ปกิณณกธรรม ตอนที่ 734


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๗๓๔

    สนทนาธรรม ที่ บ้านมิ่งโมฬี จ.ราชบุรี

    วันที่ ๑๐-๑๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๘


    ท่านอาจารย์ แต่เมื่อมีธาตุรู้เกิดขึ้นได้ยินเสียง หมายความว่า เป็นธาตุที่รู้เสียงว่า เสียงที่กำลังมีในขณะนั้น มีลักษณะเป็นอย่างไร ธาตุรู้ ใช้คำว่า จิต ก็ได้ หมายความถึงสภาพที่เป็นใหญ่เป็นประธาน ในการรู้สิ่งที่กำลังปรากฏ เพราะจิตเห็นเกิดขึ้นเห็น สิ่งนั้นจึงปรากฏว่ามีสิ่งที่กำลังถูกเห็น

    ขณะได้ยิน เสียงปรากฏ เพราะมีธาตุที่เกิดขึ้นได้ยินเสียง ถ้าไม่มีธาตุได้ยิน เสียงปรากฏไม่ได้เลย ไม่มีใครรู้ เสียงในป่า เสียงที่ถนน เพราะฉะนั้น เสียงเป็นอย่างหนึ่งคือ ไม่รู้อะไร แต่สภาพรู้ เกิดขึ้นจึงได้ยินเสียงที่กำลังปรากฏ แล้วถ้ารู้อย่างนี้แล้ว ยังต้องรู้ต่อไปอีกว่า ธาตุรู้เสียง ที่ใช้คำว่า จิต เกิดขึ้นเมื่อไร ต้องมีสภาพธรรมอีกอย่างหนึ่งซึ่งเกิดพร้อมกัน อาศัยกัน และก็ดับ เพราะฉะนั้น ทันทีที่มีธาตุรู้ ซึ่งเป็นใหญ่เป็นประธานในการเห็นสิ่งที่กำลังปรากฏ จะมีธาตุที่รู้ ใช้คำว่า นามธาตุ ด้วยกันก็ได้เกิดขึ้นพร้อมจิตเลย รู้สิ่งเดียวกับจิตด้วย ทันทีที่เห็น รู้ว่าเป็นดอกไม้ อันนี้ยังหยาบมากเลย ชอบไหม ชอบ ชอบไม่ใช่เห็น เห็นเพียงแค่เห็น แต่ชอบเป็นอีกอย่างหนึ่ง เป็นเจตสิก หมายความถึงสภาพรู้อีกอย่างหนึ่ง ซึ่งต้องเกิดพร้อมจิต รู้สิ่งเดียวกับจิต

    ถ้าเห็นสีดำๆ น่ากลัวมาก ชอบไหม ไม่ชอบ แต่เห็นต้องเห็น เปลี่ยนเห็นไม่ได้ ไม่ว่าสิ่งหนึ่งสิ่งใดก็ตามที่ปรากฏว่าดำมืด เพราะจิตเห็น ที่ปรากฏเป็นสีชมพู สีเหลือง สีสวยๆ ก็เพราะจิตเห็น เพราะฉะนั้น จิตเห็น ไม่ว่าอะไรจะปรากฏให้เห็น จิตเป็นใหญ่เป็นประธานในการเห็นแจ้งสิ่งนั้น เปลี่ยนไม่ได้เลย สีแดงกับสีดำ คนละสี ถ้าจิตไม่เกิดขึ้นเห็นแจ้งในความเป็นลักษณะที่ต่างกัน ก็จะไม่รู้ว่าสองอย่างต่างกัน และเวลาเห็นสีชมพู ชอบไหม เห็นสีดำ ชอบไหม เห็นสีไหนไม่ชอบบ้างมีไหม ก็ต้องมี เพราะฉะนั้น ชอบ ไม่ชอบ ไม่ใช่เห็น เห็นเพียงแค่เห็น แต่สภาพธรรมที่เกิดกับจิตอาจจะชอบในสิ่งที่ปรากฏให้เห็น ชอบไม่ชอบก็ได้ อย่างเสียงมีตั้งหลายเสียง เสียงบางเสียงน่ากลัวมาก เสียงดังสนั่น ทุกคนก็ไม่ชอบเสียงนั้น แต่เสียงอ่อน เสียงเพราะ เสียงหวาน ขณะนั้นจิตที่กำลังรู้แจ้งเสียงนั้น ไม่ได้ชอบ เพียงรู้แจ้งแต่ว่าลักษณะที่ชอบ เกิดพร้อมจิตนั้นได้

    แสดงให้เห็นว่า ขณะใดก็ตามที่จิตเกิดขึ้น ที่เราบอกว่าต้องมีเหตุปัจจัย คือต้องมีสภาพรู้ซึ่งเกิดพร้อมกัน ดับพร้อมกัน อาศัยกัน ปราศจากกันไม่ได้ คือ จิต และเจตสิก เพราะฉะนั้น สภาพที่ตั้งมั่น มีจริงๆ แต่ไม่ใช่จิต จิตเพียงแค่รู้ แต่ว่ามีสภาพนามธรรมซึ่งเป็นเจตสิก เกิดพร้อมจิต ทำให้จิตตั้งมั่นในอารมณ์ที่จิตกำลังรู้ ไม่ไปสู่อารมณ์อื่น

    สภาพที่ตั้งมั่น ภาษาบาลีมีคำว่า เอกัคคตาเจตสิก ถ้าตั้งมั่นในสิ่งหนึ่งสิ่งใดบ่อยๆ ไม่หันไปสู่สิ่งอื่น อย่างกำลังอ่านหนังสือ จดจ้องอยู่ที่ตัวหนังสือ ใครพูดก็ไม่ได้ยิน ขณะนั้นเพราะสภาพนั้นตั้งมั่น เราจึงใช้คำว่า สมาธิ เพราะฉะนั้น พอได้ยินคำว่า สมาธิ อย่างเพิ่งคิดว่าเรารู้ แต่ความจริงคิดเอาเองหมด ทำสมาธิยังไม่รู้เลยว่า สมาธิคืออะไร ไม่ใช่เรา และก็ไม่ใช่จิต แต่เป็นเจตสิกซึ่งตั้งมั่น ทุกขณะที่จิตเกิด ต้องมีสภาพธรรมธรรมนี้เกิดร่วมด้วย แต่ว่าไม่ปรากฏอาการของความตั้งมั่นนานๆ เราก็ไม่ได้ใช้คำว่า สมาธิ แต่ความจริงเจตสิกนี้แหละเป็นสภาพที่ตั้งมั่น ด้วยเหตุนี้ ถ้าตั้งมั่นในสิ่งหนึ่งสิ่งใด กำลังตั้งมั่น เย็บอะไร ต้องเย็บให้ถูก ปักเข็มลงไปก็ต้องให้ถูกตรงนั้น ไม่ใช่ตรงอื่น ขณะนั้นก็เพราะสภาพที่ตั้งมั่นเกิดพร้อมจิตที่กำลังเห็น จะใช้คำว่า สมาธิ ก็ได้ แต่ขณะนั้นไม่เป็นไปในทางดีงาม ไม่เป็นไปในทาน ไม่เป็นไปในศีล ไม่เป็นไปในความสงบ ไม่เป็นไปในการรู้ หรือเข้าใจสภาพธรรมที่จิตกำลังรู้ เพราะฉะนั้น ขณะนั้นเป็น มิจฉาสมาธิ เป็นอกุศล

    เริ่มเข้าใจแล้วใช่ไหม ว่าแม้สมาธิก็มี ๒ อย่าง สมาธิที่เป็นกุศลก็มี สมาธิที่ไม่ใช่กุศลเป็นอกุศลก็มี เพราะฉะนั้น ขณะใดก็ตามที่ไม่มีปัญญา แล้วทำสมาธิ จะเป็นกุศลได้ไหม จะถูกต้องไหม จะดีไหม ขณะนั้นเป็นมิจฉาสมาธิ ไปเห็นแสงอะไร จริงหรือเปล่า อยู่ปกติธรรมดา บังคับไม่ได้ เห็นแล้ว อันนี้ถูกต้อง แต่ไปทำให้เกิด เห็นแสง เพื่อประโยชน์อะไร ไปทำให้เห็นดวงแก้วในตัว ที่สะดือ หรือที่ท้องก็แล้วแต่ แล้วอย่างไรอยู่ดีๆ ไม่ชอบต้องไปอยากเห็นดวงแก้วในท้อง ไปทำสมาธิให้เกิดความที่รู้สึกเหมือนเห็น แต่ไม่ได้มากระทบตาตามปกติเลย จึงไม่ใช่เห็น แต่เข้าใจว่าเห็น เหมือนในฝัน เมื่อคืนนี้ฝันเห็นอะไร แต่ไม่ได้เห็น

    เพราะฉะนั้น ถ้าสิ่งนั้นไม่กระทบตาตามปกติโดยความเป็นอนัตตาเพียงแต่จําว่า มีสิ่งนั้น พยายามนึกจนกระทั่งสิ่งนั้นปรากฏ แต่ไม่ใช่เห็นจริงๆ แล้วมีประโยชน์อะไร ไม่ได้มีความเข้าใจอะไรเลยทั้งสิ้น กลับหลงกลของโลภะ และความไม่รู้ คิดว่าดี ไปทำอะไร หลอกตัวเอง ไม่มีแล้วเข้าใจว่ามี เข้าใจว่าเห็น เพราะฉะนั้น ขณะนั้นก็เป็นอกุศล เพราะฉะนั้น ใครทำให้เราสามารถรู้ว่าอะไรถูกอะไรผิด แม้แต่สมาธิคืออะไร ก็บอกอย่างชัดเจนว่า มี และเป็นสภาพธรรมซึ่งเกิดกับจิตด้วย แต่ว่ามีลักษณะต่างกับจิต มีกิจการงานต่างกับจิต คือเป็นสภาพตั้งมั่นในสิ่งที่จิตกำลังรู้ เพราะสภาพนั้นรู้สิ่งเดียวกับจิตรู้ และตั้งมั่นในจิตนั้น ในขณะที่จิตเกิดขึ้นเห็น แต่เจตสิกที่เกิดร่วมกัน แต่ละหนึ่งก็หลากหลาย และมีลักษณะ และกิจการงานของเจตสิกนั้นๆ เช่น ชอบ ไม่ชอบ ริษยา มานะ ตระหนี่ ทุกอย่างในชีวิตประจำวัน ความเพียรหรือขยันทั้งหมดมีจริง แล้วเป็นอะไร ไม่ได้รู้ความจริงเลยว่า มี เมื่อเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยแล้วก็ดับไป พอจะเริ่มเข้าใจว่า วาจาสัจจะของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ต่างกับคำของคนอื่นทั้งหมด แล้วเราจะมีใครเป็นที่พึ่ง ต้องพึ่งคำที่ทำให้มีความเข้าใจที่ถูกต้อง ไม่ใช่พึ่งให้หลงไม่รู้ แล้วก็ผิด แล้วก็เชื่อ แล้วก็ไม่เป็นความจริง ยังสงสัยไหม

    ผู้ฟัง สงสัยว่า เรารู้ได้อย่างไรว่าเราเข้าใจถูก

    ท่านอาจารย์ ฟังแล้วเข้าใจไหม

    ผู้ฟัง พอเข้าใจ

    ท่านอาจารย์ เห็นมีจริงๆ หรือเปล่า

    ผู้ฟัง ใช่

    ท่านอาจารย์ เป็นจิตใช่ไหม

    ผู้ฟัง ใช่

    ท่านอาจารย์ แล้วก็มีสมาธิ สภาพธรรมที่เกิดกับจิตที่ตั้งมั่นในสิ่งที่กำลังเห็นหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ใช่

    ท่านอาจารย์ เข้าใจไหม

    ผู้ฟัง เข้าใจ

    ท่านอาจารย์ มีจริงๆ แต่ไม่เคยรู้เลยว่าทุกขณะมีอย่างนี้

    ผู้ฟัง ใช่

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ถ้าจริงก็จริงตลอดไป ไม่เปลี่ยน จะกลับเป็นไม่จริงไม่ได้ เพราะฉะนั้น เมื่อเข้าใจว่าสิ่งนี้เป็นอย่างนี้จริงๆ ก็จะไม่เปลี่ยนเป็นอย่างอื่น ถ้าไม่มีจิตจะมีเราไหม ถ้าไม่มีธาตุรู้จะมีสัตว์บุคคลต่างๆ มีการเห็น มีการได้ยินไหม ก็ไม่มี เพราะฉะนั้น ที่เห็น ที่ได้ยิน ก็เป็นธาตุแต่ละชนิด เป็นธาตุรู้แต่ละอย่าง อย่างธาตุได้ยินก็เกิดขึ้นรู้เสียง เสียงอย่างนี้ มีจิตเกิดขึ้นรู้เสียง และมีเจตสิกซึ่งเป็นสมาธิ หรือเอกัคคตาตั้งมั่นในเสียง ในขณะที่จิตกำลังรู้เสียง เข้าใจใช่ไหม ไม่เปลี่ยน เปลี่ยนไม่ได้เพราะจริง ไม่ต้องถามใครอีกแล้วว่า เข้าใจหรือเปล่า ถูกหรือผิด

    ผู้ฟัง ขึ้นอยู่กับว่าบุคคลนั้นจะมีโอกาสได้ฟังหรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ ไม่มีอะไรที่เป็นเรื่องบังเอิญ เพียงแต่เราไม่รู้ว่า แต่ละคนเกิดมาต่างกันเพราะอะไร บางคนได้ยิน บางคนไม่ได้ยิน บางคนได้ยินแล้วสนใจ บางคนได้ยินแล้วไม่สนใจเลย เพราะฉะนั้น ตอนนี้ได้ฟังแล้ว และรู้ว่าความจริงเป็นอย่างนี้ คิดว่า ควรรู้ความจริงยิ่งขึ้นหรือเปล่า

    ผู้ฟัง น่าจะเรียนรู้ไปเรื่อยๆ เพราะมีโอกาสที่ดีแล้ว

    ท่านอาจารย์ เพราะเห็นว่า สิ่งที่เป็นประโยชน์ที่สุด คือรู้ความจริง ไม่มีใครชอบสิ่งที่ไม่จริง นอกจากคนที่ไม่มีปัญญา พอใจในสิ่งที่ไม่จริง หลงในสิ่งที่ไม่จริง พอใจที่จะอยู่กับความไม่รู้ และความไม่จริง แต่ถ้ารู้ว่าขณะนี้ ไม่ได้มีการรู้อะไรเลยสักอย่างที่มีจริงๆ ในชีวิตประจำวัน แล้วมีโอกาสจะรู้ได้ จะรู้ไหม เท่านั้นเอง ตามการสะสม บังคับใครก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้น คนที่ฟังธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีไม่มาก ต้องเป็นผู้ที่สะสมมาที่จะเห็นประโยชน์ว่า ชีวิตนี้สั้นมาก เราอาจจะบอกว่าสั้น อาจจะตายวันนี้ก็ได้ เย็นนี้ก็ได้ แต่สั้นยิ่งกว่านั้นก็คือว่า ทุกขณะจิต เพียงจิตไม่เกิดก็ไม่มีแล้วชีวิต เพราะจิตยังเกิดดับสืบต่อ ยังคงเป็นบุคคลนี้ จนกว่าจะสิ้นสุดกรรมที่ทำให้สิ้นความเป็นบุคคลนี้ ต้องเป็นบุคคลอื่น จะกลับมาเป็นคนนี้ก็ไม่ได้เลย และคนอื่นข้างหน้าจะเป็นอย่างไร เป็นคนที่ไม่มีโอกาสรู้ความจริง ไม่ได้ยินได้ฟัง สุขทุกข์ไปตามเรื่อง แล้วก็จากโลกนี้ไป โดยไม่รู้ความจริงไปทุกชาติ หรือว่าเมื่อรู้ว่า ความจริงสามารถจะรู้ได้ เห็นประโยชน์จริงๆ ก็คิดว่า ชีวิตที่แสนสั้นจะเป็นอย่างไรดี เป็นประโยชน์ เป็นกุศล หรือว่าเป็นอกุศล หรือว่าเป็นความไม่รู้ต่อไป

    ได้ยินคำว่า อารมณ์ ก่อนอื่นที่จะรู้ว่า เข้าใจธรรมไหม ก็คือต้องถามว่า คืออะไร ถ้าพูดไปโดยไม่รู้ว่าคืออะไรแสดงว่าไม่ได้เข้าใจ เพราะฉะนั้น อารมณ์คืออะไร ทุกคำต้องไม่ผ่าน ฟังแล้วไปที่ไหนเขาถามว่าอารมณ์คืออะไร ถ้าเราฟังแล้วเราต้องรู้ จริงๆ ก่อนอื่น แต่ละคำ คำเดียว คืออะไร ยังไม่พูดอย่างอื่นประสบการณ์อะไรๆ ไม่เอาหมดเลย แค่อารมณ์คืออะไร

    ผู้ฟัง ความรู้สึกเป็นอารมณ์

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ รู้สึกเป็นรู้สึก รู้สึกเป็นเห็นได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ รู้สึกเป็นคิดนึกได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ใช่

    ท่านอาจารย์ เดี๋ยวนี้รู้สึกอย่างไร

    ผู้ฟัง รู้สึกไม่ค่อยเข้าใจ

    ท่านอาจารย์ เวลาไม่ค่อยเข้าใจ รู้สึกอย่างไร เวลาไม่ค่อยเข้าใจ เป็นไม่ค่อยเข้าใจ แต่ว่าเวลาไม่ค่อยเข้าใจ แล้วรู้สึกอย่างไร ตอนที่กำลังไม่ค่อยเข้าใจ

    ผู้ฟัง หงุดหงิด

    ท่านอาจารย์ หงุดหงิด ชอบหงุดหงิดไหม

    ผู้ฟัง ไม่ชอบ

    ท่านอาจารย์ สบายใจไหม เวลาหงุดหงิด

    ผู้ฟัง ไม่สบายใจ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ความรู้สึกไม่สบายใจ เวลาไหน เวลาไม่เข้าใจ เวลาไหนอีกมากมายไป แต่ความรู้สึกเป็นความรู้สึก รู้สึกสบายกาย สบายใจ ทุกข์กาย ทุกข์ใจ รู้สึกเฉยๆ

    รู้สึก ไม่ใช่อารมณ์ ทั้งๆ ที่กำลังมีอารมณ์ก็ไม่รู้จักอารมณ์ เพราะไม่รู้ว่า จิตคืออะไร ธรรมคืออะไร ทุกสิ่งทุกอย่างที่มีในชีวิตคืออะไร ไม่รู้เลย เพราะฉะนั้น ต้องรู้ตามลำดับ เพราะฉะนั้น ที่เราว่าอารมณ์ เป็นคำในภาษามคธี ที่ดำรงพระศาสนาไว้จึงใช้คำว่า ปาละ หรือบาลี ภาษาบาลีออกเสียง และอารัมมณะ จิตเป็นสภาพรู้ เดี๋ยวนี้มีสภาพรู้ไหม

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ ได้ยินเป็นสภาพรู้ใช่ไหม ได้ยินอะไร

    ผู้ฟัง ได้ยินเสียง

    ท่านอาจารย์ ได้ยินเสียงแน่นอน ไม่ใช่ได้ยินกลิ่น ไม่ใช่ได้ยินรส ก็ต้องได้ยินเสียง ถ้ามีเสียงแต่ไม่มีได้ยินเลย เสียงจะปรากฏไหม

    ผู้ฟัง ไม่ปรากฏ

    ท่านอาจารย์ ไม่ปรากฏ เพราะฉะนั้น เสียงปรากฏกับจิตที่ได้ยินเสียง เมื่อจิตเป็นสภาพรู้ ตอนที่ได้ยินเสียง กำลังรู้ลักษณะของเสียงนั้นว่า เสียงนั้นเป็นอย่างนี้ เมื่อจิตเป็นสภาพรู้ ต้องมีสิ่งที่ถูกรู้ใช่ไหม ภาษาบาลี เรียก สิ่งที่ถูกรู้ ว่า อารมณ์หรือ อารัมมณะ

    เพราะฉะนั้น เมื่อมีจิตซึ่งเป็นสภาพรู้ ก็ต้องมีสิ่งที่ถูกจิตรู้ในขณะนั้น ไม่ใช่ขณะอื่น ต้องในขณะที่จิตเกิดขึ้นรู้ มีสิ่งที่จิตนั้นกำลังรู้ เฉพาะสิ่งนั้นที่ปรากฏ ถ้าเป็นได้ยิน ก็คือขณะนั้น คือจิต หรือธาตุรู้เกิดขึ้นได้รู้เสียง จึงใช้คำว่า ได้ยิน

    ที่ใช้คำว่า ได้ยิน หมายความว่า มีธาตุที่กำลังได้ยิน คือรู้เฉพาะเสียงนั้น เพราะฉะนั้น เมื่อมีสภาพรู้ก็ต้องมีสิ่งที่ถูกรู้ อันนี้เราพูดแต่ต้น แต่เราไม่ได้ใช้คำว่า อารัมมณะ หรืออารมณ์ แต่พอเข้าใจความหมายตั้งแต่ต้นว่า เมื่อจิตเป็นสภาพรู้ หรือธาตุรู้ ก็ต้องมีสิ่งที่ถูกรู้ เมื่อจิตรู้สิ่งใด เอกัคคตาเจตสิก หรือสมาธิ มีความตั้งมั่นในสิ่งที่ถูกรู้ เราพูดแล้ว แต่เราไม่ได้เรียกคำเฉพาะว่า สิ่งที่ถูกจิตรู้นั่นแหละ ภาษาบาลีใช้คำว่า อารัมมณะหรืออารมณ์ หูก็ไม่รู้อะไร ไม่ใช่สภาพรู้ แต่ว่าเมื่อ ๒ อย่างกระทบกัน จิตได้ยินเกิดขึ้นรู้เสียงที่กระทบหู เพราะฉะนั้น เสียงที่จิตรู้ เป็นอะไร ภาษาบาลี อารมณ์หรืออารัมมณะ เริ่มเข้าใจอีกคำหนึ่งไม่เปลี่ยนเลย เพราะฉะนั้น เรียกชื่ออื่นก็ได้ แต่เปลี่ยนสภาพความเป็นสิ่งที่ถูกรู้ทางหูไม่ได้ ภาษาไทยเรียกอย่างหนึ่ง ภาษาจีนเรียกอย่างหนึ่ง ภาษาอังกฤษเรียกอย่างหนึ่ง ความหมายเหมือนกัน คือ สิ่งที่จิตได้ยิน คือเสียง เฉพาะเสียงเท่านั้น วันนี้อารมณ์ดีไหม

    ผู้ฟัง ดี

    ท่านอาจารย์ เมื่อไรบ้าง

    ผู้ฟัง จิตที่รู้เสียง

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง เสียงที่ดีน่าพอใจ เพราะฉะนั้น ทางหูเวลาเสียงเพราะ น่าฟัง จิตได้ยินเสียง เสียงเป็นอารมณ์ที่ดี ที่จิตเกิดขึ้นได้ยิน ความจริงแล้วเป็นผลของกุศลกรรม

    ธรรมที่เป็นเรื่องยาวไปเลย แต่ว่าเป็นความจริงทุกคำ พูดสั้นๆ ก็ไม่สามารถที่จะละการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดได้ ต้อง ๔๕ พรรษาที่ทรงแสดงโดยละเอียดยิ่ง โดยประการทั้งปวง ไม่ให้เหลือความสงสัย หรือความไม่รู้ พอที่จะเป็นที่พึ่งได้ จึงปรินิพพาน เพราะว่าพุทธบริษัทสามารถที่จะเข้าใจได้ถูกต้องแล้ว จิตเป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ทั้งวันไม่เคยขาดจิต มีสิ่งที่ปรากฏทางไหนก็ตาม เมื่อไรก็ตาม เพราะจิตเกิดขึ้นรู้สิ่งนั้น สิ่งที่จิตกำลังรู้เป็นอารมณ์ของจิต จิตจะเกิดโดยไม่มีอารมณ์ไม่ได้ เพราะฉะนั้น อารมณ์เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้จิตเกิด แม้จิตเป็นใหญ่ เป็นธาตุรู้เกิดขึ้นเพียงหนึ่งขณะ ยังต้องอาศัยอารมณ์เป็นปัจจัย ถ้าไม่มีเสียงจิตได้ยินเกิดไม่ได้ แม้แต่จะได้ยินก็ต้องอาศัยปัจจัยคือเสียง แล้วจะมีเราได้แต่ไหน เป็นธรรมทั้งหมดซึ่งเกิดเพราะเหตุปัจจัย แต่ต้องเป็นความเข้าใจของเรา จึงจะเป็นประโยชน์

    ถ้าฟังอะไรแล้วไม่เข้าใจ เป็นประโยชน์ไหม ทำอะไรก็ไม่รู้ว่าอะไรเป็นประโยชน์ไหม ประโยชน์สูงสุด คือ ความเห็นถูกตามความเป็นจริงของสิ่งที่มีจริงซึ่งภาษาบาลีใช้คำว่า ปัญญา แต่เราจะใช้คำว่า เข้าใจถูก เห็นถูกตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้น อีกคำหนึ่งของปัญญา คือ สัมมาทิฏฐิ ทิฏฐิแปลว่าความเห็น ความเข้าใจ สัมมาคือถูกต้อง ทำไมรู้ว่าถูก ถูกต้องตามความเป็นจริงของสิ่งที่มีจริงๆ ไม่ใช่ใครบอกว่าถูก เราก็ถูก แต่ความจริงเป็นอย่างไรก็เข้าใจถูกต้องตามความเป็นจริงของสิ่งนั้น ตายแล้วยังมีจิต แต่ไม่ใช่คนนี้อีกต่อไป จิตใหม่เกิดขึ้นเพราะกรรมใหม่ เพราะว่ากรรมนี้สิ้นความเป็นบุคคลนี้ จะกลับมาเป็นบุคคลในอีกไม่ได้เลย เมื่อจุติจิต คือจิตขณะสุดท้ายเกิดใช่คำว่า จุติ หมายความถึงจิตขณะสุดท้าย ที่ทำกิจเคลื่อนพ้นสภาพความเป็นบุคคลโดยสิ้นเชิง จิตทุกขณะ เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ ไม่ใช่เราเลย พราะฉะนั้น ก็ให้รุู้ว่า ทั้งหมดก็คือว่า ไม่มีเรา แต่มีธรรมคือมีจิต และก็มีเจตสิก ซึ่งเกิดพร้อมกันด้วย แต่เจตสิกไม่ใช่จิต แต่อาศัยกัน และกันเกิดขึ้น ทั้ง ๒ อย่างเป็นสภาพโดยใช้คำว่า ธรรมธาตุ หรือนามธรรม แต่ก็มีสภาพธรรมซึ่งไม่สามารถจะรู้อะไรได้ก็เป็นรูปธาตุ

    ผู้ฟัง เกี่ยวกับเรื่อง ธุดงค์ คือที่มีธุดงค์ ๑,๐๐๐ กว่ารูปไปตามที่ต่างๆ

    ท่านอาจารย์ ความถูกต้องจริงๆ ต้องมาจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ทรงตรัสรู้ความจริงละเอียดอย่างยิ่ง ไม่มีใครที่จะเสมอได้ เพราะเหตุว่าพระองค์ได้ทรงตรัสรู้สิ่งที่คนอื่นคิดไม่ถึง และก็ไม่สามารถจะรู้ได้ คาดคะเนกันไปต่างๆ นานา บางคนก็บอกความเห็นอย่างนี้ ถูก บางคนก็บอกว่าความเห็นอย่างนั้น ถูก เพราะฉะนั้น เราไม่สามารถที่จะตัดสิน หรือว่าอะไรถูกต้องถึงที่สุดได้ นอกจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะฉะนั้น ถ้าไม่ฟังคำของพระองค์ ก็ชื่อว่าเราเป็นผู้ประมาท และประมาทในพระปัญญาคุณด้วย ซึ่งทรงแสดงความจริงทั้งหมด โดยละเอียดยิ่ง เพราะฉะนั้น ถ้าเราไม่ศึกษาก่อนว่า ธุดงค์ ธุ-ตัง-คะ คืออะไร เพียงขั้นต้นยังไม่รู้เลย แล้วจะรู้ต่อต่อไปได้อย่างไร ด้วยเหตุนี้ ไม่ว่าอะไรทั้งหมด คำถามแรกก็คือว่า คืออะไรก่อน แล้วก็ต้องมีความเข้าใจชัดเจนตามลำดับด้วย ถึงจะเป็นความถูกต้อง และความเข้าใจทั้งหมด มาจากพระธรรมที่ทรงแสดงไว้ดีแล้ว เพราะฉะนั้น สำหรับคำว่า ธุ-ตัง-คะ คืออะไร ตอบได้หรือยัง ก่อนที่จะไปรู้ว่า ถูกไหมจริงไหม ในพระไตรปิฎกกล่าวว่าอย่างนี้หรือเปล่า ในพระไตรปิฎกกล่าวว่าอย่างไร ใคร ที่สามารถที่จะเข้าใจคำที่ได้ตรัสไว้ กับผู้ที่ได้สะสมปัญญามาแล้วนานแสนนานจึงเข้าใจได้ สามารถที่จะรู้ความจริงถึงความเป็นพระอริยบุคคลได้ เพราะฉะนั้น ก่อนที่ท่านจะรู้อย่างนั้นได้ ท่านก็สะสมความเห็นถูกความเข้าใจถูกมา พอที่เมื่อได้ฟังธรรมจากพระโอษฐ์สามารถที่จะเข้าใจได้ เพราะฉะนั้น เราขณะนี้ ได้ฟังคำของพระองค์มากหรือน้อย แล้วก็จะรู้ได้อย่างไรว่า คำนั้นเป็นคำของพระพุทธเจ้าหรือคำของคนอื่น ก็โดยที่ว่า ถ้ากล่าวถึงความจริงเดี๋ยวนี้ให้สามารถเข้าใจขึ้น สืบเนื่องสอดคล้องเกี่ยวโยงกันทั้งหมด จากหนึ่งขณะไปอีกหนึ่งขณะแต่ละชีวิต จึงสามารถที่จะรู้ได้ว่า อะไรถูกอะไรผิด เพราะฉะนั้น ต้องเริ่มต้น ธุ-ตัง-คะ ซึ่งคนไทยใช้คำว่า ธุดงค์ คืออะไร ขอเชิญคุณธีรพันธ์

    อ.ธีรพันธ์ ความหมายธุดงค์หมายความว่า ข้อปฏิบ้ติหรือข้อวัตรที่ประพฤติขัดเกลากิเลสนอกเหนือจากสิกขาบทที่พระองค์ทรงบัญญัติไว้โดยทั่วไป สิกขาบทโดยทั่วไป เพื่อการครองเพศความเป็นสมณะ ความเป็นภิกษุในธรรมวินัยนี้ ถ้าล่วงอาบัติก็ต้องแสดงคืนซึ่งอาบัตินั้น แต่ว่าธุดงค์นี้คือ ธรรมเครื่องขัดเกลากิเลสที่ยิ่งขึ้นไป อีก ถ้ายังไม่ใช่ผู้ที่ดับกิเลสได้ ก็ยังมีความติดข้องต้องมีความยินดีในสิ่งนั้น อย่างเช่น การใช้สอยเครื่องนุ่งห่ม ท่านก็ประพฤติขัดเกลา เช่น รับจีวร ครองจีวรเฉพาะ ๓ ผืนเท่านั้น

    ท่านอาจารย์ การศึกษาต้องตามลำดับ เริ่มจากกิเลสมีไหม มากไหม จึงเป็นปุถุชนผู้หนาด้วยกิเลส และโดยเฉพาะที่นี่ ทุกคนเป็นคฤหัสถ์ เพราะเหตุว่าไม่มีอัธยาศัยใหญ่ ที่เมื่อได้ฟังธรรมแล้วก็จะขัดเกลาในเพศของบรรพชิตคือ สามารถที่ละอาคารบ้านเรือนได้

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 176
    11 มี.ค. 2567