พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 805


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๘๐๕

    ณ มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๓๐ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๕


    อ.กุลวิไล ดิฉันเรียนถามท่านอาจารย์ สำหรับความเข้าใจถึงสภาพธรรม ว่าทุกขณะไม่พ้นไปจากธรรม เพื่อความที่ให้ทุกท่านมีความมั่นคงว่า คนไม่มี สัตว์ไม่มี แต่เป็นธรรมทั้งหมด กราบเรียนท่านอาจารย์

    ท่านอาจารย์ ทุกขณะไม่พ้นจากธรรม พูดง่ายๆ เลยใช่ไหม และก็เข้าใจตามด้วยว่า ทุกขณะไม่พ้นจากธรรม แต่ยังไม่ละเอียด เพราะเหตุว่า เห็นเดี๋ยวนี้มี จะรู้จักเห็นว่าเป็นธรรม ก็ต้องฟัง ไม่ใช่ว่าปัญญาที่ใครอยากจะให้มีมากๆ ก็ไปขวนขวายทำให้ปัญญาเกิดขึ้นได้ เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย แต่ปัญญา คือ ความเห็นถูก ความเข้าใจถูก ในสิ่งที่กำลังมี ชั่วขณะที่สั้นมาก เกิดแล้วก็ดับไป แล้วก็ไม่กลับมาอีกเลยเป็นครั้งหนึ่งที่สภาพธรรมนั้น มีปัจจัยเกิดขึ้น เป็นชีวิตแต่ละหนึ่งขณะ ในสังสารวัฏ หนึ่งขณะเดี๋ยวนี้ที่กำลังเห็น เป็นหนึ่งขณะในสังสารวัฏ ได้ยินแต่ละคำ หนึ่งคำที่ได้ยิน ที่ปรากฏเป็นเสียงกับจิตที่ได้ยิน ก็เป็นหนึ่งขณะ ในสังสารวัฏ เพราะเหตุว่า จะไม่กลับมาอีกเลย นี่คือการฟังให้เข้าใจความละเอียดของธรรม ไม่ใช่เพียงได้ยินว่าทุกอย่างเป็นธรรมก็พอแล้ว เข้าใจแล้วว่าทุกอย่างเป็นธรรม ความจริงไม่พอเลย เพราะเป็นแต่เพียง คำที่ทำให้สามารถที่จะรู้ได้ ว่าที่เคยเป็นเรา หรือว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ก็เป็นลักษณะของธรรมแต่ละหนึ่ง ซึ่งมีปัจจัยเกิดปรากฏแล้วก็หมดไป เมื่อความจริงเป็นอย่างนี้ ค่อยๆ เข้าใจขึ้น โดยไม่หวังว่าเมื่อไหร่สามารถที่จะรู้อย่างนี้ แต่ว่าให้เข้าใจมั่นคงขึ้น เดี๋ยวนี้กำลังเป็นอย่างนี้ เสียงที่กำลังปรากฏ หรือว่าสิ่งที่ปรากฏทางตา หรือความคิดนึก แต่ละขณะเกิดเพราะเหตุปัจจัย แล้วก็ดับไปอย่างรวดเร็ว ฟังเพื่อเข้าใจถูก เพื่อที่จะละความไม่รู้ หรือว่าฟังด้วยความเป็นเรา ว่าเมื่อไหร่จะรู้

    เพราะฉะนั้น การฟังธรรมก็ต้องเป็นผู้ที่ตรงจริงๆ คือ รู้ว่า ไม่รู้จริงๆ ว่าขณะนี้เป็นธรรมซึ่งมีปัจจัยเกิดแล้วดับ กว่าจะรู้ก็คือ เริ่มฟัง แล้วค่อยๆ เข้าใจขึ้น เพื่อที่จะเข้าใจขึ้นเท่านั้นเอง ไม่ใช่ยังคงเป็นเราที่ฟัง แล้วก็เมื่อไหร่จะรู้แจ้งสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ หรือว่าบอกว่า วิธีไหน ทำยังไง ฟังยังไง ฟังแล้วทำยังไง นั่นคือ ไม่เข้าใจคำว่าธรรม แล้วไม่เข้าใจคำที่พูดว่า ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ถ้าเข้าใจจริงๆ ก็รู้ว่าไม่มีใครไปฝืน ไปสร้าง หรือไปทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดได้เลย ทุกขณะในชีวิตแม้ในขณะนี้ แล้วแต่ว่าอะไรจะเกิด เกิดแล้วดับไป มากมายกว่าที่คิด เพราะเหตุว่า ขณะนี้มีเห็น แต่ว่าก่อนเห็นก็มีจิต ที่เกิดแล้วดับไปก่อน แล้วหลังเห็นก็มีจิตที่เกิดแล้วก็ดับไป กว่าจะถึงเห็นที่ดูเหมือนว่าไม่ดับเลย และก็มีได้ยินที่กำลังแทรกคั่น

    เพราะฉะนั้น ธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียด และก็ลึกซึ้ง เป็นสิ่งที่เมื่อเข้าใจ ก็จะค่อยๆ ละความไม่รู้ และไม่เข้าใจ โดยไม่หวังรอด้วย ว่าเมื่อไหร่จะรู้ความจริง เพราะเหตุว่า การที่จะรู้ความจริงอย่างนี้ โดยไม่เข้าใจเป็นไปไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น ก็สะสมความเห็นถูก ความเข้าใจถูก ในขณะที่กำลังฟัง ในขณะที่สิ่งหนึ่งสิ่งใดกำลังปรากฏ และรู้ว่าแม้สิ่งนั้นก็เป็นธรรม ที่จะต้องเข้าใจขึ้นๆ

    อ.กุลวิไล ท่านอาจารย์ก็ให้ความเข้าใจว่า ทั้งหมดเป็นธรรมอยู่แล้ว ท่านก็ถามถึงสภาพธรรมที่เป็นความฟุ้งซ่าน และรำคาญใจ กราบเรียนท่านอาจารย์ ว่าเป็นธรรมอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ใช้คำว่าฟุ้งซ่าน แล้วคือ อะไร ใช้คำที่ไม่รู้จัก ตั้งแต่เกิดจนตายหรือเปล่า เพราะฉะนั้น ก่อนอื่นถ้าจะเป็นผู้ที่ละเอียด ที่จะเข้าใจ ก็คือว่า ใช้คำว่า ฟุ้งซ่านหมายความว่าอะไร

    ผู้ฟัง กราบท่านอาจารย์ ความฟุ้งซ่าน เป็นสภาพธรรมที่เป็นอกุศลกรรมอย่างหนึ่ง

    ท่านอาจารย์ มีจริงๆ ใช่ไหม

    ผู้ฟัง มีจริงๆ

    ท่านอาจารย์ อกุศล เกิดพร้อมกัน ๔ ประเภท โมหะ ๑ อหิริกะ ๑ อโนตตัปปะ ๑ อุทธัจจะ ๑ จะไม่มีสภาพธรรมใดที่เกิดตามลำพังได้เลย เพราะฉะนั้น ในขณะที่สภาพธรรมที่เป็นฝ่ายไม่ดี ที่เป็นอกุศล หัวหน้าใหญ่ๆ ที่จะต้องเกิดพร้อมกันขาดไม่ได้เลย ก็คือ โมหะ เป็นเจตสิก เป็นสภาพธรรมที่มีจริง ที่ไม่สามารถที่จะรู้ หรือเข้าใจความจริงของสิ่งที่มีจริงที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้น ขณะใดก็ตามที่มีสิ่งหนึ่งสิ่งใดปรากฏ แล้วไม่รู้ว่าสิ่งนั้นเป็นอะไร หรือว่าเข้าใจผิด ก็เป็นอกุศลเพิ่มขึ้นอีก จากการที่ไม่รู้ เป็นความเห็นผิด หรือการยึดมั่น เพราะฉะนั้น ก็จะรู้ได้ว่า โมหะ เป็นความไม่รู้ แต่โมหะไม่ได้ฟุ้งซ่าน เพราะไม่รู้ ไม่รู้จะฟุ้งได้ไหม เพียงแค่ไม่รู้ ไม่รู้เท่านั้นเลย เห็นอะไรก็ไม่รู้ไม่ได้เข้าใจถูกต้องตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้น โมหเจตสิก จึงเป็นเจตสิกหนึ่ง มืดบอด ไม่รู้ไม่เข้าใจสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ปรากฏเลย นั่นเป็นลักษณะของโมหะ มีมานานไหม โมหะ ในแสนโกฏิกัปป์ แล้วเดี๋ยวนี้ล่ะ ทุกวันๆ มีโมหะ หรือเปล่า เมื่อสภาพธรรมก็ปรากฏแต่ก็ไม่ได้เข้าใจถูกเห็นถูก ในลักษณะของสภาพธรรมนั้น เมื่อมีโมหะ มีอหิริกะความไม่ละอายที่ไม่รู้ ไม่รู้ก็ไม่รู้ ไม่เห็นเป็นอะไร บางคนก็คิดว่าอย่างนั้น ทำไมจะต้องมีความละอาย ที่ไม่รู้ไม่เข้าใจสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ใครก็เปลี่ยนแปลงสภาพธรรมนั้นไม่ได้ เมื่อไม่รู้ความจริงจึงไม่ละอาย แต่ว่า ถ้าขณะใดที่มีความคิดว่า ควรเข้าใจสิ่งที่มี ที่กำลังปรากฏเพราะมีจริงๆ ขณะนั้นก็ตรงกันข้าม คือ หิริ แต่ว่าเมื่อมีโมหะ และอหิริกะ อโนตตัปปะ คือ ไม่เห็นโทษของการที่ยังคงไม่รู้อยู่ต่อไป ลองคิดดูไม่รู้ บางคนก็บอกว่าไม่เห็นเป็นไรเลย แต่ว่าไม่รู้ มีโทษระดับไหน ระดับที่จะทำให้อกุศลทั้งหลายเกิดขึ้น เพราะไม่รู้ความจริง เป็นเรา และก็มีความสำคัญตน แล้วก็มีความยึดมั่นในความเห็นผิดต่างๆ นี่ก็แสดงให้เห็นว่า เพราะโมหะทั้งสิ้น ด้วยเหตุนี้ ไม่ว่าจะพูดถึงความฟุ้งซ่าน หรือว่าอกุศลประเภทใดก็ตาม ก็จะไม่ขาดเจตสิก ซึ่งเป็นโมหเจตสิก อหิริกะเจตสิก อโนตตัปปะเจตสิก และอุทธัจจะเจตสิก ที่ใช้คำว่าฟุ้งซ่าน ไปรู้ฟุ้งซ่านตอนไหน ในเมื่ออกุศลทุกประเภท จะต้องมีโมหะ อหิริกะ อโนตตัปปะ และอุทธัจจะเจตสิก เกิดร่วมกันทุกครั้ง

    เพราะฉะนั้น ความฟุ้งซ่านที่ว่า อุทธัจจะเจตสิก นี่คือ อะไร คือ ขณะที่ไม่เป็นกุศลเพราะสภาพธรรมนี้เอง ไม่ว่าจะเป็นโลภะ หรือโทสะ หรือโมหะ ก็จะต้องมีอุทธัจจะเจตสิกเกิดร่วมด้วย เพราะไม่ได้มีความเข้าใจถูกในลักษณะของสภาพธรรมนั้น เพราะฉะนั้น ฟุ้งซ่านอย่างเดียว หรือว่าฟุ้งซ่านด้วยโลภะ เพราะว่าโมหะ อหิริกะ อโนตัปปะ อุทธัจจะ ทั้ง ๔ เจตสิกต้องเกิดร่วมกันในขณะนั้น ขณะที่โมหมูลจิตเกิด เพราะเหตุว่ามีแต่โมหเจตสิกเพียงอย่างเดียว ไม่มีโลภเจตสิก หรือโทสเจตสิกเกิดร่วมด้วยเลยขณะนั้นเป็นโมหะที่ต้องมีอหิริกะ อโนตตัปปะ และอุทธัจจะ ฟุ้งซ่านแล้วรู้ไหม เป็นโมหมูลจิต คือ จิตที่มีโมหะเป็นมูล มูลเดียว เพราะเหตุว่า เหตุหรือมูลมี ๖ เหตุ โมหะ โลภะ โทสะ และ อโมหะ อโลภะ อโทสะ อโมหะ ก็คือ ปัญญา แต่โมหะ เพราะว่าไม่ปรากฏให้รู้เลย จึงพูดว่าโลภะ โทสะ โมหะ เพราะเหตุว่า พอโลภะเกิด พอรู้ แต่จะรู้โมหะไหมขณะนั้น ว่าเพราะโมหะ โทสะเกิดก็รู้แต่ไม่รู้โมหะ เพราะฉะนั้น แม้ว่าจะมีมูลที่เป็นอกุศลมูล ๓ คือ เจตสิกที่เป็นเหตุที่เป็นอกุศล ๓ โมหะ โลภะ โทสะ แต่เราก็พูดถึงโลภะ โทสะ โมหะ เพราะว่า ถ้าเป็นโมหมูลจิตจริงๆ เท่านั้น รู้ไหม แต่พอมีสภาพที่เป็นอกุศลอื่นเกิดร่วมด้วย เช่น โลภะรู้ รู้โลภะ แต่ไม่รู้โมหะ เวลาที่โทสะเกิด ก็รู้ความขุ่นเคืองใจ แต่ว่าไม่รู้โมหะ เพราะฉะนั้น ที่ว่าฟุ้งซ่านจริงๆ ก็หมายความถึง ไม่ใช่โมหเจตสิก ไม่ใช่อหิริกะเจตสิก อโนตตัปปะเจตสิก แต่เป็นอุทธัจจะเจตสิก ซึ่งในขณะที่ไม่มีโลภะ โทสะเกิดร่วมด้วย ก็ยังมีโมหะ และอุทธัจจะแล้ว แต่ว่าไม่มีใครสามารถที่จะรู้ได้ เพียงแต่ฟังแล้วก็เข้าใจ แต่พอเกิดโลภะขึ้น ฟุ้งซ่านหรือเปล่า เพราะฉะนั้น ที่กล่าวว่าฟุ้งซ่าน ฟุ้งซ่านด้วยโลภะ หรือว่าฟุ้งซ่านด้วยโทสะ ซึ่งเป็นธรรมทั้งหมด

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์ถามว่า ฟุ้งซ่านตอนไหน ฟุ้งซ่านตอนนอนไม่หลับ

    ท่านอาจารย์ ฟุ้งซ่านตอนนอนไม่หลับ แล้วตอนนอนไม่หลับมีโลภะเกิดร่วมด้วยไหม หรือว่ามีโทสะเกิดร่วมด้วย หรือว่ามีแต่ฟุ้งซ่าน เห็นไหม ถ้าจะใช้คำต้องถูก ถ้ามีแต่ฟุ้งซ่าน คือ มีแต่อุทธัจจะจะรู้ไหม แต่ถ้ามีฟุ้งซ่านด้วยโลภะ ขณะนั้นรู้ หรือว่าฟุ้งซ่านด้วยโทสะ จึงนอนไม่หลับ ก็รู้อีก

    ผู้ฟัง กราบเรียนถามท่านอาจารย์ ถึงลักษณะของความฟุ้งซ่านที่เกิดกับโทสะ และมีกุกกุจจะเกิดร่วมด้วย เพราะว่าเป็นในชีวิตจริง ที่มันเกิดปรากฏ ถึงแม้นจะเป็นสภาพธรรมที่มีจริง แต่ก็ยังไม่ใช่สิ่งที่มีจริงที่ปรากฏกับสติสัมปชัญญะ

    ท่านอาจารย์ ครั้งหนึ่งในชีวิต ครั้งหนึ่งในสังสารวัฏ แต่กำลังพูดถึงความฟุ้งซ่านซึ่งเกิดแล้วครั้งหนึ่ง ขอเชิญคุณวิชัย

    อ.วิชัย ลักษณะของธรรม ก็จะมีลักษณะเฉพาะของตนๆ พระผู้มีพระภาคจึงทรงแสดงพยัญชนะ หรือบัญญัติสภาพธรรมนั้น ว่าเป็นลักษณะ อย่างเช่น ความไม่รู้ ก็ทรงแสดงว่าเป็นโมหะ หรือความหลงความไม่รู้ ฉะนั้น คำแต่ละคำก็แสดงหรือส่องให้ถึงลักษณะของธรรมประเภทนั้นๆ ซึ่งไม่ใช้คำก็ได้ แต่ว่ามีลักษณะ แต่ว่าเมื่อจะกล่าวให้เข้าใจว่า หมายถึง ธรรมใด ก็ต้องมีคำที่จะกล่าวถึงธรรมนั้น อย่างเช่น ใช้คำว่าฟุ้งซ่าน ความไม่สงบ โดยลักษณะก็มีลักษณะของเขาประการหนึ่ง ท่านอาจารย์ก็กล่าวมาแล้ว ก็คือ อุทธัจจะเจตสิก เป็นเจตสิกประเภทหนึ่ง ซึ่งเมื่ออกุศลจิตเกิดขึ้นเมื่อใด ต้องมีอุทธัจจะ คือ สภาพธรรมที่ไม่สงบ หรือว่าฟุ้งซ่านเกิดร่วมด้วยทุกครั้ง ถ้าเราพิจารณาถึงขณะที่เป็นอกุศล คิดเดือดร้อนใจ ไม่ว่าจะเป็นโลภะความต้องการความอยากก็ตาม หรือโทสะที่เรากล่าวอย่างนี้ เพราะว่า ธรรมเหล่านี้ที่กล่าวเป็นมูลคือ โลภะ โทสะ โมหะ เป็นธรรมที่เป็นมูล หรือว่าเป็นเหตุ ดังนั้น เมื่อธรรมเหล่านี้เกิดขึ้นก็ต้องมีธรรมอื่น ซึ่งเกิดร่วมกันกับธรรมเหล่านี้ด้วย เพราะว่า ธรรมแต่ละอย่างจะเกิดเพียงลำพังไม่ได้ ดังนั้น อกุศลจิตที่เรากล่าวคือ ที่จะแบ่งออกเป็นประเภทต่างๆ เป็นโลภมูลจิตบ้าง คือ จิตนั้นมีโลภะ มีความติดข้องใจ มีความพอใจเกิดร่วมด้วย ในขณะนั้น หรือว่าโทสะมูลจิต คือ จิตประเภทนั้น ประกอบด้วยความประทุษร้ายเกิดร่วมด้วย คือ โทสะ ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นโลภะ โทสะ หรือโมหะก็ตามเกิดขึ้น มีลักษณะ คือ ธรรมที่เรียกว่าเป็นอุทธัจจะ เกิดร่วมด้วยทุกครั้ง อย่างเช่น เราเคยมีความต้องการ หรือว่าอาจจะมีความขุ่นเคืองใจ จะเห็นว่าขณะนั้นไม่สงบเลย ใช่ไหม อาจจะนอนไม่หลับ วิตกกังวลเรื่องต่างๆ ขณะนั้น ก็มีธรรมประเภทนั้นเกิดร่วมด้วย ซึ่งยังให้สัมปยุตธรรมไม่สงบ เดี๋ยวก็เป็นไปในเรื่องนั้นเรื่องนี้ต่างๆ ก็เป็นลักษณะของอุทธัจจะ ความไม่สงบ ซึ่งต่างกับธรรม ซึ่งเป็นฝ่ายของโสภณธรรม ธรรมที่ดีงาม อย่างเช่น ขณะนี้ฟังธรรมเข้าใจ ไม่มีความเดือดร้อนใจเลย อุทธัจจะเกิดหรือไม่ ไม่เกิดขึ้น แสดงว่าขณะนั้นมีธรรมที่ดีงาม ซึ่งอุทธัจจะ เป็นอกุศลธรรมไม่เกิดร่วมด้วยแน่นอน จะเป็นกุศลไม่ได้แน่นอน เพราะว่าเป็นอกุศลธรรม

    เพราะฉะนั้น แต่ละขณะของธรรมเกิดขึ้น ก็มีลักษณะของธรรมแต่ละอย่าง แต่ว่าจุดประสงค์เพื่อเข้าใจถูก ไม่ใช่ไปห้ามที่จะไม่ให้ความเดือดร้อนใจ ฟุ้งซ่าน หรือว่ากุกกุจจะ คือ ความรำคาญใจ ที่อกุศลที่เคยทำไว้แล้ว ว่าไม่น่าจะทำเลย บางครั้งก็มีความคิดอย่างนี้ อกุศลที่ทำไว้แล้วก็เกิดความเดือดร้อนใจ ซึ่งกุกกุจจะ ความรำคาญใจก็เกิดพร้อมกับโทสะ ต้องเกิดร่วมกันจะเกิดลำพังไม่ได้ หรือตั้งใจจะทำกุศลไว้แล้ว แต่ยังมิได้กระทำ ก็มีความเดือดร้อนใจ ก็เป็นอกุศลธรรมประเภทหนึ่ง แต่ทั้งหมดที่กล่าวเพื่อให้มีความเข้าใจถูกเห็นถูก ว่าแต่ละอย่างก็เป็นธรรมแต่ละอย่าง เมื่อมีการเข้าใจถึงลักษณะของธรรม เมื่อมีธรรมเหล่านี้ปรากฏเกิดขึ้น สติจากการฟัง จากความที่เคยเข้าใจมาแล้ว ก็สามารถที่จะระลึกได้ มีความเข้าใจถูกว่า ก็เป็นธรรมแต่ละอย่าง ดังนั้น ความเข้าใจ คือ ปัญญาเหล่านี้ จะเป็นหนทางของการที่จะละอกุศลธรรมต่างๆ เหล่านี้ เพราะเหตุว่า เราจะห้ามการเกิดขึ้นของอกุศลธรรมไม่ได้เลย เมื่อมีปัจจัยก็ต้องเกิดขึ้น เมื่อกระทบอารมณ์ที่ไม่น่าปรารถนา ความขุ่นเคืองใจ ความเดือดร้อนใจก็เกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัย แต่ว่าขณะนั้น ไม่มีปัจจัยให้เกิดความรู้ความเข้าใจถูกเลย ในสิ่งที่ปรากฏ แต่ขณะที่มีการฟังเข้าใจสั่งสมความรู้ความเข้าใจเพิ่มขึ้น สิ่งเหล่านี้จะเป็นปัจจัย เมื่อมีธรรมที่เป็นแม้อกุศลธรรมเกิดขึ้นแล้วก็ตาม มีปัจจัยเกิดแล้ว แต่เมื่อดับไปแล้ว สติหรือปัญญาที่เคยสะสมไว้แล้ว ก็ยังเป็นปัจจัยให้สติหรือสัมปชัญญะเกิดขึ้น รู้ในลักษณะของธรรมเหล่านี้ ว่าเป็นธรรมแต่ละอย่างเท่านั้นเอง

    ท่านอาจารย์ คุณธิดารัตน์ เคยมีกุกกุจจะไหม

    อ.ธิดารัตน์ ก็เวลาที่มีความกังวล เพราะว่าลักษณะของกุกกุจจะ คือ ความเดือดร้อนรำคาญใจ ในกุศลที่ยังไม่ทำ ยังทำไม่เสร็จ หรือว่ายังไม่ได้ทำ หรือว่าอะไรก็ตามที่ทำไม่ดีความผิด หรือว่าอกุศลที่ทำแล้ว แล้วเดือดร้อนใจทีหลัง เพราะฉะนั้น ลักษณะของกุกกุจจะ อารมณ์ของเขาก็คือ มีความเดือดร้อนภายหลัง ในกุศลที่ยังไม่ได้ทำ หรือว่าในอกุศลที่ทำแล้ว จะมีสองอย่าง อย่างเช่น ตั้งใจว่าจะทำอะไรแต่ยังทำไม่เสร็จ แล้วก็กังวล ทั้งอุทธัจจะกับกุกกุจจะเกิดคู่กัน และเกิดกับลักษณะของโทสะเวลาที่พี่สุกัญญาไม่สบายใจ แล้วรู้สึกกังวล ถ้ากังวลในเรื่องของกุศลที่ยังทำไม่เสร็จ หรือว่ายังไม่ได้ทำใช่ไหม ก็เป็นโทสะที่เกิดพร้อมกับอุทธัจจะกุกกุจจะ แต่ลักษณะขณะนั้น ถ้าเป็นความเดือดร้อนใจด้วยเรื่องราวเหล่านี้ ขณะนั้นก็คือ เป็นลักษณะของกุกกุจจะ แต่ถ้าลักษณะของความฟุ้งซ่าน ความไม่สงบ ถึงแม้จะเกิดร่วมด้วยแต่ละเอียดมาก ถ้าสภาพธรรมไม่ได้ปรากฏทีละอย่าง เราจะไม่รู้ลักษณะของความฟุ้งซ่าน หรือว่า ที่ใช้คำว่าอุทธัจจะ ซึ่งเป็นความไม่สงบ

    ท่านอาจารย์ ฟังดู เหมือนอยากรู้จักชื่อหรือเปล่า เพราะว่าความจริงลักษณะนั้นกำลังปรากฏ โดยไม่ต้องเรียกชื่อก็ได้ ใช่ไหม แต่ว่าโดยมาก ถ้าศึกษาคำไว้มากก็จะหลงคำ แทนที่จะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมในขณะนั้น ตรงตามที่เคยเข้าใจว่าเป็นธรรม คือ สิ่งที่มีจริง เพราะฉะนั้น สิ่งที่มีจริงเลือกไม่ได้ เพราะเหตุว่า เป็นอนัตตาเมื่อคืนนี้นอนหลับสบาย คืนนี้อาจจะฟุ้งซ่านรำคาญใจก็ได้ ใช่ไหม แต่ว่าไม่ใช่ให้เราไปอยากรู้ชื่อ ว่าขณะนี้จะเป็นอุทธัจจะ หรือว่าจะเป็นกุกกุจจะ แต่ว่าลักษณะที่ต่างกัน ทำให้มีชื่อต่างกัน ถ้าขณะใดที่ไม่สงบ ขณะนี้มีอุทธัจจะไหม เห็นไหม เราฟังไปเรื่อยๆ แต่ว่าเราจะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังมีเดี๋ยวนี้หรือเปล่า เพราะฉะนั้น คำว่าฟุ้งซ่านแต่ว่าเดี๋ยวนี้มีฟุ้งซ่านหรือเปล่า คือ ขณะไหน ขณะที่เป็นอกุศล อกุศลทุกประเภท ทุกขณะไม่สงบ ในขณะที่ไม่สงบ เราก็สามารถที่จะสังเกตรู้ได้ ถ้าเป็นปัญญาในขณะนั้นแต่ยาก เพราะเหตุว่า เราต้องรู้ก่อนว่าเป็นธรรม ยังไม่ทันจะรู้ว่าเป็นธรรมเลย เครื่องกั้นมาแล้ว ตัวนี้อะไร ชื่ออะไร จะเรียกว่าอุทธัจจะ หรือว่าจะเรียกว่ากุกกุจจะ แค่จะเรียก โดยที่ไม่คำนึงถึงลักษณะที่เป็นอุทธัจจะ หรือว่าลักษณะที่เป็นกุกกุจจะ แต่ความจริงลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นนามธรรม รู้ไม่ง่าย เพราะเหตุว่า แม้แต่เห็นขณะนี้ชัดเจน ถูกต้องไหม เห็นชัดเจนแน่ๆ เพราะเห็นไม่ใช่ได้ยิน กำลังเห็นก็ยังไม่รู้ความจริง ว่าขณะนั้นเป็นธรรมที่กำลังรู้ คือ เห็นสิ่งที่กำลังปรากฏ ไม่ใช่ไปรู้อื่น แต่รู้คือ เห็นสิ่งที่กำลังปรากฏ ว่าสิ่งที่กำลังปรากฏเป็นอย่างนี้ในขณะนี้ ไม่เป็นอย่างอื่น ชั่วขณะนั้นไม่ใช่เราเลย นี่คือ การฟังธรรมเพื่อเข้าใจ แล้วก็ไม่กังวล ไม่ไปหลงคำที่จะเรียกชื่อต่างๆ โยนิโสมนสิการ อโยนิโสมนสิการ ไม่ว่าที่นี่ประเทศไทย หรือที่ไหน ก็เรียกกันใหญ่เลย โยนิโสมนสิการ อโยนิโสมนสิการ แต่ว่าความจริงเดี๋ยวนี้ คือ อะไร แม้แต่เพียงที่จะรู้ว่า เป็นสิ่งที่มีจริง ซึ่งไม่มีใครทำให้เกิดขึ้นเลย แต่เมื่อเกิดแล้ว ก็แสดงให้เห็นว่าต้องมีธรรมที่เป็นปัจจัยที่ทำให้เกิด นี่ก็คือ ขั้นคิด เพื่อที่จะให้สามารถเข้าใจ จนกระทั่งมีความมั่นคงว่าเป็นธรรม คือ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะมีปัจจัย ที่ทำให้เกิดขึ้นแล้วไม่เที่ยงด้วย แล้วไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาด้วย

    เพราะฉะนั้น การฟังธรรม ถ้าเข้าใจละเอียดขึ้น ย่อมเห็นความเป็นอนัตตา แต่ไม่ใช่ไปทำให้ติด ในการที่เราอยากจะรู้ ความต่างกันของชื่อ เพียงชื่อ แต่ต้องรู้ว่าในขณะนั้นสภาพธรรมต่างกัน อุทธัจจะไม่สงบ เพราะฉะนั้น เกิดกับอกุศลทุกประเภท กุกกุจจะเกิดกับจิตที่ต้องเป็นความรู้สึกที่เกิดร่วมด้วยกับจิตนั้น ที่เป็นโทมนัส คือ ไม่ใช่ความสบาย เดือดร้อนรำคาญใจแล้ว ด้วยเรื่องอะไรก็แล้วแต่ เรื่องมีสารพัดเรื่องแล้วแต่ว่าขณะนั้น จะมีปัจจัยทำให้ใจเกิดรำคาญใจ เมื่อนึกถึงเรื่องนั้นขณะใด ขณะนั้นในภาษาไทยเราก็ใช้คำว่า รำคาญใจ สงบไหม กำลังรำคาญใจ ขณะนั้น ต้องเรียกไหม ว่าเป็นกุกกุจจะ แต่ว่าควรจะเข้าใจว่าขณะนั้น ที่รำคาญใจ ไม่ใช่เราเลย เป็นธรรม ทุกอย่างเป็นธรรม ฟังธรรมเพื่อสะสมความเห็นถูกว่าเป็นธรรม จนกระทั่งไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นวันไหนขณะใด ก็สามารถที่จะมีความเข้าใจในสภาพธรรมนั้นๆ ว่าเป็นธรรม


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 185
    20 ม.ค. 2567