ปกิณณกธรรม ตอนที่ 737


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๗๓๗

    สนทนาธรรม ที่ บ้านมิ่งโมฬี จ.ราชบุรี

    วันที่ ๑๐-๑๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๘


    ท่านอาจารย์ เมื่อกลางวันคุณวิชัยรับประทานอาหารอิ่มแล้ว ต้องการอาหารอะไรเพิ่มเติมอีกไหม กาแฟ

    อ.วิชัย ก็มีด้วย

    ท่านอาจารย์ อย่างนั้นมักน้อยหรือมักมาก

    อ.วิชัย ขณะที่มีความต้องการก็มักมากจากสิ่งที่อิ่มแล้ว

    ท่านอาจารย์ แล้วเวลาที่อิ่มแล้วจริงๆ นี่ใครเอาอะไรมาให้ก็ทานไม่ได้จริงๆ อิ่มแล้วต่างกับที่อิ่มแล้วจริงๆ เขาเอามาให้ก็เติมได้ แล้วไม่ใช่แต่เฉพาะเรื่องอาหาร ทุกเรื่อง

    อ.วิชัย กว่าที่จะค่อยๆ ปรุงแต่งขึ้น แต่เหมือนกับเป็นปกติในชีวิตประจำวันอย่างนี้ แต่ว่ากว่าที่กุศลจะค่อยๆ คลายจากสิ่งที่เป็นปกติ

    ท่านอาจารย์ ต้องเป็นปกติ เพราะทั้งหมดเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย โดยความเป็นอนัตตา เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ไปจะทำ จะรู้ จะเตรียมตัว แต่สิ่งที่เกิดแล้วเดี๋ยวนี้ ควรรู้ เพราะว่าเกิดแล้ว มักน้อยไหม ที่จะไม่ทะเยอทะยานไปรู้สิ่งที่ยังไม่เกิด แต่ว่าเดี๋ยวนี้มีสิ่งที่เกิดแล้ว ปรากฏแล้ว มักน้อยไหม ที่จะค่อยๆ เข้าใจสิ่งที่มีในขณะนี้ ตามความเป็นจริง เพราะต้องเป็นปัญญาที่เห็นถูกต้อง ใครอยากถึงพระนิพพานบ้าง ไปนั่งสมาธิ ทำสมาธิ ต้องการอะไร มักน้อยหรือเปล่า

    อ.วิชัย ความเข้าใจต้องลึกถึงตัวสภาวะที่มักมาก หรือมักน้อยจริงๆ

    ท่านอาจารย์ แล้วต้องเข้าใจด้วยว่า หมายความถึงธรรมเดี๋ยวนี้ คุณธีรพันธ์อยากมีปัญญาระดับไหน

    อ.ธีรพันธ์ เข้าใจเป็นเบื้องต้นก่อน เพราะว่าปัญญา ยากที่จะรู้ความจริง เพราะว่าต้องอาศัยการฟัง

    ท่านอาจารย์ แล้วเดี๋ยวนี้เข้าใจได้หรือยัง

    อ.ธีรพันธ์ เข้าใจบ้างเล็กน้อย

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น มักน้อย ที่จะค่อยๆ เข้าใจ สิ่งที่มีตามความเป็นจริง ถ้ากิเลสมากก็มักมาก อยากจะให้มีปัญญาเร็วๆ แล้วจะมีปัญญาเร็วๆ ได้หรือ ทั้งๆ ที่รู้ว่าไม่ได้ก็ยังอยาก ก็ยังมี ก็เป็นความจริงทุกขณะที่ต้องเข้าใจแต่ละคำ

    อ.ธีรพันธ์ บางท่านได้ยินอย่างนี้แล้วเหมือนกับ ไม่ต้องขวนขวาย มักน้อย ก็นิดหน่อยก็พอแล้ว

    ท่านอาจารย์ พอแล้วแต่ไม่รู้อะไร ไม่รู้อะไรแล้วพอ กับขณะนี้ รู้ว่า มีสิ่งที่กำลังปรากฏ พอที่ได้ฟังแล้วเข้าใจ ไม่ใช่พออย่างอื่น เกินกว่านี้เอาไหม ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐานเอาไหม ไม่มีความเข้าใจอะไรเลย แต่จะพูดเรื่องนี้ เพราะอยากฟัง อยากรู้ อยากเข้าใจ แต่ลืมว่าแท้ที่จริงแล้ว สิ่งที่กำลังปรากฏเดี๋ยวนี้ ฟังพอ หรือว่า ฟังแล้วเข้าใจขึ้นบ้างไหม ค่อยๆ เป็นอย่างนี้ตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้น เป็นเรื่องของปัญญาโดยตลอดทุกคำ

    อ.ธีรพันธ์ แต่มีอยู่คำหนึ่งที่ว่า การฟังเป็นความดี การประพฤติมักน้อยเป็นความดี การอยู่โดยไม่ห่วงใยเป็นความดี ทุกเมื่อ

    ท่านอาจารย์ การฟังเป็นความดี ทุกคน ฟังเดี๋ยวนี้ เป็นความดีเมื่อไร เมื่อเข้าใจ ฟังแล้วเข้าใจเป็นความดีไหม

    อ.ธีรพันธ์ เป็นความดี

    ท่านอาจารย์ แล้วสงสัยอะไร

    อ.ธีรพันธ์ จะมีข้อที่ว่า การอยู่โดยไม่ห่วงใยเป็นความดีทุกเมื่อ

    ท่านอาจารย์ เมื่อเป็นไปได้ รู้ล่ะ ทุกคนรู้หมดเลย ถ้าห่วงใยก็ไม่สบายแน่ เป็นทุกข์ ใครบ้างไม่รู้ และคำนี้ที่ว่า การอยู่โดยไม่ห่วงใยเป็นความดีทุกเมื่อ ก็จริง แต่ว่าให้ทำหรือ หรือว่าให้เข้าใจ หรือว่าให้เร่งรัด หรือว่ามีตัวตนไปปล่อยแต่ไม่สำเร็จ ทั้งหมดเป็นเรื่องของปัญญาทุกคำ แน่ใจได้เลย ห่วงใยสักนิดหนึ่งก็ไม่ดี แค่นิดเดียวไม่ต้องมาก แต่วันนี้ห่วงใยมากไหม เพราะฉะนั้น ก็เห็นความต่าง ถ้าไม่ห่วงใยเลย สบายแน่ ไม่เดือดร้อนไม่ทุกข์ไม่กังวล ไม่ต้องขวนขวายอะไร แล้วเป็นอย่างนั้นได้หรือเปล่า เพราะเหตุว่าธรรมเป็นอนัตตา ฟังเพื่อเข้าใจความจริงแต่ละหนึ่งๆ ในแต่ละหนึ่งขณะนี้เปลี่ยนแปลงไม่ได้เลย แล้วแต่เหตุปัจจัยที่จะเกิดกับแต่ละหนึ่งบุคคล ในแต่ละหนึ่งขณะ แต่ก็ต้องมีความเข้าใจที่ถูกต้อง ถ้าไม่ห่วงใยเลยดีแน่ๆ แต่เป็นไปได้หรือเปล่า เพราะฉะนั้น จะเป็นไปได้ด้วยปัญญาที่ค่อยๆ เข้าใจความจริงเท่านั้นเอง ทั้งหมดต้องขึ้นอยู่กับปัญญาที่รู้ความจริง

    เพราะฉะนั้น เกิดมา ถ้าไม่มีปัญญาความเห็นถูก ก็จะเป็นอกุศลส่วนใหญ่ แม้กุศลมีบ้างแต่ก็ไม่ได้เข้าใจถูกต้องว่า ไม่ใช่เรา เพราะฉะนั้น ประโยชน์จริงๆ คืออะไร คือ ความเข้าใจถูกต้อง ในสิ่งที่มีจริง ธรรมเป็นธรรม ฟังขณะนี้ วันนี้ พรุ่งนี้มีแน่ๆ คือ การฟังมาอีก แล้วก็กลับไป วันเสาร์อาทิตย์ก็ฟังอีก ก่อนวันเสาร์อาทิตย์ก็ฟัง เพราะฉะนั้น การฟังแต่ละครั้ง มีความเข้าใจที่ถูกต้อง ว่าเป็นสิ่งที่ดีใช่ไหม แม้เป็นสิ่งที่ดีก็รู้ตัวเองตามความเป็นจริง มักน้อยหรือยัง ไม่ใช่บังคับเลย แต่ตรง ปัญญาแค่นี้ จะมักน้อยได้แค่ไหน นานๆ มักน้อยสักทีก็ยังดีใช่ไหม ก็ยังดีกว่าไม่มักน้อยซะเลย

    อ.วิชัย เรื่องของความกังวลซึ่งท่านก็แสดงถึงเรื่องกามคุณทั้ง ๕ อย่าง เช่น บ้าน ที่อยู่อาศัย รถอะไรต่างๆ มากมาย สวนไร่นาต่างๆ เหมือนกับก็ยังมีเป็นเครื่องกังวล

    ท่านอาจารย์ ห้ามได้ไหมไม่ให้กังวล ห้ามไม่ได้ ปัญญาเข้าใจเมื่อไร เบาใจเมื่อนั้น เข้าใจว่าเป็นธรรม ซึ่งเกิดแล้วเพราะเหตุปัจจัย อย่าว่าเพียงแค่บ้านเลย ชาติหน้าจะมาเมื่อไร ไม่ต้องคิดเรื่องบ้าน กังวลไหม

    อ.วิชัย ก็ยังไม่เกิดขึ้น ก็เลยยังไม่มีการคิดถึง

    ท่านอาจารย์ แต่อย่างไรๆ มีแน่ใช่ไหม มีแน่นอน แล้วควรจะกังวล หรือควรจะเข้าใจธรรม เพราะอาจจะตายเมื่อกังวลก็ได้ กำลังกังวลก็ตายได้ มักน้อยหรือยัง

    อ.วิชัย ค่อยๆ เพิ่มขึ้น การมีโอกาสได้ศึกษาอ่านในพระไตรปิฎกรู้สึกว่าจะมีเรื่องของวิเวก ความสงัด ก็มีข้อปลีกย่อยมากมาย เช่น กายวิเวก จิตวิเวก อุปธิวิเวก ดูเหมือนจะมีเรื่องราวมากมายที่ทรงแสดง

    ท่านอาจารย์ พูดถึงกถาวัตถุ ๑๐ ตามลำดับดีไหม จะมีประโยชน์

    ลำดับที่ ๑ ความเป็นผู้มักน้อย ภาษาบาลี อัปปิจฉกถา ความจริงหมายความว่า การถึงความไม่มี โลภะ แสดงว่าคำถามทั้งหมด หรือว่าการศึกษาธรรมทั้งหมด นำไปสู่สิ่งที่สูงที่สุดคือ ไม่มีโลภะ แต่ใครที่จะไม่มีโลภะโดยไม่มีปัญญา เพราะฉะนั้น พระอรหันต์เท่านั้น ไม่มีโลภะเลย เพราะฉะนั้น แม้ว่ากถาวัตถุแรกจะกล่าวถึง การไม่มีโลภะเลย ดับโลภะ แต่เป็นสิ่งที่ต้องค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไป เพราะฉะนั้น พอกล่าวถึงไม่มีโลภะ ได้อย่างไรสำหรับคนที่ยังมีโลภะมากๆ

    แต่ให้รู้ว่า จุดประสงค์สูงสุดก็คือ เพื่อละความติดข้อง โลภะคือความติดข้อง เมื่อกี้นี้กังวลก็ติดข้องแล้วใช่ไหม นำมาซึ่งความทุกข์ ทุกอย่างที่เป็นความติดข้อง นำมาซึ่งความทุกข์เพราะว่า ไม่เป็นไปอย่างที่ติดข้อง เพราะจริงๆ สิ่งที่เกิดแล้วดับเร็วมาก แต่ติดข้องในสิ่งที่เกิดดับ หมายความว่า ติดข้องในสิ่งที่ไม่มีแล้ว เพราะฉะนั้น ถ้ามีปัญญาจริงๆ ก็สามารถที่จะเข้าใจถูก รู้ตามความเป็นจริง เห็นประโยชน์อย่างยิ่งของการฟังธรรม เพื่อละความติดข้อง เพื่อถึงการดับโลภะเป็นสมุจเฉท แต่เมื่อเป็นไปไม่ได้ ก็ทรงแสดงการค่อยๆ ละตามลำดับ อย่างเช่น สันโดษ หรือมักกน้อยก็ตาม คนละศัพท์ได้ ถ้าศึกษาดีๆ แปลมาทีละข้อทีละข้อ ก่อนที่จะถึงการดับกิเลสมักน้อยก่อน แต่จะมักน้อยก่อน ไม่ได้ หมายความว่าที่จะดับกิเลสได้จริงๆ ต้องเริ่มตั้งแต่ความเป็นผู้มักน้อย

    อ.วิชัย ในกถาของความเป็นผู้มักน้อย ท่านไม่ได้แสดงเฉพาะถึงเรื่องปัจจัยอย่างเดียว ท่านแสดงถึงความมักน้อยในปริยัติ มักน้อยในธุดงค์ มักน้อยในอธิคม

    ท่านอาจารย์ ยังมีกิเลสอยู่หรือเปล่า

    อ.วิชัย ถ้ามักมากก็ยังมีกิเลสอยู่

    ท่านอาจารย์ แล้วมักน้อยยังมีกิเลสอยู่หรือเปล่า

    อ.วิชัย ก็ยังมีอยู่

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ต่างกันแล้วใช่ไหม ระหว่างไม่มี กับ มักน้อย

    อ.วิชัย ที่ท่านอาจารย์กล่าวถึงความไม่มีโลภะ

    ท่านอาจารย์ คือไม่มีเลย แต่ยากที่จะเป็นไปได้ ถ้าไม่ค่อยๆ เป็นไปตามลำดับ ถึงทีเดียวไม่ได้แน่ ถึงโดยการเริ่มเป็นผู้มักน้อย

    อ.วิชัย อย่างเช่น ท่านอาจารย์ยกตัวอย่างเรื่องของการรับประทานอาหาร ขณะนั้นก็ไม่ได้ระลึกถึงเลย

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น กิเลสก็ยังมาก จะดับหมดทีเดียวไม่ได้ แต่ฟังแล้วเห็นโทษ แล้วก็เป็นผู้ที่ประพฤติตาม ด้วยปัญญาที่เข้าใจแล้ว ปัญญาเข้าใจมากขึ้นเท่าไร การประพฤติตามเป็นไปตามปัญญา มักน้อยในอะไรบ้างแล้ว ทีละข้อ

    อ.วิชัย ในปัจจัย๑ แล้วก็ในปริยัติ๑ ในธุดงค์๑ แล้วก็ในอธิคม๑

    ท่านอาจารย์ ต้องอธิบายทุกข้อใช่ไหม เช่น มักน้อยในปริยัติ หมายความว่า แม้รู้ปริยัติก็ไม่แสดงว่าตนรู้ ไม่ใช่แค่นี้พอ ข้อเดียวพอไม่ต้องเรียนมาก ไปปฏิบัติเลยหรืออะไรอย่างนี้ อย่างนั้นไม่ใช่ ไม่มีตัวตนที่จะไปทำอะไรได้เลย แต่ต้องเข้าใจความหมายจริงๆ แม้การจะไม่มีกิเลสก็ต้องตามลำดับ เช่น ถ้ามีความเข้าใจธรรม แล้วไปอยู่ท่ามกลางคนไม่เข้าใจเลย จะพูดอะไร จิต เจตสิก รูปหรือ หรืออะไร ไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น แสดงให้เห็นว่าแม้เป็นผู้เข้าใจธรรม ก็ไม่ใช่ต้องการให้คนอื่นรู้ว่า เรารู้ ไม่มีประโยชน์เลย ท่ามกลางคนที่ไม่สนใจรู้ แล้วอะไรอีก

    อ.วิชัย มักน้อยในธุดงค์

    ท่านอาจารย์ ธุดงค์เมื่อเช้าพูดแล้ว มักน้อยในธุดงค์ แสดงให้เห็นว่าธุดงค์เพื่ออะไร ไม่ใช่เพื่อให้ใครรู้ ไม่ใช่เพื่อให้ใครยกย่อง ชมเชยสรรเสริญ และคฤหัสถ์ก็มีธุดงค์ได้ใช่ไหม แต่ใครมีบ้าง ลืมไปเลย ตอนรับประทานอาหาร ลืมเรื่องธุดงค์ที่คฤหัสถ์สามารถ เป็นผู้ที่รักษาธุดงค์ได้ ในเรื่องอาหาร ๒ ข้อ แสดงให้เห็นถึงความต่างของบรรพชิตกับคฤหัสถ์ เพราะฉะนั้น คฤหัสถ์ จะไปทำอย่างบรรพชิตไม่ได้ ทั้ง ๑๓ ข้อสำหรับบรรพชิต ที่เป็นพระภิกษุ ถ้าเป็นสามเณรก็ไม่ครบทั้ง ๑๓ ข้อ ภิกษุณีก็ไม่ครบทั้ง ๑๓ ข้อ อุบาสกจะรักษาได้ตามความเป็นจริงได้ ๒ ข้อ แต่ทั้งหมดเพื่อการขัดเกลา ด้วยความมักน้อย เพราะจุดประสงค์เพื่อความขัดเกลา และคลาย กิเลสอยู่แล้ว จะไปบอกใครให้รู้ ในเรื่องของปริยัติหรือการรักษาธุดงค์ ถ้าเป็นเรื่องขัดเกลาจริงๆ ก็ต้องเป็นเรื่องมักน้อย

    อ.วิชัย อธิคม

    ท่านอาจารย์ อธิคม คือ การรู้แจ้งอริยสัจจธรรมเป็นพระอริยเจ้า สมัยนี้คนโน้นเป็นพระอรหันต์ คนนี้เป็นพระโสดาบัน เพื่ออะไร มักน้อยหรือเปล่า ขัดกับพระธรรมทั้งหมดที่ทรงแสดงแล้ว เพราะฉะนั้น คำใดก็ ตามที่ไม่เป็นไปเพื่อการละ แต่เป็นไปเพื่อเหตุอื่น เพื่อความติดข้อง นั่นไม่ใช่คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

    อ.วิชัย คงไม่ลืมว่าเป็นเรื่องของปัญญาทั้งหมดเลย การที่จะกล่าวกถาเรื่องใดก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความเป็นผู้มักน้อย หรือว่าความสันโดษ ถ้าไม่มีความรู้ความเข้าใจเลย ไม่รู้จักความมักน้อยเลย

    ผู้ฟัง ขอร่วมสนทนาในเรื่องมักมาก ถ้ามีสนทนาธรรมนอกสถานที่ อยากจะให้คนที่มาศึกษาพระธรรมมาในทางที่ถูก

    ท่านอาจารย์ แต่ถ้าเขาไม่สนใจล่ะ

    ผู้ฟัง ก็แล้วแต่เขาแล้ว

    ท่านอาจารย์ บังคับใครได้ไหม ไม่ได้ เพราะฉะนั้น ทำดีที่สุดแล้วไม่หวัง

    ผู้ฟัง กรณีที่เรามักมาก ก็จะไม่เป็นกุศลใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ เดือดร้อนไหม

    ผู้ฟัง ไม่เดือดร้อนแต่ก็ยังหวัง

    ท่านอาจารย์ หวังไม่เดือดร้อนหรือ

    ผู้ฟัง ก็ยังมีความอยากให้คนมามากๆ

    ท่านอาจารย์ เดือดร้อนไหม

    ผู้ฟัง ถ้าถามว่าเดือดร้อนไหม ไม่เดือดร้อน เขาจะมามากมาน้อย แต่มันก็หวังลึกๆ

    ท่านอาจารย์ มีกิเลส เดือดร้อนไหม หวังเป็นกิเลสหรือเปล่า เป็น ต้องเป็นผู้ที่ตรง กว่าเราจะรู้ความจริงได้ ต้องเป็นผู้ที่ตรง เพราะไม่มีเรา แต่มีธรรม เพราะฉะนั้น โลภะกับความเป็นมิตรใกล้ชิดกันมาก โลภะกับเมตตา เมื่อฟังเข้าใจถูก ปัญญาก็คล้อยตาม ปัญญาหรือความเข้าใจที่ได้เข้าใจ เพิ่มขึ้นๆ แต่ถ้าเข้าใจผิดซะแล้วก็ไม่มีทาง ที่จะเข้าใจถูกได้ ก็ขออนุโมทนาในกุศลที่หวังดีต่อคนอื่น แต่ไม่ใช่หวังว่าเขาจะเป็นอย่างที่เราต้องการ

    ผู้ฟัง เข้าใจแล้ว เพราะว่าถ้าพูดอย่างนี้ เดี๋ยวหนูก็ไปตั้งความหวังอีกก็ผิดอีก ไม่ถูกต้องอีก เพราะว่ามันเป็นกิเลสใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ บังคับได้ไหม ไม่ได้ เพราะฉะนั้น อะไรจะเกิด เกิดเอง เราทำให้เกิด หรือว่ามีปัจจัย ที่จะให้เกิดเป็นอย่างนั้น

    ผู้ฟัง มีเหตุปัจจัยทำให้เกิด

    ท่านอาจารย์ ต้องมีความเข้าใจที่มั่นคง

    อ.วิชัย แต่ก็คงไม่ลืมประโยชน์ตนด้วย ความรู้ความเข้าใจถูก ถ้ามีความรู้ความเข้าใจถูกจริงๆ ไม่กังวล เพราะเหตุว่า กังวลหรือว่าห่วงใยแม้บุคคลอื่น ว่าจะเข้าใจมากน้อยแค่ไหน ก็เป็นอกุศลใช่ไหม ขณะนี้เกิดแล้ว เป็นแล้ว การที่พระพุทธองค์จะอนุเคราะห์บุคคลอื่น ก็ทรงพิจารณาว่าบุคคลก็มีหลากหลาย บางบุคคลก็ไม่สามารถที่จะอนุเคราะห์เกื้อกูลได้เลย เพราะบุคคลนั้นไม่ได้สะสมมาที่จะเข้าใจหรือว่าเห็นถูกได้ เพราะฉะนั้น เป็นแต่ละบุคคล จริงๆ แต่ว่าในฐานะของมิตรที่ดี ที่จะอนุเคราะห์ ในการที่จะช่วยเหลือ เกื้อกูลที่จะให้ บุคคลอื่นมีโอกาสได้ฟัง พระธรรมหรือเข้าใจธรรม

    อ.ธิดารัตน์ การที่จะรักษาพระธรรมไว้ ต้องด้วยการที่พุทธบริษัทศึกษา และเข้าใจธรรม

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่มีความเห็นถูกความเข้าใจถูกพระศาสนาก็ดำรงอยู่ไม่ได้

    ผู้ฟัง สภาพของจิต เจตสิก ก็ยังไม่รู้จักเลยแล้วจะรู้จักจิตได้อย่างไร

    ท่านอาจารย์ เดี๋ยวนี้มีจิต ไม่รู้จักจิต แล้วจะรู้ได้อย่างไร รู้ว่ามีแต่จะรู้จักจิตได้อย่างไร

    ผู้ฟัง ก็จะต้องรู้จากการฟัง ต้องตั้งใจฟังแล้วก็ต้องฟังให้เข้าใจจริงๆ ต้องเป็นปัญญาจริงๆ

    ท่านอาจารย์ จนกว่าจะรู้จักจิต

    ผู้ฟัง แต่มันก็ยากมาก

    ท่านอาจารย์ มีคำสอนข้อไหนที่บอกว่า ไม่ต้องอบรม เจริญบารมี อยู่เฉยๆ ดีๆ ก็จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้ มีไหม ไม่มี แล้วไปคิดอย่างนั้นได้อย่างไร

    ผู้ฟัง ก็เป็นโลภะพาไป

    ท่านอาจารย์ โลภะเกิดก็ไม่รู้ แล้วจะละโลภะได้อย่างไร

    ผู้ฟัง จริงๆ โลภะที่จะไปละ ก็ละไม่ได้ ท่านอาจารย์ก็กล่าวเสมอว่า เข้าใจตัวธรรมก่อน จะไปละกิเลสอกุศลต่างๆ เป็นไปไม่ได้

    อ.ธิดารัตน์ นี่ก็คือเหตุผลที่เราจะต้องมีการศึกษา ศึกษาลักษณะของธรรมประเภทต่างๆ เพราะจริงๆ อกุศลเจตสิกทั้งหลาย จะเกิดไม่ได้เลย ถ้าไม่มีจิต และก็อาศัยเกิดกับจิต ถ้าไม่รู้จักลักษณะของจิต ซึ่งเป็นใหญ่เป็นประธาน เพราะจริงๆ แล้วจิตโดยสภาพไม่โลภ ไม่โกรธ แต่เกิดร่วมกับอกุศลเจตสิกทั้งหลายที่เป็นเหตุ ความติดข้อง ความขัดเคืองใจหลายๆ อย่าง เพราะฉะนั้น ถ้าจะจับโจร หรือว่า จะดับกิเลส เราก็ต้องรู้ก่อนว่าอยู่ที่ไหน อกุศลเจตสิกเหล่านี้ อาศัยเกิดกับจิต อยู่ในจิตแล้วก็ยังอาศัยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นทางที่จะทำให้เกิด อกุศลเกิดได้ ๖ ทาง แล้วก็เกิดในจิต อาศัยในจิต ถ้าเราไม่รู้ว่าลักษณะของโลภะ เป็นความติดข้อง มีลักษณะอย่างไร จะละเราได้อย่างไร ถ้าไม่รู้ลักษณะของโทสะ เป็นความขุ่นเคือง หรือความไม่รู้แล้วไม่รู้ในอะไร ติดข้องในอะไร ไม่รู้จักตัวเขา ไม่รู้จักสภาวะแวดล้อม ไม่รู้จักรูปพรรณสัณฐาน จะจับโจรได้ไหม เพราะฉะนั้น สิ่งที่เราศึกษาทั้งหลาย ศึกษาเพื่อที่จะรู้ลักษณะของอกุศลตามความเป็นจริง

    ผู้ฟัง สรุปแล้วมักน้อย คือ การละกิเลสคือให้เกิดปัญญา ที่จะพยายามละกิเลสให้ได้

    อ.วิชัย ปัญญาต่างกับความติดข้องไหม

    ผู้ฟัง ปัญญาต่างกับความติดข้องมากเพราะว่า

    อ.วิชัย ขณะที่ติดเมื่อไร ไม่ใช่ปัญญาในขณะนั้น แต่ว่าเมื่อปัญญาเกิด เข้าใจถูกต้อง วันๆ หนึ่งติดข้องในอะไรมาก

    ผู้ฟัง เช่น ติดข้างในของสวยๆ งามๆ อาหารอร่อยๆ สถานที่มีลมเย็นๆ อากาศดีๆ

    อ.วิชัย มากมายเลย ติดนั้นเพราะไม่รู้ความจริง ถ้าปัญญาเกิดรู้ เข้าใจว่า เพียงปรากฏแล้วดับไป ที่สวยงามเพียงเห็น เห็นแล้วหมดไป น่ายินดีพอใจไหม เห็นแล้วก็ปรากฏแล้วก็หมดทันที

    ท่านอาจารย์ เราพูดคำที่เราได้ยิน แต่ว่าเราเข้าใจคำนั้นๆ มากน้อยแค่ไหน เช่น วิเวกคนไทยก็เรียกว่า วิเวก หมายความถึงอะไร

    อ.วิชัย ความสงัดจากอกุศล

    ท่านอาจารย์ ต้องเป็นความสงัดจากอกุศล ใครชอบอยู่คนเดียวบ้าง เบื่อคนมากๆ มีไหม แล้วก็อยากจะอยู่คนเดียว แล้วก็ไปอยู่ที่เดี่ยวๆ ด้วย ในป่าท่ามกลาง ที่ไม่มีใคร มีแต่นก มีแต่ต้นไม้ ไม่มีผู้คนมากมาย ไปหาที่นั่งเดี่ยวๆ เดียวอยู่คนเดียว อย่างนั้นสงัดหรือเปล่า

    อ.วิชัย ไม่เพราะว่าไม่มีปัญญา

    ท่านอาจารย์ จึงต้องเข้าใจ พระธรรมเป็นเรื่องของปัญญาทั้งหมดทุกคำ ไปนั่งอยู่ที่นั่นคิดสารพัดเรื่อง สงัดไหม ไม่มีใครเลย แต่คิดไปเถอะ เรื่องนั้นเรื่องนี้ แล้วจะบอกว่าสงัดได้อย่างไร เพราะฉะนั้น ไม่ได้หมายความถึง สถานที่ ทั้งหมดเป็นธรรม สงัดจากกิเลสโดยอะไร

    อ.วิชัย ก็มีธรรมอย่างเดียว คือ ปัญญาเท่านั้น

    ท่านอาจารย์ เป็นเรื่องของปัญญาทั้งหมด เพราะฉะนั้น แม้แต่กายวิเวก จิตตวิเวก อุปธิวิเวก ก็ต้องรู้ด้วย วิเวกไม่ง่าย เพราะเหตุว่าเป็นการค่อยๆ คลายกิเลส

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 176
    11 มี.ค. 2567