ปกิณณกธรรม ตอนที่ 759


    ตอนที่ ๗๕๙

    สนทนาธรรม ที่ บ้านคุณทักษพล และคุณจริยา เจียมวิจิตร จ.นครปฐม

    วันที่ ๒ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๘


    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นจิตที่ทำกิจเคลื่อนพ้นจากความเป็นบุคคลนี้ คือหน้าที่ของจิตขณะสุดท้าย

    ผู้ฟัง ช่วงนี้ไม่มีภวังคจิตที่จะไปส่งขึ้นดวงหนึ่ง

    ท่านอาจารย์ ถ้าภวังคจิตดับ เป็นปัจจัยให้ภวังคจิตเกิดต่อ หรือภวังคจิตดับ เป็นปัจจัยให้จุติจิตเกิดต่อ หรือจิตเห็นดับ ไม่มีรูปใดๆ แล้วที่จะปรากฏ มีภวังคจิตคั่น และจุติจิตเกิดก็ได้ เพราะฉะนั้นจุติจิตจะเกิดหลังจากที่เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรสก็ได้ หรือหลังจากที่คิดนึกก็ได้ หรือหลังจากที่ภวังคจิตดับไปก็ได้ เลือกไม่ได้เลย

    ผู้ฟัง มีความสงสัยว่า ภวังคจิตที่จะส่งไปถึงจุติกับภวังคจิตที่ต่อจาก..

    ท่านอาจารย์ คำพูดนี่ไม่ถูกต้อง ภวังคจิตไม่ได้ส่ง ทั้งหมดเลยที่เราจะค่อยๆ คัดคำพูดที่เราพูดติดปากนี่ออกไป เมื่อความเข้าใจเกิดขึ้น เพราะฉะนั้นถ้าเราฟังจากที่ไหนก็ตาม และก็มีคำอย่างนี้ ทำให้เราคลาดเคลื่อน แต่ถ้าเราเข้าใจว่าจิตเกิดดับสืบต่อ เพราะเหตุปัจจัย ตามเหตุตามปัจจัยว่า ก่อนจิตเห็นมีภวังคจิตไหม

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ ขณะนี้ปรากฏเหมือนเห็นไม่มีภวังคจิตคั่นเลย เพราะฉะนั้นให้ทราบว่า จิตหนึ่งขณะเกิด ถ้าจิตนั้นยังไม่ดับ จิตอื่นเกิดไม่ได้ ไม่มีการส่ง จิตก็เกิดขึ้นตามเหตุปัจจัย แล้วก็ดับ พอดับก็มีปัจจัยที่จะทำให้จิตเกิดสืบต่อ

    ผู้ฟัง ก็ยังสงสัยอยู่ อยู่ตลอด ว่า ภวังคจิตที่ดำรงภพชาติ ชาตินี้กับตอนที่จะไปจุติ แล้วก็จะไปปฏิสนธิเนี่ย ช่วงต้นกับช่วงช่วงเกิดใหม่เป็นภวังคจิต

    ท่านอาจารย์ จิตไม่ไปไหนเลย จิตไม่ไป จิตไปไม่ได้ ไม่มีแขนขา ปีกก็ไม่มี เกิดขึ้นรู้แล้วดับทันที เมื่อคืนนี้หลับไหม

    ผู้ฟัง หลับ

    ท่านอาจารย์ มีจิตหรือไม่

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ เห็นหรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่เห็น

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นจิตที่เห็นไม่ใช่ภวังคจิต จิตแต่ละหนึ่ง ก็เป็นแต่ละหนึ่ง ปฏิสนธิจิตก็ไม่ใช่ภวังคจิต เพราะว่าจิตเกิดขึ้นทำกิจ กิจของจิตทั้งหมดมี ๑๔ กิจ จิตจะต่างกันเป็นร้อยเป็นพัน เป็นเท่าไหร่ก็ตาม แต่ละหนึ่งต้องเกิดขึ้นทำกิจเดียว ไม่ใช่ทั้ง ๑๔ กิจ

    เพราะฉะนั้นในประเภทของจิตทั้งหมด ประมวลแล้วมี ๑๔ กิจเท่านั้น จิตแรกคือปฏิสนธิ เกิดแล้วดับ ไม่มีปฏิสนธิอีกในชาตินั้น แต่เป็นปัจจัยให้จิตที่เกิดเพราะกรรมเป็นปัจจัยเกิดสืบต่อ โดยไม่เห็น ไม่ได้ยิน และไม่ได้ทำปฏิสนธิกิจด้วย จึงทำภวังคกิจ ภวังคกิจคือจิตที่ดำรงภพชาติ ระหว่างที่ไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรสไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ไม่คิดนึก โลกไม่ปรากฏ โลกนี้ไม่ปรากฏ ขณะที่เป็นภวังคจิต เหมือนกับ ขณะที่ปฏิสนธิขณะแรกเกิด ก็ไม่รู้ว่าเกิดที่ไหน ใช่ไหมคะ และในระหว่างที่เป็นภวังคจิต ก็ไม่รู้ด้วยว่าอยู่ที่ไหน ชื่ออะไร ยังไม่มีชื่อ ยังไม่มีใครเรียกเลยใช่ไหมคะ หรือเรียกแล้วตั้งแต่ปฏิสนธิว่าชื่ออะไร ก็เป็นสภาพของจิต เป็นภวังคจิต อยู่ แต่ถ้าจะให้มีแต่ปฏิสนธิจิตกับภวังคจิต ไม่พอกับกรรมที่ได้กระทำแล้วทั้งดี และชั่ว ต้องมีผลมากกว่านั้นอีก เพราะฉะนั้นผลของกรรมต่อนั้นคือให้เห็น เลือกไม่ได้เห็นสิ่งที่ดีไม่ใช่เรา กุศลกรรมที่ได้ทำแล้วเป็นปัจจัย ถึงเวลาที่จะต้องเห็น ตื่นเลย ถ้ายังไม่ถึงเวลาก็หลับไป อย่างฟ้าร้องเสียงดัง คนไม่หลับก็ได้ยิน คนหลับไม่รู้เรื่อง เพราะกรรมไม่ได้เป็นปัจจัย ให้ได้ยินเสียงนั้น จะเกิดได้ยินเสียงนั้นได้อย่างไร

    เพราะฉะนั้นแต่ละหนึ่งขณะก็คือ ไม่ใช่เรา แต่เป็นธรรมมีปัจจัยเกิดขึ้น และดับ ค่อยๆ ถอนความเป็นตัวตนโดยความเข้าใจทีละเล็กทีละน้อย จนกว่าสามารถรู้จริงๆ ตามที่ได้ฟัง เพราะทุกคำที่ได้ฟังทั้งหมดนี้เป็นวาจาสัจจะ จิตปรากฏเป็นธาตุรู้ ต้องรู้ ถ้าไม่รู้เป็นเรา จิตเกิดดับต้องรู้ ถ้าไม่รู้ ก็เป็นเรา

    เพราะฉะนั้นทุกคำที่ได้ยิน ฟังไว้ เข้าใจไว้ เก็บไว้ สะสมไว้ เพื่อการถึงพร้อมของเวลา ที่ปัญญาสามารถเข้าใจ สิ่งที่กำลังปรากฏตามปกติ โดยความเป็นอนัตตา อยากให้เป็นอย่างนั้นก็ไม่ได้ แม้วันนี้ไม่เป็น เป็นพรุ่งนี้ก็ไม่ได้ ไม่มีทางเลยค่ะ พระธรรมทั้งหมดเป็นไปเพื่อละ ถ้าเป็นไปเพื่อความติดข้อง คือไม่ใช่คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

    ดังนั้น เข้าใจในกิจของจิตว่า แต่ละจิตเกิดขึ้น ทำกิจแต่ละอย่าง ขณะที่เป็นภวังคจิตไม่ได้ทำกิจจุติ ไม่ได้ทำกิจปฏิสนธิ ไม่ได้ทำกิจเห็น เพราะฉะนั้นขณะสุดท้ายมีจิตแน่นอน เกิดขึ้นทำกิจเคลื่อนพ้นสภาพความเป็นบุคคลนี้ ใครทำไม่ได้นอกจากจิตนี้ อยากตายสักเท่าไรก็ทำไม่ได้ ถ้าจิตนี้ไม่เกิดขึ้นทำกิจนี้ พอจิตเกิดขึ้นทำกิจนี้แล้วจะอยู่ต่อไปเป็นคนนี้อีกก็ไม่ได้ สักหนึ่งขณะจิตก็ไม่ได้ เป็นบุคคลอื่นทันที เพราะกรรมพร้อมที่จะทำให้ปฏิสนธิ เกิดสืบต่อจากจุติ จึงใช้คำว่าปฏิสนธิ เกิดสืบต่อเฉพาะจริงๆ คือต่อจากจุติจิตเท่านั้น ไม่ได้ไปต่อจิตอื่นเลยทั้งสิ้น

    ผู้ฟัง เหตุกับปัจจัย ต่างกันอย่างไร

    ท่านอาจารย์ จริงๆ แล้ว เราใช้คำเผินๆ มาก ปัจจัยก็คือสภาพธรรมที่ปรุงแต่งอาศัยกัน และกันเกิดขึ้น เพราะฉะนั้นไม่ว่าสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เกิดขึ้น ก็ต้องมีสภาพธรรมหลายๆ อย่าง แกงเผ็ด มีอะไรบ้าง มีเฉพาะน้ำเปล่าๆ หรือว่ามีอย่างอื่นรวมอยู่ด้วย เพราะฉะนั้นแต่ละหนึ่งแต่ละหนึ่ง แม้แต่น้ำก็ต้องมีธาตุดินเป็นที่ตั้ง มีธาตุไฟซึ่งทำให้อบอุ่น มีธาตุลมซึ่งขณะนั้นก็ตึงหรือไหว แต่ธาตุน้ำก็ทำกิจเกาะกุม ซึมซาบอยู่ แต่ละหนึ่งแต่ละหนึ่งนั้นเป็นธรรม ไม่ใช่ว่าเราคิดเอง แต่เรารู้ได้แค่ไหน ตามความเป็นจริง

    เพราะฉะนั้นแต่ละคนที่ได้ฟังธรรม ไม่มีใครรู้ ว่าชาติต่อๆ ไปจะรู้อะไรกัน ตามกำลังของปัญญา ที่ได้สะสมมา มิเช่นนั้นก็จะไม่มีเอตทัคคะแต่ละท่าน แต่ละท่าน รวมทั้งพระปกติสาวก ซึ่งท่านไม่ได้กล่าวถึง ก็กล่าวเฉพาะมหาสาวกซึ่งท่านมีประวัติ และมีอะไรซึ่งน่าสนใจที่เป็นไปได้เท่านั้น แต่ทุกอย่างต้องมีเหตุปัจจัยใช้คำรวม แต่ใช้คำเดียวคือปัจจัย แต่ปัจจัยมีถึง ๒๔ ประเภทใหญ่ๆ

    พระธรรมจะแสดงไว้กว้างๆ ก่อนแล้วค่อยๆ ละเอียดขึ้นๆ จนแล้วแต่ใครจะสามารถเข้าใจได้แค่ไหน เพราะฉะนั้นอย่างกว้างๆ คือปัจจัยมี ๒๔ เหตุ- เหตุ เป็นปัจจัยหนึ่ง จึงใช้คำว่าเหตุปัจจัย เจาะจงเฉพาะโลภะเหตุ โทสะเหตุ โมหะเหตุ รวม ๓ เหตุ เป็นเจตสิกทั้งหมด อโลภเจตสิก อโทสเจตสิก อโมหเจตสิกซึ่งเป็นปัญญา

    นี่คือเหตุจริงๆ ซึ่งเป็นเหตุปัจจัย แต่อย่างอื่นไม่ใช่โลภะเป็นปัจจัยได้ แต่ไม่ใช่โดยเป็นเหตุปัจจัย แต่เราก็พูดรวมไป ต้องมีเหตุมีปัจจัย อย่างที่เราพูดเสมอๆ ในภาษาไทยเราเข้าใจอย่างไร แต่ถ้าจะละเอียดก็คือว่า ปัจจัยแน่นอนมี ๒๔ และเหตุคือเจตสิก ๖ เป็นเหตุปัจจัย เพื่อใคร เพื่อเรา เข้าใจความไม่มีเรา กว่าจะไม่มีเราได้ กว่าจะไม่ใช่เราได้ ปัญญาต้องค่อยๆ เข้าใจขึ้น มีอะไรเกิดขึ้นโดยไม่มีเหตุได้ไหม โดยไม่มีปัจจัยได้ไหม ไม่มีทาง

    อ. จริยา ถ้าเราจะศึกษาธรรมให้รู้ เราควรจะศึกษาอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ฟังหรืออ่านให้เข้าใจพระพุทธพจน์ คำที่พระพุทธเจ้าตรัส แต่ละคำ ลึกเกินกว่าที่เราจะคิด อย่างคำว่าธรรม เราได้ยินคำว่ายุติธรรม ยุติ คือสมควร เพราะฉะนั้นยุติธรรม คือธรรมะที่สมควร ที่สุดก็คือว่าต้องเป็นธรรมะที่สมควร เพราะฉะนั้นแต่ละคำเราคิดเองมามาก แต่ถ้าศึกษาธรรมคือว่าไม่ประมาท ในแต่ละคำว่า เราอาจจะเข้าใจมาเพียงเล็กน้อย อาจจะผิวเผิน อาจจะคลาดเคลื่อน แต่พระธรรมตรงทุกคำ ไม่เปลี่ยน ธรรมคือสิ่งที่มีจริง ใช้ได้ตลอด เป็นความจริงตลอด คือสิ่งที่มีจริง เกิดจึงมี ถ้าไม่เกิดก็ไม่มี เพราะฉะนั้นธรรมที่มีจริงคือ จิต เจตสิกรูป เกิดปรากฏว่าเดี๋ยวนี้ มีเห็น มีได้ยิน แต่นิพพานไม่เกิด

    เพราะฉะนั้นเราก็ต้องศึกษาว่า สิ่งหนึ่งสิ่งใดก็ตามที่เกิด เป็นที่ตั้งของความไม่รู้ก่อนอื่น ก่อนที่จะได้ฟังธรรม สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เกิดปรากฏแล้วไม่รู้ในสิ่งนั้น ทำให้เกิดความติดข้องในสิ่งที่ไม่รู้ เพราะเข้าใจว่ายังอยู่ แต่ความจริงเกือบจะกล่าวได้ว่า ทันทีที่เกิดก็ดับ เร็วปานนั้น

    เพราะฉะนั้น มีสิ่งใหม่ ไม่ต้องห่วง สิ่งที่ดับไปแล้วก็แล้วไป ก็สิ่งใหม่ก็เกิด แต่เรายังไม่รู้การเกิดดับ เพราะฉะนั้นการเกิดดับมีจริงแน่นอน แต่ต้องอาศัยความเข้าใจ ตามลำดับขั้นตั้งแต่ว่าสิ่งนั้นมีจริงๆ ปรากฏเพราะเกิดขึ้น แต่ก็ดับแล้ว เพราะฉะนั้นแต่ละอย่าง สั้นที่สุด ประมาณไม่ได้เลย

    เพราะฉะนั้นเราเหมือนอยู่ในความมืด จนกระทั่งมีแสงสว่างคือพระธรรม เริ่มเห็นตามความเป็นจริง จากแสงรางๆ จนกระทั่งค่อยๆ สว่างขึ้น เมื่อสว่างขึ้นแล้วก็จะตรงกับคำที่ได้ยินทุกคำ และรู้ว่าผู้ที่ตรัสอย่างนั้น คือผู้ที่ได้ทรงตรัสรู้ความจริงอย่างนั้น ทำให้คนอื่นสามารถเริ่มเข้าใจ จนกระทั่งรู้ความจริงอย่างนั้นได้ จึงมีอริยสาวกมากมาย

    ผู้ฟัง อ่าน แล้วฟัง ก็ต้องอ่าน และฟังอย่างไร

    ท่านอาจารย์ เข้าใจคำที่อ่าน เข้าใจคำที่ฟัง เข้าใจขึ้นๆ จากการที่ไม่เคยเข้าใจอย่างนั้นมาก่อน เพราะว่าใครจะเข้าใจคำนั้น ถ้าไม่มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัส เพราะฉะนั้น เราพูดคำที่เราไม่รู้จักตลอดชีวิตเลย ทุกคำด้วย จนกว่าจะได้ฟังพระธรรมเข้าใจ ตอนนี้เราเริ่มพูดคำที่เรารู้จัก อย่างเราพูดคำว่าจิต เดี๋ยวนี้เรารู้จักแล้ว ซึ่งแต่ก่อนเราก็พูดคำว่าจิต พูดคำว่าวิญญาณ แต่เราก็ไม่รู้ว่าเป็นอะไร แต่พอฟังแล้วทุกคำมีในพระไตรปิฏก เพราะว่าเป็นสิ่งที่มีจริงทั้งหมด

    ผู้ฟัง คือถ้าอ่านแล้วหรือฟังแล้วก็ยังไม่เข้าใจ ก็ต้องอ่านใหม่ เรื่อยๆ จนกว่าจะเข้าใจใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ เพราะว่าความจริงไม่ใช่เรา แต่เป็นความไม่รู้ จากความไม่รู้ และได้ยินได้ฟังก็สามารถที่จะไตร่ตรอง จนกระทั่งเป็นความเข้าใจ ซึ่งความรู้ตรงกันข้ามกับความไม่รู้

    ผู้ฟัง บางคนก็บอกว่า ในระหว่างที่ศึกษาพระธรรม อย่างที่ท่านอาจารย์บอก นั่งสมาธิไปด้วยได้ไหม คือเขาเคยไปนั่งสมาธิ อย่างที่เขาบอกเรียกว่านั่งสมาธิ ก็คงนั่งหลับตา ดูลมหายใจหรืออะไรทำนองนั้น

    ท่านอาจารย์ ถ้าอย่างนั้นที่บอกว่าศึกษาพระธรรม เข้าใจธรรมที่ศึกษาหรือเปล่า เพราะเหตุว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงแสดงพระธรรม เพื่อให้เข้าใจถูก นี่หัวใจเลยนะคะ หรือว่าพระองค์ทรงแสดงพระธรรม ให้ไปปฏิบัติ ให้ไปนั่งสมาธิ

    ผู้ฟัง ให้เข้าใจถูก

    ท่านอาจารย์ เพื่อให้เข้าใจถูก เพราะฉะนั้นต้องตรง โดยรู้ว่าสมาธิคืออะไร ถ้ายังไม่รู้ว่าสมาธิคืออะไร ไปนั่งทำอะไร พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสทุกคำ เพื่อให้เข้าใจ เพราะฉะนั้นอะไรก็ตามที่ได้ยินได้ฟัง แล้วไม่เข้าใจ ไม่ใช่คำของพระพุทธเจ้า เพราะฉะนั้นคำว่าสมาธิมีในพระไตรปิฎก เป็นธรรมหรือเปล่า

    ผู้ฟัง เป็นธรรม

    ท่านอาจารย์ เป็นธรรม เป็นธรรมอะไร ต้องตั้งต้นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ เพื่อความนึกได้ไม่ลืมค่ะ เป็นเจตสิก เจตสิกทั้งหมดมีเท่าไหร่

    ผู้ฟัง ๕๒ ประเภท

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นถ้ากล่าวว่า สมาธิมีจริงเป็นเจตสิก สมาธิ ได้แก่เจตสิกหนึ่งใน ๕๒ ไม่ใช่ว่าไม่ได้บอกไว้เลยว่าคืออะไร และหนึ่งใน ๕๒ ภาษาบาลีจะใช้คำว่า "เอกัคตาเจตสิก" หมายความถึงสภาพที่ตั้งมั่นในอารมณ์หนึ่ง อารมณ์คือสิ่งที่จิตรู้ เรายังไม่ได้พูดถึงคำว่าอารมณ์เลย เราบอกภาษาไทยว่าคนนี้อารมณ์ดี แต่ไม่ใช่ เมื่อจิตเป็นสภาพรู้ ธาตุรู้ เกิดขึ้นต้องรู้ และสิ่งที่ถูกจิตนั้นรู้คืออารมณ์ ภาษาบาลีจะออกเสียงว่า อารัมมณะ หรืออาลัมพนะก็ได้ สองคำนี้ แต่นิยมใช้คำว่า อารมณ และคนไทยก็ตัดสั้นๆ ว่าอารมณ์ วันนี้อารมณ์ดี อยู่ดีๆ จะอารมณ์ดีได้ไหม หรือต้องมีเหตุ เห็นสิ่งที่น่าพอใจ ได้ยินเสียงที่น่าพอใจ ได้กลิ่นที่น่าพอใจ ได้รสที่น่าพอใจ กระทบสัมผัสสิ่งที่น่าพอใจ ไม่ร้อนไม่หนาว คิดเรื่องดีๆ ที่น่าพอใจ วันนั้นอารมณ์ดีหมายความว่าจิตรู้แต่สิ่งที่ดี แต่ไม่มีเราอารมณ์ดี แต่เพราะว่าอารมณ์ที่จิตรู้วันนั้นดีทั้งนั้น แต่พออารมณ์ไม่ดี เห็นสิ่งที่ไม่อยากเห็น อารมณ์ไม่ดีละ เพราะจิตรู้สิ่งที่ไม่น่าพอใจ

    เพราะฉะนั้นทั้งหมดเพื่อความรู้ ว่าไม่มีเรา ไม่ใช่เรา แม้จิต และเจตสิกก็เกิดขึ้น เป็นไปตามเหตุตามปัจจัยที่ได้สะสมมา เพราะฉะนั้นต้องเข้าใจทุกคำ จิตธาตุรู้ ต้องมีสิ่งที่ถูกจิตรู้คืออารมณ์ ถ้าสิ่งที่จิตรู้เป็นสิ่งที่น่าพอใจ วันนั้นเราพูดถึงแต่สิ่งที่จิตรู้ว่าอารมณ์ดี เราไม่รู้ เราคิดว่าเราพูดถึงจิต แต่ความจริงไม่ใช่ เราพูดถึงสิ่งที่จิตรู้ต่างหาก ว่าวันนี้อารมณ์ดี คืออารมณ์ที่จิตรู้ดีทั้งนั้น

    เดี๋ยวนี้เอง จิตเกิดขึ้นเห็น ได้ยินมีอารมณ์ของจิตทั้งนั้นเลย ลืมว่าเป็นจิตที่รู้ กลายเป็นโต๊ะ เป็นเก้าอี้ เป็นแม่น้ำ เป็นลำคลอง เป็นสิ่งที่สวยงาม แต่เพราะจิตใช่ไหมที่รู้สิ่งนั้น แต่เราลืมว่าเป็นจิต เราก็เลยกลายเป็น เราเห็น เราได้ยิน เราอารมณ์ดี เพราะฉะนั้นถ้าไม่มีจิต ไม่มีเจตสิก ไม่มีรูปไม่มีแรา แต่เมื่อมีจิต เจตสิก รูป ก็มีตัวตนคือมีเรา และมีเขา แต่ความจริงก็คือทั้งหมดเป็นธรรม

    เพราะฉะนั้นจริงๆ ก็น่าสนใจ เรื่องอ่านกับเรื่องฟัง ถ้าเราอ่านไม่ออก จะมีเสียงไหมคะ เห็นแน่ เห็นกอไก่ ใครก็เห็นทั้งนั้น หรือตัวหนังสืออาหรับนะ ยาวเป็นงู ไม่มีจุดตรงนั้นตรงนี้ ทุกคนก็เห็นแต่อ่านไม่ออก เพราะฉะนั้นเด็กเกิดใหม่เหมือนคนที่ไม่รู้อะไรเลยทั้งสิ้น เห็นจริง แต่ไม่รู้ว่าอะไร เพราะมีสิ่งที่ถูกเห็น แต่ความจำไม่มากพอ ที่จะจำความต่าง ความละเอียด ที่จะเริ่มเข้าใจว่าต่างๆ กันไป ก็เพียงแต่เห็น เห็นบ่อยๆ เข้า เริ่มจำรูปร่างสัณฐาน แต่ยังพูดไม่ได้ แค่จำว่านี่เป็นนี่ นั่นเป็นนั่น แต่ได้ยินด้วย พอได้ยินเริ่มจำเสียง คำนี้เสียงนี้ สูงๆ ต่ำๆ หมายความว่าอะไร พอจำแล้ว เริ่มพูดตามได้ ทั้งหมดเป็นธรรมทั้งนั้น ไม่เหลือเลย ละเอียดอย่างยิ่ง ทรงพระมหากรุณาแสดง ๔๕ พรรษา เพราะรู้ว่าแค่ปีเดียวไม่พอ ๒๐ ปีก็ไม่พอ จนกว่าพุทธบริษัททั้ง ๔ ภิกษุ ภิกษุณีในครั้งนั้น อุบาสก อุบาสิกา พร้อมเพรียงกันศึกษา มีความเข้าใจอย่างละเอียด จึงปรินิพพาน เพราะว่า ได้มอบให้ทุกอย่างแล้ว ที่จะเป็นศาสดาแทนพระองค์ เพราะฉะนั้นคงจะไม่มีปัญหา อยู่ที่ว่าเราเป็นผู้ที่ตรง เข้าใจแค่ไหน พอไหม ไม่พอก็ฟังอีก อ่านอีกพิจารณาอีก เข้าใจเพิ่มขึ้น ก็จะรู้ในพระคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าไม่มีแม้แต่ละคำๆ ก็ ไม่มีใครที่จะรู้ความจริงของสภาพธรรม ซึ่งเกิดดับเร็วยิ่งกว่ามายากล ท่านกล่าวไว้ด้วยว่า จิต เกิดดับเร็วกว่านายมายากล ไม่มีนกสักตัว อุตส่าห์หยิบนกมาจากหมวกได้อย่างไร คิดดู ว่ามายากลนั้นยังช้ากว่าจิต และยังไม่ใช่ปัญญาด้วย

    เพราะฉะนั้นแต่ละคำ ที่เราใช้พูดกันมาก ไม่ตรงกับธรรม จนกว่าเราจะได้ศึกษาแต่ละคำ และก็เป็นอย่างนั้นแต่ละคำ ปฏิสนธิจิตต้องเป็นปฏิสนธิจิต จิตที่เกิดสืบต่อเฉพาะจากจุติเท่านั้น ไม่ใช่สืบต่อจากขณะอื่น เพราะขณะนี้ไม่ใช่ปฏิสนธิ จิตดับแล้วจิตอื่นก็เกิดสืบต่อ แต่ไม่ใช่ปฏิสนธิจิต ปฏิสนธิจิตต้องต่อจากจุติจิตขณะสุดท้ายของชาติก่อนเท่านั้น สิ่งที่ได้ฟังทั้งหมดนี้ สะสมแล้ว ไม่ได้หายไปไหน เพียงแต่จะเพิ่มขึ้นมากหรือน้อย เป็นโอกาสเป็นปัจจัย ที่จะทำให้ได้ยินได้ฟังอีก เพราะบนสวรรค์ยังมีธรรม ยังมีการสนทนาธรรม ยังมีศาลาสุธรรมา แต่นรกไม่มี ก็แล้วแต่บุญทำกรรมแต่งจริงๆ

    ผู้ฟัง ที่บอกว่าที่ฟังทั้งหมด ไม่ไปไหน แต่ว่าก็ลืม

    ท่านอาจารย์ แน่นอน เพราะว่าจะจำเฉพาะสิ่งที่เราคุ้นเคยมาก อย่างเราเห็นคนหนึ่งไม่คุ้นเคยเลยเราก็จำไม่ได้ แต่พอเห็นบ่อยๆ คุ้นเคยขึ้นก็จำได้ ยิ่งคุ้นเคยมาก จากการกระทำทางกาย ทางวาจา ก็รู้จักคนนั้นดีขึ้น

    ผู้ฟัง การที่เราฟัง แต่ละท่านที่ท่านพูดให้เราฟัง แต่ความเข้าใจของเรา เกิดจากอะไรไม่ทราบว่า ทำไมคนนี้พูดแล้วเข้าใจ คนนี้พูดไม่เข้าใจ เป็นเพราะตัวเรานี้มี มีกิเลสมีใช่ไหมคะ

    ท่านอาจารย์ หลายคนพูดไม่เหมือนกันใช่ไหม ก็พิจารณาว่าคำไหนจริง

    ผู้ฟัง เราต้องพิจารณา

    ท่านอาจารย์ แน่นอนค่ะ ไม่อย่างงั้นไม่ใช่ปัญญา ปัญญาตรงมาก ถ้าผิดปัญญาไม่เห็นว่าเป็นถูกเลย ปัญญาต้องรู้ว่าผิด ถ้าจริงปัญญาก็รู้ว่าจริง ถ้าไม่จริงปัญญาก็รู้ว่าไม่จริง นั่นจึงจะเป็นความเข้าใจถูก ไม่ใช่เรา แต่จากการพิจารณาโดยเจตสิกอื่นๆ ซึ่งเกิดร่วมกัน

    ผู้ฟัง เราจะประเมินได้อย่างไรว่า เราเข้าใจหรือยัง

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นก็มีการสนทนา เช่นเดี๋ยวนี้มีเห็นหรือไม่

    ผู้ฟัง มีเห็น

    ท่านอาจารย์ เห็นมีจริงๆ หรือเปล่า ต้องตรงมาก กำลังเห็นจะบอกว่าไม่เห็นได้ไหม ก็ไม่ได้ ใช่ไหม กำลังเห็นหมายความว่า เห็นต้องเกิดใช่ไหม ถ้าเห็นไม่เกิดจะเห็นได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ไม่ได้ นี่ คือคำจริง แล้วก็มีอยู่ในขณะนั้น ที่ฟังแล้วเข้าใจในสิ่งที่กำลังมี และเห็นดับหรือไม่

    ผู้ฟัง เห็นดับ

    ท่านอาจารย์ เห็นดับ เพราะเห็นไม่ใช่ได้ยิน คนละขณะ และยังมีสิ่งซึ่งทรงแสดงไว้โดยละเอียด นี่เป็นเพียงการเริ่มต้น ให้รู้ว่าเมื่อไม่ใช่เราแล้วเป็นอะไร สิ่งที่มีจริงๆ แต่ละหนึ่งๆ จึงทรงแสดงจิตต่างกับเจตสิก แต่ละหนึ่งๆ รูปก็ไม่เหมือนกัน เป็นแต่ละหนึ่งๆ แล้วก็เกิดดับด้วย

    มีท่านผู้หนึ่งท่านก็เพิ่งจะมีหลานชาย ท่านก็รักหลานมาก ก่อนมีหลานรักอะไรหรือเปล่า มีอะไรจะให้รักรึเปล่า ก่อนมีหลาน ยังไม่มีหลาน เพราะฉะนั้นมีอะไรเกิดขึ้น ก็ติดข้องในสิ่งนั้นนั่นเอง บางครอบครัวไม่มีหลานเลย แล้วจะไปรักหลานอย่างไร ก็ไม่มีใช่ไหม แต่พอมีแล้วรักทันทีเมื่อมี เพราะฉะนั้นทั้งหมดนี้ ก็เป็นธรรมเมื่อเห็นสิ่งใด จึงพอใจติดข้องในสิ่งที่เห็น จะไปพอใจติดข้องในสิ่งที่ไม่มี ไม่เห็นได้อย่างไร

    เพราะฉะนั้นความยินดีพอใจอยู่ที่ไหน ไม่ใช่อยู่ที่สิ่งที่ปรากฏให้เห็น แต่อยู่ที่จิต เป็นเจตสิกซึ่งบังคับบัญชาไม่ได้ เพราะฉะนั้นเจตสิกนี้เกิดขึ้น ไม่ทำกิจอื่นเลย นอกจากทำกิจผูกพัน ติดข้อง เยื่อใย โยงใย ยางใยขนาดนั้นตัดไม่ได้ ต้องด้วยปัญญาความเห็นถูกต้องตามความเป็นจริง ตามระดับขั้นของปัญญาด้วย นี่คือธรรมทั้งหมดซึ่งแสดงความเป็นอนัตตา

    เพราะฉะนั้นไม่ว่าที่แล้วมาที่ไม่รู้ หรือต่อไป หรือเดี๋ยวนี้ ก็เป็นธรรมซึ่งรู้ไม่ได้ ถ้าไม่ได้ฟังพระธรรม อยากฟังคำจริง หรือคำไม่จริง บางคนชอบคำไม่จริงสบายใจ แต่ไม่รู้ว่ามีประโยชน์อะไรรึเปล่า คำไม่จริง สบายใจก็ไม่ใช่เรา ชั่วคราวเดี๋ยวก็ต้องมีทุกข์อีก ใครจะสบายใจไปตลอดได้ สบายใจหรือไม่สบายใจก็เพราะเหตุ ไม่มีเหตุจะเป็นอย่างนั้นไม่ได้ ทุกอย่างที่เกิดขึ้นต้องแล้วแต่ปัจจัยที่ทำให้สิ่งนั้นเกิดขึ้นเป็นอย่างนั้น ที่ผ่านมาแล้วทั้งหมด เป็นธรรมทั้งหมด เป็นจิต เจตสิก รูป ทั้งหมด แต่ยังไม่รู้เพียงเริ่มฟัง เริ่มจะเข้าใจ และก็สามารถที่จะรู้ตรงตามที่ได้ฟังทุกอย่าง แต่ต้องเป็นปัญญาความเห็นถูกต้องจริงๆ ถ้าเป็นโลภะเป็นความต้องการ แต่ไม่รู้อะไรเลย ไม่มีทาง ที่จะรู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะไม่ได้ตรัสให้ใครไปทำอะไร แต่ทุกคำเพื่อให้คนฟังเกิดปัญญาคือความเห็นถูก ความเข้าใจถูกของตัวเอง และก็จะเพิ่มขึ้นด้วยเมื่อฟังมากขึ้น

    ผู้ฟัง ฟังทุกครั้งก็ใหม่ทุกครั้ง

    ท่านอาจารย์ ต้องเป็นคำใหม่ คำเก่าคือคำไม่รู้ คำใหม่ต้องเป็นคำของผู้ที่ทรงตรัสรู้ จึงใหม่เพราะตรัสรู้

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 176
    23 เม.ย. 2567