ปกิณณกธรรม ตอนที่ 762


    ตอนที่ ๗๖๒

    สนทนาธรรม ที่ บ้านสวนส้มทิพย์ จ. ราชบุรี

    วันที่ ๑๗ มิถุนายน พ.ศ ๒๕๕๘

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นผู้ที่จะดับกิเลสได้จริงๆ ไม่ใช่เป็นผู้ที่หลอกตัวเองหรือหลงเข้าใจผิดเป็นมิจฉาฌานหรือมิจฉามรรค ก็คือผู้ที่ตรงที่จะรู้ว่าไม่รู้คือไม่รู้ และก็ไม่ได้หวังที่จะรู้ เพราะรู้ว่าหวังก็คือว่าเป็นไปไม่ได้ จะหวังทำไม ในเมื่อหวังก็ไม่รู้แล้วก็เสียเวลาหวัง เพราะฉะนั้นก็ต้องเป็นปัญญาที่ค่อยๆ ละเอียดขึ้นที่จะรู้ว่าหนทางก็คือว่าเป็นปกติ และก็มีความเข้าใจเพิ่มขึ้น และความเข้าใจนั้นก็จะทำหน้าที่ของความเข้าใจทีละเล็กทีละน้อย

    เพราะฉะนั้นไม่ใช่ว่าผิดปกติไปแล้วคิดว่า ขณะนั้นได้ละกิเลสแล้ว ด้วยความไม่รู้ไม่สามารถที่จะละกิเลสใดๆ ได้เลยทั้งสิ้น

    อ.วิชัย มีโอกาสได้สนทนากับบางท่านก็กล่าวถึงว่าการที่มีโอกาสได้คิดใส่ใจก็เหมือนกับเป็นการสะสมให้เหมือนกับใส่ใจในสิ่งที่มีจริงมากขึ้น เหมือนกับมีปัจจัยให้คิดถึงบ่อยๆ ใจก็จะน้อมเข้าใจในสิ่งที่มี

    ท่านอาจารย์ ก็เลยเราพยายาม ทางผิดมีอยู่รอบด้าน เพราะไม่รู้ เพราะฉะนั้นจะเห็นได้จริงๆ ว่าธรรมลึกซึ้ง อริยสัจ ๔ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่าลึกซึ้งทั้ง ๔ หมายความว่าธรรมทั้งหมดลึกซึ้งเพราะเหตุว่าขณะนี้กำลังเกิดดับเป็นทุกขอริยสัจจะก็ไม่รู้ แล้วก็จะไปพยายามรู้ก็ผิด ด้วยความเป็นเรา เพราะฉะนั้นทางหลงมีมาก ทางไม่หลงก็คือว่ารู้ว่าหนทางนี้เป็นหนทางเดียวซึ่งอาศัยความเข้าใจทีละเล็กทีละน้อย ละความเป็นเรา สำคัญนะคะ จะไปละกิเลสแต่ยังเป็นเราก็ละไม่ได้ เพราะฉะนั้นถ้าจะละกิเลสก็คือว่าต้องละความเป็นเราก่อน ซึ่งความเป็นเราจะหมดไปได้ก็ต้องอาศัยความเข้าใจโดยไม่หวั่นไหว หวั่นไหวเมื่อใดก็คือความเป็นเราเพิ่มขึ้นอีกแล้ว อยากละจนหวั่นไหว

    อ.อรรณพ การที่จะค่อยๆ มีความเข้าใจ และมีความเจริญขึ้นในธรรมคือเริ่มจาก รู้ว่าไม่รู้ ใช่ไหมครับ ไม่อย่างนั้นเราก็ฟังเรื่อยเปื่อย เริ่มจากการฟังก็ขอให้เปิดฟัง ฟัง ฟังไป ฟังแล้วเราคิดว่าเรารู้โน่น รู้นี่ รู้นั่น แต่จริงๆ ไม่รู้สักอย่างหนึ่งในสภาพธรรมที่ปรากฏจริงๆ เพราะฉะนั้นก็จะมีความรู้ฐานะของตัวเองว่ายังมีความเข้าใจน้อย และเมื่อเข้าใจขึ้น เริ่มรู้ขึ้น ก็คือเริ่มรู้ว่า ไม่รู้นี่มีมากขึ้น ยิ่งศึกษามากขึ้นก็ยิ่งเห็นความมืดความหนาของความไม่ รู้ซึ่งเมื่อสักครู่ท่านอาจารย์กล่าวว่าหนาแน่นไปด้วยความไม่รู้แต่ว่าความไม่รู้ที่หนาแน่นบังไม่เห็นความไม่รู้นั้นเลย เพราะฉะนั้นทำไมถึงไม่รู้ว่าไม่รู้ เพราะความไม่รู้นี่หนาแน่นมหาศาลจนบังไม่ให้เห็นความไม่รู้ แต่แสงสว่างจากการเข้าใจธรรมเล็กน้อยตั้งแต่เบื้องต้นเริ่มรู้แล้วว่าไม่รู้จริงๆ เริ่มเข้าใจถูกว่าสิ่งที่เคยคิดว่ารู้มากเกี่ยวกับพุทธศาสนานี่ แต่ไม่ใช่ เพราะฉะนั้นแม้ปัญญาเล็กน้อยที่เกิดขึ้นก็เริ่มเข้าใจถูกว่าอะไรเป็นคำสอนจริงๆ ที่เป็นพุทธศาสนา

    อ.ธีรพันธ์ สำนักพุทธศาสนา เชิญชวนให้รักษาศีล ๕ โดยการกรอกข้อมูลในกระดาษ รวบรวมกระดาษที่เขียนได้มากหรือน้อย นับว่าเป็นความสำเร็จของการพัฒนาคนให้มีคุณธรรมแล้วหรือไม่ กราบเรียนท่านอาจารย์ครับ

    ท่านอาจารย์ ก็ต้องเป็นผู้ละเอียดอย่างเคยนะคะ ถึงจะมีความเข้าใจจริงๆ ได้ต้องรู้ว่าพุทธคืออะไร พุทธคือผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน จากความไม่รู้ เพราะฉะนั้นคำสอนที่ไม่ทำให้เกิดความเข้าใจไม่ใช่คำสอนของพระพุทธศาสนา เพราะว่าศีล ๕ ไม่ใช่มีแต่เฉพาะในพระพุทธศาสนา เพราะเหตุว่าทุกศาสนาก็มีการเว้นการกระทำที่ไม่ดีแต่ว่าไม่ได้ให้ความเข้าใจที่ถูกต้องเลยว่าศีลคืออะไร เพราะฉะนั้นสำหรับการที่ได้ฟังพระธรรมต้องมีความเข้าใจขึ้น ถ้าไม่มีจิต ไม่มีธาตุรู้ ไม่มีสภาพรู้ จะมีศีลไหม และจริงๆ แล้วศีลคืออะไร พระธรรมทรงแสดงไว้ละเอียดมาก ศีลคือปกติ เพราะฉะนั้นปกติแล้วแต่จิตเป็นอกุศล กายวาจาซึ่งประพฤติเป็นไปก็เป็นอกุศลศีล ข้อความในพระไตรปิฎกชัดเจน เพราะต้องรู้ว่าศีล ถ้าไม่มีสภาพธรรมไม่มีธรรม ศีลก็ไม่มี โต๊ะเก้าอี้ ต้นไม้ ดอกไม้ ใบหญ้าไม่มีศีลเพราะไม่มีจิต แต่เมื่อมีจิตแล้ว จิตก็หลากหลายมากตามสภาพนามธรรมซึ่งเกิดกับจิต ซึ่งนามธรรมซึ่งเกิดกับจิตไม่ใช่จิตแต่เกิดกับจิต จิตเป็นธาตุรู้สิ่งใด สภาพนามธรรมที่เกิดกับจิตก็รู้สิ่งนั้น เกิดพร้อมกันดับพร้อมกันรู้สิ่งเดียวกัน

    เพราะฉะนั้นจิตไม่ได้เกิดขึ้นตามลำพัง แต่ว่ามีเจตสิก นามธรรมที่ไม่ใช่จิตแต่เกิดพร้อมกับจิต เช่นโกรธ ไม่ใช่จิต โลภไม่ใช่จิต มานะความสำคัญตนไม่ใช่จิต แต่เป็นเจตสิก หลากหลายมากถึง ๕๒ ประเภท เพราะฉะนั้นจิตจะดีจะชั่วก็แล้วแต่ประเภทของเจตสิกที่เกิดกับจิต ถ้าเป็นเจตสิกที่ไม่ดีก็ทำให้จิตนั้นเป็นจิตที่ประกอบด้วยสภาพธรรมที่ไม่ดี เป็นจิตที่ไม่ดีไปด้วย ถ้าสภาพธรรมที่ดีเกิดร่วมกับจิต คือใช้คำว่าโสภณ ดีงามหรือกุศลเกิดกับจิตได้ จิตนั้นจะไม่ใช่จิตที่ไม่ดี แต่เป็นจิตที่ดีงาม เพราะฉะนั้นก็ต้องเข้าใจว่าถ้าไม่มีจิตก็ไม่มีศีล เพราะฉะนั้นศีลคือความประพฤติปกติทางกายทางวาจาเป็นไปตามจิต ถ้าจิตเป็นกุศลกายก็เป็นกุศล วาจาก็เป็นกุศล เพราะใจเป็นกุศล เพราะฉะนั้นศีลในพระพุทธศาสนาที่ทรงแสดงไว้ละเอียดหลากหลายมาก มีศีลที่เป็นวาริตศีลหมายความว่าสภาพที่งดเว้นจากทุจริต เพราะเจตสิกที่ดี หิริความละอาย โอตตัปะการเห็นโทษของอกุศล เกิดเมื่อใด ขณะนั้นเว้นทุจริต ทำทุจริตไม่ได้ และวันหนึ่งๆ ไม่ใช่มีแต่เพียงการไม่ทำทุจริต แต่จิตใจยังเป็นอกุศลได้ เพราะฉะนั้นจึงมีจาริตศีล คือขณะใดก็ตามที่จิตที่ดีงามเกิดขึ้นไม่ล่วงศีล คือไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์เป็นต้น ไม่ประพฤติสิ่งที่ไม่ดีงาม แต่จิตที่ดีงาม ทำให้เกิดการประพฤติที่ดีงามด้วย เช่น การช่วยเหลือคนอื่น ถ้าเป็นคนที่เห็นแก่ตัว เห็นแก่ความสุขสบายของตนเอง ก็ไม่ช่วยใคร แต่ใครก็ตามที่เห็นคนอื่นเดือดร้อน และสามารถที่จะช่วยให้เขาพ้นจากความเดือดร้อนได้ ขณะนั้นจิตที่มีความกรุณาที่ต้องการให้คนอื่นพ้นทุกข์ ประกอบด้วยเจตสิกฝ่ายดี ก็เป็นปัจจัยให้กายวาจาเป็นไปในทางที่ดี

    เพราะฉะนั้นเมื่อกายวาจามี เป็นทางออกของจิต ว่า ถ้าจิตขณะใดเป็นอกุศลกายวาจาก็เป็นไปในทางอกุศล เพราะฉะนั้นขณะนั้นก็เป็นอกุศลศีล และถ้าขณะใดเป็นกุศล ขณะนั้นกายวาจาก็เป็นไปในทางที่ดีงาม แม้แต่การอ่อนน้อมต่อผู้ที่ควรอ่อนน้อม เช่น พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ระลึกถึงคุณเมื่อใด ขณะนั้นก็จะมีการกระทำทางกายทางวาจา ซึ่งเป็นกุศลศีล และสำหรับผู้ที่เป็นพระอรหันต์ดับกิเลสแล้ว ไม่มีทั้งกุศล และอกุศล เพราะเหตุว่ากุศล และอกุศลซึ่งเป็นเหตุที่จะให้เกิดผล หมายความว่าเมื่อมีผลที่จะต้องเกิดก็จะต้องมีการเกิดอีกต่อไป แต่เมื่อดับเหตุคือไม่มีธรรมที่เป็นกุศลที่ทำให้เกิดผล ไม่มีธรรมที่เป็นอกุศลที่ทำให้เกิดผล ขณะนั้นก็เป็นกิริยา หมายความว่า เป็นธรรมฝ่ายดีส่วนใหญ่ถ้าไม่นับฝ่ายที่ไม่ประกอบด้วยเหตุก็จะไม่พูดถึงความละเอียด เพียงแต่ว่าให้ทราบความต่างกันว่าสำหรับคนทั่วไปก็มีอกุศลศีล และกุศลศีล แต่สำหรับพระอรหันต์ไม่มีทั้งกุศลศีล และอกุศลศีล เพราะถ้ายังมียังต้องเกิด เพราะฉะนั้นจิตที่ดีงามของพระอรหันต์ซึ่งดับกิเลสหมดแล้ว เป็นไปในทางที่เป็นประโยชน์ก็เป็นกิริยาจิต ไม่ใช่เป็นกุศล และอกุศล ใช้คำว่า อพยากตก็ได้ นี่ก็เป็นเรื่องของคำ แต่ถ้ามีความเข้าใจก่อนแล้วเราก็ใช้คำได้ แต่ถ้าเป็นได้ยินคำก่อน และพยายามไปเข้าใจก็ยากเพราะเหตุว่าไม่ได้เข้าใจคำนั้นจริงๆ เพราะไม่เข้าใจสภาพธรรมม แต่ตัวธรรมที่มีจริงเราก็สามารถที่จะฟัง และเข้าใจได้ และก็รู้ว่าขณะใดเป็นศีลประเภทใด

    เพราะฉะนั้นขณะที่ฟังธรรม ขณะนี้เป็นศีลหรือไม่ ขณะนั้นไม่มีอกุศลใดๆ เลย ขณะใดที่ไม่มีอกุศลขณะนั้นก็เป็นศีลด้วย แต่ว่าเป็นศีลในทางใด จิตสงบจากอกุศลไม่มีอกุศลใดๆ เป็นไปในทานก็ได้ เป็นไปในการละเว้นทุจริตก็ได้ หรือเป็นไปในทางที่ทำกุศลอื่นๆ ก็ได้ เพราะฉะนั้นถ้าไม่เข้าใจเรื่องนี้แล้วก็รักษาศีลเพื่ออะไร ตอบได้ไหมว่าเพื่ออะไร

    อ.วิชัย ถ้าเข้าใจกันทั่วไป เช่นศีล ๕ ข้อที่ ๑ คือการเว้นจากการฆ่าสัตว์นั้น ถ้ามีการฆ่าก็ดูเหมือนกับมีโทษ เป็นบาป แล้วก็ได้รับผลที่ไม่ดีด้วย

    ท่านอาจารย์ ใครไม่รู้ว่าฆ่าไม่ดี ทุกคนทุกสัตว์รักชีวิตไม่อยากจะให้มีใครมาเบียดเบียนประทุษร้าย เพราะฉะนั้นการฆ่านี่ไม่ดีแน่ๆ ฆ่าแล้วกำลังฆ่าเขาเจ็บไหม เป็นทุกข์ไหม ทำให้คนอื่นเดือดร้อนไหม เพราะฉะนั้นส่วนใหญ่ก็รู้เพียงเท่านี้ แต่ไม่ได้แสดงความจริงเลยว่าขณะนั้นต้องมีจิต ตั้งแต่เกิดมานี่มีจิต ถ้าไม่มีจิตก็ไม่เป็นคนเป็นสัตว์ ไม่ใช่สิ่งที่มีชีวิต และขณะใดก็ตามที่มีจิต ก็ต้องมีเจตสิกเกิดพร้อมกัน ดับพร้อมกันแล้วแต่ว่าจะเป็นเจตสิกประเภทใด เพราะฉะนั้นเพียงแค่รู้ว่าไม่ฆ่าเท่านั้นไม่ใช่เข้าใจความจริงอะไรเลย ด้วยเหตุนี้ พระพุทธศาสนาจะไม่ใช้ชื่อนี้ก็ได้ แต่เป็นศาสนาที่ประจักษ์แจ้งความจริงโดยผู้ที่ทรงตรัสรู้ความจริง และสอนให้คนอื่นได้ฟังแล้วพิจารณาด้วยตัวเองว่าจริงไหม ถูกต้องไหม ไม่ใช่เป็นการบังคับว่าให้ไม่ฆ่าสัตว์ แต่ขณะนั้นจะต้องรู้ด้วยว่าเพราะจิตขณะนั้นเป็นจิตที่ไม่ดี แล้วจิตที่ไม่ดีนี่สะสมมากๆ เข้าทุกวัน ทุกเดือน ทุกปี จะเป็นอย่างไร ในพระไตรปิฏกใช้คำว่าเน่าเพราะอกุศล มีกลิ่นด้วยแต่ไม่ปรากฏ ขณะใดที่เป็นความโกรธเกิดขึ้นขณะนั้นกลิ่นเน่าก็ปรากฏว่ามีของเน่าแน่ๆ มีสภาพธรรมซึ่งเป็นความไม่รู้ มีสภาพธรรมซึ่งเป็นความติดข้อง เมื่อไม่ได้ตามความปรารถนาก็มีอาการขุ่นเคือง โกรธแค้น หยาบกระด้าง ปรากฏให้รู้ได้เพราะว่าเวลานี้ถ้าใครโกรธ รู้ใช่ไหม แต่ตอนไม่โกรธรู้ไหมว่ามีอกุศลอะไร ในขณะที่ไม่โกรธ โลภะก็มี โมหะก็มี ไม่แสดงอาการเลย แต่พอโกรธเกิดขึ้นใครก็รู้ นี่ก็แสดงให้เห็นว่าทุกคำเป็นเรื่องของความจริงในชีวิตประจำวัน เพราะฉะนั้นก่อนอื่นรู้ว่าจิตซึ่งเน่าแน่ๆ เพราะอกุศล แล้วจะรักษาให้หายเน่า ให้หายแผล ทั้งแผลเก่าแผลใหม่ แผลเก่าก็สะสมมาแล้ว แผลใหม่ก็เพิ่มเข้าไปอีกทุกวันด้วย แล้วจะรักษาได้อย่างไร

    เพราะฉะนั้นการฟังธรรมก็เป็นเรื่องละเอียด ไม่ต้องหวังมรรคผลนิพพาน เพราะอะไร เพราะยังไม่รู้อะไรเลยทั้งสิ้น แล้วจะไปหวังได้อย่างไร เพราะฉะนั้นมีกิเลสมากรู้ไหม ถ้าไม่ฟังก็ไม่รู้ว่ามากยิ่งกว่าที่คิด แต่พอฟังแล้วจะรู้ว่ายากที่จะเยียวยารักษาหายไม่ง่าย ไม่เร็วอย่างที่คิดเลย เพราะฉะนั้นเพียงได้รู้จักยาว่ายาคือความเห็นถูกความเข้าใจถูกตามความเป็นจริง ซึ่งค่อยๆ รักษาโรค

    เพราะฉะนั้นถ้ารู้ตัวว่าเป็นโรค โรคกิเลส โรคโกรธ โรคติดข้องสารพัดโรคแล้วจะรักษาไหม ทุกคนลืมคิดที่จะรักษาจิตให้หายจากโรค มุ่งหน้าแต่จะไปแสวงหา เพราะอยากจะรู้แจ้งมรรคผลนิพพาน อยากจะดับกิเลส รู้จักกิเลสไหมว่าแค่ไหน เดี๋ยวนี้ก็มีแต่ไม่รู้ เพราะฉะนั้นจะรักษาอย่างไรถ้าไม่รู้

    ด้วยเหตุนี้พระพุทธศาสนาหรือคำสอนของผู้ที่ตรัสรู้ความจริงไม่ได้เพียงกล่าวถึงสิ่งที่คนอื่นก็รู้ เช่นงดเว้นจากการฆ่า การถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ให้ หรืออะไรอย่างนี้เป็นต้น แต่สอนให้รู้ความจริงจนสามารถที่จะดับกิเลส ไม่ให้มีการกระทำอย่างนั้นอีกเลยได้ ไม่ใช่เพียงชั่วคราว คิดว่าวันนี้ไม่มี แล้วต่อไปจะมีไหมถ้ากิเลสยังมีอยู่เต็ม ก็ยังเป็นเหตุที่จะทำให้เกิดทุจริตต่างๆ ได้

    อ.วิชัย จากประเด็นในช่วงแรกที่มีการกล่าวถึงการชักชวนให้รักษาหรือสมาทานศีล ๕ เป็นข้อประพฤติปฏิบัติ แต่ความรู้ความเข้าใจในเรื่องของศีลที่จะเป็นประโยชน์เกื้อกูลที่จะให้มีการวิรัติงดเว้นคืออย่างไร

    ท่านอาจารย์ ก็ไม่ได้ให้ยา ก็ปล่อยให้เป็นโรคไป และก็มานั่งถามกันว่าจะรักษากันแบบไหน เพราะฉะนั้นตามความเป็นจริงก็คือว่าทำไมไม่ชักชวนกันฟังพระธรรมให้เข้าใจ นี่คือละเลยการที่จะฟังพระธรรมให้เข้าใจ เหมือนแต่ละคำในพระไตรปิฏกไม่มีค่า ถ้าไม่เห็นประโยชน์ และก็ไม่ชักชวนให้ศึกษา แต่เพราะเหตุว่าแต่ละคำมีค่าประมาณไม่ได้เลย เป็นรัตนะ เป็นสิ่งที่เงินทองซื้อไม่ได้ ใครก็ให้ไม่ได้ แต่ว่าแต่ละคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทำให้ผู้ฟังเกิดปัญญาความเห็นที่ถูกต้อง แม้แต่คิดจะรักษาโรคของตัวเอง ซึ่งคนอื่นรักษาไม่ได้ แต่คำที่เป็นคำจริงซึ่งผู้นั้นไตร่ตรองแล้วเกิดความเห็นถูกต้องของตนเองเท่านั้นที่สามารถที่จะรักษาศีล ๕ ได้ โดยไม่ต้องมีอุปสรรคใดๆ เลยทั้งสิ้น เพราะเหตุว่าไม่มีกิเลสที่จะทำให้ต้องรักษาโดยความไม่เข้าใจ เพราะฉะนั้นตามความเป็นจริงแล้ว แทนการเชิญชวนอื่นทั้งหมด ก็ควรจะเห็นประโยชน์ของการฟังพระธรรม เห็นค่าของการที่จะได้เข้าใจคำจริงเพราะว่าไม่ได้บังคับให้ใครเชื่อเพราะถามได้ ซักได้ ไตร่ตรองได้ ถ้าเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ก็ถูกต้องถึงที่สุด

    อ.อรรณพ ถ้าสังคม หรือคนทั่วไป คิดกันว่า การศึกษาพระธรรม หรือที่อาจารย์บอกว่า ทำไมไม่ชวนกันศึกษาพระธรรม ซึ่งเป็นสิ่งที่ควรที่จะศึกษาควรที่จะรู้ได้พิจารณา เขาก็กล่าวกันว่าเป็นธรรมชั้นสูง เป็นสิ่งที่ยากที่จะเข้าใจ ซึ่งสังคมส่วนใหญ่ก็ควรที่จะมีศีลธรรมขั้นพื้นฐาน ก็เลยเหมือนชวนกันให้มีศีล ๕ เพราะคิดว่าอย่างน้อยก็จะทำให้มีความดีขั้นพื้นฐาน ไม่ต้องเอาอริยสัจธรรมอะไรมากมาย

    ท่านอาจารย์ พูดโดยไม่รู้ แม้แต่คำว่า ธรรมชั้นสูง พูดอย่างไร หมายความว่าอะไร ธรรมเป็นธรรม ลึกซึ้งแน่นอน แต่กล่าวว่าธรรมชั้นสูงหมายความว่าอย่างไร แทนที่จะกล่าวว่าลึกซึ้ง กลับบอกว่าธรรมชั้นสูง หมายความว่าอย่างไร ธรรมเป็นธรรม

    อ.อรรณพ เขาหมายความว่ายากที่จะเข้าใจที่จะศึกษาอภิธรรม ศึกษาอะไรอย่างนี้

    ท่านอาจารย์ เพราะอะไร เพราะเป็นการตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า รู้อะไร รู้สิ่งที่มีจริงเดี๋ยวนี้ และทุกขณะ ซึ่งคนอื่นรู้ไม่ได้

    อ.อรรณพ ละเอียดลึกซึ้ง

    ท่านอาจารย์ แล้วทำไมไม่ศึกษา

    อ.อรรณพ เขาคิดว่ายากที่คนทั่วไปจะศึกษา

    ท่านอาจารย์ ยาก ใครบอกว่าง่าย ถ้าง่ายพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ต้องทรงบำเพ็ญ ๔ อสงไขยแสนกัป ไม่ต้องทรงแสดงพระธรรมถึง ๔๕ พรรษา แค่คำสองคำก็พอ ถ้าง่าย ใช่ไหมคะ เพราะฉะนั้นเป็นไปไม่ได้ที่ง่าย เพราะว่าเป็นการพิสูจน์คำสอนเดี๋ยวนี้สภาพธรรมนี้กำลังเกิดดับ ลึกซึ้งไหม แต่ประจักษ์ได้ และมีผู้ที่ได้ประจักษ์แล้วเป็นจำนวนมากเพราะอดทน ขันติบารมี วิริยะบารมี สัจจะบารมี อธิษฐานบารมี จริงใจที่จะรู้ว่ายาก แต่มีผู้รู้แล้ว

    เพราะฉะนั้นอยู่ที่ตัวเองจะรักษาโรคหรือไม่รักษา เน่าขนาดไหนแล้วนี่ ก็ยังไม่รักษา ก็ปล่อยไป เพราะฉะนั้นเกิดมาแล้วเห็น ได้ยิน เป็นทุกข์ชาตินี้ ชาติก่อนก็เหมือนอย่างนี้ ชาติหน้าก็เหมือนอย่างนี้ แล้วแต่ว่าจะเป็นทุกข์ระดับไหน สุขระดับไหน ก็เป็นไปอย่างนี้ไม่จบ ต้องการอย่างนั้นใช่ไหม คือต้องการไม่จบ ก็ไม่จบไป ไม่มีทางที่จะจบ เพราะว่าเหตุยังไม่ได้ดับ ผลก็ต้องเกิด เพราะฉะนั้นการฟังพระธรรมต้องรู้ ว่าฟังคำของใคร พระสัมมาสัมพุทธเจ้าต้องละเอียดลึกซึ้ง ยาก แต่อบรมได้ สะสมได้ ค่อยๆ เข้าใจได้ ตอนเกิดมาใครอ่านออกเขียนได้ ใครเรียนจบวิชานั้นวิชานี้ ใครทำอย่างนั้นอย่างนี้ได้มากกว่าคนอื่น ถ้าไม่มีการสะสม อยู่ดีๆ จะให้เป็นอย่างนั้นได้อย่างไร ใช่ไหมคะ เพราะฉะนั้นต้องเป็นผู้ที่เข้าใจในเหตุผลในความถูกต้อง ใครก็ช่วยใครไม่ได้ ใครกำลังเป็นทุกข์ ลูกกำลังเป็นทุกข์ ตกน้ำไฟไหม้หรืออะไรก็แล้วแต่ พ่อแม่ช่วยได้หรือไม่ อ้อนวอนขอร้องขอให้เจ็บแทน ก็เป็นไปไม่ได้ เพราะแต่ละคนเป็นแต่ละหนึ่ง ตามการสะสมหลากหลายมาก มนุษย์จำนวนเท่าไหร่ ทั้งโลก ไม่ใช่เฉพาะโลกนี้ โลกอื่นด้วย เทวโลก พรหมโลก แล้วสัตว์เดรัจฉานมากกว่ามนุษย์อีกเท่าไหร่ แต่ละจิตเป็นแต่ละหนึ่งเกิดขึ้น และดับไป ก็เพราะการที่เกิดขึ้นมาหนึ่งขณะแล้วไม่รู้เลยว่า ติดแล้ว ติดข้องแล้วในสิ่งที่ปรากฏ ต้องการขวนขวาย ก็เป็นเหตุที่จะให้แสวงหา แล้วก็สะสมความติดข้องมากเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ไม่กลับมาที่จะเป็นอย่างเก่าได้อีกเลย เพราะฉะนั้นก็จะเห็นได้ว่าแผลจะใหญ่มากขึ้น เน่ามากขึ้นแค่ไหน ผู้ไม่รู้ก็ดูเหมือนไม่เดือดร้อน และบางคนก็บอกว่า ก็ไม่เห็นเป็นไรก็เป็นธรรมดา เกิดแล้วก็ต้องตาย แต่ก่อนตายทำอะไร สุขหรือทุกข์ และต่อไปจะเป็นอะไรใครจะรู้ เพราะฉะนั้นไม่มีใครรู้เลยว่าอนาคตข้างหน้าจากขณะนี้แล้วจะเป็นอย่างไร และไม่รู้ว่าเมื่อตายแล้วจะไปไหน แต่ก็เห็นชีวิตที่ยากไร้ลำบากมากของสัตว์เดรัจฉาน ของงู ของปลา ของนก และยังมีภพภูมิอื่นๆ อีก ทุกคนที่ได้ฟังพระธรรมก็จะรู้จักท่านผู้หนึ่งคือท่านพระเทวทัต เป็นเจ้าชายได้ฟังพระธรรม มีอิทธิปาฏิหารย์ แต่เพราะอกุศลกรรม ท่านก็สิ้นชีวิตถูกแผ่นดินสูบเกิดในอเวจีมหานรก ใครช่วยได้

    เพราะฉะนั้นใครแต่ละคนในที่นี้จะไปไหนไม่มีใครช่วยได้เลย แต่ว่าถ้าได้มีโอกาสได้เข้าใจธรรม แล้วต่อไปจะเกิดที่ไหนก็ยังได้เข้าใจธรรม ต่อไปจะเกิดเป็นอะไรก็มีการสะสมมาที่จะได้เข้าใจความจริงก็จะทำให้สมหวัง คือ ไม่ได้สิ่งที่เดือดร้อน แต่ในที่สุดก็คือรู้ความจริงที่จะสามารถดับกิเลสได้

    อ.อรรณพ ก็คือสรุปว่า จะมีศรัทธาที่จะศึกษาพระธรรมที่มีประโยชน์เพื่อที่จะค่อยๆ รักษาจิต แล้วก็รักษาแผลเน่าก็คือกิเลสอกุศลนี่ว่ามีศรัทธาที่จะศึกษาไหม ถ้าไม่มีศรัทธาก็ดูเหมือนก็จะมีคำกล่าวว่า แค่ศีล ๕ ก็ให้ได้เสียก่อนเถอะ

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่รู้ว่าอกุศลมีจึงเป็นเหตุให้ล่วงศีล แล้วจะไปพยายามรักษาศีล ๕ จะได้ไหม

    อ.อรรณพ ด้วยความเป็นตัว

    ท่านอาจารย์ เพราะว่าผู้ที่รักษาศีล ๕ ได้สมบูรณ์คือพระโสดาบัน ต้องเพราะปัญญาระดับนั้น เพราะฉะนั้นมีการเว้นจริง เว้นไม่ฆ่าสัตว์บางโอกาส เว้นไม่ทำทุจริตกรรมบางโอกาส แต่ใครจะรู้ว่าที่เขาทำๆ กันน่ะ เขาอยากทำหรือ หรือว่าเพราะเขาสะสมมาที่เขาจะทำ ใครห้ามก็ไม่ฟัง ไม่เห็นโทษ เพราะฉะนั้นถ้าแต่ละคนสะสมกิเลสมาถึงระดับนั้นจะไม่เป็นอย่างนั้นหรือ

    ผู้ฟัง เวลาคนที่เขาไปทำบุญใส่บาตรพระตอนเช้า ในสมัยพุทธกาล เวลาที่พระท่านออกบิณฑบาตตอนเช้า เขามีพิธีการที่ว่าหลังจากใส่บาตรแล้วท่านต้องให้ศีล ท่านต้องอวยพรแก่ผู้ที่ใส่บาตรทุกครั้งด้วยหรือไม่

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 176
    30 เม.ย. 2567