ปกิณณกธรรม ตอนที่ 757


    ตอนที่ ๗๕๗

    สนทนาธรรม ที่ บ้านคุณทักษพล และคุณจริยา เจียมวิจิตร จ.นครปฐม

    วันที่ ๒ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๘


    ท่านอาจารย์ ถ้าเราไม่ได้ฟังว่าธรรมคืออะไร เราจะรู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้าหรือไม่ ไม่มีทาง เราก็คิดของเราไปเอง เดี๋ยวคนโน้นบอกว่าอย่างนี้ เดี๋ยวคนนี้บอกว่าอย่างนั้น แล้วจริงหรือไม่ ตรงกับสิ่งที่กำลังมีเดี๋ยวนี้หรือไม่ เพราะว่าพระธรรมสามารถที่จะเข้าใจได้ทุกกาลสมัย เพราะเป็นสิ่งที่มีจริงทุกขณะ

    ผู้ฟัง ที่บอกว่าการเข้าใจมากขึ้น หมายถึงการที่มีปัญญาเพิ่มมากขึ้น

    ท่านอาจารย์ เราคงไม่ไปติดที่คำ เข้าใจ

    ผู้ฟัง เข้าใจ

    ท่านอาจารย์ กับเรามีปัญญา ถ้าเราใช้คำว่าปัญญา เราอาจจะไม่รู้ว่าปัญญาเป็นอย่างไร แต่ปัญญาเป็นภาษาหนึ่ง ซึ่งในภาษาที่เราใช้ตั้งแต่เกิดคือเข้าใจถูก เห็นถูกตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้นภาษาบาลียังมีคำว่าสัมมาทิฏฐิ ทิฏฐิคือความเห็นกลางๆ ถ้ามิจฉาทิฏฐิก็เห็นผิด ถ้าสัมมาทิฏฐิก็เห็นถูก เพราะฉะนั้นปัญญาก็คือสัมมาทิฏฐิ ในมรรคมีองค์ ๘ ข้อ๑ สัมมาทิฏฐิ ก็คือปัญญา มีหลายชื่อ

    ผู้ฟัง ปัญญาคือความเห็นถูก ความเข้าใจถูก ก็จะทราบว่าอย่างไหนเป็นกุศล

    ท่านอาจารย์ แต่เป็นเราใช่ไหม ก็ยังไม่ถูก

    ผู้ฟัง ก็ยังไม่ใช่ปัญญาอยู่ดี

    ท่านอาจารย์ ปัญญาก็คือรู้ว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา นี่คือความต่างของคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และคำสอนของคนอื่นทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม แต่ว่าถ้าไม่กล่าวให้เข้าใจถูกต้องว่าขณะนี้เป็นธรรม และเป็นอนัตตา หมายความว่าคนนั้นไม่ได้ฟังคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ต้องมั่นคงด้วย ธรรมแน่นอน เห็นเป็นธรรม ได้ยินเป็นธรรม คิดเป็นธรรม ชอบเป็นธรรม ทุกอย่างมีจริง แข็งเป็นธรรมหรือเปล่า มีก็ต้องเป็นธรรม คือความหมายเดิมว่าสิ่งที่มีจริง ไม่ต้องไปแปลอีก

    แต่เพราะเราคุ้นคำภาษาบาลี แต่ไม่ได้ศึกษาโดยละเอียด เราก็เลยไม่เข้าใจว่าธรรมคืออะไร แต่ถ้ารู้ว่าสิ่งที่มีจริงเป็นธรรม คำนี้ไม่เปลี่ยน เห็นมีจริง มีจริงก็ต้องเป็นธรรม แข็งมีจริง มีจริงก็ต้องเป็นธรรม ไม่อย่างนั้นเราก็ไม่เข้าใจธรรม ไม่เข้าใจว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ความจริงของทุกอย่าง เราศึกษาธรรมภาษาไทยจึงดีที่สุด เมื่อศึกษาเข้าใจแล้ว เราก็รู้ว่าในภาษาบาลีคืออะไร คำนั้นคืออะไร ถ้าเราศึกษาภาษาบาลี แต่เราไม่เข้าใจในภาษาของเรา บอกว่า เขามีปัญญา และอย่างไร เขาเข้าใจอะไรถ้าบอกว่าเขามีปัญญา จริงๆ เขาไม่ได้มีปัญญา แต่เราเอาคำภาษาบาลีมาใช้คลาดเคลื่อน เราก็เลยเข้าใจธรรมเคลื่อนไปหมดเลย เช่น จิต ภาษาบาลีออกเสียงว่า จิต ตะ เป็นธาตุรู้จริงไหม มีแน่ๆ มีรูปร่างอะไรหรือเปล่า สูงต่ำดำขาวอะไรหรือไม่ไม่มี เพราะไม่มีรูปใดๆ เจือปนเลย ต้องแยกธรรม ๒ อย่าง เด็ดขาด ไม่เกี่ยวข้องกันเลย รูป ไม่ว่ารูปอะไรทั้งนั้น มองเห็นได้ มองไม่เห็นเป็นเสียง เป็นกลิ่น ก็ไม่รู้อะไร

    แต่ธาตุรู้ เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้ จึงได้มีเห็น มีได้ยิน เหล่านี้เป็นธาตุรู้ เพราะฉะนั้นการศึกษาธรรมไม่ใช่เราสงสัยคลาดเคลื่อน แต่ทุกคำจะนำไปสู่ความเข้าใจถูกความเห็นถูกในความเป็นธรรม และเป็นอนัตตา

    ผู้ฟัง ปัญญาขั้นการฟังก็ยังเป็นเราอยู่ การที่จะคล้อยตามหรือไม่คล้อยตาม ก็เป็นสภาพธรรมด้วยเหมือนกันที่จะคล้อยตาม

    ท่านอาจารย์ เป็นปัญญาที่เพิ่มขึ้น ถ้าไม่เพิ่มก็คล้อยไม่ไหว

    ผู้ฟัง ปกติ จิตจะเกิดดับอยู่ตลอดเวลา แล้วก็สั่งสมทั้งกุศล และอกุศล เมื่อมาถึงจุดที่เรียกว่าจุติจิตดับ แต่ปฏิสนธิจิตเกิดเป็นภพชาติใหม่ ซึ่งจะนำทั้งกุศล และอกุศลติดตามไปด้วย เจตสิกก็ดับไปด้วยพร้อมกับจิต รูปซึ่งประกอบด้วยมหาภูตรูป มี ธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม ขณะที่จุติจิตดับไปแล้ว รูปตรงนี้ก็จะสิ้นสลายไป ไปตามธาตุดิน น้ำ ไฟ ลมด้วย ใช่หรือไม่

    ท่านอาจารย์ ตอนนี้เราจะข้ามไปหลายๆ เรื่องเลย แต่ความจริงก็คือว่าต้องเข้าใจจริงๆ แต่ละหนึ่ง เช่นจิต ต้องเข้าใจว่าไม่ใช่เจตสิก จิตเพียงแต่เกิดขึ้นรู้ ไม่รัก ไม่ชัง เพราะเหตุว่าจิตรู้แล้วก็ดับ เช่น ขณะนี้ จิตเห็นเกิดเห็นแล้วดับ จิตได้ยิน เกิดขึ้นได้ยินเสียงแล้วก็ดับ เพราะฉะนั้นไม่มีอะไรเที่ยง อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ต้องเข้าใจมั่นคงก่อน จิตเป็นใหญ่เป็นประธานในการเพียงรู้แจ้งสิ่งที่ปรากฏ ถ้ามีจุดเล็กๆ ตรงนี้บางทีมองไม่เห็นใช่ไหม แต่จิตเห็น สีเหลืองนี่ แต่ก็มีลาย เห็นไหมว่า จิตอีกนั่นแหละที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งแต่ละหนึ่งที่ปรากฏเร็วมาก ต้องเข้าใจคำว่าจิต เรื่องจิต และจิตเดี๋ยวนี้ แต่ธรรมใดๆ ก็ตามที่จะเกิดขึ้นนี่เกิดขึ้นเองตามลำพังไม่ได้ นี่คือความเป็นอนัตตา ต้องมีธรรมซึ่งอาศัยกัน และกันเกิดขึ้น แม้จิตเป็นธาตุรู้ก็ต้องอาศัยเจตสิกซึ่งเป็นสภาพรู้ แต่ไม่ใช่รู้แจ้งอย่างจิต และเจตสิกทั้งหมด มี ๕๒ ประเภท บางครั้งก็อาจจะพูดว่าธรรมทั้งหลายที่เป็นนามธรรมมี ๕๓ เพราะว่าจิตเป็นหนึ่ง จิตเป็นเจตสิก ใดๆ ไม่ได้ทั้งสิ้น ส่วนเจตสิกแต่ละหนึ่งก็จะเป็นเจตสิกอื่นหรือเป็นจิตไม่ได้ หนึ่งคือหนึ่ง เพราะฉะนั้นโดยประเภทใหญ่ๆ เจตสิกทั้งหมดมี ๕๒ ประเภท และจิตแต่ละหนึ่งขณะจะมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยมากน้อยต่างกันตามสมควรกับฐานะที่จะทำให้จิตนั้นเกิดขึ้นได้ เพราะแม้เป็นธาตุรู้เกิดเองไม่ได้ ต้องอาศัยเจตสิก และเจตสิกจะเกิดเองก็ไม่ได้ ต้องเกิดกับจิตทุกขณะที่จิตเกิด

    เพราะฉะนั้นให้เข้าใจความต่างของจิตกับเจตสิกก่อนว่าเป็นนามธรรมซึ่งไม่มีรูปใดๆ เลยแต่แยกกันไม่ออกเพราะเห็นว่าอาศัยกัน และกันเกิดขึ้นพร้อมกัน เป็นธาตุรู้ดับพร้อมกัน รู้สิ่งเดียวกันด้วย แต่ว่าต่างหน้าที่ จิตก็ทำหน้าที่ของจิตคือเป็นใหญ่เป็นประธาน และเจตสิกแต่ละหนึ่งทำกิจของตน จะไปทำกิจของเจตสิกอื่นก็ไม่ได้ เช่นโลภะความติดข้อง เกิดแล้วมีหน้าที่เดียว ติดข้องในสิ่งที่ปรากฏ แต่เวลาขุ่นเคืองจะไปทำหน้าที่ติดข้องก็ไม่ได้ เป็นสภาพของเจตสิกอีกประเภทหนึ่ง

    เพราะฉะนั้นเจตสิกทั้งหมดมี ๕๒ ประเภท บอกว่าเขาเป็นคนดี ดีเป็นอะไร เขา เป็นคนดี ทีละคำ ดีเป็นอะไร เป็นธรรมหรือเปล่า เป็น มีจริงๆ หรือไม่ เป็นรูปธรรมหรือเปล่า ไม่ใช่ เป็นนามธรรม ประเภทไหน ก่อนถึงค่ะ เราพูดกุศลในภาษาบาลี แต่ภาษาไทยก็คือดี เราจะปนกันด้วย ๒ ภาษา แต่ถ้าเราเข้าใจในภาษาไทยก่อน และเรารู้คำบาลีดีกว่า ไม่อย่างนั้นจะเหมือนเดิม เราเอาคำบาลีมาใช้ แต่ผิดหมดเลย เพราะฉะนั้นดีมีจริงๆ ใช่ไหม เป็นอะไร

    ผู้ฟัง เป็นเจตสิก

    ท่านอาจารย์ นี่คือการศึกษาเพื่อประโยชน์ของการเข้าใจด้วยตัวเอง ใครจะพูดอะไรที่ไม่ตรง ไม่จริง กับวาจาสัจจะของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราก็รู้ได้ว่าเขาไม่รู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เขารู้จักเพียงคนที่บอกเขา แต่คนนั้นเป็นใคร รู้แค่ไหน เพราะฉะนั้นจะรู้จักใคร รู้จากกายวาจาของเขา ถ้าพูดคำจริงก็หมายว่าคนนั้นเข้าใจถูกไม่ เข้าใจผิด แต่ถ้าบอกว่าจิตเป็นอย่างนั้นอย่างนี้โดยที่ว่าเรายังไม่ได้ศึกษาจริงๆ เขาก็บอกเราไม่ได้ว่าเห็นนี่แหละเป็นจิต เขาก็ไปคิดว่าจิตนี้เป็นอื่นไปแล้วไม่ใช่เห็น แต่ธาตุรู้ไม่ว่าจะรู้คือเห็น ได้ยิน ก็เป็นธาตุรู้ แต่รูปธรรมไม่ว่าจะเป็นรูปของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าหรือรูปใครก็ตาม รูปไม่ใช่สภาพรู้ เพราะฉะนั้นเรายังไม่ถึงตอนนั้น แต่ต้องมีความเข้าใจที่มั่นคงในเรื่องจิต เจตสิก และตอนเกิด เราเกิดมาแล้วทั้งนั้นอะไรเกิด

    จิตเจตสิกเกิดพร้อมกันดับพร้อมกัน และอะไรอีก รูป ทั้งจิต และเจตสิก และรูปในขณะแรกที่เกิดขึ้นในโลกนี้เป็นผลของกรรม ต้องเข้าใจทีละเล็กทีละน้อย ใครก็บันดาลไม่ได้เลย จะทำให้มีจักขุปสาท มีเห็น และไม่มีใครสามารถทำได้ แต่ว่าธรรมก็คือเป็นสิ่งที่อาศัยกัน และกันเกิดขึ้นเป็นไป

    เพราะฉะนั้นแต่ละคนเกิดมาไม่เหมือนกันเลย ไม่ใช่แต่เฉพาะที่นี่ ที่ไหนๆ ก็ไม่เหมือนกัน เพราะเป็นผลของกรรมที่ทำให้เกิดขึ้น วันนี้มีกรรมมากไหม ถ้าเราเพียงแต่เข้าใจคร่าวๆ ยังไม่ศึกษาให้ละเอียด กรรมคือการกระทำ ก็มีกุศลกรรมคือกรรมดี อกุศลกรรมคือกรรมไม่ดี มีหรือไม่ มีทุกวัน แล้วเมื่อจากโลกนี้ไปแล้ว ต้องเกิดอีกแน่ๆ เพราะมีปัจจัยที่จะให้เกิด เรายังไม่เรียนไปถึงนั้น แต่ตราบใดที่ยังมีกิเลส ต้องมีการเกิดเพราะว่ากิเลสเป็นปัจจัยให้เกิด ตอนที่เจ้าชายสิทธัตถะประสูติเป็นผลของกรรมหรือไม่ เป็นผลของกรรม เพราะฉะนั้นไม่ใช่เจ้าชายสิทธัตถะ แต่เป็นจิต เจตสิก รูปไม่พ้นไปเลยไม่ว่าใคร

    เพราะฉะนั้นแต่ละคนที่เกิดมาเลือกเกิดไม่ได้เลย กรรมหนึ่งทำให้เกิดขึ้น ถ้าเป็นนกไม่เป็นคนเป็นผลของอกุศลกรรม ถ้าเป็นคนก็ต่างระดับของกุศลที่ได้ทำไว้แล้วว่าหลากหลายเหลือเกิน สุขทุกข์ในวันหนึ่งๆ นี่ก็เป็นผลของกรรม แต่ให้ทราบขณะแรกก่อนที่เกิดเพราะมีกรรมที่ได้กระทำแล้ว โดยไม่สามารถที่จะเลือกได้เลยในแสนโกฏิกัปป์มีโอกาสที่จะเป็นปัจจัยให้เกิดในที่ไหนก็ได้ เราอยู่ที่ไหนชาติก่อน ในทะเลลึกๆ ก็ได้ แต่พอมีปัจจัย กรรมทำให้เกิดตรงนี้ โลกนี้เกิด

    เพราะฉะนั้น อะไรจะยิ่งใหญ่กว่ากรรม เพราะเหตุว่าสามารถที่จะบันดาลได้จากใต้ทะเลหรือบนฟ้า ก็มาเกิดตรงนี้ อาจจะเคยเกิดบนสวรรค์ชั้นหนึ่งชั้นใด แต่ถึงเวลาที่กรรมจะทำให้เกิด เกิดได้โดยปัจจัยไม่ต้องขึ้นเครื่องบินลงน้ำทะเลไปไหนเลย ทำให้เกิดตรงไหนก็ได้ตามสมควรแก่กรรมนั้น เพราะฉะนั้นที่ว่าเป็นเราเกิดก็คือกรรมหนึ่งทำให้จิต เจตสิกรูป ทั้ง ๓ อย่าง เป็นผลของกรรม เพราะฉะนั้น จิต เจตสิก ที่ดีตามสมควรแก่ฐานะของกรรม ก็ทำให้เป็นผลของกรรมนั้นๆ เป็นบุคคลประเภทนั้นแล้วก็กิเลสอกุศลใดๆ ที่สะสมมาเกิดขึ้นเพราะจิตเจตสิกที่ได้กระทำแล้ว ทุกอย่างอยู่ที่จิตหมด

    จิตนี้น่าอัศจรรย์เป็นสภาพธรรมที่เป็นธาตุรู้ เกิดดับ แต่เจตสิกซึ่งเกิดกับจิต มีทั้งฝ่ายกุศล และอกุศล เพราะฉะนั้นเจตสิกที่ดี และที่ไม่ดีที่เกิดแล้วสะสมอยู่ในจิต ไม่ออกไปจากจิตเลย เพราะว่าในจิต คิดดู จิตก็มองไม่เห็นเลยไม่มีรูปร่างด้วย แต่สามารถสะสมอยู่ในจิต เพราะฉะนั้นสิ่งที่สะสมมาในจิตของแต่ละคนหลากหลายนับไม่ถ้วนเลย แต่พอมีการกระทบคือการเห็นเกิดขึ้น เจตสิกที่สะสมมาก็เกิดขึ้นทำกิจการงาน ชอบหรือไม่ชอบในสิ่งที่ปรากฏ พอชอบหรือไม่ชอบก็มีความคิดตามความชอบหรือไม่ชอบไม่รู้สิ้นไม่รู้จบไปเรื่อยๆ ทุกขณะนี่คือการเกิดดับของธรรมซึ่งเป็นจิต เจตสิก รูป

    สำหรับรูป ทำไมเราไม่เหมือนกัน เพราะเหตุว่ากรรมหนึ่งทำให้เกิด แต่ประมวลมารวบรวมมาซึ่งกรรมอื่นๆ ที่สามารถจะให้ผลในชาติที่เกิดเป็นคนนั้นๆ หรือว่าเป็นสัตว์ก็ได้ประเภทนั้นๆ เช่นถ้าอกุศลกรรมให้ผลเกิดเป็นนก แต่ทำไมนกหลากหลาย นกบางตัวก็สวย บางตัวก็น่ารัก บางตัวก็สีดำหมดเลย ที่เราเรียกว่ากา อะไรอย่างนี้ เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่าเกิดเป็นแมว เกิดเป็นงู เกิดเป็นอะไรก็หลากหลาย เพราะเป็นผลของอกุศลกรรมหนึ่ง แต่กรรมที่ได้ทำแล้วประมวลมาที่จะให้ รูปร่าง ต่างกันไป ตั้งแต่เกิด ค่อยๆ โตขึ้นเปลี่ยนไปตามกรรม

    เพราะฉะนั้นเราจะใช้คำว่าบุญทำกรรมแต่ง บุญทำให้เกิดเป็นมนุษย์ แต่กรรมที่ได้ทำมาแล้วเล็กๆ น้อยๆ บางคนก็ตาเล็ก ตาใหญ่ ตาเข ตาขวาง อะไรก็แล้วแต่ สารพัดอย่างฟันก็ต้องมาดัด สารพัดอย่าง นี่ก็คือทั้งหมด ใครทำไม่ได้เลยนอกจากกรรมที่ทำให้เกิดเป็นมนุษย์จริง แต่ประมวลมาซึ่งกรรมอื่นๆ ที่จะให้ผลมากน้อยต่างกันในชาตินั้น

    อนัตตา ต้องไม่ลืม บังคับบัญชาไม่ได้ แต่ปัญญสามารถที่จะรู้ว่าอะไรเป็นเหตุ อะไรเป็นผล อะไรเป็นเหตุของการเกิดขึ้นเป็นคนนี้ มีโอกาสได้ยินได้ฟังธรรม มีโอกาสได้เข้าใจธรรม และเห็นคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ทำให้เกิดความเข้าใจถูก เห็นถูกในสิ่งที่มี

    ผู้ฟ้ง สั่งสมอยู่ตลอดเวลา เกิดจากเจตสิกใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ เจตสิกเกิดกับจิต จิตทำหน้าที่เดียวคือรู้ หน้าที่อื่น ชอบไม่ชอบทั้งหมดนี้เป็นเจตสิก เพราะฉะนั้นบางคนเกิดมาแล้วไปไหนอยากได้หมดทุกอย่าง สะสมมาที่จะชอบสิ่งนั้นสิ่งนี้ ช่างซื้อช่างหา บางคนก็ไม่ค่อยสนใจก็แล้วแต่อัธยาศัยที่สะสมมา แต่นี่เราพูดถึงขณะแรกก่อนคือขณะเดียว ขณะแรกของชาตินี้ เราใช้คำว่าเกิด แต่ภาษาบาลีใช้คำว่าปฏิสนธิ

    อ.คำปั่น คำว่าปฏิสนธิ ภาษาบาลีก็คือ ปะ-ติ-สัน-ธิ โดยความหมายก็คือสืบต่อเฉพาะจากจุติจิต

    ท่านอาจารย์ อย่างนี้ก็ชัดเจน ถ้าไม่ชัดเจนก็จะคิดว่าจุติจิตเป็นเกิด แต่ที่จริงจุติแปลว่าเคลื่อนพ้นสภาพความเป็นบุคคลนี้ คือตาย หมายความถึงจิตขณะสุดท้ายของชาตินี้ที่จะทำให้เป็นบุคคลนี้ กรรมทำให้สิ้นสุด เพราะฉะนั้นจะมีจิตเกิดสืบต่อไม่ได้ จิตขณะสุดท้ายเกิด และดับไปเราใช้คำว่า ตาย เคลื่อนพ้นสภาพความเป็นบุคคลนี้ แต่จิตไม่หยุด จิตไม่เคยหยุดเลย แสนโกฏิกัปป์มาแล้วเกิดดับสืบต่อตลอดเวลา และเราก็ใช้คำว่าตาย แต่ไม่ได้ตายจริงๆ เพราะตายแล้วเกิดทันที โดยกรรมทำให้ปฏิสนธิจิตที่ทำกิจสืบต่อจากจุติจิตของชาติก่อน จิตเกิดแล้วดับๆ สืบต่อ แต่ว่าเราไม่ได้ใช้คำว่าปฏิสนธิจิต เราจะใช้คำนี้ต่อเมื่อสืบต่อเฉพาะจากจุติจิตของชาติก่อน แต่ละคำ ถ้าเราได้รู้ความหมายด้วยเราก็เข้าใจชัดเจนว่าในชาติหนึ่งจะมีปฏิสนธิจิตเพียงหนึ่งขณะ แล้วเหตุใด ทำไมอยู่ๆ มาได้เรื่อยๆ เพราะเหตุว่ากรรมไม่ได้ผลเพียงหนึ่งขณะที่ทำให้เกิด แค่ทำให้เกิดหนึ่งขณะไม่พอของกรรมที่ได้ทำไม่ว่าจะกรรมดีกรรมชั่ว

    เพราะฉะนั้นกรรมยังให้ผลต่อไป จิตเกิดขึ้นทีละหนึ่งขณะ ถ้าจิตขณะนี้ยังไม่ดับ จิตอื่นเกิดต่อไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นต่อเมื่อจิตนี้เกิดแล้วดับไปเมื่อใดเป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิดสืบต่อ เพราะฉะนั้นกรรมให้ผลไม่ใช่ให้ขณะเดียวคือปฏิสนธิจิต ยังทำให้จิตซึ่งเป็นผลของกรรมนี่เกิดต่อไปอีกในชาตินั้น

    เพราะฉะนั้นเมื่อปฏิสนธิจิตดับแล้วกรรมเดียวกันที่ทำให้เกิดก็ทำให้จิตประเภทเดียวกันเลยเป็นผลของกรรมเกิดสืบต่อดำรงภพชาติ ยังไม่เห็น ยังไม่ได้ยิน ยังไม่ได้กลิ่น ยังไม่ได้ลิ้มรส เราจะไม่รู้เลยว่าจิตเกิดดับนานเท่าไหร่ กว่าจะมีการคิดนึกขึ้น แต่ให้รู้ว่าขณะใดเป็นจิตที่เป็นเหตุ ขณะใดเป็นจิตที่เป็นผล และขณะใดไม่เป็นทั้งเหตุ และผล นี่คือความละเอียดอย่างยิ่งของจิตเดี่ยวนี้ เพราะฉะนั้นถ้าศึกษาเรื่องจิตไม่ไกลเลย ศึกษาจิตเดี่ยวนี้ว่ามีปฏิสนธิจิตนานแล้ว และก็สืบต่อมาเป็นภวังค์ดำรงภพชาติเรื่อยๆ กรรมก็จะทำให้ไม่ใช่เพียงแต่เกิดปฏิสนธิ และดำรงภพชาติ ยังต้องทำให้ถึงเวลาเห็นต้องเห็น ถึงเวลาได้ยินต้องได้ยิน ถึงเวลาได้กลิ่นต้องได้กลิ่น ถึงเวลาลิ้มรส ต้องลิ้มรส ถึงเวลากระทบเย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง ไหว ก็ต้องเป็นอย่างนั้น เลือกไม่ได้เลย อย่างเสียงถึงเราไม่พูด ก็ได้ยินเสียง เพราะเหตุว่าต้องได้ยิน ทุกอย่างเลย เป็นธรรมซึ่งเป็นอนัตตา เพราะฉะนั้นขณะใดที่เกิดเห็น ขณะนั้นให้ทราบว่าเป็นผลของกรรม เพราะอะไร เห็นสิ่งที่น่าพอใจก็มี เห็นสิ่งที่ไม่น่าพอใจก็มี เพราะเหตุว่ากรรมมีทั้งกรรมดี และกรรมชั่ว ถ้าเป็นผลของกรรมดี ซึ่งภาษาบาลีใช้คำว่า กุ สะ ละ หรือกุศล กุศลกรรม เรารู้จักชื่อนี้ แต่ว่าเรารู้จักเผินๆ และคิดว่าเรา แต่ความจริงเป็นจิตซึ่งเกิดขึ้นเพราะกรรมที่ได้ทำแล้วเป็นปัจจัยให้ต้องเห็นสิ่งที่น่าพอใจเป็นผลของกุศลกรรม ถ้าเห็นสิ่งที่ไม่น่าพอใจเป็นผลของอกุศลกรรม ใครเลือกได้

    เพราะฉะนั้น ณ.วันนี้ หรือขณะนี้ ต่อไปไม่รู้ เห็นไหม รู้ไหมว่าเสียงนี้จะเกิดขึ้นได้ยิน ตอนที่ไม่เกิดไม่รู้เลย นี่คือกรรมทำให้จิตได้ยินเกิดขึ้นได้ยิน ไม่ใช่เรา เห็นความเป็นอนัตตาตั้งแต่คำแรกจนถึงคำสุดท้ายที่เป็นปัจฉิมวาจาก่อนที่จะปรินิพพาน จงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อม ไม่ประมาทในการฟังเพื่อเข้าใจ ถ้าฟังอะไรไม่เข้าใจไม่กล่าวถึงสิ่งที่มีจริงให้เข้าใจ คำนั้นไม่ใช่คำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะว่าคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสเพื่อประโยชน์แก่คนฟัง ให้เกิดความเข้าใจตามลำดับ ลองเปรียบเทียบดู ๔๕ พรรษา และเวลานี้เท่าไหร่ และเราได้ฟังกี่คำ และแต่ละคำสำหรับคนที่เขาเคยฟังมาแล้วจนกระทั่งเมื่อฟังแล้วเขาเข้าใจ แต่สำหรับเรา ธรรมคืออะไรก็ต้องให้ชัดเจน ค่อยๆ ฟังค่อยๆ เข้าใจขึ้น ค่อยๆ เข้าใจขึ้น จนกระทั่งสามารถรู้ตามที่ได้ทรงแสดงในขณะนี้ นี่คือปัญญาที่อบรมแล้วที่ใช้คำว่าวิปัสสนา จนกระทั่งสามารถที่จะละ การที่ไม่เคยรู้ความจริงของสิ่งที่ปรากฏ

    เพราะฉะนั้นไม่ผิวเผิน ไม่ฟังใครนอกจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่เชื่อใครนอกจากคำจริงซึ่งเป็นคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อประโยชน์คือปัญญาความเห็นถูกของตนเอง ซึ่งคนอื่นให้ไม่ได้เลย มีแต่คำผิด หรือคำไม่จริง คำไม่ตรง เพราะฉะนั้นก็เขวไป เข้าใจผิดไป แล้วก็ไม่มีวันที่จะรู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หันหลังให้พระสัทธรรมในชาตินี้ และชาติต่อๆ ไป ที่สำคัญที่สุดคือชาติต่อๆ ไปด้วย เพราะเกิดอีกแน่นอน มากมายด้วย แล้วถ้าสะสมความเห็นผิด ความไม่เข้าใจถูกจริงๆ ก็จะผิดไปเรื่อยๆ เหมือนพวกอัญญเดียรถีย์ เขาไม่เชื่อพระสัมมาส้มพุทธเจ้าเลย เขาเชื่อครูอาจารย์ของเขา ๖ ท่านในครั้งโน้น แล้วแต่อาจารย์จะว่าอย่างไร พระพุทธเจ้าประทับอยู่ใกล้แสนใกล้ไม่มาฟังธรรม ใครก็เปลี่ยนเขาไม่ได้ เพราะเป็นธาตุที่สะสมมา ไม่มีใครสักคนที่จะไปเปลี่ยนแปลงอะไรได้ เพราะว่ากุศลก็เป็นธาตุ อกุศลก็เป็นธาตุ ทุกอย่างที่มีจริงเป็นธาตุ คือสิ่งที่มีจริงแต่ละชนิด ซึ่งเปลี่ยนแปลงไม่ได้ จึงใช้คำว่า ธาตุ ธา-ตุ นี้ยังไม่ถึงตายใช่ไหม

    ผู้ฟัง ฟังเรื่องกรรม ที่แผ่นดินไหวที่เนปาล เป็นเรื่องของกรรมล้วนเลยใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ กรรมมีจริงไหม เป็นธรรมหรือเปล่า เป็นธรรมอะไร จิตเป็นธาตุรู้เท่านั้น เป็นเจตสิก เพราะฉะนั้นเจตสิกทั้งหมดมี ๕๒ ประเภท จิตมีหนึ่งหลากหลายเพราะเจตสิกที่เกิดร่วมด้วยเป็น ๘๙ ประเภท แต่เจตสิกแต่ละหนึ่งเปลี่ยนไม่ได้ โลภะเป็นโลภะ โทสะเป็นโทสะ โมหะเป็นโมหะ เพราะฉะนั้น กรรมสำหรับคนที่เคยฟังแล้วจะรู้ว่าได้แก่เจตสิกอะไร ได้แก่เจตนาเจตสิก เจ ตะ นา ภาษาบาลี ภาษาไทยเราออก เจด ตะ นา แต่ความจริงถ้าจะพูดถูกก็คือเจตนาเป็นความจงใจ เป็นความตั้งใจ เป็นความขวนขวายแล้วแต่สภาพของจิตในขณะนั้น จิตเกิดขึ้น ๑ ขณะ จะต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยอย่างน้อยที่สุด ๗ ประเภท

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 176
    18 มี.ค. 2567