ปกิณณกธรรม ตอนที่ 723


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๗๒๓

    สนทนาธรรม ที่ โรงแรมอิมพีเรียลแม่ปิง จ.เชียงใหม่

    วันที่ ๒๗ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๘


    ท่านอาจารย์ ไม่สามารถที่จะเข้าถึงคำจริง ซึ่งพระผู้มีพระภาคทรงแสดง ทำให้พระธรรมลบเลือน หรือว่าอาจจะเข้าใจผิด ซึ่งเป็นการทำลายพระธรรมคำสอนที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ดีแล้ว ด้วยความประมาท ด้วยการไม่ไตร่ตรอง ด้วยการไม่เข้าใจ แต่คิดว่าฟังแล้วก็ปฏิบัติธรรม โดยไม่รู้ว่าปฏิบัติธรรมคืออะไร บางคนก็คิดว่าฟังแล้วก็ไม่มีประโยชน์ ปฏิบัติธรรมดีกว่า บางคนก็คิดว่า ปฏิบัติธรรมแล้วจึงจะเข้าใจธรรม ก็ยิ่งผิดใหญ่ เพราะเหตุว่า พระธรรมที่ทรงแสดง งามทั้งเบื้องต้น งามทั้งท่ามกลาง และงามทั้งที่สุด โดยพระธรรมที่ทรงแสดง เป็นปริยัติ หมายความว่า เป็นสิ่งซึ่งบุคคลไม่เคยได้ยินได้ฟังมาก่อน เป็นเรื่องของสิ่งที่มีจริงโดยละเอียดยิ่ง

    ถ้าไม่เข้าใจ ไม่สามารถที่จะรู้ความจริงตรงตามที่ทรงแสดงว่า ขณะนี้เห็นกำลังเกิดดับ ได้ยินก็เกิดขึ้นได้ยินแล้วดับ คิดแต่ละคำเกิดขึ้นคิดแล้วก็ดับ ไม่มีอะไรเลยซึ่งเกิดแล้วไม่ดับ แต่การเกิดดับเป็นไปอย่างรวดเร็ว สุดที่จะประมาณได้ แม้แต่ในขณะนี้ เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า จักขุวิญญาณเห็นรูปารมณ์ จักขุวิญญาณเป็นภาษาบาลี หมายความว่า เห็นขณะนี้ เห็นรูปารมณ์ รูปารมณ์คืออะไร รูปารมณ์ คือ เพียงสิ่งที่สามารถจะกระทบตา อายุสั้นมาก ทุกรูปจะมีอายุเท่ากับจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ ขณะนี้ระหว่างจิตเห็นกับจิตได้ยิน มีจิตเกิดดับเกินกว่า ๑๗ ขณะ

    สิ่งใดๆ ก็ตามที่มีการเกิดขึ้น สิ่งนั้นดับไปเร็วดุจมายากล จึงปรากฏเหมือนว่าเป็นคนหรือว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ซึ่งไม่ได้ดับไปเลย เพราะฉะนั้น กว่าจะรู้ความจริงได้ ก็ต้องเข้าใจธรรมที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีแล้วซึ่งเป็นปริยัติ โดยรอบรู้เป็นสัจจญาณ คือไม่เปลี่ยน คือมีการรู้ว่าขณะนี้ พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้เห็น ขณะใดก็ตามที่มีเห็นเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย เห็นต้องดับ เป็นความจริงไหม ถ้ามีความเข้าใจว่า สิ่งนี้เป็นความจริง ผู้นั้นเป็นผู้ตรง ยังไม่รู้อย่างนี้ สามารถจะรู้ได้ไหม พระผู้มีพระภาคทรงแสดงพระธรรมไว้ งามทั้งเบื้องต้น ท่ามกลาง และที่สุด คือไม่ได้เพียงแต่ตรัสว่า ขณะนี้เห็นเกิดแล้วดับ ได้ยินเกิดแล้วดับ แต่ทรงแสดงหนทางที่ จะทำให้ปัญญาค่อยๆ เจริญขึ้นตามลำดับ จนกระทั่งสามารถที่จะรู้ความจริง ซึ่งเป็นอริยสัจจธรรมได้

    ขณะที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงความจริง และตรัสคำว่า ขันธ์ ๕ หมายความถึง ธรรมใดๆ ก็ตาม ซึ่งเกิดดับ เป็นอดีต เป็นปัจจุบัน เป็นอนาคต แต่ละหนึ่งสามารถที่จะรู้ได้ว่าเป็นทุกขสัจจะ เพราะเหตุว่าลักษณะของทุกขสัจจะนั้นก็คือ สภาพธรรมที่เกิดแล้วดับ ทรงแสดงไว้อย่างละเอียดทีละหนึ่ง มิฉะนั้นจะไม่ทรงแสดง เรื่องจักขุวิญญาณ ไม่แสดงเรื่องจักขุปสาทรูป ไม่แสดงว่ารูปารมณ์ คือ ธาตุชนิดหนึ่ง ซึ่งสามารถปรากฏให้เห็นเมื่อกระทบกับตา ถ้าสิ่งนั้นไม่กระทบตา จิตจะเกิดขึ้นเห็นไม่ได้เลย แต่ขณะนี้สิ่งใดก็ตาม ที่กำลังปรากฏ แสดงว่ารูปนั้น กระทบกับจักขุปสาท ไม่ใช่รูปตาอย่างที่เราเห็นตาดำตาขาว ตาดำตาขาวเป็นสสัมภาระ หมายความว่าส่วนประกอบซึ่งมีจักขุปสาทอยู่ตรงกลาง ถึงแม้ว่าจะกล่าวว่าขณะนี้ทุกคน มีตา ทุกคนคิดถึงตาดำตาขาว แต่ขณะที่บอกว่า ทุกคนเห็น ทุกคนก็คิดว่าต้องอาศัยตา แต่ไม่รู้ว่าตาที่เรากล่าวถึง มีลักษณะอย่างไร รูปทั่วตัวตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า จะมีรูปที่สามารถกระทบตาได้เพียงรูปเดียว ซึ่งใช้คำว่า จักขุปสาท จะมีรูปเดียวที่สามารถกระทบเสียงได้ แต่ทั้งตา และหู และเสียง และสิ่งที่ปรากฏ ไม่สามารถจะรู้อะไรได้ แต่เป็นปัจจัยให้ธาตุรู้ คือ จิตเกิดขึ้นเห็นพร้อมเจตสิกแล้วก็ดับไป

    ทรงแสดงธรรมโดยละเอียด ไม่ใช่ให้คิดเอง ไม่ใช่ให้ไปรวมๆ กันว่า เกิดแล้วแก่แล้วเจ็บแล้วตาย ไม่เที่ยง เดี๋ยวเปลี่ยนแปลงไปเป็นสุขบ้าง ทุกข์บ้าง เท่านั้นไม่พอ เพราะใครๆ ก็รู้อย่างนั้น แต่ไม่ได้รู้ว่า ไม่ใช่เรา แต่เป็นธรรมแต่ละหนึ่งซึ่งมีปัจจัยเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เพราะฉะนั้น ไม่มีใคร สามารถจะคิดธรรมได้เอง คิดเองเมื่อไรผิด เพราะไม่ใช่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ต้องศึกษาพระธรรมโดยการไตร่ตรอง จนกระทั่งเป็นความเข้าใจของตนเอง มั่นคงเมื่อไร เป็นสัจจญาณ ถ้าไม่มีสัจจญาณ กิจจญาณไม่มี กตญาณไม่มี ถ้าไม่มีปริยัติ ปฏิบัติไม่มี ปฏิเวธไม่มี นี่เป็นข้อความที่มีในพระไตรปิฎก

    อ.คำปั่น สภาพธรรมที่เป็นอารมณ์ที่น่าปรารถนา หรือไม่น่าปรารถนา ก็ต้องเกี่ยวเนื่องกับสภาพธรรมอีกอย่างหนึ่งด้วยเช่นเดียวกัน ต้องมีสภาพรู้ ธาตุรู้เกิดขึ้นเป็นไปด้วย เช่น ที่กล่าวถึงการเห็นสิ่งที่น่ายินดี น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจซึ่งเป็นผลของกุศลกรรม ในทางตรงกันข้าม ถ้าได้ประสบกับสิ่งที่ไม่น่าปรารถนา ไม่น่าใคร่ ไม่น่าพอใจ ซึ่งเป็นอนิฏฐารมณ์ ก็ต้องเกี่ยวเนื่องกับสภาพรู้ธาตุรู้ ซึ่งเป็นวิบาก แต่ว่าเป็นผลของอกุศลกรรมที่ได้กระทำมาแล้ว ส่วนจะมีความติดข้องยินดีพอใจ หรือว่าไม่พอใจ ก็เป็นอีกขณะหนึ่ง เป็นเรื่องของการสะสมของแต่ละบุคคล

    ท่านอาจารย์ สภาพธรรมจริงๆ หลากหลายมาก เพราะฉะนั้น ถ้าสภาพธรรมเป็นอย่างเดียว ไม่หลากหลายก็คงจะไม่มีความรู้สึกชอบ ไม่ชอบ เพราะว่าเหมือนกันเสมอกันหมด แต่เพราะเหตุว่าธรรมหลากหลายมาก ถ้ากล่าวถึงก็คือว่า มีสิ่งที่น่าพอใจกับมีสิ่งที่ไม่น่าพอใจ แต่ยากที่จะรู้ได้ แต่ที่พอจะรู้ได้คือ กลิ่น ทุกคนคงจะไม่ปฏิเสธเวลาที่มีกลิ่นที่ไม่น่าพอใจเหมือนกันหมดไหม แล้วเวลาที่มีสิ่งที่น่าพอใจก็ยังพอใจมาก พอใจน้อย นี่ก็แสดงให้เห็นถึงความหลากหลายของสิ่งนั้นว่า ต้องเป็นอย่างนั้น

    แม้แต่เพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา ก็มีทั้งที่น่าพอใจ และไม่น่าพอใจ เสียงที่ปรากฏทางหู ก็มีเสียงที่น่าพอใจ และเสียงที่ไม่น่าพอใจ ไม่ว่าจะเป็นทางตา ทางหู ทางจมูก กลิ่นต่างๆ รสต่างๆ หรือสิ่งที่กระทบสัมผัสกาย บางอย่างแม้แต่เป็นผ้าไหมชนิดเดียวกัน แต่ก็ยังมีข้อความในครั้งอดีตว่า ผ้าไหมแคว้นกาสี แล้วก็แสดงให้เห็นความต่าง ว่าต่างกันตั้งแต่อะไร ตั้งแต่สิ่งที่จะมาทำให้เป็นไหม หรือแม้แต่การทอหรือน้ำหรืออะไรต่างๆ เหล่านี้ แสดงให้เห็นชัด หรือว่ายุคนี้ก็มีกาแฟ ซึ่งแล้วแต่ว่า อยู่ที่ไหน ปลูกที่ไหน รสชาติเป็นอย่างไร น้ำแม่น้ำหรือน้ำอะไรที่ใช้ที่นั่นก็ต่างกัน มันฝรั่งที่อร่อยมาก บางประเทศอร่อยกว่าประเทศอื่น ทั้งๆ ที่ก็แค่มันฝรั่งต้ม แต่ว่าก็สามารถที่จะเป็นสิ่งที่น่าพอใจ และไม่น่าพอใจได้

    นี่คือความละเอียดยิ่ง แต่ว่าการที่สภาพธรรมเกิดดับอย่างเร็ว เราไม่สามารถที่จะรู้ได้เลยว่า ขณะไหนมีสิ่งที่ปรากฏให้เห็นที่น่าพอใจ และขณะไหนไม่น่าพอใจ ด้วยเหตุนี้ต้องอาศัยพระธรรมที่ทรงแสดง แต่ว่าใครจะรู้ เช่น เสียงที่ปรากฏทางหูมีอายุเท่ากับจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ รูปก็มีอายุเท่ากับจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ ทุกอย่างที่เป็นรูปธรรมที่มีลักษณะของตน ที่เป็นสภาวะธรรม จะมีอายุยืนยาวกว่าจิตแต่ไม่มาก คือ จิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ รูป รูปหนึ่งดับไป และเวลาที่มีการเห็น ยังไม่มีความชอบหรือไม่ชอบเลย ต่อเมื่อเห็นดับไปแล้วมีจิต เกิดต่อ ๓ ขณะ แล้วความชอบความไม่ชอบก็เกิดขึ้น ในสิ่งที่ปรากฏแล้วจะรู้ได้อย่างไร จะเอาความชอบของแต่ละคนเป็นเครื่องวัดว่า สิ่งนั้นดีน่าพอใจชอบ สิ่งนั้นไม่ดีไม่น่าพอใจ ไม่ชอบก็ไม่ได้ เพราะว่าเห็นก่อน ได้ยินก่อน ได้กลิ่นก่อน แล้วชอบหรือไม่ชอบจึงเกิดขึ้นภายหลัง จะกล่าวว่าชอบในสิ่งที่ปรากฏ เพราะฉะนั้น สิ่งที่ปรากฏนั้นเป็นสิ่งที่น่าพอใจก็ไม่ได้ เพราะว่าแล้วแต่ความชอบของแต่ละคน ชอบไม่เหมือนกัน ด้วยเหตุนี้จึงประมาณว่า เมื่อคนส่วนใหญ่พอใจ สิ่งนั้นก็เป็นสิ่งที่น่ายินดี แต่ว่าตามความเป็นจริงต้องตรงกว่านั้น ต้องตรงลักษณะที่ว่า มีสภาพธรรมที่สามารถรู้ แจ้งสิ่งนั้นซึ่งน่าพอใจ หรือไม่น่าพอใจดับไป แล้วภายหลังการสะสมของแต่ละบุคคล ก็จะต่างกันไปว่าชอบหรือไม่ชอบในสิ่งนั้น

    เพราะฉะนั้น เวลานี้เห็นดอกไม้ ตอบได้ไหม น่าพอใจหรือไม่น่าพอใจ ยากใช่ไหม เพราะเป็นเพียงสีหลากหลายเท่านั้นเอง ถ้าไม่คิดว่าเป็นสีดอกไม้ และสีอย่างนี้ชอบไหม ตอบยาก เพราะว่าจิตเกิดดับเร็ว จนกว่าจะปรากฏว่าเป็นดอกไม้สีต่างๆ นี่ก็เป็นสิ่งที่เกินกว่าวิสัยที่ใครจะบอกได้ เพราะเหตุว่าเกิดแล้วดับแล้วเร็วมาก เพียงแต่ว่ามีลักษณะของความพอใจเมื่อไร เราก็ประมาณว่า สิ่งที่จิตรู้ในขณะนั้นน่าพอใจ หรือขณะใดก็ตามที่เกิดความขุ่นใจ ไม่อยากพบ ไม่อยากเห็น ไม่อยากได้ยิน ไม่อยากรับรู้ ขณะนั้นก็พอประมาณได้ ว่าสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่ไม่น่าพอใจ

    แต่ที่แน่นอนว่า นอกจากสภาพธรรมต้องมีความหลากหลาย เป็นทั้งที่น่าพอใจ หรือไม่น่าพอใจ ก็ยังมีกรรม ซึ่งเป็นเหตุ ถ้าเป็นกุศลกรรม หมายความว่าเหตุที่ดี กุศลกรรมเกิดแล้ว ต้องมีผลซึ่งเกิดเพราะกรรมนั้นในภายหลัง เมื่อกรรมนั้นได้กระทำสำเร็จลงไปแล้ว เพราะฉะนั้น ผลของกรรมเมื่อไร ขณะไหน พูดลอยๆ ได้ไหม ว่าเมื่อมีกรรมเป็นเหตุ ก็ต้องมีผลของกรรม ผลของกรรมถ้าเป็นนามธรรม ภาษาบาลีใช้คำว่า วิบาก หมายความว่า กรรมนั้นซึ่งเกิดเพราะ จิต และเจตสิก ที่ประกอบด้วยธรรมฝ่ายดี ดับไปแล้วก็จริง แล้วไม่มีผลหรือ ต้องมีผล แล้วผลนั้นอยู่ที่ไหน และเมื่อไร แล้วเมื่อเกิดก็แสดงถึงผลที่ต่างกัน ตั้งแต่เริ่มขณะแรกของชาตินี้ว่า เกิดเป็นอะไร เลือกเกิดก็ไม่ได้ แต่กรรมที่ได้กระทำแล้ว

    ถ้าเป็นกรรมที่ไม่ดี ก็ทำให้ไปเกิดไม่ดี ไม่ใช่มนุษย์ เกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน เกิดเป็นเปรต เกิดในนรก เกิดเป็นอสุรกายเป็นต้น เป็นผลของอกุศลกรรม

    ถ้าเป็นผลของกุศลกรรม ก็ทำให้เกิดเป็นมนุษย์ หรือเกิดในสวรรค์ชั้นต่างๆ เป็นต้น

    หลังจากที่เกิดแล้ว มีผลของกรรมต่อไปหรือเปล่า เพราะเหตุว่า ไม่ใช่เพียงแต่เกิดมาแล้วก็หมดไป แต่เมื่อมีการเกิดแล้วดับไป จิตเจตสิกซึ่งเกิดแล้วดับ เป็นปัจจัยให้จิตเจตสิกขณะต่อไปเกิดสืบต่อ ไม่มีใครไปยับยั้งได้เลย ด้วยเหตุนี้เมื่อจิตเจตสิกขณะแรกเกิดแล้วดับไป ก็เป็นปัจจัย ให้มีจิตเจตสิกขณะถัดไปเกิดสืบต่อ เป็นผลของกรรมเช่นเดียวกัน ที่ทำให้เมื่อเกิดแล้วต้องดำรงอยู่ ต้องเป็นไป ยังคงเป็นบุคคลนี้ จะเปลี่ยนเป็นบุคคลอื่นไม่ได้เลย นี่คือผลของกรรม แล้วก็เท่านั้นหรือ เพราะเหตุว่าขณะที่เกิด แม้ว่าจิตเป็นสภาพที่รู้แจ้งอารมณ์ แต่ขณะแรกที่เกิดขึ้น ยังไม่มีตา หู จมูก ลิ้นเลย แล้วจะรู้อะไร เพราะฉะนั้น ขณะนั้นที่เกิด แม้จิตเกิดขึ้นต้องรู้อารมณ์ แต่อารมณ์ของจิตขณะแรก ไม่ใช่อารมณ์ของโลกนี้ ซึ่งสามารถที่จะปรากฏได้เมื่ออาศัยตา จิตเกิดขึ้นเห็น เมื่ออาศัยหู จิตเกิดขึ้นได้ยิน ถ้าเป็นสิ่งที่น่าพอใจ ก็เป็นผลของกุศลกรรมที่ได้ทำแล้ว เมื่อเป็นสิ่งที่ไม่น่ายินดี จิตที่ต้องรู้สิ่งที่ไม่น่ายินดี ก็เป็นผลของอกุศลกรรมซึ่งเลือกไม่ได้ เสียงดังๆ ใครชอบบ้าง ตกใจ อย่างคิดว่าเป็นเสียงปืน เสียงระเบิด ขณะนั้นไม่มีใครสามารถที่จะพอใจในเสียงนั้นได้เลย แล้วเกิดได้ยินขึ้นได้อย่างไร ถ้าไม่มีกรรมที่เป็นอกุศลที่ได้กระทำไว้แล้ว จะไม่มีการได้ยินเสียงนั้นเลย ทางหูฉันใด ทางตา ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ก็ฉันนั้น

    พระธรรมที่ทรงแสดงไว้ แสดงถึงเหตุ และผลตามความเป็นจริง เมื่อเหตุมี ผลก็ต้องมี เมื่อผลมีก็ต้องมีเหตุ ที่จะทำให้ผลนั้นเกิดขึ้น ซึ่งเหตุก็มี ๒ คือ กุศลกรรม และอกุศลกรรม เพราะฉะนั้น ผลก็ต้องมี ๒ คือถ้าเป็นผลของกุศลกรรม ก็เป็นกุศลวิปาก ซึ่งภาษาไทยใช้คำว่ากุศลวิบาก ถ้าเป็นผลของอกุศลกรรม จิต และเจตสิกนั้นก็เป็นอกุศลวิบาก

    เพราะฉะนั้น ต้องมีสิ่งที่ทั้งน่าพอใจ และไม่น่าพอใจ ที่ทำให้กรรมให้ผลโดยการที่ต้องเห็น ต้องได้ยิน ต้องได้กลิ่น ต้องลิ้มรส ต้องรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส สิ่งที่แข็งเกินไปใครชอบ เราไม่รู้เลยว่า ที่แข็งเกินไป เจ็บ ถึงกับเป็นแผลได้ ที่ถูกมีดฟัน ดาบฟัน หรือว่าถูกยิงเป็นต้น สิ่งที่แข็งมากจนกระทั่งสามารถที่จะทำให้ความรู้สึกเจ็บปวดเกิดขึ้น ขณะนั้นก็เป็นผลของอกุศลกรรม เพราะว่าแข็งอย่างนั้น ก็ต้องเป็นสิ่งที่ไม่น่าพอใจ

    ด้วยเหตุนี้ไม่ว่าจะเป็นทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย สิ่งที่กระทบก็ต้องเป็นทั้งสิ่งที่น่าพอใจ และสิ่งที่ไม่น่าพอใจ แต่ยากที่จะรู้ได้ นอกจากสิ่งซึ่งพอที่จะรู้ได้เท่านั้น อย่างสิ่งที่ยากที่จะรู้ได้ เช่น ดอกกุหลาบหรือดอกไม้บนโต๊ะ เห็นแล้วใช่ไหม จิตที่เห็นเป็นผลของกุศล หรือเป็นผลของอกุศล ใครบอกได้ บางคนชอบ บางคนไม่ชอบ จะบอกว่าที่ชอบ ต้องเป็นสิ่งที่น่าพอใจ เป็นผลของกุศล แต่คนอื่นก็เห็นอย่างเดียวกัน แต่ก็ไม่ชอบ เพราะฉะนั้น ก็อาศัยส่วนใหญ่เป็นประมาณ ว่าสิ่งนั้นเป็นอะไร แต่ให้ทราบว่า กรรมที่ให้ผลไม่ใช่ให้ผลแค่ให้เกิดต่างๆ กัน ให้ดำรงอยู่ตามกรรมว่า จะอายุยาวสั้นมากน้อยประการใด ในระหว่างที่ยังมีชีวิตอยู่กรรมก็ยังให้ผลคือต้องเห็น ต้องได้ยิน ต้องได้กลิ่น ต้องลิ้มรส ต้องรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสทางกาย ห้ามไม่ได้เลย แต่ใจสามารถที่จะเกิดขึ้นหลากหลาย เป็นอกุศลประเภทต่างๆ ก็ได้ เป็นกุศลประเภทต่างๆ ก็ได้ ประกอบด้วยปัญญา ไม่ประกอบด้วยปัญญา สามารถที่จะรู้ความจริงจนดับกิเลสหมดก็ได้

    นี่ก็เป็นเรื่องของความหลากหลายของธรรมทั้งหมด ซึ่งไม่ใช่เรา ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เป็นธาตุคือสิ่งที่มีจริง เพราะเกิดแล้วตามเหตุตามปัจจัย ขณะนี้มีสิ่งที่เกิดแล้วทั้งนั้น แต่ว่าไม่รู้เลย เพราะฉะนั้น การฟังธรรมไม่ใช่ให้ไปทำให้รู้ในสิ่งที่ยังไม่เกิด แต่ว่าสิ่งที่เกิดแล้วนี่แหละ เข้าใจหรือยัง

    อ.ธิดารัตน์ เรื่องของอิฏฐารมณ์ หรือว่าอนิฏฐารมณ์ ซึ่งก็เป็นลักษณะของอารมณ์หรือว่าสิ่งที่จิตรู้ ซึ่งก็มีต่างๆ กัน แม้กระทั่งรูป ก็มีทั้งรูปที่ประณีตกับรูปที่ไม่สวย แต่ไม่ว่าจะเป็นรูปที่ดีหรือไม่ดี หรือว่าน่าพอใจหรือไม่น่าพอใจ แต่จะค่อยๆ เข้าใจได้แค่ว่า เป็นแค่สิ่งที่ปรากฏ เพราะว่าเราจะไปรู้ว่า เป็นลักษณะของอะไรเป็นอิฏฐารมณ์แน่ๆ อะไรเป็นอนิฏฐารมณ์แน่ๆ

    ท่านอาจารย์ เพราะว่ามีการเห็นก่อน แล้วก็ดับไปอย่างเร็วมาก ไม่ปรากฏว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด จนกว่าจะซ้ำๆ กัน จนกระทั่งเกิดเป็นนิมิต อย่างเพียงแค่สิ่งที่ปรากฏบนโต๊ะ ที่เรามองเห็นเป็นดอกไม้แล้วก็ใบไม้ ดูทีละอย่างอันไหนอิฏฐารมณ์ อันไหนอนิฏฐารมณ์ รู้ไม่ได้เลย ก็ไม่ต้องไปรู้สิ่งที่รู้ไม่ได้ แต่ว่าสามารถเข้าใจได้ว่าเป็นอย่างนั้นจริงๆ แต่ว่าละเอียดมาก แม้แต่กลิ่นน้ำหอมก็หลากหลาย น้ำหอมบางกลิ่นรุนแรงมาก ไม่ชอบ แต่บอกว่าน้ำหอม เพราะฉะนั้น แม้แต่ว่าลักษณะเดียวกัน แต่ถ้ามากหรือแรงเกินไป ก็กลายเป็นสิ่งที่ไม่น่าพอใจ เพราะเหตุนี้จะไปรู้ทำไม จะไปคิดทำไม ว่านี่อิฏฐารมณ์หรืออนิฏฐารมณ์ เพราะว่าเกินกว่าที่เราสามารถที่จะรู้ได้ แต่รู้ได้เพียงแค่ว่ามีจริงๆ เพราะว่าเป็นผลของกรรมด้วย ถ้ากุศลกรรมเป็นปัจจัยให้จิตเกิดขึ้น ก็เห็นสิ่งที่น่าพอใจ ได้ยินเสียงที่น่าพอใจ แต่ถ้าเป็นผลของอกุศลกรรมชัดๆ เช่น เสียงบ้าง หรือว่าสิ่งที่แข็งมากๆ กระทบร่างกายก็เจ็บ ขณะนั้นเราก็รู้ได้ว่าเป็นอนิฏฐารมณ์

    อ.ธิดารัตน์ ยกตัวอย่าง ทางกาย ก็ชัดเจน ถ้ากระทบพอเหมาะสม ก็เป็นสุขเวทนา ถ้ากระทบอารมณ์ที่แรงอย่างที่ถูกตี เวทนาก็เป็นทุกข์ อย่างนั้นก็พอที่จะเข้าใจได้ แต่ถ้าเป็นทวารอื่นก็ยากใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ก็ไม่ต้องคิด พอจะรู้อะไรได้ก็แค่นั้นก็ยังไม่รู้เลย ใช่ไหมว่า ไม่ใช่เรา ข้อสำคัญที่สุด ไม่ใช่ให้ไปวิเคราะห์วิพากษ์วิจารณ์อะไรเลย แต่ว่าเพียงที่จะรู้ความจริงว่าเป็นธรรม ใช้คำว่า ธรรม ก็ปฏิเสธอยู่แล้วว่า ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์บุคคล ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใคร และอารมณ์คือ สิ่งที่จิตรู้ ถ้าเราไม่ศึกษาธรรมเราก็บอกว่า วันนี้อารมณ์ดี แต่ไม่ใช่อย่างนั้นเลย อารมณ์ดีเพราะเห็นดี ได้ยินดี ได้กลิ่นดี ลิ้มรสดี รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสดี หมายความว่า จิตขณะนั้น รู้สิ่งที่น่าพอใจ เวลาใช้คำว่า อารมณ์ดี อารมณ์คือสิ่งที่จิตรู้

    เราศึกษาธรรมทีละคำ เพื่อเราจะได้เข้าใจว่า จิตเกิดขึ้นต้องรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด เพราะว่าจิตเป็นธาตุรู้ เป็นสภาพรู้ จะเกิดขึ้นโดยไม่รู้อะไรไม่ได้ เมื่อจิตรู้ก็ต้องมีสิ่งที่ถูกรู้ เพราะฉะนั้น อารมณ์ดีวันนั้นก็คือว่า เห็นดี ได้ยินดี ได้กลิ่นดี รู้รสดี รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสดี คิดถึงเรื่องดี ไม่ใช่เรื่องที่น่าเป็นทุกข์ ขณะนั้นเราก็บอกว่าวันนั้นอารมณ์ดี

    ผู้ฟัง หมายถึงว่า อิฏฐารมณ์กับอนิฏฐารมณ์ของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับสิ่งที่สะสมมา อย่างนี้ใช่หรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ บางคนชอบสีฟ้า บางคนชอบสีเขียว สีไหนเป็นอิฏฐารมณ์ สีไหนเป็นอนิฏฐารมณ์ เอาคนตัดสินไม่ได้ แต่ว่าสภาพธรรมมี ๒ อย่างคือ สภาพธรรมที่น่าพอใจอย่างหนึ่ง สภาพธรรมที่ไม่น่าพอใจอีกอย่างหนึ่ง นี่เป็นความหลากหลายของธรรมซึ่งปฏิเสธไม่ได้

    แม้แต่เสียงที่เราพอจะรู้ได้ เสียงดนตรีเพราะๆ แผ่วๆ ไม่ดังมาก เสียงคอนเสิร์ต ดังๆ ไปฟังคอนเสิร์ต ให้อกุศลวิบากเกิด หรือว่ากุศลวิบากเกิด แต่สิ่งที่เพราะจริงๆ เสียงดนตรีในสวรรค์อันนั้นแน่นอน อย่างผู้ที่ชำนาญดีดพิณ เสียงนั้นดังก้องไปถึง ๓ เดือน ความไพเราะ นี่ก็เป็นสิ่งที่หลากหลายมาก เพราะฉะนั้น เราเพียงแต่มีปัญญาพอที่จะรู้ว่า สิ่งที่มีหลากหลาย ทำไมสิ่งนั้นชอบ สิ่งนี้ไม่ชอบ แม้จะเอาคนส่วนใหญ่เป็นเครื่องตัดสินก็ยังไม่แน่นอน เพียงแต่ว่าพอจะประมาณได้เท่านั้นเอง เพราะแม้แต่สีเขียว อิฏฐารมณ์ หรืออนิฏฐารมณ์ พอจะรู้ได้ก็รู้ได้ แต่ถ้าไม่สามารถจะรู้ได้ ไปนั่งคิดทำไม เพียงแต่รู้ว่าต้องเป็นอย่างนี้ แต่ปัญญาเราไม่สามารถจะรู้ได้

    แต่เมื่อความจริงเป็นอย่างนี้ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ และทรงแสดงความจริง แต่สิ่งนั้นเพียงเกิดแล้วดับ เร็วสุดที่จะประมาณได้ และเมื่อเกิดดับซ้ำๆ กัน ก็ปรากฏสภาพที่เป็นนิมิต พอที่จะปรากฏให้รู้ว่า น่าพอใจหรือไม่น่าพอใจเท่านั้นเอง อะไรที่พอจะรู้ได้ก็รู้ได้ แต่จะรู้ถึงจิตหนึ่งขณะที่เกิด ประกอบด้วยเจตสิกเท่าไร เจตสิกนั้นเป็นปัจจัยให้จิตนั้นเกิดโดยฐานะเป็นปัจจัยใด ไม่สามารถจะรู้ได้ แต่ฟังได้เข้าใจได้ ประโยชน์อะไร เพื่อเห็นความไม่ใช่เรา

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 176
    11 มี.ค. 2567