ปกิณณกธรรม ตอนที่ 725


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๗๒๕

    สนทนาธรรม ที่ โรงแรมอิมพีเรียลแม่ปิง จ.เชียงใหม่

    วันที่ ๒๗ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๘


    ท่านอาจารย์ เกิดเป็นมนุษย์ก็ยาก และก็การที่เป็นมนุษย์ และมีศรัทธาหรือมีบุญที่ทำไว้แต่ปางก่อน ที่จะทำให้มีโอกาสได้ยินได้ฟังวาจาสัจจะ ซึ่งเป็นคำจริงก็ยาก แม้ฟังแล้วจะมีการพิจารณา ไตร่ตรองเห็นประโยชน์มีจิตที่ผ่องใสจากอกุศล มีศรัทธาที่มั่นคงขึ้นว่าคำสอนเป็นคำสอนที่ยากที่จะได้ยินได้ฟัง การเกิดเป็นมนุษย์ชีวิตจะสั้นยาวแค่ไหนไม่มีใครรู้ได้ แต่เมื่อมีโอกาสได้ฟัง สะสมไปแล้วก็เป็นโอกาสที่จะทำให้เมื่อเกิดต่อไปข้างหน้า ชาติไหนชาติหนึ่งหรือชาติหน้า ก็อาจจะมีปัจจัยที่จะทำให้ได้ยินได้ฟังอีกที่จะสะสมต่อไปอีก

    เพราะฉะนั้น ไม่ใช่สิ่งที่ใครจะรู้ได้โดยง่ายเลย เพราะว่าสิ่งที่ปรากฏก็เป็นแต่เพียงนิมิตของสิ่งที่มีจริง ซึ่งกว่าจะได้ฟัง เข้าใจคำว่า นิมิต แล้วถูกต้องไหม ตอนนี้ไม่สงสัยเรื่องนิมิต ถ้าไม่มีปรมัตถธรรม นิมิตไม่มี แต่เพราะเหตุว่าปรมัตถธรรม เกิดดับสืบต่อกันเร็วมากจึงปรากฏนิมิต ในพระไตรปิฎกใช้คำว่า รูปนิมิต เวทนานิมิต สัญญานิมิต สังขารนิมิต วิญญาณนิมิต

    ขันธ์ทั้ง ๕ หมายความว่า จิต เจตสิก รูป มีจริง แต่ทรงแสดงโดยอีกนัยหนึ่ง คือโดยนัยของความยึดถือ อุปาทานขันธ์ ก็จำแนกออกไปว่า เกิดมามีชีวิตอยู่ ตั้งแต่เกิดจนตายยึดมั่นในอะไรบ้าง พอถึงคำว่า อุปทาน ไม่ได้ใช้คำว่านิมิตแล้ว แต่ถ้าไม่มีนิมิต จะมีอุปาทานไหม ธรรมทั้งหมดสอดคล้องกันทั้งหมด สามารถที่จะค่อยๆ เข้าใจขึ้นตามความเป็นจริง ไม่คิดเอง แล้วก็รู้ว่าหนทาง อย่าได้ไปปฏิบัติอะไร ทำอะไรด้วยความไม่รู้ แล้วก็คิดว่า สามารถที่จะเข้าใจความจริงของธรรม ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ได้ เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย ต้องอาศัยการฟังจริงๆ ละความไม่รู้ ขึ้นชื่อว่าความไม่รู้ มีไหม ไม่น่าสงสัยเลย ไม่รู้ตั้งแต่เกิด เพราะไม่รู้จึงเกิด ถ้ารู้แล้ว จนกระทั่งไม่เหลือความไม่รู้เลย ไม่ต้องเกิด เป็นพระอรหันต์ ทุกอย่างหมดสามารถที่จะโยงไปถึงคำสอนใน ๔๕ พรรษาได้ เพราะอะไรจึงทรงแสดงพระธรรมถึง ๔๕ พรรษา เพราะรู้ว่าสัตว์โลกไม่รู้ ทั้งหมดที่ไม่มีการได้ยินได้ฟัง พระธรรมไม่สามารถที่จะเข้าใจถูกได้

    ด้วยเหตุนี้พระนามว่า พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ใช่ใครตั้งให้เลย พระคุณนาม ที่ไม่มีบุคคลใดเสมอเหมือน ทั้งพระปัญญาคุณ พระบริสุทธิคุณ พระมหากรุณาคุณ ชื่ออื่นก็ชื่อได้ แต่ชื่อนี้ไม่มีทางเป็นไปได้ เพราะเหตุว่า ใครจะเรียกหรือไม่เรียก พระองค์ก็ทรงเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า นิมิตหรือเปล่า บัญญัติหรือเปล่า ถ้าไม่มี จะมีคำนี้ได้ไหม แต่ก่อนที่จะมีบัญญัติ ก็ต้องมีนิมิต เพราะเหตุว่าเวลานี้มีอะไรตั้งหลายอย่าง เป็นนิมิต แต่ยังไม่ได้เรียกชื่อ ถ้าจะเรียก เรียกอะไรก็ได้ ให้หมายรู้กัน ว่าหมายความถึงสิ่งนั้น

    เมื่อมีนิมิตแล้ว บัญญัติ ก็คือว่า รู้ได้โดยอาการนั้นๆ คืออาการของนิมิต นิมิตอย่างนี้รู้ได้ว่าคน นิมิตอย่างนี้รู้ได้ว่าไม่ใช่คน ยังไม่ต้องเรียกชื่อ แต่ว่าทันทีที่สามารถที่จะจำก็มีนิมิตแล้ว จำได้ว่าสิ่งนี้เป็นอะไร รูปร่างอย่างไร ไม่ต้องเรียกอะไรเลย อย่างเด็กเกิดใหม่เห็น เห็นนิมิตหรือเปล่า เด็กเกิดใหม่มีตาลืมตาขึ้นมาต้องเห็น เห็นนิมิตหรือเปล่า หรือเห็นอะไร เห็นสิ่งที่ปรากฏโดยเป็นนิมิต เพราะเกิดดับสืบต่อ นี่คือโลกที่เราไม่เคยรู้เลยถ้าไม่มีการฟัง

    เมื่อเป็นนิมิตแล้ว จะรู้ว่าหมายความถึงอะไร ก็ต้องใช้เสียง เป็นสัททบัญญัติ แต่ถ้าเราไม่ต้องใช้เสียงเลย นิมิตนั้นแต่รู้ได้โดยอาการนิมิตนั้น ก็เป็นอรรถบัญญัติ งู รู้ว่าอะไรเป็นอาหาร ไม่ต้องเรียก แต่เห็นนิมิตแล้ว มีปญฺญตฺติในสิ่งนั้นว่าเป็นอะไรโดยอรรถ รูปร่างต่างกันแต่ว่ายังไม่ต้องมีคำสำหรับจะเรียกสิ่งนั้นเลย แต่สำหรับคนที่ใช้ภาษาได้ พูดได้ เราก็มีคำมาก สำหรับที่จะเรียกสิ่งนั้นสิ่งนี้ว่าอะไร แต่ถ้าไม่ใช่คน นกมีนิมิตไหม มีจิตเกิดดับ มีสิ่งที่ปรากฏให้รู้ แต่ไม่รู้การเกิดดับ ก็ปรากฏเป็นนิมิต เพราะฉะนั้น สัตว์โลกเมื่อมีสิ่งหนึ่งสิ่งใดปรากฏ และมีความจำในสิ่งที่เกิดดับหลากหลายตามมหาภูตรูป ที่จะทำให้สีสันวัณณะที่ปรากฏหลากหลาย ก็มีนิมิตความจำในสิ่งที่หลากหลายนั้น

    งูก็ไม่มีเสียงอย่างเรา ที่จะเรียกสิ่งนั้นเรียกสิ่งนี้ได้ ปลา มีไหม ก็แล้วแต่ แต่อย่างน้อยก็ต้องมี ปรมัตถธรรม มีนิมิตแล้วก็มีบัญญัติ ที่เป็นอรรถบัญญัติ แต่ว่าถ้าเป็นสัททบัญญัติ ก็หลากหลายไปตามภาษาต่างๆ

    ฟังแล้วไม่ใช่ว่าลืมเลยแต่ว่าฟังแล้วบางคนก็ไตร่ตรอง บางคนก็หายไปวันสองวัน ได้ฟังใหม่ก็จำไว้ใหม่ แต่ว่าถ้าถามแล้วเข้าใจตอบได้ เห็นอะไร เมื่อฟังธรรมแล้ว ก่อนฟังเห็นคน เห็นโต๊ะ เห็นเก้าอี้ แต่พอฟังธรรมแล้ว เห็นอะไร จิตสามารถเห็นสิ่งที่ปรากฏให้เห็นได้ และเห็นนิมิต ของสิ่งที่ปรากฏให้เห็นได้ แล้วก็รู้ได้โดยอาการนั้นๆ เป็นบัญญัติ อรรถบัญญัติว่านี่เป็นคน นี่เป็นสัตว์แต่ทั้งหมดเป็นธรรม จิตก็เป็นธรรม เจตสิกก็เป็นธรรม รูปก็เป็นธรรม จึงไม่มีเรา และไม่ใช่เรา แต่เพราะไม่รู้ก็ยึดมั่นในสิ่งที่ปรากฏมั่นคงว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด

    การฟังก็คือว่าเมื่อได้ยินได้ฟังแล้ว จะได้ยินบ่อยไหม หรือได้ยินเพียงครั้งเดียว หรือเวลาฟังฟังแล้วเข้าใจหมดเลยจริงๆ สามารถจำได้ เพราะเหตุว่าเข้าใจ ไม่ใช่ไปนั่งท่อง รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ วิญญาณขันธ์ รูปูปาทานขันธ์ เวทนูปาทานขันธ์หรืออะไร โดยที่ไม่รู้ไม่เข้าใจ ท่องนิมิตอีกต่างหาก ท่องไปหมดเลยแต่ก็ไม่เข้าใจ ไม่ชื่อว่าศึกษาธรรม

    ศึกษาธรรม คือเข้าใจไม่ต้องท่อง เพราะจำเกิดแล้วเป็นสภาพธรรมที่ไม่ใช่เรา ยังมีอีกมากเพราะว่านี่เป็นแต่เพียงพื้นฐาน เพราะว่าใครก็ตาม ที่จะอ่านพระไตรปิฎก ไม่สามารถที่จะเข้าใจได้ เพราะอะไรเพราะไม่เข้าใจ แต่คนที่เข้าใจแล้วสะสมมาที่จะเข้าใจ เคยฟังแล้วเคยเข้าใจแล้ว อ่านพระไตรปิฎกเข้าใจ อย่างพระสูตร มีชื่อพระเจ้าปเสนทิโกศล มีชื่อพระเจ้าพิมพิสาร มีเรื่องราวต่างๆ จิต เจตสิก รูปทั้งนั้นเท่านั้น แม้แต่ชาดกอดีตชาติของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก่อนที่จะได้ทรงตรัสรู้ คือ จิต เจตสิก รูป แต่ละพระชาติซึ่งเกิดเป็นบุคคลต่างๆ กัน บางชาติก็เป็นคนยากจนมาก บางชาติก็เป็นพระราชา บางชาติก็เป็นปุโรหิต ครูบาอาจารย์ต่างๆ เพราะฉะนั้น ชีวิตก็หลากหลายมาก แต่ทั้งหมดก็คือจิต และเจตสิกซึ่งเกิดดับ แล้วไม่กลับมาอีกเลยทุกชาติ แม้แต่เมื่อวานนี้ เหมือนฝันไหม ไม่เหลือเลยสักหนึ่ง และวันนี้ก็เหมือนฝันของพรุ่งนี้ แต่วันนี้ทำไปเลย ตั้งแต่เช้ามาทำโน่นทำนี่ แล้วพรุ่งนี้ก็ไม่เหลือเลยใหม่หมดทุกขณะ เพราะฉะนั้น แต่ละพระชาติก็ไม่ซ้ำกัน ทุกอย่างซึ่งเป็นจิตเจตสิกรูป เกิดดับแล้วไม่กลับมาอีกเลย

    อ.วิชัย มีภิกษุรูปหนึ่ง ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่าข้อที่ ๑ โลกอันอะไรหนอแลนำไป โลกอันอะไรชักมา บุคคลย่อมลุอำนาจของอะไรที่บังเกิดขึ้นแล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูกร ภิกษุ โลกอันจิตแลนำไป อันจิตชักมา และบุคคลย่อมลุอำนาจของจิตที่บังเกิดขึ้นแล้ว เรื่องของจิตซึ่งมีความสำคัญมาก แต่ว่าทุกท่านก็รู้ว่าขณะนี้ก็มีจิตอยู่ การที่จิตบังเกิดขึ้นแล้วก็จะให้บุคคลนั้น เป็นไปในการที่จะกระทำกุศลบ้างอกุศลบ้าง จิตนี้มีความสำคัญอย่างไร

    ท่านอาจารย์ เป็นปัญหาซึ่งคิดเองตอบคงยาก และก็ผู้ถามก็ถามถึงสิ่งที่ยากด้วยสำหรับคนที่ไม่เข้าใจ แต่สำหรับคนที่เข้าใจแล้ว ก็พอจะเข้าใจได้ เช่น โลกอันจิตนำไป ถ้าไม่มีสภาพธรรมใดเลยเกิดขึ้น อะไรก็ไม่มี เพราะฉะนั้น แม้จิตก็เป็นโลก ถ้าไม่มีจิตเกิดขึ้นจะมีโลกไหม ก็ไม่มี เพราะฉะนั้น ก็ต้องละเอียด แต่ว่าจิตเมื่อเกิดขึ้นแล้ว เป็นสภาพรู้เป็นธาตุรู้ ในขณะนี้ ทุกขณะจิตเกิดขึ้น นำไปสู่สิ่งที่ปรากฏ คืออารมณ์ นี่ก็ต้นๆ เลย หมายความว่า จิตเป็นสภาพรู้ต้องมีสิ่งที่ถูกรู้ แต่คำว่าสภาพรู้ก็แสนยาก ที่จะรู้ว่าลักษณะนั้นจริงๆ เป็นอย่างไร ทุกคนพอที่จะเข้าใจว่าเห็นมีจริงกำลังเห็น แต่พอบอกว่าเห็นเป็นธาตุชนิดหนึ่ง ซึ่งรู้ แล้วจิตรู้อะไร เพราะว่าคำว่า รู้ ก็หมายความถึงเห็นเดี๋ยวนี้แหละ ได้ยินเดี๋ยวนี้แหละ เพราะเหตุว่าขณะนั้น ถ้าไม่มีได้ยินจะรู้ไหมว่ามีเสียง จะรู้ไหมว่าเสียงที่ปรากฏ เป็นอย่างนี้ไม่เป็นอย่างอื่น เพราะฉะนั้น แม้แต่เสียงซึ่งหลากหลายมาก ที่รู้แต่ละเสียงนั้นก็เพราะจิตเป็นสภาพที่รู้แจ้งในเสียงนั้นเฉพาะเสียงที่ปรากฏ เสียงอื่นที่มีแต่จิตไม่ใช่รู้แจ้ง ก็ไม่สามารถที่จะรู้ลักษณะของเสียงนั้นได้ เพราะฉะนั้น ขณะนี้เอง จิตนำไปสู่ ถ้าเป็นจิตได้ยินนำไปสู่เสียง กำลังได้ยินเสียง จิต ในขณะที่กำลังเห็นคนอื่นอาจจะมัวคิดอะไรเพลิน แต่ก็ห้ามเห็นไม่ให้เกิดไม่ได้ ชั่วขณะนั้นไม่มีใครมีอำนาจที่จะบังคับบัญชาได้เลย ขณะใดที่มีสิ่งหนึ่งสิ่งใดปรากฏ จิตนำไปแล้วสู่สิ่งนั้น

    สิ่งที่เป็นใหญ่ที่สุดก็คือจิต ถ้าไม่มีจิต อะไรก็ไม่ปรากฏ ไม่ถูกรู้ แม้แต่เรื่องราวต่างๆ จะสุขจะทุกข์ จะสนุกสนานร่าเริง ไม่คิดเรื่องเศร้า เพราะเหตุว่าจิตนำไปสู่เรื่องไม่เศร้า แต่ถ้าใครจะโศกเศร้าเสียใจก็ห้ามไม่ได้ จิตนั้นแหละ นำไปสู่เรื่องนั้น เพราะกำลังรู้เรื่องนั้น เพราะฉะนั้น ขณะนี้เองเป็นจิตทั้งหมดเลย ไม่ว่ากำลังเห็นกำลังได้ยิน ถ้าไม่มีจิตก็คือว่า ไม่มีอะไรปรากฏแน่นอน

    อ.วิชัย ถ้าจะกล่าวถึงบุคคลต่างๆ ที่มีการกระทำทั้งดี และไม่ดีบ้าง ก็เป็นไปในอำนาจคือจิต แต่ดูเหมือนว่า ก็เป็นเราอยู่ดีที่มีการกระทำ แต่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า จิตนั่นแหละ แสดงว่ายังไม่เคยเข้าใจในเรื่องของจิตเลย

    ท่านอาจารย์ หาทางที่จะไม่เป็นเราได้ไหม กำลังเห็นที่จะไม่เป็นเราเห็น กำลังได้ยินจะไม่เป็นเราได้ยิน กำลังคิดนึกก็จะไม่ใช่เราที่คิดนึก หาทางไม่ให้เป็นอย่างนั้นได้ไหม ไม่มีทางเป็นไปได้เลย เพราะฉะนั้น ให้ทราบว่าเพราะไม่รู้จึงเข้าใจสิ่งที่เพียงเกิดขึ้นแล้วดับไปเร็วมากว่าเป็นเรา ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่ปรากฏ หรือเป็นจิต หรือเป็นความสุข หรือเป็นอะไรก็ตาม ทั้งหมดที่มีตั้งแต่เช้ามาจนถึง ณ ขณะนี้ ก็ไม่ต่างกัน ตั้งแต่เช้าก็มีเห็นเดี๋ยวนี้ก็มีเห็น ตอนเช้าก็มีได้ยิน ขณะนี้ก็กำลังได้ยิน เพราะฉะนั้น ที่จะให้หมดความเป็นเราเห็น เราได้ยิน เป็นไปไม่ได้เลยถ้าไม่มีความเห็นถูกเข้าใจถูก ตามความเป็นจริง เช่น ขณะนี้เริ่มฟังว่าเห็นมีแต่เห็นมีเมื่อเห็นเกิดขึ้น และเห็นจะเกิดขึ้นเองก็ไม่ได้ ต้องมีปัจจัยที่ทำให้จิตเห็นเกิดขึ้น เพียงแค่เห็นแล้วดับไป ฟังไปเรื่อยๆ จนกว่าจะมีความเข้าใจที่มั่นคงขึ้น ขณะนั้นก็ค่อยๆ ถอนการยึดถือว่าเป็นเราที่เห็น เมื่อสภาพธรรมนั้นปรากฏตามความเป็นจริง จนกระทั่งตรงกับที่พระผู้มีพระภาค ทรงแสดงทุกอย่างคือเห็นขณะนี้ เกิดขึ้นแล้วดับ ถ้ายังไม่ประจักษ์อย่างนี้ก็เป็นเราเห็นอยู่นั่นเอง หรือแม้แต่คิดนึก เกิดคิด แล้วก็ดับถ้ายังไม่ประจักษ์การเกิดดับของสภาพธรรม ก็ยังคงเป็นเรา

    อ.วิชัย บางท่านก็จะได้มีโอกาสได้ศึกษาเรื่องของจิต ซึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าก็ทรงแสดงว่าจิตไม่ใช่ประเภทเดียว มีการเกิดขึ้น และมีการถูกปรุงแต่งด้วยเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย เป็นประเภทต่างๆ ซึ่งกว่าจะจำได้ว่าเป็นจิตโดยจำนวน หรือประเภทเป็น ๘๙

    ดังนั้นการศึกษาเรื่องของจิตการที่จะรู้ว่าไม่ใช่เพียงจำนวนหรือว่าคำ โดยประเภทต่างๆ อย่างเช่น อกุศลจิตบ้าง กุศลจิตบ้าง วิบากจิตบ้าง กิริยาจิตบ้าง ดังนั้นการเริ่มต้นที่จะรู้ และเข้าใจว่าจิตแต่ก็มีหลายประเภท คืออย่างไร

    ท่านอาจารย์ ได้ยินชื่อทั้งนั้นเลยกุศลบ้าง อกุศลบ้าง วิบากบ้าง กิริยาบ้าง จำนวนเท่าไร เป็นชื่อทั้งหมดเลย แต่การศึกษา และการจะเข้าใจธรรม ไม่ใช่ไปจำชื่อ เดี๋ยวนี้ พูดถึงสิ่งที่กำลังมีจริงๆ ให้เข้าใจถูกต้องว่าสิ่งนั้นเป็นอะไร เช่น ขณะนี้มีเห็น ก็เข้าใจให้ถูกต้องว่า เห็นเกิดเห็นแล้วดับไม่ใช่เรา ค่อยๆ เข้าใจ และพอถึงขณะที่ได้ยิน ไม่ใช่เห็นแล้ว ได้ยินก็เกิดได้ยินแล้วก็ดับไป ก็ไม่ใช่เรา กำลังได้กลิ่นก็ไม่ใช่เราอีก ถ้าไม่ได้ฟังบ่อยๆ ก็เป็นเราได้กลิ่น แต่ถ้าฟังแล้วก็คือว่า มีธาตุที่รู้กลิ่นเกิดขึ้นรู้กลิ่นนั้นเฉพาะกลิ่นนั้นแล้วก็ดับไป ก็ค่อยๆ เข้าใจลักษณะของสภาพธรรม แม้ยังไม่รู้ลักษณะของธรรมจริงๆ แต่ก็ได้ยินเรื่องของธรรม เหมือนเรายังไม่รู้จักใครแต่เขาก็เล่าเรื่องของคนนั้นให้เราฟังบ่อยๆ จนกระทั่งเราค่อยๆ คิด พอพบคนนั้นก็อาจจะรู้เลยว่า นี่คือคนที่เราเคยได้ฟังเรื่องของเขามาแล้ว

    จิตขณะนั้นก็มี เกิดดับแต่ยังไม่รู้จักแต่ละจิตเลย ได้ฟังแต่เรื่องของจิตทั้งนั้นเลย จิตเห็นขณะนี้ แม้มีแต่ว่ายังไม่รู้จักลักษณะที่เป็นธาตุรู้ที่เกิดขึ้น เห็นเฉพาะสิ่งที่กำลังปรากฏให้เห็น เพราะฉะนั้น กว่าจะเป็นอย่างนี้ได้ เพราะว่าสภาพธรรมต้องตรงตามความเป็นจริง ค่อยๆ พิจารณา ค่อยๆ เข้าใจ การเข้าใจธรรมจะค่อยๆ ละความไม่รู้ ความสงสัย แต่นานมากกว่าจะหมดไปได้ เพราะเราไม่รู้ในสิ่งที่ปรากฏมานานเท่าไร เพราะฉะนั้น การที่จะค่อยๆ ละความไม่รู้ไป ก็ต้องตามที่สมควร ว่าสะสมมานานมากจะให้หมดไปทันที เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย แต่เริ่มรู้ความต่างว่าก่อนนี้ไม่เคยเข้าใจไม่เคยสนใจ ไม่เคยคิดเรื่องจิตด้วยซ้ำไป ตั้งแต่เช้ามา ใครคิดเรื่องจิตบ้าง ทั้งๆ ที่มีจิต ถ้าไม่มีจิตก็ไม่มีอะไรสักอย่าง แต่ถึงอย่างนั้นก็ไม่มีใครคิดถึงจิต ด้วยเหตุนี้จิต เกิดขึ้นเป็นธาตุรู้ ถ้าไม่มีจิตอะไรก็ไม่ปรากฏ แต่จิตเกิดดับเร็วมาก จึงไม่รู้ตามความเป็นจริง ค่อยๆ ฟัง ค่อยๆ เข้าใจ ค่อยๆ สะสมความเข้าใจไปทีละเล็กทีละน้อย เพราะเหตุว่า เรามักจะคิดถึงเรื่องอื่น แต่ลืมคิดถึงจิตเดี๋ยวนี้ กำลังฟังอยู่เดี๋ยวนี้ ก็ลืมคิดถึงจิตเดี๋ยวนี้

    อ.วิชัย การที่จะมีโอกาส ได้ศึกษาประเภทต่างๆ ของจิต จะมีประโยชน์อย่างไรบ้างไหม ในเมื่อสิ่งนั้นก็ดูเหมือนจะไม่ปรากฏเลย

    ท่านอาจารย์ เมื่อกี้นี้ เราศึกษาประเภทของจิตหรือเปล่า

    อ.วิชัย ศึกษาด้วย

    ท่านอาจารย์ เท่าที่สามารถจะเข้าใจได้ จนกระทั่งสามารถที่จะเริ่มได้ยินเรื่องของจิตเพิ่มขึ้น เพื่ออะไรเพื่อเข้าใจถูกว่าไม่ใช่เรา ประโยชน์อย่างยิ่งคือให้มีความเข้าใจมั่นคงขึ้น ว่าไม่ใช่เราแน่นอน ยิ่งรู้ละเอียดขึ้นก็จะยิ่งรู้ว่าไม่ใช่เรา

    อ.วิชัย จิตมีความหลากหลายเป็นประเภทต่างๆ อะไรเป็นเหตุที่ทำให้จิตเกิดขึ้นเป็นประเภทต่างๆ

    อ.ธิดารัตน์ ถ้าพูดถึงจิตเห็น จิตได้ยินเหมือนกันโดยเป็นผลของกรรม แต่ต่างกันโดยอารมณ์ เพราะว่า จิตเห็น รู้สีได้เท่านั้น จิตได้ยินก็รู้เสียงได้เท่านั้น เพราะฉะนั้น ความต่างกันของจิต ท่านก็จำแนกโดยอารมณ์อย่างหนึ่ง เพราะว่าจิตที่รู้อารมณ์ต่างๆ กันก็ ก็ทำให้จิตต่างกัน และยังต่างกันด้วยเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย ถ้ามีอกุศลเจตสิกมาเกิดร่วมกับจิต จิตนั้นก็ต้องเป็นอกุศล อย่างเช่น โลภมูลจิต จิตที่มีโลภะเป็นมูล หรือเป็นเหตุ เกิดร่วมด้วย ก็ทำให้จิตนั้นติดข้อง หรือว่าโทสมูลจิต จิตที่มีโทสะเป็นมูล และไม่ว่าจะเป็นโลภะ หรือว่าโทสะ ก็มีความไม่รู้เกิดร่วมด้วย ซึ่งเป็นเหตุ หรือเป็นมูลอีกเหตุหนึ่ง

    อ.วิชัย ที่กล่าวถึง ธรรมที่เกิดร่วมกันกับจิต เพราะเหตุว่าแม้จิตเองก็รู้ได้ยาก แต่ว่าจิตมีสัมปยุตตธรรม ธรรมที่ประกอบกับจิต ปรุงแต่งจิต

    ท่านอาจารย์ ถ้ากล่าวถึงจิตซึ่งเป็นเพียงธาตุรู้ รู้แจ้งในสิ่งที่กำลังปรากฏ ถ้ามีเพียงเท่านั้น เป็นความจริงหรือเปล่า เห็นไหม การฟังธรรมสามารถพิจารณาไตร่ตรอง เป็นความเข้าใจของตนเองได้ เช่น คำถามที่ว่า ถ้ามีแต่เฉพาะจิตซึ่งเป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้แจ้งสิ่งที่กำลังปรากฏ โดยไม่มีสภาพธรรมอื่นเลย ในชีวิตประจำวันเป็นอย่างนั้นหรือเปล่า ไม่ใช่ ทุกคนใช่ไหม มีเห็นแล้วก็มีชอบ ในสิ่งที่เห็นด้วย หรือบางครั้งเห็นแล้วก็ไม่ชอบในสิ่งที่เห็น เพราะฉะนั้น ต้องไม่ลืมการศึกษาธรรม ต้องละเอียด และก็เปลี่ยนแปลงไม่ได้เลย มีสภาพธรรม ๒ อย่างซึ่งเป็นสภาพรู้หรือธาตุรู้ อาศัยกัน และกันเกิดขึ้น เมื่อเป็นธาตุรู้ก็ต้องมีสิ่งที่ถูกรู้ ทั้งสองอย่างเกิดร่วมกันเกิดพร้อมกันรู้อย่างเดียวกัน แล้วก็ดับไปด้วย แต่ทั้งสองอย่างนี้ก็ต่างกัน เช่น จิต ไม่ว่าเมื่อไร ขณะไหนที่ไหนทั้งสิ้น จะไม่ทำหน้าที่อื่นได้เลย นอกจากเป็นธาตุที่เกิดขึ้นรู้สิ่งที่กำลังปรากฏ

    แต่วันหนึ่งวันหนึ่งไม่ได้มีแต่จิตที่กำลังรู้ว่าขณะนี้มีสิ่งที่ปรากฏทางตาอย่างนี้ กำลังพูดถึงสิ่งที่ดูเหมือนลึกลับมาก มี ก็ไม่รู้ว่าเป็นจิต ขณะที่กำลังมีสิ่งหนึ่งสิ่งใดปรากฏ เพราะมีธาตุรู้ทางตาเกิดขึ้นเห็น กำลังเห็นอย่างนี้เลยไม่ต้องไปแสวงหาที่ไหนอีก แต่เริ่มที่จะเข้าใจว่า ขณะที่เห็นคนตาบอดไม่สามารถจะเห็นได้ เพราะว่าไม่มีรูปพิเศษ ซึ่งสามารถกระทบกับสิ่งที่กำลังปรากฏ ทั้งตา และรูปที่กระทบกัน ไม่ใช่สภาพรู้ไม่ใช่ธาตุรู้ แต่เป็นที่อาศัย ทำให้ธาตุรู้เกิดขึ้นเห็นเดี๋ยวนี้ แล้วก็ดับไป เห็นแล้วชอบ เป็นอย่างนั้นหรือเปล่า หรือว่าเห็นแล้วก็ไม่มีเลย ชอบก็ไม่มี ไม่ชอบก็ไม่มี ดีก็ไม่มี ชั่วก็ไม่มี นั่นไม่ใช่ความจริง แต่เห็นแล้วบางครั้งก็พอใจ บางครั้งก็ไม่พอใจ เพราะฉะนั้น ลักษณะอื่นๆ นอกจากธาตุที่เป็นใหญ่เป็นประธาน ลักษณะนั้นเป็นเจตสิกภาษาบาลีก็ต้องออกเสียงว่า เจ-ตะ-สิ-กะ หมายความถึงนามธาตุ ธาตุรู้ซึ่งอาศัยจิตเกิดขึ้น เกิดที่จิต เกิดในจิต จะกล่าวว่าอย่างไรก็ได้ แยกกันไม่ได้เลย เกิดพร้อมกัน แล้วก็สภาพธรรมตามความเป็นจริง ถ้าไม่ฟังไม่รู้เลยเกิดขึ้นมาได้อย่างไร แต่ต้องมีปัจจัยที่ทำให้จิตหรือสภาพธรรมที่เกิดขึ้นนั้นเป็นอย่างนั้น ไม่เป็นอย่างอื่น เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงความจริงว่า ขณะที่มีจิตเกิดขึ้นอย่างน้อยที่สุด จะมีเจตสิกเกิดกับจิตนั้น ๗ ประเภท

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 176
    11 มี.ค. 2567