พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 807


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๘๐๗

    ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๕


    ท่านอาจารย์ แต่ละขณะ ก็เป็นความจริงที่มีอยู่ในชีวิตประจำวัน เพราะฉะนั้น เมื่อฟังเข้าใจ ก็เห็นพระปัญญาคุณ พระบริสุทธิคุณ และพระมหากรุณาคุณ ของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่กว่าจะได้เข้าใจอย่างนี้ ที่จะตรัสรู้ความจริง ทรงบำเพ็ญบารมีถึง ๔ อสงไขยแสนกัป ถึงความเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ด้วยพระปัญญาที่ยิ่งถ้าด้วยศรัทธาก็ ๘ อสงไขยแสนกัป ถ้าด้วยวิริยะก็ ๑๖ อสงไขยแสนกัป เพราะฉะนั้น ขณะนี้ที่กำลังได้ฟัง แค่ไหนแล้ว ใช่ไหม เพราะฉะนั้น ต้องเป็นผู้ที่ตรงอย่างยิ่งในพระปัญญาคุณ ที่ได้ทรงตรัสรู้ เพื่อให้บุคคลที่ได้ฟัง ค่อยๆ สะสมความเข้าใจ ไม่ต้องไปคิดอะไรเลย ขอให้เข้าใจสิ่งที่กำลังฟังให้ถูกต้อง ว่าความจริงเป็นอย่างนี้ และก็สะสมไป จนไม่ว่ามีอะไรจะปรากฏในชาติไหน ก็สามารถเข้าใจ เหมือนที่กำลังสะสมความเข้าใจทีละเล็กทีละน้อยในขณะนี้ จนละการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตนได้

    เพราะฉะนั้น แต่ละคนฟังแล้ว ก็แล้วแต่จะคิด แต่ถ้ารู้ว่าสิ่งที่ปรากฏในขณะนี้เป็นอย่างนี้ ย่อมยากที่จะรู้ความจริงได้ เพราะว่ากว่าปัญญาจะมีความเข้าใจที่มั่นคง ไม่ลืม เป็นเพียงสิ่งที่กำลังปรากฏว่ามีให้เห็น เดี๋ยวนี้ที่เห็น มีสิ่งปรากฏให้เห็น ให้รู้ว่าสิ่งนี้มี ไม่ต้องเรียกชื่อ เหมือนเสียงได้ยินปรากฏ ไม่ต้องเรียกชื่อ เสียง ฉันใด เห็นขณะนี้ก็มีสิ่งที่กำลังถูกเห็นแต่ไม่ใช่เสียง เพราะฉะนั้น ก็เป็นเพียงสิ่งที่มีจริง ซึ่งไม่เคยที่จะรู้เลยว่า ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สิ่งหนึ่งสิ่งใดเลย แต่เป็นสิ่งที่สามารถกระทบจักขุปสาท ถ้าคนตาบอด สิ่งนี้ปรากฏไม่ได้เลย เพราะไม่มีปัจจัยที่จะให้ธาตุรู้เกิดขึ้นเห็นแล้วดับไป โดยกรรมเป็นปัจจัย เห็นความละเอียดหรือไม่ ขณะนี้เป็นผลของกรรมที่ได้กระทำแล้ว ทำให้มีการเห็นเกิดขึ้น เห็นสิ่งที่กำลังเห็นปรากฏให้เห็นในขณะนี้ แล้วดับไปแล้วไม่กลับมาอีกเลย เพราะฉะนั้น แต่ละขณะในชีวิต ก็เป็นสิ่งที่มีจริง ที่ละเอียดอย่างยิ่ง ที่จะต้องเข้าใจ จนกว่าจะหมดความสงสัย และก็หมดการยึดถือว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด เพราะว่า สิ่งที่มีจริงที่กำลังเกิดดับในขณะนี้ ความเข้าใจขึ้นๆ ย่อมสามารถละคลายความติดข้อง และสภาพธรรมที่กำลังเป็นจริง คือ เกิดดับในขณะนี้ จึงจะปรากฏให้เห็นได้ ก็เป็นเรื่องของความเข้าใจ ที่จะต้องสะสมต่อไป

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์ สิ่งที่ปรากฏ แล้วจิตเห็นเกิดเห็นสิ่งที่ปรากฏ กับสิ่งที่ปรากฏเป็นสภาพธรรมต่างกัน

    ท่านอาจารย์ ธรรม คือ สิ่งที่มีจริงภาษาบาลีใช้คำว่า ธรรม แต่หมายความถึง สิ่งที่มีจริง ขณะนี้มีเห็นจริงๆ หรือเปล่า

    ผู้ฟัง มีเห็นจริงๆ

    ท่านอาจารย์ แล้วมีสิ่งที่ปรากฏให้เห็นจริงๆ หรือเปล่า

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ มีได้ยินจริงๆ หรือเปล่า

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ และมีสิ่งที่ปรากฏให้ได้ยินจริงๆ หรือเปล่า

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ ก็เหมือนกัน คือ เป็นแต่เพียงสิ่งที่มีจริงที่รู้ และก็มีสิ่งที่ปรากฏให้รู้ได้แต่ละอย่าง มันก็หมดไปแล้ว หมดไปไหมเมื่อสักครู่นี้

    ผู้ฟัง หมด แต่ท่านอาจารย์กล่าวถึงความว่างเปล่า ในขณะที่เห็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด

    ท่านอาจารย์ เห็นก่อน ยังไม่เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด เห็นต้องดับไปก่อน ถ้ายังเห็นอยู่ จะมีความคิด หรือเข้าใจว่าเป็นคน เป็นสัตว์ไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น แค่เห็น ที่เห็นต้องดับไปก่อนเร็วขนาดนั้น

    ผู้ฟัง แล้วสิ่งที่ปรากฏ ถ้าปรากฏ สิ่งที่ปรากฏเป็นธรรม

    ท่านอาจารย์ กำลังปรากฏ เดี๋ยวนี้ทุกคนเข้าใจได้ ไม่ต้องเรียกชื่อเลย ไม่ต้องเรียกว่าธรรม ไม่ต้องเรียกว่าสิ่งที่มีจริง เหมือนกำลังได้ยินเสียง ไม่ต้องเรียกว่าเสียง ไม่ต้องเรียกว่าได้ยินฉันใด ทางตาก็มีเห็น และก็มีสิ่งที่ปรากฏให้เห็น เป็นธรรมดา เป็นปรกติ ไม่ผิดปรกติเลย เห็นอย่างนี้ และสิ่งที่กำลังปรากฏให้เห็น เมื่อเห็นเกิดก็อย่างนี้ คือ เป็นธรรมที่มีจริง คือ เป็นสิ่งหนึ่งที่มีจริง แต่ละอย่างแต่ละอย่างๆ ต้องเกิดขึ้น ถ้าไม่เกิดไม่มี แต่เมื่อเกิดแล้วดับไปไม่เหลือเลย และไม่กลับมาอีก จึงเป็นความว่างเปล่าตั้งแต่เกิดจนถึงขณะนี้ และต่อไปทุกขณะ ก็เพียงแต่มีสิ่งที่มีปัจจัยเกิดแล้วก็ดับ เกิดแล้วก็ดับ ไม่หยุดยั้งเลย เกิดมานานเท่าไหร่แล้ว

    ผู้ฟัง แสนโกฏิกัปป์

    ท่านอาจารย์ แสนโกฏิกัปป์ เพราะฉะนั้น สำหรับชาตินี้เกิดในโลกนี้ ก็นับตั้งแต่เกิดจนถึงขณะนี้ แต่จิตไม่เคยหยุดเลย เกิดดับสืบต่อแสนโกฏิกัปป์ไปเรื่อยๆ จนถึงขณะที่จากโลกนี้ไป จะกี่วัน กี่เดือน กี่ปี ก็ตามที่อยู่ในโลกนี้ ก็ยับยั้งการเกิดดับสืบต่อของจิตต่อไปไม่ได้ เพราะฉะนั้น จิต ก็คือ สภาพธรรมซึ่งมีปัจจัยเกิดขึ้น แล้วลักษณะของจิต ก็คือ เป็นธาตุรู้ ซึ่งเมื่อดับไปเป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิดสืบต่อ ใครยับยั้งไม่ได้ จนกว่าไม่มีปัจจัยที่จะทำให้จิตเกิด จิตจึงจะเกิดไม่ได้ ปัจจัยนั้น ก็คือว่า กิเลสไม่เหลือเลย ดับหมด ถึงความเป็นพระอรหันต์ จิตขณะสุดท้ายก็ดับ แล้วก็ไม่เป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิด เพราะฉะนั้น อีกนานไหม ให้เข้าใจว่า การฟังธรรมเพื่อเข้าใจ ความเข้าใจนั้นก็ละความไม่รู้ ความไม่รู้เป็นเหตุให้เกิดอกุศลมากมายเพิ่มขึ้น ยากแก่การที่จะมีชีวิตด้วยอกุศล แล้วคิดว่าจะดับอกุศลนั้นได้เร็ว

    ผู้ฟัง กราบท่านอาจารย์ แต่เมื่อรู้ ก็จะต้องรู้ทีละลักษณะ

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง เพราะฉะนั้น เห็น ไม่ใช่คิด ว่าสิ่งที่เห็นเป็นอะไร เห็นเพียงเห็นเข้าใจให้ถูกต้องว่าเห็น เห็นไม่ใช่คิด เห็นดับก่อน ดับไปแล้ว เดี๋ยวนี้ก็ดับไปแล้ว และก็มีคิดตาม คิดถึงรูปร่าง คิดถึงนิมิต แล้วก็เห็นอีก แล้วเห็นก็เกิดดับสืบต่ออย่างรวดเร็ว

    ผู้ฟัง แล้วเมื่อสิ่งที่ปรากฏทางตา ปรากฏแล้วก็ดับไป

    ท่านอาจารย์ ปรากฎซ้ำๆ ๆ

    ผู้ฟัง ไม่มีอะไรเหลือเลย

    ท่านอาจารย์ ไม่มี ว่างเปล่า ไปหาอีกไม่ได้ ใครลองหาซักอย่างหนึ่ง ที่ดับไปให้กลับมาสิ

    ผู้ฟัง แต่ว่าจิตเห็นไม่ได้ปรากฏ

    ท่านอาจารย์ กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ เข้าใจหรือไม่เข้าใจ ไม่ต้องไปหาเห็นที่อื่นเลย เห็นที่อื่นไม่มี เพราะขณะนี้ เห็นมี เฉพาะตรงนี้ ขณะนี้ เพราะฉะนั้น ความเข้าใจ ก็คือว่า เมื่อไหร่สามารถที่จะเข้าใจเห็น ตามความเป็นจริง ไม่ใช่เรา เห็นเกิดขึ้นเพราะมีปัจจัย เห็นแล้วก็ดับไปเท่านั้นเอง ได้ยินเกิดขึ้น เพราะมีเหตุปัจจัยที่จะทำให้ได้ยินเกิดแล้วดับไป ทุกอย่างก็ว่างเปล่าจากการที่จะเป็นเรา

    ผู้ฟัง แต่เห็น ไม่ได้ปรากฏสิ่ง ที่ปรากฏ คือ สิ่งที่ปรากฏทางตา

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น อะไรเกิด สิ่งที่ปรากฏทางตา เกิดขณะแรกของชีวิตของชาตินี้ อะไรเกิด ขณะแรกของชาตินี้ ที่ทุกคนจะเรียกว่าเกิดมาในโลกนี้ ขณะแรกอะไรเกิด สิ่งที่ปรากฏทางตาเกิดหรือเปล่าขณะนั้น แต่ว่ามีธาตุรู้เกิด เพราะฉะนั้น ก็ต้องรู้ว่าขณะนี้ หรือขณะไหนๆ ก็ตาม หลังจากที่เกิดมาแล้ว ธาตุรู้ไม่เคยหยุดเกิด เพราะฉะนั้น ก็ปรากฏให้เห็นว่า พอเริ่มที่จะออกมาจากครรภ์มารดา แล้วก็มีสิ่งที่ปรากฏให้เห็น มีเรื่องราวต่างๆ ทั้งหมด ก็ต้องเป็นธาตุรู้ ซึ่งธาตุรู้ที่เป็นใหญ่เป็นประธาน คือ จิตสามารถที่จะรู้ทุกอย่างได้ เห็นก็ได้ ได้ยินก็ได้ คิดก็ได้ นี่ก็เป็นจิต คือ ธาตุรู้ เพราะฉะนั้น ที่ปรากฎว่ามีโลก มีสิ่งที่ปรากฏให้เห็น มีคนนั้นคนนี้มีเรื่องราวต่างๆ ถ้าไม่มีจิต จะไม่มีอะไรเลยทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น ทุกคนไม่ได้สนใจจิต สนใจแต่สิ่งที่จิตรู้ เช่น สิ่งที่กำลังปรากฏให้เห็น หรือเสียง หรือเรื่องราวต่างๆ แต่ลืมจิต ซึ่งถ้าไม่มีจิตอะไรๆ ก็ไม่ปรากฏเลย แต่เพราะเหตุว่า จิตไม่เคยขาดเลย ในแสนโกฏิกัปป์มาแล้ว เกิดดับสืบต่อ และทำกิจต่างๆ กิจแรกของชาตินี้ คือ ปฏิสนธิกิจ ทำกิจเกิดสืบต่อจากจุติจิต คือ จิตขณะสุดท้ายของชาติก่อนที่เราใช้คำว่าตาย และก็ไม่เคยหยุดยั้ง พอถึงขณะที่ตายจากโลกนี้ ก็มีปฏิสนธิจิตอีก

    เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องของธรรมทั้งหมด ที่จะต้องเข้าใจว่า ไม่ได้เคยเข้าใจถูก แต่เข้าใจว่าเป็นเราเกิด เราเห็น เราได้ยิน เราคิดนึกต่างๆ แต่ทั้งหมดเพราะมีจิตที่เกิดดับสืบต่อ แม้ในขณะนี้เอง ก็ไปสนใจสิ่งที่ปรากฏให้เห็น ลืมว่าเป็นจิตเห็น และเวลาคิดเป็นเรื่องราวต่างๆ ก็สนใจเรื่องราวเหตุการณ์ต่างๆ สุขบ้างทุกข์บ้าง ลืมว่าขณะนั้นจิตกำลังรู้สิ่งนั้น เพราะฉะนั้น แสดงให้เห็นว่า จิตไม่มีรูปร่าง ไม่มีสีสันเลย แต่เป็นธาตุรู้ คิดถึงธาตุรู้ ซึ่งเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้ เพราะเหตุว่า ธาตุรู้มีหลายอย่าง ๗ ขณะนั้น ก็ต้องเป็นธาตุรู้สึก ใช่ไหม ถึงได้มีความเจ็บเกิดขึ้น หรือว่าคิดก็ต้องเป็นธาตุรู้ เรื่องราวคำต่างๆ เพราะฉะนั้น ธาตุรู้มี ๒ อย่าง คือ ธาตุรู้ที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งสิ่งที่ปรากฏให้รู้อย่างหนึ่ง เป็นปัณฑระผ่องใส ผ่องแผ้วไม่ใช่โลภะ ไม่ใช่โทสะ ไม่ใช่โมหะ ไม่ใช่ธรรมฝ่ายดีฝ่ายชั่วใดๆ ซึ่งเป็นเจตสิก ธรรมอีกประเภทหนึ่งซึ่งเกิดกับจิต หรือว่าเกิดในจิต ทำให้จิตนั้นมีลักษณะต่างๆ กันไปตามเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย เพราะฉะนั้น ก็ต้องแยกจิต ไม่ใช่เจตสิก และเจตสิกก็มีมากมาย ทั้งหมดประมวลได้เป็น ๕๒ ประเภท ถ้ารวมจิตอีกหนึ่ง นามธรรมทั้งหมดก็มี ๕๓ เพราะฉะนั้น เจตสิก๑ ทำกิจ๑ ฉันใด จิตก็ทำกิจของจิตเท่านั้น ไม่ได้ไปทำหน้าที่ของเจตสิกใดๆ เลยทั้งสิ้น ขณะนี้เองกำลังเป็นอย่างนี้ ถ้าไม่มีการตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โลกมืด ไม่มีการที่จะเข้าใจความจริง ว่าแท้ที่จริงแล้วที่เข้าใจว่าเป็นเรา เป็นคน หรือเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดเกิดปรากฏ และไปหมดสิ้นเมื่อตาย เพราะเหตุว่า ไม่ได้เข้าใจความจริงของธาตุ ซึ่งเป็นแต่ละธาตุ ไม่ใช่ใคร ไม่ใช่ของใคร เป็นธาตุ เพราะเหตุว่า ใครเปลี่ยนแปลงลักษณะนั้นไม่ได้ เมื่อมีปัจจัยเกิดขึ้นเป็นอย่างนั้น เป็นอื่นไม่ได้แล้วก็ดับไป ตลอดเวลาเป็นอย่างนี้ กำลังเห็น แล้วก็ไม่เข้าใจเรื่องเห็น จะไปไหน กำลังได้ยินแล้วก็ไม่ได้เข้าใจได้ยิน แล้วจะไปไหน แต่ว่าค่อยๆ เข้าใจขึ้น นี่จึงจะสามารถทำให้รู้ความจริง ของสิ่งที่ขณะนี้ ผู้ที่ตรัสรู้แล้วทรงแสดง และมีผู้ที่ได้อบรมปัญญา แม้ทีละเล็กทีละน้อยในแต่ละชาติ จนกระทั่งถึงกาลที่สามารถที่จะรู้ความจริง คือ สภาพธรรมในขณะนี้เกิดขึ้น และดับไป เช่น พระอริยะสาวกทั้งหลาย ที่ท่านได้รู้ความจริงมาแล้ว

    เพราะฉะนั้น ในขณะนี้ก็เป็นผู้ตรง มีสิ่งที่ปรากฏแล้วก็ได้ฟัง การฟังก็ยากที่จะเข้าใจ แต่ถ้าไม่เข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏ จะมีประโยชน์อะไร เพราะฉะนั้น ผู้ที่มีความเข้าใจจริงๆ ว่าปัญญารู้อะไร ปัญญาเข้าใจ สิ่งที่กำลังมีในขณะนี้ ก็สะสมความเข้าใจ ซึ่งจากไม่เข้าใจเลย และก็ยากที่จะเข้าใจ ทั้งๆ ที่สิ่งนี้ก็กำลังมี ก็เป็นผู้ที่มีความอดทน มีวิริยะ มีสัจจะ ความจริงใจ มีอธิฐานความมั่นคงที่จะรู้ว่า ค่อยๆ เข้าใจไปทีละเล็กทีละน้อย แล้วในวันหนึ่งก็สามารถที่จะเข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ตรงตามที่ได้ฟังทุกอย่าง

    ผู้ฟัง จะขอกราบเรียนถามท่านอาจารย์ว่า ฟังแล้วต้องคิดแน่นอน แล้วคิดให้ถูก คิดถึงสภาพธรรมคิดให้ถูก คิดยังไง ถึงจะเรียกว่าคิดถูก

    ท่านอาจารย์ จะคิดยังไงให้ถูกใช่ไหม เพราะนั่นเป็นตัวคุณบุษกร ที่หวังว่า ฟังแล้วอยากจะคิดให้ถูก แต่ในขณะนั้นไม่ได้เข้าใจ เพราะฉะนั้น สำคัญที่สุด คือ เข้าใจสิ่งที่กำลังฟัง ว่าไม่ใช่คุณบุษกร เป็นสิ่งที่มีจริงค่อยๆ เข้าใจขึ้น

    ผู้ฟัง ตรงนี้จึงมีคำถามว่า ตัวเอง คือ ไม่อยากจะให้ผิด มีโอกาสมาฟังแล้ว

    ท่านอาจารย์ ตัวเองก็จบแล้ว ฟังธรรมก็ตัวเอง ไม่ได้เข้าใจเมื่อสักครู่เลยว่า เป็นธรรมแต่ละหนึ่ง ค่อยๆ ฟัง ค่อยๆ เข้าใจ พอฟังแล้วตัวเองจะทำ

    ผู้ฟัง แต่ก็เรียนให้ทราบตรงๆ ว่าก็ยังมีตัวตนอยู่ว่ากลัวว่า

    ท่านอาจารย์ จึงต้องเข้าใจให้ถูกต้องว่า อะไรเป็นตัวตนทีละเล็กทีละน้อย ให้มีความมั่นใจจริงๆ ที่ว่าเป็นตัวตน ความจริงเป็นอะไร

    ผู้ฟัง คือ จากการฟังจริงๆ แล้วก็ไม่ผิด แต่ทีนี้มีตัวตนเข้ามาแทรก กลัวว่าเดี๋ยวจะคิดผิดแล้วก็จะเสียเวลา

    ท่านอาจารย์ เป็นตัวตนทั้งนั้นที่ไม่อยากเสียเวลา ไม่อยากอะไรทั้งหมด แทนที่จะเข้าใจสิ่งที่ฟังเพิ่มขึ้น

    กุล. ท่านยกจักขุนั้นชื่อว่า เป็นอนัตตา ด้วยอรรถว่า ไม่เป็นไปในอำนาจ อีกอย่างหนึ่ง ความที่จักขุนั้น เป็นไปในอำนาจของใครๆ ในฐานะสามเหล่านี้ คือ จักขุนี้เกิดขึ้นแล้ว ขอจงอย่าถึงการตั้งอยู่ ถึงการตั้งอยู่แล้วจงอย่าแก่ ถึงการแก่แล้วจงอย่าแตกดับ ดังนี้หามีไม่ได้ เป็นของสูญไปจากอาการที่เป็นไปในอำนาจนั้น เพราะฉะนั้น จักขุนั้น จึงชื่อว่าเป็นอนัตตา ก็จะกราบเรียนท่านอาจารย์ นัยที่ว่า ไม่เป็นไปในอำนาจ

    ท่านอาจารย์ ก็อย่างที่เคยได้ยินได้ฟังบ่อยๆ ใครทำให้ตาเกิดขึ้นได้ ตา คือ อะไร สสัมภาระจักขุ หมายความถึง ตาทั้งดวงเลย สีขาว สีดำ แต่ถ้าพูดถึงจักขุปสาทเป็นรูปพิเศษ ที่ไม่ใช่เพียงธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม สี กลิ่น รส โอชา แต่ว่าต้องมีรูป ซึ่งกรรมทำให้เกิดขึ้น ซึ่งใครก็ไม่สามารถจะทำให้เกิดขึ้นได้เลย เท่าที่รู้ ก็คือว่า อยู่ที่ตา จะใช้คำว่า อยู่กลางตาก็ได้ แต่ก็มองไม่เห็น เพียงแต่รู้ว่า ที่นั่นต้องมีรูปๆ หนึ่ง ซึ่งสามารถที่จะกระทบกับสิ่งที่กำลังปรากฏให้เห็นในขณะนี้ได้ ถ้าเพียงรูปนั้นไม่มี แม้ว่าสิ่งที่ปรากฏมี สำหรับผู้ที่เห็นสิ่งที่ปรากฏให้เห็นทางตา แต่คนที่มีกรรมที่ไม่ทำให้จักขุปสาทเกิด ก็ไม่มีการที่จะเห็นได้เลย เพราะฉะนั้น ก็เป็นสิ่งที่แม้มี ก็รู้ไม่ได้ เพราะเหตุว่า ไม่สามารถที่จะมองเห็น ขณะนี้มีเห็น และก็มีสิ่งที่ปรากฏให้เห็น และก็มีจิตที่เห็น ที่ประกอบด้วยเจตสิก มีจิตเห็น มีสิ่งที่ปรากฏให้เห็น และก็ต้องมีจักขุปสาทรูป และเวลาที่จิตเกิดขึ้นก็ต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย เห็นอะไร เดี๋ยวนี้ จักขุปสาทต้องมีแน่ จิตเจตสิกต้องมีแน่ และสิ่งที่ปรากฏทางตาก็มีแน่นอน เพราะฉะนั้น ในขณะที่กำลังเห็น เห็นอะไร เห็นอะไรก็กำลังเห็นอยู่แล้ว จริงๆ แล้วไม่ต้องบอก ไม่ต้องเรียกก็ได้ วิธีที่จะรู้จักสิ่งที่ปรากฏให้เห็น ก็คือว่า ไม่ต้องไปนึกถึงคำ ไม่ต้องไปนึกถึงชื่อ เพียงแต่เริ่มเข้าใจว่าสิ่งที่ปรากฏขณะนี้ ที่กำลังเห็น มีจริงๆ อย่างหนึ่ งเป็นอย่างหนึ่งที่มีจริง เมื่อเห็นเท่านั้นเอง

    เพราะฉะนั้น ทั้งหมดไม่มีใครสามารถที่จะบันดาลให้เกิดขึ้นได้เลย ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใคร มีเงินมากมายจะให้จักขุปสาทเกิดได้ไหม จะให้สิ่งที่สามารถปรากฏในขณะนี้เกิดได้ไหม สามารถที่จะให้จิตเจตสิกเกิดขึ้นได้ไหม ทั้งหมดอนัตตา ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครเลย เมื่อมีปัจจัยที่จะทำให้เกิดขึ้นเป็นอย่างนั้น ไม่เป็นอย่างอื่น แล้วก็ดับไป

    ผู้ฟัง เรียนถามว่า กลุ่มรูปสี กลิ่น รส โอชา

    อ.นิภัทร อวินิพโภครูป๘ คือ มหาภูตรูป๔ ดิน น้ำ ไฟ ลม แยกจากกันไม่ได้เลย เวลาธาตุดินมี ก็ต้องมีธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ธาตุใดธาตุหนึ่งมี ก็ต้องมีอีกต่อที่ธาตุอื่น และก็วรรณโณ คันโธ รโส โอชา อีก๔ ก็เป็น๘ คุณจะไปนับอิตถีภาวะ ปุริสภาวะอะไรเข้ามาอีกมันไม่ใช่ อวินิพโภครูป๘ ยังไม่มีชายมีหญิง ยังไม่มีเป็น ๘ รูปล้วนๆ โอชานี่ไม่รู้ด้วยลิ้น โอชานี่เป็นคุณวิเศษ ที่จะไปหล่อเลี้ยงร่างกาย

    อ.คำปั่น พูดถึงโอชา โอชา เป็นรูปละเอียดรูปหนึ่ง ซึ่งโดยความหมายของคำว่าโอชา หมายถึงว่า รูปที่เป็นเหตุ ทำให้รูปอื่นๆ เกิดขึ้นเจริญขึ้น นี่คือ ความหมายของโอชา

    ท่านอาจารย์ อวินิพโภครูป อย่างที่คุณนิภัทรได้กล่าวถึงแล้ว หมายความถึง รูปที่แยกกันไม่ได้เลยมี ๘ รูป เป็นมหาภูตรูป๔ ธาตุดิน๑ น้ำ๑ ไฟ๑ ลม๑ สี่ ส่วนอีก ๔ รูปที่ต้องเกิดทุกครั้งที่มาหาภูตรูปเกิด แต่ไม่ใช่รูปที่เป็นใหญ่ เพราะอาศัยมหาภูตรูป จึงมี ๔ รูปนี้เกิดขึ้น คือ

    ผู้ฟัง สี กลิ่น รสโอชา เป็น ๘

    ท่านอาจารย์ ให้มีความเข้าใจที่มั่นคงว่า รูปไม่ใช่สภาพรู้ แต่มีปัจจัยเกิดขึ้นอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้น รูปจึงต่างกัน อย่างรูปที่แข็ง ไม่ใช่รูปที่ร้อน คนละรูป ด้วยเหตุนี้ รูปที่เป็นใหญ่เป็นประธาน ใช้คำว่ามหาภูตรูปก็มี ๔ คือ ธาตุดินปฐวี๑ จะใช้ภาษาบาลีก็ได้ ธาตุน้ำอาโป๑ ธาตุไฟเตโช๑ ธาตุลมวาโย๑ ไม่ต้องพูดภาษาบาลีเลยก็ได้ แต่ว่าที่ใดก็ตาม ที่มีรูปเกิดขึ้น รูปนั้นจะต้องมีธาตุดิน คือ อ่อนหรือแข็ง ธาตุไฟเย็นหรือร้อน ธาตุลมตึงหรือไหว ซึ่งพอที่จะรู้ได้เมื่อกระทบสัมผัส แต่มีอีกธาตุหนึ่งซึ่งไม่มีทางที่จะปรากฏ แม้ว่ากระทบสัมผัส ธาตุนั้น คือ ธาตุน้ำ ซึ่งเอิบอาบซึมซาบเกาะกุมธาตุทั้งสาม ไม่พรากจากกันเลย อีกคำหนึ่งที่ใช้คำอุปมา คือ ใช้คำว่าสิเนหาหมายความว่า ยางใยเยื่อใยที่เหนียวมาก เพราะฉะนั้น ธาตุน้ำก็สามารถที่จะเกาะกุมอีก ๓ ธาตุไว้ เป็นมหาภูตรูป๔ ซึ่งไม่แยกจากกันเลย และที่ใดก็ตาม ที่มีมหาภูตรูป๔ ที่นั่นต้องมีสี จะใช้คำว่าสิ่งที่ปรากฏให้เห็นได้ และก็มีกลิ่น มีรส มีโอชา โอชาเป็นรูปที่ทำให้รูปอื่นเกิดขึ้น เพราะฉะนั้น เวลาที่กระทบสัมผัส ยังไม่รู้เลยว่าเป็นดินที่ปลูกต้นไม้ หรือว่าจะเป็นถ้วยแก้ว แต่ลักษณะที่แข็งปรากฏ เพราะฉะนั้น ลักษณะที่แข็งก็เป็นภาษาไทย และภาษาอื่นก็ใช้คำต่างกัน แต่ว่าเปลี่ยนลักษณะที่แข็งไม่ได้เลย จะมีเพียงแข็งหรืออ่อน ก็ยังคงเป็นแข็งนั่นแหล่ะ ธาตุ๑ ในขณะนั้นก็สามารถที่จะรู้ได้ว่า ที่นั่นต้องมีสี มีกลิ่น มีรส มีโอชา มีไฟ มีลม มีน้ำรวมอยู่ด้วย ๘ รูปแยกจากกันไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น เวลาที่สัมผัสดอกไม้ แข็งปรากฏ เราใช้คำว่ากระทบดอกไม้ แต่ความจริงถ้าไม่มีความคิดว่ากระทบดอกไม้ แข็งปรากฏ ก็ตรงแข็งที่ปรากฏ มีรูปอื่นรวม ๗ รูปอยู่ด้วย ไม่แยกจากกันเลย


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 185
    23 ม.ค. 2567