พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 785


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๗๘๕

    ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๕๕๕


    ท่านอาจารย์ ธรรม เป็น ธรรม เกิดแล้วเป็นอย่างนี้ ทุกขณะเป็นไปตามเหตุ ตามปัจจัย จากชาติหนึ่งไปอีกชาติหนึ่ง เป็นอย่างนี้ ไม่เป็นอย่างที่เราเคยคิด ว่าเป็นเรา เพราะฉะนั้น ก็สามารถที่จะมีความเข้าใจเพิ่มขึ้น จนกระทั่งเดี๋ยวนี้ก็เข้าใจความจริงของสิ่งที่ปรากฏ เพราะฉะนั้น พระธรรมลึกซึ้งตามลำดับ มีจริงแต่ไม่รู้ ฟังเริ่มเข้าใจ แต่ยังไม่ประจักษ์แจ้ง เพราะฉะนั้น พระธรรมทั้งหมด เพื่อที่จะน้อมการที่ได้ยิน ได้ฟัง และเหตุผลทั้งหมด และความเข้าใจทั้งหมด มาสู่ตัวจริงๆ ของธรรม ที่กำลังเกิดดับในขณะนี้ เพราะว่า ได้ฟังว่าจิตเห็นเกิดแล้วดับ ได้ยินเกิดแล้วดับ คิดเกิดแล้วดับ ทุกอย่างเกิดแล้วดับ ก็เป็นแต่เพียงเริ่มเข้าใจ ว่าจริง แต่ไม่สามารถที่จะประจักษ์ทันทีได้ แต่เพราะเหตุว่า เมื่อความจริงเป็นอย่างนี้จะรู้เป็นอย่างอื่นได้ไหม ไม่ได้เลย

    เพราะฉะนั้น หนทางนี้เป็นหนทางตรง หนทางที่จะนำไปสู่การรู้ความจริงในขณะนี้ ด้วยเหตุนี้ พระธรรมวินัยทั้งหมด เพื่อที่จะน้อมจิตที่เคยสะสมอกุศลมามากมาย ให้ค่อยๆ กลับมาหาความจริงที่กำลังปรากฏ เพื่อที่จะได้มีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องตามลำดับขั้นด้วย ถ้าไม่ตามลำดับขั้น ก็ไม่มีทางเลยที่จะสามารถ ขณะนี้ เห็นเกิดดับแต่ว่าก็ยังคงไม่รู้เห็นที่กำลังเกิดดับ

    เพราะฉะนั้น ฟังเพราะเหตุว่า อกุศลในวันหนึ่งๆ มากแค่ไหน ในแสนโกฏิกัปป์จะมากแค่ไหน และชาตินี้ ถ้ายังคงมีอกุศลมากมายอย่างนั้น จิตคิดถึงอะไร อกุศลแน่นอน เพราะฉะนั้น วันหนึ่งๆ ที่คิด ตามสิ่งที่เห็นมากๆ ได้ยินมากๆ เพราะฉะนั้น โอกาสของความที่จะเข้าใจธรรมก็ไม่มี แต่ว่าขณะใดก็ตาม ที่เห็นประโยชน์ของการฟัง และรู้ว่าเป็นอนัตตา ความละเอียดก็คือว่า ไม่ว่าขณะไหน เมื่อไหร่ ปัญญาที่ได้อบรมแล้วก็สามารถที่จะรู้ว่า ขณะนั้นเป็นธรรมที่ปรากฏแล้วก็หมดไปได้ เพียงชั่วคราว แต่กว่าจะถึงวันนั้น ความละเอียดก็คือว่า มีความมั่นคงว่า เป็นสิ่งที่มีจริง และตามความจริงที่ได้ฟัง แล้วแต่ว่าจะเข้าใจได้มากน้อยแค่ไหน ก็มีพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งตามกำลังของปัญญา ถ้าไม่เข้าใจเลย แล้วบอกว่า มีพระผู้มีพระภาคสัมมาสัมพุทธเจ้า มีพระธรรม มีพระอริยสงฆ์เป็นที่พึ่ง เป็นสรณะ จริงแค่ไหน ไม่ได้รู้อะไรเลย แต่ว่าเข้าใจแค่ไหนเป็นที่พึ่งได้แค่นั้น

    อ.คำปั่น ก็คงยังไม่ลืมพระสูตรที่นำมาสนทนา ความติดข้องยินดีพอใจ ความสำคัญตนความฟุ้งซ่าน และความไม่รู้ เมื่อเกิดขึ้นเป็นไป ไม่ใช่สิ่งที่น่าอัศจรรย์ แต่สิ่งที่น่าอัศจรรย์ก็คือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ธรรม ตามความเป็นจริง แล้วทรงแสดงธรรม สัตว์เหล่านี้ ผู้ที่ยังมีกิเลส ผู้ที่ยังมีโลภะ ยังมีมานะ ยังมีความฟุ้งซ่าน ยังมีความไม่รู้ มีความตั้งใจที่จะฟัง และก็ได้รับประโยชน์จากพระธรรม ตามกำลังปัญญาของแต่ละคน นี่คือ ความน่าอัศจรรย์ที่จะเกิดมีได้ ก็เพราะมีการอุบัติขึ้นของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ทรงเป็นที่พึ่งสูงสุดของเทวดา และมนุษย์ทั้งหลาย ทรงเป็นที่พึ่ง ที่ให้ในสิ่งที่คนอื่นไม่ได้ให้ ก็คือ ปัญญาความรู้ ความเข้าใจสภาพธรรมตามความเป็นจริง จะกราบเรียนอาจารย์ธิดารัตน์ เพิ่มเติมว่า ปัญญาเป็นสภาพธรรมที่รู้ธรรมตามความเป็นจริง ที่อวิชชา และกิเลสไม่สามารถที่จะรู้ได้

    อ.ธิดารัตน์ เพราะว่า โดยลักษณะ วิชา หมายถึง ปัญญา อวิชชา ก็หมายถึง ความไม่รู้ นั่นเอง เพราะฉะนั้น ก็เป็นธรรม ซึ่งตรงกันข้ามกันอยู่แล้ว ขณะที่มีการศึกษา มีตั้งแต่เริ่มต้นมีศรัทธาที่จะฟัง เห็นประโยชน์ของการฟังธรรม มาได้ยินได้ฟังธรรมค่อยๆ เข้าใจขึ้นในขณะที่ฟัง ปัญญาก็เริ่มเจริญขึ้นแล้ว เพราะว่า เป็นความเข้าใจถูกเพิ่มขึ้น จากที่ไม่เคยได้ยินได้ฟัง แล้วก็มาได้ยินได้ฟังธรรม เข้าใจความจริงเพิ่มขึ้น ปัญญาก็เจริญขึ้น

    เพราะฉะนั้น ลักษณะของปัญญา จะเจริญขึ้น ก็คือ อาศัยการฟัง การฟังธรรมเป็นปัจจัย ให้ปัญญาเจริญขึ้น คือ มีความเข้าใจในขั้นการฟังเพิ่มขึ้น จนกระทั่ง ฟังจนเข้าใจจริงๆ ว่ามีลักษณะของสภาพธรรมอย่างที่ฟัง ตามความเป็นจริง ปัญญาก็จะทำกิจเพิ่มขึ้น คือ ค่อยๆ ที่จะรู้ลักษณะของธรรมแต่ละอย่าง ตามความเป็นจริง

    อ.กุลวิไล ดิฉันก็จะกราบเรียนท่านอาจารย์ ถึงคำที่ท่านอาจารย์เคยกล่าวไว้เสมอว่า เข้าใจจริงๆ ในสิ่งที่ปรากฏ กราบเรียนท่านอาจารย์

    ท่านอาจารย์ เข้าใจจริงๆ ขณะนี้ มีสิ่งที่ปรากฏ และสิ่งนั้นเป็นอะไร ไม่ใช่เพียงฟัง ฟังว่ามีจริงก็ถูก กำลังมีจริง แต่ความเข้าใจสิ่งที่มีจริงมากน้อยแค่ไหน แม้ว่าจะได้ฟังอยู่ตลอดเวลา ว่าสิ่งที่มีจริงแต่ละหนึ่ง เกิดดับเร็วมาก ยากที่จะรู้ได้ แต่ก็กำลังปรากฏว่ามี

    เพราะฉะนั้น ความเข้าใจสิ่งที่มีจริงขณะนี้ มากน้อยแค่ไหนก็ต้องเป็นผู้ที่ตรง ที่จะรู้ว่า เห็นมากมายเมื่อสักครู่นี้ ได้ยินก็เยอะ คิดก็มาก แล้วรู้อะไรสักอย่างหนึ่งไหม แต่ละหนึ่งที่ไม่ปะปนกัน แล้วก็เข้าใจความจริงตรงตามที่ได้ฟังด้วย คือ สิ่งนั้นมีจริงๆ เกิดขึ้นแน่นอน แต่ก็ดับไปอย่างรวดเร็ว

    เพราะฉะนั้น จากการที่รู้ว่า สิ่งนี้กำลังเกิดดับ ก็รู้ได้ว่าเรายังไม่ถึงระดับนั้น ถ้าไม่มีความเข้าใจค่อยๆ เข้าใจเพิ่มขึ้นทีละเล็กทีละน้อย และโดยมากมุ่งหวังว่า จะไปรู้ทันทีในลักษณะของสภาพธรรม ที่กำลังปรากฏ เดี๋ยวนี้ไม่ต้องค่อยๆ รู้ก็ได้ แล้ววันหนึ่งก็จะรู้ทันทีเป็นไปไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น ก็จะเห็นได้ว่า ความละเอียดความลึกซึ้งของธรรมก็คือว่า แม้มีจริงๆ แต่ว่าสะสมความไม่รู้มานานมาก แม้ว่าจะได้ฟังเรื่องความละเอียดของสิ่งที่มีจริงมาก แต่ก็ยังไม่พอที่จะประจักษ์ การเกิด และดับไปของสิ่งที่มีจริง

    เพราะฉะนั้น จะข้ามความเข้าใจถูก ในสิ่งที่มีโดยการฟัง และค่อยๆ เข้าใจขึ้น ซึ่งใครก็จะไปบังคับให้เข้าใจมากๆ ในทันทีไม่ได้ แต่ก็รู้ว่า ถ้าไม่ฟังก็ไม่เข้าใจ ถึงแม้ว่ากำลังฟัง และมีสิ่งที่กำลังปรากฏ และพูดเรื่องสิ่งที่กำลังปรากฏ แต่ความเข้าใจก็แล้วแต่แต่ละบุคคล ว่ามากน้อยแค่ไหน แต่ให้รู้ความจริงอย่างมั่นคงเป็นสัจจญาณว่าสามารถรู้ได้แน่นอน มิฉะนั้น จะรู้อะไรในเมื่อสิ่งอื่นไม่ได้ปรากฏเลย นอกจากสิ่งที่กำลังปรากฏ

    เพราะฉะนั้น ต้องเป็นผู้ที่มีความมั่นคงจริงๆ ว่าฟังธรรมเพื่อเข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏจนกว่าจะรู้แจ้งประจักษ์ความจริงของสิ่งที่ปรากฏ อย่างที่ผู้ที่ได้อบรมแล้วได้รู้แจ้ง ได้ประจักษ์ความจริง แต่ว่าต้องเป็นจิรกาลภาวนา การอบรมที่นานมาก อีกประการหนึ่งคิดว่าจะละคลายความยึดถือสภาพธรรม ว่าเป็นเราเมื่อไหร่ รู้ได้ไหม ทีละเล็กทีละน้อยมาก เหมือนจับด้ามมีดคิดดู

    เพราะฉะนั้น ความเล็กน้อย ของการที่เริ่มที่จะคลายก็จะสังเกตได้จาก ชีวิตในความเป็นจริงในแต่ละวัน ถ้ายังมากด้วยความโกรธ ขณะนั้นเป็นเราใช่ไหม แต่ว่าถ้ามีความเข้าใจธรรมมากขึ้น แม้การคลายการยึดถือสภาพธรรม ไม่ใช่โดยการที่จะประจักษ์แจ้ง ในสิ่งที่กำลังปรากฏ แต่คลายโดยการที่สังขารขันธ์ การปรุงแต่งของปัญญาทีละเล็กทีละน้อย ทำให้มีความเห็นถูกว่า ขณะนั้น ไร้ประโยชน์

    เพราะเหตุว่า กำลังเก็บขยะ ซึ่งคนอื่นก็เอาออกไปไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น ก็จะเห็นตามความเป็นจริงว่า ชีวิตประจำวันนั้น เป็นเครื่องพิสูจน์โดยไม่รู้ตัว ไปหาทางคิดว่าจะให้ไปคลายความเป็นเราเมื่อนั้นเมื่อนี่ แต่ว่าชีวิตตามความเป็นจริงเป็นเรื่องของสังขารขันธ์ คือ เจตสิกทั้งนั้นเลย ที่จะปรุงแต่ง จากการที่ไม่เคยเข้าใจว่า ความโกรธเป็นโทษกับใคร ความพยาบาทเป็นโทษกับใคร ไม่ใช่กับคนที่ถูกโกรธ แต่ว่าขณะนั้นก็ไม่มีเรา แต่มีธาตุที่เป็นอกุศล เกิดดับสืบต่อ ยับยั้งไม่ได้ ที่จะสะสมจนกระทั่งมาก จนกระทั่งปิดบังไม่ให้สามารถเข้าใจลักษณะของสภาพธรรม แต่ธรรมก็เป็นสิ่งที่ละเอียดมาก โกรธเกิดแน่ๆ ใครจะไม่โกรธ ถ้าไม่ใช่พระอนาคามีบุคคล แล้วปัญญาอยู่ที่ไหนปัญญาเริ่มเข้าใจถูกในโทษของอกุศล เช่น ความโกรธ แต่ก็ไม่ใช่แต่เฉพาะความโกรธอกุศลทั้งหมดเป็นโทษ

    เพราะฉะนั้น ในขณะนั้นที่จะค่อยๆ แม้เกิดเข้าใจจริงๆ ว่า ไม่มีประโยชน์เลย ใครสามารถที่จะแสดงธรรม ที่จะทำให้เราเห็นโทษอย่างนั้นได้ แม้เพียงเล็กน้อยก็ต้องมีผู้เดียว คือ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า กัลยาณมิตรผู้ประเสริฐสุด ไม่มีใครเทียบได้ เพราะว่า ความโกรธเป็นธาตุที่เกิดแล้วประทุษร้าย

    เพราะฉะนั้น แต่ละคนซึ่งไม่รู้จักธาตุชนิดนี้ ก็ยึดถือ และยังคงเป็นเรา ความโกรธนั้นจึงไม่บรรเทา นี่ก็แสดงว่า ทั้งหมดที่เราฟัง ไม่ใช่ว่าเราจะไปรอคอยผล คือ การค่อยๆ คลายความติดข้องในเห็น ในได้ยิน นั่นยังอีกนาน แต่ว่าชีวิตประจำวันที่ แม้แต่สิ่งที่เคยสะสมมาที่เป็นอกุศล ซึ่งปัญญาแม้ขั้นระลึกได้ในการได้ยินได้ฟังว่าเป็นโทษถ้าเกิด ก็ยังสามารถจะทำให้ขณะนั้นบรรเทาจากเป็นอกุศลได้ ก็เป็นเรื่องละเอียด ซึ่งฟังเพื่อเข้าใจจริงๆ โดยไม่ต้องหวังอะไร เพราะเหตุว่า ไม่มีเรา หรือใคร ที่จะทำ แต่ขณะนี้ สภาพธรรมกำลังทำกิจที่จะน้อมไป เจตสิกที่เป็นสังขารขันธ์ที่จะเข้าใจสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง

    อ.กุลวิไล ที่ท่านอาจารย์กล่าวว่า ถ้ามากด้วยความโกรธ เป็นเราใช่ไหม กราบเรียนท่านอาจารย์

    ท่านอาจารย์ ถ้าขณะนั้น ไม่รู้ว่าเป็นธรรม ที่มีลักษณะอย่างนั้น ก็ต้องเป็นเรา

    อ.กุลวิไล เพราะฉะนั้น ปัญญาต้องเห็นถูก ในสิ่งที่ปรากฏในขณะนี้ เพราะว่า ถ้าไม่รู้ธรรมตามความเป็นจริง ความติดข้องก็ต้องมี ในสิ่งที่ปรากฏ และก็ความขุ่นเคืองใจ ก็คือความโกรธนั่นเอง ก็ย่อมปรากฏ เพราะว่า ถ้าสิ่งนั้นไม่ได้อย่างที่ตนปราถนา

    ท่านอาจารย์ ยังเป็นเราทั้งนั้น จนกว่าจะรู้ความจริงของสภาพธรรม

    อ.กุลวิไล จะเห็นคุณของพระธรรม ปัญญา เป็นความเห็นถูกในธรรม ตามความเป็นจริง หลายท่านคงแปลกใจว่า แล้วเราจะไม่โกรธได้อย่างไร ตราบใดที่เรายังมีความเป็นเราอยู่ แล้วยึดถือ แล้วยึดถือสภาพธรรมเหล่านี้ ว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ความโกรธก็ต้องมี

    ท่านอาจารย์ ถ้าเข้าใจจากการฟังว่า ไม่ใช่เรา ขณะนั้นจะคลายไหม ยังไม่ต้องไปประจักษ์การเกิดดับของความโกรธ เพียงแต่ที่ได้ฟังมาทั้งหมด พอที่จะเห็นโทษของความโกรธ และขณะนั้นก็คิด หรือระลึกได้ว่า ไม่มีโทษเลย ขณะนั้นก็แสดงกำลังของปัญญาระดับหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่ว่าเพียงฟังแล้วก็เก็บทุกอย่างไว้เหมือนเดิม แต่จากการฟังแล้วมีความเข้าใจขึ้น ก็จะทำให้สามารถมีการระลึกได้ถึงโทษของธรรม ที่เป็นอกุศลในขณะนั้น

    อ.กุลวิไล เพราะว่า ถ้าเราฟังพระธรรมแล้วจะเห็นได้ว่า อกุศลธรรมให้โทษแน่นอน แต่กุศลธรรมนั้นไม่ได้ให้โทษเลย เพราะว่าผลของอกุศลกรรมให้ผล คือ ให้ผลที่ไม่ดีนั่นเองก็คือ อกุศลวิบาก ทุกท่านคงไม่ชอบ ที่จะได้รับในสิ่งที่ไม่น่าปรารถนา ไม่น่าใคร่ แต่สิ่งเหล่านั้นที่เราได้มา ก็เพราะว่า การให้ผลของกรรมที่ไม่ดีนั่นเอง ซึ่งท่านอาจารย์ได้กล่าวถึงการยึดถือ ว่าเป็นเรา ท่านอาจารย์ เป็นสิ่งที่ยากมาก เพราะว่า ผู้ที่จะละการยึดถือธรรมทั้งหลายว่าไม่ใช่เรา เป็นธรรมทั้งหมด ก็ต้องเป็นพระอริยบุคคลขั้นพระโสดาบัน เพราะฉะนั้น ท่านอาจารย์ยกตัวอย่างถึง การจับด้ามมีด ก็เห็นถึงระยะเวลาของการที่จะสะสมการฟัง และความเห็นถูกในสิ่งที่มีจริงในขณะนี้

    มีท่านที่ฝากคำถามมา ท่านแรกเขียนมาถามว่า ในการฟังพระธรรม จะได้ยินคำว่าธรรมไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่ใครทำอะไร แต่ก็ได้ยิน ได้ฟังอีกว่า กุศลควรทำ อกุศลไม่ควรทำ จะกราบเรียนท่านอาจารย์ถึงความละเอียดลึกซึ้งเป็นอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ก็พูดสิ่งที่ถูกต้องไม่ใช่ หรือ เพียงแต่ว่าเป็นธรรม ซึ่งใครก็บังคับบัญชาไม่ได้ แต่ว่าสามารถฟังเข้าใจได้ไหม ว่าสิ่งที่ดีควรเจริญ แต่ไม่ใช่เป็นตัวตนที่เป็นเราที่จะเจริญ แต่ถูก ก็คือ ถูก ผิด ก็คือ ผิด ถ้ากล่าวว่าอกุศลควรเจริญ ฟังแล้วก็รู้เลยใช่ หรือไม่ ใช้คำพูดอะไรถูก หรือเปล่า แต่ถ้าบอกว่า กุศลควรเจริญ ก็ใช้คำที่ถูกต้อง แต่ไม่ได้หมายความว่า เป็นเรา กุศลเป็นกุศล กุศลเป็นสิ่งที่ดีงามควรไหมที่จะเจริญ แต่ไม่ใช่หมายความว่า เป็นเรา กุศลก็ไม่ใช่เรา แต่ว่าเป็นธรรมที่ดี แล้วเจริญได้ยังไง ก็ไม่ใช่เราไปทำให้เจริญ แต่เจริญเมื่อมีเหตุที่จะให้กุศลนั้นเจริญ

    เพราะฉะนั้น การฟังธรรมต้องละเอียดจริงๆ มิฉะนั้น ก็จะใช้คำว่า เถียง หรือทะเลาะกับพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นี่เป็นข้อความจากอรรถกถา

    อ.กุลวิไล ท่านอาจารย์กล่าวถึง ความละเอียดของธรรม เพราะว่า ทั้งหมดเป็นธรรมนั่นเองแต่ถ้าเราศึกษาธรรม แล้วตั้งตนไว้ผิด ศึกษาด้วยความเป็นเรา ขณะนั้นก็ไม่รู้ความเป็นธรรมนั่นเอง เพราะว่ายังมีเรา ที่เป็นเครื่องกั้นอยู่ แล้วจะเป็นกุศลได้อย่างไร ถ้ามีเราที่จะต้องการ กุศล หรือว่าต้องการที่จะทำ แต่เพราะว่า ธรรมนั้นเอง สะสมปัจจัยที่จะให้เห็นถูกในสิ่งที่มีจริง และต้องด้วยปัญญานั่นเอง ที่จะเห็นถูกในสิ่งที่มีจริงในขณะนี้ ท่านอาจารย์ได้กล่าวถึง ความละเอียดของสิ่งที่มีจริง และท่านอาจารย์ก็ได้กล่าวว่า รู้อะไรแต่ละหนึ่งที่ไม่ปะปนกัน หลายท่าน ถ้ามาใหม่ก็คงสับสนสำหรับสิ่งที่มีจริงแล้วสิ่งเหล่านี้ไม่ปะปนอย่างไร กราบเรียนท่านอาจารย์

    ท่านอาจารย์ เห็นมีไหม ได้ยินมีไหม เห็นเป็นได้ยิน หรือเปล่า ก็หนึ่งแล้วใช่ไหม เห็นก็เป็นหนึ่งได้ยินก็เป็นหนึ่ง ปนกัน หรือเปล่า

    อ.กุลวิไล ไม่ปน ถ้าไม่ฟังพระธรรม เราไม่ทราบว่า เห็นไม่ใช่ได้ยิน และถ้าผู้ที่ศึกษาพระอภิธรรม จักขุวิญญาณก็ไม่ใช่โสตวิญญาน เพราะฉะนั้น ถ้าศึกษาธรรมแล้ว จะเน้นแต่ชื่อกับความหมาย แต่จริงๆ แล้ว เห็น และได้ยิน ก็เป็นสิ่งที่มีในขณะนี้ และถ้าเห็นก็ต้องเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา และได้ยินก็ได้ยินเสียงเท่านั้นเอง

    ดิฉันก็ขอกลับมาที่คำถามผู้ฝากมาอีก คุณอรรณพ คำถามนี้ก็สืบเนื่องมาจากการสนทนาที่วังน้ำเขียว ท่านผู้ถาม ถามว่าตอนที่ใกล้จะจบการสนทนาที่วังน้ำเขียวอาจารย์อรรณพทิ้งท้ายไว้ว่า คนพาลเป็นผู้เห็นโลกนี้เป็นปกติ ในใจก็คิดว่าบัณฑิตก็เป็นผู้เห็นโลกนี้เป็นปกติเช่นกัน แต่ความเป็นโลกที่ปรกติของคนพาลกับบัณฑิตนั้นย่อมต้องต่างกัน ขอให้ท่านอาจารย์ หรือท่านอาจารย์วิทยากร ช่วยอธิบายความเห็นโลกเป็นปกติของบัณฑิตนั้น เป็นอย่างไร

    อ.อรรณพ ก็ขึ้นกับว่าเข้าใจโลกตามความเป็นจริง หรือเปล่า เพราะว่า คำก็เอาไปใช้กันอย่างคำว่า โลก ผู้ที่ไม่เข้าใจธรรม ก็ใช้คำว่าโลก และคิดแบบที่คิด ผู้ที่เข้าใจธรรม ก็กล่าวคำว่า โลกแล้วก็เข้าใจว่า โลกนี่คืออะไร เพราะฉะนั้น ภาษาก็ใช้ไป แต่ความคิดความเข้าใจนั้น ก็แล้วแต่การสะสมมาของแต่ละบุคคล ฉะนั้น เราก็พูดเกิดมาอยู่ในโลกๆ นี้ แต่โลกในวินัยพระอริยะ ก็คือ โลกตามความเป็นจริง พระอริยะ ก็คือ ผู้ที่ประจักษ์แจ้งความจริงจนสามารถดับกิเลสได้

    เพราะฉะนั้น ถ้าไม่เข้าใจโลกตามความเป็นจริง โลกก็คือ สภาพธรรมที่อาศัยเหตุปัจจัยปรุงแต่งเกิดแล้วดับ อะไรก็แล้วแต่ที่เกิดขึ้นต้องมีปัจจัยให้เกิดขึ้นไม่มีอะไรสักอย่างที่จะเกิดขึ้นลอยๆ นี่คือเหตุผลที่มั่นคง เพราะฉะนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นอาศัยเหตุปัจจัยจึงเกิดขึ้น และเมื่อเกิดขึ้นแล้วต้องดับ ไม่มีอะไรสักอย่างหนึ่งที่อาศัยปัจจัยเกิดขึ้นแล้วไม่ดับ เพราะฉะนั้น โลก ก็คือ สภาพธรรมที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจในขณะนี้ซึ่งเกิดแล้วดับ แต่ผู้ที่ไม่ได้เข้าใจโลกตามความเป็นจริง ก็ใช้คำว่าโลกแบบชาวโลกทั่วๆ ไป เพราะฉะนั้น ก็คิดว่า เกิดมาก็เกิดมาอย่างนี้ ไม่เคยคิดว่า เหตุที่เกิดมา คืออะไร เกิดมาแล้วก็เป็นอย่างนี้ เมื่อเป็นอย่างนี้ก็อยู่ไปอย่างนี้

    เพราะฉะนั้น ขณะนี้มีความปรารถนา ต้องการมีโลภะ โทสะ โมหะ ยังไงก็เป็นไปด้วยกำลังของอกุศล ซึ่งก็มีรากฐาน มาจากความไม่รู้ความจริง เพราะฉะนั้น ก็เห็นเฉพาะสุขในโลกนี้ เห็นเฉพาะความที่จะได้มา ซึ่งรูป เสียง กลิ่น รส โผฐัพพะ ที่ติดข้องต้องการ เพราะฉะนั้น ก็คือ คนพาล เห็นโลกนี้เป็นปรกติ พาล คือ ผู้ที่มีความคิดที่ตรงข้ามความถูกต้อง ความถูกต้อง ก็คือ คำสอน หรือความจริงที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ และทรงแสดง

    เพราะฉะนั้น ใครก็ตามที่มีความคิดที่ตรงกันข้ามกับคำสอน ที่ถูกต้อง หรือตรงข้ามกับความเป็นจริง ผู้นั้นก็คือเป็นพาล อย่างเช่น เราคิดว่า อกุศลดี กุศลไม่ดี อย่างนี้ก็ต้องเป็นพาลความคิดเช่นนั้น เพราะฉะนั้น ผู้ที่ไม่ได้เข้าใจความจริง และก็คิดว่าทุกอย่างยั่งยืน เกิดมาแล้วลอยๆ มีชีวิตก็มาแล้วไม่ได้คิดถึงเหตุถึงผล ก็ค้านแล้วเป็นพาลตั้งแต่ว่าเกิดมาลอยๆ แล้วเกิดมาแล้วเป็นสภาพธรรมที่ปรากฏเกิดดับ แต่ผู้ที่เป็นพาล ตรงข้ามกับบัณฑิต ก็คิดว่ายั่งยืน เป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน เพราะฉนั้น จึงเห็นโลกนี้เป็นปรกติซึ่งเป็นโลกของผู้ที่ไม่เข้าใจ แต่ถ้าเป็นผู้ที่เข้าใจว่าโลก คือ อะไร ก็จะรู้ว่า โลก คือ สภาพธรรมที่เกิดขึ้นแล้วดับไป เมื่อยังมีเหตุปัจจัย ไม่มีอะไรจะหยุดยั้งความเป็นไปของจิตได้ ถ้าเหตุปัจจัยยังมี เพราะฉะนั้น เมื่อจุติจิต คือ จิตสุดท้ายของชาตินี้ดับไป แล้วปฎิสนธิจิตจะต้องเกิดทันที ไม่มีระหว่างคั่น จะต้องมีโลกหน้า เพราะว่า ไม่ว่าโลกนี้ โลกหน้า หรือโลกก่อนคือ ในอดีตชาติ อนาคต หรือปัจจุบันชาติ ก็คือสภาพธรรมที่เกิดขึ้น ตามเหตุตามปัจจัย สืบต่ออย่างนี้

    เพราะฉะนั้น คนพาลจึงเห็นโลกนี้เป็นปรกติเท่านั้น ไม่คิดถึงโลกหน้า หรือโลกก่อนเพราะไม่ได้เข้าใจความเป็นไปของสภาพธรรม และเหตุปัจจัยทั้งหลายก็เป็นเพียงความคิดเอาด้วยความไม่รู้

    อ.คำปั่น เคยได้ฟังข้อความที่ท่านอาจารย์บรรยาย เป็นข้อความที่มาจากชาดก ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความต่างกันระหว่างบุคคลสองประเภท ก็คือ บุคคลผู้ที่เป็นคนพาลกับผู้ที่เป็นบัณฑิต ความหมายของคนพาลก็คือ ผู้ที่ไม่รู้ประโยชน์ทั้งในโลกนี้ และโลกหน้าเป็นผู้ที่ไม่ถือเอาสิ่งที่ควรถือเอา แต่กลับถือเอาในสิ่งที่ไม่ควรถือเอา หรือเป็นบุคคลผู้ที่มีชีวิตอยู่ เพียงแค่ลมหายใจเข้าออกเท่านั้น ในทางตรงข้าม บุคคลผู้ที่เป็นบัณฑิต คือบุคคลผู้ที่มีปัญญา รู้จักทั้งประโยชน์ในโลกนี้ ประโยชน์ในโลกหน้า เพราะสามารถที่จะดำเนินชีวิตไปด้วยปัญญา ด้วยความเห็นที่ถูกต้อง ในลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง มีปัญญาเป็นเครื่องนำทางชีวิตที่ดี ที่จะทำให้ไปสู่ความดีทั้งปวง ซึ่งในข้อความนั้น ก็มีอยู่ว่า คนพาล เป็นผู้เห็นโลกนี้เป็นปรกติ


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 185
    22 ธ.ค. 2566