ปกิณณกธรรม ตอนที่ 746


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๗๔๖

    สนทนาธรรม ที่ กนกรัตน์ รีสอร์ท อัมพวา จ.สมุทรสงคราม

    วันที่ ๑๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๘


    ท่านอาจารย์ แต่ว่า เดี๋ยวนี้ เมื่อวันก่อนก็ถาม ใครยังจำได้ เดี๋ยวนี้รู้ตัวหรือเปล่า ธรรมเป็นเรื่องจริงแต่ต้องฟังจนกระทั่งรู้ความต่างของการที่เราใช้คำที่เราไม่รู้ตั้งแต่เกิดจนตาย เพราะฉะนั้น คำถามนี้ ถ้าสนใจ คิดเอง ไต่ตรอง จะได้รู้ว่า รู้ตัวทั่วพร้อม ถ้าเป็นธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่จะพ้นจากปัญญาไม่มี เพราะฉะนั้น ตอนที่เรายังไม่ได้ศึกษาธรรม เราก็บอกว่า เขาทำไปโดยไม่รู้สึกตัว เขารู้สึกตัวหรือยัง ถ้าเขาสลบไป เราจะใช้คำว่า ฟื้นหรือยัง หรือว่า รู้สึกตัวหรือยังก็ได้ แต่ว่าไม่ใช่คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะถ้าเป็นคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ต้องประกอบด้วยปัญญา

    รู้สึกตัว หมายความว่ามีตัวใช่ไหม ที่เคยว่า เป็นตัว มีใช่ไหม เมื่อรู้สึกตัว หมายความว่า รู้สิ่งที่มีที่ตัว และสิ่งที่มีที่ตัว ไม่ใช่นั่ง ไม่ใช่นอน ไม่ใช่ยืน ไม่ใช่เดิน แต่กระทบตรงไหนแข็งมี อ่อนมี ร้อนมี ตึงไหวมี เพราะฉะนั้น รู้สึกตัว คือ ที่ตัวที่เคยยึดถือว่าเป็นเรา รู้สึกตรงที่มี แล้วด้วยปัญญาคือรู้ว่าขณะนั้นเป็นร้อน เป็นเย็น เป็นแข็ง เป็นอ่อน แต่ไม่ใช่เรา เพราะถ้าใช้คำว่า แข็ง จะเป็นเราไม่ได้ แข็งเป็นแข็ง ที่โต๊ะก็แข็ง กระเป๋าก็แข็ง ถ้วยแก้วก็แข็ง แล้วจะเป็นเราได้อย่างไร แข็งก็คงเป็นแข็ง ถ้าเพียงไม่มีจิต เหมือนกันหมดเลย ทำอะไรไม่ได้ กระดุกกระดิกไม่ได้ พูดไม่ได้ เดินไม่ได้ รับประทานอาหารไม่ได้ เหมือนกับรูปทั้งหมด ซึ่งเพียงอ่อนหรือแข็ง เย็นหรือร้อน ตึงหรือไหว แต่เมื่อมีจิตเกิดที่รูปนั้น รูปนั้นมีรูปอื่นที่สามารถที่จะทำให้ต่างกับเพียงธาตุดิน น้ำ ไฟลม ทั้งหมดเป็นคำสอนที่ทำให้เราค่อยๆ เข้าใจความเป็นธรรมซึ่งไม่ใช่เรา

    เพราะฉะนั้น หนทางเดียวที่จะรู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คือ ฟังพระธรรม และรู้ว่าทุกคำที่เราได้ฟัง และเข้าใจ เป็นเพราะพระมหากรุณาของผู้ที่บำเพ็ญบารมี ถึงความเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นผู้ที่เราต้องกตัญญูไหม เพราะเป็นบุพพการี ผู้ให้ความรู้ซึ่งไม่เคยรู้ในสังสารวัฏฏ์ และหนทางที่จะกตัญญูกตเวที ตอบแทนนั้นคืออย่างไร คือฟังพระธรรมด้วยความเคารพ ไม่เปลี่ยน ไม่เข้าใจผิด ไม่ทำให้คิดว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงหนทางง่ายๆ ไม่ต้องรู้อะไรก็ไปปฏิบัติแล้วก็จะบรรลุมรรคผลหมดกิเลส นั่นคือผู้ที่จะใช้คำว่า ทรยศ ได้เลย เพราะเหตุว่าผู้ใดก็ตามที่ได้รับความรู้จากใคร แล้วเปลี่ยนจากความจริงที่ได้รับเป็นอย่างอื่น ก็คือทรยศ จากคำที่ได้ยินได้ฟังแล้ว สามารถไปเปลี่ยนด้วยความไม่รู้ของตนเอง

    พระธรรมง่ายไม่ได้ เพราะว่ากว่าจะตรัสรู้ ทรงบำเพ็ญพระบารมี ๔ อสงไขยแสนกัป ซึ่งไม่ใช่ว่าทุกคนอย่างที่นั่งฟังจะเป็นสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วแต่ปัญญา แล้วแต่การสะสม แล้วแต่ศรัทธา แล้วแต่เหตุปัจจัย เพราะฉะนั้น การฟังธรรมมีหนทางเดียว ฟังด้วยความเคารพ และด้วยการไตร่ตรอง และเมื่อมีความเข้าใจถูกแล้ว คนนั้นเปลี่ยนไม่ได้ จะกล่าวคำที่ผิดจากการที่ได้เข้าใจแล้ว เป็นไปไม่ได้เลย แล้วก็จะเห็นได้ว่าทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิต ไม่มีค่าเท่ากับการได้เข้าใจความจริง ผู้นั้นยอมแลกทุกอย่างแม้ชีวิตกับการที่จะรักษาพระธรรมไหม ถ้าเป็นผู้ที่เห็นประโยชน์ กตัญญูจริงๆ รู้คุณจริงๆ ว่า กว่าจะได้ความเข้าใจ แม้ความเข้าใจว่าขณะนี้เป็นธรรม ไม่ใช่เรา แล้วคำนี้เป็นคำจริงซึ่งสามารถที่จะรู้ความจริงถึงที่สุดได้ ดับความไม่รู้ ดับกิเลสทั้งหมดได้ แล้วลองคิดดู กิเลสมีมานานแสนนาน แล้วก็กิเลสให้โทษมาตลอดทุกชาติ จะรู้หรือไม่รู้ สิ่งที่เป็นโทษทั้งหลายก็เป็นเพราะกิเลสทั้งนั้น แล้วจะหมดสิ่งที่เป็นโทษ ไม่เหลือเลย ด้วยใคร ก็ด้วยพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ทรงบำเพ็ญพระบารมี ให้เราได้เกิดความเห็นที่ถูกต้อง

    เพราะฉะนั้น จะรักษาคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คือศึกษาด้วยความเคารพ ด้วยความเข้าใจที่ไม่เปลี่ยน ให้คำสอนของพระองค์กลายเป็นสิ่งซึ่งไม่จริง ไม่ถูกต้อง และกลายเป็นสิ่งที่ง่าย โดยการที่ว่าไม่ต้องศึกษาก็ปฏิบัติได้ นั่นเป็นคำประมาทอย่างยิ่ง และก็เป็นคำที่จะไม่มีวันที่จะรู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เลย ถ้าคิดว่าไม่ต้องเรียน ไม่ต้องฟังพระพุทธพจน์ ก็ปฏิบัติได้ แล้วก็คิดว่าปฏิบัติแล้วจึงรู้ได้ ก็ผิดหมด เพราะฉะนั้น ก็ไม่ใช่เป็นผู้ที่รู้คุณ ไม่เป็นผู้ที่กตัญญูกตเวที ตามความเป็นจริงก็คือว่า ผู้ที่ไม่เข้าใจธรรม

    ผู้ฟัง เมื่อกี้ท่านยกตัวอย่าง เรื่องของการรู้สึกตัว บางทีเราพูดว่า เราเมื่อยแล้วคัน ตรงนี้แล้วมันรู้สึกตัวอย่างไร หรือว่าขณะนั้นมีความคิดเกิดขึ้นด้วย

    ท่านอาจารย์ ธรรมไม่ต้องเรียกอะไรก็ได้ ก็มี อย่างเวลาเมื่อยไม่ต้องเรียกว่าเมื่อย ก็เมื่อย เมื่อยเป็นความรู้สึกหรือว่าเป็นแข็ง

    ผู้ฟัง เมื่อยก็เป็นความรู้สึกเมื่อย

    ท่านอาจารย์ เป็นสุขไหมเวลาเมื่อย ไม่สุข ถ้าไม่มีร่างกายจะเมื่อยไหม

    ผู้ฟัง ถ้าไม่มีร่างกายก็ไม่เมื่อย

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น เป็นทุกข์กาย อาศัยกายจึงเมื่อยใช่ไหม ใช่ เพราะฉะนั้น เป็นสิ่งที่มีจริง คุณวีระบอกว่า เพราะมีกาย อาศัยกายจึงเมื่อย เพราะฉะนั้น กาย ไม่ใช่เรา กายเป็นกาย ทุกคำต้องเปลี่ยนไม่ได้เลย อาศัยกาย กายคือเย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็ง บอกว่าเย็น เย็นจะเป็นเราไม่ได้ เย็นเป็นเย็น แข็งเป็นเราไม่ได้ เพราะฉะนั้น ทั้งหมดเป็นธรรม กว่าจะรู้ว่า เป็นธรรมแต่ละหนึ่ง ซึ่งเกิดดับ ไม่ใช่เรา พระผู้มีพระภาคทรงบำเพ็ญพระบารมี ๔ อสงไขยแสนกัปที่จะรู้ และก็ตรัสความจริงให้เราฟัง

    เพราะฉะนั้น กว่าเราจะฟังเข้าใจ จนกว่าเป็นธรรมทั้งนั้น ไม่ว่าขณะไหน เมื่อไร ลักษณะไหน อย่างที่พระองค์ได้ทรงตรัสรู้ และทรงแสดงว่าทุกอย่างเป็นอนัตตา เป็นธรรมซึ่งไม่ใช่เรา เพราะฉะนั้น แข็งไม่ใช่เราแน่ แข็งตรงไหนก็คือแข็ง ไม่ต้องเรียกว่าแข็ง แข็งก็แข็ง คือต้องตรงจริงๆ เมื่อยเป็นเมื่อย แล้วจะสงสัยอะไร ในเมื่อยเกิดเป็นเมื่อยไม่ใช่เรา ที่สำคัญก็คือว่าเรารู้จักเมื่อย แต่เมื่อยเป็นเรา แต่ไม่รู้ตามความเป็นจริงว่า เมื่อยที่มี ไม่มีใครไปบันดาลให้เมื่อยเกิด หรือว่าไม่ให้เมื่อย มีปัจจัยแล้วก็หายเมื่อยก็ได้ เมื่อไม่มีปัจจัยที่จะให้เมื่อยต่อไป เพราะฉะนั้น ทุกอย่าง ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใคร เพื่อถึงความเป็นอนัตตา

    เพราะฉะนั้น ให้ทราบว่าทุกคำที่ได้ยินตั้งแต่คำแรก ของทุกวัน ของทุกชาติ เพื่อที่จะได้ถึงความเข้าใจถูกต้องว่า ธรรมทั้งหมดเป็นอนัตตา เพราะเราฟังแล้วเราก็ลืม เราคุ้นเคยกับการไม่รู้ และการจำว่าเป็นเรานานแสนนานมาก เพราะฉะนั้น กว่าจะหมดเกลี้ยงไม่เหลือเลย ไม่ว่าจะกำลังโกรธ กำลังเมื่อย กำลังง่วงกำลังขยัน กำลังอะไรทั้งหมด เดี๋ยวนี้ทั้งหมด สามารถที่จะปรากฏให้รู้ว่า เป็นธรรม เมื่อได้ฟัง และเข้าใจขึ้น นี่คือภาวนาหมายความว่า ให้สิ่งที่ยังไม่เกิดเกิดขึ้น ต้องเป็นสิ่งที่ดี เพราะไม่มีใครต้องการให้สิ่งที่ไม่ดีเกิด เพราะฉะนั้น ภาวนาอบรมความเห็นถูก ความเข้าใจถูกให้ค่อยๆ เพิ่มขึ้น สิ่งที่เกิดแล้วก็ให้มีมากขึ้น จนกระทั่งสามารถที่จะรู้ความจริง คือการเกิดขึ้น และดับไป ซึ่งเป็นสิ่งที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้แล้ว และทรงแสดงธรรมให้คนอื่นได้อบรมปัญญา จนกระทั่งรู้ตามความเป็นจริง จึงเป็นสาวก เป็นพระรัตนตรัย นอกจากพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระธรรม และแล้วก็ยังมีพระสาวกด้วย คุณวีระมีตัวไหม

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ มีก็ต้องว่ามี เพราะยังไม่ถึงความรู้ว่า ไม่มี ต้องตรง ยังไม่ถึงความรู้ว่าไม่มี เพราะฉะนั้น ก็ยังต้องมีอยู่ แต่ว่าผิด เพราะฉะนั้น ฟังพระธรรมเพื่อเข้าใจว่า ที่เข้าใจว่ามีนั้น ถูกไหม ความเป็นผู้ตรง ถึงจะได้สาระจากพระธรรม

    ผู้ฟัง ตอนนี้ก็ยังไม่สามารถที่จะอนัตตาได้

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง แต่กำลังฟังให้เข้าใจความจริง แต่จะเข้าใจได้ขั้นไหน แค่ไหน ก็แล้วแต่ว่า ฟังแล้วมากหรือน้อย พอที่จะละการยึดถือว่าเป็นตัว นานแสนนาน กี่อสงไขยแสนกัป เกิน ๔ อีก เข้าใจว่ามีเรามานานอย่างนั้น แล้วจะให้ฟังนิดเดียวแล้วบอกว่า ไม่มีตัวนี้ ได้หรือ เพราะกำลังเป็นเราฟัง จนกว่า ไม่มีเราเลย เป็นไปได้แน่นอน มิฉะนั้นจะไม่มีการดับกิเลส เพราะว่าทั้งหมด มาจากความไม่รู้ทั้งหมด ซึ่งเป็นกิเลส

    เพราะฉะนั้น คุณวีระ กำลังสนใจคำว่า รู้สึกตัว ได้ยินคำนี้ ความรู้ยังไม่พอ ต้องเหมือนเดิมที่ว่า พอใครเขาถามเราว่า รู้สึกตัวไหม รู้สึกตัวหรือยัง เราตอบเขาเลย รู้สึกตัวแล้ว เมื่อมีความไม่รู้จึงอบรมความรู้ เมื่อมีความเห็นผิดจึงฟังเพื่อให้เข้าใจถูก ที่เคยเข้าใจว่า เป็นตัว อะไรเป็นตัว ความจริงต้องเป็นความจริงที่ตรง และละเอียด และไม่เปลี่ยน เพราะฉะนั้น คุณวีระมีตัวใช่ไหม

    ผู้ฟัง มีตัว

    ท่านอาจารย์ แต่ความไม่รู้บอกไม่ได้ว่าเลยอะไรเป็นตัว ความไม่รู้บอกไม่ได้ว่าอะไรเป็นตัว มีแค่ความจำว่ามี แต่ไม่รู้ว่าอะไรเป็นตัว คุณวีระมีฟันไหม

    ผู้ฟัง มีฟัน

    ท่านอาจารย์ เมื่อไร

    ผู้ฟัง เมื่อเอาลิ้นไปถูก

    ท่านอาจารย์ เห็นอัตตสัญญาไหม ความจำ ตั้งแต่แม้มีฟัน แล้วก็ไม่มีฟัน แล้วก็ไปเห็นฟันในกระจก ทุกอย่างเป็นอัตตาหมด คือเป็นฟัน และเป็นเรา และเป็นฟันของเราด้วย ไม่พ้นไปเลย ไม่ว่าจะคิดแบบไหน ซ้ายขวาวนไปเวียนมา ก็ไม่พ้นจากเรา

    ผู้ฟัง ตอนนี้ นึกถึงความคิด ก็เรียกว่า รู้สึกตัว

    ท่านอาจารย์ รู้สึกตัวตามภาษาที่ไม่รู้จักคำที่เราพูด เพราะว่าตัวก็ไม่รู้ว่าอะไร แล้วยังมีรู้สึกตัวก็ไม่รู้ แต่ใช้คำว่า รู้สึก ตัวหมายความว่าอย่างไร รู้สึกตัว

    ผู้ฟัง คิดถึงคำว่า เมื่อย แล้วก็รู้สึกว่า ขณะนี้คิดถึงคำว่า เมื่อย

    ท่านอาจารย์ ขณะที่เมื่อย มีตัวหรือเปล่า เรายังไม่ได้เข้าใจถูกว่า เมื่อยเป็นเมื่อย จะเป็นตัวได้อย่างไร กว่าจะรู้ จนกระทั่งว่า ไม่มีตัว ไม่มีเรา ต้องอาศัยการฟัง ไตร่ตรอง ค่อยๆ ไปละการจำที่เคยจำไว้ว่าเป็นเรา ทุกอย่าง ยึดว่าเป็นเรา แม้ไม่ปรากฏก็ยังจำว่าเป็นเรา อย่างบางคนเขาบอกว่า รูปนั่ง รูปนั่งมีไหม รูปนั่งไม่มี แต่เขาก็ยังจำ ตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า นี่คือคนทั่วไปไม่รู้ ไม่อย่างนั้นจะมีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าหรือ และความคิดของคนที่ไม่ได้ฟังพระธรรม ก็คิดอย่างหนึ่ง แต่คนที่ฟังพระธรรมเริ่มเข้าใจพระพุทธเจ้า เริ่มรู้จักพระพุทธเจ้าว่า พระองค์ตรัสรู้อะไร

    ผู้ฟัง ตรงนี้เป็นเรื่องที่ละเอียดจริงๆ

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง ต้องเป็นเรื่องการสนทนา และต้องเป็นเรื่องจริงใจ สัจจะ และต้องเป็นเรื่องที่ตรง เพราะตรัสไว้เลยว่า ผู้ที่ตรงเท่านั้นที่จะได้สาระจากพระธรรม เพราะธรรมตรง เหตุกับผลต้องตรงกัน ความจริงต้องเป็นความจริง ความจริงจะเป็นความเท็จไม่ได้ อกุศลเป็นอกุศล จะมารวมกับกุศลไม่ได้

    ผู้ฟัง แต่ความคิดที่ว่าเป็นตัวตน มันก็คืออกุศล

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง

    ผู้ฟัง เพราะว่าเป็นมิจฉาทิฏฐิ

    ท่านอาจารย์ ค้านกับพระธรรม ปัญญามีหลายขั้น ตั้งแต่อันธพาลปุถุชน ไม่รู้อะไรเลย เหมือนเดิม ไม่มีการฟัง ไม่มีการเข้าใจถูก จนกระทั่งได้ยินได้ฟังแล้ว เป็นกัลยาณปุถุชน รู้ว่าสิ่งใดถูก สิ่งใดจริง ไม่ใช่เท่านั้น อบรมหนทางที่จะรู้จริงยิ่งขึ้นจนกระทั่งเป็นพระอริยบุคคล เป็นพระโสดาบัน ไม่ใช่พระอรหันต์ ต้องตามลำดับขั้นของปัญญาที่เจริญขึ้นๆ ก็ดับกิเลสไปตามประเภท จนกระทั่งดับหมด ไม่ใช่ว่าดับทีเดียวได้หมด

    เพราะฉะนั้น การฟังขณะนี้ เพื่อเข้าใจถูก จากที่ไม่เคยฟังมาก่อน ไม่มีโอกาสจะได้เข้าใจถูกเลย ถ้าไม่ได้ยินได้ฟัง คิดว่าถูก คิดเองหมด หรือไม่ก็คนโน้นบอกว่าอย่างนี้ คนนี้บอกว่าอย่างนั้น เชื่อโดยไม่ไตร่ตรอง เพราะไม่เคยได้ฟังพระธรรม ถึงฟังแล้วก็เป็นผู้ประมาท ไม่ได้เข้าใจว่า ความจริงคืออย่างไร เช่น ธรรมคือสิ่งที่มีจริง มีจริงเมื่อเกิดขึ้น เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ต้องดับไป ความเข้าใจอย่างนี้จะไปสอดคล้องกับคำอื่นๆ เช่น คำว่า ขันธ์ แสดงให้เห็นว่า แม้ว่าเป็นสิ่งที่มีจริง แต่หลากหลายมาก เพราะฉะนั้น ย่อลงมาให้รู้ว่า เรายึดมั่นอะไรในชีวิต ตั้งแต่เกิด มาติดข้องในรูปแล้ว เกิดมาก็เห็นจะไม่ให้ติดข้องในสิ่งที่เห็นได้อย่างไร ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในการสัมผัส ติดข้องอยู่แค่ ๕ ขันธ์ ไม่พ้นไปจากขันธ์ทั้ง ๕ เลย คิดก็เป็นเรา โกรธก็เป็นเรา ทุกอย่างไม่เว้น ทั้งจิต ทั้งเจตสิก ทั้งรูป ยึดถือหมด ด้วยความไม่รู้

    เพราะฉะนั้น การฟังธรรมก็คือว่าฟังเพื่อเข้าใจถูกก่อน ยังไม่ได้ดับความเป็นเราเลย เพราะว่าความรู้แค่นี้ยังไม่ได้รู้ตัวธรรมจริงๆ ซึ่งเกิดดับ ขณะนี้รู้แต่เพียงสิ่งที่จิตรู้ เพราะจะเกิดขึ้นต้องรู้ จิตเห็น เห็นแล้วจิตคิด เพราะฉะนั้น เราก็สนใจในสิ่งที่ปรากฏเพราะจิตกำลังรู้สิ่งนั้น แต่ว่าตัวจิตซึ่งกำลังเกิดดับไม่รู้เลย ซ่อนสนิทอยู่ข้างหลัง อีกโลกหนึ่ง ซึ่งถ้าเป็นโลกนั้น ก็ต้องต่างกับโลกที่เป็นสิ่งที่จิตรู้ และปรุงแต่งจนเป็นสิ่งต่างๆ ความจำต่างๆ แต่ขณะนั้นจะไม่มีอะไรเลยนอกจากธาตุรู้ ซึ่งกำลังรู้สิ่งที่เพียงปรากฏแต่ละอย่าง แสนสั้น

    เพราะฉะนั้น เห็นความละเอียดว่า เราฟังธรรมเท่าไร และเราไม่รู้เท่าไร เทียบกันได้ไหม ในแสนโกฏกัป ยากมาก ก็คือกำลังสรรเสริญพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในพระปัญญาคุณ ในพระบริสุทธิคุณ ในพระมหากรุณาคุณ ถ้าใครว่าง่าย ไม่รู้จักพระพุทธเจ้า ได้ฟังว่า เห็นเกิดแล้วดับ รับรองว่าถูกต้อง แต่ยังไม่ใช่ปฏิปัตติ ยังไม่ใช่ปฏิเวธ เป็นแต่เพียงการเริ่มฟังคำของพระพุทธเจ้า ที่ได้ยินคำว่า ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ ปริยัติไม่ใช่ฟังเรื่องอื่นเลย ฟังพระพุทธพจน์ และใครก็ตามที่ฟังพระพุทธพจน์เพื่อจำ เพื่อสอบ ไม่ใช่ปริยัติ เพราะเหตุว่า ปริยัติ คือความรอบรู้ในพระพุทธพจน์ รอบรู้ ต้องทีละคำ อย่างคำว่า ธรรม ต้องเป็นธรรมเพราะมีจริงๆ ปรากฏว่ามีจริงๆ จะบอกว่าไม่มีได้อย่างไร ฝันมีจริงไหม ฝันมีจริง เพราะฝันคือจิตที่คิด แต่ว่าฟังนานเท่าไรแล้ว

    เพราะฉะนั้น ไม่ต้องหวังเลยว่า จะรู้แจ้งความจริงเมื่อไร เพราะเป็นอนัตตา ยิ่งหวัง ยิ่งรอ เครื่องเนิ่นช้า เป็นไปไม่ได้ที่จะหวัง ปัญญาระดับนั้นสูงแค่ไหน รู้แจ้งแค่ไหน เป็นวิปัสสนาญาณแต่ละขั้นแค่ไหน แต่กว่าจะถึงอย่างนั้น ปฏิปัตติยังไม่มีเลย เพราะแค่ปริยัติยังไม่รอบรู้เลย แล้วจะไปเป็นเหตุที่จะให้เกิดปฏิปัตติได้อย่างไร เพราะเป็นอนัตตา ไม่มีใครไปทำ

    ผู้ฟัง ถึงท่านอาจารย์บอก ผมนึกว่า เห็นเท่านั้น คือมันก็ไม่เห็นเท่านั้น เราก็บอกว่า รู้ทั่ว พอเห็นเท่านั้น เห็นเท่านั้น ไม่ใช่รู้ทั่ว มันจะต้องคิดอะไรต่ออะไร เพราะลืมไปแล้ว ไปคิดอีก

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ฟังธรรมเพื่อจะทำ พอบอกว่ารู้สึกตัว ก็จะรู้สึกตัว แต่เพื่อเข้าใจว่า เราเข้าใจคำว่า รู้สึกตัว แค่ไหน ก่อนฟังเรารู้สึกตัวอย่างหนึ่ง แต่พอฟังแล้ว การรู้สึกตัวในทางธรรมต้องเป็นปัญญา ที่เข้าใจว่าเป็นตัว ไม่ใช่ตัว ก่อนฟังธรรมมีตัว พอได้ยินคำว่า รู้สึกตัว ปัญญาไม่พอที่จะเข้าใจในความเป็นอนัตตา ความเป็นตัวก็ทำให้จะรู้สึกตัว พอได้ยินก็จะรู้สึกตัว เพราะความเป็นตัวตน

    ผู้ฟัง จริงๆ ก็คือได้ยินเท่านั้นเอง

    ท่านอาจารย์ แล้วก็ยังมีความเป็นตัวตน และยังมีความเห็นผิดด้วย

    ฟังธรรมแล้วไม่ได้หมดความเห็นผิดเลย แม้เข้าใจหนทางแล้วก็มีคำว่า สีลพตปรามาส ลูบคลำข้อประพฤติปฏิบัติที่ผิด เพราะยังไม่ได้ดับความเห็นผิด เพราะฉะนั้น ได้ช่องเมื่อไรความเห็นผิดก็เกิดเมื่อนั้น เพราะฉะนั้น ไม่หวัง แต่เข้าใจขึ้น เข้าใจอะไร เข้าใจสิ่งที่เคยว่าเป็นตัวนั่นแหละ เพราะฟังแล้ว จึงรู้ว่าที่เคยยึดถือว่าเป็นตัวนี้ เป็นแต่ละหนึ่งจริงๆ เดี๋ยวแข็ง เดี๋ยวโกรธ อยู่ที่ตัวทั้งนั้น แล้วแต่ว่าจะเป็นรูปธรรมหรือนามธรรม

    ผู้ฟัง ถ้าอย่างนั้นเวลาเราง่วงนอน ฟังแล้วง่วงนอน แล้วหยิกตัวเราเองให้รู้สึก

    ท่านอาจารย์ คุณวีระ ทราบไหมว่า ทั้งหมดนั้น ปัญญาต้องรู้ทุกอย่าง แม้แต่หยิกก็จริง เป็นธรรมหมด ไม่ใช่เรา กว่าจะหมด ถ้าเข้าใจขึ้นๆ ๆ นั่นเป็นหนทางเดียว แต่ไม่ใช่ไปทำ ความจริง ถ้าดูในอริยสัจ ๔ สมุทัยนี่คือ โลภะ ซึ่งต้องละ แต่คนมองไม่เห็นโลภะเลย โลภะพาไปทุกอย่าง โดยไม่รู้ตัว ว่านั่นแหละ โลภะพาไป พาไปสำนักปฏิบัติ ไปทำไม ไม่ได้มีปัญญา ไม่ได้รู้ว่า เดี๋ยวนี้จะสภาพธรรมกำลังเกิดดับ แล้วไปแล้วจะได้อะไร แต่โลภะฉลาดเสมอ พาไปแล้ว ไม่รู้ตัวเลย เพราะไม่เห็นโลภะ

    เพราะฉะนั้น วันนี้ก็เป็นวันที่คุณวีระเปิดใจ แต่ว่าไม่ใช่ใจคุณวีระคนเดียว ทุกใจ ใจของทุกคนเป็นอย่างนี้เหมือนกัน ไม่ใช่คุณวีระคนเดียว เทียบเวลาของการที่ได้ฟังพระธรรมแล้วก็ลืม กับเวลาที่กิเลสเพิ่มขึ้นตลอดเวลา เราจะประมาทไหมที่จะไม่ฟังสิ่งที่เรารู้ว่า ถ้าไม่ฟังไม่มีทางรู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแน่นอน จะไม่เห็นพระปัญญาคุณ พระบริสุทธิคุณ และพระมหากรุณาคุณ ซ้ำแล้วซ้ำอีก ซ้ำแล้วซ้ำอีก ทุกแห่งที่เสด็จไป ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ คำในที่พระสูตรหนึ่งก็ไปซ้ำอีกสูตรหนึ่ง ในที่ต่างๆ กัน ข้อความเดียวกัน เพื่อให้ไม่ลืม เพื่อให้เข้าใจขึ้น เพราะโอกาสที่จะได้ยินได้ฟังพระธรรมน้อย และยากมาก

    อ.อรรณพ ไม่น่าเชื่อว่า จะอยู่มาด้วยความไม่รู้ถึงขนาดนี้ ที่เราคิดว่ามีเรา เพราะหาจริงๆ เข้า ก็ไม่รู้เลยว่า จริงๆ แล้วที่ว่า เป็นตัว เป็นตัว อะไรเป็นตัวกันแน่

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่ได้ฟังพระธรรมจะไม่รู้ว่า ไม่รู้ระดับไหน ขนาดไหนเลย มืดสนิทก็ไม่รู้

    อ.อรรณพ ก็ยังห่างไกลกับการรู้สึกตัว

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น รู้สึกตัวหลังจากที่ได้ฟังธรรมแล้ว มีคำว่า รู้สึกตัวทั่วพร้อม หมายความว่า ไม่เลือกเลย แล้วแต่อะไรที่ตัวที่มีระลึกได้หมด

    อ.อรรณพ รู้สึกตัวทั่วพร้อมนี่ ก็คือ รู้ว่าเป็นธรรมที่ไม่ใช่ตัว

    ท่านอาจารย์ ก็รู้ว่ามีสภาพธรรมนั้นๆ กว่าจะเข้าใจว่า ไม่ใช่เรา

    อ.อรรณพ ที่ว่ารู้สึกตัวนี้ไม่ได้หมายความว่า มีตัว แต่รู้สึก คือ มีปัญญาที่จะรู้ว่าเป็นความจริงแต่ละอย่างซึ่งไม่ใช่เรา

    ท่านอาจารย์ ถ้ารู้สึกตัวแบบไม่มีปัญญา ก็เหมือนเดิม แต่ถ้าเมื่อฟังธรรมแล้ว รู้สึกตัวทั่วพร้อม หมายความว่า มีสิ่งที่มีที่ตัว แล้วก็รู้ที่ลักษณะของสภาพธรรมนั้น

    อ.อรรณพ เวลาที่เขาไปเข้าสำนักกัน เขาก็บอกว่า เพื่อไปทำความรู้สึกตัว ว่าจะเดินอย่างไร ให้รู้ว่ากำลังเดิน กำลังยืน กำลังหายใจเข้าออก หรือกำลังอะไรก็แล้วแต่

    ท่านอาจารย์ ต้องเป็นเรื่องที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง ถ้าเป็นผู้ที่ตรง ที่จะรู้แม้แต่จุดประสงค์ของการไปว่า ไปทำไม ไปเพื่ออะไร พระธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเพื่อเข้าใจถูก เพราะฉะนั้น ถ้าได้ยินได้ฟังแล้วก็พิจารณาไตร่ตรอง ถ้าเป็นสิ่งที่ถูกต้องตามที่ได้ฟัง คำนั้นก็เป็นคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะฉะนั้น ไม่ว่าเราจะทำอะไร เราก็คงต้องมีจุดประสงค์ว่า เพื่ออะไร

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 176
    14 มี.ค. 2567