ปกิณณกธรรม ตอนที่ 739


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๗๓๙

    สนทนาธรรม ที่ บ้านมิ่งโมฬี จ.ราชบุรี

    วันที่ ๑๐-๑๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๘


    ท่านอาจารย์ ถึงแม้ว่าจะยังไม่มีความเข้าใจธรรมพอที่จะละความยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน แต่ก็ยังต้องรู้ว่า ควรเว้นสิ่งที่ไม่ดี อย่างชาวบ้านเขาก็พอรู้ใช่ไหม อย่างคนที่อาจจะไม่มีใครบอกเขา

    แต่จากการอบรมตั้งแต่วัยเด็ก เขาก็เห็นคุณของพ่อแม่ เพราะฉะนั้น ความกตัญญูของแต่ละคน ก็สืบเนื่องมาจากการสะสมของชาติก่อนๆ ด้วย และก็สิ่งแวดล้อมด้วย แต่ว่าถึงจะดีอย่างไร ก็ไม่รู้ว่า ไม่ใช่เรา นี่คือการที่จะมีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นที่พึ่ง เพราะเหตุว่า เว้นไม่ทำทุจริตกรรมบางขณะ แล้วก็ทำกุศลกรรมบางขณะ แต่ที่จะชำระจิตให้บริสุทธิ์จากความเห็นผิด ความติดข้อง มีไม่ได้เลย ถ้าไม่มีการฟังพระธรรม โดยความเคารพอย่างยิ่ง ในความละเอียดอย่างยิ่งว่า ขณะนี้ ไม่รู้จักสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ทุกคน แล้วก็ยึดถือว่าเป็นเราด้วย นอกจากเป็นเราก็เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดทั้งหมด จนกว่าจะรู้ค่อยๆ ฟัง แล้วรู้ว่าขณะนี้ที่เห็น มีได้ยินก็มี เผินๆ ง่ายๆ ขั้นต้นก็คือว่า เห็นไม่ใช่ได้ยินแน่ เพราะฉะนั้น ถ้าลึกลงไปอีกนิดหนึ่ง เห็นต้องเกิด จึงเห็น และขณะที่ได้ยิน เห็นต้องดับ มิฉะนั้นจะมีได้ยินไหม เพียงเท่านี้ก็เริ่มเป็นผู้ที่มีเหตุผลที่จะรู้ว่า ความจริงเป็นอย่างนี้ ก่อนนี้ไม่มีใครเคยบอกเรื่องเห็นเกิดดับ ได้ยินเกิดดับ แต่เดี๋ยวนี้เพียงแค่ฟัง เห็นก็กำลังเห็น ได้ยินก็กำลังได้ยิน แล้วเป็นอย่างที่พูดหรือเปล่า แม้ว่าเพียงแค่ขั้นต้นที่จะรู้ว่าจิตที่บริสุทธิ์ จะบริสุทธิ์จากอะไรก่อน เพราะกิเลสมากเหลือเกิน ก็ต้องบริสุทธิ์จากความไม่รู้ในสิ่งที่กำลังปรากฏ จนยึดถือทุกอย่างที่ปรากฏมานานแสนนานนับไม่ถ้วน ว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด แล้วก็เป็นเราด้วย เวลาที่จุดก้านธูป ก้านธูปซึ่งถูกจุดแล้ว แล้วก็มีแสงไฟเกิดขึ้น แล้วก็แกว่งให้เป็นวงกลม หรือจะเป็นรูปอะไรก็ได้ เหมือนแสงไฟไม่ได้ดับไปเลย เหมือนขณะนี้ จิตก็กำลังเกิดดับสืบต่อ ใครรู้เพราะปรากฏเหมือนไม่ได้ดับไปเลย เร็วมาก ไม่ปรากฏร่องรอยใดๆ เลยทั้งสิ้น

    พราะฉะนั้น เริ่มรู้สึกตัวไหมว่า อยู่ในโลกของมายา เหมือนมายากลเลย จิตเกิดดับสืบต่อ รวดเร็วจนกระทั่งปรากฏเป็นสิ่งต่างๆ เป็นธงชาติอยู่ข้างนอกประตู เป็นต้นไม้ เป็นถนน เป็นเก้าอี้ เป็นคน แล้วก็เป็นเรา กว่าจะรู้ความจริงว่าเป็นธรรมทั้งหมด ไม่เว้นเลย เราก็ไม่มี แต่ก็เป็นธรรมแต่ละหนึ่งๆ ซึ่งหลากหลายมาก

    เพราะฉะนั้น ก็แสดงให้เห็นว่าการฟังไม่ว่าจะฟังพระสูตร หรือว่าพระอภิธรรม หรือว่าพระวินัย ทั้งหมดเพื่อเข้าใจสิ่งที่มี พระวินัยก็ เป็นเรื่องของกายวาจา แล้วใครบ้างไม่มีกายวาจา แล้วก็ชีวิตของบุคคลในครั้งอดีต ที่ได้ฟังมา หลากหลายมาก ชีวิตในอดีตของท่านพระอานนท์ ในอดีตของท่านพระสารีบุตร ในอดีตของท่านพระมหาโมคคัลลานะ ไม่ว่าจะเกิดเป็นใครในชีวิต อย่างไรมาแล้ว ไม่กลับ เป็นอย่างนั้นได้อีกเลย มีแต่เป็นเกิดขึ้นเป็นแล้วก็ไป

    ความเป็นไปของธรรม คือ ธมฺมตา ที่ต้องเป็นอย่างนี้ จะเปลี่ยนไม่ได้ จะให้ย้อนกลับมาเป็นอย่างนั้นอีกก็ไม่มีทางที่จะเป็นไปได้เลย จากโลกนี้ไปแล้วจะกลับมาเป็นคนนี้อีกก็ไม่ได้ แล้วจะเป็นอะไรก็ไม่รู้ จนกว่าจะถึงเวลานั้น เหมือนกับชาติก่อน ว่าเราก็ไม่รู้ว่าจะเป็นคนนี้ ตั้งแต่เกิดมาจนถึงที่นี่เดี๋ยวนี้ ขณะนี้ แต่ก็ต้องตามเหตุตามปัจจัย ซึ่งเกิดขึ้นเป็น และไป

    เพราะฉะนั้น ใน ๒๐ พรรษาแรก พระผู้มีพระภาคไม่ได้ทรงบัญญัติสิกขาบท เพราะเหตุว่าผู้ที่บวชในครั้งนั้น เห็นประโยชน์ที่จะสละอาคารบ้านเรือน อบรมเจริญปัญญาในเพศบรรพชิต ซึ่งสำหรับผู้ที่สะสมมาแล้ว สบายมาก สะดวกมาก แต่สำหรับผู้ที่ไม่มีอัธยาศัยใหญ่ ไม่ได้สะสมมา ที่จะสามารถเป็นไปได้ถึงกับสละอาคารบ้านเรือน ญาติพี่น้องวงศาคณาญาติ ความรื่นเริงสนุกสนานทุกอย่าง ที่มีเพราะ เห็นว่าเป็นเรื่องลำบาก เป็นเรื่องยุ่งยาก รู้ไหมพระผู้มีพระภาค ไม่ตรัสว่า ทุกขณะยุ่งยากลำบาก เพราะต้องแสวงหา ทุกขณะ ตั้งแต่ลืมตา แค่ลืมตา ไม่แสวงหาต่อไปได้ไหม ไม่ลุกขึ้นได้ไหม ไม่ทำอะไรอะไรได้ไหม ไม่ได้เลย

    แล้วใครที่ทรงแสดงธรรมโดยละเอียดอย่างยิ่ง กว่าจะได้รู้ความจริงว่า ที่ได้ทรงตรัสรู้ ด้วยพระมหากรุณา ที่จะทรงแสดงโทษของสิ่งที่เป็นโทษจริงๆ คือ กิเลส และประโยชน์ของกุศลจริงๆ แม้เพียงเล็กน้อย ว่าควรละบาปทั้งปวง และก็เจริญกุศลทุกประการ และก็ชำระจิตให้บริสุทธิ์ กว่าจะถึงแต่ละขั้นๆ ได้ ก็ลองคิดดู ตามความเป็นจริงว่า เราอยู่ตรงไหน ในสังสารวัฏฏ์ แสนนานมาแล้วเกินแสนโกฏิกัปป์ด้วยความไม่รู้ ด้วยการยึดถือเป็นเราตั้งแต่เกิด จนกว่าจะได้ฟังพระธรรม และถ้ายังคงยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นเรา ยังไม่รู้ความจริงก็จะเกิดอีกนานเท่าไร ก็ตามเหตุตามปัจจัย

    เพราะฉะนั้น สำหรับผู้ที่ยังไม่เห็นความลำบาก ความยากของการที่จะ ต้องอยู่ไปในฐานะของคฤหัสถ์ มีอัธยาศัยที่สะสมมาแล้ว ก็สละอาคารบ้านเรือน ด้วยความสะดวกสบายใจ มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นตัวอย่าง พระองค์มีพร้อมที่จะถึงความเป็นพระมหาจักรพรรดิ ไม่ใช่พระราชาธรรมดา แต่ถึงความเป็นพระมหาจักรพรรดิ ยิ่งใหญ่กว่าใคร แล้วก็ทุกอย่างที่มีก็ดีประเสริฐเลิศ เหนือบุคคลใดทั้งสิ้น

    แต่อัธยาศัยที่สะสมมาถึงความเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สละทุกอย่างหมด เพราะเห็นประโยชน์ของการที่จะไม่มีอะไรเลย ไม่มีอะไรเลยนี่ดีไหม ดีหรือเปล่า ไม่มีอะไรเลย สมบัติไม่มี บ้านช่องก็ไม่มี ถ้วยจานชามสวยๆ ก็ไม่มี แต่มีที่สำหรับรองรับอาหาร ซึ่งก็เป็นเพียงบาตรใบเดียวด้วย ไม่ใช่หลายใบ ไม่ใช่อาหารคาวใบหนึ่ง อาหารหวานอีกใบหนึ่ง ไม่ใช่เลย ใบเดียวนั่นแหละ พอไหมจริงๆ เพราะว่าเกิดมาต้องรับประทานอาหาร และเมื่อมีที่สำหรับใส่อาหารพอที่จะรับประทานได้ พอไหม ดีออก ไม่ต้องมีหลายใบ มีหลายใบ ล้างหลายใบ เก็บหลายใบ ที่เก็บก็ไม่พอ บางบ้านจะต้องสร้างบ้านอีกหลังหนึ่งสำหรับเก็บสิ่งของต่างๆ ลำบากไหม แล้วต้องแสวงหาด้วย มีอะไรก็ต้องแสวงหาทั้งนั้นเลย เพราะฉะนั้น ต่างคนก็ต่างสะสมมา ในการที่จะมีโอกาสได้ฟังพระธรรม ได้ไตร่ตรองได้เข้าใจตนเอง ตามความเป็นจริง

    เพราะฉะนั้น พุทธบริษัท ไม่ได้มีแต่ภิกษุ ตามความเป็นจริง มีทั้งคฤหัสถ์ อุบาสก อุบาสิกา ในครั้งนั้นก็มีภิกษุ และภิกษุณีด้วย ตามอัธยาศัย เพื่อถึงความเป็นพระอรหันต์ เพราะเหตุว่าคฤหัสถ์ ก็สามารถที่จะรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง เป็นพระโสดาบัน ดับกิเลสที่เข้าใจผิดว่าสภาพธรรมขณะนี้ไม่ได้เกิดดับ เข้าใจผิดว่าทุกอย่างที่มีเป็นเรา หรือว่าเป็นของเรา หรือว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด กว่าปัญญาจะฟังจนกระทั่งเข้าใจ ในความเป็นอนัตตา ต้องเป็นอนัตตาโดยตลอด ถ้าเป็นผู้ที่มั่นคงจริงๆ ในคำสอนที่ประเสริฐที่สุด เพราะเหตุว่าความจริงถึงที่สุด ไม่เจือปนด้วยความเห็นผิดใดๆ เลยทั้งสิ้น

    เพราะฉะนั้น ก็เป็นผู้ที่มั่นคงว่า เดี๋ยวนี้ไม่ได้เห็นอย่างนั้น ไม่ได้เข้าใจอย่างนั้น แต่เพียงเริ่มฟังเพื่อจะได้รู้ว่า ความจริงเป็นอย่างนั้น แต่จะรู้อย่างนั้นได้ ไม่ใช่เรา เพราะฉะนั้น เราจะไปทำอะไรสักเท่าไร รู้ไม่ได้เลย เพราะว่าค่อยๆ เข้าใจว่า ไม่ใช่เรา แล้วเป็นอะไร นั่นเป็นความเข้าใจที่ค่อยๆ ละการยึดถือสภาพธรรมหนึ่งว่าเป็นตัวตน เพราะรู้ความจริงของสภาพธรรมหนึ่ง ซึ่งไม่ปะปนกับสภาพธรรมอื่นเลย แต่ละหนึ่งๆ จนกระทั่งเพราะรู้ว่า ลักษณะนั้นเป็นธรรมอย่างหนึ่ง มีลักษณะอย่างนั้น จนชัดเจน ลักษณะนั้นไม่ใช่เรา และไม่ใช่ของเรา และที่เรายึดถือสภาพธรรมว่าเป็นเรา หรือของเรา มากมายตลอดชีวิต ตั้งแต่เกิดมา แล้วกว่าจะค่อยๆ เข้าใจแต่ละหนึ่ง จนคลายความยึดถือว่าเป็นเรา นานไหม จากการที่เคยสะสมมาแล้ว นานมาก

    เพราะฉะนั้น ก็ไม่ประมาท ไม่ไปทำสิ่งที่ผิดปกติ เรามีความเข้าใจที่มั่นคงว่า การตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็คือรู้สิ่งที่กำลังปรากฏ เพราะเกิดขึ้น สิ่งที่ดับไปแล้วแม้เพียงเล็กน้อย ก็ไม่สามารถที่จะให้ความจริงได้ สิ่งที่ยังไม่มี ใครจะรู้ว่าจะเป็นอะไร ไม่ได้มีการบอกล่วงหน้าเลยว่าขณะต่อไปจะเป็นอะไร เพราะฉะนั้น สิ่งที่ล่วงไปแล้ว ไม่เหลือที่จะให้รู้ความจริง สิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น ก็ไม่สามารถที่จะให้ความจริงได้ว่า สิ่งนั้นจะเป็นอะไร

    ด้วยเหตุนี้ความมั่นคง ก็คือว่า รู้ว่าพระอรหันต์สัมมาสั่งพุทธเจ้าทรงตรัสรู้สิ่งที่กำลังมีในขณะนี้ตามความเป็นจริง ถ้าเข้าใจอย่างนี้ จะไปไหน จะไปทำอะไรหรือเปล่า เพราะเริ่มรู้ว่า การรู้ต้องรู้สิ่งที่กำลังได้ฟังในขณะนี้ ซึ่งพูดถึงความจริงของสิ่ง ที่กำลังมีจริง

    เพราะฉะนั้น ใน ๒๐ พรรษาแรก ผู้ที่บวชในพระธรรมวินัยเป็นผู้ที่ตรง และประพฤติปฏิบัติในเพศบรรพชิต เพื่อขัดเกลากิเลสความไม่รู้ แต่ว่ากำลังของกิเลสมากแค่ไหน ใครจะรู้ การเคลื่อนไหวแม้เล็กน้อย ด้วยอำนาจของจิต อย่างที่เราได้กล่าวถึงแล้วในพระสูตรหนึ่ง ถ้าไม่มีจิตก็ไม่มีอะไรเลย ที่จะปรากฏว่ามี แต่เมื่อมีจิตเกิดขึ้น ทุกอย่างที่ปรากฏกับจิต มีสภาพที่จำ และคิดปรุงแต่ง เป็นไปตามจิตซึ่งประกอบด้วยธรรมนั้นๆ ไม่ว่าจะยืน ไม่มีจิตก็ยืนไม่ได้ ไม่ว่าจะพูด ไม่มีจิตก็พูดไม่ได้ ทุกอย่างเป็นไปตามอำนาจของจิต เพราะฉะนั้น จิตขณะนี้ ใครรู้ ถึงแม้ว่ารู้ขณะนี้ ก็ไม่รู้ว่าอะไรทำให้จิตขณะนี้เกิดขึ้น เพราะว่าต้องมาจากแสนโกฏิกัปป์ กว่าจะถึงขณะนี้

    ด้วยเหตุนี้ ภิกษุก็มีชีวิตตามปกติ แล้วก็อบรมเจริญปัญญาเพื่อขัดเกลากิเลส แต่กำลังของกิเลสมีมาก เพราะฉะนั้น ก็ทำให้เกิดการกระทำที่ไม่สมควรแก่เพศบรรพชิต ทางกายบ้าง ทางวาจาบ้าง เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงทราบ ก็ประชุมสงฆ์ เพื่อจะได้พูดถึงเหตุการณ์นั้น แล้วให้สงฆ์ร่วมพิจารณาว่า สมควรหรือไม่ สำหรับการที่จะเป็นเพศบรรพชิต เมื่อทุกคนรับรองว่าไม่สมควร จึงทรงบัญญัติอาณาปาฏิโมกข์ สำหรับผู้ที่จะบวชเป็นบรรพชิต ไม่ได้บังคับ แต่เมื่อบวชแล้วต้องประพฤติตาม ที่สงฆ์เห็นควรโดยพระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์เดียวเท่านั้น ซึ่งเป็นผู้ที่ทรงบัญญัติได้อย่างละเอียดยิ่ง เพราะเหตุว่าแม้เมื่อทรงบัญญัติแล้ว ความละเอียดมีมากจนกระทั่งทรงบัญญัติอนุบัญญัติเพิ่มเติม เพื่อที่จะได้แสดงว่าแม้เรื่องใหญ่เป็นอย่างนี้ แต่เรื่องย่อยที่จะวินิจฉัยตามเรื่องใหญ่นั้นคืออย่างไรเว้น หรือไม่เว้นอะไรบ้าง ทั้งหมดใครจะรู้ นอกจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าซึ่งเป็นผู้ที่ตรัสรู้เหตุแม้เพียงเล็กน้อยคืออกุศล ก็จะนำมาซึ่งเหตุใหญ่ซึ่งคาดไม่ถึงก็ได้

    ด้วยเหตุนี้ความต่างกันของ โอวาทปาติโมกข์ กับ อาณาปาฏิโมกข์ ก็คือว่า เมื่อเหตุการณ์ที่ได้กล่าวแล้วว่า พระผู้มีพระภาคทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์ด้วยพระองค์เองในครั้งแรกๆ แต่ภายหลัง เมื่อภิกษุมีความประพฤติ ที่ไม่เหมาะควร และถ้าจะกระทำอย่างที่พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับนั่งอยู่ด้วยแล้วก็ไม่แสดงโทษ และยังร่วมอยู่ในที่นั้น โทษเป็นแก่บุคคลนั้น เพราะฉะนั้น ตั้งแต่นั้นมาก็ไม่ได้ทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์โดยพระองค์เอง

    จิตเป็นหนึ่ง คือเป็นสภาพที่รู้แจ้งสิ่งที่กำลังปรากฏเท่านั้น เสียงปรากฏเพราะจิตกำลังรู้แจ้งเฉพาะเสียงนั้น กลิ่นใดที่กำลังปรากฏเพราะจิตรู้ จิตไม่ได้ทำอะไรเลยนอกจากรู้แจ้งลักษณะของสิ่งที่ปรากฏในขณะนี้ที่เห็นสิ่งที่ปรากฏ ก็จิตนั่นแหละที่รู้แจ้งเท่านั้นเอง แต่มีเจตสิกเกิดร่วมโดยไม่ใช่จิต และก็หลากหลายมาก

    เพราะฉะนั้น อนุสัย ไม่ใช่อาสวะ ต้องแยกกัน อนุสัยมี ๗ ประเภทได้แก่ เจตสิกกี่ประเภทนั้นอีกอย่างหนึ่ง แล้วก็อาสวะมี ๔ ได้แก่ เจตสิกอะไรบ้าง ก็อีกอย่างหนึ่ง

    นี่แสดงให้เห็นว่าเจตสิก ๑๔ ประเภท มีการที่เป็นประเภทที่ตั้งแต่อย่างอ่อนมาก จนถึงแรงกล้า ที่อ่อนที่สุด แต่มีกำลังที่สุด อยู่ที่ไหน ไม่มีพ้นไปจากจิต ง่ายที่สุดก็เราฟังอยู่แล้วตั้งแต่ต้น ลืมไม่ได้เลย ทุกครั้งที่ฟัง สิ่งที่ได้ฟังแล้วมาประกอบทำให้เข้าใจข้อความอื่น ชัดขึ้น ไม่หลงลืมขึ้น ขยายความขึ้น เข้าใจเพิ่มขึ้น

    ทุกคนรู้ว่าขณะนี้มีจิต แต่ไม่มีใครสามารถจะเห็นจิตได้เลย จิตไม่มีรูปร่าง ไม่มีกลิ่น ไม่มีรสใดๆ พ้นจากรูปทั้งหมด ไม่มีรูปใดๆ เจือปนเลย เป็นธาตุชนิดหนึ่ง ซึ่งเมื่อเกิดแล้วต้องรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด ขณะนี้สิ่งใดปรากฏ ลืมว่าจิตเกิดแล้วกำลังรู้สิ่งนั้น สิ่งนั้นจึงปรากฏได้ เพราะฉะนั้น กว่าเราจะเข้าใจความจริง ว่าจิตมีก็ไม่รู้ แต่พอฟังมากๆ คิดถึงจิตบ้างหรือเปล่า ก็ยัง แล้วจะไปรู้จักจิตได้อย่างไร แค่ฟังแล้วก็เข้าใจ แล้วก็ลืม เมื่อเช้านี้ลืมเรื่องจิตแน่ๆ ลืมว่าเป็นจิตทั้งนั้น ที่เกิดขึ้นแล้วก็ทำกิจการงานต่างๆ สิ่งต่างๆ จึงปรากฏ ก็ไปคิดแต่เฉพาะสิ่งที่ปรากฏ ลืมว่าปรากฏไม่ได้ถ้าไม่มีธาตุรู้ เพราะฉะนั้น จิตไม่ใช่เจตสิก เจตสิกมีต่างกัน ๕๒ ประเภท แล้วก็จำแนกเป็นเจตสิก ซึ่งเกิดกับจิตทุกประเภทก็ได้ เจตสิกที่เป็นอกุศลไม่ดีงาม จะไปเกิดร่วมกับเจตสิกที่ดีงามไม่ได้ และเจตสิกที่ดีงาม ก็จะไปเกิดร่วมกับเจตสิกที่ไม่ดีไม่ได้ นี่คร่าวๆ แต่จำนวนก็จะละเอียดมาก หมายความว่า เจตสิกอะไรบ้างที่เกิดกับจิตได้ทั้งหมด แม้โลกุตตรจิต

    จิตที่จะไม่มีเจตสิกเกิดร่วมด้วย ไม่มี เพราะว่าสภาพใดก็ตามที่เกิดขึ้น ต้องอาศัยปัจจัยเกื้อกูล อุปถัมภ์ ทำให้สิ่งนั้นเกิดขึ้น และอาศัยกัน และกันเกิดขึ้นด้วยก็มี เพราะฉะนั้น ปัจจัยก็มีต่างๆ หลากหลายมาก

    แต่ที่ควรรู้ก็คือว่า เมื่อที่ใดเป็นจิตเกิด ที่นั้นต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยทุกครั้ง มากหรือน้อยตามประเภทของจริงนั้นๆ เพราะฉะนั้น สำหรับอกุศลเจตสิกที่ละเอียดมากคือ เดี๋ยวนี้มีความติดข้อง ไม่รู้ใช่ไหม

    ทันทีที่เห็น ไม่รู้เลย ยังไม่ทันรู้ว่าเป็นดอกไม้ ยังไม่ทันรู้ว่าเป็นอะไร แต่เพราะความไม่รู้ที่เกิดนั่นแหละ เมื่อเห็น ดับแล้ว ก็เป็นปัจจัยให้ความไม่รู้ในเห็น เกิดพร้อมความติดข้องในเห็น และบางครั้งก็ยึดถือในเห็นว่า เป็นเราเห็น ไม่ต้องพูดเลย ไม่ต้องบอกด้วย ไม่ต้องเรียกชื่อ เกิดแล้วดับแล้ว เกิดแล้วดับแล้วโดยไม่รู้เป็นอาสวะ บางเบามาก แต่เมื่อเกิดแล้ว ดับแล้ว ไม่ได้ไปไหนเลย

    จิตที่ดับไปแล้วเป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิดขึ้นสืบต่อทันทีไม่มีระหว่างคั่น เพราะฉะนั้น เมื่อจิตที่เกิดแล้วมีความไม่รู้ และความติดข้องเกิดกับจิตนั้น แม้ดับไปแล้วแต่ที่เคยเกิดแล้วเป็นอย่างนั้น ก็สืบต่อในจิตต่อไปเป็นพืชเชื้อของการที่แม้ดับไปแล้ว ก็ยังทิ้งหรือว่ามีร่องรอยที่สามารถที่จะเป็นปัจจัย ให้เกิดกิเลสประเภทนั้นๆ เกิดขึ้น แต่สภาพหลังจากที่ดับแล้วไม่ได้ไปไหนเลย แต่ต้องอยู่ในจิตขณะต่อไป เพราะจิตแรกจิตก่อนนั้นเป็นปัจจัยให้จิตทีหลังเกิดขึ้นสืบต่อทันที เพราะฉะนั้น ก็มีทุกอย่างที่สะสมไว้

    เราจึงไม่สามารถที่จะรู้ได้เลย ในแสนโกฏิกัปป์มาแล้วในแต่ละขณะที่มีอกุศล เกิดขึ้นสะสมไว้มากน้อยแค่ไหนในจิตเดี๋ยวนี้ และในจิตขณะต่อๆ ไป เพราะฉะนั้น กิเลสที่สะสมอยู่ในจิต ใช้คำว่า นอนเนื่องในจิต เพราะเหตุว่าไม่ปรากฏว่ามี นอนหลับใครรู้ว่ามีกิเลส พระอรหันต์หลับ ปุถุชนหลับ ผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์เป็นพระอริยบุคคลก็หลับ มหาโจรก็หลับ แล้วแต่ว่าอนุสัยกิเลสของใคร ยังมีอยู่เต็ม และอนุสัยกิเลสของใครดับไปหมดแล้วไม่เกิดอีกเลยด้วยปัญญา แต่ว่าไม่มีใครสามารถที่จะรู้ได้ว่าขณะนี้มีอนุสัยอะไร แต่ถ้ายังเป็นปุถุชน ครบทั้ง ๗ ประเภทยังไม่ได้ดับไปเลย

    เพราะฉะนั้น อนุสัยจึงไม่สามารถที่จะมีใครรู้ได้เลย ต่อเมื่อใด มีการเห็น มีรูปกระทบตาเป็นปัจจัยให้จิตเกิดเหตุ แล้วเมื่อเห็นแล้วชอบหรือไม่ชอบ การชอบหรือไม่ชอบที่มีเพราะอนุสัยกิเลสยังมีอยู่ จึงเป็นปัจจัยให้เกิดชอบในสิ่งที่ปรากฏ

    เพราะฉะนั้น ขณะนั้นอาสวะเกิดเพราะอนุสัย และกิเลสอื่นๆ ประเภทที่เป็นกิเลสทั้งหมด ๑๔ ประเภทก็เกิดเพราะอนุสัยกิเลสที่ยังไม่ได้ดับไปเลย ด้วยเหตุนี้ อนุสัย ๗ ไม่ใช่อาสวะ ๔ ใครรู้ ถ้าไม่ได้ฟังพระธรรม รู้ทำไม เพื่อรู้ว่า ไม่ใช่เรา เพราะยากเหลือเกินที่จะละการยึดถือสภาพธรรมที่เคยยึดถือมานานมากตามความเป็นจริงว่าไม่ใช่เราเลย เป็นธรรมแต่ละหนึ่งจริงๆ จิตเป็นจิต เจตสิกเป็นเจตสิก เจตสิกแต่ละประเภทก็ต่างกันไปไม่เหมือนกัน

    เพราะฉะนั้น ได้ยินคำว่า อาสวะ รู้จักหรือยังตอนนี้ เมื่อกี้ได้ฟังแล้ว เหมือนไม่ได้ฟังใช่ไหม เพราะไม่ได้สังเกตเลยว่า มีคำที่ไม่เคยได้ยิน หรือว่ามีคำที่ได้ยินแล้ว แต่ว่าไม่ได้เข้าใจละเอียดพอ

    ด้วยเหตุนี้ การฟังธรรมไม่เผิน คิดว่าฟังแล้วเข้าใจแล้ว ไม่ใช่ เพราะเมื่อกี้นี้ต้องรู้ว่า แม้อาสวะก็เป็นกิเลส แต่ไม่ใช่อนุสัยกิเลส เป็นอกุศลเจตสิกจริง แต่อกุศลเจตสิกบางประเภทไม่ใช่อนุสัย บางประเภทไม่ใช่อาสวะ นี่คือความต่างกันของแต่ละหนึ่งขณะของจิต ฟังแล้วมีประโยชน์ไหม ประโยชน์มากไหม ไม่เคยรู้มาก่อน และไม่สามารถจะรู้ได้ด้วยตัวเอง ถ้าไม่มีการฟังพระธรรม จะไม่รู้ว่าใครเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และกำลังฟังคำของใคร

    ถ้าเป็นผู้ที่ไม่ได้ฟังคำของพระพุทธเจ้าจะไม่กล่าวคำของพระพุทธเจ้า ก็จะเป็นคำของตนเอง แล้วเชื่อถือได้ไหมรู้จริงหรือเปล่า นี่เป็นสิ่งซึ่งถ้าเป็นพระธรรมที่เกิดจากการที่ทรงตรัสรู้ และทรงแสดง คำนั้นจะไม่มีที่สุด จนกว่าจะรู้ความจริง แค่อาสวะ ถึงที่สุดหรือยัง แค่ฟัง ยังไม่ถึงการที่จะรู้อาสวะจริงๆ แต่พระอรหันต์เห็นเหมือนคนธรรมดาเห็น แล้วพระอรหันต์ไม่มีอาสวะ ทำไมอาสวะขณะที่เห็นแล้วก็มีทันที แล้วก็ไม่รู้ สำหรับคนที่ไม่ใช่ผู้ที่ได้รู้แจ้งอริยสัจจธรรม ดับกิเลสถึงความเป็นพระอรหันต์ แต่พระอรหันต์ไม่มีอาสวะ เพราะไม่มีอนุสัย เมื่อดับอนุสัยกิเลสหมดแล้วกิเลสใดๆ เกิดไม่ได้อีกเลย ไม่ว่ากิเลสที่เป็นอาสวะ หรือกิเลสประเภทใดๆ ทั้งสิ้น

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 176
    11 มี.ค. 2567