พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 811


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๘๑๑

    ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๒๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๕


    ท่านอาจารย์ ทุกสิ่งทุกอย่างขณะนี้ปรากฎเพียงชั่วคราว สั้นจนไม่รู้ว่าจะเปรียบกับอะไร เช่น เห็นกับได้ยิน เห็นต้องชั่วคราวแน่ ได้ยินก็ต้องชั่วคราวแน่ เพราะว่า ทั้งสองอย่างจะเกิดพร้อมกันในขณะเดียวกันไม่ได้ เพราะฉะนั้น ความไม่รู้จะมากสักแค่ไหน เพราะฉะนั้น การฟังเพื่อเข้าใจให้ถูกต้อง ว่าไม่มีเราเป็นธรรม ไม่ใช่ฟังแล้วเราจะรู้ได้ยังไง เราจะต้องทำอะไรถึงจะรู้ได้ นั่นก็เป็นปัญหา ซึ่งเป็นความไม่รู้ เพราะฉะนั้น จะแก้ได้ด้วยความรู้ ความเห็นถูกเท่านั้น

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์ เป็นอย่างไรที่ว่า ฟังว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา ไม่ใช่มีเราไปฟังธรรมกราบเรียนท่านอาจารย์ ให้ความละเอียดตรงนี้ เพื่อที่ว่า ผู้ศึกษาจะได้เข้าใจถูกในการเริ่มต้น

    ท่านอาจารย์ เห็น มีจริงๆ ไม่ต้องใช้คำว่าธรรมก็ได้ ถ้าเห็นไม่เกิด ก็ไม่มีเห็น เพราะฉะนั้น ก่อนอื่นฟังให้เข้าใจว่า ที่เคยเข้าใจว่าเป็นเรา แท้ที่จริง ก็คือ เป็นธรรมแต่ละหนึ่งมากมาย ซึ่งเกิดขึ้นแล้วก็ดับไปอย่างรวดเร็ว เพราะไม่รู้การเกิดดับอย่างรวดเร็ว ก็เลยยึดถือสิ่งที่มีชั่วคราวว่าเป็นเรา เช่น ขณะนี้เป็นคุณอรวรรณ แต่เห็นเป็นคุณอรวรรณหรือเปล่า ได้ยินเป็นคุณอรวรรณหรือเปล่า คิดเป็นคุณอรวรรณหรือเปล่า แข็งเป็นคุณอรวรรณหรือเปล่า เสียงเป็นคุณอรวรรณหรือเปล่า ถ้าเข้าใจความจริงว่า สิ่งที่มีจริง มีจริงๆ แต่ละหนึ่ง ซึ่งเปลี่ยนแปลงให้เป็นอย่างอื่นไม่ได้เลย ให้เห็นเป็นคนก็ไม่ได้ เพราะเห็นเกิดขึ้นเห็น และก็ดับไป ให้เห็นเป็นสุนัขก็ไม่ได้ เพราะเกิดเห็นแล้วก็ดับไป ให้เห็นเป็นแมวก็ไม่ได้ เพราะเห็นเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป

    เพราะฉะนั้น ไม่มีเรา แต่เข้าใจว่าเป็นเรา จึงมีความคิด ว่าเราฟังธรรม ซึ่งผิดใช่ไหม เพราะฉะนั้น ถ้าฟังจริงๆ เข้าใจจริงๆ ก็รู้ว่า สิ่งที่มีจริง มี ไม่ใช่ไม่มี แต่มีเมื่อไหร่ มีเมื่อเกิดขึ้น ถ้ายังไม่เกิดก็ยังไม่มี แล้วชั่วคราวคือทันทีที่เกิด ดับไปแล้วก็ไม่รู้ เพราะฉะนั้น การฟังธรรมเพื่อเข้าใจให้ถูกต้อง ว่าธรรม คือ สิ่งที่มีจริงๆ ไม่ใช่ใคร ไม่ใช่ของใคร ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใคร

    ผู้ฟัง แต่ก็ยังเข้าใจยากว่าไม่มีเรา มีแต่ธรรมแต่ละลักษณะ เพราะฉะนั้น ถ้าฟังว่ามีธรรมแต่ละลักษณะเข้าใจได้ ก็ไม่มีเราฟังธรรม เหมือนปัญญาจึงจะสามารถเจริญขึ้นได้

    ท่านอาจารย์ ใครกำลังคิด และเป็นห่วงใย เพราะฉะนั้น กว่าจะไม่ใช่เราจริงๆ ก็ต้องอาศัยการฟัง เข้าใจ และรู้ลักษณะของสภาพธรรม ที่กำลังปรากฏตรงตามที่ได้ฟัง แม้แต่คำที่ว่า ทุกอย่างเป็นธรรม พูดแล้ว แล้วเดี๋ยวนี้จริงหรือเปล่า ถ้าทุกอย่าง เห็นเดี๋ยวนี้เป็นธรรมหรือเปล่า ได้ยินเป็นธรรมหรือเปล่า แข็งเป็นธรรมหรือเปล่า เพราะฉะนั้น ข้อความที่พระผู้มีพระภาคตรัสจารึกไว้เป็นพระไตรปิฎก ก็เพื่อที่จะให้ผู้ที่มีโอกาสได้ยิน ได้ฟัง เห็นประโยชน์ที่จะเข้าใจ แล้วก็ค่อยๆ เข้าใจขึ้นจะสามารถที่จะดับกิเลสไม่มีความเป็นตัวตนเลยเป็นไปไม่ได้ เพราะเหตุว่า ความเข้าใจต้องตามลำดับตั้งแต่ขั้นฟัง แล้วก็ไตร่ตรองพิจารณา จนกระทั่งสามารถที่จะเข้าถึง เฉพาะสิ่งที่กำลังปรากฏทีละหนึ่ง แล้วจะรู้ได้ว่า ตรงตามที่ทรงแสดงทุกอย่าง แม้แต่ทุกอย่างเป็นธรรม พูดแล้ว แต่เดี๋ยวนี้ไม่ใช่ทุกอย่างเป็นธรรม ยังคงเป็นเรา จนกว่าสามารถที่จะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมทีละหนึ่ง เดี๋ยวนี้ที่มี จนไม่เหลือความเป็นเรา ไม่ว่าจะคิด ไม่ว่าจะโกรธ ไม่ว่าจะจำ ไม่ว่าจะชอบ ทุกสิ่งทุกอย่างเดี๋ยวนี้ ทั้งหมดเป็นธรรม

    เพราะฉะนั้น การที่จะกล่าวว่าทุกอย่างเป็นธรรม ก็มีหลายระดับขั้นของความเข้าใจ ขั้นฟังรู้เรื่อง แต่ก็เดี๋ยวนี้ แต่ละหนึ่งๆ ก็เกิดดับสืบต่อกันอย่างเร็วมาก จนไม่รู้ว่าขณะนี้เป็นธรรมแต่ละหนึ่ง เพราะฉะนั้น จากการฟังจะเห็นได้ว่า ถ้าไม่มีความเข้าใจอย่างนี้ตั้งแต่ต้น แล้วจะมีปัญญาที่สามารถที่จะรู้ทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์ ธรรมที่ดับทุกข์ หนทางที่จะดับทุกข์ได้ไหม ก็ไม่ได้เลย ก็เพียงแต่เรียกชื่อ ใช่ไหม อริยสัจ๔ แต่ก็ไม่ได้เข้าใจเลย ว่าความเข้าใจเดี๋ยวนี้ที่มี จะค่อยๆ สะสม จนกระทั่งเป็นความเข้าใจพร้อมกับมรรคองค์อื่นๆ

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์ ในการฟัง ก็ฟังเข้าใจได้ว่า เป็นธรรมแต่ละลักษณะ ไม่มีสัตว์ ตัวตน บุคคล และไตร่ตรองตามก็เป็นจริงเช่นนั้น ก็ตามฟังมาตลอด แต่ความเข้าใจที่ว่าจะเป็นสัญญาที่มั่นคง จนกระทั่งไม่ไปที่อื่น ต้องฟังให้เป็นอย่างนั้นจริงๆ บ่อยๆ เนืองๆ แค่ไหน

    ท่านอาจารย์ ขณะนี้มีแข็งปรากฏไหม

    ผู้ฟัง ก็เท้าแข็ง ไมโครโฟนก็แข็ง

    ท่านอาจารย์ เป็นเท้าไปแล้ว

    ผู้ฟัง ใช่ เป็นไมโครโฟนไปแล้ว

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ก็ยังคงเป็นความจำในความเป็นอัตตาอย่างมั่นคง ไม่ใช่ความจำว่าเป็นอนัตตาอย่างมั่นคง เพราะฉะนั้น กว่าความจำเป็นว่าอัตตาเป็นเท้า เป็นแขน เป็นมือจะค่อยๆ คลายลงเ พราะเหตุว่า มีความเข้าใจ และไม่ลืม ที่เราพูดธรรมกันทุกวันบ่อยๆ ทั้งๆ ที่ทุกคนก็เข้าใจแล้ว ได้ยินแล้วบ่อยๆ ก็เพื่อที่จะให้ไม่ลืม สภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แม้เพียงคำถามว่า เดี๋ยวนี้มีแข็งไหม เห็นไหม แม้เพียงคำถามธรรมดา เดี๋ยวนี้มีแข็งไหม ขึ้นอยู่กับปัญญาของผู้ที่มีหรือไม่มี ในแข็งที่กำลังปรากฏ ถ้าเพียงตอบว่ามีธรรมดา ใช่ไหม แต่ว่าขณะที่มีแข็ง และขณะนั้น ก็สามารถที่จะรู้ความจริงของแข็ง ความจริงของแข็ง แข็งเป็นแข็ง เป็นเท้าไม่ได้ เป็นอะไรไม่ได้เลย จนกว่าทุกอย่างจะมีลักษณะเฉพาะแต่ละอย่าง ไม่ใช่เพียงแข็ง เพราะว่านี่เพียงหนึ่งตัวอย่าง ที่กล่าวถึงสิ่งที่มีจริง

    เพราะฉะนั้น เวลาได้ยินคำที่แปลจากภาษาบาลีว่า สติเป็นสภาพที่ระลึกได้ ใช้คำนี้ระลึกได้ คนฟังที่ยังไม่ได้มีความเข้าใจ ก็ถามว่า จะระลึกยังไง ระลึกแบบไหน เพราะว่า เวลาที่คิดถึงสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ผ่านไปแล้ว ก็บอกว่าระลึกได้ แต่ถ้าเป็นผู้ที่มีความเข้าใจจริงๆ คำนี้คือ เมื่อแข็งปรากฏ รู้ตรงแข็ง เห็นไหม แข็งปรากฏเป็นของธรรมดา เมื่อแข็งกระทบกับกายปสาท เป็นปัจจัยให้จิต เจตสิกเกิดขึ้นรู้แข็ง เวลาที่มีคำถามว่าแข็งไหม ก็ตอบได้ว่า รู้แข็ง เพราะมีสภาพที่กำลังรู้แข็ง แต่ปัญญาไม่มี สติไม่มี แต่เวลาที่มีการฟังธรรมเข้าใจแล้ว ได้ยินคำนี้หรือแม้ไม่ได้ยิน เมื่อแข็งกำลังมีปรากฏ ไม่ต้องไปจำคำว่าสติ คือ สภาพที่ระลึกรู้ แต่กำลังรู้ตรงแข็ง อะไร ที่ไม่ลืมลักษณะที่ปรากฏ และสามารถที่จะรู้ว่าขณะนั้นกำลังรู้แข็ง ไม่ใช่เพียงตอบว่า มีแข็ง แต่กำลังรู้แข็ง และถ้ามีความเข้าใจเพิ่มขึ้น แข็ง ก็คือ สิ่งหนึ่งที่มีเหมือนอย่างอื่น อย่างเดี๋ยวนี้ เสียงไม่ใช่แข็ง แต่เสียงก็มี และเสียงก็เป็นสิ่งที่มีจริงอีกอย่างหนึ่ง เพราะฉะนั้น ถ้าไม่มีความเข้าใจถูก ในสิ่งที่มีจริงทุกอย่างตามที่ได้ฟัง ไม่มีการที่จะละการยึดถือสภาพธรรม ว่าเป็นตัวตน

    เพราะฉะนั้น ก็อาศัยกาลเวลาจากการฟังเข้าใจ และก็ฟังบ่อยๆ มีความเข้าใจที่เพิ่มขึ้น เวลาที่ได้ยินได้ฟัง รู้เลยเวลาใครพูดถึงสิ่งที่มีจริง รู้เลยว่าเดี๋ยวนี้ ไม่ว่าจะแข็ง ไม่ว่าจะเสียง ไม่ว่าจะอะไรก็ตาม เป็นสิ่งที่มีจริง แต่ถ้าสัญญาความจำยังไม่มั่นคงพอ ที่เป็นความเข้าใจที่ถูกต้อง เวลาบอกว่า เดี๋ยวนี้มีสิ่งที่มีจริง หายาก อะไรมีจริง เพราะเพียงคำ แต่ถ้ากำลังรู้ตรงลักษณะที่มีจริง เข้าใจทันที นี่คือ สิ่งที่มีจริง

    เพราะฉะนั้น การฟังก็ต้องฟังเพื่อเข้าใจถูก ไม่ว่าจะเป็นพระวินัย พระสูตร หรือพระอภิธรรม เพื่อเข้าใจสิ่งที่มีจริง ไม่ใช่ไปจำเรื่องราว ไปจำแม้แต่คำแปลหรือชื่อ แต่ต้องรู้ว่าลักษณะนั้นมี และทรงแสดงไว้ว่า ถ้าไม่เกิดขึ้นก็ไม่มี หรือแม้ว่าเกิดแล้วก็ดับไป ไม่กลับมาอีกเลย เพื่อที่จะคลายความติดข้อง แม้ว่าฟังอย่างนี้ร้อยครั้ง พันครั้ง ร้อยชาติ พันชาติ ยังไม่ได้ละคลายความติดข้อง แต่ถ้ามากขึ้นๆ สัญญาความจำที่มั่นคง ไม่ใช่ไปเอามาจากที่อื่น แต่จากการฟังแล้ว เข้าใจแล้ว โดยขั้นการฟัง ทำให้สามารถที่จะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏทีละเล็กทีละน้อย ทั้งหมดทีเดียวไม่ได้ อย่างขณะนี้ มีเห็นด้วย มีเสียงด้วย มีแข็งด้วย มีคิดด้วย แต่ละหนึ่งยากที่จะรู้ เพราะว่า ปรากฏสั้นมาก และดับไปแล้ว จึงต้องอาศัยปัญญา ความเห็นถูกจริงๆ ที่ค่อยๆ รู้ว่าสามารถที่จะเห็นถูกต้องตามความเป็นจริงของสิ่งที่ปรากฏ ที่กล่าวว่าปัญญา และสติ คือ สามารถที่จะรู้ตรงลักษณะ และก็มีความเห็นที่ถูกต้องว่า เป็นแต่ละอย่างซึ่งมีจริงๆ

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์ ฟังท่านอาจารย์ก็ทราบว่า การที่จะรู้ตรงลักษณะ ก็จะเป็นปัญญาขั้นปฏิปัตติ ก็คือว่า สติ และสัมปชัญญะ รู้ตรงลักษณะหนึ่ง ที่กำลังปรากฏ ตัวดิฉันเอง ปัญญาขั้นนั้นยังไม่เกิดทราบ ก็รู้ว่าเป็นขั้นฟัง และไตร่ตรองตามว่า ที่ท่านอาจารย์กล่าว เป็นเช่นนั้นจริงๆ แต่ว่าปัญญาขั้นนั้นยังไม่เกิด ทีนี้ในตรงนี้ขั้นที่ยังไม่เกิดตรงนี้ แล้วจะให้ไม่ไปไหนรู้ตรงนั้น

    ท่านอาจารย์ นี่ไง ยิ่งยาก เรามาแล้ว เรามาทีไรก็เพิ่มความยาก และอวิชชาเข้าไปเพราะขณะนั้น ไม่ใช่ปัญญา แทรกเข้ามาอย่างรวดเร็ว เพราะฉะนั้น ฟังธรรมขณะที่กำลังเข้าใจ เป็นกุศล เป็นปัญญา ขณะที่ต้องการขณะนั้น ก็ไม่ใช่ปัญญา มาเร็วมาก

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์ แต่เครื่องกั้นเช่นนี้ก็เป็นธรรม ที่โลภะเขาจะต้องอย่างนี้แทรก

    ท่านอาจารย์ ปัญญาสามารถที่จะรู้ได้ ปัญญาต่างกับอวิชชา อวิชชาไม่รู้มาแสนโกฏิกัปป์ ไม่ว่าอะไรจะปรากฏก็ไม่รู้ ก็เหมือนทุกวันนี้ เห็นก็ไม่รู้ ได้ยินก็ไม่รู้ คิดนึกก็ไม่รู้ ชอบก็ไม่รู้ เหมือนทุกวัน อย่างนี้เคยเป็นมาแล้วด้วยความไม่รู้ ไม่ว่าอะไรจะปรากฏก็ไม่รู้ เพราะฉะนั้น กว่าจะถึงวิชชา ความเห็นถูก ความเข้าใจถูก ที่สามารถที่จะทำให้ สิ่งที่เคยสะสมมาดับ ไม่เกิดอีกตามลำดับขั้น คือ ขั้นที่เข้าใจว่าสภาพธรรมเป็นเรา เข้าใจผิด เห็นผิด เป็นมิจฉาทิฏฐิ เป็นสักกายทิฏฐิ ในเมื่อตรงนี้เป็นเรา เป็นอัตตานุทิฏฐิ เมื่อสิ่งที่ปรากฏเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์ ขอเรียนสนทนาในประเด็นปัญหา คือ จากพระสูตรเมื่อวาน ที่นำมาสนทนา ก็เป็นเรื่องอะไรที่เป็น พระสัทธรรม และอะไรที่ไม่ใช่ พระสัทธรรม ก็จะยกตัวอย่างว่า อย่างการเป็นผู้เลี้ยงยาก ก็ไม่ใช่พระสัทธรรม เป็นต้น ซึ่งจากการศึกษาพระสูตรเมื่อวาน บวกกับที่เคยปฏิบัติมาก่อน ก็จะชัดเจนมากว่า ที่เขาไปปฏิบัติกัน ก็เหมือนอ่านพระสูตรเช่นนี้ อย่างเช่น พระสูตรเมื่อวาน แล้วก็ไปทำตามนั้น ก็คือไม่คลุกคลีก็ปลีกวิเวกไม่ต้องยุ่งกับใคร และไปทำความเพียร ก็ไปนั่งไปทำอะไรก็ได้ให้ตัวเองไปเพียรเช่นนั้น ก็จะเรียนสนทนากับท่านอาจารย์ว่า เป็นอีกตัวอย่างที่ว่าถ้าศึกษาไม่ละเอียดรอบคอบแล้ว ว่าจริงๆ พระพุทธองค์ตรัสสอนอะไร ก็จะเป็นการยืนยันว่า ศึกษาพระสูตรโดยไม่มีพื้นฐานพระอภิธรรม ก็จะทำให้มีความเห็นผิด และมีตัวตนไปทำ จะขอความกระจ่างจากท่านอาจารย์ว่า จริงๆ เป็นอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ย้อนถึงเมื่อวาน ก็เป็นเราหมดเลย เลี้ยงง่าย ไม่ต้องมีปัญญาอะไรเลยแค่ฟังว่าเลี้ยงง่าย ก็คิดว่าดี แล้วถูกแล้ว ก็เป็นคนเลี้ยงง่าย ก็ทำตัวเป็นคนเลี้ยงง่าย ก็ไม่พ้นจากความไม่รู้ เพราะทำตัวเป็นคนเลี้ยงง่าย แต่ถ้ามีความเข้าใจว่า ผู้ที่ได้ฟังสามารถบรรลุถึงความเป็นพระอรหันต์ หรือว่าความเป็นพระโสดาบัน เป็นพระอริยบุคคล จะขาดปัญญาไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น ถึงได้มีคำให้คิด ว่าเลี้ยงง่ายกับเลี้ยงยาก หมายความว่ายังไง บางคนก็ต้องทำอาหารอย่างประณีตมาก ใช่ไหม ถ้าไม่ประณีตก็รับประทานไม่ได้ ถึงไม่ประณีตอย่างนั้น แค่ไม่สุกก็ยังไม่ได้เลย นี่ก็แสดงให้เห็นว่าเลี้ยงง่ายหรือเลี้ยงยาก แต่อีกคนหนึ่งก็ดูเหมือนเลี้ยงง่ายแสนง่าย อะไรก็ได้ เบื่อๆ เข้าก็รับประทานข้าวกับน้ำปลาก็ดีเหมือนกัน ใช่ไหม อย่างนั้นหรือเลี้ยงง่าย เพราะฉะนั้น ต้องเป็นปัญญาทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นพระวินัย หรือพระสูตร พระอภิธรรม เลี้ยงง่ายด้วยความเป็นตัวตน หรือด้วยปัญญาที่เห็นว่า มีกิเลสขณะที่กำลังเลือก กำลังติดข้อง และแท้ที่จริงขณะนั้นก็เป็นธรรม เพราะฉะนั้น ที่ขาดไม่ได้ ก็คือ ความเห็นถูก ความเข้าใจถูก ทุกสถานการณ์ ไม่ว่าจะเป็นสภาพธรรมใดปรากฏ คือ สามารถรู้ว่า ขณะนั้นเป็นธรรม เป็นสิ่งที่มีจริง มิฉะนั้นแล้ว ก็จะเป็นตัวเราที่นั่งเลือก นั่งทำ คิดว่าทำอย่างนี้แล้วจะดี แต่ว่าไม่ได้มีความเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมว่า ไม่ใช่เรา เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ไม่เที่ยง ปรากฏเพียงชั่วคราวแล้วก็หมดไป

    เพราะฉะนั้น คำบางคำที่เป็นวาจาจริง แต่ว่าถ้าผู้ฟังไตร่ตรองบ่อยๆ ก็สามารถที่จะคลายความติดข้อง ทีละเล็กทีละน้อยตามกำลังของปัญญา ว่าปัญญาขั้นฟัง ขั้นไตร่ตรอง ยังคิดได้อย่างนี้ว่า สิ่งที่กำลังปรากฏขณะนี้ ที่เคยเป็นคน เป็นสัตว์ เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด แท้ที่จริงความจริง คือ เป็นสิ่งที่ปรากฏเพียงชั่วคราว ไม่มีคุณอรวรรณ ไม่มีใครเลย แต่มีสิ่งที่ปรากฏให้เห็น แล้วก็ชั่วคราว นี่คือ การที่จะละความติดข้องในนิมิตอนุพยัญชนะ ด้วยการเริ่มเข้าใจความจริง แต่ไม่ใช่ไปพากเพียรทำอย่างอื่นเลย และลองคิดดู ได้ฟังอย่างนี้มาบ่อยครั้ง ก็ยังเป็นคนนั้นอยู่ ยังเป็นเรื่องราวของคนนั้น ไม่ใช่เป็นมหาภูตรูป และก็มีสิ่งที่เกิดที่มหาภูตรูปที่สามารถกระทบจักขุปสาท เกิดดับปรากฏเป็นนิมิตให้จำได้ว่าเป็นใคร ไม่ได้มีความเข้าใจอย่างนี้ แต่ฟังแล้ว

    เพราะฉะนั้น กว่าจะ (นาทีที่ ๑๖.๓๔ คำว่า จะ เกินมา) สัญญาความจำจะมั่นคงทีละเล็กทีละน้อย จริงๆ แม้ได้ยินข้อความในพระสูตร เรื่องใดก็ตาม เรื่องเลี้ยงง่าย เรื่องอะไรทั้งหมด ขณะนั้น ถ้าไม่มีปัญญาเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังได้ฟัง จะละความเป็นตัวตนได้ไหม ไม่ว่าพระผู้มีพระภาคจะตรัสชาดก หรือจะตรัสข้อความใดๆ ก็ตาม ผู้ที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมต้องรู้ว่า ขณะนั้นเป็นธรรมแต่ละหนึ่ง ซึ่งปรากฏชั่วคราวแล้วก็ดับไป ถ้าไม่เข้าใจอย่างนี้ แต่จะทำอย่างนั้น ก็แสดงว่า ไม่ได้ถึงความเข้าใจว่า ทุกอย่างเป็นธรรม

    ผู้ฟัง คำว่า สังวร จริงๆ แล้วมันมีความหมายกว้างขวางอย่างไร สังวรแท้จริง คือ อะไร เกี่ยวกับสติปัฏฐานอย่างไร

    อ.ธิดารัตน์ ท่านก็แสดง การสังวร หรือว่า สำรวม ก็คือ เป็นกุศลจิต ขณะที่สติละลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม สติก็เป็นสติสังวรโดยนัยต่างๆ แต่ก็คือขณะที่กุศลจิตเกิด ก็จำแนกเป็นสังวรประเภทต่างๆ ตั้งแต่สติสังวร หรือว่าวิริยะ ปัญญา ถ้าขณะนั้นลักษณะของปัญญาที่มีกำลังก็จะใช้คำว่า ญาณสังวร คือในขณะที่เป็นวิปัสสนาญานเพราะว่า ลักษณะของปัญญามีกำลังก็จะเป็นญาณสังวร ในขณะที่สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม สติทำกิจทำหน้าที่ ก็เป็นสติสังวร

    อ.กุลวิไล ท่านผู้ถาม เรียนถามว่า จะเกี่ยวข้องกับการอบรมเจริญสติปัฏฐานอย่างไร

    อ.วิชัย เรื่องของ สังวร คือ โดยปกติแล้ว ทุกท่านก็คงจะทราบเมื่อศึกษาแล้ว ว่าจิตแต่ละขณะเป็นไปในอกุศลมาก หรือว่ากุศลมากในแต่ละวัน ถ้าบุคคลที่ไม่เข้าใจเลย ก็จะมีความเป็นตัวเรา ที่จะไปพยายามปิดกั้น ที่ว่าสังวรหรือว่าไม่ให้อกุศลธรรมเกิดเมื่อฟังอย่างนี้ ที่ฟังใหม่ ก็จะมีความพยายามขึ้นเป็นอย่างนั้น แต่ว่ากระทำไม่ได้เลยเพราะเหตุว่า เมื่อรู้ว่าอกุศลมีเหตุปัจจัยก็เกิดทันที และอาจจะคิดถึงอกุศลอย่างหยาบ การที่มีกาย วาจาที่เป็นไปในอกุศลประเภทต่างๆ นั้นก็เป็นอย่างหยาบ แต่ถ้าพูดถึงความละเอียดของอกุศล ก็ละเอียดมาก แม้ลืมตา ถ้าไม่เป็นกุศลขณะที่ชวนก็ต้องเป็นอกุศล ให้เห็นถึงความละเอียดที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงพระธรรม ว่าจิตแต่ละขณะที่เป็นไป สำหรับผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์แล้ว ถ้าชวนจิต ไม่เป็นกุศลก็ต้องเป็นอกุศล ดังนั้น ทรงแสดงเรื่องของสภาพธรรมที่มีปัจจัยเกิดขึ้น ที่เมื่อเกิด อกุศลขณะนั้นเกิดไม่ได้แต่ต้องรู้เข้าใจว่า ขณะนั้น ก็เป็นสภาพธรรมแต่ละอย่าง ที่จะเกิดด้วยเหตุปัจจัย อย่างเช่น ถ้าบุคคลนั้นไม่มีการที่จะฟังพระธรรมเลย ไม่มีความเข้าใจเลย และมีความเป็นตัวเราที่จะไปพยายามไม่ให้อกุศลธรรมเกิด ขณะนั้นก็กระทำไม่ได้อย่างแน่นอน และขณะนั้นก็เป็นตัวเราด้วย เป็นอกุศลด้วยความต้องการพยายาม ซึ่งต่างกับบุคคลที่มีปัญญา ที่จะรู้ว่าแม้ขณะนี้ สติที่เกิดก็สังวร คือ อกุศลเกิดไม่ได้ในขณะนั้น แม้ขณะที่กำลังเห็นขณะนี้ หรือแม้ขณะที่อาจจะชมการละเล่น ที่อาจจะมีกล่าวเรื่องของ กีฬาการละเล่นประเภทต่างๆ มีปัจจัย กุศลก็เกิดได้ สติก็เกิดได้ ในขณะนั้น ขณะนั้นเป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นสังวร คือ ปิดกั้นไม่ให้อกุศลเกิดได้เป็นไปในขณะนั้น เพราะเหตุว่า โดยปกติก็เป็นอกุศลที่เป็นไป แต่เมื่ออบรมความเข้าใจถูก รู้ว่าขณะใดก็ตามที่สติเกิด ก็รู้ว่าขณะนั้นสติเกิดขึ้นเป็นกุศล หรือขณะใดหลงลืมสติก็รู้ว่าขณะนั้นเป็นอกุศล ซึ่งบังคับบัญชาไม่ได้ แต่สามารถที่จะอบรมเจริญกุศล ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของศีลสังวร หรือว่าวิริยะ ขันติ ญาณสติต่างๆ ที่เป็นอินทริยสังวร ก็แสดงถึงสภาพของกุศลที่มีปัจจัยเกิดขึ้นที่เป็นไป ไม่ใช่เป็นตัวเราที่จะพยายามที่จะไปป้องกันไม่ให้อกุศลเกิดขึ้น

    ท่านอาจารย์ ก็เป็นปรกติเดี๋ยวนี้ แล้วแต่ว่าขณะใดที่กุศลจิตเกิด ขณะนั้นก็ต้องเป็นสังวรด้วยสติ และค่อยๆ เจริญขึ้นตามลำดับ

    อ.อรรณพ ที่ถามว่า สังวรเกี่ยวกับสติปัฏฐานอย่างไร ก็สตินั่นแหล่ะเป็นตัวสังวร ไม่ใช้คำว่าสังวรก็ได้ เมื่อตอนเริ่มรายการ ใช้คำว่าสงวนก็ได้ สงวน สังวรได้ทั้งนั้น ก็คือ เป็นการที่สติเกิดขึ้นระลึกรู้ ไม่ว่าขั้นใด สติขั้นทานก็สังวรไม่ตระหนี่ สติขั้นศีลก็คือไม่เบียดเบียน สติขั้นภาวนา อย่างเช่น สติปัฏฐาน ก็คือ ไม่หลงลืม ในขณะนั้นไม่หลงลืมขณะนั้นก็ป้องกันอกุศลเกิด ที่ยังไม่เกิดไม่ให้เกิดขึ้น ส่วนอกุศลที่เกิดแล้วดับแล้ว ก็ได้ละคลายขัดเกลาไป นี่ก็คือคุณของโสภณธรรม ที่เกิดขึ้นรักษาจิต

    อ.กุลวิไล กราบเรียนท่านอาจารย์ ท่านอาจารย์เคยกล่าวว่า พระธรรมเป็นกระจกส่องให้เห็นสภาพธรรมที่เกิดกับตนตามความเป็นจริง

    ท่านอาจารย์ ใครรู้บ้าง ว่าเดี๋ยวนี้มีจิต ก่อนฟังพระธรรม ได้แต่พูด แต่ว่าตอบไม่ได้เลย มี แล้วอยู่ไหน


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 185
    28 ม.ค. 2567