ปกิณณกธรรม ตอนที่ 738


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๗๓๘

    สนทนาธรรม ที่ บ้านมิ่งโมฬี จ.ราชบุรี

    วันที่ ๑๐-๑๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๘


    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น แม้แต่กายวิเวก จิตตวิเวก อุปธิวิเวก ก็ต้องรู้ด้วย วิเวกไม่ง่าย เพราะเหตุว่า เป็นการค่อยๆ คลายกิเลส ด้วยความเข้าใจที่ถูกต้อง เพราะฉะนั้น ถ้าใคร วันนี้อยากอยู่บ้านคนเดียว อยาก ไม่ใช่วิเวก ไม่ใช่สงัดแน่ อยากไปนั่งชายทะเลคนเดียว ก็ไม่สงัดแน่ แต่เดี๋ยวนี้เอง ถ้าเข้าใจธรรม อยู่กับธรรมขณะนั้นไม่มีใครเลย เพราะเหตุว่าขณะเห็น ไม่มีอย่างอื่น มีธาตุรู้ที่เกิดขึ้นเห็นสิ่งที่ปรากฏให้เห็น และสิ่งที่ปรากฏให้เห็น เป็นใคร เริ่มคลายความที่ติดข้อง จากการที่อยากจะรู้บ้าง หรือทำอย่างโน้นบ้าง หรือพยายามจะสงัดบ้าง แต่เป็นตัวตนตลอดเวลา อย่างนั้นไม่ชื่อว่า สงัด

    เพราะฉะนั้น สงัดจริงๆ ด้วยความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง ไม่ว่าจะนั่งอยู่ท่ามกลางใคร ถ้าปัญญาขณะนั้นเกิดก็สงัดแล้ว จากการคลุกคลี ด้วยการคิดถึง เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ว่านั่งแล้วเที่ยวคิดอะไรต่ออะไร แล้วก็บอกว่าสงัดหรืออยู่คนเดียว ไม่ได้ ไม่ใช่ ไม่ถูกต้อง แต่ต้องเป็นขณะที่กำลังเริ่มเข้าใจธรรม

    เพราะฉะนั้น อย่างจิตตวิเวก ก็เป็นเรื่องของการอบรมเจริญความสงบของจิต เมื่อมีการที่จะอบรมของเจริญความสงบของจิตก็ต้องอาศัยกายวิเวก ด้วยเพราะเหตุว่า ถ้ามีเสียงมากๆ สงบไม่ได้เลย เมื่อมีเสียงเกิดขึ้น ได้ยินแล้วก็ต้องคิดถึงเสียงนั้น ได้ยินเสียงเพลงวิเวกไหม อยู่กับกิเลสมีความยินดี มีความติดข้อง มีความพอใจ วิเวกไหม ไม่วิเวก เพราะฉะนั้น ต้องเข้าใจจริงๆ ว่า จิตตวิเวกหมายถึงอะไร กายวิเวกหมายถึงอะไร ขั้นไหนระดับไหน ในครั้งพุทธกาล พระสาวกทั้งหลายท่านก็อบรมเจริญปัญญา มีความเข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏมากบ้างน้อยบ้าง แต่เวลาที่ท่านมีความรู้ขั้นไหน ท่านก็วิเวกในขณะนั้น เฉพาะในขณะนั้น แต่ท่านก็อยู่คลุกคลีกับเพื่อนภิกษุด้วยกัน ขณะนั้นกายวิเวกไม่มี เพราะฉะนั้น ก็ต้องกล่าวทั้งสภาพของจิตด้วย และบุคคลต่างๆ ที่แวดล้อมด้วย

    พระสัมมาสัมพุทธเจ้าวิเวกไหม อุปธิวิเวกแน่ อุปธิ หมายความถึง ธรรมที่ทรงไว้ซึ่งทุกข์ ทุกอย่างเลย กิเลสก็เป็นธรรมซึ่งทรงไว้ซึ่งทุกข์ ขันธ์ก็เป็นธรรมซึ่งทรงไว้ซึ่งทุกข์ เพราะว่าเกิดดับ เพราะฉะนั้น ถ้ายังมีกิเลสอยู่ไม่ใช่อุปธิวิเวก เพราะฉะนั้น อุปธิวิเวก คือดับกิเลส และสำหรับพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงดับกิเลสหมด ถึงความเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะฉะนั้น บางครั้งประทับที่ภูเขาคิชฌกูฏ ถ้าไปที่เขาคิชฌกูฏจริงๆ จะเห็นที่พระองค์ประทับ ปลายยอดสุดของภูเขา แคบเล็กไม่มีอะไรเลย เห็นแต่ภูเขาอื่นๆ ที่แวดล้อม ไม่มีคนอื่นที่มาจะเข้าเฝ้าอย่างมากมาย แล้วท่านพระอานนท์ก็อยู่ใกล้ๆ คอยดูแล ท่านตื่นเป็นยามๆ เลย เพราะพระผู้มีพระภาคจะทรงประสงค์สิ่งใด เป็นอุปัฏฐากที่เลิศในการอุปัฏฐาก

    เพราะฉะนั้น ต้องเข้าใจความหมาย ยังมีกิเลส ไม่ใช่จิตตวิเวก และตามลำดับขั้นด้วย ว่าวิเวกระดับของสมถะ หรือว่าวิเวกระดับของวิปัสสนา วิเวกถึงการดับกิเลสหมด แต่คนที่ยังมีกิเลสอยู่ อยู่กับคนมากกับอยู่กับธรรม ในขณะนั้นก็ต้องต่างกัน เพราะเหตุว่าถ้าไม่ประกอบด้วยปัญญา จะไปวิเวกสักเท่าไร ก็ไม่วิเวกเพราะยังเต็มไปด้วยกิเลส แต่ถ้าขัดเกลากิเลสแล้ว รู้หนทางที่จะอบรมเจริญปัญญา มีความเข้าใจความหมายของคำว่า อยู่คนเดียว ขณะนั้นเป็นปัญญาที่รู้เฉพาะลักษณะของสภาพธรรมหนึ่ง ไม่ใช่คน แม้ว่าอยู่คนเดียว แต่คนเดียวที่นั่นหมายความถึง ปัญญาที่กำลังเข้าใจลักษณะของสภาพธรรม จึงรู้ความหมายของคน ก็ถ้าไม่มีธรรมก็ไม่มีคน แต่อยู่คนเดียวก็คือมีธรรมเดียวที่ปรากฏ ให้ปัญญาขณะนั้นสามารถที่จะเข้าใจถูกว่า แท้ที่จริงก็ไม่ใช่เรา เพราะฉะนั้น ทั้งหมดต้องเป็นเรื่องของปัญญา พระผู้มีพระภาคตรัสถึงความหมายของคำว่า อยู่คนเดียวหมายความว่าอะไร

    ผู้ฟัง อยู่คนเดียว หมายความว่า จิตที่เข้าใจสภาพธรรมที่กำลังปรากฏขณะนั้น

    ท่านอาจารย์ เห็นอะไร

    ผู้ฟัง ก็ยังเห็นเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดอยู่

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น วิเวกไหม

    ผู้ฟัง ไม่วิเวกแล้ว

    ท่านอาจารย์ แต่ถ้าไม่มีใครเลย มีเพียงสิ่งที่ปรากฏให้เห็นได้ คนหายไปไหนหมดเวลานี้ ไม่มี ถ้าไม่คิด เพราะว่าจิตที่เกิดขึ้นเห็น ไม่ได้ทำหน้าที่อย่างอื่นเลย นอกจากมีปัจจัยที่ทำให้เกิดขึ้นเห็นแล้วดับทันที และปัญญาสามารถที่จะตามรู้ คือรู้ในขณะนั้นทันที เหมือนเห็นกับได้ยินปรากฏเหมือนพร้อมกัน แยกไม่ออกเลย เพราะฉะนั้น ปกติธรรมดาเราก็มีการที่เห็นแล้วไม่รู้ เพราะฉะนั้น ขณะนี้เหมือนเห็นกับได้ยินพร้อมกัน แต่พร้อมกันไม่ได้เลย เริ่มเข้าใจทีละเล็กทีละน้อยว่า เห็นต้องดับ แต่ก่อนที่ได้ยินจะเกิด จิตก็เกิดดับคั่นหลายขณะมาก เป็นสติสัมปชัญญะซึ่งเกิดต่อจากเห็น โดยความเป็นอนัตตา ขณะนั้นมีคนไหม ท่ามกลางคนมากมายหรือเปล่า เพราะฉะนั้น ก็ต้องเข้าใจความหมายของอยู่คนเดียว แม้แต่ที่ไหนก็ตามแต่ จนกว่าขณะนั้นไม่ใช่เราที่เห็น และสิ่งที่ปรากฏให้เห็นก็ไม่ใช่อะไรเลยนอกจากธาตุที่สามารถจะปรากฏ เมื่อจิตเห็นเกิดขึ้น ถ้าจิตเห็นไม่เกิด ธาตุนี้ปรากฏว่ามีไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น มีคนเมื่อไร มีสิ่งต่างๆ เมื่อไร

    ผู้ฟัง มีเมื่อคิด

    ท่านอาจารย์ ใช่ มีเมื่อคิด ถ้ารู้ความจริงดับกิเลสแล้ว ยังมีคนไหม ไม่มี แล้วมีอะไร

    ผู้ฟัง ก็มีเพียงสิ่งที่ปรากฏ

    ท่านอาจารย์ แล้วสิ่งที่ปรากฏมากมายนี่เป็นอะไร

    ผู้ฟัง ก็ต้องเป็นทีละหนึ่งๆ

    อ.ธีระพันธ์ ความละเอียดของวิเวกก็มี รายละเอียดปลีกย่อยจริงๆ เพราะว่า สภาพธรรมนี้ลึกซึ้งมาก วิ-เว-กะ ต้องด้วยปัญญา ด้วยความเข้าใจจริงๆ ไม่ใช่ว่าอยากจะปลีกวิเวกด้วยโทสะ ไม่ชอบใจคนนู้นคนนี้ ก็ไปอยู่วิเวก อยากอยู่คนเดียว แต่จิตใจก็เดี๋ยวโลภะมาแล้วก็ไม่รู้ว่า ขณะนั้นไม่วิเวก อยู่คนเดียว แต่คิดไปเรื่องอื่นมากมายเลย นี่ก็ไม่ใช่วิเวกแล้ว

    อ.วิชัย การกล่าวเรื่องแม้วิเวกไม่ใช่เพียงแค่ เพียงกล่าวตามเท่านั้นเอง

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น มีประโยชน์ไหมที่จะได้ยินแต่ชื่อ พอใจ เริ่มตั้งแต่กายวิเวก จิตตวิเวก อุปธิวิเวก ยังแยกออกไปอีก เพื่อเข้าใจไม่ใช่เพื่อจะจำชื่อ และไม่รู้เรื่อง แต่ว่าจริงๆ แล้วทั้งหมด แม้ใหม่เป็นชื่อภาษานั้น สภาพธรรมนั้นๆ ก็มี เมื่อเข้าใจถูกต้อง

    อ.ธิดารัตน์ ถ้าไม่มีการอบรมจิต หรือว่าสภาพของนามธรรม กายก็ไม่มีทางวิเวก

    ท่านอาจารย์ วิเวกอย่างไร เราพูดถึงแล้วใช่ไหม อยู่คนเดียวก็คิดเรื่องกิเลสทั้งนั้น แล้วจะเป็นกายวิเวกอย่างไร เพราะฉะนั้น วิเวกต้องเพราะจิต แล้วก็เมื่อจิตนั้นเป็นอย่างนั้นแล้วอยู่ตรงไหน ยังแวดล้อมด้วยผู้คน หรือว่าอยู่ลำพัง แต่ถ้าคนที่อยู่ลำพังไม่มีปัญญา ไม่มีทางวิเวกเลยสักอย่าง

    ผู้ฟัง สงสัยชาติของจิต จิตชาติกุศลเป็นอย่างไร เบญก็ตอบไปว่า อย่างเช่น คนงานที่บ้านเห็นแล้วก็สงสาร อาจารย์ก็จะถามกลับมาว่า แล้วสงสาร การสงสาร ทุกข์ไหม สรุปแล้วมันก็ทุกข์ ที่ไปสงสารเขาแล้ว เราก็ช่วยอะไรเขาไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ขณะใดที่กุศลจิตเกิด ขณะนั้นไม่เดือดร้อน เพราะฉะนั้น ขณะใดเดือดร้อน ขณะนั้นไม่ใช่เมตตา ไม่ใช่กรุณา ไม่ใช่มุทิตา ไม่ใช่อุเบกขา

    ผู้ฟัง ที่นี้มันก็แยกไม่ออก

    ท่านอาจารย์ เห็นกับได้ยินขณะนี้ก็แยกไม่ออก เพราะฉะนั้น การฟังธรรมต้องมีการเข้าใจที่ถูกต้อง ธรรมที่เป็นฝ่ายดี ขณะนั้นเกิด ไม่ทำให้เดือดร้อนเลย แม้ในขณะนั้น และในขณะไหนๆ ทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น เมตตาคืออะไร นั่งท่องหรือเปล่า ไม่ใช่ เพราะฉะนั้น เมตตามีจริง เมตตามาจากคำว่า มิตต ภาษาไทย ใช้คำว่า มิตร ตรงกันข้ามกับศัตรู ถ้าใครเป็นมิตรหรือว่าเป็นมิตรกับใคร หมายความว่า เป็นเพื่อนพร้อมที่จะเกื้อกูล และหวังดี เพราะฉะนั้น จะแข่งดีกับเพื่อนได้ไหม โกรธเพื่อนได้ไหม ไม่ได้ เพราะฉะนั้น ขณะนั้น เป็นสภาพธรรมที่เป็นมิตรจริงๆ คือหวังดี ขณะนั้นพร้อมที่จะเกื้อกูล ถ้าเกื้อกูลแล้วเขาอาจจะแสดงกิริยาอาการหรือคำพูดที่ไม่ดีกลับมา เมตตาหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ถ้าเราไม่พอใจกับที่เขาไม่ดีกลับมา อันนั้นก็ไม่ใช่เมตตา

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น สภาพธรรมของจิตละเอียดมาก และต้องรู้ว่าขณะที่เป็นมิตรกับใครก็ได้ รูปร่างหน้าตาน่ากลัวอย่างไรก็เป็นมิตรได้ แขนขาด ขาขาด ก็เป็นมิตรได้ โจรผู้ร้ายเป็นมิตรกับเขาได้ไหม

    ผู้ฟัง โจรได้ ถ้าเขาเดือดร้อนมา

    ท่านอาจารย์ เป็นมิตร แล้วเราใช้คำว่า แผ่เมตตา แสนกว้าง คิดดูคำนี้ แล้วก็ชอบจะแผ่กันเสียจริง โดยไม่รู้ว่าเมตตาคืออะไร แผ่เมตตาแล้วโกรธ แล้วจะเป็นแผ่เมตตาได้อย่างไร เพราะฉะนั้น ก่อนจะแผ่มีเมตตาหรือเปล่า ไม่มีแล้วจะไปแผ่ได้อย่างไร แบบปัญญา ใช้สติ ใช้ปัญญา ก็ไม่มีทั้งสติ ไม่มีทั้งปัญญา แล้วจะเอาอะไรไปใช้ ถึงอย่างไรก็ใช้ไม่ได้ ใช้อะไรก็ไม่ได้ เพราะเหตุว่าธรรมไม่ใช่ของใครที่จะให้เอาไปใช้ แต่คำที่ได้ยินบ่อยๆ ฟังเพื่อจะได้นำไปใช้ ไม่ได้เข้าใจธรรมว่า ไม่ใช่ของใคร ธรรมเป็นธรรม

    การฟังธรรมต้องละเอียด ตราบใดที่ไม่ละเอียดก็คือว่า ฟังแล้วก็ไม่เข้าใจ เข้าใจไม่ถูก เข้าใจแต่ชื่อ เล็กๆ น้อยๆ นิดๆ หน่อยๆ แต่ว่าไม่สามารถที่จะรู้สภาพที่เป็นเมตตาจริงๆ ในขณะนั้น เพราะฉะนั้น ไม่รู้ว่าแผ่เมตตากันแบบไหน พอท่องเมตตาเสร็จก็โกรธคนนั้น คนนั้นไม่ดี คนนี้ไม่ดี แล้วเมตตาคืออะไร และเมตตาต้องไม่ใช่กรุณาด้วยต่างกันแล้ว เพราะฉะนั้น ถ้าไม่สามารถที่จะเห็นความต่างกันของเมตตากับกรุณา ก็เลยปะปนกันไปเลยคิดว่าเราเป็นคนมีกรุณา แต่ไม่ใช่

    เมตตาไม่จำเป็นต้องคนนั้นเดือดร้อนเลย แต่สามารถเป็นมิตร หวังดี เขาทำของหล่นเก็บได้เลย เขาต้องการความช่วยเหลือแนะนำได้ทันที เป็นมิตรหวังดี พร้อมที่จะช่วยเหลือเกื้อกูล ไม่ว่าใคร หมายความว่าเมตตาเพิ่มขึ้น ก่อนจะมาก

    ส่วนแผ่นั่นต้องถึงอัปปนาสมาธิ ฌานจิต ความสงบแค่ไหน แล้วก็มีเมตตาเป็นอารมณ์ด้วย

    จริงๆ แล้วต้องศึกษาธรรมไม่ใช่ตามใครไป เขาว่าอะไร แต่ต้องเป็นผู้ที่ฟังพระธรรมจริงๆ ไม่ต้องเชื่อใครเลย พระธรรมทรงแสดงไว้แล้วทุกอย่างโดยประการทั้งปวง เพราะฉะนั้น เมตตาพอเข้าใจได้ใช่ไหม กำลังโกรธคนนี้เมตตาหรือเปล่า ขณะนั้นไม่ใช่แล้ว ถ้าโกรธขณะนั้นไม่ใช่เมตตา ตราบใดที่ยังเมตตา จะไม่โกรธ ดีไหม เป็นเพื่อนแท้หรือเปล่า หวังดีจริงๆ หรือเปล่า ไม่ว่าใครจะเป็นอย่างไรเรื่องของเขา แต่เราหวังดีที่จะให้เขาเป็นคนดี หวังดีที่จะให้เขาทำดี เขาไม่ดีอย่างที่เราหวังก็เรื่องของเขา แต่เราพร้อมที่จะช่วยเหลือเกื้อกูล โดยเราไม่ต้องโกรธหรือเดือดร้อน โกรธหรือเดือดร้อนเมื่อไร ขณะนั้นไม่ใช่เมตตา จะบอกว่าเมตตาก็ไม่ได้

    แต่สำหรับกรุณา เมื่อคนนั้นมีทุกข์หรือเป็นทุกข์ ต่างกันแล้ว เพราะเหตุว่าจริงๆ แล้ว เมตตาก็คือขณะที่พบปะธรรมดายังไม่ได้มีอะไรที่เดือดร้อน ที่จะต้องมาทำให้ต้องช่วยเหลือหรืออะไร แต่เวลาที่ใครก็ตามเดือดร้อน เป็นทุกข์ทางกายหรือทางใจก็ตามแต่ จะกรุณาอย่างไร

    ผู้ฟัง กรุณาให้ความช่วยเหลือ เช่น เขาไม่สบายอยู่ที่โรงพยาบาล แล้วไม่มีคนเฝ้าก็อาสาไปเฝ้าไข้ให้เขา

    ท่านอาจารย์ จริงๆ แล้วกรุณา คือความเห็นใจในความทุกข์ในความเดือดร้อน ไม่ใช่เขาเดือดร้อนก็เดือดร้อนไป เรื่องของเขาเราไม่เกี่ยว ขณะนั้นก็ไม่ใช่กรุณา เพราะฉะนั้น สำหรับผู้ที่เข้าใจธรรมจริงๆ ก็จะมีความเห็นใจในความไม่รู้ของคนอื่น เพราะไม่รู้ เพราะรู้ว่าคนอื่นไม่รู้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงทรงแสดงพระธรรม ทั้งๆ ที่เขาก็สบายดี แต่เขาไม่รู้ เขาเป็นทุกข์เพราะความไม่รู้ เพราะฉะนั้น จึงทรงมีพระมหากรุณา และขณะที่ใครก็ตาม เข้าใจธรรม รู้แจ้งอริยสัจจธรรม ทรงยินดีด้วยมุทิตา ในการที่คนนั้นสามารถที่จะพ้นจากความไม่รู้ สามารถที่จะพ้นจากสังสารวัฏฏ์ สามารถจะพ้นจากการที่ตลอดชีวิตไม่รู้ ไม่สามารถที่จะรู้ความจริงได้

    เมื่อท่านอัญญาโกณฑัญญะรู้แจ้งอริยสัจจธรรม เป็นสาวกรูปแรก พระผู้มีพระภาคทรงมีมุทิตา ยินดีที่ท่านพระโกณฑัญญะได้รู้แจ้งอริยสัจจธรรมแล้ว เพราะฉะนั้น ต้องเข้าใจจริงๆ จิตถึงจะเป็นไปตามความเข้าใจได้ ถ้ามีคนที่ลำบากแสนสาหัส เราร้องไห้ ขณะนั้นสงสาร หรือว่ากรุณาหรือเปล่า ไม่ใช่เลย แต่เห็นใจในความเดือดร้อน จึงสามารถที่จะช่วยเขา ให้พ้นจากความเดือดร้อนได้ เพราะเข้าใจสภาพของจิตที่กำลังเป็นทุกข์

    ไม่ใช่เป็นเพียงแค่การช่วยเหลือ เพราะบางคนช่วยเพื่ออะไร เราจะเห็นได้ว่ามีองค์กรต่างๆ ที่ช่วย แต่ว่าช่วยเพื่ออะไร เพราะฉะนั้น จะบอกได้ไหมว่ากรุณา หรือว่าเพื่อตนเอง จะมีชื่อเสียง จะเป็นองค์กรที่มีคนมาร่วมด้วย หรือว่าเผยแผ่อะไรก็ตามแต่ ที่ต้องการให้คนนั้นเป็นอย่างนั้น แต่ไม่ได้หมายความว่า ช่วยให้เขาเข้าใจถูก ให้เห็นถูก ให้พ้นจากความเข้าใจผิด เห็นผิด แต่ถ้าช่วยเท่าไรก็ไม่สำเร็จ เดือดร้อนไหม ถ้าเดือดร้อนไม่ใช่อุเบกขา เพราะว่าอุเบกขาต้องเป็นปัญญา ไม่ใช่ความไม่รู้แล้วเฉยๆ คนกำลังจะจมน้ำตาย เราก็ว่ายน้ำไม่เป็น จะทำอย่างไรดี แล้วแต่สภาพจิตที่มีปัญญาเกิดร่วมด้วย เพราะฉะนั้น ขณะใดก็ตามที่มีปัญญา แม้ช่วยไม่ได้ก็ไม่เดือดร้อน ขณะนั้นจิตไม่หวั่นไหวเลย เพราะขณะนั้น เห็นกรรม และผลของกรรม แต่ทำดีที่สุด ไม่ใช่อยู่เฉยๆ ทำดีที่สุด ช่วยได้ก็คือไม่หวั่นไหว แต่ถ้าช่วยไม่ได้ก็ไม่หวั่นไหว เพราะเหตุว่า ใครจะช่วยใครให้พ้นจากความทุกข์ซึ่งเกิดจากกรรมเป็นสมุฏฐาน ใครจะช่วยใครให้พ้นจากความตาย เมื่อถึงเวลาของกรรมที่จะทำให้สิ้นสุดความเป็นบุคคลนั้น ใครก็ทำอะไรไม่ได้ เพราะฉะนั้น ธรรมเป็นเรื่องที่ต้องเข้าใจไม่ใช่ตามๆ กัน และไปนั่งแผ่ โดยที่ว่าไม่เข้าใจอะไรเลย เห็นงูตกใจไหม รีบแผ่เมตตา งูจะได้ไม่กัด เมตตาหรือหวังผล

    ผู้ฟัง หวังไม่ให้งูมากัด

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ถ้าไม่มีคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ไม่สามารถที่จะเข้าใจถูกเห็นถูกตามความเป็นจริงของธรรมแต่ละหนึ่ง แล้วก็ถ้าไม่เข้าใจจะอบรมให้เจริญขึ้นได้ไหม ก็ยังมีความเป็นเรา เพราะฉะนั้น ความเป็นเราลึกซึ้งมาก นำมาซึ่งกายวาจาต่างๆ ทั้งกุศล และอกุศล ด้วยความเป็นเรา

    พระมหากรุณาอย่างยิ่งที่รู้ว่า ผู้ที่มีโอกาสได้ฟังธรรมเป็นผู้ที่มีกิเลสมาก เพราะฉะนั้น จะให้หมดจดจากกิเลสทันที เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น พระธรรมที่ทรงแสดงไม่ว่าตั้งแต่เริ่มที่เป็นปฐมเทศนา จนกระทั่งถึง ใกล้ที่จะปรินิพพาน ทั้งหมดเป็นไปเพื่อละบาปอกุศลทั้งปวง เจริญกุศลทั้งปวง ชำระจิตให้บริสุทธิ์ ชำระจิตให้บริสุทธิ์ทันทีได้ไหม ไม่มีทางเป็นไปได้เลย ด้วยเหตุนี้ อันตรายอย่างยิ่งคือบาป เพราะเหตุว่าทุกคนที่ยังมีความไม่รู้ ยังมีความวิชชาอยู่ ที่จะเว้นจากบาปอกุศลเป็นไปไม่ได้เลย เพียงแต่เพียงแต่ว่าจะมากหรือจะน้อย แต่อย่างไรก็ตาม กิเลสมีก็จริง บังคับบัญชาไม่ได้ มีเหตุปัจจัยที่จะเกิด แต่อย่าให้ถึงกับกระทำทุจริตกรรม ซึ่งจะเป็นโทษมาก แสดงถึงกำลังของอกุศลมากถึงระดับที่ทำให้เกิดการเบียดเบียนคนอื่น เพราะว่าอกุศลทั้งหมด เป็นระดับขั้นเมื่อถึงการเป็นทุจริตแล้ว ก็คือนอกจากเบียดเบียนตนเองขณะที่กิเลสเกิด ก็ถึงกับเบียดเบียนบุคคลอื่นด้วย

    นี่เป็นการที่แสดงให้เห็นว่า ถ้าจะเป็นผู้ที่ตรง คือ เป็นผู้ที่เห็นความจริงว่า กิเลสมาก และก็ไม่สามารถที่จะหมดกิเลส ชำระจิตให้บริสุทธิ์ได้ทันที แต่ต้องอาศัยการรู้จัก คือปัญญา สามารถที่จะเห็นความจริงของจิตของแต่ละคน ซึ่งคนอื่นจะรู้จิตของคนอื่นไม่ได้เลย ว่าจิตของตนเองก่อนฟังพระธรรมไม่เคยรู้เลย ว่ากิเลสมาก บางคนก็บอกว่า เขาไม่มีกิเลส เขาไม่ได้ทำร้ายใคร เขาไม่ได้เบียดเบียนใคร เขาไม่ได้ลักขโมยใครเป็นต้น แต่พูด เพราะไม่รู้ว่า กิเลสมีหลายระดับขั้น วันนี้กิเลสขั้นร้ายแรงยังไม่เกิด ใครจะรู้ว่าต่อไปจะเกิด

    อย่างองคุลิมาลเกิดมา คิดหรือว่าจะฆ่าคน แต่ก็มีเหตุปัจจัยที่จะให้เป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้น ประมาทกิเลสไม่ได้เลย จากเล็กน้อยที่สุด ก็สามารถที่จะถึงการที่เบียดเบียนคนอื่นได้ เพราะกิเลสมากอย่างนี้ ใครที่จะคิดดับกิเลส อยากจะประจักษ์สภาพธรรมที่เป็นอริยสัจจะ โดยไม่มีการเข้าใจสิ่งที่กำลังมีในขณะนี้ตามความเป็นจริง เป็นไปไม่ได้เลย

    อ.วิชัย โอวาทปาติโมกข์เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย แต่ดูเหมือนว่า ถ้าบุคคลที่เป็นผู้ที่มีความเห็นถูกบ้าง ก็รู้ว่าบาปเป็นสิ่งที่ควรเว้น การที่ทรงแสดงเรื่องของการที่จะเว้นความชั่วหรือว่าบาปทั้งปวง ต้องมีหนทางที่จะรู้ว่า ขณะไหนเมื่อไร ที่จะเป็นบาปหรืออกุศล

    ท่านอาจารย์ ทั้งหมดเป็นเรื่องของปัญญา โดยมากเกิดมาก็มี ๒ อย่าง ดีกับชั่ว เพราะฉะนั้น คนที่ขณะที่กำลังทำความชั่ว ไม่รู้ตัวว่ากำลังทำชั่วในขณะนั้น เพราะฉะนั้น ขณะนี้มีกิเลส ก็ไม่รู้ว่ามีกิเลส ใครรู้เดี๋ยวนี้ หลังเห็นแล้วกิเลสเกิดทันทีเลย ถ้าไม่ทรงแสดงไว้ไม่มีทางจะรู้ เพราะฉะนั้นกิเลส มีตั้งแต่อย่างละเอียดจนกระทั่งถึงอย่างหยาบพอที่จะรู้ได้ และถ้าไม่เกิดปรากฏว่ามี ใครจะรู้ว่ามี ก็คิดว่าไม่มี แต่คำสอนของผู้ที่ทรงตรัสรู้ทรงแสดงความจริงตามลำดับขั้นว่า ถึงแม้ว่าจะยังไม่ได้มีความเข้าใจธรรมพอที่จะละการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน แต่ก็ยังต้องรู้ว่าควรเว้นสิ่งที่ไม่ดี

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 176
    11 มี.ค. 2567