พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 815


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๘๑๕

    ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๙ ธันวาคม ๒๕๕๕


    อ.กุลวิไล มีคำถามข้อที่ ๓ ดิฉันไม่แน่ใจว่าชาติหน้ามีจริงหรือไม่ ช่วยอธิบายให้เข้าใจด้วย แล้วชาตินี้ ดิฉันควรจะทำอย่างไร เพื่อให้ชาติหน้า ไม่ต้องมาพบกับเหตุการณ์ที่ยากลำบากเช่นนี้อีก

    อ.อรรณพ ท่านอาจารย์กล่าวไว้ว่า ขณะนี้กำลังวาดภาพของชาติหน้า ชาตินี้ ชาติหน้า ชาติที่แล้ว คือ อะไร ก็คือ ความเกิดสืบต่อของสภาพธรรม ก็คือ จิต เจตสิก รูปจะพูดถึงจิตอย่างเดียวก็ได้ ก็จิตที่เกิดขึ้นทำหน้าที่มาจนตายชาติที่แล้ว แล้วก็เกิด เห็น ได้ยิน คิดนึก หลับๆ ตื่นๆ ไปจนกระทั่งจิตสุดท้ายของชาติปัจจุบัน แล้วก็ปฏิสนธิจิตของชาติต่อไป นี้ก็เป็นเหตุผล ที่มีเหตุ มีผลจริงๆ ไม่ใช่บอกให้เชื่อเสีย ชาติที่แล้วมีจริง ชาติหน้ามีจริง ถ้าไม่เชื่อบาปอย่างนี้ ก็ไม่ใช่เหตุผลของพระธรรมคำสอนใช่ไหม แต่แสดงให้เห็นถึงสภาพที่มีจริง คือ สภาพธรรม อย่างเช่น จิตที่เกิดสืบต่อแล้วก็ดับไป เพราะฉะนั้น ชาติหน้าไม่อยากเจอปัญหาอย่างนี้ เพื่อนทรยศ เดือดร้อน เพราะฉะนั้น วาดภาพของชาติหน้า ด้วยการสะสมอบรมปัญญาในชาตินี้

    ท่านอาจารย์ มีเพื่อนทรยศ กับเป็นเพื่อนทรยศเสียเอง อะไรจะร้ายกว่ากัน แต่ลืมใช่ไหม เดือดร้อนแต่เฉพาะมีเพื่อนทรยศ แต่ลืมว่า อะไรทำให้เพื่อนทรยศ ถ้าไม่มีเหตุก็จะไม่เป็นคนทรยศ เพราะฉะนั้น คนที่มีเพื่อนทรยศ ก็ต้องรู้ว่า อะไรทำให้บุคคลนั้นเป็นคนทรยศ เราจึงมีเพื่อนทรยศ ใช่ไหม ก็มีหลายอย่างที่จะต้องเกี่ยวกัน แต่ว่าส่วนใหญ่จะคิดเพียงว่าไม่อยากมีเพื่อนทรยศ เพราะทำให้เราเดือดร้อน แต่ลืมคิดว่าแล้ววันหนึ่ง เราจะเป็นเพื่อนทรยศหรือเปล่า ตราบใดที่ยังมีกิเลส เหมือนคนที่เป็นเพื่อนทรยศ เขาก็คงไม่อยากทรยศ แต่ว่ากิเลสทำให้เป็นเพื่อนทรยศ และคนที่มีเพื่อนทรยศ ถ้าไม่มีกรรมที่จะทำให้มีเพื่อนทรยศ แม้ตัวเขาไม่ใช่คนทรยศ แต่กรรมก็ทำให้มีเพื่อนทรยศ เพราะฉะนั้น เกิดมาชาติไหนก็มีเพื่อน ใช่ไหม แล้วก็มีเพื่อนทรยศหรือไม่มีเพื่อนทรยศ ยังห่วงว่าจะมีเพื่อนทรยศ แต่ลืมตัวเองว่า จะเป็นคนทรยศหรือเปล่า หรือว่าจะเป็นเพื่อนทรยศของคนอื่นหรือเปล่า

    เพราะฉะนั้น จริงๆ แล้ว สิ่งที่ไม่ดีทั้งหมดก็มาจากความไม่รู้ ไม่มีใครอยากเป็นคนทรยศ แต่ที่เป็นเพราะไม่รู้ ว่าความไม่ดีจะทำให้มีพฤติกรรม การกระทำทั้งทางกาย วาจา ใจ ได้มากมายขนาดไหน เพราะไม่เห็นโทษของความไม่รู้ ด้วยเหตุนี้ อกุศลกรรมทั้งหมด ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดอกุศลวิบาก ต้องมีผลด้วย อกุศลนั้นๆ ก็มาจากความไม่รู้ทั้งหมดเลย ถ้าเป็นความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง แม้ขณะที่เข้าใจถูกก็ไม่ใช่อกุศล ก็เป็นเรื่องที่ต้องเห็นโทษจริงๆ ว่าอกุศลทั้งหมด ก็ไม่มีใครอยากจะเป็น แต่ว่าก็เป็นเพราะยังมีอวิชชา เพราะฉะนั้น ถ้าเมื่อไม่อยากจะเป็น ก็ต้องมีวิชชา มีความรู้ที่ค่อยๆ ละความไม่รู้ และก็ไม่ต้องคอยถึงภาพชาติหน้า ยังไม่เกิด ภาพชาตินี้ก็เห็นกันอยู่แล้วว่าเป็นยังไง

    อ.วิชัย การที่เป็นมิตรที่ดี คือ ขณะนั้นก็ใจที่เป็นมิตรได้ แต่ว่าเพื่อนที่ดีก็สำคัญ เพราะเหตุว่า ทรงแสดงถึงเรื่องของกัลยาณมิตร เป็นทั้งหมดของพรหมจรรย์

    ท่านอาจารย์ โดยมากทุกคนหวังอะไรจากคนอื่นเสมอ ใช่ไหม แต่ตัวเองเป็นยังไงไม่ได้คิด เพราะฉะนั้น มีเพื่อนดี หรือเป็นเพื่อนดี อะไรสำคัญกว่า เพราะฉะนั้น อยากจะมีแต่เพื่อนดี ลืมว่าตัวเองเป็นเพื่อนดีหรือเปล่า ที่ใช้คำว่าเพื่อนทรยศ เป็นคำสมมติหรือเปล่า เพราะเหตุว่า เงินทองทรัพย์สินสูญไป หมดไป โดยไม่ต้องมีเพื่อนทรยศก็ได้ ใช่ไหม ทำไมจะต้องไปคิดว่าหมดไปเพราะเพื่อนทรยศ น้ำท่วม ไฟไหม้ อะไรๆ ต่างๆ ทำให้ทรัพย์สมบัติสูญหายได้ แต่ว่าไปคิดถึงเพื่อนทรยศ ลืมคิดถึงเหตุ ที่จะทำให้ทรัพย์สมบัติสูญหายไป เพราะฉะนั้น ธรรมก็เป็นสิ่งที่น่าคิด ทำไมคนอื่นไม่มีทรัพย์ที่สูญหายอย่างนี้ แต่ก็ต้องมีเหตุแน่นอนที่ทำให้เป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้น อย่างคำถามที่ว่า อะไรจะดีกว่ากัน มีเพื่อนทรยศ กับเป็นเพื่อนทรยศ

    ผู้ฟัง มีเพื่อนทรยศจะดีกว่า เพราะถ้าเราเป็นเพื่อนทรยศ ตัวเองก็รับอกุศลวิบากไม่สิ้นสุด

    ท่านอาจารย์ นี่ก็เข้าใจแล้ว ว่าสิ่งที่ไม่ดีทั้งหมดต้องเกิดมาจากความไม่รู้ เพราะฉะนั้น จะไปห้ามไม่ให้เกิดไม่ได้ ตราบใดที่ยังไม่รู้ความจริง และยังเข้าใจว่าเป็นเพื่อนทรยศ แต่ความจริงไม่ใช่ ที่ทรัพย์สมบัติสูญหายเพราะเหตุที่ได้กระทำไว้ แต่เราไปมัวคิดถึงเพื่อนทรยศ เพราะฉะนั้น ที่สำคัญที่สุด คือ ไม่เป็นเพื่อนทรยศ ไม่ใช่เพียงอยากจะไม่มีเพื่อนทรยศ

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้น แม้ชาตินี้ เพราะเพื่อนคนนี้เขาทรยศต่อเรา

    ท่านอาจารย์ ก็ไม่ต้องคิดถึงเขาอีกแล้ว เขาจะเป็นยังไง ก็เพราะเหตุว่า ทรัพย์สมบัติสูญหายไปเพราะอะไร ตามความเป็นจริง

    ผู้ฟัง แม้ไม่มีเพื่อนทรยศ ก็อาจจะถูกธรรมชาติทำให้เสียทรัพย์

    ท่านอาจารย์ เป็นอนุสสติ ทำให้รู้ว่า เราไม่เป็นเพื่อนทรยศ แม้ว่าจะมีเพื่อนทรยศ

    อ.คำปั่น เป็นที่น่าพิจารณาว่า สิ่งที่ไม่ดีประการต่างๆ มากมาย แม้ชื่อจะไม่ไพเราะเลย เพราะว่ากล่าวถึงสิ่งที่มีจริง ตั้งแต่เรื่องของคนทรยศ เรื่องของคนปอกลอก เรื่องของคนไม่ดีประการต่างๆ มากมาย ก็แสดงถึงความเกิดขึ้นเป็นไปของอกุศลธรรมที่มีกำลัง ถึงขั้นที่จะประทุษร้ายเบียดเบียน ทำร้ายผู้อื่น ซึ่งจากที่ได้ฟังท่านอาจารย์ และอาจารย์วิทยากรมา สรุปแล้วคือ สำคัญอยู่ที่สภาพจิตของตนเองเป็นสำคัญ ซึ่งกระผมก็เคยได้ฟังท่านอาจารย์กล่าวเมื่อหลายปีก่อน ซึ่งก็เป็นเครื่องเตือนใจมาโดยตลอด ว่าถึงแม้คนอื่นเขาร้าย แต่ใจเราไม่ร้าย ได้หรือไม่ นี่ก็เป็นข้อความที่เตือนย้ำอีกครั้งหนึ่ง จากที่ท่านอาจารย์ได้กล่าวเมื่อสักครู่ ก็เป็นข้อความโดยอรรถเดียวกัน ว่า ถึงแม้ว่าจะมีเพื่อนทรยศ จะมีเพื่อนที่ไม่ดี แต่เราจะไม่เป็นเพื่อนที่ไม่ดีกับเขา ก็คือพร้อมที่จะเป็นมิตร พร้อมที่จะช่วยเหลือบุคคลนั้นได้ทุกเมื่อ เพราะว่า กัลยาณมิตร คือ มิตรที่ดี อดทนคอยเวลา คอยโอกาสที่จะเกื้อกูลอนุเคราะห์ ให้เขาเป็นคนดี นี้ก็ได้ฟังจากท่านอาจารย์มาทั้งหมดเลย นี้ก็เป็นข้อความธรรม เป็นสิ่งที่กล่าวถึงสภาพธรรมที่มีจริง ที่มีการสมมติว่าเป็นคนไม่ดี เป็นคนชั่ว เป็นคนทรยศ สมมติบัญญัติมาจากความเกิดขึ้นเป็นไปของสภาพธรรมที่ไม่ดี ที่เป็นอกุศลธรรม ซึ่งถ้าหาก ว่าจะเจาะให้เข้าถึงในภาษาบาลีก็อาจจะใช้ได้ว่าเป็น ปาปมิตร เป็นมิตรที่ไม่ดี เป็นมิตรชั่ว เป็นมิตรทรยศ

    อ.ธีรพันธ์ ถ้ารู้ว่าเป็นเพียงธรรมที่เกิดขึ้นทุกขณะเท่านั้นเอง ขณะที่หลับสนิทก็จะไม่มีใครแล้ว ผู้ทรยศก็จะไม่มี ไม่มีใครทั้งนั้นเลย ตื่นขึ้นมาก็ทำกิจหน้าที่ของจิตเป็นไป เป็นกุศลบ้าง อกุศลบ้าง เพราะฉะนั้น ศึกษาพระธรรมให้รู้ความจริง จะไม่มีเพื่อนทรยศจริงๆ เลย เพราะว่าเพื่อนทรยศ ก็เป็นเพียงจิต เจตสิกของผู้นั้นเอง ที่เราคิดว่าทรยศ ขณะที่มีโลภะเกิดขึ้นก็ทรยศแล้ว ก็ไม่รู้ โทสะเกิดขึ้นก็ไม่รู้ว่าทรยศแล้ว ทำจิตให้ผู้นั้นเอง เป็นผู้ทรยศเสียเอง

    ท่านอาจารย์ ใครไม่มีเพื่อนทรยศบ้าง หาตัวแล้ว ใช่ไหม บางครั้งก็โผล่มาให้เห็นชัดๆ ว่าคนนี้เป็นเพื่อนทรยศ แต่ถ้ามีความเข้าใจจริงๆ คำถามให้คิดก็คือว่า ใครไม่มีเพื่อนทรยศบ้าง ใครไม่มีบ้าง หรือว่าทุกคน มีเพื่อนทรยศ แต่ไม่รู้จักเพื่อนทรยศเลย ตอนนี้พอพูดแค่นี้ พอรู้จักแล้ว หาตัวเจอแล้ว ว่าใครเป็นเพื่อนทรยศจริงๆ ใคร โลภะ เพื่อนสนิท อยู่ใกล้ชิดตลอดเวลาทั้งวัน เมื่อเช้านี้ไม่ได้จากไปเลย อยู่กับจิต ถูกต้องไหม หรือว่าเขาห่างไป ไม่อยู่อีกต่อไปแล้ว ความจริงก็จะเห็นได้ว่า มีเพื่อนทรยศจริงๆ ที่ไม่รู้จักว่า นี่แหละเพื่อนทรยศตัวจริง ตัวจริงแน่นอน เพราะเหตุว่า ใกล้ชิดที่สุด เพียงเกิดมา ยังไม่ทันจะเห็น ได้ยิน หรือว่าอะไรเลยทั้งสิ้น เพียงแค่รู้สึกตัว ว่าเกิดมีภพ มีชาติ เพื่อนสนิทที่สุดไม่ห่างไปเลย มาแล้วอย่างรวดเร็ว นี่แหละ คือ เพื่อนทรยศ แต่ว่าตราบใดที่ยังไม่เห็นความเป็นเพื่อนทรยศ เพื่อนนั้นก็เสมือนเพื่อนสนิทที่เป็นนายอยู่ตลอดเวลา แล้วแต่ว่าจะให้ทำอะไร ด้วยเหตุนี้ การฟังพระธรรมก็จะทำให้รู้ถึงลักษณะของความจริงแท้ ซึ่งเป็นธรรมทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นอะไร ก็เป็นธรรมแต่ละชนิด ซึ่งมีเหตุปัจจัยเกิดขึ้น แม้ในขณะนี้ เห็นเกิดขึ้น เพราะมีปัจจัยทำให้อุปปัตติ อุปปัตติ คือ เกิดขึ้นเห็นเท่านั้น ดับแล้ว แค่นี้เอง แล้วแต่ว่าเพื่อนสนิทมาแล้ว เพื่อนทรยศ แต่ยังไม่ปรากฏว่าทรยศ จนกว่าทุกข์เกิดขึ้นเมื่อไหร่ เพราะใครทำ คนอื่นทำไม่ได้เลยนอกจากอกุศลธรรม และเพื่อนสนิทซึ่งไม่เคยจากไปเลย แล้วไม่รู้จักด้วย คิดแต่ว่าคนโน้นเป็นเพื่อนทรยศ แต่ว่าขณะใดที่เพื่อนคนนี้กำลังทำหน้าที่เกิดขึ้น ไม่เห็นเลย ให้ทุกอย่าง เอาใจทุกอย่าง แล้วแต่ว่าจะต้องการอะไร เพื่อนคนนี้ก็สามารถที่จะทำให้ได้จนถึงอรูปพรหมได้หมด

    เพราะฉะนั้น ธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียด การฟังธรรมเพื่อเข้าใจขึ้นๆ ให้รู้ว่าไม่มีเราแม้แต่คำว่าเพื่อนทรยศ หรือว่าเพื่อนสนิท หรืออะไร ก็เป็นแต่เพียงสภาพธรรมแต่ละอย่าง ซึ่งไม่มีใครสามารถที่จะเปลี่ยนแปลงความจริงของสภาพนั้นๆ ได้ แต่สามารถที่จะฟังแล้ว เกิดความเข้าใจเพิ่มขึ้น รู้ความจริงเพิ่มขึ้น และปัญญานั่นเองก็สามารถที่จะทำให้ค่อยๆ ห่างจากเพื่อนทรยศ หรือยังรักอยู่ ยังต้องการอยู่ ยังไม่ต้องการให้เขาห่างไป นี่ก็แล้วแต่กำลังของปัญญา

    อ.กุลวิไล ดิฉันก็จะกราบเรียนถามท่านอาจารย์อีกครั้ง คำว่า ธรรมปรากฏด้วยดี

    ท่านอาจารย์ การที่จะเข้าใจสิ่งที่มีจริงๆ ยากกว่าอย่างอื่น เพราะเหตุว่า ถ้าไม่มีการได้ยิน ได้ฟังว่า ขณะนี้ อะไรเป็นสิ่งที่มีจริง เพียงเท่านี้ก็ต้องคิด ต้องไตร่ตรอง เพราะว่า เราไม่คุ้นเคยกับการที่จะคิดถึงสิ่งที่มีจริงๆ ที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้น เวลาที่มีคนถาม ว่าขณะนี้อะไรมีจริงๆ ถ้าไม่เคยฟังธรรมเลย ก็จะตอบไม่ได้ แต่ถ้าฟัง และไตร่ตรอง ก็จะรู้ว่าสิ่งที่มีจริงตามปกตินี่แหละ เช่น เห็นมีจริงๆ ได้ยินมีจริงๆ คิดมีจริงๆ ทุกขณะกำลังมีสิ่งที่มีจริงในขณะนี้ ที่กำลังปรากฏ แต่ว่าสิ่งต่างๆ เหล่านี้เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เร็วจนกระทั่ง ถ้าไม่ได้สะสมปัญญามา ก็ไม่สามารถที่จะเข้าใจความจริงของสิ่งที่เพียงปรากฏ สั้นมาก ชั่วคราวแล้วก็ดับไป

    เพราะฉะนั้น ได้ฟังวันนี้ ชาตินี้ คำนี้ก็จะต้องค่อยๆ พิจารณาจนกระทั่งมีความมั่นคง เวลาที่ได้ยินอีก พอใครถามว่าอะไรมีจริง ก็คือ เดี๋ยวนี้ที่กำลังเห็นจริง เดี๋ยวนี้ที่กำลังได้ยินจริง เพราะฉะนั้น สิ่งที่มีจริงก็เป็นธรรมดา แต่ว่าสิ่งนี้เกิดแล้วดับ ใครรู้บ้าง สักหนึ่ง เห็นมี ได้ยินมี คิดมี สักหนึ่งในสาม มีใครรู้ความจริงของสิ่งที่กำลังเป็นจริงอย่างนี้บ้าง เช่น ในขณะที่เห็นขณะนี้ เพราะฉะนั้น จะชื่อว่าเห็นขณะนี้ ปรากฏด้วยดี ได้ไหม เพราะว่าปรากฏแล้วไม่รู้ แล้วก็ดับไปแล้ว ปรากฏเสียงแล้วไม่รู้ แล้วก็ดับไป เพราะฉะนั้น เสียงที่ปรากฏ ปรากฏด้วยดีหรือเปล่า หรือว่าได้ยินที่กำลังได้ยินเสียง ขณะนี้เอง เดี๋ยวนี้เลย ที่กำลังได้ยิน ได้ยินปรากฏด้วยดีหรือเปล่า เพียงแต่รู้ว่ามีได้ยิน แค่นั้นเอง แต่ลักษณะของธาตุที่รู้เสียง ที่กำลังปรากฏ คือ ได้ยินขณะนั้นไม่ได้ปรากฏ

    ด้วยเหตุนี้ แต่ละคำในพระไตรปิฎก ก็เป็นสิ่งที่ไตร่ตรอง และจะได้เข้าใจ และรู้ความจริงว่า แท้ที่จริงแม้ว่าสภาพธรรมที่มีจริง แต่ก็ไม่ได้ปรากฏด้วยดีตามความเป็นจริง คือ แต่ละหนึ่งเกิดขึ้นปรากฏแล้วก็ดับไป แข็งขณะนี้ปรากฏหรือเปล่า ธรรมดาๆ ชีวิตธรรมดาตามความเป็นจริง ไม่ต้องไปทำอะไรขึ้นมาเลย ขณะนี้มีแข็งปรากฏไหม มี ปรากฏด้วยดีหรือเปล่า เมื่อสักครู่ฟังแล้ว เข้าใจความต่างกันของการเพียงปรากฏกับปรากฏด้วยดี

    เพราะฉะนั้น ถ้าได้ฟังแล้วเข้าใจ ก็เป็นผู้ที่มีปัญญาที่จะรู้ว่า ขณะนี้เดี๋ยวนี้เอง รู้แข็งมี แข็งจึงได้ปรากฏ แต่ถ้าไม่มีความเห็นถูก ความเข้าใจถูก ในลักษณะนั้น แข็งนั้นจะปรากฏด้วยดีไม่ได้ เพราะฉะนั้น แม้แต่คำสั้นๆ แต่ความหมาย ก็คือว่า ปรากฏด้วยดีเพราะเข้าใจถูก ในลักษณะของแข็ง ในขณะที่แข็งปรากฏ เพราะว่าแข็งปรากฏแล้วก็ดับไป การที่จะรู้ว่าแข็งเกิดแล้วดับ รู้ได้ไหม ง่ายไหม หรือว่ายาก เพราะฉะนั้น การฟังก็ต้องเป็นความเข้าใจเท่านั้นที่เพิ่มขึ้น เพราะความเข้าใจ ก็คือ ปัญญาความเห็นที่ถูกต้อง ไม่ต้องไปคิดว่า แล้วเมื่อไหร่จะรู้ความจริง เป็นพระอริยบุคคลรู้แจ้งอริยสัจจธรรม แม้เพียงจะเข้าใจสิ่งที่ปรากฏ ก็ยังต้องค่อยๆ รู้ตามความเป็นจริงว่าเข้าใจระดับไหน

    อ.วิชัย ท่านอาจารย์ยกตัวอย่างเรื่องว่า ขณะนี้แข็งปรากฎไหม ก็ปรากฎ แต่ก็รู้ว่าเป็นแข็ง แต่ยังไม่รู้ว่าเป็นธรรมอย่างหนึ่ง การกล่าวธรรมส่วนละเอียด คือ ขณะนี้เพียงแค่กำลังปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ที่เป็นอภิธรรม ที่ทรงแสดงว่าขณะนี้เป็นธรรมที่ละเอียด

    ท่านอาจารย์ เพราะไม่ใช่เรา และไม่ใช่สิ่งหนึ่งสิ่งใดเลยทั้งสิ้น เป็นแต่เพียงสิ่งที่มีจริง ที่ปรากฏความจริงว่า แข็งอย่างนี้มี และแข็งจะเป็นอะไร ในเมื่อถ้าขณะนั้นลักษณะของแข็งปรากฏ แล้วก็ลักษณะของธรรมแต่ละหนึ่งก็ปรากฏเป็นแต่ละหนึ่ง เราไม่มี ค่อยๆ เห็นความจริงว่าเป็นธรรม เป็นธรรม คือ เป็นสิ่งที่มีจริงแต่ละหนึ่งๆ จนกว่าส่วนที่เข้าใจว่าเป็นเรา ที่ยังไม่รู้ ก็รู้ในขณะนั้นด้วย จนกระทั่งไม่เหลือเลย ก็เป็นลักษณะของธรรมแต่ละอย่าง ตรงกับที่ได้ฟังมาว่า ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา

    อ.วิชัย เคยฟังจากการสนทนาในครั้งก่อนๆ ท่านอาจารย์ยกตัวอย่าง เรื่องของว่า เด็กก็รู้ว่าแข็ง เด็กก็เห็น แต่เด็ก ก็คือ ไม่รู้ว่าเป็นธรรม แต่เมื่อบุคคลที่เริ่มฟัง ก็เพียงรู้ ก็เข้าใจว่าเป็นธรรม

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น แข็งปรากฏเหมือนเดิม ใช่ไหม

    อ.วิชัย ก็ปรากฏเหมือนเดิม

    ท่านอาจารย์ เปลี่ยนแข็งไม่ได้เลย แต่เข้าใจถูก ว่าขณะนั้นก็เป็นเพียงแข็ง เป็นเพียงแข็ง ไม่ใช่เรา และไม่ใช่สิ่งหนึ่งสิ่งใดด้วย เพราะฉะนั้น ความรู้ว่าเป็นเพียงแข็งเพียงหนึ่งใช่ไหม เวลานี้มีเห็นด้วย ยังไม่เป็นเพียงเห็น เพราะฉะนั้น กว่าจะทั่วจนหมดที่ว่าเป็นเพียงแต่ละหนึ่งๆ ๆ ๆ ก็เป็นหนทางที่จะทำให้ไม่ยึดถือหนึ่งนั้นว่าเป็นเรา หรือว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ต้องเป็นหนทางเดียว คือ มีลักษณะของธรรมจริงๆ ปรากฏให้รู้ลักษณะนั้นจริงๆ ไม่ใช่เฉพาะแข็ง แต่ละหนึ่งๆ ๆ เพราะฉะนั้น ก็หาความเป็นเราไม่ได้แต่นี่เพียงแข็ง แล้วเสียง แล้วได้ยิน แล้วเห็น คิดนึก ไม่ได้รู้เลยว่าเป็นเพียงลักษณะเฉพาะแต่ละหนึ่ง ซึ่งเกิดขึ้นปรากฏในขณะนั้น แล้วก็ดับไป เพราะฉะนั้น ธรรมที่จะทำให้เกิดความเห็นถูกเป็นปรกติธรรมดา ไม่ต้องทำอะไรเลย ขึ้นอยู่กับฟังแล้วเข้าใจในสิ่งที่กำลังปรากฏเพิ่มขึ้น เป็นปรกติ ทีละเล็กทีละน้อย

    อ.วิชัย ท่านอาจารย์เหมือนกับว่า ความรู้ที่ละเอียดขึ้น คือ จากการฟังบ่อยๆ

    ท่านอาจารย์ การฟังปริยัติ เป็นสัจจญาณ แต่การที่จะรู้ว่า เริ่มรู้ลักษณะที่ได้ยิน ได้ฟังแต่ละหนึ่ง ต่างกับเพียงฟังแล้วเข้าใจใช่ไหม เพราะว่ามีการปรากฏของลักษณะธรรมทีละหนึ่งด้วยดี ด้วยดีขณะนั้นไม่ต้องบอกว่าเพราะสติเกิด กำลังรู้ตรงนั้น และกำลังเข้าใจ เพราะว่าได้ฟังมาแล้วว่า สิ่งนั้นก็เป็นเพียงสิ่งนั้นเท่านั้น กว่าจะสิ่งนั้นก็เป็นแต่เพียงสิ่งนั้นเท่านั้น ในสังสารวัฏเคยได้ยิน และเคยเข้าใจอย่างนี้มาหรือเปล่า มามากพอหรือเปล่า หรือเพียงเล็กน้อยแล้วก็ลืม เพราะฉะนั้น การที่เราลืมสิ่งที่มีประโยชน์ ที่ได้ยิน ได้ฟัง ความจริงของสิ่งที่ปรากฏ กับการที่เราไปจำเรื่องราวต่างๆ มากมาย ก็ห่างไกลกันมาก เพราะฉะนั้น ถ้าจำมั่นคงจริงๆ ว่าขณะนี้สิ่งที่ปรากฏก็เป็นเพียงสิ่งนั้นเท่านั้น จะเป็นอื่นไปไม่ได้เลย ก็จะค่อยๆ คลาย การที่ยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน แต่ไม่ใช่หมายความว่า คลายเพราะคิด ว่าเป็นแต่เพียงสิ่งหนึ่งเท่านั้น แต่คลายเพราะลักษณะนั้นปรากฎด้วยดี เพราะขณะนั้น มีความเข้าใจถูก เพราะมีการรู้ตรงลักษณะนั้น ซึ่งถ้าจะบัญญัติคำ ก็คือ สติปัฏฐาน สติสัมปชัญญะ แต่ว่าขณะนั้นไม่ได้รู้ลักษณะของสติ แต่สติเกิด กำลังเข้าใจ ตรงลักษณะที่กำลังปรากฏ เพราะได้ฟังมาแล้ว เพราะฉะนั้น ปัญญาขณะนั้นก็เกิดพร้อมกับขณะที่กำลังรู้ตรงลักษณะนั้น เร็วมาก สั้นมาก แล้วเมื่อไหร่จะรู้ทั่ว เห็นไหม ก็เป็นเพียงเมื่อไหร่รู้ทั่ว เมื่อนั้นก็คลายความเป็นตัวตนไปทีละเล็กทีละน้อย

    อ.วิชัย ท่านอาจารย์ เมื่อสักครู่ท่านอาจารย์กล่าวถึง การรู้ทั่ว หมายความว่า ความเข้าใจของธรรมไม่ใช่เพียงแข็งอย่างเดียว แต่ก็ต้อง คือ มีสิ่งที่ปรากฏทั้งหมด

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่รู้อย่างอื่น ก็คือ ไม่รู้ แล้วก็ติดข้อง แล้วก็เห็นผิด และก็ยึดถือว่าเป็นเรา

    อ.วิชัย เพราะฉะนั้น ต้องรู้ ทีละอย่างให้ละเอียดขึ้น

    ท่านอาจารย์ จนกว่าจะทั่ว ไม่เหลือเลยไม่สงสัยเลย ในความเป็นธรรม เพราะความเป็นธรรมจริงๆ เท่านั้น ที่จะทำให้คลายการยึดถือว่าเป็นเราได้ แต่ตราบใดที่เพียงฟัง แล้วก็ไม่มีการที่ธรรมปรากฎด้วยดี เพราะสติเกิด ขณะนั้นจึงปรากฏด้วยดีกับสติ และปัญญาก็เริ่มเห็นลักษณะที่เป็นเฉพาะสิ่งนั้นเท่านั้น ถ้าไม่มีอย่างนี้จะไม่มีการที่จะเข้าใจความจริงของสภาพธรรมเลย ก็เป็นแต่เพียงปริยัติ และสัจจญาณ แต่ยังไม่มีกำลังพอที่จะถึงกิจจญาณ

    อ.วิชัย ท่านอาจารย์ เมื่อกล่าวถึงปัญญาที่มีกำลัง ก็คือ รู้ได้ในอริยสัจ ๔ เพราะฉะนั้น ความรู้ที่ท่านอาจารย์เคยบรรยายเกี่ยวกับเรื่องของอริยสัจจะ คือ ต้องมีความรู้รอบ คือ ต้องมีสัจจญาณ กิจจญาณ และกตญาณ ข้อความในพระไตรปิฎเคยอ่านผ่านว่าในสัจจญาณ ท่านหมายถึงว่า เป็นการรู้ว่า นี้ทุกขอริยสัจจ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา นี้คือ เป็นสัจจญาณ การที่จะรู้ว่า นี้ คือ ในส่วนของทุกข หรือสมุทัย ก็ยังพอปรากฎให้เข้าใจได้บ้าง แต่ในส่วนของทุกขนิโรธ หรือว่าทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา ซึ่งก็ยังไม่มีปัจจัยที่จะเกิดปรากฏเลย

    ท่านอาจารย์ ลองพูดถึง นี้ แรกสิ

    อ.วิชัย นี้ ทุกขอริยสัจจะ

    ท่านอาจารย์ เดี๋ยวนี้หรือเปล่า พูดแล้ว แต่ว่า เดี๋ยวนี้หรือเปล่า


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 185
    4 ก.พ. 2567