พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 793


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๗๙๓

    ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๑๕ กรกฎาคม ๒๕๕๕


    ท่านอาจารย์ ถ้าฟังธรรมแล้วเข้าใจเพิ่มขึ้น ว่าไม่มีเรา มีแต่ธรรม ความเข้าใจก็จะค่อยๆ เพิ่มขึ้น

    อ.กุลวิไล ซึ่งท่านอาจารย์ได้ยกตัวอย่าง เห็นกับได้ยิน เพราะว่า ขณะนี้ก็ต้องมีเห็น และมีได้ยินด้วย กราบเรียนท่านอาจารย์ ว่าไม่ใช่เราอย่างไร เพราะว่า ผู้ที่ศึกษาใหม่ หรือแม้แต่ศึกษานานแล้วก็ตาม ก็ยังมีความยึดถือเห็น และก็ได้ยินว่าเป็นเรา

    ท่านอาจารย์ เพราะยังไม่ใช่พระโสดาบัน

    อ.กุลวิไล ก็เป็นการยึดถือธรรมที่มีจริงในขณะนี้ ว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดด้วยความไม่รู้ หรือว่าด้วยความเห็นผิดนั่นเอง แต่ตราบใดที่ยังเป็นปุถุชนอยู่ ก็ย่อมจะยึดถือเห็นได้ยินว่าเป็นเรา

    ท่านอาจารย์ ถ้าเข้าใจขึ้นอีกสักนิดหนึ่ง เป็นประโยชน์ไหม ไม่ต้องมาก อย่าหวังมาก เพียงแต่ฟังแล้วเข้าใจเพิ่มขึ้นอีกนิดหนึ่ง นั่นก็เป็นประโยชน์แล้ว เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ว่าเมื่อไหร่เราจะรู้มากกว่านี้ แต่ว่าในขณะใดก็ตามที่ฟังแล้วเข้าใจขึ้นอีกนิดหนึ่งๆ นั่นก็คือ ประโยชน์จริงๆ เพราะว่า จะเข้าใจมากกว่านั้น ได้ไหม ในเมื่อไม่เคยเข้าใจมานานแสนนาน ทั้งๆ ที่สิ่งที่กำลังพูดถึงก็กำลังปรากฏจริงๆ แม้ปรากฏจริง ได้ยินได้ฟังจริง แต่กว่าที่จะเข้าใจจริงๆ ก็ต้องอาศัยตัวเอง ซึ่งเป็นผู้ที่จะรู้ได้ไม่ใช่ถามคนอื่น ว่ารู้แค่นี้พอไหม ต้องรู้อีกเท่าไหร่ ไม่ใช่อย่างนั้นเลย ทุกอย่างที่ได้ยินได้ฟัง ควรเข้าใจว่าเป็นประโยชน์อย่างยิ่งทุกคำ ไม่จำเป็นต้องไปคิดถึงคำอื่น ซึ่งไม่ได้ฟัง แต่คิดเองชอบคิดเองมากๆ และชอบถามเรื่องอื่นมากๆ โดยที่ไม่สนใจเลยว่า คำที่ได้ยินได้ฟังขณะนี้ เป็นคำจริงแน่นอนแล้วก็สามารถที่จะรู้ได้ เมื่อค่อยๆ เข้าใจขึ้น

    อ.กุลวิไล กราบเรียนถามท่านอาจารย์อีกครั้งหนึ่งว่า จากพระพุทธพจน์ที่ว่า ธรรมทั้งหลายมีใจเป็นหัวหน้า มีใจเป็นมีใจเป็นใหญ่ สำเร็จแล้วด้วยใจ แสดงถึงความเป็นธาตุความเป็นธรรมอย่างไร กราบเรียนท่านอาจารย์

    ท่านอาจารย์ ใครทำให้ใจเกิดขึ้นได้

    อ.กุลวิไล ไม่มี

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ใจขณะนี้ เป็นสิ่งที่มีจริงซึ่งใครก็บังคับบัญชาไม่ได้ นี่คือ ความหมายของคำว่าเป็นใหญ่ ใครจะใหญ่กว่าใจบ้าง ไม่มีตัวตนเลย ใช่ไหม เพราะฉะนั้น ที่ว่าใจเป็นใหญ่ เพราะเหตุว่า ถ้าไม่มีจิต เห็นมีไหม

    อ.กุลวิไล ไม่มี

    ท่านอาจารย์ ถ้าเห็นไม่มี จะคิดเรื่องสิ่งที่กำลังเห็นไหม จะชอบไม่ชอบ และเป็นเรื่องราวมากมายจากสิ่งที่ปรากฏ หรือเปล่า เพราะฉะนั้น ทุกเรื่องที่มาก ทางตาเห็น แน่นอนทางหูก็ได้ยิน ทางจมูกได้กลิ่น ทางลิ้นลิ้มรส ทางกายรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ทางใจก็คิดถึงแต่เรื่องของสิ่งที่เห็นบ้าง ได้ยินบ้าง ได้กลิ่นบ้าง ลิ้มรสบ้าง ถ้าไม่มีใจ จะมีอะไรไหมที่จะปรากฏ ไม่มี เพราะรูปไม่สามารถจะรู้อะไรได้ โลภะ โทสะ ก็เกิดไม่ได้ ถ้าไม่มีจิต เพราะฉะนั้น ก็แสดงให้เห็นอยู่แล้วสภาพธรรมแต่ละหนึ่ง ก็มีลักษณะที่เป็นใหญ่เฉพาะแต่ละอย่าง เพราะในขณะนี้ที่กำลังเห็น ใจ หรือจิตเป็นใหญ่ ในขณะที่กำลังเห็นสิ่งที่ปรากฏให้เห็นได้ในขณะนี้ ใหญ่ไหม สามารถที่จะเห็นได้คิดดู สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ถ้าไม่มีจิตเกิดขึ้นเห็น ปรากฏไม่ได้เลย แต่ว่าที่ปรากฏเป็นโลก ไม่ว่าแต่ละทาง ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เพราะจิตเกิดขึ้น แล้วก็รู้แจ้งสิ่งที่กำลังปรากฏ พร้อมกับเจตสิกอื่นๆ ซึ่งต่างก็ทำหน้าที่ของเจตสิกนั้นๆ ตามควรแก่สภาพของเจตสิกนั้นๆ เพราะฉะนั้น ถ้าไม่มีจิตอะไรก็ไม่มี และทุกวันนี้ แต่ละคนเป็นไปตามอำนาจของจิต หรือเปล่า

    อ.กุลวิไล เป็นไปตามอำนาจของจิต

    ท่านอาจารย์ ถ้าจิตดี กายวาจาเป็นอย่างไร ไม่เบียดเบียนใครเลย มีความเมตตา กว้าง ไม่เลือกกาล ไม่เลือกบุคคลด้วย หวังดีกับทุกคนไม่มีศัตรูเลย นี่ก็คือ ถ้าศึกษาธรรม ก็จะรู้ว่าไม่มีเรา แต่ว่ามีสิ่งที่มีจริงๆ แต่ละหนึ่ง เพื่อที่จะได้ละการที่ไม่เคยรู้ความจริง หลงยึดถือว่าเป็นเราตั้งแต่เกิดจนตาย แต่ตายแล้วก็ไปไหนก็ไม่รู้ แล้วที่เกิดมานี่ เกิดมาจากชาติก่อนเป็นใครก็ไม่รู้อีกเหมือนกัน เพราะฉะนั้น ก็รู้เสีย ดีกว่าไหม จิตเห็นเกิดขึ้นไม่ให้คิดถึงสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาได้ไหม แค่นี้ก็รู้แล้วว่า แม้แต่คิดก็เป็นจิต ที่เกิดสืบต่อ เพราะฉะนั้น ก็ไม่มีใครที่จะมีอำนาจนอกจากสภาพธรรมแต่ละอย่าง ซึ่งทำให้แต่ละสิ่งเป็นไปได้

    อ.กุลวิไล และถ้าไม่มีจิตอะไรๆ ไม่ปรากฏ ไม่มีโลกทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และทางใจ

    ท่านอาจารย์ จิตของเรา หรือเปล่า ไม่ใช่ แล้วจิตนี่ดีไหม จิตไม่ใช่ของเรา แล้วจิตทุกวันนี้ ดีไหม ร้ายไหม เลวไหม ขนาดไหนใครรู้ดี แต่ละคนก็มีจิตแต่ละหนึ่ง และจะไปรู้จิตของคนอื่นได้อย่างไร เพราะฉะนั้น พระธรรมก็เหมือนแสงสว่าง ทั้งๆ ที่จิตเป็นธาตุเป็นธรรมไม่ใช่ของใคร แต่ก็สะสมความไม่รู้ และดีชั่วมา ถ้าไม่ปรากฏจะไม่รู้เลย ดูเหมือนคนดีมากๆ ดีแค่ไหน ถ้าตราบใดที่เหมือนดีมาก แต่ว่า ยังไม่เข้าใจถูกต้องตามความเป็นจริง สิ่งที่ดี ที่ว่ามากก็ไม่บริสุทธิ์ เพราะเหตุว่า ยังไม่รู้ความจริงว่าไม่ใช่เราเลย จิตแต่ละหนึ่งของแต่ละคนในขณะนี้ เป็นจิตจริงๆ เกิดขึ้นเป็นไปตามการสะสม ไม่ว่าจะมีโลภะ โทสะ ชอบ ไม่ชอบในสิ่งใด บังคับบัญชาไม่ได้เลยทั้งสิ้น เพื่อที่จะคลายการยึดถือว่าจิตนี้เป็นเรา หรือว่าจิตนี้ของเรา แต่ความจริง จิต ก็คือ ชั่วขณะซึ่งมีปัจจัยเกิดขึ้นเป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้สิ่งที่กำลังปรากฏแล้วดับ แล้วไม่กลับมาอีกเลย นี่คือ ความจริงซึ่งควรรู้ยิ่ง เพื่อที่จะได้ละคลายการยึดถือสภาพธรรม ซึ่งสะสมความไม่รู้มามาก เพราะฉะนั้น จิตนี้ไม่รู้มานานแสนนาน ไม่ใช่จิตใคร จิตนี้แหละไม่รู้มานานแสนนาน และกำลังเริ่มฟังให้เข้าใจความจริง เพื่อจิตนี้จะได้สะสมความเข้าใจถูก และก็ไม่ใช่ของใคร แต่ก็ต้องเป็นจิตที่เกิดดับสืบต่อ

    อ.วิชัย เมื่อกล่าวถึงเรื่องของจิตซึ่งก็มีหลายคำ ที่กล่าวหมายถึง สภาพธรรมที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์ ซึ่งคราวก่อนท่านอาจารย์ก็กล่าวว่า ถ้าโดยลักษณะของจิตล้วนๆ อย่างเดียว ก็เป็นสภาพที่เป็น บัณฑระ คือ พูดถึงสภาพธรรมที่เป็นจิตอย่างเดียว แต่ถ้ากล่าวถึงการเกิดขึ้นของจิตที่กล่าวว่า เป็นชาติของจิต ทำไมจำแนกออกเป็นกุศลบ้าง อกุศลบ้าง วิบากบ้าง กิริยาบ้าง

    ท่านอาจารย์ เพราะว่า จิตเกิดขึ้นตามลำพังไม่ได้ ไม่ว่าธรรมอะไรทั้งสิ้น เกิดขึ้นโดยอาศัยปัจจัยอาศัยกัน และกันเกิดขึ้น เพราะฉะนั้น ในขณะใดก็ตามที่จิตเกิด ก็ต้องมีสภาพธรรมที่เป็นปัจจัยให้จิตนั้นเกิด ซึ่งสภาพนั้นก็เป็นธาตุรู้ เป็นนามธาตุ แต่ไม่ใช่จิต แต่อาศัยเกิดกับจิตทุกครั้ง ที่สภาพธรรมนั้นเกิดขึ้น จึงทรงบัญญัติเรียก นามธาตุ ซึ่งเกิดขึ้นกับจิตว่า เจ-ต-สิ-กะ เป็นเจตสิกในภาษาไทยที่เราพูดกันบ่อยๆ หมายความถึง ลักษณะอื่นที่ไม่ใช่สภาพที่รู้แจ้งอย่างจิต แต่ก็รู้สิ่งเดียวกับจิต และเกิดพร้อมกันด้วย เช่น ในขณะที่เห็นขณะนี้ เพียงเห็นกำลังเห็น แต่ผู้ที่ทรงตรัสรู้ รู้ว่าจิตเห็น ประกอบด้วยเจตสิก คือ นามธาตุ ซึ่งเกิดกับจิตเท่าไหร่ แจกออกได้เลย ว่ามีจำนวนเท่าไหร่เป็นแต่ละหนึ่ง

    เพราะฉะนั้น การฟังพระธรรมก็ทำให้ได้เข้าใจสิ่ง ซึ่งผู้มีปัญญาที่เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสสรู้อย่างนี้ ซึ่งไม่ผิดแน่นอน แต่ผู้ว่าที่ได้ฟังแล้วก็ค่อยๆ พิจารณา และกว่าจะเข้าใจในความเป็นธรรม หรือความเป็นธาตุ ก็โดยอาศัยความเข้าใจละเอียดขึ้น ในสิ่งที่กำลังมีในขณะนี้ พอที่จะทราบว่า จิตไม่ใช่ของใคร ใช่ไหม เดี๋ยวนี้ๆ เป็นแต่ละจิตใช่ไหม ไม่มีใครเลย ไม่ใช่ของใคร แต่เป็นจิตที่กำลังเกิดดับสืบต่อ และก็มีความไม่รู้ ที่สะสมมานานแสนนาน เหมือนเมื่อเช้านี้เอง รู้อะไร หรือเปล่าทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็ไม่รู้ ก็เป็นอย่างนี้ ไม่ว่าจะเมื่อไหร่ ชาติไหน แต่ว่าขณะนี้ มีปัจจัยที่จะมีจิตเห็น กำลังปรากฏ และก็มีปัจจัย ที่ได้ยินได้ฟังเรื่องจิตเห็น อย่าลืม พูดถึงจิต ไม่มีสักคน มีแต่จิต จิต จิตทั้งนั้นเลย หมดนี่เป็นจิต

    เพราะฉะนั้น ในขณะนี้ก็จากการไม่รู้ที่สะสมมา ก็มีปัจจัยให้จิตเห็นเกิด และก็ได้ยินได้ฟังเรื่องของจิตที่เห็น และก็มีจิตกำลังได้ยิน คือ ให้คิดถึงตัวจิตจริงๆ ว่าขณะนี้ มีจิตที่ได้ยินแน่นอน เพราะว่า มีเสียง แต่ความรวดเร็ว และความไม่คุ้นเคย ก็ผ่านจิตได้ยิน โดยความไม่รู้อีกนั่นแหละ เหมือนทุกครั้งที่เห็น ที่ได้ยิน ก็ผ่านไปหมดด้วยความไม่รู้ เพราะฉะนั้น จึงต้องอาศัยความละเอียดยิ่ง ที่จะค่อยๆ ฟังให้เข้าใจ สิ่งที่มีจริงแต่ละหนึ่ง เช่น ขณะนี้นอกจากเห็นเกิดแล้วดับสืบต่ออย่างเร็ว ก็มาถึงได้ยินเกิดขึ้นได้ยินเสียง ซึ่งขณะใดที่เข้าใจ ขณะนั้น จิตนั้น เริ่มมีปัจจัยที่จะทำให้คลายความไม่รู้ คลายความไม่เข้าใจ ไม่ใช่จิตของใครเลย ทุกจิตขณะนี้เป็นอย่างนี้ ฟังแล้วเข้าใจ ก็คือ เริ่มที่จะมีเป็นปัจจัยที่ทำให้ค่อยๆ ละความไม่รู้ และค่อยๆ เข้าใจขึ้น แต่ก็จะเข้าใจตามความเป็นจริงว่า แม้ได้ฟังอย่างนี้ก็ยังมีจิตอีกมากมาย ที่ไม่ได้กล่าวถึงเลย แต่เป็นสิ่งที่มีจริงทั้งนั้น เท่าที่สามารถจะปรากฏจิตประเภทไหนได้ ก็กำลังฟัง และรู้ความจริงของสิ่งที่กำลังเป็นจริงในขณะนั้น ทีละเล็กทีละน้อย

    อ.วิชัย ท่านอาจารย์กล่าวถึง ลักษณะของจิต ถ้าเป็นจิตอย่างเดียว ก็คือ เป็นใหญ่ แต่ถ้าว่าพูดถึงการเกิดขึ้นของจิต ต้องมีธรรมที่เกิดร่วมด้วย จึงเป็นเหตุให้การเกิดของจิตเป็นชาติต่างๆ

    ท่านอาจารย์ เพราะเหตุว่า สภาพธรรมที่เกิดกับจิต จำแนกเป็นถึง ๕๒ ประเภท ๕๒ ประเภทเพียงใหญ่ๆ ประเภทหนึ่ง แต่ความละเอียดปลีกย่อยของแต่ละหนึ่งต้องมาก แม้แต่จะพูดถึงเพียงอย่างเดียว คือ สิ่งที่กำลังปรากฏให้เห็นได้ หลายสีไหม ขาวบ้าง เขียวบ้างแดงบ้าง ดำบ้าง แต่ตามความเป็นจริง คือ ทั้งหมดเป็นสิ่งที่ปรากฏให้เห็นได้เหมือนกันทั้งนั้น นี่ก็คือ ความหลากหลาย

    เพราะฉะนั้น เจตสิกทั้งหมดมี ๕๒ ประเภท ซึ่งเป็นเจตสิก ซึ่งเกิดกับจิตได้ทุกประเภทก็มีทั้งหมด ๗ เรียกว่า สัพพจิตสาธารณะเจตสิก เดี๋ยวนี้เอง จิตขณะไหนเกิด ก็ต้องมีสัพพจิตสาธาณเจตสิก หมายความถึง เจตสิกที่สาธารณะ คือ เกิดกับจิต สัพพะ คือทั้งหมดทุกประเภท ๗ ประเภท หรือว่า ๗ ดวงก็ได้ในขณะนี้ แต่ก็ไม่ได้มีแค่เจตสิก ๗ ไม่พอเลย ต้องมีเจตสิกที่เป็นอกุศลเจตสิก ที่ไม่ดีทั้งหมดเลย ๑๔ ประเภท และก็มีโสภณเจตสิก ที่ดีงามตรงกันข้ามกัน ขณะใดก็ตาม ใครก็เลือกไม่ให้เจตสิกประเภทนั้น ประเภทนี้เกิดตามใจชอบไม่ได้ ต้องเป็นไปตามเหตุตามปัจจัยทั้งสิ้น เช่น เวลาที่จักขุประสาทเกิดขึ้นเพราะกรรม และกระทบกับรูปหนึ่งรูปใด ขณะนั้น ถึงวาระที่กรรมจะให้ผล ถ้าสิ่งที่กระทบเป็นสิ่งที่น่าพอใจ กุศลกรรมที่ได้ทำแล้ว เมื่อไหร่ก็ไม่รู้ นานแสนนาน ก็ยังเป็นปัจจัยให้จิตเห็นเกิดขึ้นเห็นได้ นี่คือ สิ่งที่มีอำนาจที่ทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นไปได้ แม้แต่จิตเห็น ก็เป็นไปได้ที่จะเกิดเห็น เมื่อถึงกาลที่เห็นจะเกิดขึ้น แต่ถ้าถึงกาลที่กรรมไม่ทำให้จักขุประสาทเกิด ไม่มีอะไรจะไปทำให้จิตเห็นเกิดขึ้นได้เลย ด้วยเหตุนี้ แม้แต่ในขณะที่เห็น ก็ต่างกับจิตที่เห็นแล้วชอบ เห็นเฉยๆ ยังไม่มีชอบ หรือไม่ชอบ เจตสิก ๗ ประเภทเกิดกับจิตนั้น แต่ชอบต้องมีเจตสิกเพิ่มขึ้นแล้ว ใช่ไหม ด้วยเหตุนี้ จิตแต่ละประเภทก็ต่างกันโดยเจตสิกด้วย ต่างกันโดยอารมณ์ คือ สิ่งที่ปรากฏด้วย เ

    เพราะฉะนั้น เวลาที่มีจิตประเภทหนึ่งประเภทใดเกิดขึ้นเคยเป็นเรา เพราะไม่เคยฟัง ขณะนี้ มีเหตุปัจจัยที่ให้ได้ยิน ได้ฟัง ที่จะเข้าใจจิตที่กำลังมีในขณะนี้แต่ละอย่างเพิ่มขึ้น เพื่อที่จะรู้ว่าจิตไม่ใช่เจตสิก และเจตสิกแต่ละหนึ่งก็ต่างกันไป มีทั้งเจตสิกที่เกิดกับจิตทั่วไป และเจตสิกที่ต้องเกิด ไม่เกิดไม่ได้เลย กับจิตทุกประเภท และมีอกุศลเจตสิก เกิดขึ้นเมื่อไหร่ จิตนั้นเป็นอกุศล ใคร หรือเปล่า เรา หรือเปล่า แต่เมื่อพูดถึงจิตก็ต้องเป็นจิต เมื่อจิตประเภทนั้นเกิดขึ้น กายเป็นอย่างไร วาจาเป็นอย่างไร ใจเป็นอย่างไรก็ต้องเป็นไปตามสภาพธรรมที่เกิดร่วมกัน จึงจำแนกจิตโดยนัยหลายอย่างไม่ใช่เพียงโดยการเกิดขึ้น บางขณะเป็นกุศล บางขณะเป็นอกุศล บางขณะเป็นผลของกุศลผลของอกุศล และบางขณะก็ไม่ใช่ทั้งกุศลไม่ใช่อกุศล และก็ไม่ใช่ผลของกุศลอกุศลด้วย นี่คือ เดี๋ยวนี้เอง แล้วใครจะรู้ถ้าไม่ฟัง ฟังเพื่อเข้าใจถูก ว่าจิตไม่ใช่เรา จิตแต่ละหนึ่งก็เป็นแต่ละหนึ่ง ซึ่งเกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย จิตเห็นเดี๋ยวนี้เป็นจิตเดียวกับจิตที่เห็นเมื่อสักครู่นี้ หรือเปล่า ไม่ใช่ ตอบได้ แต่ก็ต้องไม่ลืม เพื่อที่จะได้ละความเป็นตัวตนเพื่อที่จะเข้าใจจิตจริงๆ ว่าจิตใดก็ตาม มีปัจจัยเกิดแล้วก็ดับ แล้วก็ไม่กลับมาอีก

    อ.กุลวิไล มีผู้ถามว่า ชีวิต คือ อะไร มีความจำเป็น หรือมีความสำคัญอย่างไรที่จะต้องศึกษาเรื่องของชีวิต เพราะได้ยินว่า ชีวิตก็เป็นธรรมด้วย แต่ก็ยังไม่เข้าใจว่าเกี่ยวข้องกันอย่างไร กราบเรียนท่านอาจารย์

    ท่านอาจารย์ พูดถึง จิต เป็นสภาพรู้ เกิดตามลำพังไม่ได้ จะมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยทุกครั้ง อย่างน้อยที่สุดก็ ๗ ประเภท ใน ๗ เจตสิกนั้น มีเจตสิกหนึ่ง ชีวิตินทริยเจตสิก เห็นไหม ที่จะทำให้จิตนั้น เป็นสิ่งที่มีชีวิต ทรงชีวิต ไม่ใช่ไร้ชีวิต เพราะเหตุว่า จิตเกิดขึ้นเมื่อไหร่ขณะไหน มีชีวิตขณะนั้น ต้นไม้ใบหญ้าไม่มีชีวิตินทริยเลย ไม่ว่าจะเป็นรูป หรือจิต หรือเจตสิก เพราะฉะนั้น ก็แสดงให้เห็นว่าการศึกษาธรรมต้องละเอียด แม้แต่สิ่งมีชีวิตที่เราว่า จิตมีชีวิต หรือเป็นชีวิต ก็เพราะเหตุว่า ขณะใดที่จิตเกิดต้องมีเจตสิกหนึ่ง คือ ชีวิตินทริยเจตสิก เกิดร่วมกัน ดำรงจิตขณะนั้นให้ตั้งอยู่ จนกว่าจะถึงขณะที่ดับไป นี่คือปัจจัยอย่างละเอียดยิ่ง แม้จิตเป็นสภาพรู้ เกิดขึ้นรู้ นั่นกล่าวโดยนัยหนึ่ง ว่าจิตจะเป็นอื่นไม่ได้ นอกจากจิตนี่แหละที่กำลังเห็น กำลังได้ยิน

    เพราะฉะนั้น ให้รู้ว่าเห็นเดี๋ยวนี้เป็นจิต ไม่เช่นนั้นหาจิตไม่เจอ ได้ยินก็เป็นจิตชั่วขณะที่ได้ยินก็เป็นจิตที่ได้ยินเสียง ไม่ใช่อย่างอื่นที่ได้ยินเสียง แต่ธาตุที่ได้ยินเสียงนั่น คือ จิต แต่เวลาจิตเกิดขึ้นก็ต้องมีเจตสิก ๑ ใน ๗ คือ ชีวิตินทริยเจตสิกเกิดร่วมด้วย รักษาขณะจิตที่เกิดแล้ว ให้ตั้งอยู่ ก่อนที่จะดับไป นี่คือ ความละเอียดยิ่งของธรรม ใครไปบันดาลได้ จิตเกิดแล้วดับ แต่ชั่วขณะที่เกิดก็ยังต้องมีเจตสิก ซึ่งเกิดขึ้นดำรงจิตนั้นให้มีชีวิตก่อนที่จะดับไป นี่คือชีวิต เพราะฉะนั้น ตราบใดที่มีจิตอยู่ และมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย ก็ยังมีชีวิตอยู่

    อ.วิชัย กราบท่านอาจารย์ ถ้ากล่าวถึงความมีชีวิต คือ สภาพธรรมโดยลักษณะที่แสดงถึงความมีชีวิต คือ มีทั้งส่วนที่เป็นนามธรรมที่ท่านอาจารย์กล่าวถึง คือ ชีวิตินทริยเจตสิก และในส่วนที่เป็นรูป ที่กล่าวถึงว่า เป็นรูปที่เกิดจากกรรม ที่เกิดพร้อมกับกัมมชรูป ดังนั้น ในส่วนของรูปที่แสดงว่ามีชีวิต เหตุใดจึงมีกรรมเป็นสมุฏฐานเท่านั้น

    ท่านอาจารย์ รูปไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลย ไม่ว่ารูปละเอียด รูปหยาบ มองเห็นมองไม่เห็นก็ตามสภาพที่ไม่ใช่สภาพรู้แต่มีจริง เป็นรูปทั้งหมด แต่ในบรรดารูปทั้งหลายก็ยังต่างกันต้นไม้ก็แข็ง คนรูปร่างกายก็มีอ่อนมีแข็งด้วย แต่ว่ารูปใดๆ ก็ตาม ที่เกิดเพราะกรรมเป็นสมุฏฐาน ต้องมีชีวิตรูปเกิดร่วมด้วย ดำรงรักษาความเป็นรูปนั้นให้เป็นรูปที่มีชีวิต เพราะฉะนั้น เราจึงสามารถที่จะรู้ได้ รูปนี้มีชีวิต และรูปอื่นที่ไม่มีชีวิตรูปไม่มีชีวิตเพราะต้นไม้ไม่มีชีวิตรูปเลย เพราะไม่ได้เกิดจากกรรม แต่รูปใดๆ ทั้งสิ้นที่เกิดจากกรรม ต้องมีชีวิตรูปเกิดร่วมด้วย ทำให้รูปนั้นต่างจากรูปซึ่งไม่มีชีวิตที่ไม่ได้เกิดจากกรรม

    ไปดูหุ่นขี้ผึ้งเหมือนจริงเลย แต่ว่ารู้ได้ไใช่ไหม ว่าไม่ใช่คน แต่ว่าเป็นสิ่งที่ไม่มีชีวิตทั้งๆ ที่จะเหมือนกันสักเท่าไหร่ก็ตาม ตาก็เหมือนตาของคนที่ยังมีชีวิต แต่ถึงอย่างนั้น ก็รู้ว่าไม่มี แต่ใครจะเข้าใจว่ามีก็เป็นเรื่องเข้าใจผิด ใช่ไหม เพราะเหตุว่า ความจริงไม่มี นี่คือ การที่สามารถจะรู้ได้ ว่ารูปใดมีชีวิต และรูปใดไม่มีชีวิต ทันทีที่จากโลกนี้ไปรูปที่เกิดจากกรรม ดับพร้อมจุติจิต ดับพร้อมกันเลย เพราะฉะนั้น หลังจากนั้นตาซึ่งเคยเหมือนตาของคนที่ยังมีชีวิต กับตาที่คนจุติจิตเกิดแล้วดับไป ต่างกัน เพราะเหตุว่า ไม่มีชีวิตรูป นี่ก็เป็นเรื่องละเอียด ซึ่งพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงแสดงความจริงให้ผู้ที่มีโอกาสได้ยิน ได้ฟัง ได้รู้ความจริง ซึ่งควรรู้เสียอย่างยิ่ง ดีกว่าไม่รู้เลย มีชีวิตไปวันๆ หนึ่งอยู่ในโลกนี้ไปวันๆ หนึ่ง แล้วก็เกิดดับ แล้วก็เกิดแล้วเกิดอีก โดยที่ไม่รู้อะไร แล้วก็รู้ไม่ได้ด้วย ถ้าไม่ได้ฟังพระธรรม เพราะฉะนั้น เมื่อความจริงเป็นอย่างนี้ ประโยชน์สูงสุด ก็คือ ว่าได้เข้าใจสิ่งที่มีจริง ตามความเป็นจริงของสิ่งนั้น

    อ.กุลวิไล เพราะฉะนั้น ต้นไม้ไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่รู้รส ไม่รู้สิ่งกระทบสัมผัสทางกาย และไม่คิดนึก ต้นไม้ไม่มีธาตุรู้ ซึ่งตอนต้นชั่วโมงท่านอาจารย์กล่าวถึง การรู้ความจริงของสิ่งที่มีจริงตามปกติ ก็จะกราบเรียนท่านอาจารย์อีกครั้งหนึ่งว่า การที่จะรู้ความจริงของสิ่งที่มีจริงตามปกตินั้น เป็นอย่างไร

    ท่านอาจารย์ เห็นเดี๋ยวนี้เป็นปกติไหม

    อ.กุลวิไล ปกติ

    ท่านอาจารย์ ถ้าสามารถที่จะเข้าใจได้ ขณะนั้น ก็คือ ปัญญา แต่ว่า เมื่อยังไม่สามารถที่จะเข้าได้ใจได้ ก็อบรมจากการฟัง จนกว่าสามารถที่จะเข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏตรงตามที่ได้ฟัง เพราะฉะนั้น ไม่ประมาทความเข้าใจจริงๆ ในสิ่งที่ได้ฟัง ทีละเล็กทีละน้อยก็จะเป็นสังขารขันธ์ ที่ค่อยๆ ปรุงแต่ง ให้เห็นความไม่มีสาระของสิ่ง ซึ่งเคยเข้าใจว่าเป็นเราแล้วก็มีสาระมากมาย เพราะว่า การที่จะรู้ว่าเป็นแต่เพียงสิ่งที่ปรากฏ และดับไปเท่านั้นลองคิดดูว่า ถ้ารู้จริงๆ จะละคลายความติดข้อง และการยึดถือว่า เป็นเรามานานแสนนานได้ แต่เมื่อยังไม่ถึงเวลานั้น อาศัยการฟัง และเข้าใจไปเรื่อยๆ ทีละเล็กทีละน้อยจนกว่าวันหนึ่ง ก็สามารถเริ่มที่จะเห็นว่า มีสาระอะไรกับการที่เพียงเกิดขึ้นเห็นแล้วก็ดับไป ซึ่งความจริงก็เป็นอย่างนี้


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 185
    22 ธ.ค. 2566