พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 786


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๗๘๖

    ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๕๕๕


    อ.คำปั่น คนพาล เป็นผู้เห็นโลกนี้เป็นปกติ แต่สำหรับบุคคลผู้ที่มีปัญญา แม้ว่าจะไม่มีลาภไม่มียศ ไม่มีอะไรเลย แต่ว่า เป็นผู้ที่มีปัญญา มีความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้อง ย่อมเป็นบุคคลผู้ประเสริฐ เพราะเหตุว่า บุคคลผู้ที่เป็นคนพาล มีความติดข้องต้องการในสิ่งใดก็กระทำทุกสิ่งทุกอย่างให้ได้มา ในสิ่งที่ตัวเองต้องการ ด้วยหนทางที่เป็นทุจริต ซึ่งในขณะที่กระทำทุจริตกรรมนั้น เป็นการสะสมเหตุที่ไม่ดีให้กับตนเอง โดยที่ไม่เคยคิดเลยว่า ชีวิตไม่ได้จบลงเพียงแค่ชาตินี้ชาติเดียว ตราบใดที่ยังมีกิเลสอยู่ ก็ยังต้องเกิดในภพใหม่สืบต่อไป แต่คนพาลเป็นบุคคลผู้ไม่รู้ธรรมตามความเป็นจริง ก็คิดว่าชีวิตก็จบลงเพียงแค่ชาตินี้ชาติเดียว ก็กระทำแต่อกุศลกรรม ไม่กระทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ตนเอง นี่คือความหมาย ที่ได้ฟังจากที่ท่านอาจารย์ ได้บรรยายในรายการแนวทางเจริญวิปัสสนา ซึ่งคนพาลจะมีลักษณะที่ตรงข้ามกับุคคลผู้ที่บัณฑิตอย่างสิ้นเชิง

    ท่านอาจารย์ คนพาลอยู่ไหน เห็นไหม ใครพบคนพาลบ้าง เพราะฉะนั้น การฟังธรรม ไม่ใช่เพียงฟังเรื่องราว หรือว่า คำที่กล่าวถึงเรื่องนั้น คำนั้นเท่านั้น แต่จะต้องไตร่ตรอง ให้เป็นความเข้าใจที่ถูกต้องด้วย คนพาลอยู่ไหน หาเจอไหม ที่นี่มีคนพาล หรือเปล่า

    อ.กุลวิไล มี

    ท่านอาจารย์ เห็นไหม ไม่ไกลเลย ไม่ใช่อยู่ในหนังสือ ไม่ใช่อยู่ในตำรา ขณะใดที่อกุศลเกิดขึ้น แล้วไม่รู้โทษของอกุศล ขณะนั้นไม่ได้คิดเลยใช่ไหม โลกหน้าจากขณะจิตที่กำลังเป็นอกุศล ขณะนั้น จะเป็นอย่างไร มีความพอใจเพียงแต่ว่า โกรธ หรือว่าโลภ หรือว่าอะไรก็แล้วแต่ มีความต้องการ มีความอยากได้ เห็นแต่ว่า ในโลกนี้ ถ้าได้มาก็จะเป็นสุขอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ถ้าเป็นผู้ที่ละเอียด แม้แต่ขณะที่โกรธคนพาลเป็นอย่างไร โลกหน้าของขณะที่โกรธนั้นเป็นอย่างไร ไม่ได้คิดเลย เห็นแต่โลกนี้ นี่โกรธ และโลภะ มีความต้องการ มีความติดข้องมากมาย เห็นแต่เพียงว่าชาตินี้จะมีความสุขด้วยความติดข้อง ไม่ว่าจะโดยทุจริต หรือโดยประการใดก็ตาม ความติดข้องขณะนั้น โลกหน้าเป็นอย่างไรก็ไม่ได้คิดเลย ไปไหนก็ไม่ได้คิดอีก

    เพราะฉะนั้น ธรรม มีการที่เราสามารถเป็นผู้ที่จะเข้าใจประโยชน์ของการฟัง ประโยชน์ของพระธรรมที่ทรงแสดง เพื่อใคร อนุเคราะห์ให้ผู้ที่ไม่รู้ ขณะโกรธ ขณะนั้นอวิชชาไม่เห็นโทษแน่ๆ ถึงแม้โกรธแล้ว ขณะนั้นก็ยังไม่รู้อีกว่าจะไปไหน จากความโกรธจะไปไหนจากความโลภ จะไปไหน จากความหลง การไม่รู้ความจริงของสิ่งที่ปรากฏ ถ้าหลง ไปไหน สัตว์เดรัจฉานก็ได้ ไม่รู้อะไร เกิดมาแล้วก็เท่านั้นเอง กินนอน ดูมด ดูหนอน ดูอะไรทุกสิ่งทุกอย่างก็เท่านั้นเอง นี่ก็แสดงให้เห็นว่า ถ้าเป็นผู้ที่รู้เหตุรู้ผลจริงๆ ย่อมคำนึงถึงผลของสิ่งที่เกิดจากโลกนี้ ถ้าโลกนี้เป็นอกุศลมากๆ โลกหน้าเป็นยังไงก็รู้ได้เลย

    เพราะฉะนั้น พาลกับบัณฑิต ก็ต่างกันที่ว่า คนพาลไม่ได้คิดถึงอกุศลในขณะที่เกิดว่าจะไปสู่โลกไหน แต่ถ้าเป็นผู้ที่มีความเข้าใจจริงๆ ก็สามารถที่จะ ปัญญาถึงจะเป็นบัณฑิต เห็นโทษของอกุศลเพียงเล็กน้อย ไม่ใช่แต่เฉพาะชาตินี้ชาติเดียว ยังจะต้องติดตามไปอีก

    อ.กุลวิไล เพราะฉะนั้น เจอคนพาล หรือยัง คนพาล ก็คือ อกุศลธรรม นั่นเอง

    ท่านอาจารย์ คนพาล อยู่ใกล้ หรือว่าอยู่ไหน คนรอบข้างนี่เป็นคนพาลอยู่ใกล้ๆ หรือพาลจริงๆ คนพาลจริงๆ อยู่ไหน นี่คือประโยชน์จากการฟังพระธรรมต้องให้ได้ความเข้าใจที่ถูกต้อง

    อ.กุลวิไล และก็เป็นความจริง ท่านคงจำได้ธรรมหมวด ๓ กุศลธรรมก็มี อกุศลธรรมก็มี และธรรมที่ไม่ใช่เป็นกุศลธรรม และอกุศลธรรม ก็คือ อัพยากตธรรมก็มี เพราะฉะนั้นกุศลธรรม และถ้ามีปัญญาเกิดร่วมด้วยนั่นคือ บัณฑิต แต่ถ้าอกุศลธรรมเป็นคนพาล เพราะฉะนั้น ไม่ต้องไปหาคนพาลที่ไหน ถ้าในชีวิตประจำวันเป็นคนมักโกรธ เป็นคนที่ติดข้อง และเป็นคนที่ไม่รู้ธรรมที่ปรากฏ ในขณะนี้ ขณะนั้นเป็นคนพาล แต่เมื่อใดเข้าใจถูกเห็นถูกสิ่งที่มีจริงขณะนั้นเป็นบัณฑิต

    ท่านอาจารย์ ก็มีคนพาลหลายระดับ บางคนก็บอกว่าเกิดมาแล้วไม่ได้ทำผิดอะไร สบายอยู่แล้วก็สบายต่อไป ก็เป็นคนพาล หรือเปล่า โมหะไม่รู้ตามความเป็นจริงเลย

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์พูดถึงความต่างของปัญญาที่ไม่ใช่คนพาล แต่ถ้าตรงกันข้ามก็จะเป็นคนพาล การต่างตรงนี้ ตรงนี้ไปวัดได้ไหม เหมือนคนอยากจะได้

    ท่านอาจารย์ โกรธกันทุกคน บางครั้งโกรธแล้วก็รู้โทษของความโกรธ ขณะที่กำลังรู้โทษคลาย หรือเปล่า เพราะเหตุว่า ขณะนั้นอกุศล คือ โทสะเกิดไม่ได้ จิตเกิดดับสลับกันเร็วมาก เพราะฉะนั้น ขณะที่กำลังเป็นอกุศลประเภทต่างๆ และไม่ได้รู้ความจริงเลย ขณะนั้นก็ไม่ได้ละคลายอะไร แต่ว่าเพราะการฟัง ก็เป็นปัจจัยที่จะทำให้เวลาที่อกุศลประเภทหนึ่งประเภทใดเกิดขึ้น ขณะนั้น ความเป็นอนัตตาของสังขารขันธ์ ซึ่งจะเกิดเมื่อไหร่ก็ได้ ไม่เกิดก็ได้ ถ้าไม่มีปัจจัยพอที่จะเกิด แต่ถ้ามีการรู้ว่า ขณะนั้นเป็นโทษ ขณะที่กำลังรู้ เป็นการละคลาย หรือเปล่า เล็กๆ ในน้อยในชีวิตประจำวัน กว่าจะรู้ความจริงว่าเป็นธรรมแต่ละอย่าง ก็ต้องเพราะธรรมนั้นๆ ปรากฏให้รู้ว่าเป็นแต่ละอย่าง

    ผู้ฟัง แล้วก็ต้องทราบด้วยว่า ธรรมที่ปรากฏแต่ละอย่าง ต่างกันอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ขณะนั้นต่างกันเอง อย่างขณะนี้กำลังเห็น กับ กำลังได้ยิน ถึงไม่ถาม ถึงไม่บอกก็ต่าง เพราะฉะนั้น สภาพธรรมที่เป็นอกุศลเกิดแล้วกับสภาพธรรมที่เป็นกุศล ก็ต้องต่างกันโดยไม่ต้องเรียกชื่อ

    ผู้ฟัง พอมองเห็นลักษณะอย่างนี้ เหมือนกับว่า การที่จะไต่ไป หรือการที่จะจับด้ามมีด จนกระทั่งมีดสึก จะมีความละคลายเพียงเล็กๆ น้อยๆ เกิดขึ้น ซึ่งพอจะพูดได้ว่าการละคลายจากความโกรธ และระลึกถึงความโกรธ แต่ถ้าสมมติว่า ถ้าระลึกถึงแค่เสียง หรือ แค่เห็น มันไม่ได้ละคลายให้เห็นชัดเจนเลย

    ท่านอาจารย์ แล้วแต่สังขารขันธ์ ไม่มีเราที่จะไปเข้าใจมากๆ หรือให้ตอนนี้ ให้ไปรู้เสียง หรือตอนนี้ให้ไปละความติดข้องในเสียง เพราะว่าฟังมาถูกต้องใช่ไหม ว่าเสียงมีจริงๆ แล้วเสียงก็เกิดดับ แต่รู้ หรือเปล่า เป็นเพียงเสียงก็จริง แต่เป็นที่ตั้งของความยึดถือแล้ว ตรงนี้ไม่รู้เลยใช่ไหม เหมือนเสียงก็แค่เสียง ก็เป็นเพียงแค่เสียงเกิดแล้วก็ดับไป แต่เพราะความไม่รู้ในเสียง และความติดข้องในเสียง บางทีก็เสียงใคร ก็ยังมีความเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล ใช่ไหม แม้แต่เสียงเขา หรือว่าเสียงเรา ทั้งๆ ที่เสียงก็คือเสียง ไม่มีใครเป็นเจ้าของเลย เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ตามเหตุตามปัจจัย แล้วแต่วัตถุที่ทำให้เกิดเสียง จะเป็นวัตถุที่เป็นธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ส่วนผสมต่างกันอย่างไร จะเป็นเสียงคน เสียงนก เสียงดนตรีแต่ละชนิด ก็เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป แต่ความติดข้อง และความไม่รู้ในเสียง ก็ทำให้มีความยึดมั่นในเสียงได้

    เพราะฉะนั้น ถ้ารู้จริงๆ ว่าทุกอย่างเหมือนเสียง แม้แต่สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ก็เพียงปรากฏ เหมือนเสียงกำลังปรากฏ และสิ่งที่ปรากฏทางตา ก็จะปรากฏเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏให้เห็นได้เท่านั้น แต่เรื่องราวมากมายจากสิ่งที่ปรากฏ และความจำในนิมิตรูปร่างสัณฐานต่างๆ ก็ทำให้เกิดอกุศล และกุศลประเภทต่างๆ มากมายฉันใดเสียงก็ฉันนั้น เสียงแท้ๆ แต่ความหมายของเสียงเป็นยังไง บางเสียงโกรธเหลือเกิน แค่เสียงนั้นแหละ แต่ว่าความหมายของเสียงที่เราคิดในเสียง เป็นคำต่างๆ ก็ทำให้เกิดความขุ่นข้อง ความทุกข์แสนสาหัสก็ได้ แล้วแต่ว่า กำลังของกิเลสจะแค่ไหน แล้วก็เป็นเรื่องราวมากมายจากเสียงด้วย เอามาต่อๆ กันเป็นแต่ละคำก็เป็นเรื่องใหญ่ นี่ก็แสดงให้เห็นว่า แม้แต่เสียง หรือว่าสภาพธรรมใดๆ ก็ตาม แม้เพียงปรากฏ เกิดขึ้นแล้วดับไป แต่ความไม่รู้มากมาย

    อ.กุลวิไล เพราะฉะนั้น เสียงเป็นที่ตั้งแห่งความยึดถือ ด้วยความไม่รู้ หรือด้วยความติดข้อง ซึ่งเสียงเหล่านี้ ก็เป็นสิ่งที่มีจริง ท่านอาจารย์ให้เราเข้าใจถึงความรู้ถูก ก็คือ รู้ถึงความเล็กน้อยของสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้ เช่น เสียง เพราะว่า เสียงก็ต้องมีจริง แต่การที่จะรู้ความหมายของเสียงนั้น ก็ต้องด้วยจิตที่เกิดขึ้นหลายวาระภายหลังนั่นเอง ที่จะแปลความหมายให้รู้ได้ แต่แท้จริงแล้ว เสียง ก็คือ สิ่งที่ปรากฏทางหูเท่านั้นเอง ท่านอาจารย์ใช้คำว่า ชั่วคราว ก็เพราะว่า สิ่งเหล่านี้เล็กน้อย เกิดแล้วก็ดับไปแต่ถ้าไม่ได้ฟังพระธรรม ไม่ได้สะสมความเห็นถูก ทั้งๆ ที่เสียงก็มีในชีวิตประจำวัน แต่ยึดมั่น ถือมั่น ด้วยความไม่รู้ และความติดข้อง หรือเปล่า หรือว่ารู้ตามความเป็นจริงได้

    อ.อรรณพ ได้ฟังท่านอาจารย์กล่าวถึง พาล ว่าพาลเห็นโลกนี้เป็นปกติ ผมก็อยากจะสอบทานความเข้าใจ ที่ได้ฟังที่ท่านอาจารย์ได้กล่าวว่า พาล ก็คือ อกุศล ถ้าเราจะพูดถึงกว้างๆ ก็ถ้าบุคคลใดมีอกุศลมาก เราก็อาจจะเรียกโดยรวมๆ ว่าเป็นพาล แม้คนที่เป็นพาล แต่ก็ฟังธรรมก็มี หมายความอย่างนั้น

    ท่านอาจารย์ อันธพาลปุถุชน มีไหม กัลยาณปุถุชนก็มี และบางทีเราจะใช้คำว่าพาลปุถุชนเท่านั้นก็ได้ ก็แสดงถึงความมากน้อยต่างกัน

    อ.อรรณพ เพราะฉะนั้น ก็เป็นความละเอียดของธรรมว่า จะกล่าวโดยกว้างๆ หรือจะกล่าวโดยที่ท่านอาจารย์กล่าวสักครู่ ผมอยากจะทวนความเข้าใจว่า อกุศล เป็น พาล หมายความว่า ในขณะที่อกุศลเกิดแม้เล็กน้อย ที่ว่าเป็นพาล เพราะว่าเห็นโลกนี้เป็นปกติ หมายความว่า อย่างเช่นตอนที่โลภะเกิดขึ้น ติดข้องรูป เสียง กลิ่น รสโผฐัพพะ หรือสภาพธรรมที่ปรากฏทางใจ ก็คือ สิ่งที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ในขณะที่อกุศลเกิด อย่างเช่น โลภะเกิด ขณะนั้นโลภะก็ติดข้องในสิ่งที่เป็นโลกทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ โดยที่ขณะนั้น ก็ไม่ได้คำนึงถึงความเป็นกุศลใดๆ อย่างนี้หมายถึง เป็นพาล โดยขณะที่เป็นอกุศลอย่างนั้น ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ธรรมก็ต้องตรง กุศลจะเป็นพาลไม่ได้ และอกุศลก็จะเป็นบัณฑิตไม่ได้ ไม่ว่าจะมากน้อยแค่ไหน

    อ.อรรณพ แม้จะเป็นผู้ที่โดยรวมๆ แล้วมีหลักๆ คือ มีความเข้าใจธรรมก็ตาม แต่ตอนที่อกุศลเกิด ขณะนั้น ก็เป็นพาล เพราะเป็นอกุศลแล้ว เพราะว่า ตอนนั้นกำลังเห็นสภาพธรรมที่เป็นโลก ขณะนั้นติดอยู่กับตรงนั้น หรืออย่างไร

    ท่านอาจารย์ ใครจะบอกว่า ขณะนั้นเป็นบัณฑิตได้ไหม ขณะที่อกุศลเกิด จะบอกเป็นบัณฑิตได้ไหม

    อ.อรรณพ อกุศลเกิด เป็นบัณฑิตไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ถ้าเป็นบัณฑิตไม่ได้ เป็นอะไร

    อ.อรรณพ ก็ต้องเป็นพาลขณะนั้น แม้พระโสดาบันซึ่งดับกิเลสบางส่วนได้แล้ว

    ท่านอาจารย์ อริยบุคคล ไม่ใช่แม้กัลยาณปุถุชน สูงกว่านั้น

    อ.อรรณพ แล้วอกุศลของพระอริยบุคคล จะต่างกันอย่างไร

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น จึงมีคำว่า อันธพาลปุถุชน กัลยาณปุถุชน และอริยบุคคล ก็แสดงความต่างของความเป็นบุคคล เพราะฉะนั้น ความไม่รู้ของพระโสดาบัน ยังมีไหม

    อ.อรรณพ มี

    ท่านอาจารย์ ความเห็นผิด ที่ยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตนของพระโสดาบัน ยังมีไหม

    อ.อรรณพ ไม่มี

    ท่านอาจารย์ ไม่มี นี่ก็เป็นความต่างกัน เพราะฉะนั้น เพราะฉะนั้น เวลาที่เราพูดถึงบุคคลเราแยกประเภทเป็น ปุถุชนกับอริยบุคคล เพราะฉะนั้น ถ้าพาลมากๆ จะเรียกว่าอริยะไม่ได้ ก็ต้องเป็นปุถุชน เพราะหนาแน่นด้วยอกุศล

    อ.อรรณพ ตามระดับของอกุศล ที่ว่าจะเป็นพาลระดับไหน

    ท่านอาจารย์ ปุถุชน คือ หนาแน่นมากมายด้วยอกุศล

    อ.กุลวิไล มีท่านที่เขียนมาถามคำว่า ภาระ คิดว่าท่านคงหมายถึงขันธ์ห้าเป็นภาระ หรือเปล่าเพราะว่าให้เรียนถามความหมายของคำว่าภาระ

    อ.คำปั่น แม้แต่ใน ภาระสูตร แสดงถึง ขันธ์ห้า ว่าเป็นภาระ หมายถึง สิ่งที่จะต้องบริหาร สิ่งที่จะต้องเกิดขึ้นเป็นไปอยู่ เพราะฉะนั้น ตราบใดที่ยังมีขันธ์ห้า คือ สภาพธรรมที่มีจริง ที่เกิดขึ้นเป็นไปก็ยังไม่พ้นจากภาระ อย่างเช่น ทุกคนที่เกิดมาเป็นมนุษย์ มีเห็น มีได้ยิน มีได้กลิ่น มีลิ้มรส มีกุศลเกิด มีอกุศลเกิด นี่คือ ภาระที่เกิดขึ้นเป็นไปในชีวิตประจำวัน ผู้ที่จะหมดภาระจริงๆ เป็นผู้ที่ปลงภาระ ปลงได้แล้ว ก็คือ พระอรหันต์ เพราะว่า พระอรหันต์ดับกิเลสทั้งปวงได้อย่างหมดสิ้น ดับเหตุที่จะทำให้เกิดในภพใหม่ได้แล้ว เมื่อท่านจุติจิตเกิดขึ้นแล้วดับไป ไม่เป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิดขึ้นเลย

    เพราะฉะนั้น พระอรหันต์ เป็นผู้ที่ปลงภาระได้แล้ว ไม่ถือเอาภาระใหม่อีกต่อไป เพราะฉะนั้น ตราบใดก็ตามที่ยังมีกิเลสอยู่ ยังมีการเกิดในภพหนึ่งภพใดอยู่ ก็ไม่พ้นจากภาระ คือ ยังไม่พ้นจากความเกิดขึ้นเป็นไปของสภาพธรรมที่เป็นขันธ์ ซึ่งก็คือ จิต เจตสิก และรูปนั่นเอง เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น ซึ่งท่านอาจารย์ก็ถามอยู่เสมอว่า เห็นขณะนี้ลำบากไหม ได้ยินขณะนี้ลำบากไหม ซึ่งก็เป็นผลสืบเนื่องมาจากการเกิด เห็นในขณะนี้ ได้ยินในขณะนี้ สืบเนื่องมาจาก การเกิดในภพหนึ่งชาติหนึ่ง ซึ่งถ้าหากว่าเป็นผู้ที่ดับกิเลสทั้งปวงได้อย่างหมดสิ้นแล้ว ดับขันธปรินิพพานแล้ว ไม่มีการเกิดอีกไม่มีการเห็น ไม่มีการได้ยินอีก เพราะฉะนั้น ใครจะเป็นผู้ที่ประเสริฐกว่ากัน ระหว่างผู้ที่ดับกิเลสหมดแล้ว กับผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่

    อ.กุลวิไล เพราะฉะนั้น จุดประสงค์ของการฟังพระธรรม สะสมความเห็นถูก เมื่อมีความเห็นถูกในธรรมตามความเป็นจริงขณะนั้นละความไม่รู้นั่นเอง พูดถึงขันธ์ห้า เป็นธรรมที่เกิดแล้วต้องดับไป และว่างเปล่าจากความเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ทำไมถึงเป็นภาระ

    ท่านอาจารย์ ไม่เห็นดีกว่าไหม อยู่ดีๆ ก็ต้องเห็น ไม่เห็นก็ไม่ได้ อยู่ดีๆ ได้ยินอีกแล้ว คิดนึกอีกแล้วตลอดวัน ไม่หยุดเลย ไม่น่าเหนื่อย

    อ.กุลวิไล ก็เหนื่อย ทำกิจการงานทั้งวัน

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ก็แสดงให้เห็นความสงบที่แท้จริง ก็คือว่า ไม่ต้องเห็น ไม่ต้องได้ยิน ไม่ต้องมีการรู้อารมณ์ ไม่ต้องมีการเกิดขึ้นใดๆ เลย

    อ.กุลวิไล ภาระจริงๆ เลย เดี๋ยวก็เห็น เดี๋ยวก็ได้ยิน เดี๋ยวก็คิด แล้วบางครั้งก็เป็นทุกข์ด้วย

    อ.อรรณพ ขณะที่กุศลเกิด ก็อ่อนเบาควรแก่การงาน แล้วกุศลเป็นภาระอย่างไร

    ท่านอาจารย์ กุศล ก็ต้องทำหน้าที่ของกุศล หน้าที่ก็ต้องทำแล้ว เพราะฉะนั้น จึงดับ ทั้งกุศล และอกุศล

    อ.อรรณพ ดับภาระ

    ท่านอาจารย์ จนกระทั่งถึงวันปรินิพพาน ก็เหมือนลูกจ้างที่คอยเวลาเลิกงาน

    อ.อรรณพ แล้วกุศลที่เจริญขึ้นเพื่อให้พ้นจากภาระ

    ท่านอาจารย์ งานหนัก งานเบา มีไหม

    อ.อรรณพ มี

    ท่านอาจารย์ งานอะไรหนัก

    อ.อรรณพ อกุศล

    ท่านอาจารย์ หนักมาก ก็ไม่รู้

    อ.อรรณพ แต่ก็เป็นหน้าที่ของกุศล ที่จะค่อยๆ ทำงานไปจนกว่าจะละอกุศล

    ท่านอาจารย์ ก็ต้องเกิด ก็ต้องทำ ใช่ไหม กุศล ไม่ทำหน้าที่ของกุศล ได้ยังไง กุศลแต่ละกุศล กุศลแต่ละประเภท อย่างขณะนี้ มีศรัทธาแน่นอน ถ้าไม่มีศรัทธาจะนำไปสู่ภาระ ที่จะทำให้พ้นจากการเกิดไหม

    อ.อรรณพ ภาระที่ดี ก็มี คือการอบรมเจริญกุศล ที่ประกอบด้วยปัญญา

    ท่านอาจารย์ ทำสิ่งที่มีประโยชน์ กับทำสิ่งที่ไม่มีเป็นประโยชน์ ก็ต่างกันแล้ว

    อ.อรรณพ เป็นภาระหน้าที่ หรือภารกิจ

    ท่านอาจารย์ จนกว่าจะเลิกงาน ให้ทราบว่าแม้ศรัทธาขณะนี้ ก็นำมาสู่ความสำเร็จ คือ การรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้ ถ้าไม่มีศรัทธาเลยในการฟังในการเข้าใจ ก็ไม่มีทางที่จะทำให้รู้แจ้งอริยสัจจธรรม เพราะฉะนั้น ประมาทแม้กุศลในขณะที่กำลังฟัง และเข้าใจไม่ได้เลย ว่าถ้าไม่มีอย่างนี้แล้ว จะไปดับกิเลสได้อย่างไร เพราะฉะนั้น แม้แต่ศรัทธาในขณะที่เกิดขึ้น มีการฟัง มีการเข้าใจ ย่อมนำไปสู่ความสำเร็จของงานนั้น คือดับกิเลส ไม่เหลืออีกเลย

    อ.อรรณพ ฟังท่านอาจารย์กล่าวแล้ว ก็เห็นความสอดคล้องที่ พระองค์ท่านแสดงโสภณธรรม เริ่มตั้งแต่ศรัทธา และเจตสิกสุดท้าย ก็คือปัญญา และ ปัญญาที่ท่านแสดงว่าเป็นอินทรีย์ ท่านก็ยังแสดงความเป็นใหญ่ของปัญญา ตั้งแต่เริ่มรู้ตรงลักษณะสภาพธรรมที่เป็นอินทรีย์ และเจริญไป จนเป็นปัญญาระดับอรหัตตมรรค อรหัตตผล ก็แสดงถึงความที่ศรัทธานำไปสู่ความสำเร็จอย่างนั้นจริงๆ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ศรัทธาที่จะนำไปสู่ความสำเร็จ คือ การรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ก็คือ ฟังพระธรรมที่ทรงแสดงนั่นเอง

    ท่านอาจารย์ ต้องเข้าใจด้วย คือ ปัญญา

    อ.กุลวิไล แล้วก็ต้องเกิดพร้อมกับปัญญาด้วย ไม่ใช่ศรัทธาแค่ขั้นทาน และขั้นศีลทั่วๆ ไป ที่ไม่มีปัญญา ที่จะรู้ว่าเป็นธรรมทั้งหมด ไม่ใช่เรา

    ผู้ฟัง ความสำคัญของศรัทธา จะต่างกับโภคทรัพย์ และชีวิตอย่างไร ท่านถึงไม่ประกันในสิ่งนี้ ท่านโมคคัลลานะ ท่านไม่ประกันสิ่งนี้ กับอุบาสกที่เป็นอุปัฏฐากของท่าน

    ท่านอาจารย์ ซึ่งความจริง อุบาสกท่านนั้น เป็นผู้ไม่ประมาท เพราะท่านรู้ว่าศรัทธาก็เกิดขึ้นแล้วก็ดับ เพราะฉะนั้น ภายในเจ็ดวัน ศรัทธาไม่เกิดก็ได้ หมดไปก็ได้ ใครจะประกันใจใคร ได้ไหม

    ผู้ฟัง ก็ไม่ได้ แต่สำหรับชีวิต ท่านยังประกันได้ ว่ายังมีชีวิตอยู่

    ท่านอาจารย์ ท่านรู้ ท่านจึงประกันได้ แต่ว่าสำหรับศรัทธา ไม่รู้

    ผู้ฟัง ท่านกล่าวไว้ว่าศรัทธานี้ แม้แต่เพียงจะขยับไปเพียงก้าวเดียวนี้ ศรัทธาก็อาจจะไม่มีแล้ว นั่นแสดงให้เห็นถึงความไม่มั่นคงของศรัทธา

    ท่านอาจารย์ บางทียังไม่ทันก้าวเลย คิดว่าจะให้แล้วก็ไม่ให้แล้วก็ได้

    ผู้ฟัง แสดงว่าศรัทธานี้ ยังไม่มั่นคงสำหรับบุคคลที่

    ท่านอาจารย์ ก็ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใคร เพราะว่า สภาพธรรมทุกอย่าง เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย แล้วใครจะรู้ว่า ปัจจัยที่จะให้เกิดขณะต่อไปเป็นอะไร จะเป็นกุศล หรือเป็นอกุศลก็ไม่ทราบ เหมือนเดี๋ยวนี้เลยใช่ไหม ใครรู้กุศล และอกุศลซึ่งเกิดสลับกัน

    อ.อรรณพ ฟังที่คุณจักรกฤษสนทนากับท่านอาจารย์ ก็เห็นความไม่มั่นคง แม้จะคิดเจริญกุศลอะไร บางทีเจริญกุศลไปแล้ว ก็มีอะไรขัดใจ กระทบกระทั่งกัน เลิกเลยไม่เอาแล้ว ใครอยากจะทำก็มาทำต่อไป ใช่ไหม แล้วศรัทธาจะไปมั่นคงได้อย่างไร


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 185
    22 ธ.ค. 2566