ปกิณณกธรรม ตอนที่ 753


    ตอนที่ ๗๕๓

    สนทนาธรรม ที่ สุชาดา รีสอร์ท จ.สระบุรี

    วันที่ ๑๗ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๘


    ท่านอาจารย์ แต่เข้าใจว่าเมื่อไหร่สภาพธรรมใดเกิดขึ้น ขณะนั้นก็คือธรรมฝ่ายดีก็ละอายต่ออกุศล โดยไม่เลือกว่าเฉพาะหิ่งห้อยหรือว่าไปดูหิ่งห้อย

    อ.อรรณพ จะละอายหรือไม่ละอาย ก็ไม่รู้ อย่างที่จะมาสนทนาแล้วก็เห็นประโยชน์การสนทนา ขณะนั้นเป็นกุศลก็ต้องมีความละอายอยู่ แต่ก็ไม่รู้ ถึงละอายก็ไม่รู้ ไม่ละอายก็ไม่รู้ แต่คิดไปเฉยๆ

    ท่านอาจารย์ นั่งตรงนี้ก็ไม่รู้

    อ.อรรณพ ไม่รู้ แต่คิด

    ท่านอาจารย์ ก็ฟัง นั่งตรงนี้ไม่รู้ ก็ฟัง ค่อยๆ เข้าใจขึ้นว่าอะไรเป็นสิ่งที่มีจริงขณะนี้ ฟังแล้วอีกกี่ชาติก็คือเพื่อที่จะรู้ความจริงว่าเดี๋ยวนี้มีธาตุรู้ เราเรียกจิต เรียกเจตสิก จิตมีเท่าไหร่ เจตสิกมีเท่าไหร่ ก็เอ่ยชื่อกันมานานมาก มากมาย แต่ว่าเดี๋ยวนี้เองก็เป็นสิ่งที่เราได้เรียนแล้วนั่นเอง แต่ไม่รู้ความจริง เพราะฉะนั้นฟังธรรมเพื่อไม่เป็นเราที่จะรู้ ไม่เป็นเราที่จะเข้าใจ แต่ฟังแล้วเข้าใจเป็นธรรม ซึ่งจะค่อยๆ ละความเป็นตัวตน ถ้ายังเป็นเราก็แสดงว่าความเข้าใจยังน้อยมาก

    ละอายใจตอนไหนอีก ถ้าขณะนั้นละอายแสดงว่าสภาพของ หิริเจตสิก เกิดขณะนั้นแต่เป็นเรา เพราะฉะนั้นบางครั้ง อย่างคนที่เขามีการรู้สึกตัวจะทำสิ่งที่ไม่ดีแล้วไม่ทำ ขณะนั้นลักษณะของความละอายกำลังเกิดขึ้นทำหน้าที่ แต่เป็นเรา เพราะฉะนั้นทั้งหมดในชีวิตที่ผ่านมาก็เป็นสิ่งที่มีจริง แต่เป็นเราไปหมดเลย จนกว่าสิ่งที่มีจริงตามธรรมดาด้วย อย่างเดี๋ยวนี้ปกติ นี่เริ่มเป็นธรรมแต่ละอย่าง

    อ.อรรณพ บางครั้งถ้าไม่ศึกษาธรรมให้ละเอียดลงไปก็คิดว่าดีแล้ว แล้วก็เป็นกุศลจริงๆ แต่ก็ยังเป็นเรา เช่น เราเป็นคนฟังธรรมแล้ว แล้วเราก็เป็นคนที่มีฐานะก็ไม่ควรที่จะทำความไม่ดี เมื่อปรารภเช่นนี้แล้วก็มีความละอายใจ แล้วก็ไม่ทำในสิ่งที่ไม่ดีก็เป็นกุศล แต่ก็ยังระคนด้วยความเป็นเรา แต่ก็ตอนเป็นกุศลก็เป็นกุศล แต่พระธรรมก็ไม่เพียงแค่นี้ จะถึงขั้นละอายในความเป็นเรา

    ท่านอาจารย์ ขณะนั้นก็ต้องมีปัญญา ถ้าไม่มีปัญญาก็ไม่สามารถที่จะละอายได้

    อ.อรรณพ คือละอายได้ในระดับที่เป็นเราทั่วๆ ไป ก็พอได้ เช่น เป็นเราฟังธรรมแล้วนะ ก็ควรจะทำตัวให้ดีๆ บ้าง

    ท่านอาจารย์ ขณะใดที่ไม่เป็นอกุศล ขณะนั้นเป็นกุศลที่ละอายอกุศล แต่ไม่รู้

    อ.อรรณพ ก็ยังไม่ละอายในความที่จะเป็นตัวเรา

    ท่านอาจารย์ ก็เวลานี้ ก็เป็น จิต เจตสิก ทุกขณะไป ก็ไม่รู้ จะละอายตอนไหนก็คือเจตสิกที่เกิดกับจิตแล้วก็ดับไป ก็ไม่รู้ ไม่รู้ทั้งหมดจนกว่าจะค่อยๆ เข้าใจขึ้นโดยไม่เลือก ฟังแล้วก็เข้าใจ ฟังแล้วก็เข้าใจ จนกว่าความเข้าใจจะมีกำลังพอที่จะทำให้เข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏตรงตามที่ได้ฟัง

    ผู้ฟัง บางครั้งท่านอาจารย์ก็ใช้คำว่า สลดใจไหม สลดใจในความไม่รู้ หรือว่าในกิเลสทั้งหลาย

    ท่านอาจารย์ สลดใจมีจริงไหม

    ผู้ฟัง มีจริง

    ท่านอาจารย์ จนกว่าจะไม่ใช่เรา แต่ไม่ใช่หมายความว่าจะไม่มีการสลดใจ และสลดใจภาษาไทยกับสลดใจในธรรม เป็นคนละอย่าง

    อ.ธีรพันธ์ สลดใจโดยภาษาไทยฟังดูแล้วก็เหมือนกับมีความหดหู่หรือว่าเบื่อหน่ายด้วยโทสะ แต่ความจริงแล้ว ที่ใช้คำว่า สังเวคะ ความสลดในลักษณะที่มีการเกิด แก่ เจ็บ ตาย หรือว่าทุกข์ในสังสารวัฏ ไม่ว่าจะเป็นทุกข์ในอดีต หรือทุกข์ในอนาคต หรือทุกข์ในอบาย หรือแม้กระทั่งการแสวงหา ก็คือความสลดใจ และก็เป็นเรื่องของปัญญาทั้งนั้นเลยที่มีความสลด เห็นความจริงของสภาพธรรมที่เกิดขึ้น ต้องเป็นไปอย่างนั้นซึ่งบังคับบัญชาไม่ได้เลย

    ผู้ฟัง พาคุณพ่อไปโรงพยาบาล มีผู้หญิงคนหนึ่งท่าทางจะป่วย ก็บอกเขาว่า รอฉันสักครู่เดี๋ยวให้คุณพ่อรับยาเสร็จ ฉันจะพาคุณไปส่ง ขณะนั้นก็เริ่มพิจารณาถึงจิตที่เป็นกุศลอย่างที่ท่านอาจารย์ได้กล่าวสอนไว้ว่า จิตที่เป็นกุศลที่เกิด ณ วินาทีนั้นไม่ได้คิดถึงเราจะได้อะไรตอบแทนจากเขา เพียงแต่อยากนำเขาส่งถึงบ้าน

    ท่านอาจารย์ ขณะที่เป็นกุศลมีการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ขณะนั้นเป็นความละอายต่ออกุศลที่จะไม่ทำอย่างนั้น โดยเราไม่รู้เลย เราก็คิดอย่างโน้นอย่างนี้อย่างนั้น ไตร่ตรองซักถามตัวเองหรืออะไรก็ตามแต่ แต่ขณะใดก็ตามที่เป็นกุศลไม่ต้องพูดเลยขณะนั้นเพราะธรรมชาติที่ละอายต่ออกุศล กุศลจึงเกิดได้ เพราะเหตุว่าบางคนขณะใดที่ไม่ช่วยเหลือคนอื่น ไม่คำนึงถึงความทุกข์ยากของคนอื่น เห็นแต่ความสะดวกสบายของตนเอง ขณะนั้นก็คือว่าไม่ละอายต่อการที่จะเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่

    เพราะฉะนั้นอะไรๆ ก็ตามที่มีอยู่เวลานี้ และเราไม่เคยรู้เลย พระพุทธเจ้าก็ทรงแสดงว่าได้แก่สภาพธรรมอะไร แม้แต่ทางฝ่ายอกุศลก็มีสภาพธรรมหลายอย่าง ที่อาศัยกัน และกันเกิดขึ้นเป็นไป เช่น มีศรัทธา สภาพจิตที่ผ่องใสไม่เห็นแก่ตัว มีหิริความละอายต่อการที่จะไม่ช่วยเขา โอตตัปปะ คือการที่เห็นภัยหรือว่าอกุศลไม่ดี แต่ทั้งหมดนี้ไม่ต้องมานั่งคิดเลย สภาพธรรมนั้นเกิดเมื่อไหร่ทำหน้าที่นั้นทันที

    เพราะฉะนั้นในชีวิตประจำวันของเรา เราจะไม่รู้เลย กายวาจาอย่างไรเป็นไปตามจิตอย่างนั้น แต่เพราะไม่รู้ว่าไม่ใช่เรา ก็เลยเป็นเรา แต่ความจริงเป็นธรรมทั้งหมดคือเป็นจิต และก็เจตสิกที่เป็นอกุศล หรือเจตสิกที่เป็นกุศลในขณะนั้น เกิดขึ้นทำงานไม่มีเราไปบงการ ไม่มีเราไปชี้แจง หรือไปบอกกล่าว แต่สภาพนั้นเป็นอย่างนั้น โดยที่ว่าเราไม่รู้จึงยึดถือว่าเป็นเรา

    เพราะฉะนั้นกายวาจาแต่ละวัน ถ้าเราบอกว่า คนนี้พูดไม่ดี จิตไม่ดี แล้วเจตสิกที่เกิดร่วมด้วยก็เป็นอกุศลเจตสิก แต่ตรงกันข้าม เวลาพูดดี ก็เป็นเจตสิกฝ่ายดีทั้งนั้นเลย พูดในเชิงที่เข้าใจ และเห็นใจ อย่างคนที่ทำงานที่บ้านเรา ที่ช่วยเหลือทำงานบ้านให้ ถ้าเขาลืมทำอะไรสักอย่างหนึ่ง และเราก็พูดกับเขา บอกให้รู้ว่าเขาลืม ให้ช่วยทำอย่างนั้นเขาก็ไม่เดือดร้อน แต่ถ้าบอกว่า โอ้โหไม่สนใจเลยนะ ลืมอย่างนั้นอย่างนี้ พูดทุกวันๆ อย่างนี้ใช่ไหม ก็แสดงว่าขณะนั้นเป็นอกุศล โดยเราไม่รู้ตัวเลยว่าไม่ใช่เรา แต่จากการกระทำ และคำพูดทั้งหมด คนที่มีปัญญาก็จะรู้ได้ว่านั่นคืออกุศลธรรม ไม่ใช่ใครเลยทั้งสิ้น แต่สะสมมาที่จะขี้บ่น จู้จี้จุกจิก ถึงแม้ว่าเป็นความจริงก็พูดในทางที่เห็นใจเขา เข้าใจเขา เพราะว่าคนเราก็ลืมได้ คนเราก็สะสมมาที่จะไม่ระมัดระวัง ไม่เอาใจใส่ ไม่ละเอียด เขาสะสมมาเป็นอย่างนั้น แล้วเราไปเดือดร้อน ไปโกรธ ไปว่า ขณะนั้นจิตเราเป็นอะไร ก็ลืมใช่ไหม ขณะที่ว่าคนอื่น บ่นคนอื่น แสดงว่าจิตสะสมมาที่จะเป็นอย่างนั้น แต่ถ้าเราเข้าใจ และเห็นใจพูดดีๆ ได้เหมือนกันเลย เขาก็ทำ แต่ถ้าบ่นด้วย ว่าด้วย เขาก็ทำ แต่ด้วยความรู้สึกที่เขาเป็นอย่างไร นี่คือไม่ละอาย ที่เขาจะรู้สึกอย่างไรก็ช่างเขา แต่ถ้าเราคิดถึงอกเขาอกเรา คำพูดธรรมดา แต่ว่าผลเหมือนกัน พูดดีเขาก็ทำ พูดไม่ดีเขาก็ทำ ก็พูดดีดีกว่า ก็สบายทั้งเราด้วย และในขณะเดียวกันความเห็นใจเราก็จะทำให้เขาเป็นคนดีได้ คือรู้ว่าเราไม่ได้ไปเบียดเบียนด้วยวาจา หรือว่ามองเขาในแง่ที่ว่าเขาร้าย หรือเขาไม่ดี คนเราก็เป็นอย่างนี้ แล้วแต่ขณะนั้นสภาพธรรมอะไรมีปัจจัยเกิดขึ้น แต่มีความเห็นใจมีความเป็นมิตร

    เพราะฉะนั้นที่ว่าเมตตาทุกขณะทุกโอกาส ในบ้าน นอกบ้าน ที่ไหนอย่างไร ก็เสมอเหมือนกันหมด ไม่ใช่ว่าเขาอยู่ในบ้านเรา เขาทำงานให้เรา เขาไม่ทำอย่างนี้ เราต้องว่าเขา ต้องบ่นเขา บ่นหรือไม่บ่นก็เท่ากัน แล้วเสียไหม ใจของเราที่มีอกุศลเกิดขึ้น เสียไหมที่เขาเสียใจ เขาไม่เห็นความเป็นมิตรของเราว่าช่วยบอก ช่วยสอนดีๆ และอภัยให้ วันหลังเขาก็ทำดีขึ้น ทั้งหมดนี้ก็คือกุศล และอกุศลทั้งนั้นเลยในชีวิตประจำวัน โดยเราไม่รู้ว่าไม่ใช่เรา

    หลายคนที่ทำดี เป็นคนดี แต่ไม่ฟังธรรม เพราะฉะนั้นไม่ใช่เรา แต่ว่าเป็นธรรมขณะนั้น กว่าจะรู้ว่าไม่ใช่เรา ก็ต้องฟังธรรม ด้วยความอาจหาญร่าเริงที่จะได้เข้าใจความจริง

    อ.ธีรพันธ์ เรื่องการเผาศพ จริงๆ แล้วพระภิกษุที่บวชเข้ามา ก็เพื่อที่จะศึกษาธรรมวินัยในทางคันถธุระ วิปัสสนาธุระ คันถธุระ การศึกษาปริยัติธรรม วิปัสสนาธุระ ก็คือการอบรมเจริญปัญญาเพื่อรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นเราต้องพิจารณาถึงความถูกต้อง และประโยชน์ตั้งแต่ในสมัยก่อนว่า เพราะอะไรสถานที่เผาศพจึงไม่ได้อยู่ในวัด ต้องอยู่ห่างจากวัดพอสมควรเพราะอะไร เพราะเหตุว่าเรื่องของธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียดมาก ถ้าไม่เข้าใจจริงๆ ว่าเพศบรรพชิตต่างกับเพศคฤหัสถ์อย่างไร แต่ความจริงการเป็นภิกษุห่างจากเพศคฤหัสถ์มาก เรียกได้ว่าตัดขาดจากโลกของคฤหัสถ์จึงสมควรที่จะเป็นโลกของบรรพชิต เพราะเหตุว่าการที่จะอบรมเจริญปัญญาเพื่อที่จะให้คำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าสาธารณะทั่วไปไม่จำกัดว่าต้องเป็นเพศใด เพราะฉะนั้นใครก็ตามที่สะสมมาอัธยาศัยที่จะเป็นคฤหัสถ์ แต่ใคร่ที่จะรู้ความจริงก็ฟังพระธรรม คฤหัสถ์ก็ไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคหรือไปหาพระภิกษุสาวก แล้วก็สนทนาธรรม ฟังพระธรรมเพื่อเหตุนั้นเหตุเดียว ไม่ใช่การที่จะมาเกี่ยวข้องเหมือนเดิมในฐานะวงศาคณาญาติ มีธุระก็ไปหาไปปรึกษาหารือเรื่องนั้นเรื่องนี้ ซึ่งนั่นไม่ใช่เรื่องของบรรพชิตเลย

    เพราะฉะนั้นเมื่อไหร่พุทธบริษัทจึงจะมีความสำนึกในความต่างกัน ของเพศคฤหัสถ์ และบรรพชิต ทั้งคฤหัสถ์ก็ต้องรู้ความต่าง และบรรพชิตเองก็ต้องรู้ความต่างด้วยว่าท่านไม่ใช่คฤหัสถ์อีกต่อไป เพราะฉะนั้นกิจใดๆ ซึ่งเป็นกิจของคฤหัสถ์ทั้งหมด บรรพชิตทำไม่ได้ตามพระวินัย จะทำกับข้าวหุงหาอาหารก็ไม่ได้ จะซื้อขายก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้นเป็นเรื่องที่ละเอียดมาก

    เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่า ชีวิตของบรรพชิตซึ่งพระผู้มีพระภาคเป็นผู้ที่ทรงตรัสรู้ความจริงอย่างละเอียดของจิต ไม่ว่าจะเป็นจิตของใคร เมื่อไหร่ ก็เห็นถึงกิเลสที่ได้สะสมมามาก ซึ่งถ้าเพียงเปิดโอกาสเล็กน้อย บุคคลนั้นก็ไม่สามารถที่จะดำรงความเป็นภิกษุได้ เพราะว่า ภิกษุหมายความถึงผู้ที่มีอัธยาศัยใหญ่ที่จะศึกษาอบรมเจริญปัญญาในเพศที่ขัดเกลากิเลสอย่างยิ่ง ตั้งแต่ตื่นจนหลับ ไม่มีการกระทำอย่างคฤหัสถ์เลย

    เพราะฉะนั้นภิกษุเองต้องเป็นผู้ที่สำนึกว่าท่านอยู่ในเพศใด และคฤหัสถ์ก็เคารพท่าน ในฐานะที่ว่าท่านเป็นเพศใด ไม่ใช่ว่าดึงท่านมาปะปนในธุระการงานของเราจะเผาศพก็ต้องไปหาพระภิกษุให้ท่านทำอะไร ซึ่งความจริงไม่ใช่เลย คนละเรื่องเพราะเหตุว่าที่จริงแล้วที่ประเทศอินเดียแม้จนขณะนี้การเผาศพของเขาดั้งเดิมมา ก็เผากันที่ๆ มีกองไฟ เพราะฉะนั้นก็ก่อกองไฟขึ้นมาแล้วก็เผาศพ ก็คือการที่ไม่ไปรบกวนหรือไม่ไปทำให้พระภิกษุท่านเดือดร้อนเลย

    ส่วนการทำกุศลซึ่งเราใช้คำว่าบุญ บุญหมายความถึงการชำระจิตให้บริสุทธิ์คนนั้นต้องรู้ว่าจิตขณะนี้ที่ไม่มีการที่จะสะอาดขึ้นมาได้เลยเพราะอะไร เพราะสะสมอกุศลตั้งแต่ลืมตาจนถึงเดี๋ยวนี้ ใครปฏิเสธบ้าง แต่คนที่ปฏิเสธคือคนที่ไม่รู้ เพราะพระอรหันตสัมมาสัมเจ้าทรงแสดงวาระของจิตซึ่งเกิดทีละหนึ่งขณะนี้อย่างละเอียดยิ่ง ว่าขณะไหนเป็นผลของกรรมที่ได้ทำแล้ว และขณะไหนเป็นกรรมซึ่งเป็นเหตุที่จะให้เกิดผลข้างหน้า ไม่มีใครสามารถที่จะไปรู้ ไปคิด ไปเรียกเอง ว่านั่นบุญ นี่บุญ ชี้แจงบุญกันต่างๆ นานา แต่ไม่รู้ว่าบุญคืออะไร

    เพราะฉะนั้นบุญก็คือจิตที่ขณะนั้นไม่มีอกุศลใดๆ เจือปน และเป็นไปในการที่จะขัดเกลาชำระจิตโดยการที่ว่า ถ้าขณะใดที่กุศลจิตเกิด ขณะนั้นต่างกับอกุศล ขณะใดที่กุศลจิตไม่เกิด ขณะนั้นต้องเป็นอกุศล ถ้าเราไม่ได้กล่าวถึงผลของกรรม เช่น ขณะเห็น ขณะได้ยิน ขณะได้กลิ่น ขณะลิ้มรส ขณะรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสทุกวันตั้งแต่เกิดจนตาย นี่เป็นผลของกรรม แต่เมื่อเห็นแล้วกิเลสที่สะสมมาก็เกิดทันที เมื่อมีโอกาสถึงวาระที่จะเกิดก็เกิด เพราะฉะนั้นถ้าจะเป็นกุศลขณะนั้นหมายความว่าไม่ได้สะสมอกุศล แต่ถ้าไม่มีปัญญา ไม่มีความเข้าใจก็ไม่ได้ขัดเกลาอกุศลที่มีอยู่ได้ โดยการเพียงขณะนั้นคือขณะที่อกุศลไม่เกิด แต่กุศลก็เกิด แล้ววันหนึ่งๆ อกุศลเกิดมากกว่ากุศลเท่าไหร่

    เพราะฉะนั้นต้องเข้าใจจริงๆ ในแต่ละคำ จะได้รู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ใช่เดาความคิดของเราจากคำที่ได้ยิน เพราะฉะนั้นผู้ที่เป็นพุทธบริษัทเป็นสาวกคือผู้ที่นั่งใกล้พระศาสนา คือได้ฟังพระธรรม เพราะอยู่ห่างๆ ในสมัยโน้น ไม่มีทางที่จะได้ฟังพระธรรม แต่ว่าเมื่อไหร่ที่เข้าไปนั่งใกล้คำที่ได้ตรัสไว้ดีแล้ว แล้วก็พิจารณาด้วยความเคารพจริงๆ ว่า แต่ละคำกว่าที่จะได้ยินได้ฟัง พระผู้มีพระภาคต้องบำเพ็ญพระบารมีนานเท่าไหร่ เมื่อตรัสรู้แล้ว แต่ละคำ จึงเป็นคำจริง ที่สามารถที่จะทำให้คนที่ไม่รู้เลย ได้เริ่มเห็นความเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเมื่อได้เข้าใจคำที่พระองค์ตรัส

    เพราะฉะนั้นบุญไม่ใช่ใครจะมาพูดง่ายๆ บอกบุญ ทำบุญ แต่จริงๆ แล้วอะไร ถ้าบอกบุญใคร หมายความว่าอย่างไร คนที่ได้ยินคำว่าบอกบุญ บอกบุญ บอกอะไรเคยได้ยินคนบอกบุญไหม

    ผู้ฟัง เคยได้ยิน

    ท่านอาจารย์ เขาบอกบุญ เขาบอกอะไร

    ผู้ฟัง เขาก็บอกให้ไปทำบุญ

    ท่านอาจารย์ เขาบอกให้ทำบุญ บุญอะไร

    ผู้ฟัง บุญก็คือสละออกไป สละทรัพย์ออกไป

    ท่าอาจารย์ บุญก็คือเงิน

    ผู้ฟัง ใช่ครับ

    ท่านอาจารย์ ยุคนี้สมัยนี้บุญคือเงิน บอกบุญก็คือตรงๆ คือขอเงิน

    ผู้ฟัง ขอเงินครับ

    ท่านอาจารย์ ขอเงินโดยการที่บอกๆ ๆ ซึ่งก็คือการเรี่ยไร

    เพราะฉะนั้นแต่ละคำที่เราได้ยินก็โยงไปถึงความจริงคือสัจจะ ต้องเป็นผู้ที่ตรงที่จะรู้ความจริง ไปขอเงินหรือว่าบอกบุญ บุญคือกุศลจิตถ้าจิตเขาเป็นกุศลเมื่อไหร่ก็เป็นบุญขณะนั้น เพราะฉะนั้นบอกบุญ แย่เลยถ้าเราไม่เข้าใจถูกต้องเหมือนกับการขอเงินจริงๆ

    เพราะฉะนั้นไม่รู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่เข้าใจพระพุทธศาสนา ไม่รู้คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่าทรงพระมหากรุณาแสดงธรรม ไม่เกี่ยวกับเงินเลย เพราะฉะนั้นพระภิกษุไม่รับเงิน และทอง

    คนที่ไปฟังพระธรรม ฟังเพื่อเข้าใจธรรม เพราะพระภิกษุเป็นผู้ที่เป็นสาวกมีโอกาสที่จะได้ฟังพระธรรม เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงพระธรรมให้พระภิกษุเข้าใจ พระภิกษุนั้นก็ทำประโยชน์แก่ชาวโลก โดยการที่แสดงธรรมที่ตนได้เข้าใจนั่นแหละให้คนอื่นได้เกิดความเข้าใจ ไม่เกี่ยวกับเรื่องเงินทองเลย โดยเฉพาะสำหรับเพศบรรพชิตจะมีธุรกิจกรรมใดๆ ที่เกี่ยวกับเงิน และทองไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นรับเงิน และทองได้ไหม รับไปทำไม พระภิกษุมีชีวิตด้วยการที่ว่าเป็นผู้ทรงธรรม คือผู้ที่ไม่ได้หุงหาอาหารกินเอง แต่อาศัยชาวบ้านที่มีศรัทธาโดยไม่ได้ไปเอ่ยปากขอด้วย แต่ว่าเมื่อมีผู้ที่มีศรัทธาเห็นความบริสุทธิ์ของบุคคลนั้น ซึ่งมีชีวิตที่ทรงคุณ หมายความว่าเป็นผู้ที่อยู่ได้ด้วยศรัทธาของชาวบ้าน ที่บำรุง อุปถัมภ์ ให้อาหาร ที่อยู่อาศัย จีวร เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค เมื่อเป็นอย่างนี้แล้วทางตอบแทนของผู้ที่เป็นภิกษุผู้ทรงคุณความดี ก็คือว่าสำนึกในอาหารที่ได้ เพราะฉะนั้นทำตนให้เป็นประโยชน์ ควรแก่การที่ได้อาหารจากชาวบ้าน นี่คือผู้ทรงคุณ รู้ว่าจะต้องศึกษาธรรม รู้ว่าจะต้องสนทนาธรรมหรือแสดงธรรมซึ่งได้ศึกษาให้คนอื่นได้เข้าใจ บุญของเขาที่ได้ทำแล้วเพื่อให้พระภิกษุได้มีชีวิตที่ได้เข้าใจธรรม เพราะฉะนั้นผู้ที่ทรงคุณคือรู้ว่าเจตนาของผู้ให้ผู้มีศรัทธาคืออย่างนั้น ก็ต้องประพฤติตามเจตนาที่จะให้บุคคลที่มีศรัทธานั้นได้รับผลตรงกับที่ต้องการ คือเป็นผู้ที่ศึกษาธรรม แสดงธรรมขัดเกลากิเลส เพราะฉะนั้น ๒ บริษัทคือคฤหัสถ์กับบรรพชิตแยกขาดจากกันโดยคุณความดีตามระดับขั้น ถ้าคฤหัสถ์ที่ไม่ได้ศึกษาธรรมเลยก็ไม่สามารถที่จะรู้คุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คุณของพระธรรม คุณของพระสงฆ์ และพระภิกษุในครั้งพุทธกาลท่านเป็นผู้ที่มีศรัทธาที่จะบรรพชาอุปสมบทถึงความเป็นภิกษุในพระธรรมวินัยเพื่อที่จะขัดเกลากิเลส

    เพราะฉะนั้นก็ต้องรู้ว่า พระจะมามีชีวิตอย่างคฤหัสถ์ไม่ได้เลย จะมีเงิน มีทองในธนาคาร มีที่ดิน มีอะไรก็ไม่ได้ทั้งสิ้น เพราะสละแล้ว สละแล้วจะรับคืน เป็นไปได้ไหม

    เพราะฉะนั้นบารมีคือคุณความดีที่สามารถที่จะขัดเกลากิเลสจนกระทั่งถึงรู้แจ้งอริยสัจธรรม ก็ต้องเป็นผู้ที่มีคุณความดีพร้อมคือ บารมีทั้ง ๑๐ กิเลสไม่ทำให้ใครไปรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ แต่เพราะปัญญาโดยเฉพาะคือคุณธรรมทั้งหลายจะขาดปัญญาไม่ได้เลย เมื่อมีปัญญาแล้วความประพฤติทั้งหลายก็เป็นไปตามคุณธรรม เพราะฉะนั้นถ้าไม่มีความเข้าใจอย่างนี้ ทุกอย่างก็สับสนปนเป ไม่มีทางที่จะรู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่รู้ว่าคำสอนของพระองค์นั้นเป็นไปเพื่ออะไร

    ด้วยเหตุนี้พุทธบริษัทต้องศึกษาธรรมให้เข้าใจ ถ้าไม่เข้าใจก็ทำผิดถวายเงินให้พระภิกษุ อาบัติซึ่งยุ่งยากมากสำหรับท่าน เพราะว่าท่านจะต้องสละทรัพย์ที่ได้มาในท่ามกลางสงฆ์ เมื่อทำผิดไปแล้วด้วยความสำนึก ก็สามารถที่จะปลงอาบัตเพื่อกลับคืนสู่หมู่คณะซึ่งประพฤติดีได้ เว้นอาบัติหนักอาบัติเดียวคือปาราชิก เมื่อล่วงอาบัติปาราชิกแล้วเป็นพระภิกษุอีกต่อไปไม่ได้ ไม่ว่าใครจะรู้หรือไม่รู้ก็ตาม

    เพราะฉะนั้นถ้าไม่ศึกษาธรรมะ เราก็ไม่ใช่ผู้ที่กตัญญูกตเวทีต่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อได้มีความเข้าใจธรรมแล้วควรอย่างไร ควรต้องเป็นพุทธบริษัทที่ดี ศึกษาธรรม และก็คือเกื้อกูลอนุเคราะห์ภิกษุให้ดำรงชีวิตตามพระวินัยด้วย ไม่ใช่คฤหัสถ์ไม่รู้อะไร บอกว่ายุคนี้พระสมัยนี้ต้องใช้เงิน แก้ได้อย่างไร คือคฤหัสถ์ต่างหากต้องใช้เงิน จะใช้เงินเมื่อไหร่ก็เป็นคฤหัสถ์ ไม่ใช่เป็นภิกษุ

    เพราะฉะนั้นก็เป็นผู้ที่จะต้องคำนึงถึงผู้ที่เคารพสูงสุดในชีวิตของแต่ละคนคือพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แม้เทวดา และพรหม ทุกคนตระหนักถึงปัญญาที่สามารถที่จะทำให้แต่ละคนได้เข้าใจความจริง ได้รู้หนทางที่จะหมดกิเลส เพราะฉะนั้นต้องรักษาคำสอนของพระองค์ ไม่ใช่ทำลายคำสอน โดยการกล่าวว่าเป็นพุทธบริษัทแต่ก็ไม่เข้าใจพระธรรมไม่เข้าใจพระวินัย เพราะฉะนั้นนั่นไม่ใช่พระพุทธศาสนาเลย ทำอะไรตามใจชอบ ด้วยเหตุนี้ทุกอย่างแม้แต่เรื่องของเผาศพ และก็ต้องรู้ว่าเป็นมาอย่างไร เพราะฉะนั้นในสมัยดั้งเดิมไม่ได้มีการที่พระวิหารเชตวันจะต้องไปเผาศพอุบาสกคนไหนเลยทั้งสิ้น

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 176
    16 มี.ค. 2567