ปกิณณกธรรม ตอนที่ 722


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๗๒๒

    สนทนาธรรม ที่ โรงแรมอิมพีเรียลแม่ปิง จ.เชียงใหม่

    วันที่ ๒๗ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๘


    ท่านอาจารย์ พระธรรมที่ทรงแสดง เพื่อให้เข้าใจถูกของผู้ที่ฟังพระธรรม ไม่ใช่ไปเชื่อตาม หรือคิดเอง แต่ฟังพระธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งกล่าวถึงสิ่งที่กำลังมีในขณะนี้ เป็นจริงอย่างนั้นตามที่ได้ตรัสไว้แล้ว เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ใครที่สามารถที่จะไปประจักษ์การเกิดดับ หรือไประลึกรู้ลักษณะของสิ่งหนึ่งสิ่งใดตามความต้องการได้ แต่เห็นความเป็นอนัตตาว่า แม้สติก็บังคับบัญชาไม่ได้ ต้องเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย

    ถ้าไม่มีปัญญาจะไปหวังอะไรจะให้สติเกิด สติก็ไม่เกิด คอยสักเท่าไร สติก็ไม่เกิด แต่ถ้ามีปัญญาเพิ่มขึ้น สติเกิดโดยความเป็นอนัตตา เพราะมีปัญญาที่ได้เข้าใจแล้ว โดยไม่หวัง โดยไม่รอ แต่ว่ามีปัจจัยที่จะเกิดรู้ลักษณะของสภาพธรรม ทีละเล็กทีละน้อย แล้วจะไปอยู่ที่ไหน แล้วจะไปทำอะไร กำลังฟังเรื่องสิ่งที่มีจริงเดี๋ยวนี้ พอที่จะเริ่มเข้าใจขึ้นหรือยัง เห็นไหม อยู่ที่ไหน ไม่ได้ไปที่ไหน ที่จะต้องไปนั่งปฏิบัติธรรม แต่ว่าอยู่ที่ไหนเมื่อได้ฟังพระธรรม คือ วาจาสัจจะ พิจารณาจนกระทั่งเป็นความเข้าใจของตนเอง

    ผู้ฟัง ผมเคยได้ยินคำหนึ่งว่า จิตใจไม่ควรที่จะตกไปทางฝ่ายชอบ และฝ่ายชัง คือเข้าสู่ทางสายกลาง หมายความว่าไม่ควรรังเกียจ อกุศลที่เกิดขึ้น หรือชอบแต่กุศลที่เกิดขึ้นใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ บังคับได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ แต่ค่อยๆ ดู ค่อยๆ เข้าใจทุกคำ อกุศลเป็นเราหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ไม่ใช่

    ท่านอาจารย์ แล้วทำไมไม่พอใจ ไม่อยากมี

    ผู้ฟัง เพราะอกุศลเกิดกับเรา

    ท่านอาจารย์ ยังมีเรา เพราะไม่รู้ เพราะฉะนั้น ถ้ายังมีความไม่รู้อยู่ จะละความติดข้อง ความไม่อยากให้อกุศลเกิด อยากให้กุศลเกิดอยากโน่น ไม่อยากนี่ ไม่ได้เลย เพราะเหตุว่าธรรมเป็นอนัตตา ลืมไม่ได้ พระธรรมทั้งหมด เมื่อเข้าใจถูกต้องก็สอดคล้อง ไม่ขัดกันเลยแต่ต้องเป็นผู้ที่รอบรู้จริงๆ

    เราเริ่มเพียงคำว่า ธรรม คือ สิ่งที่มีจริง แต่สิ่งที่มีจริงมีหลากหลาย และก็เป็นประเภทที่ควรจะได้รู้ตามลำดับด้วย ไม่ใช่ยังไม่ได้เข้าใจเลย ว่าธรรมมีจริงๆ หลากหลายมากโดยประเภทแล้วเป็นอะไรบ้าง

    เพราะฉะนั้น แม้แต่คำว่า สติ เราก็ยังไม่รู้เลย ที่รู้ก็คือว่า เมื่อทุกอย่างเป็นธรรม สติก็เป็นธรรมด้วย แต่ธรรมก็มีมาก ที่จะต้องค่อยๆ เข้าใจขึ้นว่าธรรมทั้งหมด ต่างกันเป็นประเภทใหญ่ๆ อย่างไรก่อน ซึ่งตามความเป็นจริง คนที่ไม่เคยฟังธรรมเลยจะรู้ไหมว่า ขณะนี้มีอะไรๆ ปรากฏให้เห็น ให้ได้ยิน และสิ่งที่มีจริงๆ นั่นคืออะไร จริง ทุกอย่างมีจริง แต่สิ่งที่มีจริงบางอย่างเกิดขึ้นแล้วไม่รู้อะไรเลย ไม่สามารถจะรู้อะไรได้มีจริงๆ แข็งมีจริง ร้อนมีจริง เผ็ดมีจริง ทุกอย่างมีจริง แต่สิ่งต่างๆ ไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลย ที่ร่างกายกระทบสัมผัสแข็ง มีจริงไหม เป็นร่างกายของเราเป็นตัวเรา หรือว่าเป็นแข็ง คือเป็นสิ่งที่มีจริงอย่างหนึ่ง ที่กำลังเกิดดับ คือเราข้าม ไปหมดเลย

    แต่ว่าการศึกษาธรรมต้องละเอียดจริงๆ เริ่มจากคำเดียวคือ ธรรมสิ่งที่มีจริง แล้วก็ค่อยๆ ฟัง สิ่งที่มีจริง สามารถที่จะแยกออกเป็นประเภทใหญ่ๆ ต่างกัน ๒ อย่าง คือ อย่างหนึ่งเป็นธรรมไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลย ที่ตัวของเรา เป็นต้น เข้าใจว่าเป็นตัวเรา แต่สิ่งที่กระทบสัมผัสก็คือแข็ง ตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า แล้วเป็นของเราหรือ ในเมื่อมีปัจจัยที่จะเกิดขึ้น กรรมเป็นปัจจัยให้เกิดก็ได้ จิตเป็นปัจจัยก็ได้ อุตุเป็นปัจจัยก็ได้ อาหารเป็นปัจจัยก็ได้ แสดงให้เห็นว่ามีอีกมากมาย ซึ่งเราสามารถที่จะเข้าใจสิ่งซึ่งไม่เคยรู้มาก่อน แต่ต้องตามลำดับ คือต้องรู้ความจริงทีละอย่างว่า สภาพธรรมที่มีจริง ที่ไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลยก็มี แต่ถ้าไม่มีสภาพธรรมอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งเกิดขึ้นรู้ สิ่งต่างๆ เหล่านี้ก็ไม่ปรากฏ แม้แต่คำว่า รู้ ก็น่าคิด เดี๋ยวนี้กำลังเห็นรู้หรือเปล่าว่า เป็นธาตุชนิดหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นรู้ จึงมีสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาได้ นี่เป็นสิ่งที่ฟังแล้วแต่ละคำ แม้ในภาษาไทยหรือในภาษาไหนก็ตาม ฟังแล้วยังต้องไตร่ตรอง เพราะว่าเป็นสิ่งที่ไม่เคยรู้มาก่อน แต่เราจะข้ามไปรู้จนกระทั่งถึงสติสัมปชัญญะ ประกอบด้วยปัญญาระดับที่จะรู้ความจริงที่กำลังเกิดดับ เป็นไปไม่ได้ ฟังธรรมดูเหมือนทุกคนอยากจะใจร้อน ปฏิบัติธรรมสติปัฏฐาน แต่เวลานี้อะไรก็ไม่รู้กำลังปรากฏ และที่ตัวที่ว่าเป็นเราเป็นอะไรบ้างก็ไม่รู้ แต่ว่าอยากจะเข้าใจธรรมทั้งหมดรวดเดียวทันที ก็เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้

    ขณะนี้มีสภาพธรรมที่ต่างกัน ๒ อย่าง ไม่ว่าโลกไหน สภาพธรรมอย่างหนึ่งมีจริงๆ มีปัจจัยทำให้เกิดขึ้นเป็นเสียง เป็นกลิ่น เป็นรส บังคับให้เสียงเป็นกลิ่นก็ไม่ได้ ให้กลิ่นเป็นแข็งก็ไม่ได้ เพราะว่ามีปัจจัยที่จะทำให้สภาพธรรมนั้นเกิดขึ้น เป็นอย่างนั้น แต่ว่าสภาพธรรมนั้น ไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลย แต่มีปัจจัยทำให้เกิดขึ้นเป็นอย่างนั้น ฉันใด ธาตุรู้ซึ่งกำลังเห็น ก็มีปัจจัยซึ่งใครจะยับยั้งว่า เกิดแล้วไม่ให้เห็นไม่ให้รู้อะไรก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้น สภาพธรรมจึงต่างกันเป็น ๒ อย่าง ทั้งสองอย่างเป็นธรรม คือสิ่งที่มีจริง ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใคร เกิดแล้วดับไปจึงไม่เป็นใครด้วย

    การศึกษาธรรมเพื่อให้เข้าใจตามความเป็นจริง เพราะไม่รู้จึงติดข้อง เมื่อติดข้องแล้วไม่ได้สิ่งที่พอใจ ก็สามารถที่จะเป็นอะไรก็ได้ ทุกข์ โศกเศร้า หรือว่าทำทุจริตหรืออะไรก็แล้วแต่ เรื่องของความไม่รู้ทั้งหมด เพราะฉะนั้น การฟังก็คือว่า ไม่มีเราที่จะบังคับให้มีเห็นเดี๋ยวนี้ บังคับให้มีได้ยินเดี๋ยวนี้ แต่ว่ามีเสียงเดี๋ยวนี้ ปรากฏกับธาตุที่เกิดขึ้นรู้เสียง บังคับให้ไม่ได้ยินก็ไม่ได้ เพราะเหตุว่ามีธาตุชนิดหนึ่งซึ่งจะเกิดขึ้นรู้ เฉพาะสิ่งที่สิ่งนั้น สามารถจะรู้ได้ เช่น ได้ยิน รู้เสียงได้อย่างเดียว กำลังรู้กลิ่น จิตที่เกิดขึ้นรู้กลิ่นไม่ได้ยินเสียง แต่รู้กลิ่นได้อย่างเดียว เพราะฉะนั้น แต่ละขณะก็เป็นธรรมซึ่งมีจริง ซึ่งละเอียดมาก แล้วก็เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ตามเหตุตามปัจจัย ซึ่งจะต้องอาศัยการฟังอย่างละเอียดแล้ว ค่อยๆ เข้าใจขึ้น จึงจะค่อยๆ ละความไม่รู้

    ผู้ฟัง กล่าวถึงสิ่งที่มีจริง เพราะทรงไว้ซึ่งลักษณะของตนของตน จะเข้าใจสภาพธรรมที่มีจริงที่ทรงไว้ซึ่งลักษณะของตนได้อย่างไร

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่มีการฟังสิ่งที่มีจริงก็มีจริงเจ้าค่ะแต่ ไม่เข้าใจ แต่พอเริ่มฟัง ก็พูดถึงสิ่งที่มีจริงเดี๋ยวนี้ แล้วก็ค่อยๆ เข้าใจขึ้นเจ้าค่ะ ถ้าทุกคนนั่งนิ่งเฉยๆ จะเข้าใจสิ่งที่มีจริงไหม แต่จากการสนทนา การฟัง ค่อยๆ คิด ค่อยๆ เข้าใจขึ้นว่า จริงอย่างที่ได้ฟังหรือเปล่า

    ผู้ฟัง สิ่งนั้นเกิดอยู่แล้ว แต่ไม่เข้าใจสภาพที่เป็นความจริงนั้น

    ท่านอาจารย์ ถูกต้องเจ้าค่ะ ขณะนี้เห็นแล้ว แต่ไม่รู้ว่าเห็นเกิด แล้วต้องมีปัจจัยที่จะเกิดเป็นเห็น ไม่เป็นอย่างอื่น ถ้าไม่มีตาคือจักขุปสาท รูปพิเศษที่สามารถจะกระทบกับสิ่งที่กำลังปรากฏ จิตเห็นก็เกิดไม่ได้ ถ้าไม่มีกรรมในอดีตที่จะทำให้จิตเกิดขึ้นเห็นสิ่งที่กำลังปรากฏ จิตเห็นก็เกิดไม่ได้ เพราะเหตุว่า สิ่งที่ปรากฏมีทั้งสิ่งที่น่าพอใจ และสิ่งที่ไม่น่าพอใจ ถ้าเป็นผลของกุศลกรรม เป็นปัจจัยให้เห็นสิ่งที่น่าพอใจ ถ้าเป็นผลของอกุศลกรรม ก็เห็นสิ่งที่ไม่น่าพอใจ เลือกไม่ได้เลยไม่ว่าใครเจ้าค่ะ

    เพราะฉะนั้น แม้เพียงเห็นหนึ่งขณะ ก็มีเหตุปัจจัยที่จะเกิดขึ้นบังคับไม่ได้ เกิดขึ้นแล้วดับไป จึงไม่ใช่เราสักขณะเดียวที่เห็น เห็นเมื่อไรเกิดก็ไม่ใช่เรา เพราะเห็นเกิดตามเหตุตามปัจจัยแล้วก็ดับไป จะเป็นเราได้อย่างไร หรือจะเป็นของใครก็ไม่ได้ เพราะวันหนึ่งก็จะไม่มีเห็นอีกเลย ไม่มีได้ยินไม่มีคิดนึก ไม่มีอะไร จากโลกนี้ไปเพราะไม่มีปัจจัย ที่จะให้ดำรงความเป็นบุคคลนี้อีกต่อไป เพราะฉะนั้น ทั้งหมดก็เป็นสิ่งซึ่งเกิดเพราะเหตุปัจจัย จากโลกนี้ไปเพราะเหตุปัจจัย ระหว่างที่ยังมีชีวิตอยู่ จะเห็นหรือจะได้ยิน จะสุขหรือจะทุกข์จะแข็งแรงหรือจะป่วยไข้ก็เพราะเหตุปัจจัย ไม่อย่างนั้นจะไม่ได้ยินคำว่า อนัตตา ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์บุคคล ไม่ใช่สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เที่ยง ไม่ใช่ของใคร เป็นธรรม คือสิ่งที่มีจริงแต่ละหนึ่ง แสดงให้เห็นความจริงว่า สิ่งที่มีจริงก็เป็นแต่ละหนึ่ง แต่ไม่เคยเข้าใจว่าอะไร ทำให้แต่ละหนึ่งเกิดขึ้นหลากหลาย เป็นแต่ละหนึ่ง ซึ่งสั้นมากแล้วก็ดับไป แล้วก็ไม่กลับมาอีก

    คำปั่น ที่กล่าวถึง การเห็น ตามความเป็นจริงนั้น อะไรที่เห็น และเห็นอะไร ตามความเป็นจริง

    ท่านอาจารย์ ข้อสำคัญที่สุดต้องทราบว่า การที่จะรู้ความจริง จะรู้ได้ด้วยอะไร เพียงด้วยการคิด หรือเป็นการเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมนั้น ตามความเป็นจริง เพราะว่าการศึกษาธรรมที่จะรู้ว่าไม่ใช่ตัวตน ก็ต้องแต่ละหนึ่ง เพราะว่าขณะนี้เห็นเป็นเรา ได้ยินเป็นเรา คิดนึกเป็นเรา แข็งเป็นเรา ทุกอย่างเป็นเรา หรือว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดแต่การที่จะรู้จริงๆ ว่า แต่ละหนึ่งต่างกัน เช่น เห็นไม่ใช่ได้ยิน ไม่ใช่รวมกันว่า เดี๋ยวเราก็เห็น เดี๋ยวเราก็ได้ยิน แล้วทุกสิ่งทุกอย่างก็ไม่เที่ยง เดี๋ยวก็สุขเดี๋ยวก็ทุกข์ แค่นั้นไม่พอ เพราะไม่ได้หมายความว่า ได้เข้าถึงลักษณะที่เป็นจริง ของสิ่งที่เพียงเกิดขึ้น และดับไป จะคิดอย่างไร จึงสามารถที่จะทำให้ประจักษ์การเกิดขึ้น และดับไปได้จริงๆ มิฉะนั้นแล้วก็ไม่สามารถที่จะละการยึดถือว่าเป็นเราได้ เพียงแค่คิดละความเป็นตัวตนไม่ได้ ต้องเข้าใจจริงๆ ด้วยเหตุนี้จึงกล่าวถึงการศึกษาธรรมแต่ละหนึ่ง เพื่อเข้าใจจริงๆ ว่าขณะที่เห็นไม่ใช่ขณะที่ได้ยิน ไม่ใช่ขณะที่คิด ไม่ใช่ขณะที่รู้แข็ง เพราะฉะนั้น จะรู้ได้อย่างไร เฉพาะเห็นที่เกิดแล้วดับ ไม่ได้ดับพร้อมกันทั้งเห็นทั้งได้ยิน เพราะเหตุว่า เห็นหนึ่งขณะ ไม่ใช่ได้ยิน และเห็นกับได้ยิน ขณะนี้ก็ไกลกันมาก มีจิตเกิดคั่นระหว่างเห็นกับได้ยินหลายขณะ ซึ่งขณะนี้ไม่ปรากฏ ทุกคนกล่าวว่าขณะนี้ทุกคนมีจิต แต่จิตไม่ได้ปรากฏ มีสิ่งที่กำลังปรากฏให้เห็น สิ่งที่กำลังปรากฏให้ได้ยิน แต่สภาพรู้ธาตุรู้ที่กำลังเห็น และที่กำลังได้ยินไม่ได้ปรากฏ และถ้าธาตุนั้นไม่ได้ปรากฏ จะรู้ถึงการเกิดดับของธาตุนั้นได้อย่างไร ก็ยังคงยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นเรา ไม่ว่าจะคิดอย่างไร ก็ยังคงเป็นเรา เพราะว่าไม่ได้รู้ตามความเป็นจริงของสภาพธรรม คือ ธาตุแต่ละหนึ่ง ซึ่งมีปัจจัยเกิดขึ้นหลากหลาย แล้วก็เห็นเกิดขึ้นดับไป มีปัจจัยทำให้เห็นขณะต่อไปเกิดขึ้นแต่เห็นที่เกิดขึ้นต่อจากขณะก่อนไม่ใช่ขณะก่อนเลย เป็นแต่ละหนึ่งจริงๆ ที่มีเหตุปัจจัยเกิดขึ้นแล้วก็ดับไปจริงๆ

    ผู้ฟัง ทีนี้มาถึงการเล่นอะไรต่างๆ ที่เขาสามารถจะเล่นอะไรได้หลายๆ อย่าง เล่นตะกร้อ หรือเล่นหลายๆ อย่าง ทำไมเหมือนกับว่า จิตสามารถทำอะไรหลายๆ อย่างได้ในเวลาเดียวกัน อย่างนี้แสดงให้เห็นว่าจิตเกิดดับเร็วมาก ไม่ใช่ว่ารับอารมณ์พร้อมกันหลายๆ อย่าง

    ท่านอาจารย์ จิตเป็นธาตุ ซึ่งเกิดขึ้นรู้ แล้วก็จิตจะเกิดพร้อมกันหลายๆ ขณะไม่ได้เลยเจ้าค่ะ เพราะเหตุว่าจิตแต่ละหนึ่ง ก็มีปัจจัยที่จะให้เกิดขึ้นเป็นอย่างนั้น ไม่เป็นอย่างอื่น เช่น ขณะแรกที่ใช้คำว่า คนเกิด หรือสัตว์เกิด ถ้าไม่มีจิตเกิดไม่มีธาตุรู้เกิด จะเป็นสิ่งที่มีชีวิต จะเป็นคนเป็นสัตว์ไม่ได้เลย

    ก่อนอื่นก็ต้องเข้าถึงลักษณะความเป็นจริงว่า มีธาตุชนิดหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่รูปธรรม เพราะเหตุว่าสภาพธรรมที่เกิดขึ้นแล้วไม่รู้ ก็ต้องเป็นสภาพธรรมที่ไม่รู้ จะกลายเป็นสภาพที่รู้ไม่ได้ ด้วยเหตุนี้ สภาพของรูปต้องเป็นรูป จะเปลี่ยนไม่ได้ แต่สภาพธรรมอีกอย่างหนึ่ง ธาตุอีกชนิดหนึ่ง ใครจะไปบังคับให้ไม่เกิดก็ไม่ได้ เหมือนใครจะไปบังคับให้เสียงไม่เกิดก็ไม่ได้ ฉันใด เพราะฉะนั้น เมื่อไม่สามารถที่จะบังคับธาตุใดๆ เลยทั้งสิ้น ก็มีธาตุอีกชนิดหนึ่งซึ่งเกิดเป็นธาตุรู้ ต่างกับธาตุซึ่งไม่รู้อะไรเลย ธาตุรู้ก็คือว่าขณะนี้กำลังเห็น ถ้าไม่มีธาตุรู้สีสันวัณณะขณะนี้ปรากฏไม่ได้เลยว่ามี ขณะใดก็ตามที่มีสีสันวัณณะปรากฏ ขณะนั้นหมายความว่า มีธาตุรู้กำลังเห็นสิ่งนั้น เช่นเดียวกับทางหู ขณะใดก็ตามที่เสียงปรากฏ ต้องมีธาตุที่ได้ยินเฉพาะเสียงนั้นที่ถูกได้ยิน ไม่ใช่เสียงอื่น เพราะฉะนั้น เสียงจะปรากฏได้ก็ต่อเมื่อมีธาตุรู้เกิดขึ้น

    ด้วยเหตุนี้คำว่าจิต หมายความว่า ธาตุรู้ ซึ่งเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งสิ่งที่กำลังปรากฏ สิ่งที่ปรากฏทางกาย บางครั้งอ่อน นิ่ม บางครั้งแข็ง ลักษณะที่อ่อนนิ่ม ลักษณะที่แข็งปรากฏกับธาตุรู้ เพราะธาตุรู้เป็นธาตุที่รู้แจ้งลักษณะของสิ่งนั้น จะอ่อนสักแค่ไหนจะแข็งสักแค่ไหน จิตสามารถจะรู้แจ้ง หรือรสต่างๆ เช่นรสเปรี้ยว เปรี้ยวน้อยเปรี้ยวมาก ขมมาก ขมน้อย ขื่น ฝาด ขณะที่จิตกำลังลิ้มรส เป็นธาตุรู้แจ้งในรสนั้น ซึ่งไม่จำเป็นที่ต้องใช้คำบรรยายด้วยคำอธิบายสักเท่าไร ก็ไม่เหมือนกับขณะที่กำลังรู้แจ้ง สิ่งที่กำลังปรากฏจริงๆ เหมือนเสียง เจ้าค่ะ เสียงคนคล้ายกันมาก แต่ก็เสียงคนนี้ไม่ใช่เสียงคนนั้น เพราะเหตุว่าจิตเป็นสภาพที่รู้แจ้งเฉพาะสิ่งที่กำลังปรากฏ แต่ละหนึ่งแต่ละหนึ่ง ด้วยเหตุนี้จึงกล่าวว่า มีธาตุรู้กับธาตุซึ่งไม่สามารถจะรู้ได้

    ด้วยเหตุนี้พระผู้มีพระภาค จึงทรงบัญญัติคำให้รู้ว่าสำหรับสิ่งที่มีจริง ซึ่งไม่สามารถจะรู้อะไรได้ทรงบัญญัติใช้คำว่า รูป แต่เมื่อเป็นสิ่งที่มีจริงก็เป็นรูปธมฺม ภาษาไทย เรียกว่ารูปธรรม ส่วนธาตุอีกชนิดหนึ่ง ไม่มีรูปร่างใดๆ เลย ไม่ขาว ไม่แข็งไม่เปรี้ยวไม่ขม ไม่มีเสียงใดๆ แต่เกิดขึ้นแล้วรู้ เพราะฉะนั้น ธาตุชนิดนี้ไม่สว่าง ไม่หวาน ไม่เค็ม แต่เกิดขึ้นรู้ เช่น ขณะนี้ที่กำลังมีเสียงปรากฏ เพราะธาตุนั้นเกิดขึ้นได้ยินเสียง ตัวธาตุรู้ไม่ปรากฎเลย ไม่มีรูปร่างใดๆ เลย แต่ขณะใดก็ตามที่เสียงปรากฏ เพราะมีธาตุที่เกิดขึ้นได้ยินเสียง ด้วยเหตุนี้ทรงบัญญัติคำว่า สภาพซึ่งเป็นธาตุรู้ ใช้คำว่า นามธาตุ เราจะใช้คำว่า นามธรรม ก็ได้

    แต่ที่ใช้นามธาตุมี ๒ อย่าง คือ หนึ่ง ธาตุที่เป็นใหญ่เป็นประธานใช้คำว่า จิต-ตะ ส่วนนามธรรมอีกชนิดหนึ่งเกิดกับจิต ถ้าจิตไม่เกิดธาตุนั้นก็เกิดไม่ได้ สภาพธรรมที่เกิดกับจิตเป็นธาตุรู้แต่ ไม่ใช่จิต ใช้คำว่า เจตสิก แสดงว่าขณะใดก็ตามที่จิตเกิดต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย เพราะฉะนั้น สำหรับเจตสิกซึ่งไม่ใช่จิต เช่น จำ ขณะนี้กำลังจำ เห็นอะไรก็จำได้ จิตเป็นสภาพที่รู้แจ้ง คือเห็น แต่สภาพจำ เป็นสภาพที่จำ แต่จิตไม่ได้จำ จิตเกิดขึ้นรู้แจ้งคือเห็น และก็มีสภาพจำ สิ่งที่ปรากฏบางครั้ง เราชอบ เราใช้คำว่าเรา เพราะยังไม่รู้ความจริงว่าแท้ที่จริง ก็คือจิตนั่นเอง ซึ่งเกิดพร้อมกับเจตสิก เวลาชอบสิ่งที่ปรากฏ จิตเป็นสภาพที่รู้แจ้ง แต่ชอบเป็นเจตสิกที่เกิดกับจิต

    จิตเป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้แจ้งสิ่งที่กำลังปรากฏ ส่วนเจตสิกเกิดพร้อมจิต ต่างกันเป็น ๕๒ ประเภท เพราะฉะนั้น จิตกับเจตสิกเกิดพร้อมกัน ดับพร้อมกันหนึ่งขณะ ทันทีที่จิต และเจตสิกนั้นดับไป จิต และเจตสิกที่ดับไปนั้น เป็นปัจจัยให้จิต และเจตสิกขณะต่อไปเกิดสืบต่อทันที ไม่มีระหว่างคั่น เพราะฉะนั้น จิตเกิดขึ้นทีละหนึ่งขณะ จะเกิดพร้อมกัน ๒ ขณะไม่ได้

    ด้วยเหตุนี้ การเข้าใจอย่างนี้ก็ทำให้รู้ว่า ที่เข้าใจว่าเป็นเราเห็นเราได้ยิน เราชอบเราไม่ชอบ คือ จิตเจตสิก ส่วนสภาพธรรมที่ปรากฏให้รู้ แต่ไม่สามารถจะรู้อะไรได้ ก็เป็นรูปธรรม เพราะฉะนั้น ก็มีธรรมซึ่งต่างกันเป็น ๒ ประเภท คือ นามธรรม กับรูปธรรม ไม่มีเราเลย ขณะเห็นเป็นจิตที่เกิดขึ้นเพราะอาศัยตา ขณะที่ได้ยินเป็นจิตที่เกิดขึ้นเพราะอาศัยหู ขณะที่ได้กลิ่นเป็นจิตที่เกิดขึ้นรู้กลิ่นที่ปรากฏ ขณะที่ลิ้มรสอาหาร ขณะนั้นก็เป็นจิตที่เกิดขึ้นรู้รส ขณะที่กระทบสัมผัสทางกาย ขณะนั้นก็เป็นจิตที่กำลังรู้ลักษณะที่เย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็ง แต่รูปตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า ถึงแม้ว่าจะเป็นตา หู จมูก ลิ้นกาย ก็ไม่สามารถจะรู้อะไรได้ เพราะฉะนั้น ธาตุรู้เป็นจิตเจตสิกเจ้าค่ะ แต่รูปไม่รู้อะไรเลย ไม่ใช่ธาตุรู้ แล้วก็ถ้ารู้ความจริงอย่างนี้ ก็ไม่ใช่เราทั้งหมดตั้งแต่เกิดจนตาย เป็นจิตเจตสิกรูปนั่นเองเจ้าค่ะ

    ผู้ฟัง คนเป็นจำนวนมาก ก็สนใจเกี่ยวกับเรื่องการปฏิบัติ เพื่อจะไปค้นหาความจริงของชีวิต นั่นก็คือสภาพธรรมที่มีจริง สิ่งที่เราจะไปค้นหาตามจริง เวลานี้ก็มีอยู่ ก็ไม่จำเป็นต้องไป อย่างนี้อาตมาเข้าใจ และเห็นด้วย แต่ว่ากระแสที่เป็นอยู่เวลานี้ ก็มาแรง แต่เราไม่ต้องไปกังวล เพราะว่าสัจจธรรมย่อมเป็นความจริงเสมอ วันหนึ่งเขาก็จะเข้าใจ แล้วเขาก็จะละทิ้งทางที่ไม่ถูก

    ท่านอาจารย์ พระผู้มีพระภาค ทรงแสดงพระธรรม ๔๕ พรรษา โดยละเอียดยิ่ง แต่ละคำลึกซึ้ง ผู้คนในสมัยนั้นได้บำเพ็ญกุศล อบรมเจริญปัญญาบารมีมา พร้อมที่จะได้ฟังพระธรรมจากพระโอษฐ์ และสามารถที่จะเข้าใจได้ แต่เวลาก็ห่างไกลกันมายุคนี้ไม่มีพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่จะตรัสแสดงธรรมจากพระโอษฐ์ เพราะว่าบุคคลในครั้งนี้ไม่เหมือนบุคคลในครั้งก่อน ซึ่งพร้อมที่พอได้ฟังก็สามารถที่จะเข้าใจได้ บางท่านก็ฟังแล้วก็ไม่รู้อะไรเลยก็มี บางท่านก็เป็นพระโสดาบัน บางท่านถึงความเป็นพระอรหันต์ นี่ก็แสดงความต่างกันของการเข้าใจคำที่พระผู้มีพระภาคตรัสโดยไม่ประมาทเลย

    สำหรับบุคคลในครั้งนี้ คิดว่าได้ยินประโยคสั้นๆ ว่า ปฏิบัติธรรมแล้วจะปฏิบัติธรรม โดยไม่เข้าใจว่าปฏิบัติคืออะไร และธรรมคืออะไร เพราะฉะนั้น ก็จะเป็นผู้ที่ไม่สามารถที่จะเข้าถึงคำจริง ซึ่งพระผู้มีพระภาคทรงแสดง

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 176
    11 มี.ค. 2567