ปกิณณกธรรม ตอนที่ 851


    ตอนที่ ๘๕๑

    สนทนาธรรม ที่ ภูพานเพลส จ.สกลนคร

    วันที่ ๑๕ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๕๘


    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นจะเห็นได้เลยค่ะ ตั้งแต่เกิดจนตายเนี่ยนะคะ พูดคำที่ไม่รู้จัก ลองถามสักคำสิคะที่พูดมาเนี่ยรู้จักคำไหนบ้าง จนกว่าจะได้ฟังพระธรรม เพราะฉะนั้นคำต่างๆ ที่เราพูดเพราะไม่รู้นี่เยอะมาก แต่ถ้าเป็นคนตรงเมื่อไหร่เข้าใจเมื่อไหร่คำตรงขึ้น จะไม่พูดคำที่ไม่ตรง และตรงต่อลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริง ขณะนี้มีสิ่งที่มีจริงเป็นอนัตตา ต้องไม่ลืมนะคะ มีจริง และเป็นอนัตตาไปนั่งทำนั่นนี่ และรอบรู้ในพระพุทธพจน์หรือเปล่า เพราะฉะนั้นแต่ละคำ ไม่ได้หมายความว่าให้เราไปฟังจนสอบได้ จิตมีกี่ดวง เจตสิกมีกี่ดวงนะคะ แต่ฟังแล้วเข้าใจแต่ละคำมากน้อย ลึกซึ้งแค่ไหนก็ยังคงเป็นปริยัติ เพราะอะไรคะ สภาพธรรมเกิดดับแน่ แต่ขณะนี้ไม่ปรากฏการเกิดดับ

    เพราะฉะนั้นความรู้ขั้นนั้นเป็นปริยัติ คือฟัง และก็รู้ขึ้น มั่นคงขึ้น แน่ใจขึ้น เกิดแน่ดับแน่ จากเดี๋ยวนี้ไปเป็นขณะอื่นล่ะเก่า หายไปไหนล่ะหายไปจริงๆ ค่ะ แต่ลืมไม่ได้คิดถึงเลยว่าแท้ที่จริงไม่เหลือ เพราะติดข้องในสิ่งที่ปรากฏที่สืบต่อ ด้วยเหตุนี้ความไม่รู้ก็ปิดบังเรื่อยไป ตั้งแต่สิ่งที่เริ่มปรากฏแล้วก็ดับไปแล้วก็สืบต่อ ก็ไม่รู้ความจริงเลยทั้งสิ้น เห็นประโยชน์ของการที่ต้องเป็นผู้ที่ละเอียดรอบคอบ ลึกซึ้งมั่นคง ซึ่งทั้งหมดก็คือบารมี สัจจะเป็นความจริง แล้วจะไปสู่ความไม่จริงหรือ คำใดก็ตามที่เป็นคำจริง ฟังแล้วเข้าใจขึ้นควรฟังไหม นี่คือสัจจะ มั่นคงไหม นี่คืออธิษฐาน เป็นบารมี เพียรไหมที่จะต้องฟังเป็นบารมี วิริยะบารมี อดทนไหม ไม่ว่าจะหนาว จะร้อน จะเย็น จะค่ำ จะดึก จะดื่นหรือจะยังไงก็ตามนะคะ เมื่อมีเสียงของธรรม หรือมีโอกาสที่จะได้ฟังธรรมฟังไหม นี่คืออธิษฐานบารมี

    เพราะฉะนั้นทุกอย่างนะคะ ขันติบารมีความอดทนต่อการที่ไม่ใช่ เป็นเราอดทนนะคะ อาหารไม่อร่อย ก็ไม่เห็นเป็นไรเดี๋ยวก็อิ่ม อดทนที่จะไม่เดือดร้อนกับอาหารที่ไม่ถูกปาก คิดว่าเก่งแล้วนะคะ แต่เป็นเรา อะไรอดทนกว่ากันคะ อดทนแค่อาหารไม่อร่อยก็รับประทานได้ กับอดทนที่จะรู้ว่าขณะนั้นไม่ใช่เราสักอย่าง ไม่ว่าจะจะเป็นทางตาเห็น ทางหูได้ยิน ทางจมูกได้กลิ่น ทางลิ้นลิ้มรส ทางกายกระทบสัมผัส ทางใจคิดนึก แต่ละหนึ่ง ผ่านไปด้วยความไม่รู้ กับแต่ละหนึ่ง ได้ฟังแล้วเข้าใจ ขั้นเข้าใจนะคะ ไม่ใช่เราเป็นเราได้ยังไงคะ ไม่ได้ไปทำให้เกิดขึ้น ไม่มีอะไรเกิดขึ้นแล้วจะมีเราแต่ไหน

    เพราะฉะนั้นถ้ามีความมั่นคงจริงๆ นะคะ การฟังธรรมก็ทำให้เห็นความจริงถูกต้องขึ้น และเห็นพระคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และพระธรรม และอบรมเจริญปัญญาจนถึงความเป็นอริยสาวก ก็เป็นสังฆรัตนะ จากปุถุชน ทุกคนต้องเป็นปุถุชนก่อน พระโพธิสัตว์ก็เป็นปุถุชน จนกระทั่งสามารถที่จะรู้ความจริงได้ เพราะฉะนั้นแต่ละคำที่ได้ยินนะคะ เข้าใจเพียงพอในคำที่ได้ยินอย่างมั่นคงไม่เปลี่ยน เพราะจะต้องได้ยินอีกมาก ซึ่งต้องสอดคล้องกันไม่ค้านกันเลย แต่ถ้าคำไม่จริงค้านกับคำจริง รู้ได้เลยค่ะไม่ตรงกับความจริง เพราะฉะนั้นก็เป็นผู้ที่มีพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง เข้าใจขึ้น

    ผู้ฟัง ครับ พอเข้าใจขึ้นบ้างครับ

    ท่านอาจารย์ เข้าใจเป็นธรรมหรือเปล่าคะ

    ผู้ฟัง เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่งครับ

    ท่านอาจารย์ อย่างหนึ่งนะคะ คือ ไม่กี่ชื่อนะคะ ธรรม รูปธรรม นามธรรม

    ผู้ฟัง เป็นนามธรรมอย่างหนึ่ง

    ท่านอาจารย์ ค่ะ และก็เป็นอะไรในนามธรรม เป็นนามธรรมประเภทไหน

    ผู้ฟัง เป็นธาตุรู้ครับ

    ท่านอาจารย์ นามธรรมนั่นคือธาตุรู้ค่ะ ที่เกิดมาทั้งหมด ไม่เรียกอะไรเลยนะคะ รวมกันทุกอย่างแต่ละหนึ่งแต่ละหนึ่ง ซึ่งเป็นสภาพรู้นะคะ เป็นนามธรรมเพราะเป็นธาตุรู้ เราใช้คำนี้ไม่ใช่ให้จำ แต่ให้เข้าถึงความเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นรู้ เห็นไหมคะ ต่างกันแล้วไม่ใช่ให้จำแต่ให้รู้ว่ามีสิ่งที่เกิดขึ้นรู้ ไม่ว่าอะไรทั้งนั้นที่รู้ รู้จริงๆ แล้วก็ดับไป รู้ตามฐานะตามประเภท ตามลักษณะของธรรมหรือธาตุนั้นๆ เพราะฉะนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วไม่รู้นะคะ มีจริงเป็นธรรม แต่เพราะไม่รู้จึงเป็นรูปธรรม และไม่ได้มีแต่รูปธรรมค่ะ ถูกต้องไหม ถ้ามีแต่รูปธรรมอะไรๆ ก็ไม่ปรากฏ รูปธรรมรู้ได้ไหมคะ

    ผู้ฟัง รู้ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ แล้วจะมีอะไรปรากฏได้ไหม ถ้ามีแต่รูปธรรม

    ผู้ฟัง ไม่ได้ครับ

    ท่านอาจารย์ ไม่ได้แต่เวลานี้มีตั้งหลายอย่างปรากฏ เพราะมีธาตุรู้ เพราะฉะนั้นคำว่าธาตุรู้นี่ รอบรู้ว่าไม่ใช่เรา แต่เป็นสิ่งที่มีจริงที่เกิดขึ้นรู้ ย้ำแล้วย้ำอีก เพื่อไม่ใช่เพียงขั้นจำชื่อ แต่มีสิ่งที่มีจริงที่กำลังรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด

    ผู้ฟัง ก็ต้องเป็นจิตใช่ไหมครับอาจารย์

    ท่านอาจารย์ ค่ะ เพราะฉะนั้นสภาพซึ่งเป็นธาตุรู้ทั้งหมด ใช้คำว่านามธรรมนามธรรมนี้ก็ต่างกันอีก แยกละเอียดไปอีก เพราะความจริงไม่ใช่อย่างเดียวกัน นามธรรมที่เกิดขึ้นรู้แจ้ง สิ่งที่กำลังปรากฏแล้วดับ เท่านั้นเป็นจิตใช้คำว่าเป็นใหญ่เป็นประธาน เพราะฉะนั้นก็แสดงให้เห็นว่า ธาตุนี้ไม่ได้เป็นอย่างอื่นเลย นอกจากรู้สิ่งที่ปรากฏ อย่างเสียงนี้ค่ะ กำลังได้ยินเสียงเสียงนี้ เสียงนี้ จิตรู้แจ้งในเสียงนี้ที่กำลังปรากฏที่จิตเกิดขึ้นรู้ ไม่ใช่เสียงก่อนๆ หลายๆ เสียงที่ผ่านมา เช่นเสียงนี้ เสียงนี้ แต่ละจิตก็เกิดขึ้นนะคะ รู้เฉพาะแต่ละเสียงที่ปรากฏในขณะนั้นเท่านั้น นี่คือจิตเป็นใหญ่เป็นประธานนะคะ นอกจากนี้ทั้งหมดสภาพรู้อื่นๆ เป็นเจตสิก คำว่าเจตสิกก็คือเจตสิกะ ในภาษาบาลีภาษามคธีนะคะ หมายความว่าเกิดภายในจิต ไม่ได้เกิดที่อื่นเลย เกิดพร้อมจิต ไม่ได้แยกกันเกิดว่าจิตเกิดก่อน เจตสิกเกิดทีหลัง แต่ว่าอาศัยกัน และกันเกิด เพราะฉะนั้นคำว่าสังขารหรือสังขารธรรมธรรมเนี่ย หมายความถึงธรรมซึ่งเกิดจริง แต่เกิดเองไม่ได้ ใครไปทำให้เกิดก็ไม่ได้ ต่อเมื่อมีปัจจัยเฉพาะที่จะให้สิ่งนั้นเกิด สิ่งนั้นจึงเกิดได้ เช่นเห็นถ้าไม่มีจักขุประสาทรูป ที่สามารถกระทบกับสิ่งที่ปรากฏ และถ้าจิตไม่เกิดขึ้นเห็นขณะนี้ก็ปรากฏไม่ได้ แต่ในขณะที่เห็นครั้งหนึ่ง จิตเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์ คือสิ่งที่จิตกำลังรู้ แต่จิตจะเกิดตามลำพังไม่ได้ มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยในจิตนั้นเองพร้อมจิตนั้น เกิดพร้อมกัน และดับพร้อมกัน แต่สภาพนั้นไม่ใช่จิต เพราะฉะนั้นอื่นใดจากจิต เป็นเจตสิกทั้งหมด เพราะฉะนั้นเจตสิกโดยประเภทก็เป็น ๕๒ แต่หลากหลายมากมายนับไม่ถ้วน อย่างความอดทนขณะที่กำลังฟัง กับอดทนที่เริ่มเข้าใจลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ ต่างกันแล้วใช่ไหมคะ เมื่อ ๒ อย่างต่างกันใช้คำเดียวได้มั้ย ก็ผิด แล้วจะเข้าใจถูกในความต่างของ ๒ อย่างได้ยังไง ก็ต้องใช้คำต่างกัน เพราะฉะนั้นมีคำว่า สัมมาวายามะกับสัมมาทิฏฐิไหม ไม่เพียงความอดทนเดี๋ยวนี้ เพราะว่าอดทนขณะนั้นเกิดพร้อมกับปัญญา ที่สามารถที่จะเข้าใจเข้าถึงลักษณะของสภาพธรรมเร็วนี้แต่ละ ๑ เลย ตามที่ได้ฟัง ปัญญาระดับไหนมาจากไหน ก็ต้องมาจากการฟังแล้วค่อยๆ เข้าใจขึ้น ด้วยเหตุนี้นะคะ ทุกอย่างที่เกิดเนี่ยเกิดเองไม่ได้ แม้ปัญญาระดับไหนก็เกิดเองไม่ได้ แม้ความเพียรระดับไหนก็เกิดเองไม่ได้ ต้องอาศัยธรรมเช่นการฟัง เพราะฉะนั้นถ้าไม่มีการฟังวันนี้ แค่เมื่อวานเนี่ยจะเข้าใจ อย่างกำลังเข้าใจเดี๋ยวนี้ไหมเข้าใจเมื่อวานนี้กับความเข้าใจเดี๋ยวนี้ ต่างกันไหมคะ

    ผู้ฟัง ต่างกันครับ

    ท่านอาจารย์ เพิ่มขึ้นแล้วใช่ไหมคะ

    ผู้ฟัง ครับ

    ท่านอาจารย์ แล้วมาจากไหน

    ผู้ฟัง มาจากการฟัง

    ท่านอาจารย์ ด้วยเหตุนี้ก็เป็นผู้ตรง ถ้าไม่ได้ฟังพระพุทธพจน์ จะไม่มีทางรู้ความจริงแน่นอน ได้ยินแต่คำอื่นมีวิธีลัด ไม่ต้องศึกษาธรรมถูกไหม เป็นไปได้ไหม เพราะฉะนั้นผู้ที่ตรงรู้เหตุ และผล เหตุกับผลต้องตรงกัน ปัญญาต่างขั้น ก็ต้องมาจากปัญญาที่เริ่มเกิด ซึ่งเป็นปริยัติ ไม่ต้องหวังเลยคะ เมื่อไหร่จะรู้ว่าเดี๋ยวนี้ไม่ใช่เรา เพราะปรากฏเฉพาะสิ่งที่มีอย่างอื่นไม่ปรากฏเลย ถูกต้องไหมตามปริยัติ ตามที่ฟัง เพราะจิตจะเกิดขึ้นเพียง ๑ ขณะ จิตหลายๆ จิตจะเกิดพร้อมกัน ในขณะเดียวกันนั้นไม่ได้ จิตขณะ ๑ เกิดแล้วดับไป จึงเป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิดสืบต่อทันที ไม่มีระหว่างคั่นเลย ด้วยเหตุนี้จึงปรากฏเหมือนไม่ดับ มีใครบอกว่าจิตดับบ้างเดี๋ยวนี้ เพราะปรากฏเหมือนไม่ดับ ถูกต้องมั้ยคะ

    ผู้ฟัง ถูกครับ

    ท่านอาจารย์ ค่ะ เพราะไม่รู้ แต่ถ้ารู้แล้ว เข้าใจแล้ว ก็มั่นคง จิตเกิดพร้อมกันไม่ได้ จิตต่างประเภท และจิตขณะนี้เกิด มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยไหมคะ

    ผู้ฟัง มีครับ

    ท่านอาจารย์ มีจิตไหนที่ไม่มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยบ้าง

    ผู้ฟัง ไม่มีเลยครับ

    ท่านอาจารย์ ถูกต้องมั่นคงไหม

    ผู้ฟัง มั่นคงขึ้น

    ท่านอาจารย์ แต่ว่าเจตสิกที่เกิดกับจิตหลากหลาย ทำให้จิตต่างกันเป็นประเภทต่างๆ มิเช่นนั้นก็ต้องเป็นจิตประเภทเดียว แตกต่างกันเพราะเจตสิกที่เกิดร่วมกับจิตในขณะนั้น ทำให้จิตนั้นเป็นไปตามเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย เพราะฉะนั้นมีอีกคำหนึ่งนะคะ สำหรับจิต ปัณฑระ เพิ่มขึ้นละ เพื่อให้เข้าใจถูกต้องจริงๆ ปัณฑระหมายความถึงผ่องแผ้ว คือเฉพาะจิตเนี่ยค่ะ ไม่มีเจตสิกใดๆ ที่จะเป็นกุศลหรืออกุศลที่แม้เกิดร่วมด้วยก็ไม่ใช่จิต เฉพาะจิตเท่านั้นซึ่งเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้ จึงไม่ใช่ดีชั่ว เพราะไม่ได้พูดถึงเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย ซึ่งทำให้จิตนั้นประกอบด้วยเจตสิกนั้นเป็นลักษณะอย่างนั้น โดยตัวจิตเป็นอย่างเจตสิกไม่ได้ แต่เพราะมีเจตสิกนั้นเกิดร่วมด้วย ก็เปลี่ยนสภาพของจิต ซึ่งมีเจตสิกนั้นเกิดร่วมด้วย ให้ไม่มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยหรือให้มีเจตสิกอื่น นอกจากนั้นเกิดร่วมด้วยก็ไม่ได้ แต่ต้องแยก จิตเป็นจิตถูกต้องไหมคะ แค่เป็นธาตุรู้ ที่เกิดขึ้นเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้ เจตสิกไม่ได้เป็นใหญ่เป็นประธานอย่างจิต เจตสิกแต่ละ ๑ เกิดขึ้น มีลักษณะที่เป็นเจตสิกนั้น ทำกิจของเจตสิกนั้น อาการปรากฏก็ของเจตสิกนั้น เหตุใกล้ที่จะให้เจตสิกนั้นเกิด ก็ไม่ใช่เหตุใกล้ที่ให้เจตสิกอื่นเกิด เพราะฉะนั้น นี่คือความหลากหลายอย่างยิ่งนะคะ ของขณะนี้ จากความไม่รู้เลย เป็นการเริ่มค่อยๆ เข้าใจ สิ่งที่ได้ยินได้ฟัง จนกว่าจะสามารถเข้าถึงความเป็นจริง ซึ่งใช้คำว่ากับตรัสรู้หรือใช้คำว่าวิปัสสนาญาณ ซึ่งไม่ใช่ปัญญาที่เพียงฟังเข้าใจ แต่ขณะนั้นชัดเจน วิปัสสนานะคะ แจ่มแจ้ง เพราะสภาพธรรมไม่ได้ปะปนกันเลย ปรากฏทีละ ๑ จะชัดเจนไหม ในความเป็นสภาพธรรมนั้น จึงเป็นวิปัสสนาญาณ เพราะฉะนั้นธรรมทั้งหมดนี่ค่ะ รู้ได้ แต่ไม่ใช่เพราะอยากรู้ ไม่ใช่เพราะเข้าใจผิด คิดว่าเราจะรู้ได้ เราจะทำได้ แต่เพราะละความไม่รู้ และการที่ถือว่าเป็นเรา เพราะเป็นธรรมเท่าไหร่ สภาพธรรมจึงสามารถปรากฏได้ ตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้นทุกคำที่กล่าวปรากฏได้ แก่ปัญญาที่ได้อบรมแล้ว ไม่ใช่เพราะความอยาก ด้วยเหตุนี้นะคะ ขณะนี้มีจิตไหม

    ผู้ฟัง มีครับ

    ท่านอาจารย์ ใช้คำว่าจิตได้นะคะ ใช้คำว่าหทยได้ไหม ก็คือจิตที่อยู่ภายในที่สุดเลยแล้วก็ใช้คำว่าปัณฑระ กล่าวเฉพาะจิต เพราะไม่กล่าวถึงเจตสิก เจตสิกแต่ละ ๑ ก็หลากหลายกันไป เพราะฉะนั้นเห็น เป็นจิตรึเปล่า

    ผู้ฟัง เป็นจิต ครับ

    ท่านอาจารย์ ค่ะ เกิดตามลำพังได้ไหมคะ

    ผู้ฟัง ไม่ได้ครับ

    ท่านอาจารย์ มีอะไรเกิดร่วมด้วย

    ผู้ฟัง ก็ต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยครับ

    ท่านอาจารย์ เกิดพร้อมกันนะคะ แล้วเจตสิกเป็นจิตรึเปล่า

    ผู้ฟัง ไม่ใช่จิตครับ

    ท่านอาจารย์ ค่ะในขณะ ๑ นะคะ ที่จิตเกิดต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยอย่างน้อยที่สุด ๗ ประเภท เดี๋ยวนี้ เห็นไหมคะ เริ่มค่อยๆ เห็นความเป็นอนัตตา ทรงแสดงไว้โดยละเอียดเพื่อใคร เพื่ออะไร เพื่อผู้มีปัญญาน้อยค่ะ ฟังแล้วไม่สามารถจะเข้าใจได้ทันที ก็ทรงแสดงโดยละเอียดอย่างยิ่ง เพื่อค่อยๆ สะสมความเข้าใจทีละเล็กทีละน้อย ว่าไม่ใช่เรา อกุศลที่เกิดมากมายมหาศาลนะคะ ที่ไม่เคยฟังธรรมในแสนโกฏิกัปป์ด้วยความไม่รู้ แล้วจะละความเป็นเราได้อย่างไร เพียงแค่ฟังนิดเดียว หรือไม่ฟังก็ไปปฏิบัติโดยไม่รู้อะไรเลยทั้งสิ้น นั่นไม่ใช่คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คำว่าพุทธะคือผู้รู้นะคะ เพราะฉะนั้นทุกคำ ที่เป็นคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นปัญญา เพื่อเข้าใจถูกทุกคำไม่ใช่ฟังลอยๆ เปล่าๆ แต่เพื่อเข้าใจสิ่งที่มีได้เพราะคำนั้น แต่ละคำ เดี๋ยวนี้มีเจตสิกไหมคะ

    ผู้ฟัง มีครับ

    ท่านอาจารย์ มีจิตไหม

    ผู้ฟัง มีครับ

    ท่านอาจารย์ มีเจตสิกโดยไม่มีจิตได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้ครับ

    ท่านอาจารย์ มีจิตโดยไม่มีเจตสิกได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้ครับ

    ท่านอาจารย์ อาศัยกัน และกันนะคะ จึงใช้คำว่าสังขารธรรม เพราะฉะนั้นสิ่งหนึ่งสิ่งใดก็ตามที่เกิดเป็นสังขารธรรม เพราะอาศัยกันเป็นปัจจัย ทำให้เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เพราะฉะนั้นไม่ใช่เรา ถ้าไม่ได้ฟังธรรมนะคะ สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง คิดถึงอะไรคะ คิดถึง

    ผู้ฟัง เวลาเจ็บป่วย หรือเวลาตายครับ

    ท่านอาจารย์ ร่างกาย ใช่ไหมคะ

    ผู้ฟัง ครับ

    ท่านอาจารย์ แต่ความจริงสังขาร หมายความถึงธรรมทั้งหมด ที่เกิดเพราะมีปัจจัยถ้าไม่มีปัจจัยเกิดได้ไหม

    ผู้ฟัง เกิดไม่ได้ครับ

    ท่านอาจารย์ ค่ะ เพราะฉะนั้นมั่นคงไหมคะ ว่าถ้าไม่มีปัจจัยเกิดไม่ได้ ความโกรธที่เกิดเนี่ยต้องมีปัจจัย เคยได้ยินได้ฟัง เคยไม่ชอบคำนั้นเรื่องนั้น เพียงแค่ได้ยินหรือว่าเพียงแค่นึกถึงชื่อ แค่นึกถึงชื่อนะคะ โกรธได้มั้ยค่ะ

    ผู้ฟัง ได้ครับ

    ท่านอาจารย์ เพราะจำ และก็เพราะเคยได้ฟังมาแล้ว ขณะที่เกิดขึ้น ขณะที่ไม่ชอบเป็นจิตหรือเจตสิก

    ผู้ฟัง เป็นเจตสิกครับ

    ท่านอาจารย์ ไม่มีจิตเกิดได้ไหมคะ ความโกรธความไม่ชอบ ไม่มีจิต

    ผู้ฟัง ไม่ได้ครับ

    ท่านอาจารย์ นี่แสดงให้เห็นว่าเริ่มมั่นคงใช่ไหมค่ะ

    ผู้ฟัง ครับ

    ท่านอาจารย์ ถ้าเข้าใจขึ้นจะรู้ว่าไม่ใช่เรานี่ทั้งหมดเลย แล้วเราก็ไปทำอะไรไม่ได้แล้วไปนั่งทำอะไรกัน แต่ว่าเข้าใจได้แน่นอน เมื่อฟังพระพุทธพจน์ เห็นเหตุกับผลตรงกันไหมคะ เพราะฉะนั้นหนทางเดียว ได้ยินบ่อยๆ เอกายนมรรคโค หนทางที่จะรู้ความจริงก็คือ เข้าใจจากการฟังอย่างมั่นคง เป็นปัจจัยให้เริ่มเข้าถึง เข้าใจ ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ โดยความเป็นอนัตตา ทิ้งคำไหนที่ได้ฟังแล้วไม่ได้เลยค่ะ เพราะเหตุว่าความไม่รู้มีมาก การยึดถือมีมาก เพราะฉะนั้นต้องอาศัยการไม่หลงลืม เห็นไหมคะ ที่จะเป็นความจำที่มั่นคงว่าไม่ใช่เรา เพราะฉะนั้นเมื่อวานนี้ คิดถึงจิตรู้ว่าจิตไม่ใช่เรา แต่ยังไม่ได้เข้าใจเพียงพอ จึงมีคำถามเรื่องจิต และเจตสิกในวันนี้ เพื่อให้เข้าใจขึ้น ต่อไปนี้คงมั่นคงนะคะ จิตเป็นจิต เจตสิกเป็นเจตสิก จิตเจตสิกเป็นสภาพรู้ สิ่งที่ถูกรู้ใช้คำว่าอารมณ์ เพราะฉะนั้น อย่างสิ่งที่ปรากฏทางตานี่นะคะ ใช้คำว่ารูปะหรือรูป แต่รูปที่จิตไม่รู้ไม่เห็น รูปนั้นไม่ใช่รูปารมณะ คือไม่ใช่อารมณ์ที่จิตรู้ เพราะฉะนั้นเวลาที่ได้ยินคำภาษาบาลีนะคะ เข้าใจความหมายด้วย ไม่ใช่เพียงจำ อย่างบอกว่าจิตเห็น จักขุวิญญาณ ไปจำละจักขุวิญญาณ จิตเห็นจักขุวิญญาณ รู้รูปารมณ์ก็ไปจำไว้อีก แต่ถึงไม่เรียกรูปารมณ์ สิ่งหนึ่งสิ่งใดก็ตามที่ปรากฏให้เห็นทางตา ใช้คำว่ารูปารัมมณะหรือรูปารมณ์ เพื่อแยกจากอารมณ์อื่นซึ่งปรากฏทางอื่น ภาษาไทยใช้คำว่า เสียง ภาษาบาลีไม่มีคำว่าเสียงนะคะ แต่ใช้คำว่าสัทท เพราะฉะนั้นเสียงใดที่จิตกำลังรู้ ก็รวมเป็นสัทธารมณ์เฉพาะเสียงที่จิตรู้ แต่เสียงทั่วไปก็เป็นเสียง สัททะ แต่จิตรู้เสียงไหน เช่นเดี๋ยวนี้ ที่จิตกำลังรู้ลักษณะของเสียงนั้น รู้แจ้งในเสียงนั้น เสียงเดียวขณะนั้น เสียงนั้นเสียงเดียวที่จิตกำลังรู้แจ้งเป็นสัททารมณ์ คือหมายความว่า เป็นอารมณ์ที่จิตกำลังได้ยิน กำลังคิดนะคะ เป็นเสียงหรือเปล่า

    ผู้ฟัง กำลังคิดไม่ใช่เสียงครับ

    ท่านอาจารย์ เป็นการจำเสียงหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ถ้าคิดถึงเสียง ก็เป็นการจำเสียง

    ท่านอาจารย์ คิดเรื่องไหนก็ได้ค่ะ เป็นการจำเสียงหรือเปล่า

    ผู้ฟัง จำครับ

    ท่านอาจารย์ แต่ไม่ใช่ตัวเสียงจริงๆ ใช่ไหมคะ เสียงจริงต้องกระทบหู จิตได้ยินเกิดขึ้นเสียงนั้นดับ ปรากฏแล้วดับแล้วไม่กลับมาอีกเลย เพราะฉะนั้นเมื่อคิดถึงเสียงนั้นไม่ใช่เสียงที่มีปัจจัยเกิดกระทบหู จิตได้ยินเสียงแล้วดับ แต่เป็นเสียงที่เพราะจำ คำนั้นเสียงนั้น เด็กเกิดใหม่นี่พูดได้ไหมคะ

    ผู้ฟัง ไม่ได้ครับ

    ท่านอาจารย์ ไม่รู้เลยเสียงที่ได้ยินพูดว่าอะไร แต่พอชินหู ค่อยๆ จำเสียงต่างๆ เสียงสูงเสียงต่ำ ได้ยินคำว่า แม่ เห็นมั้ยคะ ก็เริ่มรู้ว่าแม่ เนี่ยหมายความถึงใคร อะไรที่ไหน แต่เสียงนั้นไม่ทำให้คิดถึงเสียงอื่น เพราะฉะนั้นทุกเสียงเป็นไปตามความหมาย เพราะฉะนั้นกำลังคิดเรื่องราวต่างๆ เนี่ยนะคะ เป็นเสียงหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ไม่ใช่เสียงครับ

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่เสียงแต่จำเสียงหรือเปล่า

    ผู้ฟัง เป็นสภาพจำเสียงมา

    ท่านอาจารย์ ค่ะ เพราะฉะนั้นทุกครั้งที่คิดเรื่องเป็นสภาพที่จำเสียง เมื่อคืนนี้คิดเรื่องจิต จำเสียง และรู้ว่าหมายความถึงอะไรใช่ไหมคะ จึงคิดว่าจิตกับเจตสิกต่างกัน หรือเหมือนกันยังไงทั้งหมดค่ะ ที่เป็นการคิดนึกเรื่องราวต่างๆ นะคะ ก็คือจำเสียงเพราะเข้าใจ หรือว่าเสียงภาษาอื่น จำได้เหมือนภาษาที่เคยได้ยินไหม ถ้าไม่รู้ความหมาย คำว่าสวัสดีของชาวเวียดนาม ได้ยินครั้งหนึ่ง ลืม ต้องได้ยินหลายๆ ครั้ง พบหน้ากันทีไร กว่าจะนึกออกว่าจะสวัสดีภาษาเวียดนาม พูดยังไงก็นึกไม่ออก เพราะไม่คุ้นเคย เหมือนเด็กไหมคะ ได้ยินแต่ก็ยังไม่ได้จำ เพราะฉะนั้นธรรมทั้งหมดนี่ค่ะ ไม่ใช่ใครสักคน ไม่ใช่วัตถุใดๆ ที่เหมือนเที่ยงเป็นโต๊ะเป็นเก้าอี้ แต่มีสภาพที่เกิด และดับ เป็นลักษณะของสังขารธรรม หมายความถึงธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย ถ้าไม่มีปัจจัยก็ไม่เกิด เกิดแล้วก็ต้องดับ เพราะฉะนั้นสิ่งที่เกิดดับ เพราะมีเหตุปัจจัยทั้งหมด เป็นสังขารธรรม

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 178
    7 เม.ย. 2567