ปกิณณกธรรม ตอนที่ 726


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๗๒๖

    สนทนาธรรม ที่ โรงแรมอิมพีเรียลแม่ปิง จ.เชียงใหม่

    วันที่ ๒๗ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๘


    ท่านอาจารย์ ขณะที่มีจิตเกิดขึ้น อย่างน้อยที่สุดจะมีเจตสิกเกิดกับจิตนั้น ๗ ประเภท จะใช้คำว่า ดวง ก็ได้ ขณะนี้เลย ใครรู้ ถ้าไม่ฟัง มีผัสสเจตสิก เจตสิกหนึ่งซึ่งทำกิจกระทบอารมณ์ ถ้าไม่มีผัสสเจตสิก จิตเกิดไม่ได้ เพราะฉะนั้น จิตก็ต้องอาศัยเจตสิก เจตสิกก็ต้องอาศัยจิต แสดงให้เห็นว่า สิ่งที่เราดูเหมือนยั่งยืน เป็นคนเกิดมา เจริญเติบโต มีเรื่องราวต่างๆ มากมายในชีวิต แล้วก็แก่ แล้วก็เจ็บ แล้วก็จากโลกนี้ไป แท้ที่จริงก็คือจิตแต่ละ ๑ ขณะ ซึ่งเกิดดับสืบต่อ เร็วมากหลายๆ ประเภทสืบต่อกัน

    เพราะฉะนั้น ให้ทราบว่าที่ว่าเป็นเรา และได้ยินคำว่า จิต ก็คือว่า ถ้าไม่มีจิต ไม่มีเรา แต่เข้าใจผิดคิดว่าจิตเป็นเรา เช่นขณะที่กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ เพราะจิตเกิดดับเร็วมาก ก็เข้าใจว่าจิตเป็นเรา ที่กล่าวซ้ำไปซ้ำมา ก็เพราะ จิตเป็นสิ่งที่รู้ไม่ง่าย แม้ว่ามี ฟังเท่าไร ก็ลืม แม้แต่ขณะนี้ ฟังแล้ว เห็นเป็นอะไร เป็นเรา ยังไม่เป็นจิต ยังไม่เป็นเจตสิก เพราะฉะนั้น จึงต้องฟังบ่อยๆ ให้รู้ว่าแท้ที่จริงแล้วทุกขณะคือ จิต และเจตสิก ซึ่งเกิดขึ้นรู้สิ่งที่ปรากฏทางตา ได้ยินเสียงที่ปรากฏทางหู เดี๋ยวเห็น เดี๋ยวได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส แล้วก็คิดนึกทุกวัน นอกจากนี้มีอะไรอีกหรือเปล่า เมื่อวานนี้เห็น วันนี้เห็น พรุ่งนี้ก็เห็นอีก มีได้ยิน วันนี้ พรุ่งนี้ก็ได้ยินอีก ไม่ใช่ขณะเดียวกันเลย และมีเรื่องราวมากมายจากสิ่งที่ปรากฏให้เห็น เป็นคนนั้นเป็นคนนี้ เป็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ โดยไม่รู้ความจริงเลยว่า แค่เห็นแล้วก็หมดไป แล้วก็ไม่ใช่เราด้วย ธาตุรู้ที่เกิดขึ้นเห็นก็ดับแล้ว เพราะฉะนั้น กว่าจะรู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจริงๆ โดยการที่ฟังธรรม เข้าใจขึ้นเมื่อไร เริ่มเห็นพระปัญญาคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ว่าทรงตรัสรู้ว่า แม้จิตหนึ่งขณะสั้นมาก แต่ก็ต้องอาศัยปัจจัยมาก ถ้าอาศัยเจตสิกก็ถึง ๗ ประเภท ที่จะทำให้สภาพของจิตเกิดขึ้นเป็นไป แต่ว่าไม่ได้มีแต่เฉพาะเห็น ได้ยิน ยังมีชอบ ไม่ชอบ มีกุศล มีอกุศล มีกรรมต่างๆ มีผลของกรรมอื่นอีกด้วย ก็แสดงให้เห็นว่า ความไม่รู้ในวันหนึ่งมากแค่ไหน

    เพราะฉะนั้น การฟังธรรมจึงต้องอดทน ขันติบารมี ถ้าไม่มีบารมี ธรรมยาก ไม่ฟังดีกว่า แต่ลืม เพราะยากจึงต้องเริ่มฟัง ถ้าไม่เริ่มฟัง เมื่อไรจะเข้าใจ แม้เพียงขั้นการฟัง เพราะฉะนั้น เมื่อเห็นคุณค่าของปัญญา คุณค่าของพระธรรมที่ได้ตรัสรู้ และทรงแสดงธรรมไว้โดยประการทั้งปวง โดยสิ้นเชิงทุกสิ่งทุกอย่าง ที่มีจริงในชีวิต สามารถที่จะเข้าใจในความเป็นจริงนั้นได้ ที่จะเช้าใจว่าเป็นธรรมแต่ละอย่าง นอกจากความอดทนเพราะรู้ว่าธรรมยาก ยังต้องเป็นผู้ตรง และจริงใจ กำลังฟังธรรมเดี๋ยวนี้ เพื่ออะไร ถ้าไม่ตรง ไม่จริงใจ ก็จะไม่สามารถเข้าใจธรรมได้ ฟังเพราะรู้ว่าไม่รู้ใช่ไหม และฟังเพราะรู้ว่าที่ไม่รู้นี่ มีผู้ที่ทรงตรัสรู้ และทรงแสดงให้เข้าใจได้ จะฟังไหม ถ้าไม่ฟัง ไม่มีโอกาสอีกเลย ในชาตินี้ และในชาติต่อๆ ไป แต่ถ้าเริ่มฟัง ค่อยๆ รู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และสิ่งที่ได้ฟังแต่ละคำ วาจาสัจจะทั้งหมด จะนำไปสู่ญาณสัจจะ ความรู้จริงๆ จะนำไปสู่อริยสัจจะ ตามที่ทุกคนหวังเหลือเกิน ไม่มีกิเลส ดีไหม

    บางคนโกรธ ไม่อยากโกรธ แต่ไม่รู้ว่าใคร ที่ไม่อยากโกรธ เราไม่อยากโกรธ เพราะว่าไม่เข้าใจว่า โกรธเป็นธรรม ไม่ว่าอะไรทั้งหมดที่มีจริงๆ เป็นธรรมทั้งนั้น ดีหรือชั่วก็เป็นธรรม เพราะฉะนั้น บางคนอาจจะคิดว่า เราชนะกิเลสแล้ว อยากจะทำอย่างนั้น ก็ไม่ทำ วันนี้เก่งมาก งดเว้นไม่ทำอย่างนั้นอย่างนี้

    แต่ลืมยังเป็นเรา ไม่มีทางชนะ เพราะพระธรรมที่ทรงแสดง แสดงให้เห็นว่าชนะจริงๆ ต้องสามารถที่จะรู้ความจริง แล้วก็ละกิเลสตามลำดับ คือละการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นเรา ทั้งหมดเลยไม่เหลืออีกเลย และก็เป็นสิ่งที่เป็นไปได้ ซึ่งคนในยุคของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้รู้แจ้งอริยสัจจธรรมกันมาก มาจากไหน รู้ได้อย่างไร ธรรมลึกซึ้ง และแสนยาก รู้ได้เพราะค่อยๆ ฟัง ค่อยๆ เข้าใจ ค่อยๆ ละความเป็นตัวตน และความต้องการที่จะไม่มีกิเลสโดยไม่มีปัญญา ต้องละแน่นอน ใครคิดที่จะไม่มีกิเลสโดยไม่มีปัญญา เลิกคิดได้ เพราะคนนั้นไม่ได้ฟังพระธรรม ถ้าฟังพระธรรมรู้ว่าไม่ใช่เราที่จะไม่มีกิเลส แต่เพราะปัญญาความเห็นถูก ในสิ่งซึ่งไม่เคยเข้าใจมาก่อนเลย ก็ค่อยเข้าใจขึ้น ความรู้อย่างนั้นจะค่อยๆ ละความไม่รู้ จนกว่าจะหมด

    นี่คือผู้ที่นับถือพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และกล่าวว่ามีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นที่พึ่ง มีพระธรรมเป็นที่พึ่ง แล้วมีพระอริยสงฆ์เป็นที่พึ่ง ไม่พึ่งคนอื่น ไม่ฟังคนอื่น เพราะเหตุว่า ถ้าเป็นคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ฟังแล้วเข้าใจ ยากจริง ลึกซึ้งจริง แต่มีจริงๆ ให้พิจารณาว่า เป็นจริงอย่างนั้นหรือเปล่า แล้วก็ค่อยๆ มีความเห็นถูกต้องขึ้น ทีละเล็กทีละน้อย เพราะฉะนั้น จิตก็มีหลายประเภท หลากหลาย แต่ก็ต้องฟังด้วยความอดทน ด้วยความจริงใจ และด้วยอธิษฐาน คือ ความมั่นคง อธิษฐานไม่ใช่ไปขอใคร แต่อธิษฐานหมายถึงความมั่นคง ความมั่นคงที่จะเข้าใจธรรม ประเสริฐกว่าได้ลาภมหาศาล ได้ลาภมหาศาลป่วยไข้ แล้วลาภมหาศาลทำอะไรได้ ลุกไม่ได้ รับประทานอาหารไม่ได้ นอนอยู่กับที่ ลาภมหาศาลมีประโยชน์อะไร แต่ว่าลาภที่เหนือกว่าสิ่งใดทั้งสิ้น ใช้คำว่า ลาภานุตตริยะ คือ การเข้าใจธรรมซึ่งเป็นสิ่งที่มีจริง ซึ่งสามารถที่จะรู้ความจริงจนถึงการดับกิเลสได้ แต่ไม่ทราบว่าที่ฟังนี้ คิดอะไร ฟังทำไม ฟังเพื่ออะไร หรือว่าคิดที่จะดับกิเลสเร็วๆ หรือว่าคิดว่าเพียงขอให้ได้เข้าใจพระธรรมซึ่งลึกซึ้งจึงสามารถที่จะดับกิเลสได้

    อ.วิชัย เมื่อสักครู่กล่าวถึงคำว่า เจตสิก ความหมายของคำนี้ และมีสภาพธรรมอย่างไร

    อ.คำปั่น โดยความหมายของเจตสิก เจตสิกหมายถึงสภาพธรรมที่เกิดประกอบกับจิต รู้อารมณ์เดียวกันกับจิต ดับพร้อมกับจิต และในภูมิที่มีขันธ์ ๕ เจตสิกก็ต้องอาศัยที่เกิดที่เดียวกันกับจิตด้วย เจตสิกธรรมก็มีหลากหลายมากมายจำแนกออกเป็นประเภทต่างๆ ๕๒ ประเภท บางประเภทเป็นอกุศลเจตสิก บางประเภทเป็นเจตสิกที่ดีงามที่เกิดร่วมกับจิตที่ดีงาม บางกลุ่มเกิดทั่วไปกับจิตทุกขณะ บางประเภทเกิดเรี่ยรายหมายความว่า เกิดกับกุศลก็ได้ เกิดกับอกุศลก็ได้ เกิดกับวิบากก็ได้ เกิดกับกิริยาก็ได้ ซึ่งก็เป็นความละเอียดที่เมื่อได้ฟังได้ศึกษาต่อไปก็จะค่อยๆ เข้าใจขึ้น

    ท่านอาจารย์ ขอกล่าวถึงคำว่า บ่น เพ้อ ก่อนที่จะถึงธรรม เพราะเราทราบแล้วว่าธรรมก็คือสิ่งที่มีจริงๆ ธรรมดาบ่นกันบ้างหรือเปล่า เรื่องนิดเดียวบ่นยาว บางคนครึ่งวันยังไม่จบ บางคนต่ออีกวันรุ่งขึ้น ซ้ำซากคนฟังเรื่องเดียวกันนั่นแหละ พูดทำไม บ่นทำไม มีประโยชน์หรือเปล่า นี่คือบ่น และเพ้อ คืออย่างคนที่ไม่รู้สึกตัว ป่วยหนัก เราเข้าใจคำนี้เลย เพ้อแล้ว เวลาพูดอะไรก็ไม่รู้ ไม่รู้ตัว เพราะฉะนั้น แต่ละคนพูด รู้ตัวหรือเปล่าว่ากำลังพูดอะไร

    พราะฉะนั้น จิตละเอียดมาก มีทั้งกุศลจิต และอกุศลจิต วาจาเกิดจากจิต ถ้าไม่มีจิต พูดไม่ได้ แล้วขณะนี้เหมือนกับว่าไม่ได้มีความคิดใดๆ เลย แต่สภาพธรรมเกิดดับเร็วมาก เสียงที่ได้ยินต้องมาจากจิตที่คิด แล้วแต่ว่าจิตนั้นคิดอะไร ก็พูดเนื้อความของเสียงตรงกับความคิด เพราะฉะนั้น ขณะนี้ มีรูปที่ทำให้เกิดเสียงเพราะจิตเกิดขึ้น ก็ไม่รู้ และเสียงขณะนี้ บางเสียงเกิดขึ้นเพราะจิต บางเสียงไม่ได้เกิดขึ้นเพราะจิต อย่างเสียงภายนอกไม่ได้เกิดเพราะจิต ถึงแม้ในร่างกาย เสียงที่เกิดเพราะจิต คือขณะที่กำลังพูด กำลังคิดก็มี เสียงในร่างกายซึ่งไม่ได้เกิดจากจิตก็มี

    เพราะฉะนั้น แม้แต่ แต่ละคำพระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ และทรงแสดงความจริงไว้ละเอียดยิ่งเพื่อให้เห็นว่าเป็นธรรมจริงๆ แต่ละหนึ่ง เพราะฉะนั้น ก่อนฟังธรรม ก็เพ้อกันไปด้วยการไม่รู้สึกตัวเลยเรื่องที่พูด ควรพูดไหม พูดแล้วมีประโยชน์ไหม แล้วพูดทำไม ขณะที่เป็นอกุศลจิตแล้วก็ไม่รู้สึกตัวแล้ว แล้วแต่ว่าพูดเรื่องอะไร ถ้าพูดอย่างขาดสติ กำลังป่วยหนัก นั่นเพ้อแน่ ทุกคนรู้ แต่ถึงไม่ป่วยหนักทางกาย ใจป่วยไหม เพราะว่ามี ๒ อย่าง กายป่วยกับใจป่วย กายป่วยก็รู้จักกันแล้ว ปวดหัว ตัวร้อน เป็นไข้ต่างๆ นานา แต่ใจป่วย รู้หรือเปล่า เมื่อไร กำลังป่วยก็ไม่รู้ ขณะใดก็ตามที่มีอกุศล ใจป่วยแล้ว บางคนเจ็บหนัก ใจหนักมาก เจ็บมาก เดือดร้อนมาก ป่วยก็ไม่รู้ว่าขณะนั้นโรคโทสะ หรือว่าโรคโลภะ และโรคโมหะแน่ๆ มีกันอยู่แล้ว

    เพราะฉะนั้น ชีวิตวันหนึ่งวันหนึ่งไม่รู้สึกตัวเลย ถ้าไม่ได้ฟังคําสอน ไม่รู้สภาพของจิตแต่ละขณะ แม้แต่แต่ละคำที่พูด ก็ไม่รู้ว่าขณะนั้น อะไรเป็นปัจจัยให้คำนั้นกล่าวออกไป ด้วยเหตุนี้ ถ้าคำนั้นเป็นคำที่ไม่มีประโยชน์เลยทั้งสิ้น แล้วก็พูดมากๆ พร่ำเพ้อ เราก็บอกว่าคนนั้นเพ้อ พร่ำเพ้ออยู่ได้ ไม่ว่าจะด้วยโลภะ เพ้อได้ไหม พร่ำเพ้อออกมาอาจจะเป็นบทกลอน เป็นเพลงอะไร สารพัดที่จะเพ้อไปก็ได้ ถ้าเป็นโทสะก็เพ้ออีกเหมือนกัน แรงด้วย มีแต่คำที่ไม่น่าฟังทั้งหมดก็มาจากอกุศลจิต ซึ่งมีโมหเจตสิก สภาพที่ไม่สามารถเข้าใจความจริงของสิ่งที่มีจริงๆ ได้เลย ตรงกันข้ามกับปัญญาหรือวิชชา เพราะฉะนั้น สำหรับโมหะความไม่รู้มีอีกคำหนึ่งคือ อวิชชา และสำหรับธรรมที่ตรงกันข้ามที่สามารถรู้ และเข้าใจความจริงได้คือ วิชชา

    เพราะฉะนั้น เพียงเท่านี้ จะเห็นได้ไหมว่า คนพูดมาก พูดอะไร เพ้อหรือเปล่า แต่ถ้ากล่าวธรรมมากแล้วมีประโยชน์ เพ้อหรือเปล่า ตรงกันข้ามแล้ว แม้แต่คำว่า เพ้อ ก็ต้องเข้าใจ ให้ถูกต้อง สิ่งที่ไร้สาระไม่เป็นประโยชน์เลย เพราะฉะนั้น เวลาที่เพ้อเรื่องอื่นมาหมดแล้ว ตอนนี้มาศึกษาธรรม เปลี่ยนเรื่องเพ้อแล้ว แต่ก็ยังเพ้อได้ เมื่อไม่ได้เข้าใจสิ่งที่พูด แต่ว่าพูดได้หมด ใครก็ตามที่พูดไป แต่ว่าไม่ได้เข้าใจ เพ้อหรือเปล่า เพราะฉะนั้น เมื่อเข้าใจแล้วก็คงรู้ว่า วันหนึ่งวันหนึ่งเพ้อธรรม หรือเข้าใจคำที่พูด

    ผู้ฟัง การทำบุญด้วยปัญญา ขอความละเอียดเรื่องนี้

    ท่านอาจารย์ ความละเอียดของการทำบุญด้วยปัญญา รู้จักบุญหรือยัง แต่ละคำจริงๆ เพราะฉะนั้น จะมีคำถามเสมอว่า ทำอย่างนี้เป็นบุญไหม หมายความว่าคนนั้นไม่รู้จักบุญจึงต้องถาม ทำอย่างนี้ได้บุญไหม ไม่รู้จักบุญอีกเหมือนกัน ทำอย่างนี้ได้บุญมากไหม ก็ไม่รู้บุญอีกเหมือนกัน ถ้ารู้จักจะไม่ถามเลย การทำบุญด้วยปัญญาก็เพิ่มมาอีก แต่ละคำ ถ้าศึกษาธรรมจริงๆ จะเป็นผู้ที่รู้จักสภาพธรรมไม่ใช่เพียงแต่กล่าวชื่อ โดยไม่รู้จักสภาพธรรม ก่อนที่จะทำบุญด้วยปัญญา บุญคืออะไร

    อ.ธีรพันธ์ บุญเป็นสภาพธรรมที่ดีงาม ขณะนั้นที่เกิดขึ้นไม่มีโลภะ โทสะ โมหะเกิดร่วมด้วย ไม่ว่าจะเป็นไปในขั้นทาน ขั้นวิรัติทุจริตทางกายวาจา หรือแม้ขั้นการฟังธรรม จึงเรียกว่าเป็นบุญ เพราะว่าชำระจิตสันดานให้บริสุทธิ์

    ท่านอาจารย์ ส่วนใหญ่เข้าใจว่า แต่ละคนมีความไม่รู้มามากมาย แล้วก็พูดคำที่ไม่เข้าใจก็มาก เพราะฉะนั้น ถ้าจะให้เข้าใจจริงๆ ยังไม่ผ่านไปง่ายๆ แต่ว่าใครที่ถามบ้างสนทนาบ้าง ทบทวนบ้าง เพื่อที่จะให้รู้ว่าเข้าใจจริงๆ หรือเปล่าซึ่งเป็นประโยชน์ของคนฟัง เพราะว่าผู้ฟังบางท่านอยากได้ยินยาวๆ มากๆ คำที่ผ่านมาทั้งนั้นเลย อริยสัจ อายตนะ ปฏิจจสมุปบาท ไม่ยากที่จะอ่าน อ่านออก แต่ไม่รู้เรื่อง ไม่เข้าใจจริงๆ เพราะเป็นสภาพธรรมเดี๋ยวนี้ทั้งหมด แต่ว่าถ้าไม่เข้าใจสิ่งที่มีจริง เป็นเบื้องต้นทีละเล็กทีละน้อย ไม่มีทางจะเข้าใจสิ่งที่ถามหรือที่คิด อย่างทำบุญที่ประกอบด้วยปัญญา เพราะฉะนั้น ก็ขอถาม รูปเป็นบุญหรือเปล่า

    ผู้ฟัง รูปไม่มีบุญ รูปไม่รู้อะไรเลย

    ท่านอาจารย์ นี่ต้องแน่นอน รูปสวยๆ เป็นบุญหรือเปล่า

    ผู้ฟัง รูปสวยก็ไม่ใช่บุญ

    ท่านอาจารย์ เสียงเพราะๆ เป็นบุญหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ก็ไม่ใช่บุญ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ธรรมคือจิต เจตสิก รูป รูปเป็นบุญเป็นบาปไม่ได้ เพราะเหตุว่าไม่ใช่สภาพรู้ จิตเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้

    บุญจริงๆ ได้แก่ เจตสิก ซึ่งเจตสิกที่ดีใช้คำว่าบุญได้ กุศลได้ สภาพธรรมที่ดีงาม ไม่เป็นโทษ เมื่อสภาพธรรมนั้นเป็นเหตุที่ไม่มีโทษ ผลก็คือว่าสามารถที่จะทำให้ผลที่ดีเกิดขึ้นได้ ที่เราเรียกว่า บุญกับผลของบุญ ถ้าสภาพธรรมใดมีโทษจะทำให้สภาพธรรมนั้นทำให้เกิดผลที่ดีได้ไหม ไม่ได้ เพราะฉะนั้น เราจึงมีคำว่า บาปกับผลของบาป เพราะฉะนั้น บุญบาปเป็นเหตุ

    จิตเป็นธาตุรู้ แต่จิตตามลำพังจิตเองไม่ใช่บุญไม่ใช่บาป ใช้อีกคำหนึ่งว่า ปัณฑระ หมายความว่าผ่องแผ้ว ไม่กล่าวถึงเจตสิกเกิดร่วมด้วยเลย แต่ขณะใดมีอกุศลเจตสิกเกิดร่วมด้วย ไม่ผ่องแผ้วแล้ว ถ้าขณะใดมีกุศลเจตสิกเกิดร่วมด้วย ก็ดีงาม หมายความว่า เป็นสภาพธรรมที่ไม่เป็นโทษ และก็ให้ผลเป็นสุขด้วย

    เพราะฉะนั้น ต้องเข้าใจ บุญก็คือสภาพธรรมที่ดีงาม เป็นเจตสิกที่เกิดกับจิต ทำให้จิตนั้น จากปัณฑระเป็นกุศลธรรมสามารถที่จะให้ผลได้ เพราะเหตุว่าเป็นเหตุ แต่ถ้าจิตของพระอรหันต์ ไม่มีบาปใดๆ เลยทั้งสิ้น ดับอกุศลหมด แต่การกระทำของท่านเป็นไปในเรื่องที่เป็นประโยชน์ ในเรื่องการกุศลทั้งหมด แต่ไม่เป็นเหตุให้เกิดผล จึงเป็นกิริยาจิต ได้ยินแต่ละคำ อย่าเพิ่งทิ้ง ยากไป แต่ต่อไปค่อยๆ ฟังเพิ่มขึ้นทีละเล็กทีละน้อย ก็จะรู้จักสภาพของจิตละเอียดขึ้น มิฉะนั้นเราไม่ได้ศึกษาพระพุทธศาสนาแน่ ถ้าเราเพียงแต่พูดถึงเรื่องบุญบ้าง บาปบ้าง อริยสัจบ้าง แต่ไม่รู้ความจริงว่า จิตที่เกิดขึ้นหลากหลายโดยประเภทต่างๆ อย่างไรก่อน นี่ก็แสดงให้เห็นถึงความละเอียด เพราะฉะนั้น ตอนนี้ ตอบเองได้เลย ขณะใดก็ตามที่จิตมีกุศลเจตสิกที่ดีงามเกิดร่วมด้วยเป็นอะไร

    ผู้ฟัง เป็นบุญ

    ท่านอาจารย์ เป็นบุญ แต่ในขณะนั้นไม่ได้มีความเข้าใจถูก ความเห็นถูก อย่างคนที่ก่อนจะได้ฟังพระธรรม มีทั้งเดี๋ยวบุญเดี๋ยวบาป เดี๋ยวดีเดี๋ยวชั่ว แม้ขณะนั้นที่เป็นกุศลทำดีต่างๆ ช่วยเหลือคนอื่น มีความนอบน้อมต่อผู้ที่ควรนอบน้อม ให้สิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น ขณะนั้นก็ไม่รู้ความจริงว่าไม่ใช่เรา เพราะฉะนั้น บุญประเภทที่ไม่มีความเห็นถูกเกิดร่วมด้วย ไม่ประกอบด้วยปัญญา ทั้งๆ ที่เป็นกุศล เดี๋ยวนี้ เป็นบุญหรือเปล่า กำลังฟังธรรม

    ผู้ฟัง เป็นบุญ

    ท่านอาจารย์ เมื่อไร

    ผู้ฟัง เมื่อมีจิตที่ตั้งมั่น และพิจารณาในสภาพธรรม

    ท่านอาจารย์ ถ้าขณะนั้นผ่องแผ้ว ไม่เดือดร้อนใจ ไม่มีโลภะ ไม่มีโทสะ ไม่มีความโกรธ ไม่มีความกังวล ไม่มีความเบื่อหน่าย ขณะนั้นเป็นกุศล แต่ว่าขณะใดก็ตามกำลังฟังธรรม แล้วบอกว่าเป็นบุญ ก็ไม่ถูก เพราะเหตุว่า ฟังแค่นิดเดียว ได้ยินเสียงแล้วก็คิดแต่ว่า แต่ว่าใจอาจจะกังวล หรือว่าเบื่อ หรือว่าเมื่อย หรืออะไรอย่างนั้น ขณะนั้นก็ไม่ใช่บุญ

    ถ้ากล่าวถึงบุญ และบาป ต้องกล่าวถึงจิตทีละหนึ่งขณะ ไม่ใช่กล่าวรวมรวม เพราะฉะนั้น กำลังฟังขณะนี้ เป็นกุศล ขณะที่ผ่องแผ้ว มีจิตอาจจะโสมนัสก็ได้ มีโอกาสได้ฟังวาจาสัจจะ เป็นพุทธพจน์ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หาโอกาสอย่างนี้ได้บ่อยไหมในชีวิต เพราะฉะนั้น ก็ปลาบปลื้มใจ มีโอกาสได้ยินได้ฟัง คำนั้นจริงหรือเปล่า ไม่ใช่ให้เชื่อ ไตร่ตรองจนกระทั่งเป็นความเห็นถูก และก็มีศรัทธาความผ่องใสของจิต มั่นคงขึ้นที่จะฟังต่อไป ก็เป็นเหตุให้ความเห็นถูกค่อยๆ เพิ่มขึ้น ปัญญาเจริญขึ้น เมื่อปัญญาเจริญขึ้น ก็มีศรัทธาความผ่องใสเพิ่มขึ้นอีก ด้วยเหตุนี้ศรัทธานำมาซึ่งสิ่งที่ดีงาม

    เพราะฉะนั้น ถ้ากล่าวโดยประเภทของโสภณเจตสิก ศรัทธากล่าวถึงเป็นเบื้องต้น เพราะเหตุว่า ถ้าไม่มีศรัทธา กุศลใดๆ ก็เกิดไม่ได้ แต่ว่าขณะนี้มีศรัทธา มั่นคงไหม พื้นฐานของการเข้าใจธรรม ถ้าไม่มีศรัทธาเมื่อไร ไม่มั่นคง ฟังนิดเดียว เบื่อแล้ว ฟังหน่อย หนึ่งยาก ใครจะฟังได้ เข้าใจได้ แต่ลืม เพราะยากจึงต้องตั้งต้น แล้วอดทน แล้วไม่ท้อถอยจึงจะรู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มิฉะนั้นจะไม่ได้ฟังคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแต่เป็นคำของคนอื่นซึ่งเข้าใจว่าง่าย แล้วก็ทำให้สบายใจ แต่ไม่ทำให้เกิดปัญญาความเห็นที่ถูกต้อง

    จะขอกล่าวถึงธรรมทีละคำ เพื่อความชัดเจนอย่างยิ่ง มิฉะนั้นแล้วเราก็อาจจะข้ามไปก็ทำให้ไม่เข้าใจ เป็นการถูกต้อง ที่จะกล่าวว่า ขณะใดก็ตามที่จิตเกิดขึ้น เห็นบ้าง ได้ยินบ้าง ทางตา ทางหู หรือจมูก หรือลิ้น หรือกาย หรือใจ ขณะนั้นไม่ใช่ภวังคจิต

    เพราะฉะนั้น ก่อนอื่นต้องเข้าใจความหมายของภวังคจิตก่อน ขณะแรกที่จิตเกิดขึ้นในโลกนี้ ชาตินี้ มีใช่ไหม ขณะนั้นเพียงหนึ่งขณะ ที่เกิดขึ้นสืบต่อจากจุติจิต คือจิตสุดท้ายของชาติก่อน จุติจิต หมายความถึง จิตที่เคลื่อนพ้นสภาพความเป็นบุคคลนี้ เมื่อมีการเกิดต้องมีการตาย แต่ว่าสองคำนี้ คนไทยอาจจะใช้สับสน แต่ว่าที่ถูกต้องคือ จุติจิต คือ จิตขณะสุดท้ายของแต่ละชาติซึ่งทำให้เคลื่อนพ้นสภาพความเป็นบุคคลนี้ ไม่มีใครสามารถที่จะเอาเงินทองสมบัติใดๆ ไปซื้อ ไปหา ไปกล่าว ขอร้องวิงวอนให้มีจิตต่อไปอีกสักหนึ่งขณะก็ไม่ได้ เพราะเหตุว่าจิตต้องเกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย เพราะฉะนั้น ต้องมีการตายของชาติก่อน เมื่อจิตขณะสุดท้ายของชาติก่อนคือ จุติจิตเกิด และดับไป เป็นปัจจัยให้จิตขณะแรกของชาตินี้เกิดขึ้น ใช้คำว่า ปฏิสนธิจิต เป็นผลของกรรมหนึ่ง เลือกไม่ได้ เพราะฉะนั้น ที่ทุกคนเกิดมาในโลกนี้ เลือกเกิดเป็นคนนี้ในโลกนี้ในชาตินี้หรือเปล่า

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 176
    11 มี.ค. 2567