ปกิณณกธรรม ตอนที่ 733


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๗๓๓

    สนทนาธรรม ที่ บ้านมิ่งโมฬี จ.ราชบุรี

    วันที่ ๑๐-๑๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๘


    ท่านอาจารย์ หรือถึงมีตาแต่ไม่มีรูปมากระทบ จิตเห็นก็เกิดไม่ได้ ทุกอย่าง ถึงเวลาพร้อมที่จะเกิดก็เกิด แล้วก็ดับไป เร็วมากเลย ทรงแสดงการเกิดขึ้นของจิต ตามลำดับตั้งแต่ขณะแรกที่เกิด จนกระทั่งแต่ละขณะ จนถึงขณะนี้ และต่อไป นี่คือผู้ที่ได้ทรงตรัสรู้ความจริง ไม่มีอะไรเหลือเลยที่จะไม่ตรัสรู้ เพราะฉะนั้น พระวาจาที่ตรัสว่า ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ต้องเข้าถึงความหมายของธรรม ต้องเข้าถึงความหมายของอนัตตา และก็ฟังจนกระทั่งเป็นธรรมจริงๆ เป็นอนัตตาจริงๆ รอบรู้จริงๆ เป็นสัจจญาณ จึงจะสามารถเริ่มเข้าใจลักษณะของเห็นเดี๋ยวนี้ ตามปกติ ทีละเล็กทีละน้อย เป็นกิจจญาณ หรือที่ใช้คำว่า ปฏิปัตติ จนกว่าปัญญาที่ค่อยๆ เข้าใจ สามารถที่จะแทงตลอดรู้ความจริงของสิ่งที่กำลังปรากฏ

    อ.วิชัย การได้มีโอกาสศึกษาอย่างเช่น อภิธรรมปิฎก เรื่องของความละเอียดของสภาพธรรม เรื่องความจิต เรื่องของเจตสิก เรื่องของรูป เรื่องของปรมัตถธรรม หรือแม้เรื่องของปัจจัยต่างๆ แต่ว่าขณะที่ศึกษา ก็ดูเหมือนจะเป็นการที่สะสมมาที่จะรู้ แล้วก็จำ แล้วก็เข้าใจเพียงเรื่องราว เหมือนกับไม่ได้รู้ทีละคำ เช่น เห็นกับได้ยินต่างกันไหม แต่ขณะที่กล่าวเรื่องของปัจจัยนี้ ก็กล่าวตามที่เข้าใจ

    ท่านอาจารย์ ก่อนฟังธรรม คุณวิชัยคิดอะไร

    อ.วิชัย เช่น วันนี้ก็จะเตรียมของเดินทางมาอะไรต่างๆ

    ท่านอาจารย์ สารพัดคิด แต่ไม่ได้คิดถึงธรรม เพราะอะไร คุ้นเคยกับการคิดเรื่องอื่น จำสิ่งที่เห็นว่าเป็นคน เป็นสัตว์ จำเสียงที่กระทบว่าเป็นเรื่องราวต่างๆ เพราะฉะนั้น คุ้นเคยกับสิ่งต่างๆ เหล่านั้นก็ต้องคิดถึงสิ่งที่คุ้นเคย แต่ถ้าคุ้นเคยกับธรรมมากขึ้นๆ ก็จะเห็นได้ ว่าวันหนึ่งอาจจะคิดถึงธรรมที่ได้ฟัง เพราะฉะนั้น เป็นผู้ทรงธรรม เมื่อมีความเข้าใจในสิ่งที่ได้ฟังแล้วไม่ลืม ขณะนี้เห็นอะไร

    อ.วิชัย เห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา

    ท่านอาจารย์ เพิ่งนึกออก เห็นตั้งนานแล้วก็เห็นมาตลอดวัน ไม่ก็เคยคิดเลยใช่ไหม ว่าเห็นสิ่งที่ปรากฏให้เห็นได้ เสียงเป็นอย่างไร ไม่มีรูปร่างสัณฐานให้เห็น สีอะไรก็ไม่มีใช่ไหม เพราะฉะนั้น คุ้นเคยต่อการที่จะคิดถึงเรื่องที่จำมานานว่าเป็นอย่างนั้น กว่าจะจำสิ่งที่ถูกต้องทีละเล็กทีละน้อยๆ เปรียบเทียบกับในสังสารวัฏฏ์ที่จำผิดคลาดเคลื่อนมาโดยตลอด คิดว่าธรรมนี้ยั่งยืน เกิดมาก็เป็นอย่างนี้ แม้จะจากเด็กเป็นผู้ใหญ่ แล้วก็แก่ แล้วก็เจ็บ แล้วก็ตาย ก็จำมาอย่างนี้ ไม่รู้ถึงการที่สภาพธรรมแต่ละหนึ่ง ไม่ซ้ำกันเลย ไม่เหมือนกันด้วย อย่างเห็นกับได้ยินไม่มีทางเลย เป็นธาตุรู้เหมือนกัน แต่รู้คนละอย่าง จิตเห็นจะไปรู้เสียงไม่ได้ และเมื่อจิตเกิดขึ้นเห็น เราจึงมีคำว่าจิตเห็น เพียงให้เข้าใจความจริงว่า มีธรรมชนิดหนึ่ง มีธาตุชนิดหนึ่ง ซึ่งมีปัจจัยเกิดขึ้นทำกิจนี้ คือกิจเห็น จิตขณะอื่นทำกิจนี้ไม่ได้เลย ธาตุแต่ละหนึ่งๆ ละเอียดมากทุกอย่างเลยที่เป็นธรรม ก็คือเป็นธาตุแต่ละชนิด เพราะฉะนั้น เรายังไม่คุ้นเคยเลย เหมือนคนซึ่งไม่เคยรู้จักกัน พอเห็นนิดเดียว ไม่มีทางที่จะจำได้ เห็นบ่อยๆ เริ่มรู้ว่าเป็นใครคุ้นเคยกันมากขึ้น ก็ไม่ลืม แล้วก็มีเหตุการณ์ต่างๆ ที่จะคิดถึง คนนั้นเวลานี้อยู่ที่ไหนทำอะไร เรื่องอะไรใช่ไหม ตามความเคยชิน แล้วจิต กำลังเกิดดับไม่เห็นมีใครคิดถึงเลย เดี๋ยวนี้ถ้าไม่มีจิต จะไม่มีอะไรปรากฎเลยทั้งสิ้น แต่เพราะมีจิตแล้วก็ได้ยินด้วยจำด้วยมีจิต ถ้าไม่มีจิตอะไรก็ไม่ปรากฏ ไม่มีธาตุรู้ จะไม่เห็นเป็นโต๊ะเก้าอี้ดอกไม้ สีสันวัณณะ คนนั้นคนนี้เลย

    แต่เมื่อมีธาตุรู้เกิดขึ้นแล้วจำไว้ ไม่ว่าจะเห็นอะไร รูปร่างสัณฐานอย่างไรก็ไม่เคยลืม ความจำนี่นานแสนนานมาแล้วที่จำผิด กว่าจะจำถูกตั้งแต่เช้ามาคุณวิชัยเห็นอะไร เพราะฉะนั้น ขณะนี้ที่กำลังถาม คุณวิชัยก็บอกว่าเห็นเพียงสิ่งที่ปรากฏให้เห็นได้ แล้วก็กลับไปเห็นคนอีก เหมือนเดิมอีกใช่ไหม เพราะฉะนั้น ก็แสดงว่า กว่าความไม่รู้จะค่อยๆ คลายไปนี้ ไม่มีใครไปทำอะไรได้เลย ระเบิดปรมาณูก็ไปทำร้ายไม่ได้ อะไรก็ไม่ได้ทั้งนั้น ปัญญาอย่างเดียว ความเห็นถูกเท่านั้น เป็นสิ่งที่ประเสริฐที่สุด เพราะสามารถที่จะรู้ทุกอย่างถูกต้อง ตามความเป็นจริงเมื่อปัญญาเกิด และปัญญาจะเกิดได้อย่างไร อวิชชามากมาย โลภะอีก เพราะไม่รู้จึงติดข้องปิดบัง ขณะนี้สภาพธรรมเกิดดับอย่างไรไม่รู้เลย จิตทั้งนั้นเลย แต่ละจิตที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงโดยละเอียด ตั้งแต่เกิดจนตายทุกขณะ กำลังเกิดดับ ทำกิจการงาน ไม่คุ้นเคย ไม่รู้ แล้วจะละการยึดถือ สภาพที่เคยยึดถือมานานแสนนานว่า เรา เราเห็น เราได้ยิน เราชอบ เราคิด เราโกรธ ทุกสิ่งทุกอย่าง

    เพราะฉะนั้น เป็นจิรกาลภาวนา ภาวนาคือการอบรม จิระ คือ ยาวนานมาก เป็นการอบรมที่ยาวนานมาก เหมือนอวิชชายาวนานมาก กว่าจะมานั่งตรงนี้ ห้ามก็ไม่ได้ต้องเป็นอย่างนี้ ต้องอยู่ไปอย่างนี้ แล้วแต่ว่าปัจจัยอะไร จะทำให้ดีชั่วแค่ไหน แต่ว่าอยู่อย่างที่มีโอกาสได้ยินได้ฟังพระธรรม ต้องประเสริฐกว่าที่เคยอยู่มาแล้ว และไม่เคยได้ยินได้ฟังธรรมเลย เพราะฉะนั้น เริ่มรู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เห็นพระคุณ เคารพพระพุทธเจ้าโดยอย่างไร โดยฟังธรรมด้วยความเคารพ

    อ.วิชัย ปกติก็ฟังพระธรรม ก็มีการตั้งประเด็นว่า จะเป็นความพยายามหรือว่าเป็นความต้องการหรือเปล่า เป็นปกติของบุคคลนั้น กับบุคคลที่พยายามที่จะให้ความรู้ ความเข้าใจเกิดขึ้น ก็เหมือนกับเป็นแต่ละบุคคลไม่เหมือนกัน

    ท่านอาจารย์ จนกว่าจะรู้ว่าทุกขณะนั้นเป็นธรรม ไม่ใช่คุณวิชัย เห็นไหม ลดเลี้ยวไปคิดโน่นคิดนี่ ลดเลี้ยวหรือเปล่า นี่เราฟังด้วยความเพียรอย่างไรหรือเปล่า เห็นไหมแสดงให้เห็นว่า ความไม่รู้ เพราะไม่รู้จึงทำให้เกิดความสงสัย เมื่อวันก่อนเราสนทนาถึงพระสูตรสูตรหนึ่ง อุมมังคสูตร อุมมังคะ แปลว่าอะไร

    อ.วิชัย ผุดขึ้น

    ท่านอาจารย์ แล้วรู้ไหมว่าอะไรผุด เห็นไหม ทุกคำเลย ถ้าไตร่ตรองจึงจะเข้าใจถูกต้อง ไม่ใช่ว่าเรามีปัญญามหาศาลมาแต่ไหนแต่ไรเหมือนยังท่านพระสารีบุตร แค่ฟังก็สะสมมาแล้วที่จะเข้าใจว่า คำนั้นหมายความว่าอะไร เป็นปัญญา แล้วผุดอย่างไร

    อ.วิชัย ก็ต้องมีการสนทนาฟังธรรม

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ที่ถามว่า ที่คุณวิชัยคิด ลดเลี้ยวไหม นี่เราเพียรหรือเปล่า เราฟังวิทยุทั้งเช้าทั้งค่ำ ฟังบ่อยๆ เป็นตัวตนของเราไหม หรือว่าเป็นกุศล อยู่ในความมืดไม่สามารถจะรู้ได้ แต่จากการฟังทีละเล็กทีละน้อย ปัญญาสามารถที่จะติดตามความคดเคี้ยวทุกขณะไป ว่าเป็นธรรม กว่าจะถึงขณะนั้นได้ก็ดู ก็แล้วกันว่า ยับยั้งไม่ได้เลย ความเป็นอนัตตาของความคิด คิดได้สารพัดอย่าง คิดอะไรได้บ้าง ถ้าไม่คิดเรื่องนี้ก็คิดเรื่องอื่น นั่งๆ อยู่ที่นี่ คิดถึงตุ๊กตาได้ไหม ได้หมด คิดถึงตุ๊กแกได้ไหม คิดถึงคนมากมายในกองทัพได้ไหม ในป่า ได้หมดเลย ในน้ำคิดไปหมด ปลาเป็นฝูง คิดไปเถอะ แล้วแต่ปัจจัย ไม่ใช่บอกให้คิด คิดแล้ว ถึงเขาบอกคำพูดนั้นหมดแล้ว แต่การปรุงแต่งของความคิดของแต่ละคน คิดได้หมด เพราะฉะนั้น กว่าปัญญาจะตามที่จะเห็นถูกว่า เป็นธรรม

    อุมมังคะ ผุดขึ้น เมื่อได้พิจารณาไตร่ตรอง ไม่ว่าสภาพนั้นจะลดเลี้ยวไปถึงไหน อย่างไรก็ตาม ปัญญานั้นสามารถที่จะตามไปผุดขึ้นรู้ความจริงว่า ขณะนั้นเป็นธรรม

    เพราะฉะนั้น แค่ว่าความคิดลดเลี้ยว และก็เป็นปัญญา ทุกคนบอกว่าปัญญาต้องตรง ปัญญาจะลดเลี้ยวได้อย่างไร สภาพธรรมอื่นลดเลี้ยว แต่ปัญญาตามรู้ในความที่สภาพธรรมนั้นกำลังลดเลี้ยวว่าเป็นธรรม กว่าจะไม่ใช่เรา คิดดูก็แล้วกัน จะต้องไม่เหลือเลย ชาติไหนเกิดมาเป็นอย่างไร คิดอย่างไร พบใคร เหตุการณ์อย่างไร ตื่นเต้น ตกใจ ดีใจ สารพัดอย่างทั้งหมด เป็นธรรมทั้งนั้น ไม่มีข้อสงสัยไม่มีความสงสัย เพราะว่ากว่าปัญญาจะผุดขึ้นรู้ความจริง ก็ต้องอาศัยการฟัง และไตร่ตรอง และรอบรู้ในความหมายว่า ปัญญารู้ได้ แต่ปัญญาไม่ได้เกิดตามลำพัง ก็จะต้องมีเจตสิกอื่นๆ ที่เกิดร่วมด้วยโดยเฉพาะ สติ และก็ไม่ใช่แต่สติเท่านั้นยังมีสภาพธรรมอื่นด้วยที่จะปรุงแต่ง จนกว่าจะหมดความสงสัย

    อ.ธิดารัตน์ ท่านอาจารย์ใช้คำว่า ลดเลี้ยว หมายความว่าอย่างไร

    ท่านอาจารย์ เห็นตรงๆ ได้ยินตรงๆ คิดตรงๆ แต่สารพัดที่จะลดเลี้ยว ไปคิดไป เอ๊ะนี่มันอย่างไร และจะต้องทำอย่างไร หรือเปล่า ถูกไหม ลดเลี้ยวไม่ตรงกับลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เพราะขณะนั้นก็เป็นธรรม แต่ปัญญาไม่ได้ผุดขึ้นพร้อมสติสัมปชัญญะที่จะรู้ลักษณะนั้น แค่รู้ยังไม่เกิดแล้วจะแจ่มแจ้งหรือ แต่เมื่อรู้มากขึ้นมากขึ้น ใช้คำว่า แทงตลอด

    อีกท่านหนึ่ง ที่ท่านก็ศึกษาภาษาบาลีเหมือนกัน ชาวนิวซีแลนด์ ก็หาคำว่า อุมมังคะ เพราะว่าคำแปลก็หลากหลาย เขาก็บอกว่า มันลงไป ลงไปลึก แล้วก็โผล่ขึ้นมา ไม่ผิด เพราะว่าสภาพธรรมขณะนี้ตื้น เพราะไม่รู้ ธาตุรู้แท้ๆ ไม่มีรูปร่างเลย อยู่ไหน กำลังเห็น หาไม่เจอ เพราะไม่เข้าใจ แต่ถ้าเข้าใจ ไตร่ตรองลึกซึ้งถึงคำว่า ธาตุรู้ ขณะนั้นจะไม่มีอะไรเลย นอกจากธาตุที่เกิดขึ้นต้องรู้ แล้วก็ปรากฏเพียงลักษณะที่รู้ เพราะฉะนั้น ขณะนี้ กำลังฟังแล้วก็ค่อยๆ ลงไปสู่ความจริง จนกว่าจะผุดขึ้นว่า เดี๋ยวนี้ก็คือรู้ เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะใช้คำอะไรทั้งหมด แล้วแต่สติปัญญาของผู้ฟัง สามารถจะเข้าใจคำนั้นไหม เพราะถ้าไม่เข้าใจคำนี้ จะเข้าใจคำอื่นหรือ เพราะฉะนั้น ไม่ว่าคำใดๆ ก็ตามที่ส่องถึงความจริง สามารถพิจารณาเข้าใจได้ จะบอกว่า อุมมังคะ ก็คือว่าแยกไปมากมายหลายๆ ทาง ปัญญาก็ถือว่าไตร่ตรองพิจารณาที่ใช้คำว่า วิจยสัมโพชฌงค์ ไม่ใช่หนึ่ง แต่หนึ่งนั่นแหละ ละเอียดยิบลงไปแยกออกไปมากมาย ไม่ว่าจะโลภะในรูป หรือในเสียง หรือในกลิ่น หรือในรส หรือในคิด หรือในอะไรทั้งหมด แยกไปมากมาย แต่ความจริงก็คือ ธาตุที่กำลังติดข้อง และความเป็นตัวตนยังมีอยู่ที่ไหน เช่น ขณะที่กำลังคิดว่า เอ๊ะนี่เราเพียรมากไปหรือเปล่า หรือว่ากำลังเป็นตัวตน ก็คือยังมีความเป็นเราอยู่ แค่คำเดียวคือ อุมมังคะ จะแสดงโดยนัยซึ่งเหมือนอวิชาก็ได้ ลดเลี้ยวไปด้วยความไม่รู้ เพราะได้ยินคำว่าลดเลี้ยวทุกคนคิดว่าไม่ใช่กุศล แต่ความจริงความลดเลี้ยวไป ปัญญาต้องตามรู้ในความลดเลี้ยวไป ถ้าเค้าลดเลี้ยวไป หนีปัญญาไป ปัญญาก็รู้ไม่ได้ ลดเลี้ยวไปเรื่องโน้น พระอาทิตย์หรือพระจันทร์ แต่นี่ลดเลี้ยวไปถึงไหน ปัญญาก็ตามรู้ว่าความลดเลี้ยวนั้น จึงสามารถที่จะผุดขึ้น เป็นความเห็นที่ถูกต้องได้

    ธรรมละเอียดมาก เพราะฉะนั้น ฟังด้วยความเคารพ ฟังคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือฟังสิ่งที่ไม่ใช่คำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าเป็นคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นความเข้าใจขึ้น ในสิ่งที่ไม่เคยรู้มาก่อน เช่น พูดถึงขณะนี้ อะไรที่มีจริงๆ เห็นมีจริงๆ นี่คำของพระพุทธเจ้า เห็นต้องเกิดขึ้นถ้าไม่เกิดจะมีจริงได้อย่างไร และสิ่งที่เกิดต้องมีปัจจัยที่จะทำให้เกิดด้วย ไม่ใช่อยู่ดีๆ ลอยๆ ก็เกิดขึ้นมา ไม่ใช่อย่างนั้น แต่เพราะไม่รู้ว่าอะไรเป็นปัจจัย เพียงแค่เห็น ก็ไม่ได้คิดอะไร แต่ความจริงก็คือว่า เห็นมีจริง เมื่อเกิดขึ้น แต่จะเกิดได้ก็ต่อเมื่อมีเหตุปัจจัยที่จะทำให้ธาตุรู้เกิดขึ้นเห็น แล้วก็ดับไป นี่เป็นคำของพระพุทธเจ้า เมื่อมีการฟัง และเข้าใจ เป็นความเข้าใจของตนเอง เปลี่ยนได้ไหม บอกว่าเห็นเนี่ยไม่เกิดหรอก ได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ บอกว่าเห็นเกิดขึ้นในลอยๆ อยากเห็น ก็เห็นเอง ได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น เริ่มรู้ว่า คำไหนเป็นคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คำไหนไม่ได้ทำให้เกิดความเข้าใจถูก ว่า ไม่ใช่เราจะมีอำนาจบังคับบัญชา เพราะความจริงเห็น ก็ไม่ใช่เรา เราคิดว่าเราเห็น แต่ความจริง เห็นเกิดเพราะเหตุปัจจัยแล้วดับไป แล้วเห็นนั้นที่เห็นไม่กลับมาอีกเลย ถ้ามีเห็นใหม่ อย่างเห็นวันนี้กับเมื่อวานนี้ ก็ไม่ใช่เห็นเดียวกัน หรือแม้เห็นเดี๋ยวนี้ก็เห็นเมื่อกี้นี้ ก็คนละขณะแล้ว นี่คือเป็นความเข้าใจของเราเอง ซึ่งได้เข้าใจเพราะได้ฟังความจริง เมื่อความจริงเป็นอย่างนี้ เราจะเปลี่ยนแปลงไหมว่า เราบังคับเห็นได้ เพราะฉะนั้น เราเริ่มเข้าใจว่าทุกอย่างที่เกิด ไม่ใช่ของเรา จริงหรือเปล่า จริงต้องจริง แต่ยังไม่สามารถที่จะรู้จริงอย่างนั้นได้ และยังไม่สามารถที่จะละการที่กำลังนี้ ที่เห็น เป็นเราเห็น จนกว่าปัญญาจะเพิ่มขึ้น

    เพราะฉะนั้น ไม่มีใครไปบังคับปัญญาให้เกิดเร็วๆ เกิดมากๆ ทำอย่างโน้น ทำอย่างนี้ ให้ปัญญาเกิด เป็นไปไม่ได้เลย ปัญญาไม่ใช่อยู่ที่ใครจะทำให้ปัญญาเกิดได้ แต่เหตุของปัญญาก็คือว่า ได้ยินได้ฟังคำซึ่งคิดเองไม่ได้ แม้สภาพธรรมก็เป็นจริงอย่างนี้ทุกวันเป็นอย่างนี้ ก็คิดเองไม่ได้ ไม่คิดซะด้วยซ้ำไปว่า แท้ที่จริงแล้ว ต้องมีการเกิดขึ้นเป็นไปบังคับไม่ให้เป็นอย่างนี้ไม่ได้ เหมือนกับว่าต้องอยู่ไป ไม่อยากอยู่แล้ว ได้ไหม ไม่มีทางเลยต้องอยู่ ต้องเป็นไป ต้องลำบาก ต้องทุกข์ยากอย่างนี้แหละ สุขชั่วคราว เห็นชั่วคราว ทุกสิ่งทุกอย่างชั่วคราว แล้วก็หมดไป ใครรู้อย่างนี้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบำเพ็ญพระบารมี นานมากกว่าจะได้ตรัสรู้ แล้วเราเพิ่งได้ยินได้ฟังจะนานไหมกว่าจะรู้ความจริงอย่างนี้

    เพราะฉะนั้น ก็ไม่เดือดร้อน เพราะเดือดร้อนก็คือตัวตนนั่นแหละ อยากรู้แล้วไม่รู้ แต่รู้ว่า การที่จะรู้มีอย่างเดียวคือฟังเข้าใจ ถ้าฟังแล้วไม่เข้าใจก็ไม่สามารถจะรู้ได้ การฟังสิ่งซึ่งยากที่จะได้ฟัง และก็ถ้าไม่มีการตรัสรู้ ก็จะไม่มีโอกาสได้ยินคำนี้เลย คนอื่นก็ไม่สามารถที่จะกล่าวคำจริงอย่างนี้ได้ เพราะฉะนั้น ได้ยินแล้วก็ต้องไตร่ตรองด้วยตัวเอง ถูกไหม จริงไหม นั่นคือการเริ่มต้นของการไม่ต้องถามใครว่าถูกหรือเปล่า เพราะฉะนั้น ตอนนี้ก็รู้ว่า เห็นจริง เห็นเกิด และดับ แต่ยังไม่ไปจากการเกิดของเห็น แต่แน่นอนคือเห็นต้องเกิด และดับ เพราะฉะนั้น สิ่งที่เกิดดับ และไม่กลับไปอีก จะเป็นเราจะเป็นใคร จะเป็นอะไรก็ไม่ได้ นอกจากเป็นเห็น ถ้าเห็นเป็นเห็น ได้ยินก็เป็นได้ยิน แต่ละหนึ่งเกิดขึ้นเป็นอย่างนั้น และก็ดับ เป็นผู้ตรงจึงจะได้สาระ สิ่งที่มีจริงบอกว่าไม่จริงได้หรือ สิ่งที่มีจริงเพราะเกิด จะบอกว่าไม่เกิดก็มีจริงได้หรือ เกิดแล้วก็ดับไปเลยไม่รู้ แต่ว่าขณะอื่น เช่น เห็น เหมือนพร้อมกับได้ยิน เป็นไปได้อย่างไร ในเมื่อหูกับตาคนละอย่าง เห็นกับได้ยินก็คนละอย่าง เสียงกับสิ่งที่ปรากฏทางตาก็คนละอย่าง จะพร้อมกันได้อย่างไร ก็ค่อยๆ คิด จะค้านก็ได้ แต่ค้านแล้วถูกหรือเปล่า เป็นจริงอย่างที่ค้านหรือเปล่า หรืออะไรจริง คือความเป็นผู้ตรงต่อความจริง อาจหาญที่จะรู้ว่าความจริงเป็นอย่างนี้

    ผู้ฟัง ชื่อสุธิสา การที่เราได้ยินได้ฟังอะไรมา พูดเรื่องนั่งสมาธิซึ่งเราก็ไม่มีประสบการณ์

    ท่านอาจารย์ ขอโทษ ไม่มีประสบการณ์ หรือไม่เข้าใจสมาธิ

    ผู้ฟัง ไม่เข้าใจด้วย แล้วก็ไม่มีประสบการณ์ด้วย

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่เข้าใจ แล้วจะไปรู้ได้อย่างไรว่า ประสบการณ์ของสมาธิคืออะไร

    ผู้ฟัง ใช่

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ไม่เข้าใจ ไม่ใช่ว่าไม่มีประสบการณ์ เพราะเหตุว่าประสบการณ์หมายความว่าเราเข้าใจคำนั้นแล้วเราถึงจะบอกได้ว่ามีหรือไม่มี แต่นี่เรายังไม่เข้าใจเลยว่าสมาธิคืออะไร เพราะฉะนั้น ทุกคนด้วย จะพูดคำที่ไม่รู้จักตั้งแต่เกิดจนตายแล้วก็คิดว่า รู้จัก อย่างประสบการณ์นี้ ไม่รู้ว่าสมาธิคืออะไร แต่ไปคิดว่าเพราะไม่มีประสบการณ์ ยังไม่ทันรู้เลยว่าอะไร และจะไปรู้ได้อย่างไรว่ามีหรือไม่มีประสบการณ์

    ผู้ฟัง คราวนี้เราก็ไม่เข้าใจ

    ท่านอาจารย์ ไม่เข้าใจอะไร

    ผู้ฟัง ไม่เข้าใจว่าสมาธิคืออะไร

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้น ที่บอกว่า เห็นแสง มันเป็นอย่างไร คือมันก็เกิดความสงสัยมากมายก็เลยสงสัยว่า ถ้าได้ฟังแล้วเราไม่เข้าใจ แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่า สิ่งที่เราได้ยินได้ฟังนั้น เราเข้าใจถูกหรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง เพราะฉะนั้น ต้องฟังแล้วก็ดูว่าอะไรจริง แล้วก็เข้าใจสิ่งที่ได้ยินได้ฟังว่า ถูกต้องหรือเปล่า เพราะฉะนั้น ถ้ายังไม่รู้เลยว่าสมาธิคืออะไร เขาบอกว่าเขาไปทำสมาธิเข้าไปนั่งสมาธิ เขาเห็นแสง เขาเหาะได้ แต่เราก็ไม่รู้ว่าสมาธิคืออะไร แต่มีคำตอบ ทุกคำเป็นสิ่งที่มีจริง สมาธิโดยทั่วไปที่เข้าใจกันก็คือ สภาพที่ตั้งมั่น ตั้งมั่นอย่างไร พื้นฐานไม่มีเลย ตั้งมั่นที่ไหน ใช้คำว่าตั้งมั่นลอยๆ เหมือนเข้าใจแต่ความจริงไม่เข้าใจ แม้แต่คำว่า ตั้งมั่น ตั้งมั่นอะไร ตั้งมั่นที่ไหน เพราะฉะนั้น ความเข้าใจต้องตรงต้องชัดตั้งแต่เบื้องต้น ไม่ใช่มาบอกเราว่าทำสมาธินะ แล้วจะเป็นอย่างนี้ แต่เราก็ยังไม่รู้ว่าสมาธิคืออะไร เพราะฉะนั้น ไม่ใช่เรื่องของปัญญาทั้งหมด

    แต่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ทุกสิ่งที่มีจริง สมาธิขณะนี้มีหรือเปล่า และคืออะไร ขณะนี้มีเห็นแน่ๆ ใช่ไหม แต่ว่าเรายังไม่รู้เลย ว่าธรรมมีจริงมีลักษณะหลากหลาย ธรรมอย่างหนึ่งไม่ใช่ว่าไม่มี มีเกิดขึ้นมี แต่ไม่รู้อะไร เช่น แข็ง ใครจะไปตีแข็งเท่าไร แข็งก็ไม่รู้ ไม่เจ็บ ไม่เห็น ไม่ชัง ไม่โกรธ เสียงก็ไม่รู้อะไร กลิ่นก็ไม่รู้อะไร รสก็ไม่รู้อะไร แต่ถ้าไม่มีธรรมอีกอย่างหนึ่ง มีจริงๆ เกิดจริงๆ ด้วย แต่เมื่อเกิดแล้วต้องรู้ สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่กำลังปรากฎเดี๋ยวนี้ เพราะธาตุนั้นเกิดขึ้นรู้ เช่น เสียง ถ้าไม่มีธาตุที่เกิดขึ้นได้ยิน เสียงมีจริง เสียงเกิดแล้วดับไม่มีใครได้ยินเลย ไม่รู้เลยว่ามีเสียง และเสียงอะไร เสียงนั้นมีลักษณะอย่างไร แต่เมื่อมีธาตุรู้เกิดขึ้น ได้ยินเสียง หมายความว่า เป็นธาตุที่รู้เสียงว่า เสียงที่กำลังมีในขณะนั้น มีลักษณะเป็นอย่างไร

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 176
    11 มี.ค. 2567