ปกิณณกธรรม ตอนที่ 728


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๗๒๘

    สนทนาธรรม ที่ โรงแรมอิมพีเรียลแม่ปิง จ.เชียงใหม่

    วันที่ ๒๗ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๘


    ท่านอาจารย์ เพราะว่าจริงๆ แล้วทุกคนต้องมั่นคงมั่นในการสรรเสริญ ยกย่อง บูชาความดีเท่านั้น เป็นเกียรติจริงๆ เพราะเหตุว่า ถึงจะอยู่ในฐานะอย่างไร แต่ว่าความดีทั้งหมดก็เป็นสิ่งที่ทุกคนยกย่อง ก็มีข่าวบ่อยๆ ใช่ไหม แท็กซี่ เด็กนักเรียนนำเงินไปคืนเจ้าของ ใครที่ได้ยินก็ชื่นชม ไม่ได้มีใครคิดว่า เขาเป็นใคร แต่ขณะนั้น ความดีได้ทำแล้ว หรือแม้แต่คนที่อาจจะมีอำนาจ วาสนา ยศฐาบรรดาศักดิ์ ทุจริต ใครยกย่องบ้าง ไม่มีใครยกย่องเลย

    เพราะฉะนั้น ต้องเป็นผู้ที่ตรง คุณความดีเท่านั้น ที่ทำให้คนนั้นพ้นภัย แล้วก็ไม่มีใครที่จะรังเกียจด้วย แล้วจะเป็นคนไหนดี ชาติหน้าอาจจะเร็วมากเลยสำหรับชาตินี้ เย็นนี้ก็ได้ เดี๋ยวนี้ก็ได้ เพราะฉะนั้น ชาติหน้าจะเป็นแบบไหนดี เมื่อวานนี้ทำดีแค่ไหน พอนึกถึงเมื่อวานนี้เหมือนชาติก่อนเลย ถ้าเมื่อวานนี้รู้ว่าทำไม่ดี ชาตินี้ทำดีกว่าเมื่อวานนี้ ถึงจะเป็นการถูกต้องใช่ไหม เพราะฉะนั้น การที่จะพอใจในคุณความดี ก็คือว่าไม่ใช่เพียงอยาก หรือเพียงคิด แต่ทำดี และศึกษาพระธรรม เพราะว่าทำดีเท่านั้นไม่พอ ใครจะทำดีได้ตลอดโดยไม่มีปัญญา แต่ปัญญาต่างหากที่ทำให้ความดีนั้นเพิ่มขึ้น

    ธรรมก็เป็นเรื่องซึ่งใครรังเกียจที่จะเรียนบ้าง ใครเบื่อ ใครเห็นว่าไม่มีประโยชน์บ้าง คนนั้นต้องเป็นคนเขลา และความจริงก็ไม่มีคนนั้น อวิชชาความไม่รู้ว่าสิ่งใดควร สิ่งใดดี สิ่งใดเป็นประโยชน์ เวลานี้ อวิชชามากมายมหาศาล จักรวาลทั้งจักรวาลก็ไม่สามารถที่จะบรรจุอกุศลได้ ถ้าเป็นวัตถุ แต่นี่เป็นจิต นามธรรมไม่มีรูปร่างเลย เก็บได้ทุกอย่าง พระโพธิสัตว์กว่าที่จะได้ตรัสรู้ กี่พระชาติที่บำเพ็ญบารมี เก็บไว้ทุกอย่าง เพื่อถึงเวลาที่พร้อมที่จะรู้ความจริง เดี๋ยวนี้ตามปกติ ถ้าไม่มีความจริงให้รู้ ตรัสรู้ไม่ได้ แต่สิ่งที่มีจริงนี่แหละ รู้ได้ แต่ต้องด้วยคุณความดี อกุศลไม่สามารถที่จะเข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏเลย

    ชีวิตที่ผ่านไป เห็นประโยชน์ของการศึกษา ก็ยังไม่พอ เพราะว่าอกุศลมีมาก และอกุศลไม่สามารถที่จะเห็นถูก เข้าใจถูกได้ แต่ความดีค่อยๆ ขจัดอกุศลทีละเล็กทีละน้อย แม้ว่าขณะนั้นจะไม่ใช่ปัญญาที่เห็นถูก แต่ก็สะสมไปเพื่อมีกำลังที่จะสละความเห็นผิดได้ เพราะกุศลทั้งหมดสละอกุศล โลภะจะเรียกว่าเจ้าใหญ่นายโตก็ได้ ใหญ่จริงๆ โตจริงๆ ใครชนะบ้าง ใครฝืนได้บ้าง อาหารอร่อยอยู่ตรงหน้า เป็นต้นเท่านั้นเอง อะไรชนะ โลภะกับอวิชชา ธรรมดามากเลย แล้วถ้ายิ่งกว่านี้ ความไม่รู้กับความรู้จากความไม่รู้แล้วค่อยๆ เป็นความรู้ขึ้น ผู้ที่รู้แจ้งสภาพธรรม ไม่ได้รู้อื่นเลย แต่รู้เห็น ที่กำลังเห็น ถ้าไม่มีเห็นแล้วจะไปรู้อะไร ว่าเห็นเกิดดับ ได้ยินขณะนี้ ผู้ที่มีปัญญารู้ความจริง ไม่ได้รู้อื่น รู้ทุกอย่างที่มีตามปกตินั่นแหล่ะ จากความไม่รู้ สู่ความรู้มากไหม กว่าจะสามารถอบรมให้ความไม่รู้ลดลง แล้วก็ความรู้เพิ่มขึ้น เดี๋ยวนี้เอง ธรรมดาที่สุดคือแแข็ง รู้หรือไม่รู้ เหมือนเดิม แข็งก็แข็ง แต่แข็งมีจริงๆ เหมือนสิ่งที่ปรากฏทางตาขณะนี้ก็มีจริงๆ เหมือนเสียงขณะนี้ก็มีจริง ไม่ได้ต่างกันเลย

    แข็งก็อย่างหนึ่งที่มีจริง เหมือนเสียง เหมือนสิ่งที่ปรากฏ แล้วจะมีความรู้อะไร ในวันหนึ่งๆ นอกจากสิ่งเหล่านี้แหละ เพราะฉะนั้น แข็งแล้วไม่ปกติ แข็งแล้วฟังรู้ว่า เป็นสิ่งที่มีจริง หนึ่งในสังสารวัฏฏ์ ทั้งวันไม่เคยขาดแข็ง เพราะมีการกระทบสัมผัสตลอด ตั้งแต่ตื่น จาน ช้อน ส้อม เสื้อผ้า รองเท้า ไม่ว่าอะไรทั้งหมด ไม่ขาดแข็ง ผ่านไปตลอดโดยไม่รู้ เหมือนเห็นนี่ก็ผ่านไปทุกขณะ ได้ยินขณะนี้ก็ผ่านไปทุกขณะ โดยไม่รู้

    เพราะฉะนั้น แข็งธรรมดาอย่างนี้ ความเข้าใจที่เพิ่มขึ้นจนกระทั่งสามารถเข้าใจแข็งโดยสภาพที่มีจริงเท่านั้นอย่างหนึ่ง มีหรือยัง ทั้งๆ ที่ฟังมา เห็นหรือยัง เพียงเท่านี้ อวิชโชฆะ โอฆะของความไม่รู้ เห็นกระแสน้ำ เห็นแม่น้ำกว้างใหญ่มาก แม่โขงบางตอนกว้างใหญ่ มหาสมุทรก็ยิ่งใหญ่กว่านั้นอีก ความไม่รู้ใหญ่กว่าหรือเปล่า เพราะฉะนั้น ที่จะข้ามโอฆะไปสู่ฝั่งรู้จากฝั่งไม่รู้นี่ ต้องอาศัยการอบรมทีละเล็กทีละน้อย ตั้งแต่ความเห็นถูกขั้นฟัง จนกระทั่งเป็นปัจจัยให้ถึงปฏิปัตติ ที่คนไทยใช้คำว่า ปฏิบัติ ไม่ใช่ใครไปทำได้เลย สติสัมปชัญญะ รู้หรือเปล่าขณะไหนเกิด ขณะไหนไม่เกิด ถ้าไม่รู้แล้วจะอบรมได้อย่างไร เพราะฉะนั้น ทั้งหมดที่ฟัง เป็นเรื่องปัญญาทั้งหมด ถ้าฟังอะไรจากใคร และไม่มีความเข้าใจอะไรในสิ่งที่ปรากฏ ไม่ใช่คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

    อ.วิชัย การที่มีโอกาสได้ฟังพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงแม้ในเรื่องของอภิธรรมปิฎกก็จะมีความละเอียดลึกซึ้งมาก อย่างเช่น แม้ในเรื่องของปัจจัยของธรรม จะอุปการะเกื้อกูล ต่อความรู้ความเข้าใจในสิ่งที่ปรากฏอย่างเช่นแข็งขณะนี้ อย่างไร

    ท่านอาจารย์ จะฟังเรื่องปัจจัยจากตำราไหน หรือว่าเดี๋ยวนี้มีสิ่งที่เกิดแล้วเพราะปัจจัย ถ้าฟังเรื่องขณะนี้ จะเข้าใจเรื่องปัจจัยได้ เช่นจิตเป็นสภาพรู้ ใครไม่รู้บ้าง ฟังแล้วเข้าใจแล้ว ไม่ได้มีแต่รูปธรรมซึ่งไม่สามารถจะรู้อะไรได้ แต่เดี๋ยวนี้มีเห็น มีคิด มีพอใจ ไม่พอใจทั้งหมด เป็นธาตุรู้ทั้งนั้น

    ขณะนี้ เห็น ธาตุรู้เกิดขึ้น ไม่ใช่เรา จึงสามารถรู้ คือสิ่งนี้มีจริงๆ กำลังปรากฏ เดี๋ยวนี้ ยากไหม ไม่เคยสนใจเลย ลืมไปเสียด้วยซ้ำว่า ทุกวันนี้เห็นทั้งนั้นเลย แต่ไม่เคยรู้ว่าเห็นขณะใด ต้องมีสิ่งที่กำลังปรากฏ ถ้าไม่ปรากฏชื่อว่าเห็นเกิดไม่ได้เลย เห็นเกิดขึ้นรู้สิ่งที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้น สิ่งที่มีจริงที่ปรากฏนั่นแหละเป็นปัจจัยหนึ่ง ที่ทำให้จิตเห็นเกิด ถูกไหม ไตร่ตรอง จะได้ศึกษาเข้าใจความเป็นปัจจัยว่าแต่ละหนึ่ง เกิดเองไม่ได้เลย ถ้าไม่มีเสียง จิตได้ยินจะเกิดได้ไหม ลองคิดดู ง่ายๆ ธรรมดา ใครว่าปัจจัยไม่รู้ รู้ไม่ได้ ก็ธรรมดาอย่างนี้แค่เสียงไม่กระทบหู จิตได้ยินจะเกิดขึ้นได้ยินเสียงนั้นไหม ได้ยินเฉพาะเสียงที่กระทบหูด้วย ใช่ไหม เพราะฉะนั้น เสียงนั่นแหละเป็นปัจจัยให้จิตเกิดขึ้นได้ยิน ใช่ไหม ถ้าใช่ถูกต้องแน่นอน ไม่เปลี่ยน โดยเป็นอารัมมณปัจจัย หมายความว่า จิตเกิดขึ้น ขาดอารมณ์ไม่ได้ เพราะเหตุว่าจิตเป็นธาตุรู้ เมื่อเกิดขึ้นต้องมีสิ่งที่ถูกจิตรู้ เพราะฉะนั้น สิ่งที่ถูกจิตรู้ เป็นปัจจัยหนึ่งแน่นอน ต้องมีทุกขณะที่จิตเกิด เป็นปัจจัย โดยเป็นอารัมมณปัจจัย หมายความว่าเป็นปัจจัยโดยเป็นอารมณ์ คือ จิตต้องรู้สิ่งนั้น สิ่งนั้นต้องทำให้จิตเกิดขึ้น

    เพราะฉะนั้น กำลังได้ยินเสียง รู้เลยพอฟังแล้ว ถ้าไม่มีเสียง จิตได้ยินก็เกิดไม่ได้ เสียงเป็นปัจจัยหนึ่งโดยเป็นอารมณปัจจัย ก็โดยเป็นอารมณ์นั่นแหละ จึงเป็นปัจจัยหนึ่ง เพราะว่าไม่มีอารมณ์ไม่ได้ ด้วยเหตุนี้ ต้องมีหนึ่งอารัมมณปัจจัย เกิดเองได้ไหม จิตได้ยิน ให้เกิดเองโดยไม่มีเสียงกระทบได้ไหม แค่นี้ก็สามารถเข้าใจได้

    เราไม่ได้ศึกษาจากตัวหนังสือแล้ว ก็ไม่รู้เรื่องสิ่งที่กำลังปรากฏ แต่ทุกคำในหนังสือ ทำให้เข้าใจสิ่งที่มีจริงๆ ที่กำลังปรากฏในขณะนี้ เพื่อที่จะได้มีความเข้าใจถูกต้อง ไม่เที่ยง ได้ยินเมื่อกี้นี้เกิดแล้วดับไหม ดับแต่ไม่รู้ ก็ไม่ละความติดข้อง จิตเกิดขึ้นโดยไม่มีเจตสิกไม่ได้ เพราะฉะนั้น เจตสิกเป็นปัจจัยให้เกิดจิตหรือเปล่า เป็น เกิดพร้อมกันใช่ไหม แยกกันไม่ได้ทั้งจิต และเจตสิก เจตสิกอาศัยจิต และจิตก็อาศัยเจตสิก แยกกันเกิดไม่ได้เลย ต้องพร้อมกันทันทีโดยเป็นสหชาตปัจจัย ชาตะ แปลว่าเกิด สห แปลว่าพร้อมกัน

    เพราะฉะนั้น ทั้งหมดค่อยๆ เข้าใจความเป็นปัจจัยของสิ่งที่มีจริงแต่ละขณะ ต้องไปนั่งท่องหรือเปล่า พอเข้าใจแล้วไม่ต้องท่องเลย แล้วก็เข้าใจขึ้นด้วย ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ธาตุดินอยู่ไหน ศึกษาธรรมแล้วไม่รู้ว่าอยู่ไหนได้ไหม แล้วจะไปศึกษาอะไร แต่เพราะรู้ จึงชื่อว่ากำลังเข้าใจ ศึกษาหมายความว่าเข้าใจสิ่งที่มี เพราะฉะนั้น ธาตุดินอยู่ไหน มีไหมเดี๋ยวนี้ ใครว่าไม่มีบ้าง มีแน่ๆ เพราะดินที่นี่หมายความถึง สิ่งหนึ่งสิ่งใดก็ตามไม่ต้องเรียกชื่อแต่ว่าสิ่งนั้นแข็งหรืออ่อน รู้ได้อย่างไรว่ามี มองเห็นไหม แข็งอ่อนนี่มองเห็นไหม ไม่เห็น แต่รู้เมื่อกระทบกาย เพราะฉะนั้น สิ่งที่สามารถกระทบกายแล้วก็มีจิตเกิดขึ้นรู้สิ่งนั้น จิตไม่ใช่แข็ง จิตเกิดขึ้นรู้แข็ง จิตไม่ได้ร้อน แต่พอกระทบอะไรร้อน จิตเกิดขึ้นรู้ร้อนที่กำลังปรากฏลักษณะร้อน ต้องในขณะที่ร้อนปรากฏ

    ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ที่เราใช้คำว่า มหาภูตรูป รูปที่เป็นใหญ่ เป็นประธาน หมายความว่าทั้ง ๔ รูปนี้เกิดพร้อมกัน แยกกันไม่ได้เลย เหมือนจิตเจตสิก แยกกันไม่ได้ แต่ทั้ง ๔ ธาตุ คือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ขาดสักธาตุเดียวไม่ได้ เมื่อรู้ว่าธาตุดินคืออะไร อ่อนหรือแข็งเป็นที่รองรับทุกอย่าง ธาตุไฟ คือ ร้อนหรือเย็น ความอบอุ่นที่จะรักษาสิ่งนั้นที่เกิดแล้วให้ดำรงอยู่เป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้น ธาตุดิน ธาตุไฟ ธาตุลม ไหวหรือตึง ถ้าไม่มีธาตุนี้กระดุกกระดิกไม่ได้ เคลื่อนไหวไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น ธาตุดิน ธาตุไฟ ธาตุลม มีอยู่ในที่ทุกแห่งไม่แยกจากกันด้วย แล้วอีกธาตุหนึ่ง คือ ธาตุน้ำ อาโปธาตุ กระทบกายไม่ได้เลย เพราะเป็นธาตุที่ซึมซาบเกาะกุม ทั้ง ๓ ธาตุ เพราะฉะนั้น กระทบตรงไหนก็คือ อ่อนหรือแข็งปรากฏ เย็นหรือร้อนปรากฏ ตึงหรือไหวปรากฏ ธาตุน้ำไม่สามารถจะกระทบกายให้รู้ได้ แต่จะรู้ได้เพราะมีจริงๆ ทางใจเท่านั้น

    เพราะเหตุนี้แม้จิตมี ก็ต้องอาศัยตาหรือหู หรือจมูก หรือลิ้น หรือกาย หรือใจ ๖ โลก ขณะไหนที่ไม่เห็น ถ้าอาศัยหูก็เป็นขณะที่ได้ยิน แต่เมื่อไม่อาศัยตา หู จมูก ลิ้น กาย ทั้งห้า ก็คิดนึกได้ รู้ได้ ด้วยเหตุนี้ เดี๋ยวนี้คิดหรือเปล่า อาศัยตาหรือเปล่าที่คิด ไม่อาศัย เพราะฉะนั้น ไม่ลืมเลย จิตจะรู้อารมณ์ได้ ๖ ทางตา๑ หู๑ จมูก๑ ลิ้น๑ กาย๑ ใจ๑ มีมากกว่านี้ไหม บนสวรรค์มากกว่าไหม ไม่มากกว่าเลย น้อยกว่าได้ ถ้าตาบอด หูหนวก และที่ขาดไม่ได้ก็คือมโนทวาร เพราะอะไร เพราะมีจิตแน่นอน เมื่อมีจิตเป็นธาตุรู้ ก็ต้องมีปัจจัยที่จะรู้อะไร เพราะคิดนึก จำ เวลานี้ที่ทุกคนกำลังคิด ถ้าไม่จำ คิดไม่ได้ แต่ก็ลืม เพราะฉะนั้น จำ เป็นอะไร มีจริงๆ ไม่ใช่จิตเป็นเจตสิก เกิดพร้อมจิต ดับพร้อมจิต เพราะฉะนั้น จำ เป็นสหชาตปัจจัย เกิดกับจิตทุกขณะ และจิตทุกขณะก็ต้องเป็นปัจจัยแก่ เจตสิกด้วย อาศัยกัน และกันเกิดขึ้น ปัจจัยยังมีอื่นอีก ไม่อยู่ที่ไหนเลย อยู่ที่นี่แหละ แต่ว่าค่อยๆ เข้าใจขึ้นเพิ่มขึ้น ทีละเล็กทีละน้อย เพื่ออะไร เพื่อรู้ว่าไม่มีเรา ไม่ใช่เรา เป็นธรรมจริงๆ แต่ละหนึ่ง

    อ.วิชัย ในข้อความที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแก่ภิกษุว่า เป็นผู้ที่ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ความละเอียดตรงนี้คืออย่างไร

    อ.ธิดารัตน์ ปฏิบัติในที่นี้หมายถึง ธรรมที่ทำกิจ ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม สมควรแก่การคล้อยตามที่จะทำให้ถึงโลกุตตรธรรมนั่นเอง เพราะฉะนั้น การที่ค่อยๆ รู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง แต่ก็ต้องเริ่มต้นด้วยมีลักษณะของธรรมที่ปรากฏ ที่จะให้ศึกษาแล้วก็เข้าใจธรรม ที่ปรากฏขณะนี้เพิ่มขึ้น เพราะว่าถ้าขาดปัญญากิจที่จะทำให้ถึงสภาพธรรมหรือว่ารู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง มีไม่ได้เลย และปัญญาก่อนจะถึงขณะที่ระลึกลักษณะของสภาพธรรม และปัญญาจะรู้ธรรมตามความเป็นจริงได้ ก็จะต้องเริ่มต้นจากการฟัง แล้วก็ไม่ได้มีแค่เฉพาะปัญญาอย่างเดียว ก็จะต้องมีสภาพธรรมอื่นๆ ที่เกิดร่วมกับปัญญา อย่างเช่น สติ วิตก เหล่านี้ ซึ่งเป็นองค์มรรคทั้งหลาย กระทำทางที่จะทำให้ถึงพระนิพพาน

    ท่านอาจารย์ เดี๋ยวนี้ล่ะ ถ้าจะเตือนก็คือ นิมิตทั้งนั้น ที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้น ฟังแล้ว ไม่ลืม ที่จะมีการระลึกได้ แล้วก็มีความเข้าใจ ขณะนั้นก็เป็นการที่ฟังแล้ว สุตตมยปัญญา ปัญญาที่สำเร็จจากการฟังแล้วเข้าใจ ก็เป็นปัจจัยให้มีการระลึกได้โดยความเป็นอนัตตา ไม่ใช่เราเลย แต่การฟังจนกระทั่งระลึกได้

    เห็นอะไรก็ตามแต่ ถ้าเห็นรถยนต์ ก็นิมิตทั้งนั้น รูปร่างต่างๆ ถ้าไปเดินเล่นในสวน ก็นิมิตทั้งนั้น หรืออยู่ที่นี่ก็นิมิตทั้งนั้น เพราะฉะนั้น เกิดมาอยู่ในโลกของนิมิต คือจำไว้หมดเลยว่า เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดจากรูปร่างสัณฐาน ที่ฟังแล้วก็มีการกล่าวถึง เพื่อจะได้ไม่ลืม เพื่อจะได้เข้าใจว่า เดี๋ยวนี้เป็นนิมิต ที่ปรากฏให้เห็น กว่าจะค่อยๆ เข้าใจ และจำได้ไม่ลืมในสิ่งที่ได้ฟังแล้ว

    เพราะเหตุว่าจริงๆ แล้วปัญญาที่จะเกิดต่อไป จนกระทั่งสามารถที่จะถึงเฉพาะลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นธรรม คำว่า ปฏิปัตติ มาจากคำว่า ปฏิ = เฉพาะ ปัตติ = ถึง ปฏิปัตติ ขณะนั้นมีธรรมที่สามารถถึงด้วยปัญญาเฉพาะลักษณะของสภาพธรรมจริงๆ ไม่ใช่นิมิตที่ปรากฏ เป็นหลายเรื่อง แต่ว่าอย่างเห็นก็เป็นเห็น แม้ว่าเห็นหนึ่งขณะ ไม่สามารถจะปรากฏให้รู้ได้ แต่เห็นหลายๆ ขณะ ไม่ใช่ได้ยิน ยังคงเป็นเห็นหรือคิดนึกกก็เหมือนกัน คิดกี่คำ ในใจ เรื่องยาวแต่ก็เป็นลักษณะของคิด ไม่ใช่เห็น ไม่ใช่ได้ยิน

    การฟังธรรมก็คือว่าเข้าใจ และสามารถที่จะระลึกได้เพื่อที่จะเข้าใจต่อไปว่า ขั้นนี้ขั้นฟัง แต่ยังมีปัญญาสูงกว่านี้อีก ต้องเกิดจากการฟังเข้าใจก่อน จึงสามารถที่จะฟังเรื่องเข้าใจ ถึงเฉพาะด้วยสติ และปัญญา จากการฟังนี่แหละ เดี๋ยวนี้กำลังเห็น ไม่คิดถึงอย่างอื่นเลย กำลังเห็น เพราะฉะนั้น พูดถึงกำลังเห็น ก็อยู่ที่กำลังเห็น นั่นคือถึงเฉพาะลักษณะของสภาพธรรมทีละหนึ่ง แล้วก็ค่อยๆ เข้าใจขึ้น อบรมจนกระทั่งสามารถที่จะรู้ว่าขณะนั้นลักษณะจริงๆ เป็นสภาพรู้ หรือธาตุรู้เท่านั้นเอง สำหรับเห็น และสำหรับสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ฟังแล้วเข้าใจแล้ว ถ้าไม่มีธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม จะไม่มีสิ่งที่กำลังกระทบตาเป็นสีสันวัณณะต่างๆ ได้เลย

    เพราะฉะนั้น ที่เป็นคนสัตว์สิ่งต่างๆ เพราะมีธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม ซึ่งมีส่วนผสมที่ต่างกัน ทำให้สีสันวัณณะที่กระทบตาหลากหลาย ทำให้สภาพจำจำไว้ คลาดเคลื่อนด้วยความเข้าใจว่า เป็นสิ่งที่เที่ยง เป็นคนนั้นคนนี้ จากการฟัง และมีสัญญาความจำที่มั่นคงก็รู้ว่า แท้ที่จริงไม่มีอะไร นอกจากแต่ละหนึ่ง ปรากฎได้แต่ละทาง แล้วก็ดับไป เพราะฉะนั้น ถ้าขณะนั้นกำลังเริ่มเข้าใจลักษณะของสภาพธรรม คือ ปฏิปัตติ ไม่ใช่เรา ที่ภาษาไทยใช้คำว่าปฏิบัติ เป็นปัญญาที่ค่อยๆ เจริญขึ้นจนกระทั่งสามารถที่จะรู้ความจริงของสิ่งที่กำลังปรากฏ โดยเป็นอนัตตา ไม่ได้จงใจที่จะรู้สิ่งนั้นสิ่งนี้ มิฉะนั้นแล้วไม่มีทางที่จะเข้าใจความเป็นอนัตตาของสภาพธรรมได้เลย

    อ.วิชัย กล่าวถึงสิ่งที่มีจริงๆ เป็นธรรม ได้สดับมาอย่างนี้ แต่ความรู้ก็จะเจริญขึ้น กับความไม่รู้ก็มากมายมหาศาลเลย

    ท่านอาจารย์ ความรู้ของใคร ของคนอื่นไม่ต้องสนใจ ฟังธรรมเพื่อเข้าใจ เพราะฉะนั้น แต่ละคนสามารถที่จะเป็นผู้ที่ตรง เข้าใจอะไร แค่ไหน และแต่ละคำ ปริยัติ คือพระพุทธพจน์ รอบรู้ในพระพุทธพจน์ ไม่สงสัยเลย พอพูดถึงสิ่งที่กำลังปรากฏ ให้เห็นได้ รอบรู้หรือยัง ถ้ายัง แล้วจะปฏิปัตติได้ไหม ตามความเป็นจริง อย่างที่เคยยกตัวอย่าง เพิ่งเกิด เด็กแดงๆ จะให้วิ่งไปโรงเรียนได้ไหม ไม่มีทางเป็นไปได้เลย เพราะฉะนั้น ใครจะไปไหนก็แล้วแต่ ไปผิดทางหลงทางงมงายอย่างไร ไปแล้วก็ไม่รู้อะไรสักอย่าง แต่ก็ไป กับผู้ที่ฟังแล้วเข้าใจถูกต้อง กำลังฟังเรื่องอะไร แล้วก็มีความเข้าใจสิ่งที่กำลังฟัง พอที่จะถึงเฉพาะลักษณะของสภาพธรรม ที่กำลังปรากฏหรือยัง ไม่ใช่จะไปเร่งรัด ยังไม่มีปัจจัยพอที่จะถึงเพราะฟังก็น้อย เข้าใจก็ยังไม่มากพอ แล้วเดี๋ยวก็ลืม เดี๋ยวก็เป็นเรา เดี๋ยวก็เป็นอาหาร เดี๋ยวก็เป็นโน่น เป็นนี่ตลอดเวลา ลืมลักษณะของสภาพธรรม ที่ปรากฏทางตาก็อย่างหนึ่ง แค่ปรากฏให้เห็น หลับตาแล้วยังเหลือไหม สิ่งที่ปรากฏให้เห็น แค่ได้ยิน สิ่งที่ปรากฏทางตาให้เห็น ยังอยู่ไหม ถ้าคิดว่า ยังอยู่ ถูกหรือผิด ไม่เห็นแล้วยังบอกว่ายังอยู่ เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องที่ตรงจริงๆ แท้ที่จริงกำลังเห็น ดับแล้วด้วยซ้ำไป ก็ยังไม่รู้

    ความรวดเร็วของสภาพธรรม ซึ่งเพราะเกิดดับสืบต่ออย่างเร็วสุดที่จะประมาณได้ จึงปกปิดการเกิดขึ้น และดับไปสืบต่อของสิ่งที่ปรากฏให้เห็นมากมาย ว่าเหมือนเป็นสิ่งซึ่งไม่เกิดดับเลย เพราะฉะนั้น การฟังต้องรู้ว่า ขณะได้ยิน เดี๋ยวนี้เอง สิ่งที่ปรากฏทางตาไม่มีเหลือ จะเหลือไม่ได้เลย ดับแล้ว แต่ก็มีปัจจัยที่จะให้เกิด ทั้งหมดที่ปรากฏเพราะยังมีปัจจัยที่จะให้เกิดขึ้น เป็นอย่างนั้นๆ อยู่ ถ้าหมดปัจจัยเมื่อไร สิ่งนั้นจะเกิดขึ้นอีกไม่ได้เลย ด้วยเหตุนี้ กิเลสยังมี จะไม่ให้กิเลสเกิดได้ไหม จนกว่ากิเลสดับเมื่อไร ใครที่ไม่อยากให้กิเลสเกิด ต้องดับกิเลสด้วยปัญญาเสียก่อน แล้วกิเลสถึงจะไม่เกิดอีกได้กำลังโกรธ ไม่มีใครชอบโกรธเลย อยากให้ไม่โกรธใช่ไหม ไม่โกรธต้องดีแน่ แหมมีเรื่องคิดมากมายเลย โกรธไปทำไม เดือดร้อนตัวเอง กำลังทำร้ายจิตใจ คิดว่าขณะนั้นชนะแล้วคือไม่โกรธ แต่ว่าเป็นเรา

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 176
    11 มี.ค. 2567