ปกิณณกธรรม ตอนที่ 724


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๗๒๔

    สนทนาธรรม ที่ โรงแรมอิมพีเรียลแม่ปิง จ.เชียงใหม่

    วันที่ ๒๗ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๘


    ท่านอาจารย์ แต่ฟังได้เข้าใจได้ ประโยชน์อะไร เพื่อเห็นความไม่ใช่เรา ทุกอย่างแม้แต่จะเกิดขึ้นจิตหนึ่งขณะต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยอย่างน้อยที่สุด ๗ ประเภท และจิตแต่ละหนึ่งนั้น เป็นปัจจัยโดยฐานะของปัจจัยใด ปัจจัยก็ยังหลากหลายอีก แสดงให้เห็นว่าการที่ฟังเรื่องอย่างนี้ ไม่ใช่ว่าขณะนี้เพียงกระทบสัมผัส เราจะไปรู้ถึงสภาพของเจตสิกที่เกิดกับจิต ขณะที่กำลังรู้แข็งว่ามีเจตสิกเกิดขึ้นร่วมด้วย ๗ ดวง เป็นไปไม่ได้ แต่ในขณะที่ฟังแล้วก็เห็นความเป็นอนัตตา เปลี่ยนสภาพธรรมไม่ได้เลย เพราะทรงแสดงไว้ว่าจิตนี้ มีเจตสิกที่เกิดร่วมด้วยเป็นปัจจัยโดยฐานะใด ของปัจจัยประเภทไหนเท่าไร ให้เห็นความเป็นอนัตตาว่าไม่มีใครสามารถจะเปลี่ยนแปลงธรรมได้ เพราะเหตุว่าพระผู้มีพระภาค ทรงตรัสรู้ความจริงถึงที่สุด ที่ใช้คำว่า ปรมัตถ เปลี่ยนแปลงไม่ได้เลย เพราะว่าเป็นความจริงอย่างนั้น

    เพราะฉะนั้น ประโยชน์ก็คือว่า ศึกษาอะไรก็ให้เข้าใจสิ่งนั้น เพิ่มขึ้นให้ละเอียด และชัดเจนขึ้น ด้วยเหตุนี้ พระธรรมลึกซึ้งจริงๆ เพราะกล่าวถึงสิ่งที่มีนานแสนนานมาแล้ว ไม่มีใครสามารถที่จะรู้ความจริงของสิ่งที่มีได้ เพราะฉะนั้น สิ่งที่มีจริง ลึกซึ้งอย่างยิ่ง ถ้าไม่มีการตรัสรู้ความจริงของสิ่งนั้น ก็จะไม่มีคำต่างๆ ซึ่งเราได้ยิน แล้วก็จะไม่เข้าใจ เพราะเหตุว่าเราไม่เข้าใจความจริงนั่นเอง การศึกษาธรรมต้องศึกษาทีละคำจริงๆ ตอนนี้เราก็รู้จักธรรมแล้วใช่ไหม คือ สิ่งที่มีจริง ถ้าไม่มีจริง พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะตรัสรู้อะไร ก็ไม่มีอะไรจะตรัสรู้ แต่ว่าสิ่งที่มีจริงนี้แหละ ซึ่งยังไม่เคยมีใครรู้ความจริงมาก่อน มีจริงมานานแสนนาน และธรรมดาด้วย แต่เมื่อไม่รู้ ก็ไม่ใช่ผู้ที่สามารถที่จะเข้าใจถูกต้อง ในสิ่งที่มีปรากฏตลอดเวลา ตั้งแต่เกิดจนตาย แต่เมื่อมีการตรัสรู้แล้ว ความละเอียดลึกซึ้งอย่างยิ่ง จึงมีคำมากไม่ใช่คำเดียว แต่ว่าทุกคำแสดงความจริง วาจาสัจจะที่จะให้เข้าถึงลักษณะที่ลึกซึ้ง ซึ่งมีจริง

    ขอยกตัวอย่าง ขณะนี้สิ่งที่มีจริงกำลังปรากฏ สิ่งที่สามารถเห็นได้ กำลังปรากฏให้รู้ว่าสิ่งนี้มีจริงๆ เมื่อไรมีเห็น เมื่อนั้นก็จะปรากฏว่าสิ่งที่กำลังปรากฏให้เห็นขณะนี้ มีจริงซึ่งใครก็เปลี่ยนแปลงลักษณะนั้นไม่ได้ ขณะที่เสียงปรากฏ มีได้ยินจริงๆ เสียงก็จริง ได้ยินก็จริง เพราะฉะนั้น ถ้าไม่มีได้ยิน เสียงก็ไม่ปรากฏ จะรู้ว่า เสียงมีก็ไม่ได้ สำหรับคนที่หูหนวก เสียงไม่ปรากฏเลย เขาจะรู้ไหมว่าเสียงเป็นอย่างไร พูดถึงเสียงเขาก็ไม่สามารถที่จะเข้าใจได้ สำหรับคนที่ตาบอด ต่อให้เราจะพรรณนาถึงรูปร่างสัณฐานต่างๆ สีสันต่างๆ เขาก็ไม่สามารถที่จะรู้ได้ว่าสิ่งนั้นมีจริง เพราะเหตุว่า ไม่มีธาตุที่รู้สิ่งนั้น

    ลองคิดถึงที่เราใช้คำว่า โลก รู้จักโลกหรือเปล่า พูดคำนี้มาก็มาก เกิดมาในโลกนี้ ใช้แล้ว โลกนี้มีประเทศต่างๆ มีมหาสมุทร มีภูเขา ท้องฟ้าก็พูดไปแต่ว่าโลกคืออะไร แม้เพียงคำเดียว ถ้าไม่มีอะไรเลยสักอย่างหนึ่งเกิดขึ้น จะมีโลกไหม ไม่ได้แน่นอน แต่เมื่อมีสิ่งหนึ่งสิ่งใดเกิดขึ้น มีโลกแล้ว เพราะฉะนั้น ถ้ามีสิ่งใดๆ เพราะมีปัจจัยที่จะให้เกิด สิ่งต่างๆ เดี๋ยวนี้ก็กำลังเกิดปรากฏ ไปที่ไหนก็มี นั่นก็คือว่า เมื่อมีสิ่งนั้นเกิดขึ้น จึงปรากฏว่ามีโลกเพียงแค่คำเดียวยังต่อไปอีกหลายๆ คำ เช่น คำว่า บัญญัติ ภาษาบาลีก็เป็นปญฺญตฺติ แต่ก็ต้องรู้ว่ามาจากไหน และก็คำนี้คืออะไร ไม่ใช่เขาบอกว่าบัญญัติก็บัญญัติ ปรมัตถ์ก็ปรมัตถ์ แต่คำว่า ปรมัตถ หมายความถึงสิ่งมีจริง ซึ่งไม่มีใครสามารถที่จะเปลี่ยนแปลงได้ ป-ร-ม แม้พระสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือใครทั้งสิ้นก็ไม่สามารถที่จะบันดาลได้ เพราะว่าสิ่งนั้นเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย

    เพราะฉะนั้น สิ่งที่มีจริง โดยไม่ต้องเรียกชื่ออะไรเลย ไม่ต้องไปทำให้เกิดขึ้นด้วย แต่ก็มีปัจจัยที่จะทำให้สิ่งนั้นเกิดขึ้นเป็นอย่างนั้น เป็นสภาพธรรมที่แข็ง เป็นสภาพธรรมที่เป็นเสียง เป็นสภาพธรรมที่เป็นกลิ่นทั้งหมดมีจริง ไม่มีใครสามารถทำให้เกิดได้ นอกจากปัจจัยทำให้เกิดสิ่งนั้นขึ้น แล้วก็มีธาตุรู้ ซึ่งก็ไม่มีใครจะไปยับยั้งว่า อย่าเกิดนะ ธาตุรู้นี่ไม่ต้องเกิด ไม่ต้องมีก็ไม่ได้ เพราะเหตุว่า มีแข็งเกิดขึ้นมาได้ฉันใด ไม่ใช่สภาพรู้ ก็มีอีกธาตุหนึ่ง ต่างหาก ซึ่งเกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัย แต่ต้องรู้ ทั้งสองอย่าง เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยแล้วดับ เร็วสุดที่จะประมาณได้ เพราะว่าขณะนี้ไม่มีใครเห็นอะไรเกิดดับเลย ถูกต้องไหม

    แสดงให้เห็นว่าการเกิดดับสืบต่อจนไม่เห็นการเกิดดับสืบต่อ สิ่งหนึ่งสิ่งใดก็ตามซึ่งเปลี่ยนแปลงเร็วมาก เหมือนไม่ได้เปลี่ยนเลย อย่างลูกข่างหมุนให้เร็วมาก มองเห็นไหม ค่อยๆ เคลื่อนไป หรือว่าจุดธูป ๑ ดอก แล้วก็แกว่งให้เป็นวงกลม ทำไมเห็นเป็นวงกลม ทั้งวงเลย แต่ว่าความจริงเพียงจุดเดียว ที่ธูปที่มีไฟที่จุดไฟขึ้น แต่ว่าแกว่งเร็วๆ ก็เห็นเป็นวงกลมได้ หรือว่าจะเป็นอะไรก็ได้ ตามแต่จะแกว่งไป นั่นคือนิมิต หมายความว่า สภาพธรรมที่เกิดดับสืบต่ออย่างเร็วสุดที่จะประมาณได้ จนกระทั่งสามารถที่จะปรากฏ เหมือนเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด เช่น เห็นเป็นดอกไม้บ้าง เห็นเป็นใบไม้บ้าง เห็นเป็นโต๊ะบ้าง เห็นเป็นเก้าอี้บ้าง เห็นเป็นอะไรบ้าง ก็ต้องมีสภาพธรรมที่เกิดดับสืบต่อ เพราะฉะนั้น อะไรก็ตามขณะนี้ที่ปรากฏเกิดก็ไม่รู้ ดับก็ไม่รู้

    แต่ความจริงที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ หมายความว่าทรงบำเพ็ญพระบารมีจนกระทั่งสามารถจะรู้ความจริง ซึ่งคนอื่นไม่สามารถจะรู้ได้เลย แต่ว่าคนอื่นสามารถที่จะฟังค่อยๆ เข้าใจขึ้น อบรมปัญญาจนกระทั่งเห็นความจริง ทีละเล็กทีละน้อยจนสามารถที่จะรู้ความจริงคืออริยสัจ ๔ ได้ อย่างเช่นที่พระองค์ได้ตรัสรู้แล้ว แล้วก็รู้ว่า รู้ได้ แต่ต้องอาศัยการฟัง สาวกคือผู้ที่ไม่ใช่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อฟังแล้วต้องเข้าใจ ปัญญาต่างหากที่สามารถจะรู้ความจริงนี้ได้ ไม่ใช่เรา ที่เป็นการยึดถือสภาพธรรม ด้วยความไม่รู้ในความจริง จะไปรู้ความจริงได้

    ด้วยเหตุนี้สภาพธรรมอย่างหนึ่งคือความเห็นถูก ความเข้าใจถูก เมื่อมีการได้ยินได้ฟัง แล้วก็ไตร่ตรองพิจารณาจนเข้าใจแต่ละคำ เช่น คำว่า ปรมัตถธรรม จิตมี เจตสิกมีรูปมี เมื่อกี้เราก็กล่าวคร่าวๆ แล้ว จิตเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่กำลังปรากฏ ไม่ว่าจะเป็นทางตาจิตเห็น ทางหูจิตได้ยิน ทางจมูกจิตได้กลิ่น ทางลิ้นจิตลิ้มรส ทางกายเดี๋ยวนี้จิตกำลังรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส แต่เจตสิกเป็นสภาพที่เกิดพร้อมจิต แต่ว่ามีลักษณะที่ต่างกัน เช่น จำบ้างชอบบ้าง รู้สึกต่างๆ บ้าง พวกนี้เป็นเจตสิก ส่วนรูป ไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลยทั้งสิ้น แข็งก็แข็ง เย็นก็เย็น ร้อนก็ร้อน แต่รู้อะไรไม่ได้

    ด้วยเหตุนี้ สภาพธรรมที่เป็นปรมัตถธรรม สิ่งที่มีจริงๆ มีลักษณะเฉพาะของตน จึงมี ๔ คือ จิตหนึ่ง ธาตุรู้เป็นใหญ่เป็นประธาน เจตสิกหนึ่ง ธาตุรู้ซึ่งเกิดกับจิต หลากหลายมากเป็น ๕๒ ประเภท แล้วก็รูป ซึ่งไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลย เป็นสภาพธรรมที่เกิดปรากฏเพราะเหตุปัจจัย แล้วก็ดับไป แต่ก็มีธาตุ หรือปรมัตถธรรมอีกหนึ่ง ซึ่งต่างจาก จิต เจตสิก และรูป ธาตุนั้นคือ นิพพาน ยังไม่ต้องกล่าวถึงเพราะอะไร ให้รู้ความจริงของสิ่งที่ปรากฏเสียก่อน เพราะว่า นิพพาน ตรงกันข้ามกับสิ่งที่มีเดี๋ยวนี้ทั้งหมด เพราะฉะนั้น ต่างกันคือขณะนี้มีสิ่งที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย

    เมื่อมีสิ่งหนึ่งสิ่งใดเกิดขึ้นแล้วไม่รู้ ก็ยินดีติดข้องในสิ่งนั้นเป็นธรรมดา ด้วยเหตุนี้ เกิดมา ขณะที่ยังไม่มีอะไรปรากฏเลยทั้งสิ้นไม่ว่าภพไหน ภูมิไหนทั้งสิ้น จะอยู่ในครรภ์มารดา เป็นมนุษย์หรือว่าสัตว์อื่นที่เกิดในครรภ์ ก็มีแล้วแต่จะเป็นสัตว์ประเภทใด เกิดในนรกเกิดเป็นเปรตเกิดเป็นอสุรกาย เกิดเป็นเทวดาเกิดเป็นพรหมหลากหลายมากตามเหตุ ขณะแรกที่จิตนั้นเกิดขึ้น อะไรๆ ของโลกนั้นๆ ไม่ปรากฏเลย ทั้งๆ ที่จิตเกิดขึ้นแล้ว แต่ก็ไม่สามารถที่จะรู้อารมณ์ซึ่งต้องอาศัยตา หรือหู จมูกลิ้นกาย แต่มีปรมัตถธรรมแล้ว ถ้าเกิดเป็นมนุษย์ก็มีจิตเจตสิกรูปขาดไม่ได้เลยเกิดแล้ว

    เพราะฉะนั้น ปรมัตถธรรมต้องรู้ว่า ไม่ได้มีชื่ออย่างที่เราเรียกกัน แต่พระผู้มีพระภาคตรัสชื่อต่างๆ เพื่อที่จะแสดงความหลากหลายของสภาพธรรมนั้นๆ ว่า ธาตุรู้นี้ที่เป็นใหญ่เป็นประธาน ใช้คำว่า จิต แสดงให้เห็นว่าเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้ แต่คำนี้มีหลายคำด้วย จะใช้คำไหนก็ได้ ใช้คำว่า วิญญาณก็ได้ มโนก็ได้ มนัสก็ได้ หทยก็ได้ จะใช้คำไหนภาษาไหนก็หมายความถึง ธาตรู้ ซึ่งเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้ เกิดดับอย่างรวดเร็ว แต่เมื่อไม่เห็นการเกิดดับของจิตเลย แต่ปรากฏว่าเดี๋ยวนี้มีจิตใช่ไหม เพราะฉะนั้น ที่รู้ว่ามีจิตเพราะมีนิมิตให้รู้ว่า ขณะนี้ธาตุรู้มี เห็นขณะนี้ ไม่ใช่ หนึ่งขณะเลย เห็นซ้ำๆ ๆ กันหลายขณะ ก็ปรากฏให้รู้ว่านี่แหละเห็น แต่ขณะที่กำลังเห็น ไม่ใช่หมายความถึงเห็นหนึ่งขณะเลย

    ถ้าศึกษาธรรมโดยละเอียดจริงๆ ตามที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ และทรงแสดงให้คนอื่นเริ่มเข้าใจถูกตาม เพื่อจะได้มีปัญญา ค่อยๆ ละคลายความไม่รู้ ที่เคยยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นเรา จนกระทั่งสามารถที่จะรู้ความจริงอย่างที่พระองค์ตรัสรู้ได้ ต้องอาศัยการเข้าใจอย่างละเอียดในแต่ละคำ

    เพราะฉะนั้น ตอนนี้มีแค่ปรมัตถธรรม สิ่งที่มีจริงไม่ต้องเรียกชื่อใดๆ เลยทั้งสิ้น ก็เปลี่ยนลักษณะของปรมัตถธรรมหนึ่งปรมัตถธรรมใดไม่ได้เลย จึงมีชื่อหลากหลาย อย่างโลภะ สภาพธรรมที่พอใจติดข้องต้องการ ไม่ต้องเรียกก็ได้ใช่ไหม ชอบแล้วอร่อยดี สวยแล้ว เพราะแล้ว พวกนี้ก็เป็นที่ตั้งของความยินดีพอใจ มีหลายระดับขั้น เพราะฉะนั้น มีคำที่จะแสดงความหมายของสภาพธรรมที่เป็นความติดข้อง เช่น สิเนหาก็ได้ ราคะก็ได้ นันทะก็ได้ อาสาก็ได้ แล้วแต่ว่ามีลักษณะอย่างไร ก็แสดงถึงระดับขั้นของสภาพธรรมนั้นๆ ละเอียดยิ่ง อาสาหมายความว่าอะไร ภาษาไทยอย่างหนึ่ง แต่ภาษาบาลี ไม่ได้หมายความอย่างที่เราเข้าใจ คุณคำปั่น อาสาหมายความว่าอะไร

    อ.คำปั่น อาสา หมายถึง ความหวัง

    ท่านอาจารย์ ใครจะรู้ อาสา แล้วหวังตลอดหรือเปล่า หวังทุกวัน ไม่รู้ หวังจะได้ยินคำนั้น คำนี้ อยากจะรู้นิพพาน หวังแล้วใช่ไหม อะไรอะไรก็ได้ทั้งหมด เต็มไปด้วยความหวัง เกิดมาก็ไม่พ้นจากความหวัง เพราะความไม่รู้

    ด้วยเหตุนี้ให้ทราบว่า อยู่ในโลกของความลวง เหมือนมายากล เวลาที่เราไปดูกล ทำไมเป็นอย่างนี้ได้ อยู่ดีๆ ก็หยิบนกออกมาจากหมวก เมื่อกี้นี้ก็ไม่เห็นมีนก แล้วทำไมมีนกอยู่ หรือว่ารถทั้งคัน หายวับไปกับตา แต่ว่าพอเขาแสดงกล จะมีอะไรเป็นเครื่องตั้งสำหรับบังตรงนี้ และมีเครื่องดึงไปตรงนั้น ต่างๆ เหล่านี้ก็เห็นว่าเกิดได้ เมื่อแสดงอย่างช้าๆ หรือบอกวิธีเล่นแต่ว่าถ้าทำอย่างรวดเร็ว ไม่สามารถที่จะรู้ได้ ก็เป็นที่น่าอัศจรรย์ แต่ความจริง ทั้งหมดไม่น่าอัศจรรย์เลย ทำได้ หลอกกันได้ จิตเร็วยิ่งกว่านั้น ลวงยิ่งกว่านั้น ทำให้ดูเหมือนกับว่าไม่ได้ดับไปเลย

    ขณะนี้ จิตหลากหลายมาก เดี๋ยวเห็น เดี๋ยวได้ยิน จิตเห็นต้องเกิด และดับไปก่อน จิตได้ยินจึงจะเกิดได้ เพราะจิตเกิดขึ้นทีละหนึ่งขณะ ต้องรู้เพียงสิ่งเดียว ในเมื่อเป็นจิตหนึ่ง ก็ต้องรู้สิ่งหนึ่ง แต่ปรากฏขณะนี้ว่า จำได้หมดเลย ใครชื่ออะไรก็จำได้ นั่งอยู่ตรงนี้ ดอกไม้ก็รู้ โต๊ะก็รู้ ขวดแก้วก็รู้น้ำก็รู้ทุกอย่างไปหมด แสดงให้เห็นว่าความรวดเร็วยิ่งกว่ามายากล ลวงให้เข้าใจผิด สิ่งที่มีจริงไม่รู้ตามความเป็นจริง ก็เข้าใจว่าจริง เช่น คนจริง โต๊ะจริง เก้าอี้จริง เห็นอะไรตอบได้หมดเลย ใช่ไหม เห็นคน เห็นขวด แต่ว่าความจริง ไม่ได้เห็นขวดไม่ได้เห็นคน เห็นแต่เพียงสิ่งหนึ่งที่มีจริงที่สามารถจะกระทบตา แล้วมีธาตุรู้เกิดขึ้นเห็น สิ่งนั้นจึงปรากฏให้เห็นว่ามี สิ่งที่กำลังปรากฏ ทางตา ขณะนี้มีจริงๆ โดยไม่รู้ว่าสิ่งนั้นอยู่ที่ไหน แต่มีแล้ว ปรากฏให้เห็นแล้ว

    แต่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง ให้เข้าใจถูกต้องว่า สิ่งนั้นอยู่ที่ไหน และไม่รู้เพราะอะไร ทั้งหมดนี่มีคำตอบที่จะทำให้เราสามารถรู้จักแต่ละขณะตามความเป็นจริง เพราะว่าส่วนใหญ่ฟังแค่ประโยคเดียว ข้อความเดียว หรือแม้แต่อาจจะใช้ว่าตอนหนึ่งตอนใด สูตรหนึ่งสูตรใด ในพระไตรปิฎก แล้วคิดเองหมดเลย เพราะฉะนั้น ก็ผิดหมดเลย ไม่สามารถที่จะคิดได้เพราะว่าไม่ใช่ปัญญาที่ตรัสรู้ เพราะได้ค่อยๆ อบรมจนสามารถที่จะรู้ได้

    ด้วยเหตุนี้ แม้แต่คำว่าปรมัตถ์ แม้แต่คำว่า บัญญัติ แม้แต่คำว่า นิมิต ก็ต้องเข้าใจว่าถ้าไม่มีธรรมใดๆ เลยทั้งสิ้น ไม่มีปรมัตถ์ใดๆ เลย โลกก็ไม่มี ต้นไม้ก็ไม่มี จะว่าเป็นคนเป็นสัตว์ ภูเขาอะไรอะไรก็มีไม่ได้เลย แต่เมื่อมีสภาพธรรมที่เป็นรูปธรรมเกิดขึ้น แล้วก็ดับด้วย เกิดดับสืบต่อ ทุกอย่างที่เกิดต้องดับ แต่ดับเร็วกว่าที่ใครจะคิดได้ เพราะเหตุว่า จิตหนึ่งขณะเกิดแล้วดับ ใครรู้ ไม่มีทางรู้ได้เลย เดี๋ยวนี้กี่ขณะ คนนั้น คนนี้ นั่งที่นี่ ที่นั่น นับไม่ถ้วนเลย

    แสดงให้เห็นว่า ถ้าจิตเกิดขึ้นเพียงหนึ่งขณะแล้วดับไป นิมิตไม่มี แต่เวลาที่จิตเกิดขึ้นซ้ำๆ ซ้ำกันอย่างขณะนี้ เห็นต้องซ้ำเท่าไร เพราะว่าเกิดแล้วดับไปเร็วมาก และการดับไปของจิตขณะก่อน เป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิดสืบต่อทันทีโดยไม่มีระหว่างคั่น คิดดูว่าจะเร็วสักแค่ไหน สภาพธรรมใดก็ตามธาตุรู้เกิดขึ้นแล้วดับไป จิตเจตสิกเกิดขึ้นพร้อมกัน ดับไปพร้อมกัน ทันทีที่จิตเจตสิกนั้นดับไป เป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิดสืบต่อทันที โดยไม่มีระหว่างคั่นเลย บังคับให้ห่างๆ ได้ไหม ให้จิตนี้ดับไปนานๆ และอีกจิตหนึ่งมาเกิดได้ไหม ไม่ได้เลย เพราะเป็นอนันตรปัจจัย เปลี่ยนไม่ได้ อนันตร หมายความว่า เกิดสืบต่อ โดยไม่มีระหว่างคั่นเลย นี่คือสภาพธรรม ซึ่งใครก็เปลี่ยนแปลงไม่ได้

    เมื่อไม่รู้การเกิดดับของจิตทีละหนึ่งขณะ ก็ปรากฏให้เพียงรู้ได้ว่านิมิตของจิต ขณะนี้กระทบแข็ง แข็งปรากฏ กี่ขณะนับไม่ถ้วน เพราะฉะนั้น ก็ปรากฏนิมิตของแข็ง และจิตที่กำลังรู้แข็ง เพราะฉะนั้น ทั้งหมดที่เกิดดับสืบต่ออย่างเร็วปรากฏให้รู้ได้โดยนิมิต เจตสิกความรู้สึกเสียใจหนึ่งขณะ ไม่มีทางที่จะเดือดร้อนเลย แค่หนึ่งขณะจิตแล้วดับไป แต่เดือดร้อนมากเป็นทุกข์มากเพราะว่า ความเสียใจเกิดสืบต่อ เหมือนไม่ได้ดับไปเลย บางคนอาจจะเสียใจนานมากเลย แต่ว่าเขาไม่รู้เลยว่าขณะนั้น เป็นสภาพของเจตสิก เป็นสภาพความรู้สึกไม่ใช่จิต เพราะว่าจิตเป็นสภาพรู้แจ้งในสิ่งที่กำลังปรากฏ ซึ่งทำให้เวทนาประเภทนั้นเกิดขึ้น เสียใจ เห็นคนที่จากไป ตาย ปัจจุบันทันด่วน หรืออะไรก็แล้วแต่อะไรจะเกิดขึ้น แต่ความเสียใจ หนึ่งขณะไม่เดือดร้อน แต่พอมากๆ เข้าทนไหวไหม เป็นนิมิตของความเสียใจ ความดีใจก็เหมือนกัน

    ด้วยเหตุนี้ ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดดับสืบต่ออย่างรวดเร็ว ไม่มีใครรู้ความจริงของสิ่งนั้น เพียงปรากฏว่าสิ่งนั้นมี แต่ไม่ประจักษ์การเกิดดับ จึงหลงเข้าใจว่าเที่ยง แล้วก็เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ยั่งยืน เพราะฉะนั้น จากปรมัตถธรรม ซึ่งเกิดดับสืบต่อ ปรากฏเป็นนิมิตของแต่ละหนึ่ง

    เวลานี้จำหรือเปล่า จำเป็นเห็นหรือเปล่า ไม่ใช่ เห็นเป็นเห็น เห็นสิ่งที่กำลังปรากฏ แต่เมื่อเห็นสิ่งใดจำสิ่งที่เห็น จนกระทั่งเดี๋ยวนี้เหมือนมีคนนั้น ไม่ได้หายไปเลยสักขณะเดียว สืบต่อนั่งอยู่ตรงนี้ตลอด จะยิ้มจะพูด ก็ยังคงเป็นคนนั้นเพราะจำ จำก็สืบต่อไม่ปรากฏเลยว่าไม่ใช่เรา แต่เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งเกิดขึ้นแล้วทำอะไรไม่ได้เลยทั้งสิ้น นอกจากจำ จำเป็นจำ รู้สึกเป็นรู้สึก โกรธเป็นโกรธ โกรธ ๑ ขณะ เดือดร้อนไหม ไม่เดือดร้อน แต่โกรธจนกระทั่งรู้สึกว่า วันนี้โกรธ เพราะฉะนั้น นิมิตทั้งนั้น

    ด้วยเหตุนี้ นามธรรม และรูปธรรม จึงทรงจำแนกโดยขันธ์ บางคนก็แปลว่า กอง จะแปลว่าอะไรก็ตามแต่ ได้ทั้งนั้น ศีลขันธ์ สมาธิขันธ์ ปัญญาขันธ์ ก็อย่างหนึ่ง

    แต่ละคำ มีความหมายเฉพาะอย่าง ด้วยเหตุนี้การศึกษาธรรม จึงต้องรู้ว่า นอกจากจะเข้าใจอย่างนี้แล้ว ยังอยู่ในหมวดไหนข้อไหน กล่าวถึงเฉพาะธรรมอะไร นี่ก็เป็นเรื่องที่จะให้เราเข้าใจถูกต้อง เพราะไม่เคยเข้าใจถูกต้องเลย ถ้าไม่มีคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะเข้าใจถูกต้องได้อย่างไร

    เพราะฉะนั้น ยิ่งศึกษายิ่งรู้ความละเอียดว่า ต้องศึกษาพระธรรมด้วยความเคารพอย่างยิ่ง มิฉะนั้นถ้าเข้าใจเองผิดหมด และก็จะทำให้คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าลบเลือนด้วยความเข้าใจผิด ด้วยเหตุนี้ต้องศึกษาทีละคำ ปรมัตถธรรมถ้าไม่มี นิมิตไม่มี ถูกต้องไหม แต่เมื่อมีปรมัตถธรรม ทำไมไม่รู้จักปรมัตถธรรม เพราะเกิดดับสืบต่อจนปรากฏเพียงเป็นนิมิต สภาพที่ไม่เที่ยงก็เห็นว่าเป็นเที่ยง สภาพที่ไม่ใช่เราไม่ใช่สิ่งหนึ่งสิ่งใดเพราะอะไร เกิดแล้วดับจะเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดได้ แต่ก็หลงเข้าใจว่าเป็นดอกไม้บ้างเป็นคนบ้าง เป็นโต๊ะบ้าง เพราะนิมิต ที่เมื่อปรากฏซ้ำๆ กันสิ่งที่ปรากฏหลากหลาย ที่จะกล่าวก็คือว่า เห็นอะไร เห็นสิ่งที่ปรากฏให้เห็นได้ แต่ถ้าไม่มีธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม จะมีสิ่งที่สามารถกระทบตา และปรากฏให้เห็นได้ไหม ก็ไม่ได้ ด้วยเหตุนี้ จึงรู้ว่า สีสันวัณณะที่ปรากฏ อยู่ที่ไหน ก็อยู่ที่ธาตุดินน้ำไฟลมโดยที่ไม่รู้เลย เห็นใช่ไหม เห็นไหม ดินน้ำไฟลมหายไปแล้ว พร้อมสีที่อยู่ที่ดินน้ำไฟลมนั้น นี่แสดงให้เห็นว่าเราไม่รู้เลย สักอย่างเดียวว่า จิตแต่ละหนึ่งเกิดขึ้นรู้อะไร และสิ่งที่ไม่ใช่ธาตุรู้ไม่ใช่จิตเจตสิก ก็มีแต่ก็ไม่รู้ว่าอะไร

    ด้วยเหตุนี้การศึกษาธรรม เป็นบุญที่ได้ทำไว้แต่ปางก่อน แน่นอน ที่เป็นผู้ที่ยังเห็นประโยชน์ว่า ควรรู้ควรเข้าใจ ในเมื่อยังมีคำสอน ของผู้ที่ได้ทรงตรัสรู้แล้ว แล้วจะไม่รู้ในโอกาสที่ยากยิ่ง เกิดเป็นมนุษย์ก็ยาก

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 176
    11 มี.ค. 2567