์ จำเป็นต้องใช้คำเพื่อที่จะให้รู้ ว่าหมายความถึง สภาพธรรมอะไร เพราะฉะนั้น เรื่องของคำ ก็เป็นเรื่องที่ควรที่จะเข้าใจให้ถูกต้อง แต่ก็เมื่อเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมแล้ว จะใช้คำอะไรได้ไหม หรือใช้ไม่ได้ นี่ก็แล้วแต่ แต่ว่าตามความเป็นจริง ก็คือว่า ตามหลักของภาษาที่ถูกต้อง ก็ต้องไม่ลืมว่า ความเดิมของภาษานั้นใช้อย่างไร แต่ว่าในเมื่ออีกชาติหนึ่ง อีกภาษาหนึ่ง เปลี่ยนไปใช้ ก็ควรจะได้เข้าใจความหมายเดิมให้ถูกต้องด้วย ขอเชิญคุณคำปั่น เข้าใจว่ามี ๓ คำ ธรรม ธรรมชาตะ และธรรมชา-ติ

    อ.คำปั่น จริงๆ แล้วในภาษาบาลี มี ๓ คำอย่างที่ท่านอาจารย์ได้กล่าวถึง ทั้งคำว่าธรรม ธรรมชาตะ และธรรมชา-ติ ซึ่งก็พิจารณาไปทีละคำก่อน ว่าธรรม คือ สิ่งที่มีจริง สิ่งที่มีจริงทุกอย่างทุกประการนั้น เป็นสิ่งที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ และก็ทรงแสดง ซึ่งสิ่งที่มีจริงนั้น ไม่ว่าจะใช้คำอะไรก็ตาม หรือไม่ใช้คำอะไรก็ตาม ความเป็นจริงของธรรมนั้น ไม่เปลี่ยน เห็นเป็นธรรม ได้ยินเป็นธรรม กุศลก็เป็นธรรม อกุศลก็เป็นธรรม เป็นต้น เพราะฉะนั้น ธรรม ก็ครอบคลุมสิ่งที่มีจริงทุกอย่างทุกประการ นี้คือ คำแรก คำที่ ๒ คือ คำว่าธรรมชาตะ ซึ่งคำว่าธรรมชาตะ มีปรากฏทั้งในพระไตรปิฎก และในอรรถกถาซึ่งโดยหลักของภาษาท่านก็ให้ความเข้าใจไว้อย่างนี้ว่า คำว่าชาตะ คำหลังนั้นไม่ได้มีความหมาย แต่ให้มุ่งหมายถึง คำที่อยู่ข้างหน้าเป็นหลัก ก็คือ คำว่าธรรม เพราะฉะนั้น คำว่าธรรมชาตะ จึงหมายถึง ความเป็นไป หรือว่าความเป็นจริงของธรรม ความเป็นสิ่งที่มีจริง เพราะว่า มีข้อความที่อธิบายว่า คำว่าธรรมชาตะนั้น แสดงถึงอริยสัจทั้ง ๔ เพราะฉะนั้น ธรรมชาตะ จึงมุ่งหมายถึง ธรรมทุกอย่างทั้งสภาพธรรมที่มีปัจจัยปรุงแต่งให้เกิดขึ้น ทั้งธรรมที่ไม่มีปัจจัยปรุงแต่งให้เกิดขึ้น ที่เป็นพระนิพพาน เพราะฉะนั้น ข้อความที่แสดงไว้ ในอรรถกถาแสดงว่าธรรมชาติทั้งหลายเป็นสัจจะ เพราะว่าเป็นสิ่งที่มีจริง เพราะฉะนั้น ก็ครอบคลุมสิ่งที่มีจริงทุกอย่าง ในอรรถกถาของรัตนสูตร แสดงไว้ว่า สิ่งที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้นั้น คือ ตรัสรู้ธรรมชาติ ธรรมชาตะ ทั้งที่เป็นสังขต และอสังขต ก็คือ สภาพธรรมที่เกิดดับ และไม่เกิดดับ นี่คือ ความหมายของคำว่าธรรมชาตะ กว้างทั้งสภาพธรรมที่เกิดดับ และก็ไม่เกิดดับ และอีกคำหนึ่ง คำสุดท้าย คือคำว่า ธรรมชา-ติ ชา-ติโดยศัพท์ หมายถึง ความเกิดขึ้น เพราะฉะนั้น ถ้าหากว่าจะเข้าใจว่าคำว่าธรรมชา-ติในทางธรรม ไม่ได้มุ่งหมายถึง ธรรมชาติอย่างทางโลกเข้าใจกัน แต่ว่าเป็นความเกิดขึ้นเป็นไปของธรรม ซึ่งในพระไตรปิฎก และในอรรถกถา ท่านก็ยกตัวอย่างธรรมชาติอย่างหนึ่ง ที่บุคคลไม่ควรตำหนิ บุคคลไม่ควรนินทา ก็คือ ปัญญา นี้เพียงยกตัวอย่างให้เห็นว่า ธรรมชาติ ก็คือ ธรรมที่เกิดขึ้นเป็นไปนั้น ยกตัวอย่างเพียงแค่ปัญญาอย่างเดียว ก็ต้องมุ่งหมายถึงสภาพธรรมอื่นๆ ที่เกิดขึ้นเป็นไปด้วย ที่เป็นจิต เป็นเจตสิก และเป็นรูป ก็ไม่พ้นสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ นี้คือความหมายทั้ง ๓ ทั้งคำว่าธรรม ธรรมชาตะ และธรรมชา-ติ สำคัญอยู่ที่ความเข้าใจ กราบเรียนท่านอาจารย์

    ท่านอาจารย์ สำหรับคำ ๓ คำ แค่ ๓ คำ ธรรม ธรรมชาตะ กับธรรมชา-ติ ยังมีข้อสงสัยอะไรหรือไม่ หรือชัดเจนแล้ว เพราะเหตุว่า จากภาษาหนึ่งไปอีกภาษาหนึ่งสำคัญอยู่ที่ความเข้าใจถูก เพราะฉะนั้น เพียงได้ยินคำคล้ายๆ กัน เราจะได้ยินคำว่าธรรมกับธรรมชาติ แต่ใครจะได้ยินคำว่าธรรมชาตะ บ้าง ถ้าไม่ได้ดูข้อความในพระไตรปิฎก และอรรถกถา แต่ก็มีถึง ๓คำ เพราะฉะนั้น ความต่างของ ๒ คำ คือ อะไร ธรรม คือ สิ่งที่มีจริงนี่แน่นอน แต่ธรรมชาตะ กล่าวถึงสิ่งที่มีจริงทั้งหมดไม่เว้นเลย แต่ไม่ใช่เน้นที่คำว่าชาตะ แต่ให้รู้ว่าความเป็นไปของธรรม เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ว่าธรรมไม่มี มีธรรม และความเป็นไปของธรรม คือ อย่างไร เพราะว่า ถ้าจะกล่าวลอยๆ ว่ามีธรรม แล้วธรรม คือ อะไรเป็นไปยังไง ถ้าไม่เข้าใจก็กล่าวลอยๆ เพราะฉะนั้น แม้จะมีคำว่าธรรมชาตะ ก็กล่าวถึงความเป็นธรรมนั่นแหละ ว่าธรรม นั้นเป็นอย่างไร

    เพราะฉะนั้น คำว่าชาตะที่นี่ ก็ไม่มีความหมาย เพราะเหตุว่า มุ่งหมายถึงธรรม ซึ่งจะต้องมีความเป็นไปนั่นเอง จะใช้คำว่าธรรม หรือว่าธรรมชาตะ ก็หมายความถึง เมื่อเป็นสิ่งที่มีจริง ความเป็นไปของสิ่งที่มีจริงก็มี จะใช้หรือไม่ใช้ก็ได้ ใช่ไหม เพราะว่าธรรมเอง ก็ต้องมีความเป็นจริง และความเป็นไปของธรรมนั้น แต่ก็ใช้ และคงจะน้อยมาก เพราะว่า ภาษาไทยไม่ได้ใช้คำว่าธรรมชาตะเลย เท่าที่ได้ยินได้ฟัง แต่จะได้ยิน ๒ คำ คือ คำว่าธรรมกับธรรมชาติ ชา-ติก็ออกเสียงเป็นชาด เพราะเราไม่นิยมออกเสียงคำสุดท้ายด้วย แทนที่จะเป็นธรรมชา-ติก็เป็นธรรมชาติ ถ้าไม่มีการศึกษาธรรมแล้วเอาคำในภาษาหนึ่งมาใช้ โดยที่ว่าไม่ศึกษาถึงความละเอียดที่คนไทยส่วนใหญ่เข้าใจกัน พอพูดถึงธรรมชาติ คิดถึงอะไร

    อ.กุลวิไล ป่าเขาลำเนาไพร

    ท่านอาจารย์ ป่าเขาลำเนาไพร ชอบไหม ธรรมชาติ

    อ.กุลวิไล ชอบ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ทุกคนเบื่อที่ๆ จอแจ ก็ไปหาที่ๆ เป็นธรรมชาติ เข้าใจว่าอย่างนั้น แต่ว่าตามความเป็นจริง ขอให้คุณคำปั่นอธิบาย คำว่า ธรรมชาติ อีกครั้งหนึ่ง

    อ.คำปั่น ตามศัพท์ ธรรมรวมกับคำว่าชา-ติ ธรรม ก็คือ สิ่งที่มีจริง ชา-ติ ก็คือ ความเกิดขึ้นเป็นไป เพราะฉะนั้น คำว่าธรรมชา-ติ จึงหมายถึง ธรรมที่เกิดขึ้นเป็นไปท่านอาจารย์

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่ศึกษาก็จะไม่รู้เลยว่า ธรรมที่เกิดขึ้นเป็นไปนั้น คือ อะไร แต่ถ้าใช้คำว่าธรรมก็แสดงอยู่แล้วว่า ไม่เป็นอะไรเลยนอกจากเป็นธรรมนั้นๆ แต่ละหนึ่ง เพราะฉะนั้น คนที่ได้ศึกษาก็เข้าใจถูกต้อง พอพูดถึงธรรมชา-ติในภาษาบาลี หรือที่เราใช้คำว่าธรรมชาติ ก็หมายความถึง ธรรมที่เกิดขึ้น และก็เป็นไป ซึ่งเปลี่ยนแปลงไม่ได้เลย ต้องเป็นไปอย่างนั้น ตามสภาพธรรมที่เกิดขึ้น ที่จะต้องเป็นอย่างนั้น

    เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องที่ว่า ถ้าไม่ได้ศึกษาก็จะเข้าใจคำที่เอามาใช้อย่างหนึ่ง ว่าธรรมชาติ หมายความถึง ป่าเขาลำเนาไพร แต่พอศึกษาแล้ว ก็คือ เป็นสิ่งที่มีจริง ซึ่งขณะนี้ก็มี กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้น การที่ได้ฟังธรรมต้องทราบว่า ศึกษาสิ่งที่มีให้เข้าใจถูกตามความเป็นจริง เพราะเหตุว่า ไม่ว่าจะเกิดกี่ภพ กี่ชาติ เคยเข้าใจความจริงของสิ่งที่มีจริงๆ ในขณะนี้หรือเปล่า ก็ไม่มีเลย ใช่ไหม แล้วยังไม่มีโอกาสที่แม้จะสนใจที่จะเข้าใจ เพราะว่าบางคนคิดว่า รู้อย่างอื่นดีกว่า ใช่ไหม ดีกว่าที่จะรู้จักสิ่งที่แม้เพียงปรากฏ และก็ได้ยินได้ฟัง ว่าเพียงชั่วคราว ก็เข้าใจได้สำหรับคนที่เพิ่งจะได้ยินได้ฟังว่า ทุกอย่างไม่เที่ยง เช่น ขณะนี้เห็นเป็นเห็น ได้ยินเป็นได้ยิน เพราะฉะนั้น เห็นไม่เที่ยงเลยเพราะว่า ถ้ายังเห็นอยู่ได้ยินก็เกิดไม่ได้ แต่ในขณะที่ได้ยินเกิด ก็ต้องไม่มีเห็น ได้ยินอย่างนี้ ทุกสิ่งทุกอย่างขณะนี้ปรากฏเพียงชั่วคราว ผ่านหู ถึงใจหรือยัง ต่างกับคนที่แค่นี้ เริ่มคิดแล้ว สิ่งที่กำลังปรากฏชั่วคราว จริงแค่ไหน จริงแน่นอน คือว่า ทุกสิ่งทุกอย่างแต่ละหนึ่ง ปะปนกันไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น แต่ละหนึ่งปรากฏชั่วคราว และก็มีอย่างอื่นปรากฏ แต่ไม่ได้ปรากฏการเกิดดับ และหายไปของสิ่งที่ปรากฏชั่วคราวเลยแม้ว่าเป็นความจริง เพราะฉะนั้น เริ่มเข้าใจถูก ว่ามีความเข้าใจในสิ่งที่ได้ยิน ได้ฟังแค่ไหน นี่สำหรับผู้ที่เข้าใจจริงๆ ว่าสิ่งหนึ่งสิ่งใดก็ตามที่ได้ยินแล้ว อย่าเพิ่งเพียงผ่านไป หรือว่าคิดว่ารู้แล้ว หรือว่าคิดว่าพอแล้ว เพราะว่า ความจริงแท้จริงอย่างที่ได้ฟังเข้าใจ ยังไม่ได้ประจักษ์แจ้งเลย ในความจริงนั้น เพราะฉะนั้น ผู้ที่มีศรัทธา ที่จะรู้สัจจะ คือ ความจริงถึงที่สุด คือ ความจริงซึ่งใครก็เปลี่ยนแปลงไม่ได้เลย ก็จะต้องรู้ว่าในขณะนี้เองไม่มีอะไร นอกจากสิ่งที่ปรากฏแล้วก็หมดไป ซึ่งจะต้องฟังจนกว่า ความเข้าใจเริ่มมั่นคง มั่นคง คือ ขณะนี้มีสิ่งที่กำลังปรากฏ และก็ฟังเพื่อที่จะเห็นความจริงว่า สิ่งนี้เป็นแต่เพียงสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะเหตุปัจจัย ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครเลย ทุกคำเข้าไปอยู่ในใจจริงๆ หรือยัง หรือว่าเพียงใช่ ถูกแล้วก็ผ่านไป แต่ถ้าเข้าไปอยู่ในใจจริงๆ ในขณะนี้ ก็คงจะไม่สนใจสิ่งอื่น หรือว่าถ้ามีความเข้าใจจริงๆ มากขึ้น ก็จะรู้ว่าสิ่งอื่นไม่ได้มีค่าเกินกว่าสัจธรรม ความจริง ซึ่งกำลังเป็นความจริงขณะนี้ซึ่งจะไปหาความจริงอื่นมาเปรียบเทียบ หรือว่ามาบอกว่าเป็นความจริงยิ่งกว่านี้ ได้ไหม ลองหามาสักเรื่องหนึ่งที่คิดว่าจะเป็นความจริง ยิ่งกว่าสิ่งที่มีจริงๆ ที่กำลังปรากฏในขณะนี้ เพียงชั่วคราว เพราะฉะนั้น คำว่าเพียงชั่วคราวเพียงคำเดียว อยู่ในใจแค่ไหน สัญญาความจำ จำไว้มั่นคง ที่จะรู้ว่าไม่ว่าเมื่อไหร่ ขณะไหนจะสุข จะทุกข์อย่างไร จะรัก จะชังอย่างไร จะเหนื่อยหรือว่าจะป่วยไข้ได้เจ็บอย่างไร ก็เป็นแต่เพียงแต่สิ่งที่มีจริงๆ ที่ปรากฏชั่วคราว เพราะฉะนั้น สิ่งที่ได้ยินได้ฟัง ขึ้นอยู่กับว่า มีความศรัทธาที่จะรู้ ที่ได้ยินได้ฟังมากน้อยแค่ไหน หรือว่าอยากจะไปรู้อื่นอีกแล้ว คล้ายๆ กับว่าสำคัญกว่า แต่ความจริง อะไรเกิด อะไรตาย และก่อนตาย อะไรบ้างที่เพียงชั่วคราว แต่ละขณะที่ปรากฏแล้วก็หมดไป แล้วก็หมดไป เป็นสิ่งที่ควรรู้ยิ่ง

    เพราะฉะนั้น การฟังธรรม ต้องเข้าใจด้วย ฟังเพื่อเข้าใจในสิ่งที่กำลังปรากฏ แม้ว่าได้ยินได้ฟังเข้าใจว่าเป็นจริงเล็กน้อย แต่ว่าเป็นความจริงซึ่งไม่เปลี่ยนแปลง ไม่ว่าในกาลไหน ที่สามารถที่จะรู้ความจริงได้ และแค่นี้ผิวเผินมาก เพียงได้ยินว่าทุกสิ่งทุกอย่างขณะนี้ปรากฏเพียงชั่วคราว แต่ถ้าไม่ผิวเผิน คือ สามารถที่จะเข้าใจแต่ละลักษณะที่ปรากฏจริงๆ จนกระทั่งรู้จริงๆ ว่า ลักษณะนั้นเกิดจึงปรากฏ ปรากฎแล้วก็หมดไป นี่ก็คือ การเจริญขึ้นของปัญญา ไม่ว่าในพระไตรปิฎกจะใช้คำว่าอินทรีย์ อินทริย ศรัทธา สติ วิริยะ สมาธิ ปัญญา ที่เป็นอินทรีย์ ก็ต้องต่างกับที่กำลังฟัง ได้ยินคำว่าธรรม ได้ยินคำว่าธรรมชาตะ ได้ยินคำว่าธรรมชา-ติ เพื่อให้เข้าใจจริงๆ ว่า กล่าวถึงสิ่งที่มีจริงให้เข้าใจ สิ่งที่มีจริงเกิดปรากฏเพียงชั่วคราว แล้วก็ไม่ปรากฏอีกเลย หายไปเลย หาอีกไม่ได้เลย

    เพราะฉะนั้น แต่ละคำก็จะสะสมความมั่นคง ที่จะรู้ว่า ที่เราว่าชีวิต จะปราศจากจิตสักหนึ่งขณะได้ไหม ไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น เพราะเหตุว่า จิตยังเกิด แม้ดับก็เกิดอีก แล้วก็ดับอีก เกิดอีก ดับอีก ตั้งแต่เกิดจนกว่าจะถึงตาย มากมายนับไม่ถ้วนเลย แม้ในวันนี้ก็มากมายหลายอย่างล้วนแต่เป็นธรรมจริงๆ ไม่ใช่ใครสักคน เพราะฉะนั้น การฟังธรรม คือ กำลังเข้าใจธรรมว่าเป็นธรรม จนกว่าจะมีความเห็นที่ถูกต้อง ว่าที่เป็นธรรม เพราะเหตุว่า เป็นอนัตตาไม่ใช่สิ่งหนึ่งสิ่งใดเลยเป็นแต่เพียงสิ่งที่มีจริงชั่วคราวเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

    อ.กุลวิไล ซึ่งท่านอาจารย์ก็กล่าวถึงว่า การเข้าใจคำที่ได้ยิน เข้าใจจริงๆ หรือยังซึ่งผู้ศึกษาก็คงขั้นฟัง แต่การที่จะเข้าใจถึงตัวจริงของธรรม ก็เป็นเรื่องของปัญญาที่จะต้องอาศัยการฟังพระธรรมนั่นเอง

    ท่านอาจารย์ ส่วนใหญ่ พอฟังแล้วก็สนใจเรื่องอื่นทันที รู้สึกเรื่องอื่นน่าสนใจชื่อต่างๆ แต่ว่าลืมหรือเปล่า ว่าขณะนี้เอง สิ่งที่ได้กล่าวเมื่อสักครู่นี้ เข้าใจลึกซึ้งแค่ไหน มั่นคงแค่ไหน เพราะฉะนั้น ถ้าจะมีการรู้ลักษณะของสภาพธรรมก็ไม่ใช่อย่างอื่นเลย นอกจากเดี๋ยวนี้ สิ่งนี้ที่กำลังปรากฏ แต่ไม่เห็นมีใครรู้เลย ปรากฏชั่วคราวแล้วก็หมด ก็เท่านั้นเอง แต่ความจริงเมื่อเป็นความเห็นที่ถูกต้อง สามารถที่จะเพิ่มความเห็นที่ถูกต้องขึ้นอีกได้ ดีกว่าเพียงเท่านี้เอง พอไหม ฟังมาตั้งนาน ก็เพียงเท่านี้เอง ก็เพียงปรากฏแล้วก็หมดไป แล้วก็เหมือนเดิม ยังคิดเรื่องอื่น เรื่องอื่นก็ยังสำคัญกว่า แต่ว่าตามความเป็นจริง เรื่องไหนสำคัญลองยกมาสักเรื่องหนึ่ง ก็แค่คิดแล้วก็หมด ถ้าไม่คิดก็ไม่มี แล้วคิดกี่ชาติมาแล้ว แล้วคิดเรื่องอะไร เป็นสาระหรือว่าไม่เป็นสาระเลย ขณะที่กำลังคิด ดูเหมือนเป็นสาระ แต่พอคิดนั้นดับ อยู่ไหน ไม่มีเลย

    เพราะฉะนั้น จริงๆ แล้ว ก็คือว่า ธรรม แม้แต่เพียงคำเดียวสั้นๆ แต่ถ้าสามารถที่จะเข้าใจจริงๆ ก็ถึงความเป็นพระอรหันต์ คือ สามารถที่จะดับกิเลสได้ เพราะเข้าใจจริงๆ ว่าไม่ใช่เรา ไม่ใช่สิ่งหนึ่งสิ่งใด ธรรมมีจริงๆ มีปัจจัยเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป จะฟังอย่างนี้อีกนานเท่าไหร่ แต่ว่าได้ฟังแล้ว และก็จะมีโอกาสได้ฟังอีกเมื่อไหร่ นี่เป็นสิ่งที่ก็เห็นได้ ว่าสิ่งที่ยากที่จะเข้าใจฟังครั้งเดียวไม่พอ แต่ถ้าได้ฟังแล้วเห็นประโยชน์ ก็มีปัจจัยที่จะทำให้ฟังอีก ไม่ว่าเมื่อไรก็ตามแต่ ชาติไหนก็ตามแต่ ก็ยังคงมีศรัทธาที่จะรู้ว่าสิ่งที่ควรรู้อย่างยิ่ง ควรฟังอย่างยิ่ง เป็นความจริงอย่างยิ่ง ก็คือ ความไม่แน่นอน ความไม่ถาวร ความไม่สามารถที่จะดำรงอยู่ของสิ่งหนึ่งสิ่งใด ไม่ว่าจะเป็นธรรมใดๆ ทั้งสิ้น ที่เกิดขึ้นขณะนี้ ก็กำลังดับไป อยากจะไม่รู้ต่อไป ก็ไม่มีใครว่าใช่ไหม

    อ.วิชัย ท่านอาจารย์กล่าวถึง ธรรม คือ สิ่งที่มีจริง และกล่าวถึงธรรมชาตะ และธรรมชา-ติด้วย ดังนั้นความเข้าใจธรรมที่ท่านอาจารย์เคยกล่าวถึงว่า ควรที่จะเข้าใจธรรมทีละลักษณะ ให้ชัดเจน เพราะฉะนั้น เมื่อกล่าวอย่างนี้ จะเป็นการเจาะจงที่จะรู้ไหม

    ท่านอาจารย์ เจาะจง หมายความว่า เลือกใช่ไหม เดี๋ยวนี้ มีเห็นไหม

    อ.วิชัย ก็กำลังปรากฏ

    ท่านอาจารย์ มีได้ยินไหม

    อ.วิชัย ก็มีปรากฏ

    ท่านอาจารย์ มีคิดไหม

    อ.วิชัย ก็คิดมีด้วย

    ท่านอาจารย์ มีแข็งไหม

    อ.วิชัย ก็มีด้วย

    ท่านอาจารย์ แล้วรู้สิ่งไหน เพราะเลือก หรือเพราะปรากฏ


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 185
    17 ม.ค. 2567